Skip to main content
sharethis

นานๆ ทีที่แวดวงสื่อมวลชนจะมีแรงกระเพื่อมจากการถูกตรวจสอบ ครั้งล่าสุดคือ การที่เว็บไซต์เล็กๆ แห่งหนึ่งเปิดเผยเอกสาร ‘หลุด’ ของบริษัทยักษ์ใหญ่ว่ามีวิธี ‘ดีล’ กับสื่อมวลชน (นักวิชาการ คอลัมนิสต์ ฯลฯ) อย่างไรในการจัดการข้อมูลข่าวสารบริษัทที่ออกสู่สาธารณะ

‘หลุด!เอกสารฝ่ายPRธุรกิจยักษ์ใหญ่ จ่ายสื่อ-ลบกระทู้-อ้างชื่อนักวิชาการ’ ...คือต้นเรื่องที่ว่า

แรงกระเพื่อมนี้อาจวัดได้จากสายโทรศัพท์ที่ถาโถมสู่ ผอ.เว็บไซต์ ‘สุชาดา จักรพิสุทธิ์’ หลังข่าวนี้เผยแพร่ไปเพียงชั่วโมงเดียว ทั้งจากบริษัทเอกชนที่คาดว่าตนเองถูกพาดพิงเพื่อขอให้ยุติการเผยแพร่ข่าว จากเพื่อนสื่อมวลชนอาวุโสหลายสำนักเพื่อสอบถามข้อมูล ‘ชื่อนักข่าวที่ถูกปิด’

หรืออาจวัดจากยอดอ่านราว 1.5 แสน หลังเผยแพร่ในเว็บไซต์ได้ 2 วัน

หรืออาจวัดได้จากการออกแถลงการณ์ต่างๆ แทบจะทันทีของทั้งบริษัทเอกชน องค์กรวิชาชีพสื่อ รวมทั้งการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ นำโดย กล้าณรงค์ จันทิก

หรืออาจวัดได้จากการที่สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักนัดสัมภาษณ์ผอ.เว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็น BBCภาคภาษาไทย รอยเตอรส์ อาซาฮีชิมบุน สเตรทไทมส์

สำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามรายละเอียด รายงานฉบับนี้เพียงนำเอกสารบางส่วนจากจำนวนนับพันหน้าของฝ่าย PR บริษัทด้านอุตสาหกรรมอาหารแห่งหนึ่งมานำเสนอ โดยที่นักข่าวแทบไม่ต้องหาถ้อยคำมาบรรยาย

เนื้อหาแบ่งออกเป็นหลายส่วน หลายคนในแวดวงสื่อ แวดวงประชาสัมพันธ์ หรือกระทั่งคนทั่วไปอาจ ‘ยักไหล่’ กับงานละเอียดยิบของบริษัท เช่น การซื้อพื้นที่ข่าวประชาสัมพันธ์ CSR การมอนิเตอร์ข่าวสาร การทำความรู้จักนักข่าวในสื่อต่างๆ การการจัดระดับสื่อที่ต้องเฝ้าจับตา การติดต่อเข้าพูดคุยทำความเข้าใจกับนักข่าว/คอลัมนิสต์ ผู้เขียนพาดพิงบริษัท หรือกระทั่งการจ่ายเงินตำรวจ นักข่าวพื้นที่ เพื่อเปิดข่าวบางข่าว เช่น การฆ่าตัวตายของพนักงาน เป็นต้น

แต่ส่วนที่น่าจะแหลมคมแบบที่สร้างบาดแผลให้สถาบันสื่อมวลชนได้มากเพราะกระทบกับเครดิตและควาน่าเชื่อถือ คือ เอกสารส่วนที่ระบุถึง “งบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน โดยการสนับสนุนสื่อมวลชนกรณีพิเศษ และกรณีขอการสนับสนุนรายการวิทยุ-โทรทัศน์ต่างๆ ด้วยตัวสื่อมวลชนเอง”  โดย

ปฏิกริยาหลังจากนั้น ซีพีเอฟได้ออกออกมาตอบโต้ในทันที ไม่ใช่การปฏิเสธว่าเอกสารดังกล่าวไม่ใช่ของบริษัท แต่เป็นการยืนยันว่าการดำเนินการทำแผนประชาสัมพันธ์ ค่าใช้จ่ายในการซื้อโฆษณาในสื่อเป็นเรื่องต้องปฏิบัติ และต้องจัดงบส่วนหนึ่งไว้สนับสนุนกิจกรรมของสื่อมวลชนเป็นพิเศษ แต่ไม่ใช่การซื้อสื่อ

“เราขอยืนยันว่าเราไม่เคยใช้เงินเพื่อซื้อสื่อในการปิดข่าวหรือบิดเบือนเนื้อหาข่าวไม่ให้เป็นความจริง” นางพรรณินี นันทพานิช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ กล่าว   อ่านรายละเอียดที่นี่

จากนั้นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ ระบุ “มีความกังวลและห่วงใยในเรื่องนี้อย่างยิ่ง ไม่แต่เพียงผลกระทบต่อความเชื่อถือในองค์กรสื่อและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเท่านั้น หากแต่บริษัทเอกชนที่ถูกกล่าวอ้างถึงก็ได้รับผลกระทบและจำเป็นจะต้องให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ต่อสาธารณชนด้วย” พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นตรวจสอบและจะแถลงผลต่อสาธารณะต่อไป

ก่อนหน้านั้น นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงความเห็นส่วนตัวว่า วิธีพีอาร์ถือเป็นเรื่องปกติแต่สังคมอาจยังไม่ทราบ การจ่ายเงินก็อาจจะจ่ายเข้าบริษัทก็ได้แต่ผ่านชื่อนักข่าว แต่หากเป็นการจ่ายส่วนตัวจริงก็ถือว่าไม่ถูกต้อง พร้อมติงการเปิดเผยชื่อที่อยู่ข้อมูลส่วนตัวนั้นทำไปเพื่ออะไร

ต่อมาเครือโพสต์ฯ ประกาศยุติการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ถูกกล่าวหาทั้งหมด เนื่องจากมีชื่อรองบรรณาธิการบริหารกลุ่มโพสต์อยู่ในนั้นด้วย พร้อมยืนยันว่าเป็นการจ่ายค่าโฆษณาให้บริษัทเท่านั้น รองบก.บห.ไม่ได้มีผลประโยชน์ส่วนตัวแต่อย่างใด

“จากการประชุมร่วมของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ ประกอบด้วย หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และหนังสือพิมพ์ M2F ตัดสินใจจะระงับการนำเสนอข่าว รูปภาพและการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทซีพีเอฟเป็นการชั่วคราว เพื่อสร้างความโปร่งใสและสนับสนุนการทำงานของสภาการหนังสือพิมพ์จนกว่าผลการสอบสวนเรื่องนี้จะยุติ”

ขณะที่สฤณี อาชวานันทกุล คอลัมนิสต์ชื่อดังที่ถูกพาดพิงในเอกสารก็โพสต์เฟซบุ๊กว่า “เนื่องจากถูกพาดพิงในเอกสารที่นำมาเผยแพร่ในข่าวชิ้นนี้ ขอชี้แจงให้ทราบว่า เนื้อหาทุกอย่างที่เขียนลงบทความ ทวีต หรือโพสบนเฟซบุ๊กหรือบล็อกทุกชิ้น ล้วนแต่เป็นการใช้อิสรภาพทางความคิดของผู้เขียนเองทั้งสิ้น ซึ่งอาจมีผิดมีถูก มีโง่มีฉลาด แต่ยืนยันได้ว่าไม่เคยได้รับเงินบริษัทใดบริษัทหนึ่งมาเขียนข่าวหรือแก้ข่าวแต่อย่างใด บางบริษัทมีการมาขอพบหรือโทรศัพท์มาขอ "ทำความเข้าใจ" หลังจากโพสข้อความพาดพิง ซึ่งก็พยายามทำความเข้าใจกับเขาจริงๆ แต่มิได้กระทบต่ออิสรภาพในการเขียนและไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ ถือว่าแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อมูลระหว่างกันค่ะ

เอกสารที่ "หลุด" มาเป็นข่าวนี้นับว่าน่าสนใจมาก เพราะสะท้อนให้เห็นวิธีคิดของฝ่ายพีอาร์บางบริษัท และวิธี "จัดการ" กับสื่อ รวมถึงสะท้อนว่าสื่อไทยตกต่ำอย่างไร (ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าเราไม่รู้ว่าตกต่ำ แต่บางทีเราไม่ดูว่าตกต่ำไป "ขนาดไหน" แล้ว)”

เรื่องที่เป็นประเด็นหลังฉากนับแต่เผยแพร่เอกสารก็คือ การพยายามค้นหาชื่อนักข่าว 19 รายที่ถูกปกปิด คนของสภาการหนังสือพิมพ์เองก็ต้องการรายชื่อเหล่านี้โดยระบุเหตุผลว่าเพื่อนำไปตรวจสอบ แต่ผอ.ทีซีไอเจ ยืนยันให้ความร่วมมือแต่ไม่ให้รายชื่อด้วยเหตุผลหลักสองประการ คือ ไม่ต้องการให้เป็นปัญหาระดับตัวบุคคลหากแต่นำเสนอเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้าง วัฒนธรรม และเหตุผลหลังคือ ไม่ให้ความเชื่อถือต่อองค์กรวิชาชีพซึ่งในสายตาเธอยังไม่เคยพิสูจน์ผลงานการปกป้องจริยธรรม หรือคุ้มครองนักข่าวได้

ขณะที่ทศพล ทรรศกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งปรากฏชื่อยู่ในเอกสารว่า เป็น NGO มช. 

เอกสารบริษัทระบุว่า “ปล่อยคลิป VDO เรื่องเกษตรพันธสัญญา จำนวน 8 ตอนและ 5 ตอนย่อย ว่าด้วยเรื่อง ไก่ หมู ปลา อ้อย ข้าวโพวด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องซ้ำๆ เดิมๆ และในส่วนของปลานัน เป็นเกษตรกรรายย่อยของเอเย่นต์ / แนวทางแก้ไข  ต่อ NGO ในพื้นที่มหาสารคามที่ปรากฏในคลิป เพื่อเชิญคุณ....ลงพื้นที่ทำความเข้าใจ”

ทศพลระบุว่า เหตุเกิดราวปี 2555 คลิปที่ลงยูทูปนั้นเป็นหนังสารคดี ‘บ่วงบาศพิฆาตเกษตรกร’ อันสืบเนื่องมาจากงานวิจัยของคณะว่าด้วยเกษตรพันธสัญญา หลังจากเริ่มเผยแพร่สิ่งที่ค้นพบในพื้นที่ว่าด้วยเรื่องความไม่เป็นธรรมของตัวระบบ ของเอเย่นต์ในพื้นที่ ของสัญญาที่ทำกับเกษตรกร โดยเน้นสะท้อนเสียงของเกษตรกรเป็นสำคัญ ทำให้บริษัทใหญ่พยายามติดต่อเขาและแจ้งว่านั่นเป็นการให้ข้อมูลด้านเดียว เขาปฏิเสธจะเพิ่มเติมข้อมูลของบริษัทโดยให้เหตุผลว่าในงานวิจัยเฟสแรกนั้นได้กล่าวถึงมุมของบริษัทไปแล้ว และเขาเองได้ทบทวนวรรณกรรมทั้งหมดอย่างดีแล้ว ไม่ได้ทำด้วยความเข้าใจผิดแต่อย่างใด ขณะเดียวกันก็เกิดกระแสในอินเตอร์เน็ตและนอกอินเตอร์เน็ตว่านี่เป็นงาน “ดราม่าเกษตรกร”

ที่สำคัญคือ เขาตีพิมพ์บทความว่าด้วยเรื่องเกษตรพันธสัญญาลงในหนังสือพิมพ์ จากนั้นก็มีนักวิชาการคนหนึ่งตีพิมพ์บทความตอบโต้ในหนังสือพิมพ์อีกฉบับ และในท้ายที่สุดเมื่อเรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมา ดูเหมือนว่า บทความชิ้นต่อไปของเขาจะไม่ได้รับการตอบรับจากหนังสือพิมพ์ใดอีกเลย เช่นเดียวกับแหล่งทุนแม้จะให้การสนับสนุนต่อแต่ก็ขอให้ไม่แสดงชื่อในงานวิจัยอีกต่อไป

สิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพการเมืองของการสร้างภาพลักษณ์ของบรรษัทขนาดใหญ่ เอกสารที่หลุดออกมาอาจเป็นเพียงตัวอย่างที่เล็กน้อยมาก

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า แรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นในช่วงนี้จะเป็นเพียงคลื่นกระทบฝั่ง หรือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใดในอนาคตในวงการสื่อมวลชน หรือจะนำมาซึ่งคดีความระหว่างสื่อเล็กๆ และบรรษัทขนาดใหญ่อย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าวหรือไม่

 

คุยกับ สุชาดา จักรพิสุทธิ์

 

หลังจากเผยแพร่งานชิ้นนี้ บวกกับวงเสวนาที่เกี่ยวเนื่องกัน ผลสะท้อนกลับมีอะไรบ้าง เป็นไปตามความหมายอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ หรือผิดจากความคาดหวังอย่างไร

หลักๆ ที่พูดในวงเสวนาที่ผ่านมาก็คือ ก็ต้องทำหน้าที่สื่อ เป็นตัวกลางที่จะทำให้ความจริงได้เปิดเผย เนื่องจากเราได้เอกสารชุดนี้มา และไม่สามารถจะนั่งมองข้อมูลที่มันเห็นความฉ้อฉล ความผิดปกติเหล่านี้ไว้เฉยๆ นี่คือจุดประสงค์ข้อแรก

ความคาดหวังขั้นต่อมาซึ่งอาจจะเยอะไปหรือเปล่าไม่รู้ คือ อยากให้เกิดการเรียนรู้ว่าความผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ทำไมเราไม่เคยรู้มาก่อน หรือผู้เกี่ยวข้องพยายามปกปิดมัน ข้อมูลบอกชัดเจนว่ามันเกิดขึ้นมาตลอดปี 2555-2556 หรืออาจจะก่อนหน้านั้น หรือนี่เป็นธรรมเนียมอันมิชอบที่ปฏิบัติกันมาจนกลายเป็นชอบไปแล้วหรือเปล่า

มากกว่านั้นหวังว่า สิ่งนี้จะให้เป็น Literacy สำหรับทุกฝ่าย ทุกฝ่ายที่ว่านี้ เช่น ทุน ที่คิดว่าการลงทุนกับภาพลักษณ์ ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ก็ด้วยคาถาแบบนี้ โดยมีเครื่องมือคือสื่อ คุณกำลังสร้างคอร์รัปชั่นอีกรูปแบบขึ้น ต้องคิดใหม่ได้แล้ว

ตัวอย่างข่าว "คนงานโดดบ่อจระเข้ตาย" มันทำให้คุณเสียภาพลักษณ์หรือ คนงานของบริษัทในเครือด้วยซ้ำ เขาอาจจะมีความทุกข์ส่วนตัวอะไรก็แล้วแต่ คุณต้องจ่ายเงินให้ตำรวจ ให้นักข่าวในท้องที่ แถมเจรจากับสื่อส่วนกลางอีก เป็นวิธีคิดที่ถูกต้องแล้วหรือ คุณกำลังสร้างวัฒนธรรมคอร์รัปชั่นใช่ไหม

สื่อมวลชนมีหลักการแบบหนึ่ง พีอาร์ประชาสัมพันธ์ หน่วยงานดูแลภาพลักษณ์ก็มีหลักการทำงานแบบหนึ่งที่อาจแตกต่างไป

ทุกสถาบันมีอุดมคติของสถาบันนั้นๆ ทุกวิชาชีพมีอุดมคติของสถาบันนั้นๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่รู้กัน คุณก็มีประกาศธรรมาภิบาลที่ดี Good Governance ในทางเป็นจริงคือเราเปิดเผยความจริงว่า คุณไม่ได้ทำ นอกจากไม่ได้ทำแล้วคุณยังบิดเบี้ยวเกเรกับมันอีกด้วย นอกจากเกเรแล้วคุณยังทำให้คนอื่นติดนิสัยแย่ๆ ไปกับคุณด้วย คุณไปสปอยคนอื่น แล้วคนอื่นกลับมาสปอยคุณ 

ในส่วนของสื่อก็เช่นกัน ข้อมูลที่เปิดเผยว่าเขารู้จักคุณขนาดนี้ เพื่ออะไร เขาเอาความรู้จากคุณขนาดนี้ไว้ใช้ทำอะไร แล้วคุณต้องระมัดระวังตัวเองในความสัมพันธ์กับเขาได้หรือยัง จะฉุกใจคิดได้หรือยัง ที่ผ่านมาคุณไม่รู้อะไรเลยหรือ หรือว่าไม่สน

อีกส่วนหนึ่งคือผู้บริโภคสื่อ โดยเฉพาะการบริโภคสื่อ Conventional Media แล้วเท่ากับจริง อยากให้ข่าวนี้รับรู้กว้างขวาง เพื่อให้รู้ความยอกย้อนซ่อนเงื่อนที่อยู่ข้างหลัง สิ่งที่สื่อนำเสนอ ทำไมบอกแต่ข้อดีของบริษัทนี้ มันมีอะไรอยู่ข้างหลังแบบนี้นี่เอง อยากให้ผู้บริโภคสื่อคิดไปจนถึงว่า มิน่าล่ะ ความไม่เป็นธรรมที่เอ็นจีโอหรือชาวบ้านร้องเรียนต่างๆ ไม่ปรากฏบนสื่อเพราะอำนาจเหนือสื่อแบบนี้นี่เอง แม้แต่สิ่งที่ปรากฏบนสื่อก็ไม่ทำให้ผู้บริโภคคิดไปจนถึงคนที่สร้าง คนที่ผลิตข้าวปลาอาหารให้เรากินเลย ก็เพราะแบบนี้นี่เอง

ผลสะท้อนกลับเป็นอย่างไรบ้าง

มีทั้งสิ่งที่คาดการณ์ไว้แล้ว มีทั้งสิ่งที่เหนือความคาดการณ์ รวมทั้งสิ่งที่มหัศจรรย์ใจ 

สิ่งที่เป็นไปตามคาดการณ์ไว้ก็เรื่องที่เขย่าสถาบันสองสถาบันที่เป็นตัวละครในข่าว คือสื่อกับทุน เป็นเรื่องที่คาดหมายแล้ว และคงจะต้องมีคนแชร์ข่าว เข้ามาอ่านข่าวเยอะ หรือได้รับเสียงสะท้อนจากสื่อ Conventional Media สิ่งนี้คาดการณ์ไว้แล้ว

ที่เหนือความคาดการณ์คือ เขย่าแรงกว่าที่คิด มีปฏิกิริยาหลายแบบ ตั้งแต่เบี่ยงประเด็น มีการหาศัตรู มีการโดดเดี่ยว มีวิธีการกลบข่าว สร้างข่าวใหม่ ทำข่าวลบ ดิสเครดิตผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย บ้างก็โจมตีเรื่องชื่อบางส่วนที่เราเปิดเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งต้องขอบอกกติกาข้อแรกเลยคุณต้องอ่านข่าวก่อน และเรามีหลักการที่จะปกปิดและเปิดเผยคือ "ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น" ส่วนที่เปิดเผยเป็นข้อยกเว้น 2 ชื่อนั้น เพื่อจะบอกว่าคุณน่านับถือ ยืนหยัดบนอิสระทางความคิด คุณเขียนบทความเตือนแล้วเขามาหา มาปรับทัศนคติคุณ ให้คุณเกรงใจ ดังนั้นส่วนที่เปิดเผยข้อมูลนี้ใครผิด ใครน่านับถือ

ส่วนที่ปิดคือปกป้องสื่อมวลชน เหมือนที่พูดในเวทีว่าต้องปกป้องสื่อมวลชน ซึ่งจริงๆ คุณก็เดาได้ถ้าจะสืบค้น จะเก็บกวาดจริงๆ เพราะในเนื้อข่าวบอกแล้วว่าเป็นผู้บริหารระดับกลาง

เรื่องของการจ่ายเงิน คุณบอกว่าสื่อติดต่อทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อขอรายชื่อ มองอีกแง่หนึ่ง ที่เขาต้องการให้เปิดเผยชื่อนั้นเพราะมันผูกกับความเชื่อมั่นในสถาบันสื่อ องค์กรสื่อ เขาอาจจะอยากให้มันชัดเจนให้เป็นความผิดส่วนบุคคลหรือเปล่า และที่ไม่เปิดเผยชื่อนี่แฟร์กับเขาไหม

พูดตรงไปตรงมาว่ามันไม่มีหลักประกันในประเทศนี้ ในประเทศซึ่งกำลังมีปัญหาไปทุกระบบ ไม่มีหลักประกัน เพราะไม่มีกฎหมายคุ้มครองพยาน ในกรณีที่สื่อมวลชนนำมาเปิดเผย รวมถึงแหล่งข่าวของดิฉันด้วย ไม่มีกฎหมายคุ้มครองคนทำหน้าที่สื่ออย่างดิฉัน จากประสบการณ์ที่บริษัททำธุรกิจใช้เล่ห์กล ทั้งเม็ดเงิน วิธีการสารพัดต่างๆ นานา รวมทั้งเหตุการณ์ในสองสามวันที่ผ่านมาที่มีความพยายามดิสเครดิตว่าดิจิตอลไฟล์เชื่อถือไม่ได้ รวมถึงเบี่ยงประเด็น

ทั้งหมดนี้ ทำให้รู้สึกว่าไม่มีหลักประกันอะไรเลย ที่สำคัญเราไม่มีกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการนำเสนอความจริงของสื่อมวลชน ไม่ต้องอ้างให้สวยหรูว่า "เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน" ถามว่าสื่อมวลชนเคยใช้เสรีภาพนี้ในทางที่เป็นประโยชน์กับสื่อมวลชนหรือประชาชนจริงๆ แค่ไหน และองค์กรวิชาชีพสื่อเองก็ยังไม่เคยพิสูจน์ว่าสามารถที่จะให้หลักประกัน

ที่จะบอกว่าทำให้เขาเสื่อมเสียทั้งสถาบัน ต้องถามว่าเสื่อมเสียจากกรณีนี้เท่านั้นหรือ เคยรู้ตัวไหมว่าเคยเสื่อมเสียมาก่อนกรณีนี้มีเยอะมาก เคยพยายามที่จะกอบกู้ไหม สื่ออย่าง TCIJ ไม่ต้องเกิดขึ้นเลย ถ้าสื่อมวลชนไทยทำงานโดยชอบ กรณีที่เปิดมานี้ไม่ใช่กรณีเดียวหรอก แต่เนื่องจากว่ามันเกี่ยวกับสื่อโดยตรง มันจึงกลายเป็นข่าวใหญ่ข่าวดัง เพราะเป็นเรื่องของคุณใช่ไหม

แล้วเรื่องที่มิชอบกว่านี้ ทุกบริษัทมีเรื่องอะไรทำนองนี้หมด ในขณะเดียวกันมีบริษัทที่ทำถูกต้องชอบธรรมก็มีเยอะ ถามว่าคุณไม่เคยรู้เท่าทันทุนเลยหรือ รู้ ดังนั้น ทั้งหมดประมวลแล้ว ดิฉันไม่สามารถไว้ใจได้ว่ามีหลักประกันอะไรที่จะคุ้มครองดิฉันและแหล่งข่าว และองค์กรข่าวให้ทำหน้าที่นี้ต่อไป

ขอโทษเถอะ แม้แต่เมื่อขึ้นศาลแล้วก็ตาม สิ่งเดียวที่มั่นใจก็คือหลักฐานทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลจริง ไม่ว่าคุณจะพิสูจน์ด้วยอะไรก็แล้วแต่ พิสูจน์ด้วยพยานบุคคล พิสูจน์ด้วยเทคโนโลยี พิสูจน์ด้วยข้อกฎหมาย ได้ทั้งสิ้น นี่คือสิ่งเดียวที่มีอยู่ นอกนั้นไม่สามารถไว้วางใจได้หมด

ประเด็นที่สองที่สำคัญมากเช่นกันคือ ไม่อยากเปิดเผยชื่อตัวบุคคล เพราะเหตุผลว่านี่ไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล บอกแล้วบอกอีกว่าไม่ต้องการเล่นงานนักข่าวเป็นคนๆ ไม่ได้ต้องการเล่นงานบริษัทนี้บริษัทเดียว แต่ต้องการจะชี้ปัญหาเชิงระบบ ชี้ปัญหาเชิงประเด็นว่าสื่อมวลชนมีปัญหาอะไรบ้าง ธุรกิจขนาดใหญ่ที่อ้างว่ามีธรรมาภิบาลมีปัญหาอะไรบ้าง ทั้งหมดแสดงออกมาในเอกสารที่เปิดเผยนี้ นี่คือสิ่งที่ต้องการต่างหาก ไม่ได้ต้องการเอาผิดตัวบุคคล แต่ถ้าคุณต้องการจะเอาผิดจริงๆ เพื่อที่จะเก็บกวาดบ้านคุณอย่างจริงใจ เนื้อข่าวก็ได้ระบุไปแล้วว่าเป็นผู้บริหารระดับกลาง

คำถามจากนักข่าวในเวทีเสวนา เขาพูดทำนองว่านี่ไม่ใช่งบ CSR ธรรมดาหรือ ก็ตอบว่า ก็เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ข้อสังเกตคือ ทำไมไม่จ่ายเงินกับบริษัทล่ะ ทำไมไม่จ่ายผ่านระบบ ทำไมจ่ายผ่านบุคคล บุคคลเหล่านี้เป็นผู้บริหารระดับกลางมีคอลัมน์ของตัวเอง มีสื่อของตัวเอง วิทยุบางคลื่นที่ถูกป้ายชื่ออาจจะเป็นเจ้าของคลื่นก็ได้ แต่ขอบอกว่าใน 19 รายชื่อ มีอยู่หนึ่งชื่อรับเงิน 4 รายการ มีอยู่หนึ่งชื่อรับเงิน 2 รายการ ถ้าจะเก็บกวาดจริงๆ คุณสืบสวนได้อยู่แล้ว

ประการต่อมา องค์กรกำลังสื่อพยายามทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องของคนอื่น คือข้ออ้างที่ว่าจำเป็นต้องได้หลักฐานแล้วไม่ให้ คือเขาบอกว่าจะตั้งคณะกรรมการอิสระ สำหรับดิฉันคิดว่าวางใจไม่ได้อยู่ดี แม้แต่กับรายชื่อเหล่านี้ ไม่มีหลักประกันอะไร และดิฉันไม่ต้องการให้เกิดการเล่นงานนักข่าวเป็นคนๆ หากอยากตรวจสอบสื่อ ป.ป.ช. ทำไมไม่ตรวจสอบสื่อเลย องค์กรวิชาชีพที่ให้คุณให้โทษกับสังคมขนาดนี้ไม่ต้องถูกตรวจสอบหรือ

TCIJ  ในฐานะที่เป็นองค์เล็กๆ คิดว่าจะรับมือแรงเสียดทานไหวไหมและอะไรคือข้อกังวลที่สุดในสถานการณ์ตอนนี้

ถ้าพูดกันอย่างสุภาพชน ยังไม่มีใครกล้าที่จะทำในทางแจ้ง แต่ในทางลับไม่รู้ ในทางแจ้งทุกคนก็จำนนกับขอเท็จจริงและหลักฐาน เพราะฉะนั้นความจริงได้ทำงานของมันแล้ว

เพราะฉะนั้นถ้าจะออกมายืนเผชิญหน้าในที่แจ้งก็ยินดี และยินดีรับผลกับการกระทำของตนเองเพราะได้ไตร่ตรองมาดีแล้ว และสิ่งที่มีอยู่อย่างเดียวคือ การทำหน้าที่และหลักฐานจริงๆ ที่มีอยู่ในมือ ถ้าเราจะยืนอยู่บนที่แจ้งแบบสุภาพชนต่อสุภาพชนไม่เป็นไร หรือแม้แต่คุณจะทำอย่างไรในที่ลับ ทั้งด้วยวิธีการนินทา เบี่ยงเบนประเด็น จับผิด หรือการโจมตีเรื่องส่วนตัวซึ่งไม่จริง ได้ทั้งนั้น

กับเอกชน เกิดว่าคุณหาจุดอ่อนจนได้ หรือหาจุดอ่อนไม่ได้เลย แต่ฟ้องแก้เก้อไว้ก่อน เรียกสักสี่ร้อยห้าร้อยล้าน แบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อกระบวนการเข้าสู่ชั้นศาล ถ้าตัดสินแล้วว่าเราไม่ผิด เขาแก้เก้อฟอกตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกระบวนการตัดสินอาจจะประมาณ 4 ปี 5 ปี ถึงตอนนั้นสังคมไทยก็ลืมไปแล้ว สื่อก็เลิกสนใจไปแล้ว เขาแก้ไขภาพลักษณ์เขาสำเร็จไปแล้ว

TCIJ ตั้งใจจะทำหน้าที่นี้  และ TCIJ เกิดขึ้นจากการวิจัยที่พบว่ามันมีปัญหาอะไรบ้างจากการที่สื่อไม่ทำหน้าที่ ไม่ได้กินดีหมีหัวใจเสือมาจากไหน เรามีเพียงอาชีวะปฏิญาณที่สื่อมักจะพูดกัน กับองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสิ่งนี้ แม้จะมีอุปสรรคเยอะมาก ถูกตัดเงินช่วยเหลืออะไรก็แล้วแต่ ถึงที่สุดก็พร้อมจะปิดตัวลง เพราะไม่มีผลประโยชน์ใดทั้งสิ้น หรือเหตุการณ์ครั้งนี้จะบีบคั้นจนไม่สามารถทำต่อไปได้ก็ให้มันรู้ไป เพื่อที่จะบอกทุนว่า การเขียนเสือให้วัวกลัวเกิดขึ้นมานานแล้ว และสื่อก็กลัว ผู้บริโภคสื่อก็กลัว  วัวก็กลัว มานานพอแล้ว พอสักทีเถิด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net