Skip to main content
sharethis
 
เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้จัดสัมนา "การวิจัย (นอกและ) ในแนวสตรีนิยม” โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนภาคฤดูร้อน (Summer School) หลักสูตรการวิจัยสตรีนิยมเบื้องต้น โดยมีวิทยากรได้แก่ วรรษิดา พิทักษ์พิเศษ อาจารย์ประจำวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี อาจารย์ผู้มีประสบการณ์การทำวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชุมชนบ้านโป่ง โดยพยายามนำเสนอประเด็นที่แตกต่างจากประวัติศาสตร์กระแสหลัก, ภาวิณี ไชยภาคนักวิจัย ผู้เชื่อมโยงกับประสบการณ์การต่อสู้เพื่ออนุรักษ์ท้องถิ่น และวิถีชีวิตของชาว อ.จะนะ จ.สงขลา, จิตต์ประภัสสร์ บัตรประโคน ผู้นำมุมมองสตรีศึกษามาวิเคราะห์ประเด็นการทำงาน และการวิจัยเรื่องคนพิการในสังคมไทย
 
 
วรรษิดา กล่าวว่าวิธีการสอนของเธอคือการให้เด็กแปรรูปรายงานจากแผ่นกระดาษให้กลายเป็นภาพยนตร์สารคดี โดยเป้าหมายของการสอนวิชานี้คือต้องการให้เด็กมีทักษะการคิดวิเคราะห์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่เด็กมัธยมส่วนใหญ่มักเจอบรรยากาศการเรียนการสอนที่อึดอัด เธอเข้าใจความรู้สึกของเด็กๆ เพราะสมัยที่เป็นนักเรียนก็เคยไม่สามารถเรียกร้องอะไรจากครูได้ เรียนตามที่ครูสั่งให้เรียน แต่ความจริงแล้วการเรียนของเด็กควรจะต้องทำให้เขามีความสุขและได้ความรู้ติดตัวไปด้วยมิใช่พอสอบเสร็จก็ลืมหมด จึงคิดวิธีนี้ขึ้นมาเพื่อให้เขาได้ผลงานจากสิ่งที่เขาได้ร่ำเรียนและมีสำนึกรักท้องถิ่น นอกจากนี้ยังเห็นว่าอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันทำให้เด็กเข้าถึงข้อมูลง่ายมาก ง่ายจนเด็กไม่ตรวจสอบข้อมูล การทำรายงานส่วนใหญ่จึงเป็นการลอกข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาโดยไม่ผ่านการกลั่นกรองซึ่งถือว่าอันตรายมาก การทำวีดีโอคลิปจึงมีประโยชน์กว่าเพราะให้เด็กได้ตรวจสอบข้อมูลก่อนจะเผยแพร่ออกไป นอกจากนี้การทำคลิปวีดีโอยังทำให้นักเรียนมีพื้นที่ในการแสดงผลงานเพราะวีดีโอเหล่านี้จะอยู่บนอินเตอร์เน็ต ซึ่งดีกว่าการทำรายงานบนแผ่นกระดาษซึ่งไม่มีช่องทางได้แสดงออกเลย
 
วรรษิดากล่าวต่อว่า การเรียนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามักเน้นให้เด็กท่องจำในสิ่งที่ไกลตัวเช่นประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์ชาติซึ่งก็มีความสำคัญ แต่มันไม่มีเรื่องราวของท้องถิ่น หรือบรรพบุรุษของคนในชุมชนอยู่ในเนื้อหาเลย กระทรวงศึกษาธิการมักจะบอกเสมอว่าต้องการผลิตเด็กที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์ แต่ไม่เคยบอกว่าครูต้องทำอย่างไร จึงต้องคิดค้นวิธีการของตัวเองขึ้นมานั่นคือการลงภาคสนามไปศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน ทำให้เด็กเห็นความสำคัญกับคนทั่วไปภายในชุมชน เพราะทุกวันนี้พอเด็กเรียนจบระดับสูงๆ ก็กลับมามองคนในชุมชนว่าไม่มีการศึกษา ด้อยกว่าตน เราต้องทำให้เด็กเห็นว่าชาวบ้านทั่วไปไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรี แต่ก็สามารถอธิบายสิ่งที่เขามีความรู้ได้ เช่นเด็กอยากจะศึกษาเรื่องการเข้ามาของศาสนาคริสต์ในชุมชนบ้านโป่งก็เข้าไปสอบถามจากหลวงพ่อที่โบสถ์ในชุมชน หลายๆ ครั้งเด็กได้พบหลักฐานที่ไม่เคยเจอ หรือบางครั้งหลักฐานที่พบก็ไม่ตรงกับหลักฐานชั้นต้น ซึ่งมันทำให้เด็กได้เข้าใจคำว่า “วิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์” อย่างถ่องแท้ อีกทั้งเรายังให้เขาได้เรียนในสิ่งที่เขาต้องการ หากเด็กอยากศึกษาเรื่องวัฒนธรรมชาวจีนภายในชุมชน เราก็ต้องเป็นผู้ประสานงานให้กับเขา พอเขาได้เรียนสิ่งที่ชอบเขาก็จะทำออกมาได้ดี เด็กที่เรียนวิชานี้ไม่ใช่เด็กสายวิทย์หรือเด็กผลการเรียนดี แต่เมื่อเขาได้ศึกษาในเรื่องที่เขาสนใจ เขาก็ทำออกมาได้ดีเสมอ จริงอยู่ที่วิชานี้อาจจะไม่ได้ช่วยให้เด็กมีความรู้ไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่เขาจะได้อะไรจากวิชานี้ เขาจะรู้ว่าท้องถิ่นของเขามีความเป็นมาอย่างไร ซึ่งชุมชนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี 
 
ตัวอย่างผลงานของนักเรียนในความดูแลของอาจารย์: http://www.youtube.com/watch?v=U4dfgZspy98 
 
ภาวิณีกล่าวว่าการศึกษาในแนวสตรีนิยมมีส่วนช่วยให้เธอและคนในชุมชนพัฒนาแนวทางการต่อสู้ได้เป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นเป้าหมายที่โรงงานไฟฟ้าพยายามจะเข้ามาตั้งตลอดเวลาเนื่องจากเป็นพื้นที่แอ่งกระทะ เหมาะกับการทำนิคมอุตสาหกรรม แต่ชาวบ้านก็พยายามต่อสู้ตลอดเวลา แม้อาจจะไม่ชนะ กล่าวคือ ไม่สามารถหยุดโครงการได้ แต่ก็สามารถชะลอและยืนหยัดอยู่จนถึงทุกวันนี้ ในช่วงแรกเธอก็ทำงานเป็นนักต่อสู้ให้กับคนในพื้นที่ และช่วยถอดบทเรียนโดยประยุกต์ใช้ความรู้ด้านสตรีนิยมที่ได้ศึกษามา จนทุกวันนี้ทำงานเป็นนักข่าวพลเมืองเพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนในพื้นที่ สิ่งที่สตรีศึกษาเปิดความคิดให้คือเรื่องการเขียนในมุมมองของคนในพื้นที่ งานชิ้นแรกที่ทำคือ CHIA (community health impact access) คือให้ชาวบ้านทำบันทึกว่าโรงงานที่ตั้งขึ้นได้สร้างผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างไรและถ่ายทอดออกไปสู่สาธารณะ พอทำข่าวในรูปแบบนี้มันทำให้ข่าวของเรามีอารมณ์ ความรู้สึกแฝงอยู่ด้วย หากให้คนนอกเข้ามาทำข่าว ข่าวก็จะทำหน้าที่แค่บรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่ไม่ได้สะท้อนเสียงของชาวบ้านอย่างแท้จริง อีกทั้งยังทำให้ชาวบ้านและตัวเรากลับมาทบทวนแนวการต่อสู้ที่ผ่านมาว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ทำให้รู้ว่าสุดท้ายแล้วปัญหาที่เผชิญมันอาจไม่ได้มาจากภายนอก แต่มันอาจจะอยู่ภายในชุมชนก็ได้ เช่นปัญหาการเมืองภายในท้องถิ่น หรือความขัดแย้งระหว่างกลุ่มภาคประชาสังคมด้วยกันเอง ทุกวันนี้ชาวบ้านก็จะเปิดรับเธอมากขึ้นเมื่อเทียบกับนักข่าวจากภายนอก หลายคนอาจจะมองว่าหากให้คนในพื้นที่รายงานข่าวก็จะได้ข่าวที่ไม่เป็นกลางลำเอียงเข้าข้างชาวบ้าน แต่เราก็ต้องกลับไปตั้งคำถามว่าที่ผ่านมามันมีความเป็นกลางจริงๆ หรือ ในเมื่อชาวบ้านไม่มีช่องทางได้ถ่ายทอดปัญหาของเขาในมุมมองของคนในเลย
 
  
จิตต์ประภัสสร์กล่าวว่าการศึกษาเรื่องคนพิการยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักในแวดวงวิชาการไทย เมื่อประกอบกับประเด็นเรื่องเพศแล้วแทบจะไม่ได้รับการพูดถึงเลย สังคมไทยยังคงมองคนพิการเป็นคนชายขอบ เห็นภาพคนพิการในลักษณะเป็นขอทาน ขายล๊อตตอลี่ เป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคมที่ต้องได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดทั้งสิ้น จริงๆ แล้วคนพิการก็ใช้ชีวิตอยู่รอบตัวเรา เราแค่ไม่รู้เท่านั้นว่าเขาพิการหรือแม้กระทั่งการรับรู้ของคนทั่วไปต่อคนพิการก็ยังผิดเพี้ยนอยู่มาก เช่นเรามักจะมองคนหูหนวกว่าเป็นคนใบ้แต่จริงๆ แล้วคนหูหนวกเขาสามารถสื่อสารกันได้ผ่านภาษามือ คนปกติต่างหากที่เป็นคนใบ้ในโลกของคนหูหนวก 
 
หลังจากเริ่มมาทำงานที่ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพคนพิการก็สนใจประเด็นคนพิการมากขึ้นประกอบกับเมื่อได้ศึกษาในหลักสูตรสตรีศึกษาจึงเริ่มอยากทำวิจัยในหัวข้อคนพิการกับเพศสภาวะ โดยเธอทำหัวข้อเกี่ยวกับคู่รักคนหูหนวก หลังจากทำวิจัยไปได้ซักพักก็เริ่มเห็นถึงปัญหาการตีตราภาพลักษณ์ของคนพิการ อย่างเช่นตอนเธอติดต่อผ่านล่ามภาษามือไปว่าอยากจะสัมภาษณ์คู่สมรสที่เป็นคนหูหนวก แต่ล่ามกลับไปบอกกับผู้ให้สัมภาษณ์ว่าเธออยากจะสอบถามเรื่องการใช้ความรุนแรง สวัสดิการภาครัฐ และการถูกเอารัดเอาเปรียบ เหมือนกับว่าเมื่อพูดถึงคนพิการเราจำเป็นต้องพูดถึงแต่ประเด็นเหล่านี้เท่านั้น ขั้นตอนการสัมภาษณ์ก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากล่ามเขาไม่เคยใช้ภาษามือในเรื่องที่เกี่ยวกับความรักความสัมพันธ์มาก่อน ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการศึกษาประเด็นเรื่องเพศสภาวะกับคนพิการมีน้อยมาก 
 
จิตต์ประภัสสร์กล่าวต่อว่า มุมมองในการศึกษาเรื่องคนพิการมีอยู่ 3 มุมมอง 1 จากมุมมองทางการแพทย์ (Medical model) คือการมองว่าคนพิการคือผู้ที่มีร่างกายผิดปกติจำเป็นต้องหาวิธีแก้ไขและป้องกัน เช่นการตรวจสุขภาพบุตรตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ต่อมาเริ่มมีแนวคิดที่ว่าความพิการแต่กำเนิดนั้นยังไม่เพียงพอ แต่ต้องให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมที่จะนำไปสู่ความพิการด้วย จึงเกิดแนวคิดเรื่องของการจัดภาพแวดล้อมในที่ทำงานเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจนำไปสู่ความพิการ นำไปสู่มุมมองที่สองคือมุมมองทางสังคม (Social Model) คือมองว่าคนมิได้พิการแต่สังคมต่างหากที่พิการ ยกตัวอย่างเช่นการที่คนนั่งรถเข็นไม่สามารถขึ้นบันไดได้ไม่ใช่ความผิดของคนที่นั่งรถเข็น แต่เป็นความพิการของสังคมที่ออกแบบบันไดมาไม่เหมาะสมกับคนทุกคน มุมมองดังกล่าวจึงเป็นการยกระดับให้คนพิการมีศักดิ์ศรีเท่ากับคนทั่วไป อีกทั้งยังเป็นการเรียกร้องให้รัฐเข้ามาคุ้มครองสิทธิ์คนพิการให้เทียบเท่ากับคนปกติด้วยเช่นการทำอักษรเบลล์ในลิฟต์ การสร้างทางลาดเพื่อให้ผู้พิการสามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะ เป็นต้น ส่วนมุมสุดท้ายที่เชื่อมโยงกับเรื่องสตรีศึกษาก็คือมุมมองด้านขีดจำกัด (Capability Model) คือมองว่าคนพิการแต่ละคนก็มีขีดจำกัดที่ไม่เท่ากัน ผู้หญิงพิการ หรือคนพิการจากต่างชนชั้นก็มีประเด็นของตัวเองที่ต้องให้ความสนใจ เราไม่สามารถมองคนพิการในฐานะองค์รวมได้ แต่ต้องลงไปศึกษาในรายละเอียดด้วยซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดสตรีนิยมที่มองว่าผู้หญิงจากต่างวัฒนธรรม ชนชั้นก็มีประเด็นที่จะต้องต่อสู้แตกต่างกันออกไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net