เจาะ ‘พิงคนคร’ (จบ): การบริหารเลี่ยงระบบราชการ คำถามถึงทางข้างหน้า

ในช่วงต้นปี 2556 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สำนักงานพิงคนคร (องค์การมหาชน) พ.ศ.2556 เพื่อดูแลและพัฒนาพื้นที่เชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง

ความน่าสนใจของการตั้งองค์กรแห่งนี้คือ จะเป็นองค์กรมหาชนแห่งแรกจาก 50 กว่าองค์กรที่เข้ามาพัฒนาพื้นที่เฉพาะในท้องถิ่น และมีอำนาจที่มากไปกว่าการประสานงานและสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการทำกิจการต่างๆ ทั้งอำนาจวางแผน พัฒนา และบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ศูนย์ประชุม และกิจการที่ต่อเนื่องเพื่อการ ‘พัฒนาพิงคนคร’ รวมถึงพัฒนาโครงข่ายการคมนาคม การขนส่ง และการสาธารณูปโภค

รายงานชิ้นนี้ เป็นความพยายามที่จะสืบเสาะเพื่อฉายภาพให้เห็นว่า โครงสร้างองค์การมหาชนแบบใหม่นั้นมีลักษณะอย่างไร อะไรเป็นแนวคิดเบื้องหลัง ปฏิบัติการจากอำนาจขององค์กรนี้จะเข้าไปชนกับอำนาจของท้องถิ่นอย่างไร  และท้ายที่สุดแนวโน้มข้างหน้าขององค์กรนี้จะเป็นอย่างไร

ภาพศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา โดย Wison Tungthunya
ที่มาภาพ :
http://www.wisontungthunya.com/?p=4276 )

การเกิดขึ้นของสำนักงานพัฒนาพิงคนคร ภายใต้แนวคิดการบริหารจัดการพื้นที่เชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กลายเป็นจังหวัดท่องเที่ยวระดับโลก โดยส่งผ่านอำนาจรัฐจากส่วนกลาง ได้ทำให้เราเห็นแนวคิดและปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างที่ได้กล่าวไป โดยเฉพาะประเด็น การเป็นองค์การมหาชนแห่งแรกที่จะเข้ามามีอำนาจกระทำในพื้นที่ และมีแนวโน้มที่ก่อให้เกิดการปะทะกันทั้งในเรื่องของความต้องการของคนในท้องที่และอำนาจของท้องถิ่น

จากข้อมูลทั้งเรื่องโครงสร้างขององค์กร และรอยปะทะต่างๆ อาจสะท้อนภาพเบื้องหลังปฏิบัติการทางอำนาจ และให้ภาพหนทางข้างหน้าของ สพค.ได้ ซึ่งสิ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ แม้จะไม่นำไปสู่การฟันธงได้ว่า สำนักพัฒนาพิงคนครเป็นองค์กรที่จะประสบผลสำเร็จหรือไม่ เนื่องเพราะยังดำเนินการได้ไม่ถึงปี แต่น่าจะช่วยให้เราพอจับเค้ารางอนาคต รวมถึงร่วมกันถกเถียงว่า ยังพอมีแนวทางอื่นอีกหรือไม่ที่จะหลีกหนีข้อจำกัดของระบบราชการ และช่วยทำให้บรรลุเป้าหมายเฉกเช่นเดียวกับวัตถุประสงค์ของการตั้งองค์การมหาชนอย่าง ‘สำนักงานพัฒนาพิงคนคร’

วิสัยทัศน์พรรคเพื่อไทย การบริหารแบบเลี่ยงระบบราชการเทอะทะ

ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับการเกิดขึ้นของ “สำนักพัฒนาพิงคนคร” หรือไม่ก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเกิดบนฐานของแนวคิดด้านการบริหารชุดหนึ่ง และหากเราทำความเข้าใจกับมันจะทำให้เรามององค์การมหาชนแห่งนี้ได้รอบด้านมากขึ้น

เมื่อพิจารณาถึงแนวคิดบริหารของพรรคเพื่อไทยนั้นจะพบว่า โครงสร้างบริหารต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อลดข้อจำกัดการบริหารแบบราชการ โดยใช้การบริหารแบบเอกชน ดังที่ปรากฏในนโยบายบริหารของพรรคเพื่อไทย ตอนหนึ่งว่า

 “…ปรับเปลี่ยนแนวความคิดของการบริหารราชการที่มีลักษณะของการปกครอง มาเป็นการบริหารราชการในเชิงของการพัฒนา โดยประสานความร่วมมือของหน่วยราชการทุกหน่วยให้สามารถปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพในทิศทางเดียวกัน ทำให้ระบบราชการมีขนาดเล็กลง แต่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น มีโครงสร้างที่กระชับเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน..”

แนวคิดนี้สอดรับกับสถานการณ์และการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปีที่ผ่านมา เช่น เมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 กลุ่มองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งสมาชิกจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จากทั่วประเทศ รวมถึงตัวแทนจากท้องถิ่นต่างๆ หลายพันคนมารวมตัวชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงถามข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนการจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปีงบประมาณ 2557 จากร้อยละ 27.28 ของรายได้สุทธิรัฐบาล เป็น ร้อยละ 30

ต่อมานายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาระบุว่าพรรคเพื่อไทยมีแนวคิดจะยุบองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เนื่องจากทำงานทับซ้อนกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำให้อปท.ลุกฮือประท้วงกันอีกรอบ จนยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและขุนพลพรรคเพื่อไทยต้องออกมาแก้ข่าวและให้ความเห็นเรื่องอปท.กันจ้าละหวั่น

ยิ่งลักษณ์ ได้ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ในการประชุมครม.ช่วงเดือนพฤษภาคม ว่า งบประมาณมีจำกัด ขอให้บริหารให้ดีที่สุด หากต้องการรายได้มาก งานก็ต้องเพิ่มมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ต้องหาทางออกร่วมกันระยะยาว อาทิ ดูว่ากระทรวงไหนต้องการผ่องถ่ายงานให้อปท.ทำบ้าง เพื่อให้อปท.ได้งบประมาณเพิ่มขึ้น

ความเห็นของยิ่งลักษณ์ต่อกรณีนี้ทำให้เราเห็นเบื้องหลังแนวคิดต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้ต้องการใช้กลไกของอปท.เข้าไปพัฒนาพื้นที่โดยตรง เพราะหากเป็นเช่นนั้น ต้องรีบรับลูกข้อเสนอของอปท.ทันที

เมื่อมองเทียบกับการเลือกตั้ง สพค.แทนที่จะใช้กลไกของท้องถิ่นในการบริหารโครงการ เราอาจมองเหตุผลนี้เป็นสามกรณีคือ หนึ่ง เขามองว่า กลไกท้องถิ่นนั้นไม่สะดวกพอที่จะเอาโครงการใหญ่ๆ เข้าไป เพราะเล็ก ไม่เอื้อ  และมีข้อจำกัดต้องผ่านกลไกหลายชั้น สอง Benefit Return ที่จะแปรเปลี่ยนมาเป็นความนิยมต่อพรรคตนเองอ้อมเกินไป สาม ค่อนข้างใช้เวลาและควบคุมได้ยาก ในการปรับตัวให้เข้ากับแนวคิดเรื่อง creative service industry ตามแนวนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย เพราะด้วยตัวท้องถิ่นเองการเมืองก็อาจเปลี่ยนได้หลายขั้ว(ดังจะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า)

และหากนำแนวคิดที่กล่าวมาข้างต้นไปเทียบกับโครงสร้างสำนักพัฒนาพิงคนคร องค์การมหาชนที่ยกมาให้เห็นในตอนที่ผ่านมา จะพบว่า เข้ากับแนวคิดของพรรคเพื่อไทยที่มุ่งเน้นจะตัดขั้นตอนความไม่สะดวกอันเป็นผลมาจากระบบราชการ เข้าไปพัฒนาพื้นที่โดยไม่ผ่านกลไกท้องถิ่น 

โปสเตอร์รับสมัครงานของ TCDC
ที่มา : http://www.tcdc.or.th/career/

นอกเหนือจากแนวคิดด้านการบริหารแล้ว เราอาจมองสพค.ผ่านแนวคิดทางเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย เพื่อดูว่าองค์การมหาชนที่ถูกคาดหวังให้มาพัฒนามูลค่าของพื้นที่ผ่านเมกะโปรเจ็คด้านการท่องเที่ยวนั้น เกิดบนฐานคิดอะไร

หากกล่าวถึงทีมเศรษฐกิจ คนที่จะไม่เอ่ยถึงไม่ได้ คือ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ กุนซือทางเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นกุนซือ "คิดใหม่ ทำใหม่" คนสำคัญของรัฐบาลมาตั้งแต่ยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และล่าสุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวกันว่านโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลยุคไทยรักไทยที่เด่นๆ ก็เริ่มต้นมาจากกุนซือคนนี้ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนหมู่บ้าน SME ฯลฯ

อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดของพันศักดิ์มีส่วนในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะแนวทางประชานิยมและแปลงสินทรัพย์เป็นทุน และยิ่งการบริหารจัดการเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของระบบราชการด้วยแล้วถือเป็นต้นแบบเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำระบบองค์การมหาชนมาใช้ในการบริหารจัดการรูปแบบใหม่

เขาเริ่มตั้งสำนักงานบริหารพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (OKMD) พ.ศ. 2547 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสแสวงหา พัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อสร้างสรรค์ และพัฒนาคุณภาพความคิดของประชาชนและเยาวชนของประเทศ จากนั้นก็ตั้ง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และอุทยานการเรียนรู้ (TKpark)  ซึ่งเป็นโครงการของรัฐที่มุ่งสร้างกระบวนทัศน์ด้าน creative value economy โดยพยายามเชื่อมศูนย์เข้ากับOTOP เพื่อช่วยออกแบบเพิ่มมูลค่าสินค้า ด้วยมาตรฐานการทำงานสูงและมือสะอาด มีผลงานในรอบสองปี(หลังก่อตั้งปี  2547)จากจำนวนสมาชิก 15,000 คน จัดนิทรรศการไปแล้ว 12 งาน จัดสัมมนาไป 57 รายการ ทำงานใหญ่ระดับนานาชาติ 2 ครั้ง รวมจำนวนคนใช้บริการ TCDC ไม่ต่ำกว่า 680,000 คน ยังไม่นับรวมประโยชน์ที่บริษัทไทยกว่า 40 แห่งนำวัสดุไทย 80 ชิ้นผ่าน Material ConneXion ทั้ง 4 สาขาที่นิวยอร์ก มิลาน โคโลญจน์ จนกระทั่งได้รับคำสั่งซื้อสร้างรายได้เริ่มต้น 76 ล้านบาท

พันศักดิ์ได้กล่าวถึงเบื้องหลังการตั้ง TCDC ว่า ตนเองให้ความสำคัญ creative industry (อุตสาหกรรม ที่เน้นความสร้างสรรค์) เพราะสามารถสร้าง Rate of Margin ในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 30-40 และสามารถสร้างสินค้าที่มีความแตกต่างจากประเทศอื่น

“ผมเสนอให้ทำ discovery museum หมายความ ว่ารากของคุณ มันมีภาคภูมิที่เป็นศักยภาพ เช่น คุณคิดเรื่องซิ่นตีนจกตีนตุ๊กแกอะไรเนี่ย ก็ควรจัดการแยกประเภทให้ถูกต้อง เก็บรักษากันแมลงเข้าไปกัดไม่ได้ แสงแดดเข้าไม่ได้ เราให้นักวิจัยด้านสิ่งทอเข้าไปใช้ได้ เพราะคนพวกนี้เขาจะสามารถวิจัยแล้วดีไซน์ส่งโรงงานได้ เกิดการจ้างงานขึ้นมา”

“คำ ว่า ศิลปะ สำหรับผม หรือคำว่า ดีไซน์ คุณต้องขจัดสำนึกแบบกึ่งทารกออก คนจะอยู่บนพื้นฐานของประวัติศาสตร์ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก็คือสามารถตีความ (re-interpret ) ประวัติศาสตร์ เพื่อการอยู่ในโลกได้หรือไม่ ไม่ใช่การคัดลอกตัวหนังสือ (literal copy) คุณต้องสามารถตีความประวัติศาสตร์ของคุณเอง และความมั่งคั่งของยุโรปก็มาจากการตีความความหมายของทรัพย์สิน”

นอกจากแนวคิดด้าน creative industry แล้วในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ เขาก็เสนอเปลี่ยนโลจีสติกส์ใหม่เพื่อเปลี่ยนชีวิตคน โดยการปรับปรุงโครงสร้างทั้งหมด เน้นลงทุนระบบรางเพิ่มทั้งรถไฟความเร็วสูง และรางคู่

เขาบอกว่า หน้าที่ของรัฐบาล คือ ต้องสร้างโอกาส สร้างโครงสร้างให้สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ และต้องหาที่ใหม่ให้อุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถดูแลคนงานไทยได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ฉะนั้น ก็ต้องหาพื้นที่ดอนในประเทศ หาน้ำ หารถไฟความเร็วสูง ที่เป็นโลจิสติกส์ที่สำคัญที่จะเชื่อมจากทางเหนือลงทางใต้ จากปักกิ่ง-กรุงเทพฯ และจะต้องใช้เชื่อมเส้นทางเศรษฐกิจหมายเลข 9 East-West Economic Corridor เพื่อไปสู่ท่าเรือทวายของประเทศพม่า ที่มีความสำคัญมากเพราะเป็นโลจิสติกส์ที่จะลดต้นทุนของประเทศไทยและสร้างกระบวนการบริโภคใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคม

“ส่วนประกอบของไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตใหม่ จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางโลจิสติกส์ ต่อไปวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ พอตกเย็นนัดครอบครัวขึ้นรถไฟความเร็วสูง 200 กม./ชั่วโมง ไปกิน เที่ยว นอนในต่างจังหวัด พอคนกรุงเทพฯไปอยู่ต่างจังหวัดมากขึ้น คอนโดมิเนียมในกรุงเทพจะกลายเป็นคอนโดห้องเล็กๆ แต่หรูหราเกิดสไตล์ใหม่ขึ้น”

“การพัฒนาโลจิสติกส์จะทำให้คนไทยได้มีบ้านที่มีสวน มีแม่บ้านที่ไม่ต้องจากบ้านมาไกลๆ เพื่อมาทำงานให้ จะช่วยลดการเคลื่อนย้ายของคนเข้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และยังเอาคนในกรุงเทพฯไปอยู่นอกเมือง จะเกิดการสร้างงานต่อเนื่อง และเมื่อมีโลจิสติกส์แบบนี้ ก็จะเกิดธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะบริการคนนอกกรุงเทพฯเกิน 150 กม.ในระดับมหาศาล”

“หมายความว่า คนในเขตกรุงเทพฯก็จะใช้เงินจากสินค้าแปลกๆ จากต่างจังหวัด โดยใช้เวลาขนส่งน้อยลง จะสามารถกินอาหารสดๆ ได้ เช่น ปลาแปลกๆ จากแม่น้ำโขง ผักต่างๆ ของภาคอีสาน หรือเส้นขนมจีนพิเศษจากอีสาน ซึ่งคนอาจลืมไปว่า การบริโภคอาหารมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้จากความหลากหลายและจากกระบวนการโลจิสติกส์ที่รวดเร็ว”

“ฉะนั้น อนาคตของประเทศไทยคือ จัดการโครงสร้างเหล่านี้ จากนั้น “สิ่งที่จะตามมา ก็จะตามมาเอง... เรียกว่า Reverse cross strategy หรือกลยุทธ์ย้อนกลับข้าม”

จากวิสัยทัศน์ด้านการบริหารและทางเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย  เมื่อมามองคู่ไปกับสำนักงานพัฒนาพิงคนคร จะพบว่าเป็นซับเซตกัน กล่าวคือ การตั้งสพค.ขึ้นมานั้นเป็นผลมาจากการมอง Benefit return ของเศรษฐกิจภาพใหญ่ระดับประเทศ อาทิ การสร้างมูลค่าเพิ่มของเมือง เพื่อรองรับการมาของรถไฟความเร็วสูง

การพยายามรื้อฟื้นโครงการเชียงใหม่เวิลด์นั้นหวังผลจากความเปลี่ยนแปลงระบบโลจีสติกส์ที่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงด้านไลฟ์สไตล์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น การนำเงินเข้าไปลงเพื่อพัฒนาพื้นที่โดยตรง ก็เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากกลยุทธ์ Reverse cross strategy หรือกลยุทธ์ย้อนกลับข้าม ของพันศักดิ์ที่มองว่าเมื่อนำเม็ดเงินเข้าไป การแข่งขันและตลาดจะก่อให้เกิดการจ้างงานเอง ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ต่างจากกองทุนหมู่บ้าน หรือ SME และจะเห็นได้ชัดเมื่อมองความคาดหวังโครงสร้างพิงคนครในข้อที่จะก่อให้เกิดการจ้างงาน

และการที่จะทำเช่นนี้ได้ด้วยกลไกที่มีอยู่ คือ ตั้งองค์การมหาชนที่สามารถยืดหยุ่น และรวดเร็วมากกว่าระบบราชการ เพราะสามารถกำหนดอออกมาให้มีลักษณะคล้ายบริษัทสามารถหารายได้หรือกำไรเอง โดยมีโมเดลของทีซีดีซีเป็นต้นแบบ เนื่องจากกลไกอื่นๆ โดยเฉพาะกลไกของท้องถิ่นในสายตาของรัฐบาลไม่สามารถรองรับโครงการระดับใหญ่ได้ และบริหารจัดการยากกว่า เมื่อผนวกกับแนวคิดของเพื่อไทยที่ต้องการรวบอำนาจเพื่อความรวดเร็วในการบริหารอันเป็นมรดกตั้งแต่สมัยทักษิณ ชินวัตรจึงทำให้เกิดการตั้ง “สำนักงานพัฒนาพิงคนคร(องค์การมหาชน)”ขึ้นมา

ภาพแนวคิดการสร้างโครงการเมกะด้านการท่องเที่ยวโดยหวังจะเพิ่มมูลค่าของเมืองเชื่อมโยงกับนโยบายเศรษฐกิจจะชัดเจนมากขึ้นหากเรามองย้อนไปเทียบไปกับต้นตอของไอเดียนี้ของต่างประเทศ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างสองกรณี

อุทยานราชพฤษ์

อุทยานราชพฤษ์เกิดขึ้นมาพร้อมกับงานมหกรรมพืชสวนโลก ซึ่งโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการเมกะโปรเจ็คของเชียงใหม่เวิลด์ แรงบันดาลใจของการจัดงานนี้ได้มาจากการจัดงาน “International Association of Horticultural Producers” ที่คุณหมิงประเทศจีน เมื่อปี 1999 ซึ่งเป็นการแสดงนิทรรศการโชว์เทคโนโลยีไม้ตัดดอกที่ส่งออกไปทั่วโลก งานนี้มีผู้มาเข้าเยี่ยมชมถึง 9.5 ล้านคน  นอกจากจะโชว์เทคโนโลยีไม้ตัดดอกแล้ว จีนยังหวังงานนี้จะทำให้เกิดการโชว์และแลกเปลี่ยนสินค้าของกลุ่มพ่อค้านักลงทุนด้วย รวมถึงการลงทุนทั้งด้านการท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของระหว่างประเทศจีนกับประเทศแถบเอเซียใต้ ซึ่งหลังจากจัดงาน มูลค่าทางการค้าระหว่างคุณหมิงกับประเทศในภูมิภาคเอเซียใต้โตขึ้นจาก 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2000 มาเป็น 93 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดอัตราการเติบโตเป็นร้อยละ 26 แม้ไม่อาจกล่าวได้ว่างานทำให้มูลค่าการค้าเติบโตเพียงอย่างเดียวแต่ก็น่าจะมีส่วนไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะการเป็นงานที่ทำให้เกิดการเจอกันของผู้ค้าและผู้ลงทุน

ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่รัฐบาลที่มีแนวคิดมองเศษฐกิจในภาพใหญ่จะหวังไว้กับงานพืชสวนโลกในเมืองไทย ที่เป็นอีเว้นท์ดึงคน ดึงการลงทุน และทำให้ธุรกิจเชียงใหม่เฟื่องฟู ส่วนจะได้ผลหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และเมื่อถูกโจมตีมากในเรื่องของความยั่งยืนจึงทำให้กลายเป็นอุทยานราชพฤษ์เพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเอง

เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี

ต้นแบบของไอเดียการสร้างสวนสัตว์กลางคืน หรือเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี คงหนีไม่พ้นไนท์ซาฟารีที่สิงคโปร์ อันที่จริงอาจกล่าวได้เลยว่า โครงการเมกะโปรเจ็คเชียงใหม่เวิลด์เกินครึ่งหนึ่งมาจากไอเดียแหล่งท่องเที่ยวในสิงคโปร์ เพราะประเทศนี้แทบจะไม่มีทรัพยากร หรือสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติเลย แต่สามารถสร้างขึ้นมาจนทำให้ประเทศของตนกลายเป็นจุดมุ่งหมายของการท่องเที่ยวได้ และประสบความสำเร็จด้วยในแง่ของสถิตินักท่องเที่ยวที่เข้ามา รวมถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้น

เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีของสิงคโปร์ เปิดบริการในปี 2535  แต่เริ่มวางแผนมาแล้วในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ ไฮไลท์ของสิงคโปร์ คือเป็นสวนสัตว์ที่เปิดให้บริการกลางคืน มีสัตว์มากก ว่า 2500 ตัว 120 สายพันธ์ ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากอินเดีย มีการแสดงโชว์สัตว์ ดูแลโดย หน่วยรักษาพันธ์สัตว์ป่าของสิงคโปร์ (Wildlife Reserves Singapore)

ไนท์ซาฟารีของสิงคโปรนั้นมีผู้เข้ามาเยี่ยมชมเฉลี่ยปีละ 1.1 ล้านคน เปิดบริการมา 20 ปี เฉลียคนเข้าชมทั้งหมดจนถึงปัจจุบันประมาณ 20 ล้านคน

ไนท์ซาฟารีจัดเป็นหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นไฮไลท์ของสิงคโปร์ เป็น Sight Seeing ที่ถูกนำไปขึ่นตามเวปไซต์ด้านการท่องเที่ยวหลายแห่ง

นอกเหนือจากไนท์ซาฟารีแล้ว สิงคโปรยังสร้างไฮไลท์ด้านการท่องเที่ยวด้วยโครงการต่างๆอีกหลายแห่ง เช่น เมอร์ไลออน(สิงโตน้ำพุ) The Singapore Flyer The Botanical Gardens ฯลฯ

ความเป็นเมืองท่าอันเป็นแหล่งช้อปปิ้ง ผนวกกับสถานที่ท่องเที่ยวที่ถูกสร้างมาอย่างอลังการทำให้สิงคโปร์มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 1997-2010 (ดูตารางด้านล่างประกอบ) สิงคโปร์มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 13.1มีรายได้จากนักท่องเที่ยวในปี 2010 ประมาณ 18.8 พันล้านเหรียญ โตขึ้นกว่าปี 2009 ถึงร้อยละ 49 รายได้มาจากช้อปปิ้งและท่องเที่ยวร้อยละ 21 ที่พัก ร้อยละ 19  อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 10

ภาพตารางสถิติการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในสิงคโปร์

ที่มา: Singapore Tourism Board

ไนท์ซาฟารีเชียงใหม่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการพยายามสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านโครงการเมกะด้านการท่องเที่ยวโดยมีไนท์ซาฟารีสิงคโปร์เป็นแบบอย่าง หากเราย้อนดูแผนโครงการต่างๆ ที่ยกมาในตอนหนึ่ง และที่จะสร้างขึ้นมาเพิ่มในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกระเช้าลอยฟ้า เชียงใหม่อาย ทะเลเทียม ล้วนอยู่ภายใต้มุมมองแนวคิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแบบนี้ทั้งสิ้น

ดร.ศราวุธ ศรีสกุน รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงนคร (สพค.) กล่าวถึงโครงการกระเช้าลอยฟ้าที่กำลังจะสร้างขึ้นว่า เป็นนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ช่วยเติมเงินให้กับเมืองเชียงใหม่ได้ เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว อย่างการดูงานในพื้นที่ประเทศมาเลเซียในพื้นที่ลังกาวี เนื่องจากมีรายงานว่า หากคิดค่าขึ้นกระเช้า 300 บาทต่อคน 1 ปีมีคนใช้บริการ 1 ล้านคน 1 ปีรับรายได้ 300 ล้าน นอกจากจะคืนทุนได้แล้วเขายังสามารถส่งรายได้ให้กับรัฐบาลกลางได้ด้วย

คำกล่าวของดร.ศราวุธสะท้อนภาพ พร้อมทั้งตอกย้ำความเชื่อมั่นในโมเดลเศรษฐกิจแบบนี้ได้เป็นอย่างดี

และทั้งหมดที่กล่าวมาน่าจะช่วยให้เห็นภาพโครงการเมกะโปรเจ็คด้านการท่องเที่ยว รวมถึงการเกิดขึ้นของสพค.ว่าเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดและมุมมองแบบใด

‘พิงคนคร’ กับยุทธศาสตร์ ‘Thailand CONNECT’

หากเรามอง ‘พิงคนคร’ ให้นอกเหนือหรือเชื่อมโยงไปกับการฟื้นโครงการเมกะโปรเจ็คท์ด้านการท่องเที่ยวระดับโลกของเชียงใหม่ เราสามารถมองคู่ไปกับยุทธศาสตร์และนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลชุดนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า สำนักงานนี้ตั้งขึ้นมาบนพื้นฐานของอะไร เพื่อที่จะไปเปรียบเทียบกับแนวทางอื่นได้

‘Thailand CONNECT’ เป็นยุทธศาสตร์ของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ‘ทีเส็บ’ ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านการท่องเที่ยวอันใหม่ คือให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ประชุม+การท่องเที่ยว หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธุรกิจแบบ ‘MICE’ (Meetings, incentives, conferences, and exhibitions) อันเป็นผลมาจากความพยายามจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียน

Thailand CONNECT เป็นการชู 3 เสาหลักของธุรกิจไมซ์ ประกอบไปด้วย

1) สร้างให้เป็นจุดหมายปลายทางที่หลากหลาย (Destination) โดยนำเสนอที่ตั้งของประเทศไทยที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของเอเชีย ความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคระดับมาตรฐาน สนามบินนานาชาติทั่วประเทศจำนวน 6 แห่งที่พร้อมเชื่อมต่อ 190 จุดหมายปลายทางทั่วทุกมุมโลก ด้วยเที่ยวบินกว่า 500 เที่ยวบินต่อวัน พร้อมกันนี้ ยังมีศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าทั้งหมด 9 แห่ง มีขนาดขนาดพื้นที่รวม 222,984 ตารางเมตร สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังมี ‘ไมซ์ซิตี้’ จำนวน 5 เมือง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต และขอนแก่น พร้อมเพิ่มทางเลือกในการจัดกิจกรรมไมซ์หลากหลายรูปแบบ

2) ศูนย์กลางการดำเนินธุรกิจ (Business) โดยประเทศไทยจะเป็นจุดเชื่อมโยงประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชีย และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน และยังเป็นฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญในอุตสาหกรรมหลัก อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และไอที อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมยางพารา และอุตสาหกรรมพลาสติก

3) ชูบุคลากรและบริการที่ได้มาตรฐาน (People) เนื่องจากเห็นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมด้านอัธยาศัยและการให้บริการของบุคลากร รวมทั้งมาตรฐานที่ส่งเสริมการจัดงานไมซ์ระดับโลก โดยมีรางวัลจากหลายหน่วยงานการันตี

หากเราพิจารณายุทธศาสตร์ของการทำธุรกิจแบบ MICE ภายใต้ยุทธศาสตร์ Thailand CONNECT จะเห็นความเชื่อมโยงในแง่ที่ว่า สพค.ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองแห่ง MICE ระดับโลก เนื่องจากปรัชญาการทำธุรกิจของ MICE ให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องมีปัจจัยด้านสถานที่มาเกี่ยวข้อง และเป็นปัจจัยที่สำคัญ

จากการรวบรวมข้อมูล เงื่อนไข และปัจจัยแห่งความสําเร็จสําหรับสถานที่จัดกิจกรรมไมซ์ของ ICCA  โดยเปรียบเทียบระหว่างปัจจัยที่จําเป็นสําหรับรายเก่าและรายใหม่ จะพบว่า อยู่ที่โครงสร้างพื้นฐานที่สะดวกและรวดเร็ว เป็นสถานที่เจริญ และมีแหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ (ดูรายละเอียดในตาราง)

เมื่อกลับมาพิจารณานโยบายกับโครงสร้างของระบบราชการของไทย หากจะทำให้เกิดการบริหารพื้นที่ให้รวดเร็วฉับไว ก็มีแต่ตัวเลือกเดียว คือการตั้งองค์กรมหาชนขึ้นมาบริหารเท่านั้น ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายที่เชื่อมโยงกันในหลายๆ ด้าน จึงต้องทำให้เกิดสำนักงานพัฒนาพิงคนครขึ้นมา เป้าประสงค์ของ สพค. ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคม หรือทุ่มทุนในโครงการเมะกะโปรเจ็คด้านการท่องเที่ยว ล้วนแล้วแต่ไปตอบสนองโมเดลธุรกิจแบบ MICE  ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้นักวิชาการบางส่วนมองว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การตั้งองค์กรลักษณะนี้ แต่ประเด็นคือ เมื่อจะต้องเข้าไปมีอำนาจในการกระทำในพื้นที่ เหตุใดจึงมีสัดส่วนของคนในท้องถิ่นน้อยมาก

มุมมอง อปท.ต่อการเข้ามาพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวของสพค.

การเข้าไปพัฒนาพื้นที่ของ สพค.โดยเฉพาะเรื่องของการทำเมกะโปรเจ็กด้านท่องเที่ยว กลุ่มที่ต้องได้รับผลไม่ว่าจะในทางดีหรือทางร้ายย่อมหนีไม่พ้น อปท.เพราะมีหน้าที่รับผิดชอบการจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค การทำความเข้าใจมุมมองของ อปท.ต่อการเข้ามาพัฒนาพื้นที่ที่รับผิดชอบของหน่วยงานรัฐแบบใหม่ ย่อมจะทำให้เราเห็นมุมและเงื่อนไขที่จะทำให้องค์กรนี้สอบผ่านและบรรลุจุดประสงค์ ซึ่งในทีนี้จะขอยกตัวอย่างความเห็นของอปท.สองพื้นที่ คือ เทศบาลตำบลหนองควาย และเทศบาลมืองแม่เหียะ

เหตุผลที่เสนอมุมมองของสองอปท.นี้ เนื่องจากเห็นว่า หนึ่ง เป็นพื้นที่ของโครงการด้านท่องเที่ยวที่สร้างมาแล้ว และสพค.รับผิดชอบ เช่น อุทยานราชพฤษ์และไนท์ซาฟารี สอง เกี่ยวข้องกับโครงการที่จะสร้างในอนาคตอีกหลายโครงการ และสาม เป็นพื้นที่ที่เคยได้รับผลกระทบจากการจัดงานด้านการท่องเที่ยวเช่น งานจุดพลุปีใหม่ ฯลฯ รวมถึงชาวบ้านเคยต่อต้านอุทยานช้างหนึ่งในโครงการเมกะโปรเจ็กด้านการท่องเที่ยวเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว

เทศบาลตำบลหนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่

เทศบาลตำบลหนองควายเป็นพื้นที่ที่จะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก หากมีการฟื้นโครงการ “เชียงใหม่เวิลด์” ทั้งหมด เพราะพื้นที่เชิงดอยสุเทพจะถูกเนรมิตให้กลายพื้นที่ของการท่องเที่ยว

ณ ปัจจุบันนี้ ตำบลหนองควายก็เปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งการเข้ามาอยู่อาศัยของผู้คน โครงการอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ รวมถึงการเกิดขึ้นอุทยานราชพฤษ์และไนท์ซาฟารี ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างต.หนองควายและต.แม่เหียะ สองโครงการนี้ทำให้เกิดปัญหาต่อคนในพื้นที่ ทั้งเรื่องการจัดการปัญหาขยะหลังงานที่มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยวันละประมาณ 500 ตัน จากปกติที่จะมีปริมาณขยะเฉลี่ยวันละประมาณ 300 ตันและการดึงแย่งน้ำสำหรับการอุปโภค บริโภคไปใช้รวมถึงปัญหาต่างๆที่ปรากฏขึ้นเป็นข่าว หลังจากสร้างเสร็จ

นายณรงค์ ธิลา นายกเทศมนตรีต.หนองควาย จ.เชียงใหม่ ที่คร่ำวอดอยู่ในการเมืองท้องถิ่นพื้นที่นี้มานานนับสิบปี  เขาอยู่ในเหตุการณ์ที่ชาวบ้านต่อต้านอุทยานช้าง รวมถึงช่วงที่ต้องร่วมจัดการกับปัญหาขยะอันเกิดจากงานแสดงต่างๆ ตั้งแต่เขายังเป็นที่ปรึกษา และรองนายก บัดนี้เขาได้ขึ้นมาเป็นผู้บริหารสมัยแรก แต่ประสบการณ์ที่เขาเผชิญมา ทำให้เขาตระหนักอย่างหนึ่งว่า

“การจะสนับสนุนหรือคัดค้านโครงการใด  จะต้องเอาชาวบ้านว่า ถ้าชาวบ้านส่วนใหญ่เอา เฮาก็เอาด้วย แต่ถ้าชาวบ้านไม่เอา เฮาก็คงไม่เอา เพราะเฮามาจากชาวบ้าน เขาเลือกเรามา”

เขาเล่าอีกว่า เขาต้องยืนยันจุดยืนนี้ เพราะหลังจากที่มีการเปิดตัวโครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยสุเทพ หนังสือพิมพ์หลายฉบับมักเขียนไปในแนวทางที่ว่า อปท.โดยรอบสนับสนุน เพราะมีการพาไปดูงานที่ต่างประเทศ ซึ่งพวกตนได้รับความเสียหายทั้งที่ความจริงแล้วรายละเอียดเป็นอย่างไรพวกตนยังไม่รู้

“เวลามีโครงการใหญ่ๆ คนรับผิดชอบโครงการจะลงมาเอง ไม่ได้ให้ทางเทศบาลทำ ส่วนใหญ่แล้วจะประสานให้เราทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเรียกชาวบ้านมาประชุมว่าจะมาชี้แจงทำความเข้าใจทั้งในเรื่องของความเห็นศึกษาผลกระทบ เราในนามของเทศบาลก็ต้องทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เขา ตามที่เขาประสานมา เพราะเราอยู่ในฐานะรับผิดชอบพื้นที่ แต่ความเห็นหรือผลจะออกมาอย่างไรก็คงต้องเอาชาวบ้านว่า”

เขายังเล่าถึงช่วงเวลาการคัดค้านโครงการอุทยานช้างของชาวต.หนองควาย ซึ่งจะมีช้างในโครงการ 200 เชือก และจะใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย จำนวน 6,000 ไร่ คลอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ต.หนองควาย ต.บ้านปง อ.หางดง และ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ว่า ช่วงเวลานั้นมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปมาก ทางเทศบาลสมัยนั้นเป็นอบต.จึงจัดเวที จนสุดท้ายมติคือชาวบ้านไม่เอาเพราะกลัวได้รับผลกระทบจากขี้ช้าง และการต้องย้ายออกจากพื้นที่ สุดท้ายโครงการก็ล้มไป

เมื่อถูกถามถึงโครงการที่จะเข้ามาภายใต้การบริหารของสพค. เขาแสดงความเห็นว่า พอรู้ข่าวเกี่ยวกับสพค.อยู่บ้าง แต่ไม่ค่อยรู้รายละเอียด เพราะเพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ รู้เพียงแค่ว่าเป็นหน่วยงานที่จะมาทำเรื่องการท่องเที่ยว และที่ผ่านมายังไม่ได้คุยกับหน่วยงานนี้เลย ฉะนั้นจึงทำให้ยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับองค์กรนี้มากนัก

“เราไม่รู้ว่าจะได้อะไรบ้าง ขอพูดตรงๆ ถ้าหน่วยงานนี้จะเข้ามาทำอะไรในพื้นที่เรา เราก็ยังไม่รู้ว่าจะได้อะไร ตอนนี้กำลังดูว่าเขาจะเสียภาษีให้เราหรือเปล่า มันยังไม่ชัดเจนว่าชาวบ้านและพื้นที่เราจะได้อะไรบ้าง จะมาทำเป็นพื้นที่พิเศษ หรือว่าเป็นพื้นที่แบบไหนมันไม่ชัดเจนเลย”

“อย่างเรื่องกระเช้าไฟฟ้า ก็ควรจะมาพูดว่าถ้าสร้างแล้วชาวบ้านจะได้อะไรบ้า

ง และมีผลกระทบอย่างไร ก็มาชี้แจ้ง ไม่ใช่ว่ามาทำโครงการต่างๆ แล้วทิ้งขยะไว้ให้เราจัดการ มันก็จะกลายเป็นภาระให้เราต้องจัดการ ที่ผ่านมา พอจ้างบริษัทมาจัดงาน พอจัดเสร็จก็เหลือไว้แต่ขยะให้เรา เงินหรืองบประมาณที่จัดการเรื่องนี้ก็ไม่เห็น”

“การจ้างงานก็บอกว่าจะเอาคนในพื้นที่ของเรา แต่เอาเข้าจริง พวกเราก็เป็นแค่แรงงานที่เขาใช้ยกของ คือเรื่องแบบนี้มันเป็นสิ่งที่ต้องดูจากสิ่งต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น ถ้าจะเข้ามาเราไม่ว่า แต่ขอให้ดูคนในพื้นที่เป็นหลัก คนพื้นที่ต้องได้ประโยชน์ ทั้งเรื่องการงาน และไม่ได้รับความเดือดร้อน”

อย่างไรก็ตามเขายังเห็นว่า ถ้าจะให้เทศบาลไปจัดการหรือหรือบริหารโครงการใหญ่ที่เข้ามาในพื้นที่ ด้วยศักภาพเท่าที่มีอยู่คงไม่พอ

“การเข้าไปร่วมจัดการนั้นคิดว่าคงเป็นไปได้เพราะท้องถิ่นเราไม่มีศักยภาพเพียงพอ มันต้องใช้งบจำนวนมาก ถ้าจะสร้างกระเช้าไฟฟ้าแล้วให้เราดูแลคงเป็นไปไม่ได้ มันใหญ่เกินไป ถ้าจะให้ดูแลคงต้องเอางบมาให้เราในจำนวนที่เพียงพอ และถ้าเป็นไปได้ หากโครงการใหญ่จะเข้ามาก็ควรจะจ่ายภาษีเพื่อให้ได้เก็บเป็นค่าบำรุงท้องที่ เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้เลย”

เทศบาลเมืองแม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ตามสถานการณ์และช่วงเวลาที่ผ่านมา ต.แม่เหียะเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ต่างจากต.หนองควาย เพราะพื้นที่อยู่คาบเกี่ยวกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือขนาด และเงินรายได้ที่ต.แม่เหียะมีมากกกว่าเนื่องจากในพื้นมีหมู่บ้านจัดสรร และห้างสรรพสินค้าอยู่ในพื้นที่ และด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้บริหารทั้งสองอปท.มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป

ดร.ธนวัฒน์ ยอดใจ นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะ มองโครงการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ที่จะเข้ามาว่า เป็นโอกาสที่จะทำให้ผู้คนได้รับความสะดวกสบายมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“ผมมองว่าถ้าเราจะเป็นเมืองท่องเที่ยว เราต้องการเม็ดเงินที่จะเข้ามา รายได้ทางเศรษฐกิจเหล่านี้จะเป็นแรงจูงใจส่วนหนึ่งให้ชุมชน ส่วนบางคนซึ่งกังวลว่าวิถีชีวิตคนจะเปลี่ยนแปลงไป ผมคิดว่าวิถีชีวิตคนเรามันเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด เพราะเราเข้าสู่ เออีซี เราเข้าสู่โลกาภิวัฒน์ คนเรามันเปลี่ยนแปลงแต่ในขณะเดียวกันเราก็พยายามรักษาวัฒนธรรมไว้”

“อย่างโครงการกระเช้าไฟฟ้า ผมเห็นว่าจะเป็นโครงการหนึ่งที่ช่วยเชื่อมโยงพื้นที่ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมันสอดรับกับสิ่งที่เชียงใหม่เป็น คือการขายเรื่องของการท่องเที่ยวและการบริการ และกำลังเติบโตจากการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ดังนั้น จึงเห็นว่าโครงการนี้จะช่วยดึงและอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ช่วยย่นระยะทางและเวลาในการเดินทางขึ้นดอยปุย ดอยสุเทพ”

นายกเทศมนตรีคนนี้ถือได้ว่าเป็นคนที่คร่ำวอดทางการเมืองท้องถิ่นมาอย่างยาวนานนับ 10 ปี เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เขาเล่าว่า ตนเองเคยดำรงตำแหน่งตั้งแต่เป็นประธานบริหารอบต. นายกเทศมนตรีตำบล และมาเป็นนายกเทศมนตรีเมือง ถือได้ว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งบริหารมาถึงสามสมัย และถ้าชาวบ้านไม่เอาด้วยกับความคิดเขา เขาคงไม่อยู่ตำแหน่งดังกล่าวได้นานขนาดนี้

“ผมเป็นนายก มาตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งวิสัยทัศน์ของผมเป็นแบบนี้ ถ้าคนไม่เอาด้วย ผมไม่มีทางขึ้นมาเป็นได้อีกแน่ แต่การได้รับเลือก หมายความว่าชาวบ้านเอากับผม ตอนผมอนุญาตให้ห้างใหญ่ตั้ง ก็มีเอ็นจีโอมาคัดค้านว่าจะทำให้แม่ค้าเล็กๆในตลาดแม่เหียะเจ็ง ขึ้นป้ายต่อต้าน ตอนนี้เป็นไง เราได้ภาษีจากห้างใหญ่ และตลาดแม่เหียะก็ใหญ่ขึ้นมีริมปิงมาเปิด”

“เมืองแม่เหียะเราเป็นเมืองใหญ่ เมื่อก่อนวิถีชีวิตพี่น้องเรายังเป็นชาวไร่ ชาวนาอยู่ ตอนนี้มีอาชีพหลากหลาย และกลายเป็นเมืองหนึ่งที่เจริญทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ตอนนี้ได้รับสมญานามว่า “เป็นหัวแหวนแห่งใหม่ทางเศรษฐกิจ””

“การพัฒนาสิ่งต่างๆเหล่านี้มันควบคู่ไปกับการพัฒนาของเมืองเชียงใหม่ ที่บอกว่าจะเป็น นครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง นครชีวิตหมายความว่าการมีความสุขในการใช้ชีวิตและมีวัฒนธรรม มีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ความมั่งคั่งมาจากการท่องเที่ยวและการบริการ ดังนั้นโครงการท่องเที่ยวต่างๆก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยดึงคนให้มาเที่ยวเมืองเชียงใหม่”

อย่างไรก็ตาม แม้เขาจะตอบรับและสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ที่จะเข้ามา แต่เขาก็ยังมีความรู้สึกไม่ต่างจากอปท.ทั่วไป คือเห็นว่า หากส่วนกลางจะเข้ามามีโครงการอะไรก็ตามควรสอบถามคนพื้นที่ ให้ชาวบ้านได้รับทราบ

“เราจะหนีเรื่องพวกนี้ไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องทำไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คือประชาชนในพื้นที่ต้องรู้ เจ้าของโครงการก็ต้องมาชี้แจ้ง ประชาชนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน วัด หรือกลุ่มเอ็นจีโอก็ต้องเข้ามารับฟัง ฉะนั้นหากมีการรับฟังความคิดเห็นเราจะเชิญกลุ่มคนเหล่านี้มาร่วมรับฟังเสมอ”

“สิ่งที่ห่วงมากคือ กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในกฎหมายรัฐธรรมนูญการทำโครงการใดก็ตามที่กระทบต่อชุมชน ต้องทำอีไอเอ ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่จะทำก็ทำเลย เช่นถนนเชียงใหม่-หางดง เขาไม่มาศึกษาเลยว่าวิธีการทำถนนให้น้ำไม่ท่วมอีกฝั่งนั้นทำอย่างไร เขานั่งเทียนอยู่ในกรุงเทพ เขียนแบบเสร็จก็มาทำ สุดท้ายทำเสร็จ บางพื้นที่เกิดน้ำท่วม นี่คือผลของการไม่ถามในพื้นที่ก่อนว่า ถนนเส้นนี้จะตัดผ่านลำเหมืองกี่เส้น ขนาดเท่าไหร่ ลำเหมืองขนาด 8 เมตร เอาท่อ 4 เมตรมาวางมันก็เกิดน้ำท่วม”

นอกจากนี้ เขายังเสนอว่า หากโครงการใหญ่จะเข้ามาแล้วให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม สามารถทำได้ง่ายๆ ตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จากนั้นให้ท้องถิ่นเสนอแผนการจัดการต่างๆควบคู่ไปเพื่อดูว่าจะจัดสรรงบส่วนไหนมาจัดการเรื่องผลกระทบต่างๆ อาทิ ขยะ สิ่งแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ

“กระบวนหลังจากมีกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทำให้มั่นใจอย่างหนึ่งว่า จะต้องมีกระบวนการที่จะให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วม การที่รัฐจะตัดสินใจทำโครงการอย่างหนึ่งมีขั้นตอนเขียนไว้อย่างชัดเจน ฉะนั้นโครงการอะไรก็แล้วแต่ ผู้ที่ศึกษาควรนำเสนอทุกมิติทุกแง่มุม ให้ประชาชนได้รับรู้ว่า ผลที่จะได้รับคืออะไร ผลเสียคืออะไร และจุดคุ้มทุน คืออะไร”

“เมื่อผ่านทุกขั้นตอนแล้วถึงจะมาทำ คำนวณเม็ดเงินที่ต้องทำ ในที่นี้ควรคำนวณงบที่จะต้องใช้จัดการปัญหาที่จะตามมาทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม ขยะ ซึ่งท้องถิ่นจะเป็นตัวรองรับ เราก็ต้องเตรียมตัว และสิ่งเหล่านี้ท้องถิ่นอาจจะต้องเสนอเป็นแผนการจัดการรองรับสิ่งที่จะเกิด แล้วทำเป็นแผนนำเสนอต่อโครงการต่างๆ ต่อไป”

ภาพเทศบาลเมืองแม่เหียะ

หลังจากที่เราเห็นมุมมองของอปท.ทั้งสองแห่งแล้ว สิ่งที่หนึ่งที่พอเห็นได้ คือ แม้ทั้งสองอปท.จะมีวิสัยทัศน์เกี่ยวโครงการต่างๆ ที่จะเข้ามาในพื้นที่แตกต่างกัน แต่อย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือ นโยบายและการบริหารของพวกเขานั้นยึดโยงกับประชาชน ไม่ว่าโครงการใดที่เข้ามาต้องคุยกับคนในพื้นที่ ท้องถิ่นมีส่วนร่วมและได้ประโยชน์ ไม่ต้องแบกรับภาระการจัดการ

และนี่คือโจทย์สำคัญที่สำนักงานพัฒนาพิงคนครต้องค้นหารูปแบบการมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นที่เป็นระดับโครงสร้าง เพราะลำพังแค่ร่วมมือกับพื้นที่ในโครงการตามขั้นตอนการศึกษานั้นอาจจะทำให้เกิดปัญหาสะดุด ไม่ราบรื่น หากว่าท้องถิ่นนั้นไม่เอาด้วย ส่วนรูปแบบจะเป็นเช่นไรนั้น อาจจะต้องพิจารณาควบคู่ไปกับบริบทและข้อเสนอต่างๆ ในหัวข้อถัดไป

Network ทุน-การเมือง ภายใต้บริหารการจัดการของ ‘พิงคนคร’

การพัฒนาพื้นที่หนึ่งเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะที่ใด ก็มิอาจปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนได้ การพัฒนาเชียงใหม่ให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกภายใต้การบริหารของ สพค. ก็เช่นกัน หากแต่การจัดตั้งองค์กรมาจากส่วนกลาง และมีความเป็นการเมืองระดับชาติสูง ทำให้เราเห็นถึงการเชื่อมโยงระหว่างทุนกับการเมืองที่แยกกันไม่ออก ซึ่งในอนาคตอาจจะกลายเป็นช่องโหว่และทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความโปร่งใสได้

โครงการหนึ่งที่ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ของกลุ่มธุรกิจและการเมือง คือ โครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้า ซึ่ง สพค.ได้มอบหมายให้บริษัท เทสโก้ จำกัด ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยคณะสิ่งแวดล้อม เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินการศึกษาสำรวจ ออกแบบ และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อประกอบการพิจารณาในการตัดสินใจดำเนินการก่อสร้างต่อไปในอนาคต

สำนักข่าวอิศราฯ รายงานว่า บริษัท เทสโก้ จำกัด มีความเชื่อมโยงกับนายปลอดประสพ สุรัสวด ซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากสำนักนายกฯ ให้เป็นผู้ดูแล สพค.  

อิศราฯ รายงานว่า บริษัท เทสโก้ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 27 มกราคม 2520 ทุน 5 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 21/11-14 ซอย18 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ณ วันที่ 30 เมษายน 2555 มีนายธรรมนูญ มงคล ถือหุ้นใหญ่ 32,884 หุ้น ( 65.7%) และเป็นกรรมการ 

จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท เทสโก้ จำกัด และนายธรรมนูญ มงคล ทำธุรกิจให้คำปรึกษาและดำเนินการด้านการผลิต,การจำหน่ายพลังงาน ร่วมกับ นางธัญญา สุรัสวดี ภรรยานายปลอดประสพ (ต่อมาโอนหุ้นให้นายปิ่นสวย สุรัสวดี บุตรชายนายปลอดประสพ) และนางสาวอัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ คนใกล้ชิดนายปลอดประสพในชื่อ บริษัท เทสโก้ แคปปิตอล จำกัด

บริษัท เทสโก้ แคปปิตอล จำกัด จดทะเบียน วันที่ 18 สิงหาคม 2552 ให้คำปรึกษาและดำเนินการด้านการผลิตและจำหน่ายพลังงาน ทุน 2,700,000 บาท ที่ตั้งเลขที่ 21/11-14 ซอยสุขุมวิท 18 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ ณ วันที่ 29 พ.ย. 2553 นายธรรมนูญ มงคล และ นางธัญญา สุรัสวดี ภรรยานายปลอดประสพ สุรัสวดี ถือหุ้นใหญ่ ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 นางธัญญา สุรัสวดี โอนหุ้นบริษัท รีเทค เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จำนวน 3,667 หุ้นไปให้นายปิ่นสาย สุรัสวดี บุตรชายคนโต (รับราชการอยู่กรมสรรพากร)

นอกจากความเชื่อมโยงอันนี้แล้ว ยังพบว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2549 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ได้ว่าจ้างบริษัท เทสโก้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาโครงการออกแบบรายละเอียดกระเช้าลอยฟ้า Cable Car บริเวณเชิงดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ วงเงิน 44,509,967 บาท รวม 3 โครงการ 58.7 ล้านบาท แต่โครงการก็ต้องพับไปเนื่องจากถูกต่อต้านอย่างหนัก

นักเคลื่อนไหวมีความเห็นว่าโครงการกระเช้าลอยฟ้า เป็นการนำโครงการเดิมมาปัดฝุ่น เพียงแต่เปลี่ยนเส้นทางใหม่เท่านั้น นอกจากนี้ยังมองว่า หากไม่มีแบบอยู่ก่อน จะไม่มีทางทำกระบวนการศึกษาผลกระทบได้ทันตามกำหนดเวลาที่วางไว้เพียงแค่ 1 ปี

นอกจากนี้ โครงการในอนาคตที่แว่วมาว่า จะมีโครงการสร้างทะเลเทียม และชิงช้าชมวิวเมืองเชียงใหม่ในลำดับต่อไป บริษัทที่เป็นต้นคิด และเสนอแบบมาก่อนหน้านี้  คือ บริษัท How come Entertainment จำกัด ของโอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร ซึ่งลงทุนร่วมกับเพื่อนไฮโซทั้งหลาย โดยเขาดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ และประธานบริหาร

ในส่วนของกลุ่มทุน-นักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับรัฐบาลกลาง ก็อาจจะได้อานิสงส์จากโครงการพัฒนาภายใต้ สพค.เช่นกัน เพราะหากเราดูผังเส้นทางรถไฟฟ้าโมโนเรลที่เสนอโดยบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มักจะเป็นยุทธศาสตร์ และใกล้ทำเลที่ตั้งที่ผ่านพื้นที่โครงการอสังหาริมทรัพย์อรสิรินของกลุ่มบูรณุปกรณ์  ไม่ว่าจะตั้งใจวางผังรถไฟตามรูปแบบนี้หรือไม่ แต่ถ้าเกิดขึ้นธุรกิจนี้ย่อมได้รับผลประโยชน์

ผังเส้นทางรถ ที่มา: ครอบครัวข่าว 3

ผังโครงการอรสิริน ที่มาภาพ : http://ornsirin-group.com

ฉะนั้น การเข้ามาของ สพค.จะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับ อปท. หากว่ามีผลประโยชน์ร่วมกัน(โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) แต่ในทางกลับกัน หากรัฐบาลหรืออปท.เป็นคนละกลุ่มกัน หรือการทำโครงการต่างๆ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ก็มีโอกาสเกิดความขัดแย้งอย่างแน่นอน เนื่องจากว่าโครงการหรือการพัฒนาพื้นที่ของ สพค.นั้น อาจจะไม่เอื้อต่อความต้องการที่แฝงมาพร้อมกับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในแบบของอีกฝ่าย

บัณรส บัวคลี่ มองว่า การตั้งพิงคนคร ด้านหนึ่งก็เพื่อการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มของตน เป็นการสร้างอาณาจักรใหม่ของนักการเมืองเพื่อหาประโยชน์และสร้างบารมีเพื่อเป็นฐานเสียงให้แก่พวกตน

“พิงคนคร เป็นองค์กรมหาชนแบบใหม่ เพิ่งถูกสร้างขึ้นมาบนพื้นที่ภูมิภาค ซึ่งพื้นที่ภูมิภาคเป็นแค่ Area แต่หน่วยงานนั้นมาจากส่วนกลาง โดยพยายามให้หลุดจากการบริหารแบบเดิมด้วยการตั้งเป็นกองใหม่ พอมาบริหารใหม่ก็หนีไม่พ้นผู้มีบารมี คือนักการเมือง ซึ่งเป็นฐานท้องถิ่น และใช้ตัวนี้มาสร้างบารมีในท้องถิ่นด้วย”

“มันเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางการเมืองที่เอาอำนาจของราชการมาบริหารพื้นที่การเมืองในนามของการพัฒนาการท่องเที่ยว เขาไม่สนเสียงคนเชียงใหม่ เขาทำอย่างเดียวเพื่อให้บริษัทก่อสร้าง ให้พรรคพวกของตัวเองได้งาน ได้บริหาร”

ภัทรภร วิวัฒนาการ นักพัฒนาเอกชนก็มองไม่ต่างกัน โดยมองว่า การตั้งพิงคนคร เสมือนกับการตั้งบริษัทส่วนตัวเพื่อใช้หาประโยชน์

“มันคล้ายเป็นบริษัทส่วนบุคคล บริหารและจัดตั้งโดยพรรคพวกตัวเองโดยมีคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นมาจากส่วนกลาง ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับคุณอีกทีว่า อยากสร้างอะไร พอเป็นอย่างนี้ มันจึงเหมือนกินรวบเชียงใหม่”

ประเด็นของบัณรสและภัทรภร เป็นสิ่งที่จะถูกตั้งคำถามต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน และถ้าพิงคนครไม่ทำให้โปร่งใส ชอบธรรม ตรวจสอบได้ จะยิ่งทำให้การบริหารงานของ สพค. ไม่ราบรื่นอย่างที่หวัง เพราะประเด็นนี้เป็นประเด็นที่เรียกแขกได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

ความไม่มั่นใจของลูกจ้างต่อการจ้างงาน

หนึ่งในห้าวัตถุประสงค์ของการตั้งสพค. คือ ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่การพัฒนาพิงคนคร โดยคํานึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในประเด็นเรื่องของการจ้างงาน

เมื่อเราพิจารณาควบคู่ไปกับความคาดหวังในภาพใหญ่ของการตั้งสำนักงานนี้ดังที่กล่าวมาในหัวข้อแรก อาจพอสรุปได้ว่า ความคาดหวังของการตั้งองค์ใหม่นี้ อย่างไรเสียก็หนีไม่พ้นให้เกิดการจ้างงานโดยเฉพาะ Sector การก่อสร้างและการบริการ เพราะการที่รัฐเอาเงินเข้าไปลงทุนที่ไหนก็ล้วนแล้วแต่หวังผลให้เกิดการจ้างาน อันจะทำให้สัดส่วนตัวเลขGDP และตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น พอการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เศรษฐกิจก็คึกคักขึ้น คนเชียงใหม่ก็จะได้ประโยชน์

ดังคำกล่าวของพันศักดิ์ที่ว่า “พอเอาทุนย้ายเข้าไปใกล้เขาเท่านั้น โดยยังไม่ได้ยกระดับทักษะ โดยยังไม่ได้พัฒนาเรื่องทักษะด้านการคิด รายได้ก็เพิ่มขึ้นมาเลย พิสูจน์ได้อย่างไร ผมพูดเรื่องนี้มาเกือบ 10 ปีแล้ว มันปรู๊ฟด้วยการเก็บภาษีของรัฐบาลสมัยทักษิณ พอขึ้นปีที่ 3 อัตราการเก็บภาษีในต่างจังหวัดมันขึ้นสูงกว่ากรุงเทพฯ สถิติมีอยู่ที่กระทรวงการคลัง”

อย่างไรก็ตามหากมองในระดับนายจ้างกับแรงงานก็พบว่าเป็นปัญหาอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ทั้งเรื่องสภาพการจ้างงานและสวัสดิการดังที่ปรากฏในสื่อต่างๆ

ทั้งนี้เนื่องจากแนวโน้มหรือเทรนด์การจ้างงานชั่วคราว (Outsource) เป็นแนวโน้มของโลกมาสักระยะหนึ่งแล้ว และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นวิธีการลดต้นทุนด้านแรงงานและลดความเสี่ยงทางธุรกิจ แม้แต่ในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเองก็มีแนวโน้มจะจ้างงานแบบชั่วคราวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นักสหภาพแรงงานบางคนสรุปแบบคาดการณ์ว่า อีก 10 ปีข้างหน้า พนักงานประจำในประเทศจะลดลงเหลือร้อยละ 20 

ฉะนั้น การบริหารงานใหม่ภายใต้ สพค.ซึ่งดำเนินงานเชิงธุรกิจที่หากำไรแบบเอกชนก็หนีไม่พ้นที่จะต้องลดต้นทุนและแสวงหากำไรด้วยการจ้างงานแบบชั่วคราว เราพอจะเห็นเค้ารางตรงนี้ได้จากการจ้างงานของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งกำหนดเงื่อนไขของการทำงานเป็นแบบ ‘Precarious work’ คือทำงานไม่เป็นเวลา วันศุกร์ วันเสาร์ อาจจะต้องมาทำงาน และอำนาจการเลิกจ้างเป็นของผู้ว่าจ้าง และแน่นอนว่า สวัสดิการจะถูกผลักดันให้เข้าไปอยู่ในระบบประกันสังคม

ด้วยการจ้างงานในลักษณะนี้ ทำให้ลูกจ้างสวนสัตว์เชียงใหม่นำมาเป็นประเด็นต่อต้านการโอนย้าย เนื่องจากเห็นว่า การเป็นพนักงานสวนสัตว์ในสังกัดองค์กรสวนสัตว์ฯนั้น ได้ถูกว่าจ้างเป็นพนักงานประจำ มีสวัสดิการดีอยู่แล้ว

“หากโยกย้ายไปสังกัดหน่วยงานใหม่แล้ว จะได้รับเพิ่มหรือลดลงจากเดิม โดยเฉพาะเมื่อระบบของหน่วยงานใหม่มีการจำกัดอัตราเพดานเงินเดือน และไม่มีความชัดเจนเรื่องการปรับเพิ่มระดับพนักงานเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน อีกทั้งในนโยบายยังระบุว่า หากองค์กรใหม่ดำเนินการบรรลุผลตามเป้าหมายแล้วจะมีการยกเลิกหรือโอนย้ายไปสังกัดหน่วยงานใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนในการทำงานและมีปัญหาด้านความมั่นคงในชีวิตมากยิ่งขึ้น”

“ทุกคนห่วงและกังวลใจเรื่องสวัสดิการและความมั่นคงว่าจะได้รับเหมือนเดิมหรือไม่ รวมทั้งการที่อาจต้องตกอยู่ในสภาพหนูทดลองในระยะเวลาประเมิน 5 ปี”  วิมุต ชมพานนท์ นักวิทยาศาสตร์ 3 สวนสัตว์เชียงใหม่ ตัวแทนพนักงานสวนสัตว์เชียงใหม่  กล่าว

ภายใต้สภาพการณ์นี้ สพค. ซึ่งถูกตั้งมาให้มีโครงสร้างการบริหารแบบใหม่ จึงต้องไปเกี่ยวข้องกับการบริหารแบบเดิมโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของสภาพการจ้างงานอันเกี่ยวพันกับความมั่นคงในชีวิตของลูกจ้างอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ นี่จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของ สพค. เพราะทางหนึ่งอยากจะเอาสวนสัตว์เข้ามาบริหารเพื่อให้เกิดผลกำไร แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องบริหารองค์กรแบบธุรกิจ และไม่พร้อมจะแบกรับสวัสดิการของพนักงานที่มีอยู่อย่างมหาศาล

องค์กรมหาชน VS กระจายอำนาจ : ทางเลือกการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่น

ประเด็นเรื่องของการกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมาโดยตลอด เนื่องจากเชื่อว่า หากกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการเรื่องต่างๆ จะทำให้ปฏิบัติงาน ตัดสินใจได้รวดเร็ว คล่องตัว และตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้มากขึ้น เพราะประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบริหาร

ในห้วงเวลาที่ สพค.ถูกตั้งขึ้นมาเป็นองค์การมหาชนแห่งแรกที่มีอำนาจกระทำการในพื้นที่ พร้อมกับเริ่มมีปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงแนวคิดการพัฒนาของ สพค.ซึ่งขัดกับคนบางกลุ่มที่มีส่วนได้เสียในเชียงใหม่ ความคิดเรื่องกระจายอำนาจจึงผุดขึ้นมาเป็นตัวเลือกหนึ่งของการเปรียบเทียบใน 3 ประเด็นใหญ่ด้วยกัน

ประเด็นแรก หากจะตั้ง สพค. ขึ้นมา ก็ควรจะการกระจายอำนาจและงบประมาณในการดูแลพื้นที่ให้กับ อปท.จะเป็นหนทางที่ดีกว่า โดย เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ชมรมคนช้างม่อยรักษ์เชียงใหม่ เห็นว่า อยากให้องค์กรท้องถิ่นอย่างเทศบาลฯ ดูแลและจัดการพื้นที่ต่างๆ เช่น ข่วงหลวงเวียงแก้วมากกว่า เพราะเทศบาลมีคน และตรวจสอบได้ง่ายกว่า การตรวจสอบนั้นจะได้น้อยหรือมากไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า ถ้าเทศบาลดูแล ประชาชนหรือชุมชนต่างๆ จะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ทำให้ช่องโหว่หรือปัญหาอันจะเกิดจากการดูแลของ สพค.มีน้อยลง

“ถ้าเป็นพิงคนคร เขาอาจจะมีการจ้างคนมาดูแล พอจ้างคนมากๆ รายจ่ายก็ต้องมี พอมีรายจ่าย ความคิดเรื่องการจัดการจะเปลี่ยนไปเป็นว่า เราจะทำอย่างไรให้มีรายได้มาจากนักท่องเที่ยว มันพันกันไปในลักษณะนี้ จนกลายเป็นการจัดการให้นักท่องเที่ยว...เท่าที่เคยถามทัศนัย (นายกเทศมนตรีเชียงใหม่) ทัศนัยก็บอกว่า เทศบาลฯพร้อม และสามารถดูแลได้ ดังนั้นน่าจะให้เทศบาลได้ดูแล”

ด้าน ภัทรภร วิวัฒนาการ นักพัฒนาเอกชนจากกลุ่ม Hom Chiangmai ก็เห็นไม่ต่างกัน เธอเชื่อว่า ท้องถิ่นเองมีศักยภาพที่พอทำได้ โดยเฉพาะหน่วยงานอย่าง อบจ. ถ้ามีงบประมาณให้เหมือนกับ สพค.  

“อย่างเรื่องกระเช้าไฟฟ้า ชาวบ้านที่อยากได้ก็มี ไม่อยากได้ก็เยอะ เงื่อนไขที่ชาวบ้านอยากได้เพราะเดินทางลำบาก แต่ไม่ใช่ 10 กิโลเมตรเพื่อทำลายสถิติให้มันยาวที่สุดในโลก เพราะความเสี่ยงสูงมาก จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ และพอมันมาจากส่วนกลางทุกอย่าง ก็เกิดสภาพคิดเองเออเอง อย่างการประชุมครั้งแรกชาวบ้านก็ไม่รู้เรื่อง”

“การอ้างว่าเป็นการเปิดเส้นทางใหม่ และช่วยการจารจร ก็ต้องถามว่า มันติดจริงๆ กี่วัน และเราสามารถบรรลุวัตถุประสงค์นั้นด้วยวิธีอื่นหรือไม่ เช่น ทำถนนที่เชื่อมโยงจากดอยปุยมาทางห้วยตึงเฒ่า และทางที่จะมาบ้านปง (บริเวณพืชสวนโลก) ซึ่งเส้นทางนั้นไม่ต้องทำลายป่า เพราะมีเส้นทางที่ชาวบ้านใช้อยู่แล้ว เพียงแต่เป็นลูกรัง เท่านี้ก็จะสามารถเปิดเส้นทางใหม่ ลดปัญหาการจราจร และยังสร้างงาน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอีกให้หมู่บ้านที่เข้าถึงยากได้อีก ซึ่งเป็นการลงทุนที่น่าจะน้อยกว่าการสร้างกระเช้า คือถ้าเป็น อบจ.ที่มีอำนาจ เราอาจนำเสนอ และเขาก็ทำได้ทันทีเลย”

“ถ้าท้องถิ่นจัดการเอง อบจ.อาจจะทำ แต่ทำเล็กกว่านี้โดยไม่ไปรบกวนชุมชนมากนัก เพราะมีการพูดคุยกับคนในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังคิดว่าคนเชียงใหม่ หรือชุมชนทั้งหลายสามารถจัดการตนเองได้ มีศักยภาพหลายชุมชน เพียงแต่ว่าอาจจะไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูล หรือร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผน”

ส่วนบัณรส บัวคลี่ ก็เห็นไปในทำนองเดียวกันว่า ในระยะยาว การกระจายอำนาจน่าจะได้ดีกว่า เพราะอำนาจอยู่ใกล้มือประชาชน ถ้าเกิดอะไรขึ้นประชาชนสามารถเรียกร้องตรวจสอบได้ง่าย

“ถ้าให้ อบจ.มาบริหารพืชสวนโลก ไนท์ซาฟารี หอประชุม กับหน่วยงานจากส่วนกลางมาคิดทำกัน หากเกิดอะไรขึ้น อำนาจที่ใกล้มือประชาชนมันย่อมดีกว่า เพราะคนที่จะลงทุนต้องคิดถึงคะแนนเสียงของตัวเองว่า วาระต่อไปประชาชนอาจจะไม่เลือก เขาอาจจะคิดด้วยว่า เรามีงบอยู่เท่านี้ แทนที่จะเอานักท่องเที่ยวเป็นหลักโดยสร้างกระเช้าไฟฟ้า 10 กิโลเมตรที่ไม่รู้จะนั่งนานขนาดไหน ก็เอาเงินมาพัฒนาให้คนเชียงใหม่ เพื่อที่คนเชียงใหม่จะเลือกเขากลับมาอีก ตรงข้าม ถ้าเป็นอย่างองค์การมหาชนที่มาจากส่วนกลาง เขาไม่สนเสียงของคนเชียงใหม่ เขาทำอย่างเดียวเพื่อให้บริษัทเทสโก้ได้งาน ให้บริษัทได้ก่อสร้าง ให้พรรคพวกของตัวเองได้งาน ได้บริหาร”

ประเด็นที่สอง หากจะกระจายอำนาจ ต้องเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจก่อน มิเช่นนั้นก็มิได้เปลี่ยนแปลงอะไร โดยภิญญพันธุ์ พจนะลาวัลย์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง เสนอว่าหากจะการกระจายอำนาจ ต้องพูดให้ชัดเลยว่า กระจายอำนาจถึงระดับไหน เพราะหากเป็นแนว ‘รัฐคิดและให้ท้องถิ่นทำ’ มันก็ไม่ต่างจากเดิม ซึ่งการตั้งองค์การมหาชนโดยการมีสัดส่วนของท้องถิ่นอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เนื่องจากเป็นการปรับตัวจากระบบราชการที่ห่วย ให้สามารถทำงานกับรัฐและทุนสมัยใหม่ได้

“การกระจายอำนาจ มันต้องคิดแบบกลับหัวเลย เพราะรัฐก็อิลักอิเหลื่อในการจัดการพื้นที่บางพื้นที่ ถ้ากระจายอำนาจจะกระจายให้เต็มที่เลยไหม ถ้ากระจายก็ต้องให้ท้องถิ่นคิดทั้งหมด ไม่ใช่คิดในแง่ที่ว่า รัฐคิดและโอนไปให้ท้องถิ่นทำ ซึ่งมันไม่ได้เกิดจากท้องถิ่นเอง เช่น รัฐอาจมีนโยบายรถไฟความเร็วสูง แล้วให้ท้องถิ่นคิดว่า จะพัฒนาจังหวัดเพื่อเชื่อมต่ออย่างไร เป็นต้น ให้นโยบายกว้างๆ เช่น เสนอให้เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว ก็ให้ท้องถิ่นคิดเลยว่า จะให้เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวได้อย่างไร โดยอุดมคติมันควรจะเป็นแบบนั้น ซึ่งทุกวันนี้การคิดมันออกมาจากรัฐทั้งหมด”

“สำหรับเรื่องพิงคนครนั้นก็ไม่ใช่เรื่องของความมั่นคง หรือเกี่ยวข้องกับหลายจังหวัดมาก ถ้าเป็นความมั่นคงหรือเกี่ยวข้องกับหลายจังหวัด ก็อาจจะผละให้รัฐ แต่อันนี้เป็นเรื่องที่ท้องถิ่นจัดการเองได้”

ประเด็นสุดท้าย ทำให้การบริหารองค์กรใหม่ที่เข้ามามีอำนาจในพื้นที่มีสัดส่วนของท้องถิ่น ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เสนอว่า การบริหารพื้นที่ในท้องถิ่นให้ยึดโยงกับคนในท้องถิ่นสามารถทำได้สองแบบ แบบแรก กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น หรือนำเอางบประมาณของ สพค. ให้ อบจ.บริหาร หรือสอง ตั้งสำนักงานพิงคนครแบบนี้ แต่องค์ประกอบให้เป็น Local Government โดยกำหนดให้องค์ประกอบการบริหารมีสัดส่วนจากคนในพื้นที่

“ถ้ารัฐบาลต้องการให้มีลักษณะตอบโจทย์ของนโยบายบริหาร ตั้งสำนักงานพิงคนครนี่แหละ แต่องค์ประกอบให้เป็น Local Government โดยกำหนดให้องค์ประกอบการบริหารมีสัดส่วนจากคนในพื้นที่มากกว่านี้...ถ้าจะมาแก้ปัญหาของท้องถิ่น แต่ว่าคนในท้องถิ่นที่ไปอยู่ในนั้นไม่มี มันก็แก้ไม่ได้ ฉะนั้นหนทางที่ใกล้และง่าย คือกำหนดองค์ประกอบอย่างที่ว่ามา”

“รูปแบบการบริหารแบบนี้เมืองนอกมีเยอะ แต่เขาก็เรียกรวมๆ ว่า เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เขาเรียกแบบนี้เพราะคนในพื้นที่เป็นฝ่ายเลือกผู้บริหาร ส่วน สพค. รัฐอาจจะมีความชอบธรรมในการตั้งองค์กรหรือการเลือกเพราะมาจากรัฐบาลส่วนกลางผ่านการเลือกตั้ง แต่มันไกลกับท้องถิ่นมาก”

“ในความเห็นผม คิดว่าการตั้งองค์กรนี้ให้มีอำนาจหน้าที่และภารกิจอย่างที่กล่าวมา น่าจะเป็นประโยชน์กับเชียงใหม่ แต่ติดเพียงแค่องค์ประกอบ มีคนเดียวที่อ้างได้ว่า มาจากเสียงของคนเชียงใหม่ นอกนั้นไม่ใช่ ลองดูรายชื่อที่มาจากภาคเอกชน จะเห็นว่า ไม่คุ้นเลย เราเป็นคนเชียงใหม่แต่ไม่คุ้นแม้แต่นามสกุล”

ทั้งสามประเด็นที่กล่าวมา เป็นความเห็นต่อกรณีที่ว่า การพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวนั้น จะทำให้มันยึดโยงกับท้องถิ่นได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่า องค์กรมหาชนสามารถตั้งขึ้นมาได้เพื่อเพิ่มประสิทธิในส่วนที่รัฐขาด และรัฐสามารถตั้งองค์การมหาชนได้อีกเป็นร้อยองค์กร แต่ปัญหาคือ ยังมีทางเลือกอื่นมากกว่าการตั้งองค์กรแล้วทุ่มงบประมาณลงไปอีกหรือไม่ การกระจายอำนาจและการทำให้สัดส่วนการบริหารมีคนท้องถิ่นให้มากกว่านี้ เป็นทางเลือกหนึ่งที่ถูกนำเสนอเพื่อลดปัญหาช่องโหว่ของ สพค.อันอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ส่งท้าย: หนทางข้างหน้าของ ‘พิงคนคร’ สำเร็จหรือล้มเหลว

สำนักพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) หรือ สพค. แม้ไม่ใช่องค์การมหาชนแห่งแรก แต่เป็นองค์กรมหาชนแห่งเดียว(ณ ตอนนี้) ที่จะเข้าไปมีอำนาจกระทำการต่างๆ ในพื้นที่ระดับท้องถิ่น เมื่อไล่เรียงดูโครงสร้างอำนาจการบริหาร  แนวคิดเบื้องหลัง รอยปะทะและความขัดแย้ง ตลอดจนประเด็นต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการชนกันของอำนาจส่วนกลางกับท้องถิ่น เราคงไม่สามารถตอบแบบฟันธงได้ตรงนี้ว่า การตั้ง สพค.ขึ้นมาจะสำเร็จตามเป้าประสงค์ที่วางไว้ หรือล้มเหลวสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ เนื่องจากมีปัจจัยอื่นเข้ามาแทรกอยู่โดยตลอด ผลในเชิงรูปธรรมคงต้องรอดูการประเมินในอีก 5 ปีข้างหน้า

แต่ระหว่างทางที่จะไปถึง 5 ปีนั้น มีปรากฏการณ์และประเด็นข้อสังเกตหลายประการที่อาจกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ สพค.ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว รายงานข่าวเจาะชิ้นนี้พยายามทำให้เห็นถึงลักษณะดังกล่าว โดยเฉพาะปฏิบัติการทางอำนาจของ สพค.ที่จะเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับอำนาจส่วนต่างๆ ของท้องถิ่น ในที่นี้รวมถึงความต้องการของคนในท้องถิ่นด้วย

การตั้งองค์กรของรัฐหนึ่งองค์กร โดยตัวมันเองดูจะมีความชอบธรรมเพียงพอ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใด แต่ประเด็นใหญ่อยู่ตรงที่ว่า จะมีประสิทธิภาพ ตรงตามวัตถุประสงค์ และคุ้มหรือไม่ รายงานชิ้นนี้แม้ยังไม่อาจตอบแต่พยายามชี้ให้เห็นว่าถึงช่องโหว่ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และหากจะเดินต่อไปข้างหน้าให้สำเร็จตามเป้าประสงค์ก็มิอาจละเลยช่องโหว่ตรงนี้ได้

ดังนั้นหากถามว่า หนทางข้างหน้าของ ‘พิงคนคร’ จะเป็นอย่างไร คำตอบหลักคือ ขึ้นอยู่กับรัฐว่าจะจัดการกับช่องโหว่ว่างนี้อย่างไร

 

 

เชิงอรรถ

  พรรคเพื่อไทย. 2556. นโยบายบริหาร. แหล่งที่มา : http://www.ptp.or.th/policy/policy03.aspx . 8 ธันวาคม 2556

  อาร์วายทีไนน์. 2555. ม็อบอปท.บุกทำเนียบ ปิดถนน-ขสมก.เปลี่ยนเส้นทางเดินรถ แนะหลีกเลี่ยง. แหล่งที่มา: http://www.ryt9.com/s/iq01/1659309 . 29 มกราคม 2557

  ไทยโพสต์. 2555. แฉยุบอบจ.จ่อรวบอำนาจ พท.ถอยโบ้ยปรีชาปากเสีย. แหล่งที่มา: http://www.thaipost.net/news/040613/74509 . 29 มกราคม 2557

  เนชั่นทันข่าว. 2555. ยิ่งลักษณ์ เตรียมหางานให้อปท.เพิ่ม ชี้อยากได้งบ งานก็ต้องเพิ่ม. แหล่งที่มา: http://breakingnews.nationchannel.com/home/read.php?newsid=681552&lang=T&cat= . 29 มกราคม 2557

  พันศักดิ์ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทหลังรัฐประหารปี 2549ว่า เงินกองทุนหมู่บ้านที่ให้ไป 80,000 ล้าน มีเงินเพิ่มขึ้นเป็น 120,000 ล้านแล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นมา 40,000 กว่าล้าน ส่วน SME เขาอ้างว่า เฉพาะ creative sector ของไทยนั้นเกือบแสนล้านต่อปี rate of margin ของไทยส่วนใหญ่อยู่ที่ 30-60 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเทียบกับ SME พบว่า margin จากรายได้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์, http://www.prachatai.com/journal/2008/10/18735

  วิกิพีเดีย. 2547. สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน). แหล่งที่มา: http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B
8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2
%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0
%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8
%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89_%28%E0%B8%AD%E0%B8
%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB
%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%99%29 . 30 มกราคม2557

  ผู้จัดการ 360 องศา. 2550. ทุบทิ้ง TCDC!! ยุบรวมเป็น IDCL. แหล่งที่มา: http://info.gotomanager.com/news/details.aspx?id=64138 .30 มกราคม 2557

  ประชาไท. 2551. สัมภาษณ์พิเศษ "พันศักดิ์ วิญญรัตน์" : คุณทักษิณไปแล้ว What do you do next?. แหล่งที่มา: http://www.prachatai.com/journal/2008/10/18735 . 30 มกราคม 2557

  ไทยรัฐออนไลน์. 2555. ผ่าแนวคิดนอกกรอบ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ จุดประกายขายฝันอนาคตประเทศไทย. แหล่งที่มา: https://www.thairath.co.th/column/eco/ecoscoop/228869 . 30 มกราคม 2557

  วิกิพีเดีย. 2542. 1999 World Horticultural Exposition. แหล่งที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/1999_World_Horticultural_Exposition . 30 มกราคม 2557

  Chinadaily. 2013. Kunming to host China-South Asia Expo. From: http://www.chinadaily.com.cn/bizchina/2013-05/07/content_16483078.htm . 30 มกราคม 2557

  Wikipedia. 1994. Night Safari, Singapore. From: http://en.wikipedia.org/wiki/Night_Safari,_Singapore . 30 มกราคม 2557

  Night safari. 2013. Park experience. From:  http://www.nightsafari.com.sg/visitor-info/park-experience.html . 30 มกราคม 2557

  เรื่องเดียวกับเชิงอรรถ 12

  เรื่องเดียวกัน

  Wikipedia. 2010. Tourism in Singapore. From: http://en.wikipedia.org/wiki/Tourism_in_Singapore . 30 มกราคม 2557

  Singapore Tourism Board. 2010. Tourism Statistics Publications. From: https://app.stb.gov.sg/asp/tou/tou03.asp#VS . 30 มกราคม 2557

  ประชาธรรม. 2556. 'พิงคนคร'เปิดตัวกระเช้าลอยฟ้าไนท์ซาฟารีข้ามดอยสุเทพ-ปุย ด้านคนชม.ฮือต้านสุดกำลัง. แหล่งที่มา: http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n1_26112013_01 . 30 มกราคม 2557

  TCEP. 2556. ทีเส็บเปิดตัวแบรนด์ใหม่ ‘Thailand CONNECT’. แหล่งที่มา : http://www.tceb.or.th/about-us-th/news-th/1713--thailand-connect--57--3--.html . 30 พฤศจิกายน 2556

  MICE comes of age in Asia Pacific.” Issues & Trends 2011. vol.16 issue III. July 2011. PATA

  TCEP. 2556.  แนวโน้มอุตสาหกรรมไมซ์ของโลก. หน้า 21-22

  อานุภาพ นุ่นสง. 2549. ชำแหละราชพฤกษ์...อีกหนึ่งบทเรียนราคาแพง. แหล่งที่มา: http://www.prachatham.com/detail.htm?code=r1_26112006_01 . 8 กุมภาพันธ์ 2557

  ประชาธรรม. 2550. รากหญ้าเบรกไนท์ซาฟารีเดินท่อส่งน้ำ. แหล่งที่มา: http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n6_18062007_01 . 8 กุมภาพันธ์ 2557

  อ่านเพิ่มเติมข่าวย้อนหลังได้ที่ประชาธรรมและประชาไท

  สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557

  ผู้จัดการออนไลน์. 2549. มติชาวบ้านไม่เอาอุทยานช้างลั่นสู้ถึงถวายฎีกา. แหล่งที่มา: http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9490000103783 . 8 กุมภาพันธ์ 2557

  สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2557

  อิศรานิวส์. 2556. บริษัทเครือข่ายลูกหนี้“เมีย”ปลอดประสพ คู่สัญญารัฐเกือบ 80 ล้าน. แหล่งที่มา : http://www.isranews.org/investigate/item/19428-
%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%B1%E0%B8%97%E0%B9%80%E0
%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8
%A2.html?pop=1&tmpl=component&print=1 . 8 ธันวาคม 2556

  อ่านเพิ่มเติมเรื่องคามสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนบูรณุปกรณ์กับกลุ่มทุนชินวัตรเพิ่มได้ที่ อานนท์ ตันติวิวัฒน์. 2556. เมื่อกลุ่มทุนใหญ่ ประลองกำลังทุนท้องถิ่น ในการเลือกตั้งนายกฯเล็กเชียงใหม่ . แหล่งที่มา: http://www.prachatham.com/detail.htm?code=a1_11102013_01 . 8 ธันวาคม 2556

และเวียงรัฐ เนติโพธิ์.(2552). ทุนเชียงใหม่. กรุงเทพฯ:Open Book

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556

  อ้างแล้ว

  ประชาไท. 2551. สัมภาษณ์พิเศษ "พันศักดิ์ วิญญรัตน์" : คุณทักษิณไปแล้ว What do you do next?. แหล่งที่มา: http://www.prachatai.com/journal/2008/10/18735 . 30 มกราคม 2557

  ดูเพิ่มเติมที่เงื่อนไขการรับสมัครงานที่ เฟชบุ๊คเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี.  2555. รับสมัครบุคล เจ้าหน้าที่ และลูกจ้าง. แหล่งที่มา : https://www.facebook.com/media/set/?set=a.464661973579699.107921.195304697182096&type=3 . 10 ธันวาคม 2556

  สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556

  สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2556

  สัมภาษณ์เมื่อวัน 4 ธันวาคม 2556

 

โครงการให้ทุนเพื่อทำข่าวเชิงลึก เปิดรับสมัครผู้สนใจเสนอประเด็นเพื่อขอรับทุนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 โดยคณะกรรมการได้คัดเลือกประเด็นจำนวน 41 ประเด็น จากผู้สมัครเข้าขอรับทุนทั้งหมด 39 ราย จนได้ผู้มีสิทธิได้รับทุนจำนวน 10 ราย และผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียงพอที่จะนำเผยแพร่จำนวน 8 ประเด็น  โดยเว็บไซต์ประชาไทได้ทยอยนำขึ้นเผยแพร่ ดังปรากฏอยู่ในหน้านี้แล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท