บัวหลวงติวเข้มลงทุนพม่า-จับตาธุรกิจศักยภาพ เกษตร-ประมง-อุตสาหกรรม

ธนาคารกรุงเทพเสวนาเรื่องลงทุนในพม่า “ผู้บริหารสยามคูโบต้า” จับตาพืชหลัก “ข้าว-ถั่ว-อ้อย” แนวโน้มผลผลิตเพิ่มเมื่อเริ่มใช้เครื่องจักร “เอ็น.เค.ปลาป่น” ถ่ายทอดประสบการณ์หลังวัตถุดิบฝั่งไทยเริ่มขาด จึงเริ่มบุกเบิกโรงงานประมงที่ตะนาวศรี แต่สาธารณูปโภคยังขาด-ต้องปั่นไฟใช้เอง ด้าน “แอ็ดวานซ์สเตนเลสสตีล” เข้าไปตั้ง รง. หลังเห็นแววกำลังซื้อสูง ลดต้นทุนขนส่งจากฝั่งไทย

วิทยากรงานเสวนา “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่ AEC” ครั้งที่ 1 หัวข้อ “เมียนมาร์: ไปอย่างไรไม่ตกขบวน” (จากซ้ายไปขวา) วิรัตน์ ศิริขจรกิจ กรรมการบริหาร บริษัท สำนักภาษี เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด โกศิลป์ ภัทรธีรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ็ดวานซ์สเตนเลสสตีล จำกัด นิคม กนกภัยพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.เค. ปลาป่น จำกัด อิศเรศ ธำรงธัญวงศ์ ผู้จัดการสำนักงานตัวแทน ประจำประเทศพม่า สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด

 

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ที่ห้องประชุมชั้นสามสิบ สำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ถ.สีลม มีการเสวนา “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่ AEC” ครั้งที่ 1 ในหัวข้อเสวนา “เมียนมาร์: ไปอย่างไรไม่ตกขบวน” โดยเป็นการเสวนาเกี่ยวกับข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนในประเทศพม่า เปิดโอกาสให้ลูกค้าผู้ประกอบการ นักลงทุน และประชาชนที่สนใจได้เสริมสร้างความรู้ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ธุรกิจการเงิน และการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

ทั้งนี้ในช่วงเปิดงาน โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มาให้การต้อนรับ วิน เหมียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ประจำประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ประชาไทนำเสนอในช่วงการลงทุนในพม่าโดย วิรัตน์ ศิริขจรกิจ กรรมการบริหาร บริษัท สำนักภาษี เคพีเอ็มจี ภูมิไชย จำกัด ไปแล้วนั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

 

พม่าในฐานะชาติกสิกรรม-จับตาพืชหลัก ข้าว-ถั่ว-อ้อย ทิศทางคือใช้เครื่องจักรเพิ่มผลผลิตการเกษตร

โดยในการเสวนาหัวข้อต่อมา อิศเรศ ธำรงธัญวงศ์ ผู้จัดการสำนักงานตัวแทน ประจำประเทศพม่า บริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจพม่าหากแบ่งตาม GDP จะพบว่า เป็นภาคการเกษตรร้อยละ 30 ภาคการค้าร้อยละ 21 ภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 19 ภาคการบริการร้อยละ 17 และอื่นๆ ตามลำดับ ถึงศักยภาพของพืชเศรษฐกิจในพม่า โดยระบุว่า พื้นที่ปลูกข้าว อยู่ที่ภาคย่างกุ้ง ภาคอิระวดี ภาคพะโค ภาคสะกายน์ โดยเฉพาะที่ทุ่งเมืองชเวโบ (Shwebo) โดยปัจจุบันพม่ายังมีผลผลิตข้าวต่อปีน้อย เนื่องจากกสิกรจำนวนมากไม่ได้ปลูกข้าวโดยใช้เครื่องจักร โดยปัจจุบันผลิตได้ 12.5 ล้านตัน ส่วนใหญ่เพื่อการบริโภคภายในประเทศ เหลือส่งออกได้ 1 - 1.5 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมายว่าในฤดูกาล 2013/2014 จะส่งออกข้าวให้ได้ 3 ล้านตันต่อปี โดยจะหันมาเน้นใช้เครื่องจักรมากขึ้น

ทั้งนี้รัฐบาลพม่ามีแผน 5 ปี ตั้งแต่ฤดูกาล 2011/2012 ถึง 2015/2016 ว่าจะเพิ่มผลผลิตให้ได้ร้อยละ 2 ต่อปี

พืชเศรษฐกิจที่สองคือ ถั่ว มีการปลูกถั่วหลายชนิดเช่น ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วแระ ถั่วเขียว โดยส่งออกปีละ 1 ล้านตัน มีมูลค่าส่งออกเกือบพันล้านบาทต่อปี ทั้งนี้พม่าเป็นชาติที่ส่งออกถั่วมากเป็นอันดับสองของโลก และตลาดการส่งออกถั่วของพม่าใหญ่ที่สุดอยู่ที่อินเดีย คิดเป็นร้อยละ 54 ของมูลค่ารวมทั้งหมด รองลงมาคือจีน ร้อยละ 14 สิงคโปร์ ร้อยละ 13 ไทย ร้อยละ 5 และชาติอื่นๆ

ทั้งนี้แหล่งปลูกถั่วในพม่า อยู่ในแหล่งเดียวกับพื้นที่ปลูกข้าว นอกจากนี้พื้นที่โซนแห้งแล้งของพม่าก็เป็นพื้นที่ปลูกถั่ว ได้แก่ ภาคตะนาวศรี และรัฐยะไข่ โดยอุปสรรคของพืชตระกูลถั่วคือ การขนส่ง ซึ่งค่าขนส่งยังคงสูง ส่วนโอกาสของพืชตระกูลถั่วก็คือ เมื่อสหภาพยุโรปผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรพม่าหลังเปิดประเทศ โอกาสที่พม่าจะส่งออกถั่วไปตลาดสหภาพยุโรปน่าจะมากขึ้น

พืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดคือ อ้อย ทั้งนี้ปริมาณการปลูกยังถือว่าค่อนข้างน้อย ผลผลิตค่อนข้างต่ำ เป็นพืชที่มีการปลูกในพื้นที่ข้างที่นา เช่น ชาวนาปลูกอ้อยไว้ หนึ่งถึงสองเอเคอร์ ทั้งนี้เพราะคนพม่าเชื่อว่าอ้อยทนแล้ง ไม่ต้องให้น้ำ ปล่อยเดี๋ยวก็โต ทำให้สภาพผลผลิตยังไม่ค่อยดี

ทั้งนี้พม่ามีโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ 20 โรง แต่เดิมเป็นของรัฐบาลทั้งหมด ต่อมาเมื่อเปิดประเทศเริ่มแปรรูปให้เอกชนมาทำ เปลี่ยนมือให้เอกชนมาทำมากขึ้น อย่างไรก็ตามเอกชนยังไม่ชำนาญเรื่องปลูกอ้อย ยังคงมีการขอให้รัฐบาลช่วยเรื่อง Know-How หรือความชำนาญด้านทักษะ ทั้งนี้การทำธุรกิจเกี่ยวกับอ้อยยังค่อนข้างน้อย พื้นที่ซึ่งมีโรงงานน้ำตาลในพม่า คือตอนกลางของประเทศ โดยพื้นที่เพาะปลูกอ้อยคือ ภาคมัณฑะเลย์ ภาคพะโค ภาคตองอู และเนปิดอว์ นอกจากนี้ยังสามารถปลูกอ้อยได้ในรัฐฉาน รัฐสะกายน์ สำหรับรัฐฉานซึ่งอยู่ติดประเทศไทย พื้นที่ปลูกอ้อยอยู่บริเวณรัฐฉานใต้ คือ ตองจี และรัฐฉานตอนบน คือ ล่าเสี้ยว

ในด้านผลผลิตน้ำตาลในพม่า ถือว่าปริมาณการผลิตยังน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับเมืองไทย เช่น โรงงานน้ำตาลในพม่า มีกำลังผลิตระหว่าง 1,000 - 2,000 ตันต่อวัน หากมีโรงงาน 20 แห่ง กำลังผลิตทั้งประเทศจะอยู่ที่ไม่เกิน 40,000 ตันต่อวัน ขณะที่โรงงานน้ำตาลไทยโรงเดียวก็มีกำลังผลิต 40,000 ตันต่อวันแล้ว

ทั้งนี้สยามคูโบต้า ทำธุรกิจร่วมกับหลายๆ บริษัทในพม่า ส่งเสริมการหันไปใช้เครื่องจักรในภาคเกษตร และขยับคนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น

 

เอ็น.เค.ปลาป่นถ่ายทอดประสบการณ์บุกเบิกประมงภาคตะนาวศรี

นิคม กนกภัยพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.เค.ปลาป่น จำกัด ซึ่งลงทุนในอุตสาหกรรมประมงในเมืองมะริด ภาคตะนาวศรีของพม่า กล่าวว่าจุดเริ่มต้นของการเข้าไปลงทุนในพม่าคือเมื่อ 7-8 ปีก่อน เริ่มจากการเข้าไปซื้อขายปลาป่นกับคู่ค้าในพม่า ค้าขายกันไป 2-3 ปี ก็เริ่มเข้าไปเป็นคู่ค้า และเข้าสู่ธุรกิจอื่นๆ และรู้ว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าส่งเสริมให้ภาคตะนาวศรี ตั้งแต่ทวายจนถึงเกาะสองปลูกพืชเศรษฐกิจ 2 ชนิด คือปาล์มน้ำมันและยางพารา โดยพื้นที่จากทวายถึงมะริด เหมาะกับการปลูกยางพารา ส่วนมะริดถึงปกเปียน พื้นที่เพาะปลูกนับล้านเอเคอร์ นอกจากนี้ในรัฐเขตมอญ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของทวายก็มีการปลูกยางพาราประมาณ 8 แสนเอเคอร์

สำหรับการปลูกปาล์มน้ำมันในพม่า โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มยังมีน้อย ทำให้ผลผลิตน้อย ต้องมีการนำเข้าน้ำมันพืช ทำให้ราคาน้ำมันพืชในพม่าแพงมาก

ล่าสุดในภาคตะนาวศรี มีโรงงาน CPO ของเครือ Yuzana ของพม่าเข้ามาดำเนินการผลิต โดยเป็นการร่วมทุนกับมาเลเซีย เป็นการสร้างโรงงานในพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันขนาด 100,000 เอเคอร์ แล้วส่งน้ำมันดิบไปสกัดที่ย่างกุ้ง ราคาเทียบเป็นเงินไทยอยู่ที่กิโลกรัมละ 18 บาท ทั้งนี้ถ้ามีการเปิดตลาดอาเซียน กิจการหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญในพม่าก็คือปาล์มน้ำมัน

ส่วนเรื่องกิจการประมง เมืองมะริดเป็นศูนย์กลางประมงของพม่า เทียบได้กับสงขลา หรือมหาชัย เมื่อ 25 ปีก่อน ทั้งนี้เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา สินค้าวัตถุดิบของระนอง และมหาชัย ร้อยละ 70 มาจากเมืองมะริด เรือประมงของไทย ส่วนใหญ่ในตอนนี้เข้าไปจับปลาในเขตพม่า โดยแบ่งกิจการเป็นสองลักษณะ หนึ่งแปลงสัญชาติเป็นเรือพม่า ซึ่งในอดีตทำได้ ปัจจุบันไม่สามารถได้ สอง ซื้อ “ตั๋วเรือ” หรือโควตาจับปลา โดยมีสองเขตคือ เกาะสอง กับ ตะนาวศรี โดยต้องติดต่อสองบริษัทในพม่า แต่ต่อไปเรื่องตั๋วเรือคงถูกทางการพม่ายกเลิก เพราะจะมีการสงวนสิทธิในเรื่องการจับปลา

“ขออนุญาตเรียนเลยว่าธุรกิจห้องเย็น และประมงของไทย สองสามปีข้างหน้าต้องย้ายไปมะริดเต็มตัว เพราะการส่งวัตถุดิบมาจากระนอง ทำให้มีปัญหาเรื่องคุณภาพสินค้า และค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ตอนนี้ต้องไปเพิ่มมูลค่าด้วยการทำห้องเย็นที่มะริด” กรรมการผู้จัดการ เอ็น.เค.ปลาป่น กล่าว

นิคมกล่าวด้วยว่า กิจการห้องเย็นในมะริดยังไม่ได้มาตรฐานแบบไทย ทั้งนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นอุปสรรค เช่น เรื่องกระแสไฟฟ้า ที่ทุกโรงงานต้องปั่นไฟใช้เอง โดยนิคมยกตัวอย่างค่าใช้จ่ายว่า โรงงานที่เขาดำเนินกิจการในเมืองมะริดนั้น ต้องปั่นไฟใช้เอง ตั้งแต่ช่วงที่ ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 14 บาท ซึ่งต้นทุนราคาไฟฟ้าขณะนั้นยังพอรับไหว อย่างไรก็ตามตอนนี้ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 27 บาทแล้ว ทำให้ต้นทุนไฟฟ้าในโรงงานอยู่ที่ 10.50 บาท ต่อยูนิต โดยต้องปั่นไฟฟ้าตลอด 24 ชม. เมื่อคำนวณค่าไฟ แต่ละโรงงานมีเครื่องปั่นไฟฟ้ากำลัง 1000 kVA จำนวน 6 ชุด ทำให้เดือนหนึ่งจ่ายค่าน้ำมันดีเซลเพื่อใช้ปั่นไฟ 2-3 ล้านบาท

“ขณะนี้ประเทศไทยต้องการวัตถุดิบจากกิจการประมงจากพม่าอยู่มาก ที่มะริด ยังมีศักยภาพอีกอย่างน้อย 8 ปี ทั้งนี้ น่านน้ำทะเลอันดามัน ตั้งแต่ทวายลงมาจนถึงเกาะสอง มีเกาะต่างๆ อยู่กว่า 1,300 กว่าเกาะ เป็นตัวบังลม บังมรสุมให้กับชายฝั่งทะเล ชายฝั่งจึงมีสัตว์น้ำที่มีมูลค่าอยู่ตามชายเกาะ การที่มีเกาะเยอะทำให้พม่ามีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ สัตว์หลายๆ อย่างที่เมืองไทยหายากแล้วในพม่าด้านชายฝั่งตะนาวศรียังมีเช่น ปลาหน้าหงส์ ปลากุเลา”

นิคมกล่าวถึงศักยภาพด้านธุรกิจห้องเย็นของพม่าในอนาคตด้วยว่า “ในสายตาผมธุรกิจห้องเย็น ทางตะนาวศรีมีอนาคต 10 ปี ที่จะแปรรูป จะเพิ่มมูลค่า เรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องไฟฟ้าคงจะแก้ไขได้ เพราะมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าที่จะมีการลงทุนกันอยู่”

สำหรับอุตสาหกรรมยางพาราในพม่า หากเทียบกับประเทศไทย ในด้านเทคโนโลยียังไม่เท่ากัน ในพม่ายังเน้นกรีดยางเป็นยางแผ่น แล้วขายกับบริษัทมาเลเซียที่มาเปิดตลาดรับซื้อ ซึ่งกล้าให้เงินครึ่งหนึ่งก่อนกรีดน้ำยาง และในพม่าการทำธุรกิจยังคงจ่ายเงินด้วยเงินสด เนื่องจากระบบธนาคารยังไม่พร้อม

ในช่วงท้าย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.เค.ปลาป่น กล่าวถึงประสบการณ์อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าไปลงทุนในพม่าว่า ได้เข้าไปร่วมทุนกับเอกชนท้องถิ่นในมะริด ขยายกำลังการผลิตโรงงานปลาป่นเดิมของเขา ที่วันหนึ่งผลิตได้ 10 – 20 ตัน ก็เข้าไปร่วมทุนและขยายกำลังการผลิตเป็นวันละ 320 ตัน

นิคมยังกล่าวว่าที่เข้าไปในพม่า เพราะในอดีตกำลังผลิตรวมของไทยเคยอยู่ที่ 8 แสน ถึง 1 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันกำลังผลิตเหลือ 4 แสนตันต่อปี เนื่องจากไม่มีวัตถุดิบแล้ว ดังนั้นจึงต้องออกไปหาแหล่งวัตถุดิบ นี่คือเหตุผลที่ไปพม่า ในเมืองมะริดปัจจุบันมีโรงงานปลาป่น 5 แห่ง ซึ่งถ้าเทียบมหาชัยในอดีตมหาชัยเมืองเดียวเคยมีโรงงานปลาป่นถึง 25 แห่ง นี่คือศักยภาพปัจจุบันของมะริด

เขาเปรียบเทียบด้วยว่า ธุรกิจอาหารทะเลในพม่าเพิ่งเริ่มต้น เหมือนประเทศจีน เหมือนเวียดนาม ที่วันนี้กำลังผลิตอาหารเพิ่มขึ้น 10 เท่าของเมื่อ 3 ปี ก่อน “และอีก 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจอาหารของพม่าก็ต้องคูณ 5 เท่าเช่นกัน เพราะกำลังบริโภคของพม่านั้น ต้องถือว่าพม่าเป็นปากทางสามมณฑลของประเทศจีน ได้แก่ เสฉวน ยูนนาน และกุ้ยโจว รวมกับประชากรประเทศพม่าอีกจะเป็นเท่าไหร่ นี่คือลูกค้าของผู้ที่จะไปลงทุนในพม่า”

นอกจากนี้มีโครงการทำถนนด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปเมืองมะริด ซึ่งจริงๆ เริ่มโครงการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ซึ่งควรจะเสร็จหลายปีแล้ว แต่ด้วยเรื่องการเมืองทำให้โครงการดังกล่าวชะงักไป ทั้งนี้จาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปถึงมะริดประมาณ 200 กม. สภาพถนนเดิมเป็นถนนยางมะตอย 2เลน ถ้าโครงการนี้สำเร็จ ถนนจะกว้างเป็น 4 เลน ระยะทางจากด่านสิงขร ไปเมืองมะริด จะเหลือเพียง 3 ชม. ถือเป็นแลนด์บริดระหว่างอันดามัน – อ่าวไทยอีกแห่งหนึ่ง จะสามารถย่นเวลาขนส่ง โดยสินค้าถ่ายจากท่าเรือน้ำลึกอันดามัน ใช้รถลากมาลงฝั่งไทย เปรียบเหมือนคอคอด ซึ่งถ้าแลนด์บริดนี้เสร็จ ก็เหมือนคอคอดกระ ก็จะได้ประโยชน์สำหรับการขนส่งสินค้าสองฝั่งทะเล

 

ตั้งโรงงานผลิตแท็งก์น้ำ-แสตนเลสในพม่าเพื่อลดต้นทุนขนส่ง-รองรับกำลังซื้อขยายตัว

โกศิลป์ ภัทรธีรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ็ดวานซ์สเตนเลสสตีล จำกัด ซึ่งทำธุรกิจส่งออก และลงทุนตั้งโรงงานผลิตอ่างแสตนเลส และสุขภัณฑ์ในพม่า เล่าด้วยว่า พม่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะในรอบ 2 ปีมานี้ โดยเขาเปรียบเทียบกับเรื่องการนัดหมอดูทำนายโชคชะตาชื่อดังของพม่า “อีที” ว่า ก่อนหน้านี้เมื่อ 5 ปีก่อนที่พม่าเขายังไม่เปิดประเทศ เขานั้นมักไปดู “หมอดูอีที” แต่พอตอนนี้นัดยากกว่ารัฐมนตรีนะครับ เดิมค่าดู 100 เหรียญสหรัฐ ตอนนี้ 200 เหรียญสหรัฐ และหมอดูก็รับดูวันละไม่กี่รายด้วย

เขากล่าวถึงพม่าเมื่อ 5 ปีก่อนว่า ตอนนั้นยังไม่มีอะไร เป็นประเทศปิด สภาพแวดล้อมและผู้คนที่เห็นต้องบอกว่าน่าสงสาร แต่เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมานี้ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ เออีซี เริ่มฮิต โดยเขาเริ่มไปเปิดการลงทุนที่ลาว “เริ่มแรกไปลงทุนที่ลาว แล้วเห็นว่าใจกล้าน่าจะมาเปิดในพม่าบ้าง เพราะประชากรเห็นว่าน่าจะถึง 80 ล้าน และที่ตกสำรวจก็น่าจะมาก ผมว่าประชากรไม่น่าจะน้อยกว่าเมืองไทย จาก 3 ปีมานี้ ผมเริ่มไปดูสถานที่ คิดว่าจะต้องไปลงทุนเปิดโรงงานพม่า”

กรรมการผู้จักการ แอ็ดวานซ์สเตนเลสสตีล กล่าวถึงเหตุผลที่ไปตั้งโรงงานลงทุนในพม่าว่า เดิม บริษัท แอ็ดวานซ์สเตนเลสสตีล ส่งออกอ่างแสตนเลส ถังน้ำ แท็งก์น้ำ เข้าไปในพม่า เช่น สั่งแท็งก์น้ำ 500 ใบเข้าพม่า แต่เวลาขนส่งแท็งก์น้ำจะกิน ทำให้เสียค่าขนส่งเยอะมาก พอผลิตแท็งก์น้ำเสร็จ ก็จะทางด้าน จ.ระนอง หน้าที่ของฝ่ายผู้ซื้อในพม่า เขาเอาเรือมาขนจากระนองไปย่างกุ้ง เข้าโกดังรอไปเสียภาษี เก็บเข้าโกดังสินค้าและรอขาย จะเห็นได้ว่าต้นทุนเขาเพิ่มเพราะค่าขนส่งและค่าธรรมเนียมต่างๆ ร้อยละ 20

“เราเลยไปเซ็ตโรงงานที่นั่น ลูกค้าเก่าเรามี ตอนแรกจะลงทุนเอง เพราะในลาวผมลงทุนเอง แต่เอาไปเอามาทำเองไม่ได้ เพราะเรื่องภาษา ข้อระเบียบราชการ เมื่อสามปีก่อนวุ่นวายมาก เลยคุยกับคู่ค้า โชคดีมีคนจีนในพม่า ญาติอยู่เมืองไทย เช็คไปเช็คมา ผมอาจจะมีเซ็นส์ว่าดูโหงวเฮ้งคนเป็นด้วย” โกศิลป์กล่าวถึงเหตุผลการตัดสินใจ

อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานั้น กฎหมายการลงทุนยังไม่ชัดเจน แต่ถ้ามัวแต่รออยู่โรงงานก็ไม่ได้เกิด ทำให้เขาตัดสินใจใช้วิธีเช่าโรงงานเก่าแทน ทั้งนี้ในพม่ามีนิคมอุตสาหกรรม 3-4 แห่ง และมีโรงงานร้าง เนื่องจากเมื่อพม่าเมื่อเข้าสู่ยุคเผด็จการและถูกแซงชั่น ทำให้นักลงทุนถอนการลงทุน โรงงานปิดตัว ด้านคนพม่าที่มีเงินก็ไม่ฝากเงินในธนาคาร แต่จะเอาเงินไปซื้อทรัพย์สินเก็บเอาไว้ เช่น ซื้อโรงงานร้างที่ปิดตัวไปดังกล่าว

“คนมีเงินเยอะ เขาไม่แสดงออก” โกศิลป์กล่าวถึงลักษณะกลุ่มนักธุรกิจในพม่า

เรื่องการเช่าโรงงานนั้น เขาไปสำรวจพบโรงงานเก่าแห่งหนึ่ง พื้นที่หมื่น ตร.ม. เศษ คิดค่าเช่าเดือนละ 8 หมื่นบาท รวมค่าใช้จ่ายต่างๆ เท่ากับ ตก ตร.ม. ละ 10 กว่าบาท แต่ขณะนั้นยังไม่ตัดสินใจ ฝ่ายเจ้าของโรงงานในพม่า พอเห็นว่าเราทิ้งช่วง เขาเลยไม่ให้เช่า เขาเลยเก็บไว้ทำโกดังเองเลย เลยต้องหาที่ใหม่ พอเจอที่ใหม่อีกที ตก ตร.ม. ละ 70 บาท แต่ยังถูกกว่าเมืองไทยที่ทุกวันนี้ตก ตร.ม. ละ 150 บาท

เขากล่าวว่า นักธุรพม่ามีไม่เยอะ ทำให้ข้อมูลถึงกันหมด เช่นตอนแรก ค่าเช่าที่ตก ตร.ม. ละ 10 กว่าบาท พอตอนหลัง ตร.ม. ละ 70 บาทก็ 70 บาทเหมือนกันหมด เดิมพม่าสมัยก่อนรถราคาแพงมาก ต้องมีใบอนุญาต ซึ่งราคาตกเป็นล้านกว่าบาท ทำให้รถมีราคาแพง ในเมืองจะเห็นแต่รถเก่า พวงมาลัยซ้ายบ้าง ขวาบ้าง แต่ไม่กี่ปีมานี้ พม่ายกเลิกเรื่องใบอนุญาต ทำให้ราคารถถูกลงมาเยอะ กลับไปพม่าอีกที 6 เดือนหลังเลิกใบอนุญาต ตอนนี้มีแต่รถใหม่ เพราะราคาถูกลงมาเยอะ คู่ค้าที่ทำธุรกิจในพม่าเล่าให้เขาฟังด้วยว่า คนที่ขายรถก็เจ๊งเหมือนกัน เพราะรถที่ซื้อมาก่อนใบอนุญาตราคาตก ทำให้ขาดทุน นี่คือตัวอย่างเวลาพม่าเปลี่ยน มักจะมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก

"ข้อมูลอันหนึ่ง คือเรื่องโรงแรมที่พัก พอเปิดประเทศค่าโรงแรมแพงทันที สมัยก่อนเคยไปพักเครือชาเทรียม ราคาห้องพักคืนละ 50 เหรียญ ตอนนี้ราคาขึ้นไปแล้วเป็น 200 เหรียญ โดยในพม่าขณะนี้มีการก่อสร้างตึก สร้างอาคารทำโรงแรม เพิ่มขึ้นมาก"

“อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีการก่อสร้างยังไม่ดี เวลาเทถนน ยังไม่มีการทำตะแกรงเหล็กแบบไทย ยังใช้คนผูกลวดด้วยมือแล้วเทปูน และซีเมนต์ก็ต้องสั่งจากเมืองไทย” โกศิลป์ให้ข้อสังเกต “ถนนเมื่อก่อนเลอะเทอะ เดี๋ยวนี้ดี ถนนไปสนามบินเรียบมาก เรื่องภูมิทัศน์พม่าทำได้สวยมาก”

เขากล่าวด้วยว่า คนพม่าเริ่มมีกำลังซื้อ โดยคู่ค้าธุรกิจของเขาเคยให้ข้อสังเกตว่าตอนนี้โชว์รูมรถในพม่าเยอะกว่ากรุงเทพ ซึ่งหากมาดูในย่างกุ้งขณะนี้ จะเห็นการก่อสร้างโชว์รูมรถจำนวนมาก สิ่งนี้สะท้อนว่าคนพม่าก็มีกำลังซื้อ แต่ที่ผ่านมาไม่มีสินค้ามาวางให้ซื้อมากกว่า

ทั้งนี้ เขากล่าวถึงการไปตั้งโรงงานแสตนเลสและสุขภัณฑ์ว่า พอสินค้าเขาเปิดตัวในพม่าปุ๊บ ก็มีลูกค้ารายใหญ่ 5-6 รายขอเป็นตัวแทนจำหน่าย เลยใช้วิธีทำแบรนด์ใหม่ให้ทั้ง 5 ราย ส่วนลูกค้ารายย่อย ก็ยังคงใช้แบรนด์เดิมของเขาขาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท