Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


มาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ห้ามการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ บันทึกเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวได้ขยายความไว้ว่า รวมถึง การเลือกปฏิบัติ ด้วยสาเหตุแห่งเพศสภาพ อัตลักษณ์ทางเพศ และความหลากหลายทางเพศ นับเป็นครั้งแรกที่สิทธิมนุษยชนของคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศได้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่กฎหมายลูกทั่วๆ ไป แต่เป็นถึงกฎหมายสูงสุดของประเทศ

นี่เป็นผลจากการที่นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศจำนวนหนึ่งได้ไปรณรงค์กับสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคมวงกว้าง และมีการขอความคิดเห็นจากตัวแทนคนกลุ่มน้อยในสังคม เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว  ถึงกระนั้นก็ดี ความชอบธรรมของ ส.ส.ร. ก็ไม่ได้รับการยอมรับโดยประชาชนทั้งหมด เพราะเป็นองค์กรที่ออกแบบมาโดยคณะรัฐประหารเพื่อทำหน้าที่แทนรัฐสภา

ดังนั้นการยอมรับผลงานของ ส.ส.ร. และยกย่องมาตรา 30 ว่าเป็นการเชิดชูสิทธิความหลากหลายทางเพศ ก็ทำให้นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศถูกตั้งคำถามว่าช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐประหาร และได้รับลาภติดปลายนวมมาด้วยหนึ่งมาตรา 

แต่กระนั้น นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศส่วนใหญ่ก็มิได้เล็งเห็นปัญหาในเรื่องนี้แต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอดีตก็ไม่ได้ออกกฎหมายเพื่อสิทธิของคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศแต่อย่างใด แม้แต่คนที่เรียกตัวเองว่า “หัวก้าวหน้า” อย่างคนเสื้อแดงบางส่วนกลับต่อต้านสิทธิความหลากหลายทางเพศเสียด้วยซ้ำ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีที่กลุ่มรักษ์เชียงใหม่ยกขบวนเข้าปิดล้อมและขู่ทำร้ายผู้เข้าร่วมขบวนพาเหรดเชียงใหม่เกย์ไพรด์ในปี 2552 เป็นต้น

อย่างไรก็ดีนับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญที่เป็นผลพวงของรัฐประหารในครั้งนั้นก็ถูกฉีกเป็นเศษกระดาษโดยคณะรัฐประหารอีกชุดหนึ่ง และควรต้องขอบคุณ คสช. ทีช่วยให้เราหลุดพ้นจากสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่ว่านี้ หากรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ถูกฉีกลง เราก็คงยังฝันหวานอยู่ว่าวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นสามารถส่งเสริมสิทธิมนุษยชนได้


สิทธิของใคร

สองสามปีที่ผ่านมา เราได้ยินกันว่าเวียดนามกำลังจะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่รับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลเวียดนามยังสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เพื่อคนรักเพศเดียวกัน ดูเหมือนว่าพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจะยอมอะลุ้มอล่วยให้กับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมใหม่ๆ เพื่อ “คืนความสุขให้ประชาชน” ตราบใดที่ไม่มีใครเอ่ยคำว่าประชาธิปไตยขึ้นมา ดังนั้น คนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศในเมืองไทยบางส่วนจึงได้แต่มองตาปริบๆ อิจฉาเพื่อนๆ ชาวเวียดนาม และพาลหวังว่า คสช. จะชิงออกกฎหมายรับรองความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันในบ้านเราตัดหน้าเวียดนามบ้าง  

ถ้าเกิดส้มหล่นขึ้นมาจริงๆ ก็คงทำให้นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศจำนวนไม่น้อยดีใจ เพราะเป็นความสำเร็จที่ได้มาง่ายๆ ไม่น่าหงุดหงิดเหมือนในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งแม้จะมีส.ส.จำนวนหนึ่งในคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาริเริ่มจะร่างกฎหมายดังกล่าวในช่วงปลายปี 2555   แต่ทว่าด้วยขาดความเข้าใจในหลักสิทธิมนุษยชน ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงเป็นร่างกฎหมายขาดๆ เกินๆ ที่ชุมชนคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศรักไม่ลง ตัวอย่างเช่น การกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะได้รับการรับรองความสัมพันธ์ดังกล่าวไว้สูงกว่าอายุขั้นต่ำของคู่สมรสต่างเพศ และการไม่มีบทบัญญัติรับรองบุตรที่อยู่ในความสัมพันธ์ดังกล่าว


ลำดับชั้นของมือ

แต่ก่อนจะสรุปว่า กฎหมายดีๆ สมบูรณ์แบบที่ออกในยุคเผด็จการย่อมดีกว่ากฎหมายกะรุ่งกะริ่งที่คลอดออกมาด้วยวิถีทางประชาธิปไตยแน่ๆ ผู้เขียนขอแย้งว่าข้อสรุปนี้มีปัญหาอย่างน้อยสามประการใหญ่

ประการแรก คือ การออกกฎหมายแบบ “คุณพ่อรู้ดี” เช่นนี้ เป็นการปฏิเสธเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความเห็นต่าง และสิทธิในการกำหนดทิศทางของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งเป็นอย่างยิ่งในกรณีของสิทธิความหลากหลายทางเพศ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแสดงออกที่ไม่เป็นไปตามกรอบของคนส่วนใหญ่ทั้งสิ้น

เป็นเรื่องน่าเสียใจที่นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศจำนวนมากไม่มีศรัทธาในกระบวนการประชาธิปไตย และมืดบอดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ การที่พวกเขายอมให้คนอื่นถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่กลับเรียกร้องสิทธิดังกล่าวให้กับตัวเองนั้น ทำให้พวกเขาไม่สามารถเรียกตัวเองได้ว่าเป็นนักสิทธิมนุษยชน เป็นได้อย่างมากก็แค่นักวิ่งเต้นล็อบบี้ยิสต์เท่านั้น

ในเมื่อไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความเห็นต่าง และสิทธิในการกำหนดทิศทางของตนเอง สังคมก็ถูกปล้นโอกาสที่จะเรียนรู้หาทางแก้ปัญหาด้วยตนเองผ่านการแลกเปลี่ยนโต้ประเด็นความคิดและการเจรจา กฎหมายใดๆ ที่ออกมาโดยปราศจากกระบวนการทางสังคมดังกล่าวนี้ ก็เป็นได้แค่ไม้ล้มลุกที่ไม่มีระบบรากแก้วทางสังคมรองรับ

ประการที่สอง ชะตากรรมของมาตรา 30 ที่รับรองสิทธิความหลากหลายทางเพศนั้น ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า กฎหมายที่ไร้รากเหง้าทางสังคม แต่ถูกเร่งร่างขึ้นมาในบรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย นอกจากจะถูกรื้อถอนทิ้งได้ในมือของรัฏฐาธิปัตย์ใหม่อย่างง่ายดายแล้ว ก็ยังสูญสลายไปอย่างไร้ซากเหมือนกับไม่เคยมีตัวตนมาก่อน ทำให้ต้องกลับไปตั้งต้นที่ศูนย์อีกครั้ง ดังนั้นแม้แต่จะมองจากประโยชน์สูงสุด กฎหมายที่ถูกตราขึ้นตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจเช่นนี้จะอยู่ได้นานเท่าใด และมีประโยชน์จริงๆ แค่ไหน

ประการสุดท้ายและปัญหาสำคัญที่สุด คือการที่กฎหมายเช่นนี้เกิดจากความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมีต้นตอมาจากความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่ผู้น้อยในสังคมไทย และเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะในยุคเผด็จการหรือประชาธิปไตย  เห็นได้จากการที่นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศถูกมองว่า ไม่สำนึกบุญคุณ เมื่อแสดงความคิดเห็นในเชิงลบต่อร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการรัฐสภาในการทำประชาวิจารณ์ (“ร่างให้ก็ดีเท่าไหร่แล้ว”)

ส.ส. และ ส.ว. ก็ไม่ต่างกับผู้มีอำนาจรัฐไทยส่วนใหญ่ที่มี “ปมเด่น” เห็นว่าตนเองเป็นผู้มีบุญคุณต่อประชาชน มากกว่าเป็นผู้รับใช้ประชาชนผู้เสียภาษี สำหรับพวก “ท่าน” ทั้งหลายเหล่านี้แล้ว คนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศเป็นผู้ที่ต้องได้รับการ “ช่วยเหลือสงเคราะห์” ด้วยความสงสารเห็นอกเห็นใจ เช่นเดียวกับ คนจน คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และ “กลุ่มต้อย” ทางสังคมต่างๆ 

ความสัมพันธ์เช่นนี้เป็นเรื่องปกติของสังคมไทยแบบถือชนชั้น ดังคำพูดที่ว่า “มือที่ให้อยู่สูงกว่ามือที่รับ” แต่กลับเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อวิวัฒนาการประชาธิปไตย ที่ยึดถือความเสมอภาคทางสังคมและการเมือง โดยคนทุกคนมีหนึ่งโหวตเท่ากัน ไม่มีโหวตใครสำคัญกว่าโหวตของคนอื่น 

ในระบอบประชาธิปไตย สิทธิของคนกลุ่มน้อยไม่ใช่เป็นเรื่องของการโยนผลประโยชน์ให้เพื่อให้สงบปากสงบคำ แต่ประชาธิปไตยมองมาตรการส่งเสริมความเสมอภาคต่างๆ ว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างสังคมที่เป็นธรรม


จับมือคือความเสมอภาค

ประชาธิปไตย จึงไม่ใช่เรื่องของมือที่อยู่สูงอยู่ต่ำ แต่เป็นการเจรจาต่อรองที่มีทั้งการจับมือกันและปล่อยมือออกจากกันตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยทุกมืออยู่ในระดับเดียวกัน ไม่มีมือใดอยู่สูงกว่ามือใด (ถ้าไม่อยู่ระดับเดียวกัน ก็จับมือกันไม่ได้)
กฎหมายที่เกิดขึ้นในกระบวนการประชาธิปไตย คือ พันธสัญญาทางสังคมที่ผ่านการเจรจาต่อรองกับทุกภาคส่วน ในระหว่างกระบวนการแลกเปลี่ยนโต้ประเด็นความคิด การเจรจาต่อรอง และการประนีประนอมนั้น ก็ยังมีกระบวนการของการเรียนรู้และการทำความเข้าใจเพื่อยกระดับความตระหนักรู้โดยรวมของสังคมต่อประเด็นนั้นๆ กฎหมายที่ออกมาจึงไม่ได้ออกมาโดดๆ แต่มีฉันทามติของสังคมเป็นรากแก้วสนับสนุน

ดังนั้น แทนที่จะเอาอย่างเวียดนาม ผู้เขียนกลับชื่นชมภาคประชาสังคมของฟิลิปปินส์ ที่มีกลุ่มรณรงค์เรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศใหญ่น้อยหลายรูปแบบกระจายอยู่ตามเกาะต่างๆ ทั่วประเทศ ต่างทำหน้าที่เป็นอิสระรณรงค์ในประเด็นดังกล่าวตั้งแต่ระดับรากหญ้าให้ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

แทนที่จะคอยหวังให้กฎหมายรับรองสิทธิความหลากหลายทางเพศหล่นมาจากฟ้าภายใต้รัฐบาลทหาร ผู้เขียนขอรอจนกว่าประชาธิปไตยจะกลับมา เพื่อรอที่จะเห็นการรณรงค์สร้างการยอมรับต่อคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศจากล่างขึ้นบน จนสิทธิความหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ในสังคม ในฐานะเป็นพันธสัญญาทางสังคม เป็นกฎหมายที่ตราออกมาจากเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่โดยแท้ มันอาจจะเป็นหนทางที่ยาวไกล แต่ประชาธิปไตยไม่เคยมีทางลัด

ตราบใดที่เราไม่ทำงานโดยถือว่าสิทธิของคนกลุ่มน้อยเป็นเรื่องของความเสมอภาค ไม่ใช่เรื่องของ “บุญคุณ” ตราบใดที่เราไม่ทำงานต่อสู้เพื่อสิทธิของเราด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างไม่ต้องก้มหัว แต่ยังคอยเร่ขอส่วนบุญเพื่อ “ประโยชน์สูงสุด” ตราบนั้นคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศก็จะยังคงเป็น “กลุ่มด้อย” ทางสังคมที่น่าสงสารรอความอนุเคราะห์ต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด แทนที่จะได้รับการยอมรับในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียม 

แต่การจะทำงานรณรงค์ในแบบที่เป็นมนุษย์เท่าเทียมกันได้ ก็ต้องทำในสังคมที่ไม่มีการปิดกั้นความเห็นต่าง ในบรรยากาศที่ไม่มีใครถูกปิดปาก แม้แต่คนที่รังเกียจเกลียดชังคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศมากที่สุด แต่บรรยากาศเช่นที่ว่านั้นไม่ใช่วันนี้

ดังนั้นผู้เขียนจึงต้องขอขอบคุณรัฐประหาร ที่ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งที่สำคัญที่สุดของนักสิทธิมนุษยชน และทำให้ผู้เขียนมีศรัทธาต่อประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้



หมายเหตุ: ความคิดเห็นในบทความนี้เป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว มิได้เป็นของผู้ตีพิมพ์หรือกลุ่มองค์กรใดที่ผู้เขียนอาจเป็นสมาชิกอยู่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net