ผู้แทนอียูลงพื้นที่เหมืองทอง จ.เลย ชาวบ้านเชิญร่วมสังเกตคดีบริษัทฟ้อง

 

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา คณะผู้แทนทางการทูตจากสหภาพยุโรป (EU) พร้อมด้วยองค์กร โพรเทคชัน อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ได้เดินทางไปยังบ้านนาหนองบง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เพื่อพบปะพูดคุยกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระดับชุมชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกชุมชนจากหกหมู่บ้านในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลยที่รวมตัวกันเพื่อปกป้องสภาพแวดล้อมของชุมชนจากผลด้านลบของกิจการเหมืองแร่ทองคำและคงไว้ซึ่งวิถีทางการเกษตรของชุมชน

ตัวแทนจากคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนประเทศสมาชิกจากสาธารณรัฐโปแลนด์และราชอาณาจักรสเปนเริ่มการเยือนโดยการหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดเลย, กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากนั้น ได้ใช้เวลาพูดคุยแลกเปลี่ยนและรับฟังข้อกังวลของชุมชนเกี่ยวกับสถานการณ์ความปลอดภัยหลังจากเหตุการณ์การทำร้ายสมาชิกชุมชนในวันที่ 15 พฤษภาคม รวมถึงปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะเวลา 8 ปีที่เหมืองทองคำภูทับฟ้าเปิดทำการ แม้จะมีคำสั่งจากภาครัฐให้เหมืองหยุดทำการจนกว่าจะมีการเสาะหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุปัญหาโดยสมบูรณ์ แต่บริษัทผู้ควบคุมกิจการกลับใช้การดำเนินคดีทางกฏหมายเป็นเครื่องมือบั่นทอนความเข้มแข็งของชุมชนในการปกป้องผืนแผ่นดินและสภาพแวดล้อมของชุมชน

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้กล่าวแสดงความซาบซึ้งใจต่อการเยือนชุมชนนาหนองบงของคณะผู้แทนสหภาพยุโรปและตัวแทนประเทศสมาชิก ตัวแทนชุมชนกล่าวว่า “เราเป็นชุมชนเล็กๆ รากหญ้า ไม่คิดว่าองค์กรใหญ่อย่างสหภาพยุโรป จะลงพื้นที่และมีความห่วงใย “ ทางกลุ่มได้ชี้แจงสถานการณ์ของกลุ่มต่อคณะผู้แทนทางการทูตภายใต้การรับทราบของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ขอให้สหภาพยุโรปร่วมส่งผู้แทนฯ มายังศาลจังหวัดเลยในวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 เพื่อสังเกตการณ์หนึ่งในคดีที่บริษัทฟ้องชุมชน ขอให้สหภาพยุโรปประณามการทำร้ายชุมชนในวันที่ 15 พฤษภาคมและการคุกคามชุมชนที่ตามมา นอกจากนี้ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยังขอให้สหภาพยุโรปออกแถลงการณ์ประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชุมชนจังหวัดเลย หากพิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความเสี่ยงร้ายแรงต่อชุมชน

คณะผู้แทนทางการทูตยังได้พบปะหารือกับพ.ท. วรวุฒิ สำราญ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 8 ในการหารือครั้งนี้ ผู้แทนทางการทูตได้ยกประเด็นด้านความปลอดภัยโดยได้ขอให้ฝ่ายทหารตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญ และให้การยอมรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานสนับสนุนชุมชน รวมถึงนักเรียน-นักศึกษา นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้วย

การเยือนในครั้งนี้ยังเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สภายุโรปมีข้อสรุปเกี่ยวกับประเทศไทย โดยเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนแสดงการต่อต้านวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและคงไว้ซึ่งการเคารพสิทธิมนุษยชนและหลักการพื้นฐานด้านเสรีภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท