รายงาน: ชะตากรรมประชาชน-ข้าราชการในอีสาน หลังรัฐประหาร

 

ความพยายามที่จะออกมาต่อต้านของประชาชนธรรมดานั้น มีขึ้นตั้งแต่วันแรกหลังการยึดอำนาจ ไม่ต้องกล่าวถึงแกนนำฝ่ายต่างๆ หรือรัฐบาลซึ่งถูกเก็บเข้าเซฟเฮ้าส์ททหาร หรือเข้าเซฟเฮ้าส์ส่วนตัวกันไปหมดแล้วก่อนหน้านั้น

ภายใต้กระบอกปืนที่กระจายตัวปกคลุมในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯ เราอาจจะพอเห็นภาพการต่อต้านอยู่บ้าง ชูป้าย กินแมค(โดนัลด์) ชูสามนิ้ว กินแซนด์วิช อ่านหนังสือ จากเหตุการณ์ที่รวมคนได้เรือนพัน ก็ค่อยๆ ลดมาเหลือหลายสิบ กระทั่งเหลือไม่กี่คน อันน่าจะเป็นผลจากการจับกุมอย่างจริงจัง ไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่หญิงมีอายุ

แม้ประชาชนส่วนใหญ่ที่โดนจับจะไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาและถูกขังที่กองปราบฯ เพียง 3-7 วัน แต่สำหรับคนทั่วไปการถูกล็อคตัว การถูกทหารสอบสวน การถูกยึดและตรวจโทรศัพท์ การเยี่ยมเยียนบ้าน และการถูกจองจำเพียงชั่วคราว เท่านั้นก็สร้างความหวาดหวั่นมากเพียงพอแล้ว ยังไม่นับรวมปัจจัยสำคัญคือ เงื่อนไขการปล่อยตัวที่ระบุไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ อีกมิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีทันที

นั่นคือภาพในศูนย์กลาง แต่ต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสานอันเป็นฐานหลักของคนเสื้อแดง ซึ่งถูกมองเป็นฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายทหารมาตั้งแต่ไหนแต่ไรนั้นกลับเงียบเชียบหรือเป็นที่รับรู้น้อยมาก ประชาไทมีโอกาสได้คุยกับ ‘ข้าราชการ’ ในพื้นที่จังหวัดอีสานจังหวัดหนึ่ง เพื่อบอกเล่าสถานการณ์ ‘ความสงบ’ ที่เกิดขึ้น พื้นที่นี้เป็นจังหวัดที่ไม่มีเหตุการณ์การต่อต้านหรือการปราบปรามหวือหวา แต่ก็น่าจะสะท้อนกระบวนการกุมสภาพของผู้ยึดอำนาจได้เป็นอย่างดี แม้ว่าคำอธิบายนี้จะมาช้าไปเสียหน่อย และแหล่งข่าวขอไม่เปิดเผยชื่อเสียงเรียงนามเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยในอาชีพการงาน

ผู้คนมักเรียกเขาว่าปลัด ตามด้วยชื่อเล่น อ. เขาเป็นข้าราชการหนุ่มไฟแรงที่ได้ไปประจำอยู่จังหวัดนี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยทำงานอยู่ในกลุ่มงานความมั่นคงของจังหวัด หลังการประกาศยึดอำนาจ มีคำสั่งเรียกผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดรายงานตัว หลังจากนั้นทหารก็เข้าไปคุมสภาพในทุกจังหวัด

“คำสั่งฉบับแรกๆ เลยของ คสช.บอกว่า กำลังเจ้าหน้าที่ของมหาดไทยให้ขึ้นตรงต่อทหาร ฉะนั้นแล้วเขาก็เป็นผู้บังคับบัญชาเราไปโดยปริยาย”

ภารกิจของข้าราชการฝ่ายปกครองเริ่มเปลี่ยนไป ช่วงแรกๆ จะมีการดำเนินการปิดล้อมตรวจค้นค่อนข้างหนัก ปลัด อ.เป็นฝ่ายพลเรือนในกองกำลังผสม ทหาร ตำรวจ พลเรือน ที่จะเข้าปิดล้อมตรวจค้นบ้านเรือนชาวบ้านแบบปูพรม

“ไม่ทุกครัวเรือน แต่ปูพรมเน้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับเสื้อแดงเป็นหลัก อาจมีตรวจบ้านที่สนับสนุน กปปส.บ้าง แต่ดูเหมือนจะเป็นการตรวจพอเป็นพิธี ถามว่าเขารู้ได้ยังไงว่าใครเป็นใคร ผมคาดเดาว่าเขามีข้อมูลของเขามาส่วนหนึ่ง แต่พอเขาเข้ามาในจังหวัด เขาก็ใช้ฐานข้อมูลมหาดไทยด้วย โดยร้องขอฐานข้อมูลด้านความมั่นคงของเราในทุกด้าน ยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย รวมถึงการเมืองด้วย เช่น ส่งรายชื่อแกนนำเสื้อแดงในระดับตำบลและอำเภอให้ ทางจังหวัดก็จำเป็นต้องจัดส่งให้เพราะเขาเป็นผู้บังคับบัญชา”

นายทหารยศพันเอก เป็นหัวหน้าหน่วยทหารในพื้นที่ ซึ่งจะรับนโยบายจากต้นสังกัด ซึ่งรับมาจาก คสช.อีกที แล้วจะ “ประสานงาน” กับทางจังหวัด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้สั่งการ ในฐานะ ผอ.กอ.รมน.เพื่อลดแรงปะทะกับประชาชน

ที่ผ่านมามีการตรวจค้นในทุกอำเภอของจังหวัดนี้ และจนปัจจุบันก็ยังมีการตรวจค้นอยู่ แม้ว่าจะน้อยลงเรื่อยๆ ตามลำดับ

“แม้ว่าจะค้นบ้านของคนที่มีประวัติเคลื่อนไหวกับเสื้อแดงเป็นหลัก แต่การตรวจค้นนี้ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นสิ่งผิดกฎหมายด้วย ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด บ่อนการพนัน ไม้ ล่าสุด ไปยึดไม้แดงที่บ้านชาวบ้านได้สามแผ่น ผมก็ไม่แน่ใจว่าหวังผลทางจิตวิทยาอะไรหรือเปล่า”

เขาเล่าด้วยว่าการตรวจค้นนอกจากจะยึดไม้แล้ว ยังมีการยึดเครื่องมือทางการเกษตร เฉพาะ “เลื่อยยนต์” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องขึ้นทะเบียน จากนั้นเมื่อชาวบ้านโวยวาย ทหารก็ยินยอมให้คืนและเปลี่ยนจากการยึดเป็น “การขึ้นทะเบียนเลื่อย” ทั้งนี้ น่าจะเป็นนโยบายในการอนุรักษ์ป่า เนื่องจากเป็นอุปกรณ์สำคัญในการแปรรูปไม้ เพราะที่ผ่านมาเวลาจับกุมผู้ลักลอบตัดไม้ โดยมากจะจับคนไม่ได้เพราะหนีทันทิ้งไว้แต่เลื่อย

“บรรยากาศความกลัวยังคงมีอยู่ เพราะประชาชนต้องการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วย อย่างสัปดาห์ก่อน มีการตั้งเวทีคืนความสุขของทหาร แล้วก็ให้ฝ่ายปกครองเกณฑ์คนมาเข้าร่วม รวมถึงนักเรียนด้วย แต่มันมีปรากฏการณ์บางอย่างคือ เล่นไปซักพักฝนมันตกแรง คนที่ถูกเกณฑ์มาพากันกลับบ้าน แล้วมีคนกลุ่มหนึ่งเขาก็โห่ร้องไชโยเลยที่เวทีล่มโดยที่เขาไม่ได้ทำ เขาแสดงความยินดีกลางสายฝนรอบๆ เวที”

ช่วงที่ทางกรุงเทพฯ ฮิตชูสามนิ้วและก่อการชุมนุมประท้วงย่อยๆ คนในจังหวัดดังกล่าวมองเรื่องนี้อีกแบบ เขามองว่าจะยังไม่ใช่เวลาที่จะเคลื่อนไหว และไม่พร้อมให้เกิดความสุ่มเสี่ยงกับผู้คน เพราะตอนนี้ออกมาก็โดนจับเฉยๆ ไม่ว่าจะออกมาด้วยเหตุผลใด สันติวิธีเพียงใด

“ยังไม่เห็นมีคนโดนจับ แต่มีการเรียกไปสอบสวน เรียกไปรายงานตัว เท่าที่ทราบไม่มีเกิน 7 วัน ส่วนตัวเลขว่าเท่าไรไม่แน่ใจ เพราะทหารเขาไม่แจ้งทางเรา”

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าร่องรอยการต่อต้านจะไม่เคยมี ในวันแรกของการยึดอำนาจ ปลัด อ.เล่าว่า ในเย็นวันนั้นประชาชนออกมายืนจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันตามท้องถนนโดยมิได้นัดหมาย จากนั้นมีการตกลงกันว่าจะตั้งเวทีหน้าศาลากลางจังหวัด ขณะที่ผู้ว่าฯ ถูกเรียกรายงานตัวและทหารเข้ามาในพื้นที่ ฝ่ายปกครองถูกร้องขอให้ไปเจรจาก่อน หากไม่เป็นผลทหารจำเป็นต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด

“ผมไม่เข้าใจว่ามาตรการขั้นเด็ดขาดของเขาคืออะไร แต่ทางปกครองก็ไปเจรจากับชาวบ้านให้ล้มเวทีไป ก็เจรจาสำเร็จ เหลือแค่ไม่กี่คนที่ไม่ยอมไป เราเลยต้องอุ้มชาวบ้านเอง อุ้มไปส่งบ้านใช้กำลังของ อส. เพราะไม่ต้องการให้ทหารอุ้ม”

ส่วนบรรยากาศหลังจากนั้น ก็เป็นอย่างที่ปรากฏในสื่อมวลชนทั่วไปว่า ชาวบ้านในต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสานออกมาขอบคุณและให้กำลังใจ คสช. คนที่ออกมาคือ นักเรียนผู้ใหญ่ที่ใกล้จบ กศน. โดยการมาร่วมกิจกรรมนี้จะมีผลต่อการจบการศึกษาด้วย ว่าแล้วจังหวัดนี้ก็มีนักเรียน กศน.มาจำนวนหนึ่ง มาตัวเปล่า ส่วนป้ายขอบคุณนั้นไม่ต้องเพราะทางทหารมีเตรียมไว้ให้

“ถามว่าคนที่มาเองมีมั้ยก็มีบ้าง เช่น พวกหมอ พยาบาล เอากระเช้าซุปไก่แบรนด์ เอาอาหารมาให้ทหาร”

ปลัด อ.เล่าว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดปัญหาอยู่พอสมควรในพื้นที่ เนื่องจากเกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างชาวบ้านกับหมอที่จุดยืนทางการเมืองแตกต่างกันอย่างชัดแจ้ง และต่างก็เป็น active citizen อย่างยิ่งทั้งคู่ สมัยที่ยิ่งลักษณ์ยังเป็นนายกฯ และลงพื้นที่จังหวัดนี้ หมอกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนแนวทาง กปปส. ไปเป่านกหวีดไล่ จากนั้นหมอที่เป็นแกนนำอย่างแข็งขันซึ่งเปิดคลินิกส่วนตัวละมีลูกค้าจำนวนมากก็ถูกชาวบ้านมาม็อบและปราศรัยโจมตีที่หน้าคลินิกและยังเรียกร้องให้ออกจากโรงพยาบาลที่หมอคนนี้ทำงานประจำอยู่ด้วย แต่เรื่องราวก็ผ่านเลยไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีกหลังจากนั้น แต่ก็สะท้อนบรรยากาศที่น่าเป็นห่วงในพื้นที่

“ผมก็ไม่เห็นด้วยเลยที่ชาวบ้านทำแบบนั้น และไม่ได้บอกว่าห้ามหมอแสดงความเห็นทางการเมือง แต่มันจะจัดการอย่างไรกับความเชื่อมั่นล่ะ ถ้าสมมติมีหมอกับชาวบ้านมีความเห็นต่างทางการเมืองมากๆ”

เมื่อถามว่าหลังจากมีผู้บังคับบัญชาใหม่ มีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง อะไรที่ต้องทำเพิ่มเติม หรืออะไรที่ห้ามทำ ปลัด อ.ตอบว่า

“สิ่งแรกที่ข้าราชการจะไม่ทำเลยคือการเข้าตรวจค้นโดยไม่มีหมาย หรือไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า เราเข้าใจว่านี้เป็นภาวะของกฎอัยการศึก เป็นอำนาจเป็นดุลยพินิจของเขาที่จะตรวจบ้านหลังนี้ แต่ผมไม่เข้าใจว่าอะไรคือเหตุผลประกอบดุลยพินิจของคุณ ถ้าไม่มีเหตุผลประกอบดุลยพินิจมันก็เป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ เขาบอกเพียงว่าวันนี้ไปตรงนี้ วันนี้ไปตรงนี้ แล้วเราก็ทำได้แค่ตามไปอย่างเดียว แล้วมันก็เกิดกระแสต่อต้าน ชาวบ้านก็มาร้องนายอำเภอว่าทำไมบ้านเขาโดนตรวจค้น เขายึดอะไรไป เขาจะทำอะไรบ้านฉันไหม ขณะที่นายอำเภอก็ต้องส่งปลัดอำเภอซึ่งเป็นลูกน้องไปร่วมค้นกับทหาร มันมีแต่บรรยากาศความหวาดกลัว เพราะเขาไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรกับเขาบ้าง”

“คุณอาจถามว่าทำไมต้องกลัว แต่ชาวบ้านเขากลัวเพราะเขาเลือกเพื่อไทย มีแนวคิดเดียวกับพวกเสื้อแดง เขาก็จะถามเราเรื่อยๆ ว่าเขาจะเป็นอะไรไหม แบบนี้ก็มี”

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจในพื้นที่คือ คำสั่งให้มีการจัดตั้งศูนย์ปรองดองฯ (ศปป.) ทุกจังหวัด ต้องการให้มีการพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่โดยจัดเป็นเวทีประชาคม แน่นอน คนที่รับหน้าเวลาเข้าชาวบ้านก็คือ ฝ่ายปกครอง โดยมีทหารคุมอยู่อีกที   

“เขาให้เราทำเวทีประชาคมเพื่อให้ทำความเข้าใจการยึดอำนาจของ คสช. ผมไม่รู้จะประชาคมชาวบ้านยังไงว่า การยึดอำนาจนี่มันชอบธรรมยังไง ท้ายที่สุด ถ้าเราต้องไปการันตีกับชาวบ้านในเรื่องนี้ มันเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง มันขัดกับคุณสมบัติของข้าราชการ คุณสมบัติหลักของข้าราชการตามพ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนมี 3 ข้อ คือ ข้อแรกเป็นสัญชาติไทย ข้อสอง อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ข้อสาม ต้องเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ แล้วจะให้ผมไปพูดยังไงว่า การล้มระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมามันถูกกฎหมาย มันชอบธรรม ที่หนักกว่านั้นเขามีเป้าอยู่แล้วว่าอยากให้ผลเวทีออกมาเป็นอย่างไร ประชาชนต้องเข้าใจ ดูจากบันทึกประชาคม คนที่เขียนก็ผู้ใหญ่ ผู้ช่วย เขาก็เขียนให้ตามที่อยากได้ว่าประชาชนรับทราบ ประชาชนเข้าใจดี”

สำหรับมุมมองของข้าราชการส่วนใหญ่แล้วสำหรับข้าราชการหนุ่มไฟแรง อย่าง ปลัด อ. เขาออกจะสิ้นหวัง (อย่างเข้าใจ) เพราะทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจ การขึ้นเงินเดือน สวัสดิการข้าราชการจะมีการเพิ่มเติมเข้ามาด้วยเสมอ นอกจากนี้ข้าราชการยังยึดถือหน้าที่ต้องทำตามกฎหมาย ทำตามรัฏฐาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือนักการเมือง

“ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ไม่ว่านักการเมืองหรือทหาร มันก็แค่เปลี่ยนคนโกงกิน นี่เป็นมุมของข้าราชการส่วนใหญ่เลยก็ว่าได้”

“อาจมีบางคนที่รู้สึกว่ามันขัดความรู้สึก แต่ก็ไม่กล้ามาออกต่อต้าน ถ้าออกมาต่อต้านคุณจะโดนตั้งกรรมการสอบ และเมื่อตั้งกรรมการสอบ ไม่ว่าคุณจะผิดหรือไม่คุณก็ถือว่ามีประวัติแล้วและจะแป๊กขั้น ใครอยากจะโดนอย่างนั้น”

ที่สำคัญคือ แม้ข้าราชการทั้งหลายจะได้ดื้อแพ่ง ดื้อด้านต่อผู้บังคับบัญชาที่มาใหม่อย่างกระทันแต่อย่างใด แต่ก็ยังเกิดการโยกย้ายกันอย่างมโหฬาร ดังที่จะได้เห็นประกาศย้ายผู้ว่าฯ ของ คสช. ซึ่งเมื่อผู้ว่าฯ เก่าไป ผู้ว่าฯ ใหม่มา ข้าราชการระดับรองๆ มาก็ถูกโยกย้ายเช่นกัน โดยเหตุผล “เพื่อความเหมาะสม” และเข้าขาในการทำงาน

“ดูแล้วคือการย้ายคนสายเพื่อไทยไปอยู่ในกรุ แล้วเอาคนสายประชาธิปัตย์หากในกรุออกมาแทน ไม่อย่างนั้นก็สลับจังหวัดใหญ๋ไปจังหวัดเล็ก”

นอกจากนี้ก็ยังมีรายละเอียดความอึดอัดคับข้องอื่นๆ อีกสำหรับฝ่ายปกครอง เช่น การห้ามเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองใช้อาวุธสงคราม ให้ใช้ได้เพียงปืนพก ทำให้เกิดความกังวลในเรื่องความปลอดภัยในการปฏิบัติงานเวลาที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต้องเข้าตรวจค้นจับกุมผู้ค้าไม้เถื่อน หรือผู้ค้ายาเสพติด

“ทหารคงต้องการลดความเสี่ยงในการใช้อาวุธสงครามเข้ามาก่อเหตุ แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาห้ามกับเจ้าหน้าที่ด้วยกัน เพราะห้ามแบบนี้มันส่งผลกับการทำงานจริงๆ เขาอาจหวาดระแวงข้าราชการในพื้นที่ เพราะทหารเชื่อว่าข้าราชการก็เป็นขี้ข้านักการเมือง บางทีข้อมูลเขาก็ไม่แชร์กับเรา ระแวงว่าเราจะมาหาข่าว เอเอสทีวีใช้คำว่า ให้ระวังข้าราชการขี้ข้าทักษิณทำนาบนหลัง คสช.”

ไม่เพียงเรื่องทางความมั่นคง การเข้ามาของทหารยังกระทบกับโครงการจำนำข้าวในพื้นที่ด้วย หลังจากที่ทหารเอากุญแจไปล็อคคลังสินค้าเก็บข้าวถึง 2 ชั้น และเอาดินเหนียวไปพอกไว้ตามที่เป็นข่าว เพื่อป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นแอบนำข้าวออกจากคลัง ปลัดอ.เล่าว่า เมื่อทำเช่นนั้นก็ไม่มีใครเข้าไปยุ่งกับคลัง จากนั้นไม่นานกรมการค้าภายในส่งหนังสือเวียนแจ้งข้าราชการในพื้นที่ว่าให้ดำเนินการไปตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการรมยากันมอด การขนย้ายข้าวที่ขายให้จีน หรือเอกชนตามสัญญาซื้อขายตลาด AFET ปัญหาคือ ใครจะเป็นคนเอาดินเหนียวนั้นออก

“คือเขาสั่งมาว่า ให้ทำทุกอย่างเหมือนเดิมภายใต้ดินเหนียว (หัวเราะ) มันไม่ใช่ไง ในเมื่อคุณไม่มีได้มีแนวปฏิบัติร่วมกับทหารให้ชัดเจนว่าต้องทำอะไร อย่างไร”

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งที่ถูกสะท้อนมาจากข้าราชการตัวเล็กๆ ถึงบรรยากาศในพื้นที่ห่างไกล สำหรับตัวเขาเองเขาก็ไม่รู้ชะตากรรมว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะถูกย้ายไปไหนหรือไม่ อย่างไร และก็ไม่แน่ว่าคนที่ยึดถือในคุณสมบัติของข้าราชการ “เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” แบบเขาจะยังอยู่ในระบบราชการได้นานเพียงไหน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท