ตรวจสอบประชานิยมก่อนการหาเสียง เรื่องผิดฝาผิดตัวของกฎหมายและนโยบายสาธารณะ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

การที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกล่าวว่าจะนัดหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อหามาตรการสกัดนโยบายประชานิยมในการหาเสียงของพรรคการเมืองเป็นความพยายามที่ตลกมากในทางกฎหมาย

ปัญหาประการแรกของความพยายามดังกล่าว คือ คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคุณสมบัติพอจะเป็นผู้พิจารณานโยบายหาเสียงหรือไม่

ความมุ่งหมายแรกในการจัดตั้งองค์กรอิสระที่เรียกว่า กกต. นั้น คือ หน่วยงานที่เป็นกลาง ปลอดจากการเมือง เพื่อ “จัดการเลือกตั้ง” กกต จึงคอยดูแลกระบวนการ แต่ไม่ได้เข้าไปดูเนื้อหา หาก กกต. ต้องพิจารณานโยบายต่างๆของพรรคการเมืองทุกพรรคเมื่อไหร่ เมื่อนั้น กกต. กำลังใช้อำนาจตัดสิน “เนื้อหา” และย่อมสูญสิ้นภาพลักษณ์ที่เป็นกลางไป

คณะกรรมการการเลือกตั้ง เลือกมาจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่การพิจารณานโยบายนั้น ต้องใช้หลายศาสตร์ผสมผสานกัน อาจต้องพิจารณาด้านเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง จิตวิทยา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แม้การพิจารณาว่าเป็นประชานิยมหรือไม่ ก็ต้องใช้ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์อย่างสูงเพื่อพิจารณาคำอธิบายของพรรคการเมืองเสียแล้ว

ปัจจุบัน อะไรคือนโยบายประชานิยมยังไม่เป็นที่แน่นอน นโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรคเป็นประชานิยม แต่นโยบายเช็คช่วยชาติไม่เป็นประชานิยม การจำนำข้าวใช่ประชานิยม แต่การรับประกันราคาข้าวไม่ใช่ การจะจำกัดสิทธิพรรคการเมืองในการคิดนโยบายนั้น เป็นการจำกัดสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง จำต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เราจะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรว่าห้ามนำนโยบายประชานิยมมาใช้หากเราไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่ชัดว่าอะไรคือประชานิยม หากเขียนอย่างกว้างก็เท่ากับเรากำลังให้อำนาจดุลพินิจอย่างกว้างขวางแก่ กกต. และหาก กกต. ไม่เป็นกลาง ฝักใฝ่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งเข้าแล้ว เราจะลงโทษ กกต. อย่างไรดี

คำถามน่าสนใจต่อไป คือ หากคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาเห็นชอบนโยบายดังกล่าวแล้ว ต่อมาปรากฏผลว่าเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ พรรคการเมืองนั้นสามารถยกข้อเท็จจริงที่ว่า กกต. โดยคำขอของ ปปช. อนุญาตให้ทำแล้ว มาเป็นข้อต่อสู้ไม่ให้รับผิดได้หรือไม่ แล้ว กกต. จะยอมรับผิดถูกประนามไปด้วยหรือไม่หากเกิดความเสียหายขึ้นมา สมควรถูกลงโทษด้วยหรือไม่เพราะเป็นผู้กลั่นกรองแต่กลั่นกรองไม่ดี ไม่ถี่ถ้วนพอ

คำถามต่อไป คือ มาตรการดังกล่าวจะได้ผลจริงหรือไม่ อย่าลืมว่าความเสียหายแก่ประเทศชาตินั้น เป็นเรื่องที่ทำนายได้ยากอย่างยิ่ง แม้แต่นโยบายที่มีความตั้งใจที่ดีก็ยังสร้างความเสียหายได้หากนำไปปฏิบัติผิดวิธี หรือนโยบายที่ดูแหวกแนว หรือไม่น่าจะรอด ที่จริงอาจจะได้ผลในทางปฏิบัติ หรือในจังหวะที่สถานการณ์แวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป นโยบายที่คิดว่าไม่ดีก็อาจจะจำเป็นได้ ดังนั้น การด่วนตัดสินนโยบายต่างๆ ล่วงหน้าเป็นเวลาสี่ปีจึงไร้ประโยชน์อย่างยิ่ง ยิ่งไปกว่านั้น ในระหว่างที่อยู่ในตำแหน่ง พรรคการเมืองก็ยังสามารถนำนโยบายประชานิยมมาใช้ได้ แม้จะไม่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียงแล้วก็ตาม

แม้นหากมาตรการนี้ถูกนำไปใช้จริง นโยบายของพรรคการเมืองคงไม่หายจากความเป็น “ประชานิยม” เพราะนโยบายสาธารณะนั้นสามารถถูกเขียนขึ้นให้กว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่าลืมว่ารัฐนั้นเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรอยู่แล้ว ดังนั้น พรรคการเมืองไม่จำต้องแสดงว่าจะได้ผลตอบแทนในรูปตัวเงินกลับมาเท่าไหร่ ต่างจากบริษัทเอกชน

ในขณะที่ผลดีไม่ชัดเจน แต่ผลเสียของนโยบายนี้น่าจะตกอยู่กับคนสองกลุ่ม คือ ประชาชนผู้เลือกตั้งนโยบาย จะพบกับนโยบายหาเสียงที่คลุมเครือเหมือนกันหมดของทุกพรรค เพื่อหลีกเลี่ยงการเขียนอะไรให้ชัดจนเกินไปซึ่งทำให้ต้องอธิบายอย่างลึกซึ้งลงในรายละเอียด นั่นทำให้พวกเขาต้องกลับไปเลือกตัวบุคคลแทนนโยบาย และคนกลุ่มที่สอง คือ ผู้เล่นหน้าใหม่ในเวทีการเมือง การจัดเตรียมคำอธิบายแก่ กกต. รวมทั้งการเข้าพบ ชี้แจงนั้น เป็นต้นทุนทั้งสิ้น ผู้เล่นหน้าใหม่อาจจะไม่สามารถรับมือต้นทุนตรงนี้ได้ ทำให้ในสนามการเมืองเหลือเพียงไม่กี่พรรคใหญ่ ซึ่งผลเสียทั้งสองนี้เป็นปัญหาของการเมืองไทยที่หลายคนพยายามแก้ไขตลอดมา

การพยายามลงโทษนโยบายประชานิยมนั้น เป็นการนำกฎหมายมาบังคับในเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากอาณาเขตของกฎหมาย การนำกฎหมายมาลงโทษนโยบายที่ถูกกฎหมาย แต่อาจจะเป็นที่ถกเถียงได้ในทางเศรษฐศาสตร์ เป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว หากไม่ต้องการนโยบายประชานิยม สิ่งที่สังคมไทยต้องการ คือ พื้นที่สาธารณะที่เปิดให้นักวิชาการต่างๆได้ถกเถียง ชำแหละนโยบายอย่างจริงจังในทุกด้าน เพื่อให้สาธารณชนตัดสินใจว่าจะเลือกหรือไม่เลือกนโยบายเหล่านั้น แต่นโยบายใดที่มีปัญหาด้านกฎหมาย เกิดการทุจริต การใช้เงินหลวงผิดประเภท หรือผลประโยชน์ทับซ้อน ต้องลงโทษให้รวดเร็ว ปปช. ต้องทำหน้าที่ตัวเองให้เร็วกว่านี้ ไม่ใช่ผลักภาระในการปราบปรามการทุจริตมาให้ กกต. ภายใต้ข้ออ้างว่าว่า “ประชานิยม”
   
ที่ผ่านมา หลายคนสับสนระหว่างนโยบายประชานิยม รัฐสวัสดิการ หรือสังคมนิยม นอกจากนั้น ยังไม่แยกแยะระหว่างนโยบายที่เลวร้ายด้วยตัวของมันเอง และนโยบายที่เลวร้ายด้วยปัญหาในการนำไปปฏิบัติ แต่กลับเชื่อว่า การมอบอำนาจให้ “ผู้รู้” ชี้ขาดทิศทางของสังคม จะเป็นทางออกของปัญหาทั้งหมด ทั้งที่แนวคิดนี้สะท้อนความเชื่อที่ว่า คนเราไม่เท่ากัน คนฉลาดต้องดูแลคนโง่ ทั้งที่ในความเป็นจริง คนทุกคนล้วนควรมีสิทธิเสียงเท่ากันทั้งสิ้นในการตัดสินอนาคต

ข้อเสนอของ ปปช. จึงสะท้อนหลายสิ่งที่เป็นปัญหาในสังคมไทย ตั้งแต่แนวคิดที่ไม่เชื่อความเสมอภาคและสติปัญญหาของเพื่อนร่วมชาติ ความไร้ประสิทธิภาพขององค์กรบางองค์กร ความพยายามจะขยายอำนาจขององค์กรอิสระที่ไม่ยึดโยงกับปวงชน ข้อเสนอนี้จะนำมาสู่ความคลุมเครือของนโยบาย การผูกขาดทางการเมือง

และไม่แก้ปัญหาของการเมืองไทย 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท