Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


เมื่อเราพูดถึงปัญหาเรื่องการข่มขืนนี้ก็มักจะโยนความชั่วความเลวให้กับผู้กระทำแค่คนๆเดียว ซึ่งถามว่ามิติหรือความซับซ้อนของการข่มขืนมันเกิดขึ้นแบบง่ายๆหรือขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนๆเดียวจริงหรือ? และหากว่าโทษประหารชีวิตคือทางออกของปัญหาจริงๆ เหตุใดการข่มขืนจึงไม่หมดไปตั้งแต่ยุคที่มนุษย์นิยมการลงโทษแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”? บทความนี้ขอร่วมเสนอแนวทางการมองปัญหาการข่มขืนในมิติที่ใหญ่และซับซ้อนเกินกว่าปัญหาในระดับปัจเจก

หากเรามองว่าการที่ใครสักคนกระทำความผิดเพราะตัวเขาเองเป็น "ผู้เลือก" ที่จะกระทำแบบนั้นด้วยการตัดสินใจที่มาจากตัวตนของเขาเอง โทษจึงต้องตกอยู่ที่เขา วิธีการมองปัญหาและการแก้ปัญหาในลักษณะนี้ลดทอนความซับซ้อนของความเป็นมนุษย์ในฐานะที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคมเกินไปหรือเปล่า? และเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า "การเลือก" ของเขาเป็นการตัดสินใจของเขาในฐานะปัจเจกมากไปกว่าที่จะเป็นการตัดสินใจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของตัวตนที่ถูกหล่อหลอม ปลูกฝั่ง และขัดเกลาทางสังคมหรือสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่? หากเรามีความเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมและการก่อร่างสร้างตัวตนของมนุษย์ผูกติดอยู่กับสิ่งแวดล้อมหรือสังคมที่เราอยู่ นั่นหมายความว่าไม่ใช่เพียงแค่การกระทำผิด ณ ช่วงขณะใดขณะนั้น หรือคนใดคนหนึ่งเท่านั้นที่ต้องรับผิด  แต่หมายรวมถึงสิ่งแวดล้อมหรือสังคมทั้งระบบที่ต้องรับผิดชอบด้วยเนื่องจากมีส่วนในการตัดสินใจการทำผิดของคนๆนั้น

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุหนึ่งของการล่วงละเมิดเกิดจากสภาวะความเป็นอยู่หรือบรรทัดฐานของสังคมนั้นๆที่บีบครั้นใครสักคนมากเกินไปจนเขาต้องกระทำอะไรสักอย่างเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองในที่สุด(แม้ว่ามันจะฝ่าฝืนกฎระเบียบก็ตาม) ในมิติเรื่องเพศ คำถามง่ายๆคือประเทศของเรากดทับเรื่องเพศมากน้อยแค่ไหน? จะดีกว่าไหมถ้าสังคมมีที่ทางให้พลเมืองได้ระบาย พูดคุย แลกเปลี่ยน รวมไปจนถึงสร้างข้อตกลงที่เหมาะสมให้แก่เรื่องเพศได้อย่างเปิดเผยและเสรีมากกว่าสังคมที่ไม่มีวิชาเพศศึกษาในชั้นเรียน? มากกว่าสภาวะที่ข้อสอบระดับชาติบอกว่าถ้ามีอารมณ์ทางเพศให้ไปเตะบอล?  มากกว่าการที่ยังมีองค์การบางองค์กรมีนั่งบล็อกเว็บโป้ นมชิซูกะ หรือจู๋ชินจัง? มากกว่าสังคมที่วัดความดีของผู้หญิงจากความยาวของกระโปรง? ฉันใดก็ฉันนั้น สีดำอยู่ในมืดยังไงก็มืด มืดจนเรามองไม่เห็น แต่หากสีดำมาอยู่ในที่สว่าง แม้มันจะยังคงมืด แต่เราก็มองเห็นว่ามันคือสีดำ

หากพิจารณาความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้ข่มขืนและผู้ถูกข่มขืน เราจะพบว่าการที่ใครสักคนคิดหรือมีสิทธิ์คิดว่าตัวเองว่าตัวเองสามารถข่มเหงหรือรังแกอีกฝ่ายหนึ่งได้ นั่นหมายความว่ามันต้องมีกลไกทางสังคมหรือค่านิยมบางอย่างที่อนุญาตให้ผู้กระทำคิดหรือปฏิบัติแบบนั้นได้ และเพื่อจะต้านต่อการทำงานของกลไกนั้น เราจึงต้องยิ่งสนับสนุน ผลักดัน ขับเน้นค่านิยมหรืออุดมการณ์ที่จะขึ้นมาสู้กับสิ่งชั่วร้ายนั้น อุดมการณ์ใดที่ทำให้คนมองคนในฐานะที่เป็นคนเท่ากัน? อุดมการณ์ใดที่ไม่ให้อภิสิทธิ์แก่คนๆหนึ่งเหนือคนอีกคนหนึ่ง? อุดมการณ์ใดที่ไม่อนุญาตให้ใครสักคนลุกขึ้นมาทำร้ายใครได้อย่างชอบธรรม?

หนึ่งในคุณสมบัติที่ทำให้คนพวกหนึ่งคิดว่าเขาเหนือกว่าจนไปทำร้ายหรือรังแกคนอีกฝ่ายได้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของเรื่องเพศและการข่มขืน) คือ พละกำลัง ซึ่งถือเป็นการแสดงอำนาจในแบบของผู้ชาย ตราบใดที่สังคมยังให้คุณค่ากับพละกำลังอยู่ นั่นเท่ากับว่าสังคมยังคงรักษาฐานอำนาจของความเป็นชายอยู่เช่นกัน(แบบจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรต้องทำคือ ถอนความเป็นชาย(emasculate)ของสังคมนั้นออกไปโดยสังคมต้องไม่มองว่าการมีพละกำลังมากกว่าหรือเหนือกว่าเป็นข้อได้เปรียบ  มันอาจเป็นคุณสมบัติติดตัวได้  แต่ใช้เป็นมาตรฐานในการตัดสินความพิเศษกว่าในหมู่มนุษย์ด้วยกันเองไม่ได้  เพราะเมื่อใดก็ตามที่สังคมอนุญาตให้มีผู้เหนือกว่า นั่นหมายความว่าต้องมีผู้ที่ด้อยกว่าเสมอ และแน่นอนว่าคู่ตรงข้ามนี้ย่อมนำไปสู่วงจรแห่งการข่มเหงและในท้ายที่สุด     

อันที่จริงปัญหาเรื่องข่มขืนก็เป็นเรื่องที่พูดได้ยากเพราะยังมีอีกหลายมิติที่ซับซ้อน เช่น เมื่อไหร่ถึงจะเรียกว่าข่มขืน? ต้องมีคนมาแจ้งความหรือเป็นคดีเพียงเท่านั้นหรือ? แล้วคนที่ถูกกระทำแบบเดียวกันแต่ไม่แจ้งความเพราะอายจะทำอย่างไร? หรือภรรยาที่ถูกสามีข่มขืนจะทำอย่างไร?  หรือการเป็นแจ้งความถือเป็นการถูกข่มขืนซ้ำอีกไหม? แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็น่าจะเป็นคำตอบหนึ่งที่จะตอกย้ำว่าโทษประหารชีวิตอาจไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดและครอบคลุมเท่าไหร่นัก

ในทางกลับกันสังคมควรจัดสรรพื้นที่ให้กับแรงขับทางเพศของพลเมืองได้มีที่ทางในการระบายออกได้อย่างเหมาะสมควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกในการเคารพความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน ตราบใดก็ตามที่เรามีความเชื่อว่าเราไม่มีสิทธิ์ไปละเมิดใคร และไม่มีใครมีสิทธิ์มาละเมิดเรา เราอาจจะไม่ต้องพูดถึงปัญหาเรื่องการข่มขืนเลยก็ได้ เพราะการละเมิดสิทธิ์เล็กๆน้อยๆก็เป็นเรื่องที่น่าละอายมากพอที่ใครสักคนจะกระทำได้ แต่ ณ วันนี้ คนในสังคมเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกันมากน้อยเพียงใด?

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net