สาระสำคัญของกฎหมาย TVPA ของอเมริกาและข้อเสนอแนะจากรายงานค้ามนุษย์ Tip Report

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

  
พลันที่รายงานการค้ามนุษย์ (Trafficking in Person Report) สหรัฐอเมริกาปี 2014 ลดอันดับประเทศไทยอยู่ในบัญชี 3 (Tier3) รั้งท้ายที่สุดจาก 4 บัญชีปรากฏสู่สาธารณชน ปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยก็กลายเป็นวาระแห่งชาติทันที ดังเห็นจากท่าทีแสดงออกผ่านแถลงการณ์ผลรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (ที่168/2557) ของกระทรวงการต่างประเทศ จนถึงคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 70, 73 และ 74/2557 ที่กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ รวมถึงตั้งคณะกรรมการนโยบายและอนุกรรมการประสานงานเพื่อคืนความสุขและคืนภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศให้ปรากฏแก่นานาชาติสืบไป
   
ข้อพึงระวังสำหรับประเทศไทยคือเหลือเวลานับจากนี้เพียงเก้าเดือนหรือภายในสิ้นเดือนมีนาคมของแต่ละปีที่กระทรวงการต่างประเทศ (Department of State) สหรัฐอเมริกาจะสรุปสถานการณ์ของ 188 ประเทศทั่วโลกเพื่อจัดทำรายงานในปีต่อไป และไทยต้องแสดงถึงพัฒนาการการดำเนินการที่ก้าวหน้า

นอกจากความรู้สึกของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ถูกตัดสินอย่างไม่เป็นธรรม สังคมไทยควรถือโอกาสนี้รณรงค์สร้างความเข้าใจต่อปัญหาการค้ามนุษย์โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการศึกษารายละเอียดเงื่อนไขของกฎหมายคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ (Trafficking Victims Protection Act: TVPA) ปี 2000  อันเป็นที่มาของข้อกล่าวหาในรายงานการค้ามนุษย์เพื่อชี้แจงข้อกล่าวหาได้ตรงประเด็น

กฎหมาย TVPA ของสหรัฐอเมริกาเริ่มบังคับใช้เมื่อเดือนตุลาคมปี 2000 มีเป้าหมายคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์และทาสยุคใหม่ (modern-day slavery) ทั่วโลกทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ในมาตรา 108 ของกฎหมายฉบับนี้ยังเป็นเสมือนดาบทางการทูตของอเมริกาที่ใช้จัดอันดับรัฐบาลประเทศต่างๆ ว่าได้ดำเนินการตามมาตรฐานขั้นต่ำ (minimum standard) เพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์หรือไม่ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา ซึ่งประเทศที่เพิกเฉยจนถูกลดอันดับ (downgrade) ให้อยู่ในบัญชี 3 มีสิทธิเผชิญกับบทลงโทษ (penalties) ถึงขั้นอาจถูกตัดงบประมาณแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในโครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและวัฒนธรรม ปัจจุบันสถานะของสหรัฐอเมริกาแม้จะอยู่ในบัญชี 1 (Tier1) มาตลอด ทว่าก็พบปัญหาการค้ามนุษย์ในชาวอเมริกันและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะปัญหาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศและแรงงานบังคับ

แก่นหรือหัวใจของกฎหมาย TVPA ได้แก่ การป้องกัน (prevention) การคุ้มครอง (protection) และการดำเนินคดี (prosecution) ซึ่งการคุ้มครองเป็นส่วนสำคัญที่สุด เพราะมีจุดประสงค์เยียวยาความเสียหายและให้ทางเลือกแก่เหยื่อ อาทิเช่น การจัดที่พัก การให้การศึกษา การรักษาพยาบาล การฝึกอาชีพ ฯลฯ

ความคุ้มครองพิเศษของกฎหมาย TVPA ต่อเหยื่อการค้ามนุษย์ที่เป็นชาวต่างชาติ คือ การรับรองและให้สิทธิประโยชน์และบริการต่างๆ ที่จำเป็น เช่น เงินทุน บริการทางการแพทย์ และบริการทางสังคม การจัดโครงการคุ้มครองพยาน ทั้งมีการออกวีซ่าประเภทT (T Visas) ให้เหยื่อการค้ามนุษย์ในรูปแบบที่รุนแรงได้รับสิทธิอาศัยชั่วคราว (temporary resident) และสามารถขอสิทธิอาศัยถาวร (permanent residence status) ต่อไป  จากเดิมที่ใช้เพียงมาตรการผลักดันส่งกลับเหยื่อการค้ามนุษย์ในฐานะผู้หลบหนีเข้าเมือง 

ส่วนมาตรการดำเนินคดี (prosecution) ได้กำหนดอัตราโทษรุนแรง ตัวอย่างเช่น กรณีกระทำผิดฐานแสวงหาประโยชน์ทางเพศด้วยการบังคับหรือหลอกลวงเด็กอายุ 14 ปีไม่เกิน 18 ปี ไม่ว่าบังคับหรือหลอกลวงมีโทษจำคุกถึง 20 ปี หรือกรณีกระทำความผิดฐานแสวงหาประโยชน์ทางเพศด้วยการบังคับหรือหลอกลวงต่อบุคคลอายุไม่เกิน 14 ปี มีโทษจำคุกตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงวิจารณ์ต่อกฎหมาย TVPA ว่าเป็นมาตรวัดฝ่ายเดียวของอเมริกาที่อาจแสดงถึงอคติด้านชาติพันธุ์หรือระดับการให้คุณค่าทางสังคมแก่ชาติอื่น (Kristina Cummings, “The Trafficking Victims Protection Act : A Feasibility Assessment)

กลับมาที่ส่วนที่สำคัญที่สุดในรายงานการค้ามนุษย์ (Tip Report) สหรัฐอเมริกาที่จะพัฒนาไปสู่สถานะและอันดับที่ดีขึ้น ได้แก่ ข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย (Recommendations for Thailand) ที่เป็นแผนที่การเดินทาง (roadmap) ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง อาทิเช่นให้กรมสอบสวนคดีพิเศษและป.ป.ช.เร่งดำเนินคดีกับข้าราชการทุจริต ยุติการดำเนินคดีหมิ่นประมาทกับนักวิจัยและผู้สื่อข่าว เพิ่มความร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และองค์กรด้านแรงงาน เพิ่มจำนวนล่ามแปลภาษาและนักสังคมสงเคราะห์ในหน่วยงานรัฐ จัดตั้งแผนกพิเศษเพื่อเร่งรัดคดีค้ามนุษย์ในศาลหรือมาตรการเร่งรัดคดีที่จำเป็น ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย ฯลฯ

ขณะที่การจัดทำรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทยประจำปี 2556 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ให้น้ำหนักที่ผลการดำเนินงานและหลักฐานที่ตอบโจทย์หลายส่วนได้ชัดเจนเป็นรูปธรรม เช่น การตรวจสอบคุ้มครองแรงงานในภาคประมง ซึ่งข้อเสนอแนะบางประการถูกกล่าวถึงในรายงานฉบับปีที่ผ่านมา  บางประการก็เป็นโจทย์ที่ประเทศไทยควรเร่งดำเนินการอุดช่องโหว่ และไม่อาจมองข้ามอีกต่อไป มิใช่เพื่อตอบสนองประเทศคู่ค้ารายใหญ่เท่านั้น แต่เพื่อแสดงออกถึงความพยายามแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ของสังคมไทยอย่างแท้จริง.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท