ชาติ รัฐชาติ ความปรองดองและประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 
“คสช.ไม่ได้เป็นคนเก่ง ไม่ใช่มนุษย์ผู้วิเศษที่จะดลบันดาลอะไรได้แต่เรามีพลังอันหนึ่งที่จะทำให้ปัญหาหมดไปจึงหยิบมาใช้ แต่การหยิบมันผิดกฎหมายไม่ใช่ประชาธิปไตยเราไม่ได้เถียง แต่ถ้าไม่ทำประเทศเดินต่อไปไม่ได้จึงต้องเร่งแก้ไขในทุกมิติทั้งเศรษฐกิจสังคมรวมทั้งด้านอื่นๆ จึงต้องละทิ้งความเป็นประชาธิปไตยสักระยะหนึ่ง”

พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าฝ่ายและกระบวนการยุติธรรม คสช.
โพสต์ทูเดย์ 19 มิ.ย. 2557

รัฐชาติเป็นเอกภาพชั่วคราวระหว่างรัฐกับชาติหมายความว่าโดยแท้จริงแล้วทั้งสองมิได้เป็นสิ่งเดียวกัน สภาวะที่ดูเหมือนสอดคล้องประสานเป็นเนื้อเดียวกันนี้เป็นเพียงสภาวะชั่วคราวที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมดังนั้นชาติจึงไม่เท่ากับรัฐและระหว่างชาติกับรัฐชาตินั้นมีความแตกต่างหลายประการ

ข้อแตกต่างสำคัญประการหนึ่งระหว่างชาติกับรัฐชาติคือวิธีการนับสมาชิกในสังกัด ชาตินั้นนับคนในสังกัดด้วยเกณฑ์ทางความคิดคือมีสำนึกร่วมกันโดยสมัครใจในขณะที่รัฐชาตินั้นนับสมาชิกด้วยเกณฑ์ทางกฎหมายอันมีลักษณะบังคับ

ลักษณะดังกล่าวของชาติและรัฐชาติประกอบกับอัตลักษณ์หลากหลายของมนุษย์ในความเป็นจริงทำให้ในทางปฏิบัติแล้วการเป็นสมาชิกของชาติกับรัฐชาตินั้นไม่เป็นหนึ่งเดียวกันและไม่คงเส้นคงวา เช่น เราอาจจะมีนายกรัฐมนตรีไทยเชื้อแขกสัญชาติอังกฤษสำนึกชาติไทยได้ เป็นต้น

เอกลักษณ์ของชาติและรัฐชาติที่ไม่เหมือนกันนี้ไม่จำเป็นต้องก่อให้เกิดความขัดแย้งในบางด้านทั้งสองสิ่งกลับเกื้อหนุนซึ่งกันและกันให้เกิดความก้าวหน้าและสันติปรองดอง เช่น ชาติสามารถเป็นศูนย์กลางที่หลอมรวมทุกพลังในรัฐให้มีเจตจำนงร่วมกันในการผลักดันสังคมไปข้างหน้า ในขณะเดียวกันรัฐชาติก็สามารถเป็นกลไกที่ดีในการดูแลสมาชิกทุกคนในสังคมอย่างเสมอหน้าไม่ว่าในทางความคิดแล้วพลเมืองจะสังกัดสำนึกชาติแบบใดก็ตาม

คำถามคือเงื่อนไขใดบ้างที่ส่งเสริมให้ชาติกับรัฐชาติเป็นเอกภาพและเป็นพลังสร้างสรรค์มากกว่าพลังทำลายล้าง

คำตอบเบื้องต้นคือ สันติในรัฐชาติย่อมเกิดจากความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างชาติกับรัฐชาติในความหมายว่าชาติต่าง ๆ อยู่ร่วมกันในรัฐชาติได้แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันโดยพื้นฐานแต่ต้องไม่มีปัจจัยที่ทำให้ความแตกต่างนี้กลายเป็นความแตกแยกขัดแย้งรุนแรง เมื่อมองจากฝั่งชาติ ชาติที่จะแนบเป็นเนื้อเดียวกับรัฐชาติได้ควรมีจุดร่วมพื้นฐานของสำนึกชาติกว้างขวางพอที่สมาชิกในสังกัดสามารถยึดเป็นแกนร้อยผองเพื่อนที่คิดต่างเข้าไว้ด้วยกันได้ ในขณะที่มุมมองจากฝั่งรัฐชาตินั้น พื้นฐานที่จะทำให้รัฐชาติโอบรับชาติเข้าไว้โดยไม่กระทบกระทั่งรุนแรงมักเป็นรัฐชาติที่มีกฎเกณฑ์รองรับความแตกต่างหลากหลายภายใต้มาตรฐานที่ยอมรับร่วมกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือรัฐชาติที่สันติจำเป็นต้องมีสำนึกชาติกว้างขวางและมีกฎหมายที่เป็นธรรมไม่กดขี่สมาชิกกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นพิเศษ

ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างหนึ่งของความขัดแย้งรุนแรงในรัฐอันเกิดจากการแยกตัวของชาติกับรัฐชาติเนื่องจากการทำให้สำนึกชาติเรียวแคบลงเรื่อย ๆ จนไม่อาจรองรับสมาชิกร่วมรัฐคนอื่น ๆ ที่คิดแตกต่าง และต่างฝ่ายต่างพยายามนำรัฐชาติที่มีลักษณะเฉพาะตัวอีกประการหนึ่งคือเป็นรัฐที่รับใช้ชาติไปรับใช้เฉพาะ “ชาติ” ในมุมมองของตนเองด้วยการตรากฎหมายที่ไม่เป็นธรรม บังคับใช้กฎหมายอย่างอยุติธรรม ปกป้องกฎหมายที่ไร้มนุษยธรรม ตีความบิดเบือนกฎหมายจนสิ้นความเป็นธรรม กระทั่งทำลายกฎหมายในนามความเป็นธรรมเพื่อสร้างรัฐชาติตามจินตนาการของตนเองฝ่ายเดียว

จะเห็นได้ว่าอนาคตของสันติสุขในประเทศชาติขึ้นอยู่กับกรอบวิธีคิดเกี่ยวกับชาติและรัฐชาติมาตั้งแต่แรกเริ่ม การกำหนดบุคลิกลักษณะและความสัมพันธ์ระหว่างชาติกับรัฐชาติส่งผลโดยตรงต่อความขัดแย้งหรือความปรองดองภายในประเทศ

รัฐธรรมนูญเป็นรูปธรรมของตัวตนและความสัมพันธ์ระหว่างชาติกับรัฐชาติเพราะเป็นกรอบโครงกฎหมายสูงสุดที่กำหนดความสัมพันธ์ของประชาชนพลเมืองทุกคนในรัฐ รัฐธรรมนูญจึงสำคัญในระดับชี้เป็นชี้ตายสันติสุขของประเทศ กระบวนการกำหนดประเด็นในการร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ การร่าง-รับ-นำรัฐธรรมนูญมาใช้ หากไม่โอกาสให้สมาชิกร่วมรัฐชาติผู้อื่นได้มีส่วนร่วมในการออกแบบสถาบันที่กำหนดชะตากรรมของพวกเขาไว้จะเป็นการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาติกับรัฐชาติเปราะบางเพราะแกนกลางของรัฐชาติที่กำลังจะเกิดใหม่นั้นจะกำเนิดจากชาติของคนกลุ่มเดียวและกีดกันชาติในแบบอื่น ๆ ออกไปทั้งที่รัฐชาตินับพวกเขาเป็นสมาชิกในสังกัด

การ “คืนความสุข”และสร้าง “ความปรองดอง” และนำประเทศให้พ้นจากสภาวะขัดแย้งรุนแรงอย่างถาวรจะเป็นจริงได้ด้วยการออกแบบรัฐชาติให้เป็นรัฐสำหรับประชาชาติคือ เป็นรัฐสำหรับคนที่มีสำนึกชาติที่หลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งมีเครื่องมือสำคัญคือกระบวนการประชาธิปไตยเพราะจะทำให้สำนึกชาติแบบต่าง ๆ ได้มีส่วนในการสร้างรัฐชาติให้เป็นสมบัติร่วมของสมาชิกในสังคมที่จะถูกบังคับให้อยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเสมอหน้าเท่าเทียมโดยรัฐอีกทอดหนึ่ง รัฐนั้นจะต้องเป็นรัฐที่พวกเขามีส่วนร่วมยอมรับและควบคุมได้พวกเขาจึงจะมีเหตุผลที่จะยอมรับให้รัฐนั้นบังคับควบคุมลิดรอนสิทธิกระทั่งตัดสินเอาชีวิต

การ “คืนความสุข” และ “ความปรองดอง” จึงไม่อาจแยกออกจากกระบวนการประชาธิปไตย วิธีการอื่นที่พ้นไปจากนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามดัดแปรงให้รัฐชาติเป็นรัฐของสำนึกชาติแบบเดียวนั้นคือเส้นทางสู่ความขัดแย้งรุนแรงรอบใหม่มากกว่าจะเป็นทางออกของปัญหา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท