Skip to main content
sharethis

           
16 ก.ค. 2557 ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเดียมอนิเตอร์ ร่วมกับ แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ แผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน และสถานีวิทยุจุฬาฯ ได้จัดเสวนาเรื่อง “โฆษณาอาหารในรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ให้ข้อมูล? คุณค่า? หรือ พิษภัย?”
             
ทั้งนี้จากการที่มีเดียมอนิเตอร์ ร่วมกับ แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพได้ทำการศึกษา การโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มในรายการสำหรับเด็ก ทางฟรีทีวี 4 ช่อง ได้แก่ ช่อง3, 5, 7 และ ช่อง9 พบว่า ร้อยละ 94 ของอาหารและเครื่องดื่มที่โฆษณา เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้น การโฆษณายังใช้พรีเซ็นเตอร์ที่เป็นดาราดัง คนที่มีชื่อเสียง ใช้การ์ตูน และการใช้ mock up ที่ทำให้อาหารมีขนาดใหญ่เกินกว่าความเป็นจริง ในส่วนของเนื้อหาโฆษณาก็มุ่งเน้นเรื่องรสชาติของอาหาร การส่งเสริมให้บริโภคเกินความจำเป็น การบริโภคแทนอาหารมื้อหลัก การใช้คำที่ทำให้รู้สึกว่าราคาถูกลง การทำให้รู้สึกว่าเด่นกว่าหรือด้วยกว่าคนอื่น ทั้งมีเนื้อหาส่อไปในทางเพศซึ่งไม่เหมาะสมกับเด็ก นอกจากนี้ ยังพบโฆษณาแฝงทุกรูปแบบ มากที่สุดในรายการที่ถูกจัดให้มีเนื้อหาระดับ ท ที่ออกอากาศในช่วงเวลาสำหรับเด็กด้วย

“การโฆษณาดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้เด็กเกิดความต้องการบริโภค ในขณะที่กฎหมายควบคุมการโฆษณาที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ครอบคลุมการโฆษณาที่มีรูปแบบและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก” เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าว
             
ด้าน รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เสริมว่า โฆษณามีผลกระทบต่อคนดูอย่างแน่นอน ยิ่งปัจจุบันนี้โฆษณามีการใช้กลยุทธ์และมีเทคนิคลูกเล่นแพรวพราวที่เชิญชวนให้เกิดการบริโภค ทำให้เด็กหลงกลได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัยอายุน้อยกว่า 6 ปี ที่มีพัฒนาการทักษะการรู้คิดรู้ทันที่ยังอยู่ในโลกจินตนาการ ไม่สามารถแยกแยะระหว่างโลกจินตนาการและโลกของความเป็นจริง หรือแม้แต่เด็กในวัยเรียนก็ยังถูกล่อลวงเมื่อรับข้อมูลจากโฆษณา เพราะเด็กไม่สามารถสร้างระบบการรู้เท่าทันได้แข็งแรงพอและไม่มีหลักคิดและวิจารณญาณได้ดีเท่าผู้ใหญ่ ดังนั้น เด็กจึงตกเป็นเหยื่อของการโฆษณา ยิ่งเด็กเจอลูกเล่นของโฆษณาที่มีการโฆษณาถี่ๆ บ่อยๆ หรือโฆษณาแฝงที่ขาดจริงจังในการบอกข้อมูลที่เข้าใจง่ายและชัดเจนต่อผู้บริโภค จึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อเด็ก 3 ประการ ได้แก่ 1. เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพทางกาย เช่น โรคอ้วน กลัวอ้วน หรือผอมขาดสารอาหาร 2. เพิ่มความเสี่ยงด้านจิตใจ เช่น การเกิดพฤติกรรมการลอกเลียนแบบตามสื่ออย่างไม่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก และ 3. เพิ่มความเสี่ยงด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งทำให้เกิดค่านิยมผิดๆ เช่น เมื่อบริโภคสินค้าที่โฆษณาแล้วมีผลต่อความรู้ความสามารถ ความสวยความงาม เป็นต้น

“ถึงเวลาแล้วที่ต้องเอาจริงเอาจังกับการนำกฎหมายที่มีอยู่มาบังคับใช้ให้เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมเสียที รวมทั้งการพัฒานามาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อเด็กและเยาวชนต่อไป” รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กล่าวย้ำ
             
ส่วน น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า สื่อเป็นปัจจัยแวดล้อมที่สำคัญในการเรียนรู้ของเด็ก เด็กใช้เวลากับสื่อมาก โฆษณาจึงมีผลกระทบต่อทัศนคติและพฤติกรรมของเด็กเยาวชนมากด้วยเช่นกัน หากอยากเห็นสังคมเป็นแบบไหนก็ดูที่ปัจจัยแวดล้อมที่หล่อหลอมเด็กเยาวชน ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างสังคมของเราให้ก้าวไปข้างหน้า อยากเห็นคนทำโฆษณาที่มีจิตสำนึกไม่มุ่งแต่กำไรจนไม่สนใจผลที่เกิดขึ้นต่อเด็ก หน่วยงานกำกับดูแลโฆษณา ทั้งสมาคมวิชาชีพและภาครัฐอย่างกสทช. ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องโฆษณาที่เข้าถึงเด็ก ต้องมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างจากโฆษณาในช่วงรายการของผู้ใหญ่ ต้องให้ความรู้เรื่องเท่าทันสื่อแก่เด็กและพ่อแม่ ต้องให้เครือข่ายพ่อแม่และภาคสังคมต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง หมดเวลาที่จะโยนกันไปมาว่าเป็นหน้าที่ของใคร แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันพัฒนาเด็กและเยาวชน ผู้เป็นอนาคตของชาติให้เข้มแข็ง

น.ส.นงนุช ใจชื่น นักวิชาการแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวทิ้งท้ายว่า หนึ่งในมาตรการป้องกันปัญหาการโฆษณาที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมของเด็ก คือ กฎหมายและกลไกในการควบคุมการโฆษณา ดังนั้น ถึงเวลาที่จะต้องมีการกำหนดมาตรฐาน เพิ่มกฎกติกา และกำหนดกลไกในการควบคุมดูแลโฆษณาในช่วงรายการเด็กและเยาวชนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะโฆษณาอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมและใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เด็กบริโภค ประเทศไทยควรมีมาตรการในเรื่องนี้อย่างเคร่งครัดเหมือนกับประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศอังกฤษและประเทศออสเตรเลียที่มีกลไกการกำกับดูแลร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน ในการติดตามเฝ้าระวังและการลงโทษโฆษณาที่ฝ่าฝืนกฎข้อบังคับ เพราะการออกกฎหรือมาตรการดังกล่าว นอกจากจะเป็นการปกป้องสุขภาพของเด็กและเยาวชนแล้ว ยังเป็นผลดีต่อสังคมและภาครัฐในการลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่อไปในอนาคตอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net