Skip to main content
sharethis

ถ่ายสดที่ปรึกษา คสช. อธิบาย รธน.ชั่วคราว "พรเพชร วิชิตชลชัย" ย้ำ ม.44 ไม่แรง ใช้สร้างบรรยากาศที่ดีสู่การปฏิรูป ถ้ารบ.ทำตามปกติไม่ได้ คสช. ก็ทำให้ "วิษณุ เครืองาม" ระบุเนื้อหา รธน.เข้มงวดกวดขันแต่จำเป็นเพื่อไม่ให้คนบ่นว่า "เสียของ" แจงโครงสร้างแม่น้ำ 5 สาย "สนช.-ครม.-สปช.-กมธ.ยกร่าง-คสช." ย้ำอำนาจ คสช. ไม่ใช่พี่เลี้ยง ครม. แต่วางไว้ป้องกันเหตุแทรกซ้อน

ที่มาของภาพ: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล

23 ก.ค. 2557 - วันนี้ (23 ก.ค.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช., นายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ร่วมแถลงความเป็นมาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว ทั้งนี้การแถลงดังกล่าวมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยด้วย (คลิกเพื่อชมเทปบันทึกภาพ)

 

พรเพชร วิชิตชลชัย ระบุ รธน.ชั่วคราวมีเนื้อหายาว เพราะเขียนเรื่องพระราชอำนาจ

ทั้งนี้นายพรเพชร ซึ่งเคยเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมัยรัฐธรรมนูญ 2550 และเสนอให้เพิ่มโทษในมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาด้วย กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะมาพูดในสิ่งที่ประชาชนคนใจให้ความสนใจ "หลายท่านอาจรู้สึกเหมือนผมที่เห็นภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557"

รัฐธรรมนูญนี้ถึงแม้จะเป็นฉบับชั่วคราว แต่ความรู้สึกแรกก็คือ บ้านเมืองของเรากำลังมีกฎกติกาที่แน่นอน มีหลักกฎหมาย คือกฎหมายสูงสุด เป็นนิติรัฐ มีรัฐที่ยึดถือกฎหมาย มีกติกาการอยู่ร่วมกันของประชาชนกับองค์กรที่ใช้อำนาจประชาธิปไตย อีกความรู้สึกประการต่อมาคือ ความชัดเจนของแนวทางการพัฒนาการเมืองของประเทศไทย ว่าจะดำเนินการในรูปแบบใด เพื่อนำไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่เรียกกันว่าโรดแม็ป ถ้าจะพูดอีกในรูปแบบหนึ่งคือ "การปฏิบัติตามพันธะสัญญาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ" ที่จะดำเนินการอย่างไร ด้วยวิธีการและรูปแบบอย่างไร และกำหนดระยะเวลาอย่างไร ดังจะเห็นได้ชัดเจนถึงกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้อย่างละเอียด แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะไปสู่จุดหมายของประชาธิปไตย ภายในกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน

"แต่ความรู้สึกเหนือสิ่งอื่นใดที่ผมสัมผัสได้เมื่อเห็นภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่หัวหน้า คสช. ก็คือ ความรู้สึกที่ว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ใต้การปกครองของรัฐธรรมนูญฉบับใด จะเป็นฉบับถาวรหรือฉบับชั่วคราว แต่พระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองสูงสุด แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ซึ่งตามหลักรัฐศาสตร์เรียกว่า "Constitutional Monarchy" แต่พระเจ้าอยู่หัวของเรานั้นเป็นยิ่งกว่าผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ไม่สามารถผู้มีเกียรติจะรู้สึกเหมือนผมหรือไม่ว่า เมื่อเห็นภาพที่ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้น ผมในฐานะคนไทย รู้สึกอบอุ่น และมั่นคงว่า เราอยู่ภายใต้การปกครองที่มี "พ่อของแผ่นดิน" ดูแลอยู่ ถ้าท่านอ่านตารางเปรียบเทียบของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเห็นได้ว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวครั้งนี้ มีบทบัญญัติที่ชัดเจนถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ในเรื่องต่างๆ ที่พวกเราคนไทย อยากให้ทรงมีพระราชอำนาจนั้น เช่น พระราชอำนาจในการอภัยโทษ พระราชอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลต่างๆ เป็นต้น นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ค่อนข้างจะยาว มากกว่าฉบับชั่วคราวอื่นๆ เพราะได้เขียนไว้มากในเรื่องพระราชอำนาจ ยืนยันถึงพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"

หมวดพระมหากษัตริย์คงเดิม แต่เขียนให้ชัดขึ้นเรื่องพระราชอำนาจ

ในส่วนของโครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญนั้น นายพรเพชร อธิบายว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ จัดโครงสร้างขององค์กรต่าง ๆ ไว้ชัดเจน องค์กรแรกคือพระมหากษัตริย์ ดังนี้จะเห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์ แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะให้คงบทบัญญัติของหมวด 2 ของพระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ไว้ให้ยังบังคับใช้อยู่ แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้เขียนให้ชัดเจนถึงพระราชอำนาจในเรื่องต่างๆ เช่น พระราชอำนาจในการใช้อำนาจอธิปไตยแห่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี พระราชอำนาจในการแต่งตั้งต่างๆ พระราชอำนาจที่สำคัญคือพระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมายและร่างรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ชัดเจน พระราชอำนาจในการทำสัญญากับนานาประเทศ นอกจากนั้น ยังทรงมีพระราชอำนาจอื่นตามที่กำหนดไว้ในประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนองคมนตรีนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของหมวดพระมหากษัตริย์ซึ่งคงไว้เช่นเดิม

สนช. ครม. มีการกำหนดคุณสมบัติต้องห้าม

องค์กรต่อไปคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่นิติบัญญัติ คือหมายความว่าการจะออกกฎหมายต่าง ๆ เป็นหน้าที่ขององค์กรนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีจำนวนไม่เกิน 220 คน รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่ เป็นอำนาจของหัวหน้า คสช. ที่จะคัดเลือกจากบุคคลภาคต่าง ๆ แล้วนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้ง ข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็คือ ครั้งนี้รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดคุณสมบัติไว้หลายประการ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม แตกต่างจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับก่อน ๆ สำหรับคณะรัฐมนตรีก็คงรูปแบบเดิมที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับคือ คณะรัฐมนตรีประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่เกิน 35 คน คุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของคณะรัฐมนตรีก็เช่นเดียวกัน ชัดเจนว่าจะต้องประกอบด้วยผู้ที่ไม่มีลักษณะต้องห้าม ต้องมีคุณสมบัติที่ถูกต้อง และก่อนจะทำงานต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อองค์พระมหากษัตริย์

ยืนยันมาตรา 44 ไม่แรง มีใช้สร้างความสงบสุข สร้างบรรยากาศที่ดีในการปฏิรูป

องค์กรต่อไปที่ท่านคงสนใจและเดี๋ยวอาจจะซักถามอาจารย์วิษณุ ต่อไปก็คือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้นรัฐธรรมนูญชั่วคราวบัญญัติให้ยังคงไว้อยู่ต่อ เพื่อดูแลตามวัตถุประสงค์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติคือในเรื่องของความมั่นคง ดูแลให้ประเทศชาตินั้นเดินไปได้ ดูแลในเรื่องการปฏิรูป ปรองดอง เพื่อที่กระบวนการต่างๆ ไม่ว่าในด้านนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการจะดำเนินการไปได้ คณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้นจำนวนสมาชิกอาจจะเพิ่มขึ้นได้แต่ไม่เกิน 15 คน ที่สำคัญคือมีการทำงานร่วมกันกับคณะรัฐมนตรีในลักษณะของการปรึกษา การที่จะแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบในเรื่องความเห็นที่จะต้องดำเนินการ แต่ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ได้เข้าไปทำงานในส่วนที่เป็นของคณะรัฐมนตรี อยู่ข้างนอก

ในส่วนของอำนาจตามมาตรา 44 นั้น นายพรเพชรอธิบายว่า อำนาจที่อาจจะบอกว่าเป็นอำนาจเด็ดขาด เป็นอำนาจตามแบบมาตรา 17 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ขอเรียนว่ามาตรา 44 ไม่ได้แรงขนาดนั้น มาตรา 44 มีวัตถุประสงค์สร้างความสงบสุข ปึกแผ่น มีบรรยากาศที่ดีไปสู่การปฏิรูป ถ้ามีสิ่งใดที่รัฐบาลตามปกติทำไม่ได้ คสช. ก็มีอำนาจทำได้ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว

ส่วนสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว นายพรเทพกล่าวว่า สิ่งนี้เป็นหลักการสำคัญของหัวหน้า คสช. ที่ได้มอบหมายภารกิจมาว่าจะทำอย่างไรที่จะสนองตอบต่อความต้องการการปฏิรูปในมิติด้านต่างๆ เป็นโจทย์ที่ยากมาก เพราะการที่จะระดมความคิดส่วนต่างๆ แล้วให้เกิดผล คงต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน "ด้วยเวลาที่จำกัด เราคงไม่สามารถที่จะใช้วิธีการที่เรียกว่าให้ภาคส่วนต่างๆ คัดเลือกกันมาหรือทำนองนั้น เลยใช้วิธีสรรหา"

วิษณุเปรียบรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เป็นต้นธารแม่น้ำ 5 สาย

ด้านนายวิษณุ กล่าวว่า ถือว่าเข้าสู่ช่วงเวลาที่ 2 ตามแผนและขั้นตอน หรือที่เรียกว่า "โรดแม็ป" ซึ่งหัวหน้า คสช. ประกาศไว้หลายวันก่อน ซึ่งโรดแม็ปเริ่มต้นด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เมื่อวันที่ 22 ก.ค. ซึ่งตรงกับวันครบกำหนด 2 เดือนพอดีในการ "เข้าครองอำนาจ" ในวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งรวมทั้งฉบับถาวรและฉบับชั่วคราว โดยไม่นับฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

คำว่า "ฉบับชั่วคราว" มีความหมายว่าให้ใช้บังคับไปพลางก่อน คาดว่าจะมีระยะเวลา 1 ปี บวกลบ ระหว่างรอการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และเมื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวร หรือฉบับที่ 20 เสร็จสิ้น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ ดำเนินการเสร็จสิ้นก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3 ของโรดแม็ป คือ การจัดการเลือกตั้งเพื่อคืนการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับสู่ประเทศ โดยมีความเชื่อว่าในช่วงเวลาประมาณ 1 ปี นับจากนี้ไปจะสามารถจัดการปัญหาที่ค้างคาและเป็นชนวนให้เกิดความคับแค้น ความไม่สงบเรียบร้อยในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นผลสำเร็จ หรืออย่างน้อยในระดับหนึ่ง

ความจำเป็นในช่วงเวลาประมาณ 1 ปี จากนี้ไปก็คือ ทำอย่างไรหนอ ที่จะไม่ให้เกิดเสียงบ่น หรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าสิ่งที่อุตส่าห์ลงแรงทำมาในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานั้น เป็นสิ่งที่เสียของ หรือสูญเปล่า เพราะเหตุดังนี้เอง ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 ซึ่งเป็นฉบับชั่วคราว จึงจำเป็นต้องวางหลักการที่อาจดูเข้มงวดกวดขัน หรืออาจจะดูพะรุงพะรัง อาจจะดูว่ายุ่งยากไปบ้าง แต่ก็มีความจำเป็น เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเหมือนกับต้นธารหรือต้นสายแม่น้ำ 5 สาย ที่จะหลั่งไหล พรั่งพรู นับแต่นี้ไปที่จะจะต้องเดินหน้า” นายวิษณุ กล่าว

แม่น้ำสายแรก "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" 220 คน ไม่มีการสมัคร หัวหน้า คสช. พิจารณาเอง

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า แม่น้ำหรือแควสายที่หนึ่งที่จะแยกไป คือ การเกิด "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" หรือ สนช. ซึ่งจะทำหน้าที่นิติบัญญัติ มีสมาชิกไม่เกิน 220 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นตามคำแนะนำของหัวหน้า คสช. โดยหัวหน้า คสช. จะเป็นผู้พิจารณาโดยเลือกสรรเพื่อนำกราบบังคมทูล ซึ่งสมาชิก สนช.ทั้ง 220 คน ทั้งนี้จะไม่มีการสมัคร แต่หัวหน้า คสช. จะเป็นผู้พิจารณาโดยอาศัยฐานข้อมูลต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีการจัดทำฐานข้อมูลเรียบร้อยแล้ว เช่น ให้ครอบคลุมสาขาอาชีพ ครอบคลุมจังวัดพื้นที่ ภูมิภาค ครอบคลุมวัย โดยคุณสมบัติสำคัญของผู้ที่จะเข้ามาเป็น สนช. ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 40 ปี ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองในพรรคการเมือง หมายถึงดำรงตำแหน่งของพรรคการเมือง หมายความว่า ไม่ได้ขัดข้องที่จะตั้งนักการเมืองในอดีตซึ่งมิได้มีตำแหน่งในพรรคการเมือง อาทิ หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ผู้บริหารพรรค เป็นต้น แต่ไม่รวมถึงสมาชิกของพรรคการเมือง

นายวิษณุ กล่าวว่า สนช.มีอำนาจหน้าที่สำคัญ 4 ประการ ประกอบด้วย การออกกฎหมาย เหมือนกับ ส.ส.ส.ว.ในอดีต รวมถึงการอนุมัติพระราชกำหนดที่รัฐบาลจำเป็นต้องออกเร่งด่วน หรืออำนาจให้ความเห็นชอบสนธิสัญญาและหนังสือสำคัญที่รัฐบาลทำกับต่างประเทศ อำนาจหน้าที่ประการที่สองของ สนช.คือ การให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี ส่วนจะเลือกจากสมาชิกหรือบุคคลภายนอก สุดแต่สภาฯจะพิจารณาเองไม่มีข้อกีดกันหรือจำกัด

อำนาจที่สาม คือ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินหรือการทำงานของรัฐบาล โดยจำกัดเพียงการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี ไม่รวมถึงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเพื่อซักฟอก ถ้ามีปัญหาสงสัยในการทำงานอาจเชิญรัฐบาลมาสอบถามหรือที่เรียกว่าอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ

อำนาจที่สี่คือ การให้ความเห็นชอบบางเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดว่าต้องมาที่สภา เช่นการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่ง เช่น อัยการสูงสุด เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆตามรัฐธรรมนูญ

แม่น้ำสายสอง "คณะรัฐมนตรี" เปิดทาง ขรก. รัฐวิสาหกิจ เพราะต้องการ "บุคคลมีความรู้ความสามารถ"

นายวิษณุ กล่าวว่า แม่น้ำสายที่ 2 คือ คณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหนึ่งคน และรัฐมนตรีอื่นอีกจำนวนไม่เกิน 35 คน รวมเป็น 36 คน ซึ่งเป็นตัวเลขเดิม ครม.จะแต่งตั้งจากบุคคลใดก็ได้ เป็นข้าราชการประจำ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจก็ได้ เพราะได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นห้วงเวลาที่ไม่ปกติ ซึ่งใช้เวลาสั้นเพียง 1 ปี จึงสมควรเปิดทางให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ควบคู่กันไปเป็นรายกรณี ถือเป็นเรื่องปกติภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

อำนาจหน้าที่ของ ครม.แต่เดิมคือการบริหารราชการแผ่นดิน แต่เนื่องจากปัจจุบันเป็นช่วงเวลาไม่ปกติ และต้องการป้องกันไม่ให้ถูกกล่าวหาว่า “เสียของ” หรือสูญเปล่า จึงกำหนดเป็นครั้งแรก ให้ ครม.มีอำนาจเพิ่มอีก 2 อย่าง นอกจากการบริหารราชการแผ่นดิน คือ อำนาจหน้าที่ในการดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ ทั้งที่ดำริเอง หรือตามข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือวงการอื่นๆ และ ให้ ครม.มีอำนาจและหน้าที่ในการสร้างความสามัคคีปรองดองแลการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคม โดยถือเป็นพันธกิจที่ ครม.ต้องปฏิบัติ

แม่น้ำสายสาม "สภาปฏิรูปแห่งชาติ" มีวาระ 11 เรื่อง สรรหามาจากจังหวัด และความเชี่ยวชาญ

นายวิษณุ กล่าวว่า แม่น้ำสายที่ 3 คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน มาจากการสรรหา ซึ่งแบ่งออกเป็นมาจากจังหวัดต่างๆ และ กทม. รวม 77 คน โดยสรรหามาจากแต่ละจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดจะมีคณะกรรมการสรรหาจังหวัดละ 1 คณะ เพื่อหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและเป็นที่เคารพนับถือ มีความสามารถ มีเวลา เข้ามาเป็นผู้แทนจังหวัดละ 1 คน โดยเลือกเข้ามาจังหวัดละ 5 คน และให้ คสช.เลือก 1 คน ในส่วนอีก 173 คนที่เหลือ จะเป็นการกระจายมาจากทั่วประเทศไม่ผูกพันกับจังหวัดหรือพื้นที่ใด แต่ผูกพันจากด้านต่างๆ 11 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเมือง ด้านการปกครองท้องถิ่น ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน ด้านสื่อสารมวลชน ด้านสังคม และด้านอื่นๆ

จะมีคณะกรรมการสรรหาประจำด้านละ 1 ชุด ผู้ที่เป็นกรรมการสรรหาจะไม่มีโอกาสรับเลือกเป็น สปช. โดยการสรรหาสมาชิก 173 คน จากทั่วประเทศจะให้ใช้วิธีการเสนอชื่อเข้ามา ห้ามสมัครเอง หรือแสดงความจำนงว่าอยากเป็น จะต้องมีองค์กรหรือนิติบุคคล สมาคม มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษา หรือแม้แต่วัด รับรองและเสนอชื่อเข้ามาองค์กรละ 2 คน ว่าจะเข้ามาปฏิรูปด้านใด ดังนั้นใครอยากสมัครเข้ามาเป็น สปช.ต้องหาองค์กรรองรับเพื่อเสนอชื่อเข้ามาว่าจะปฏิรูปด้านใด แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็สามารถขอเปลี่ยนไปปฏิรูปด้านอื่นได้  โดยคณะกรรมการสรรหาจะคัดเลือกผู้ที่องค์กรต่างๆ เสนอชื่อเข้ามาด้านละไม่เกิน 50 คน รวมแล้ว 550 คน จาก 11 ด้าน ส่งไปยัง คสช.เพื่อคัดเลือกให้เหลือเพียง 173 คน

นายวิษณุ กล่าวว่า อำนาจหน้าที่ของ สปช. คือ การเสนอแนะแนวทางปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งหากสามารถปฏิบัติได้เลย ก็ส่งไปยังรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือ คสช.ดำเนินการทันที แต่ถ้าเรื่องใดต้องมีกฎหมายรองรับจะต้องขอให้สปร. ยกร่างกฎหมาย ก่อนนำเสนอให้ สนช. ซึ่งหมายความว่า สปช.สามารถเสนอกฎหมายได้โดยเสนอผ่าน สนช. อำนาจหน้าที่ประการที่สอง ของ สปช. คือการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

แม่น้ำสายสี่ "กมธ.ยกร่าง" ให้เวลา 120 วันร่างรัฐธรรมนูญ

นายวิษณุ กล่าวว่า แม่น้ำสายที่สี่ คือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรมมนูญ หรือ "กมธ.ยกร่าง" จำนวน 36 คน โดยมาจาก สปช.เสนอ 20 คน  มาจาก สนช.เสนอ 5 คน มาจากที่ ครม.เสนอ 5 คน และจากที่ คสช.เสนอ 5 คน โดย คสช.จะเป็นผู้เสนอคนขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง อีก 1 คน ซึ่งกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนี้จะมีอำนาจมาก คนที่จะเป็น สปช.ไม่มีข้อห้ามว่าคนที่เป็นสมาชิกพรรค เป็นกรรมการบริหารพรรค หรือมีตำแหน่งในพรรค สามารถเข้ามาเป็นได้ โดยมีอายุตั้งแต่ 35 ปี อย่างน้อย จะเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ผอ.เทศบาลได้ทั้งสิ้น เพราะงานปฏิรูปเป็นงานของประเทศ จึงพยายามให้มีข้อจำกัดน้อยที่สุด จบ ป.4 ก็เข้ามาเป็นได้

แต่ผู้ที่จะเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน โดยต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษ ทำงานแข่งกับเวลา เพราะกำหนดให้เวลาทำงานเพียง 120 วัน หรือ 4 เดือน ต้องร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้คนทั้งประเทศเห็นจะต้องเสร็จ คุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็น "กมธ.ยกร่าง" จะต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง 3 ปี ก่อนย้อนหลัง พยายามเอาคนที่ปลอดจากการเมืองมาร่างรัฐธรรมนูญ และห้ามคนที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ เช่น กกต. ปปช. ศาลรัฐธรรมนูญ เข้ามาเป็น กมธ.ยกร่าง รวมถึงห้าม กมธ.ยกร่าง ทั้ง 36 คน ไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ในอนาคตอีกไม่ได้ภายในระยะเวลา 2 ปี ถือเป็นการกันทั้งอดีต และอนาคต ซึ่งหมายความว่าคนที่จะเข้ามาเป็นนั้นนอกจากมีความรู้ ความสามารถ มีเวลา มีความคิดแล้วต้องเสียสละเป็นพิเศษ

นายวิษณุ กล่าวว่า ทั้งนี้เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ เสร็จก็ให้นำเสนอต่อ สปช.ให้ความเห็นชอบ ซึ่งอาจมีการขอแก้ไขหรือแปรญัตติได้ขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของ กมธ.ยกร่างฯ และเพื่อป้องกันไม่ให้กมธ.ยกร่างฯ ไปร่างตามใจชอบ รัฐธรรมนูญชั่วคราวได้กำหนดกรอบไว้ว่า กมธ.ยกร่างฯ จะต้องร่างภายใต้กรอบสำคัญ 4 ด้าน คือ กรอบที่ สปช.ให้ไว้ตั้งแต่ต้น กรอบที่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 ฝากไว้ในมาตรา 35  เช่น การกำหนดเป็นรัฐเดี่ยว การปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการป้องกันขจัดการทุจริต แลการป้องกันไม่ให้คนที่เคยได้ชื่อว่าทุจริตหรือโกงการเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาดในอนาคตรวมทั้งกำหนดหลักการในการวางมาตรการป้องกันไม่ให้มีการนำงบประมาณแผ่นดินมาใช้ในการมุ่งหาเสียงหรือประโยชน์ใส่ตนโดยทุจริตมิชอบรวมทั้งการทบทวนความจำเป็นว่าควรจะใส่เรื่ององค์กรอิสระอะไรเอาไว้ในรัฐธรรมนูญบ้างเพราะอาจมีหลายองค์กรที่ไม่มีความจำเป็น อาจออกเป็นกฎหมายธรรมดาก็พอ แต่ไม่ได้หมายความว่าบังคับให้ยกเลิกการตั้งองค์กรอิสระเพียงแต่ให้ไปทบทวนความจำเป็น หรือเห็นควรว่าควรมีสิ่งใดใหม่ก็ต้องพิจารณา

แม่น้ำสายที่ห้า คือ คสช. ยืนยันไม่ใช่พี่เลี้ยง ครม. แต่วางไว้ป้องกันปัญหาแทรกซ้อน

นายวิษณุ กล่าวว่า แม่น้ำหรือลำธารสายสุดท้ายหรือสายที่ 5 คือตัว คสช. ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้คงอยู่ต่อไป เพียงแต่อาจเพิ่มจำนวนจากปัจจุบัน 6-7 คน ให้มีเพิ่มไม่เกิน 15 คน อำนาจหน้าที่ของ คสช.มีเพียงแค่ หนึ่ง เสนอแนะให้ ครม. พิจารณาปฏิบัติในเรื่องใด ถ้า ครม.พิจารณาแล้วอาจจะไม่ปฏิบัติก็ได้

นอกจากนี้อำนาจหน้าที่ประการที่สองของ คสช. คือ ยังมีอำนาจหน้าที่เชิญ ครม. ประชุมร่วมกันหารือปัยหาสำคัญของประเทศ ถ้า คสช. ไม่เชิญไป ครม.สามารถเชิญ คสช. ได้

“ไม่มีที่ใดในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 นี้ กำหนดให้ คสช.มีอำนาจปลดรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีดังที่มีผู้ร่ำลือ ไม่มีที่ใดที่กำหนดให้ คสช.เป็นพี่เลี้ยงหรือเปลือกหอยให้ ครม. และไม่ได้กำหนดให้ คสช. มีอำนาจบังคับบัญชา ครม. หรือข้าราชการประจำ เพียงแต่ให้ คสช.มีอยู่เพื่อดูแลแบ่งเบาภาระ ครม.ในด้านความมั่นคง การรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อที่ ครม. จะได้ทำงานบริหารราชการแผ่นดิน ไม่วอกแวกกับปัญหาแทรกซ้อนในช่วงเวลาประมาณ 1 ปี ซึ่ง คสช. ก็จะรับภาระไปดำเนินการ รวมทั้งการสร้างความสมานฉันท์ ปรองดอง สามัคคี"

วิษณุยืนยันมาตรา 44 ใช้อำนาจเพื่อการสร้างสรรค์ไม่ใช่ปราบปราม และหลีกเลี่ยงไม่ใช้วิธีนอก รธน.

นายวิษณุกล่าวถึงมาตรา 44 ว่า อย่างไรก็ตามเพื่อให้ คสช. มีอำนาจในการดำเนินการเรื่องต่างๆ ในกรณีเกิดความจำเป็นสุดขีด โดยไม่ต้องหาวิธีการนอกรัฐธรรมนูญอื่นใดอีก จึงได้กำหนดในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญให้ คสช. อาจใช้อำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 ว่าถ้ามีกรณีจำเป็นต้องใช้อำนาจเพื่อการสร้างสรรค์ ไม่ใช้เพื่อการปราบปราม คสช. ก็อาจใช้อำนาจพิเศษได้แม้แต่จะใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ แต่ไม่ใช่ไปมีอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ  ซึ่ง คสช.คงไม่ได้ใช่บ่อยครั้งหรือพร่ำเพรื่อ ซึ่งทุกยุคที่มีการยึดอำนาจในอดีต เกือบทุกยุคทุกสมัย แต่ก็ไม่ได้ปรากฏว่าใช้ทุกยุคทุกสมัย แต่ก็จะใช้ในยามที่ไม่อาจใช้กระบวนการปกติได้เท่านั้นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญอื่นใดอีก ที่สำคัญอาจจะใช้เพื่อการสร้างสรรค์และทำในสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ที่คณะรัฐมนตรีเองอาจจะใช้ลำบาก เพราะติดขัดในข้อกฎหมาย รวมทั้งปัญหาหลายอย่าง ทั้งหมดนี้คือลำธาร 5 สายแยกไปจากรัฐธรรมนูญ" นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวต่อไปว่า แน่นอนครับรัฐธรรมนูญนี้แม้จะมี 48 มาตรา ซึ่งยาวกว่าในอดีต แต่ก็ยังถือว่าสั้นเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

"หลายคนอาจจะสงสัยว่ามี 48 มาตราแค่นี้จะพอกินพอใช้ พอแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันหรือ เรื่องนี้ก็เป็นธรรมดาที่เขาจะต้องเขียนเอาไว้ สิ่งที่เราเคยรู้จักกันดีในอดีตเรื่องมาตรา 7 มันก็ต้องมาปรากฏอีกตรงนี้ว่า ถ้าไม่มีที่ใดบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ก็ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลายคนฟังแล้วก็พึมพำว่า "อ้อ ม. 7 มาอีกแล้ว"  ก็ที่มันยุ่งกันในอดีตไม่ใช่เพราะไม่รู้ว่า ม. นี้แปลว่าอะไรหรอกหรือ เราก็รู้ว่ามันยุ่ง แต่จะไม่เขียนไว้ก็ไม่ได้ เพราะถ้าไม่เขียนไว้ก็จะเกิดปัญหาช่องว่าง ขาดมาตราหลายมาตรา แต่ไม่ต้องกลัวว่าถ้าเขียนแล้วไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไร ถึงเวลาก็เถียงกันเหมือนกันว่าเป็นหรือไม่เป็นประเพณี คราวนี้ได้แก้ปัญหาว่าถ้าสงสัยว่าเรื่องใดเป็นประเพณีการปกครองหรือไม่ อย่าเพิ่งไปทะเลาะกัน ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้คำปรึกษาล่วงหน้าได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าเป็นประเพณี ทำได้ก็จะได้ทำ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกไม่เป็น ทำไม่ได้ก็จะได้ไม่ต้องทำ ไม่ต้องปล่อยให้ทำไปถูกๆ ผิดๆ แล้วมาวินิจฉัยทีหลังว่ามันไม่เป็น ที่ทำไปแล้วผิด แล้วก็ต้องหาตัวผู้รับผิดชอบ"

"ส่วนที่อาจารย์พรเพชรได้ชี้แจงแล้วว่าหลายอย่างไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญนี้ หลายคนสงสัยว่าศาลยังอยู่ไหม ไม่ว่าศาลยุติธรรม ศาลทหาร ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ตอบว่าอยู่ ยังอยู่ไปตามปกติ ถามว่าองค์กรอื่นเช่น กกต. ป.ป.ช. ยังอยู่ไหม ตอบว่าอยู่ไปตามปกติ เว้นแต่องค์กรที่ คสช. ได้ออกประกาศล่วงหน้าต่อก่อนหน้านี้ยกเลิกไปแล้ว นั่นก็แล้วไป อะไรที่เขาไม่ได้พูดถึงไว้ก็ทำหน้าที่กันต่อไปตามปกติจนกว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะมากำหนด และสุดท้ายอาจจะมีคำถามในใจหลายคนว่า รัฐธรรมนูญฉบับหน้าคือฉบับที่ 20 ที่จะไปร่างกันนั้น ร่างเสร็จแล้วจะเปิดให้ลงประชามติหรือไม่ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เขียนไว้ แต่ก็ไม่ได้ผิดทาง เป็นสิ่งที่สามารถที่จะไปพิจารณากันตามความจำเป็นในอนาคตได้"

รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะอยู่จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และอาจฝากงาน "สภาปฏิรูป" ทำต่อได้

"ข้อสำคัญก็คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ทำสิ่งซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในอดีตไม่ได้เขียนไว้ แต่มีเขียนในครั้งนี้ข้อหนึ่งคือ เมื่อใดที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้คือฉบับที่ 19 ชั่วคราวนี้ มีปัญหาอย่างใดที่สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ แม้จะเป็นฉบับชั่วคราว คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติจับมือกันเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมบางเรื่องที่บกพร่องอยู่ หรือควรจะมีแม้จะเป็นฉบับชั่วคราวก็สามารถจะแก้ไขได้อนาคต คือได้พยายามทำให้มีความยืดหยุ่นที่สุด เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและลำธาร 5 สายที่แยกออกไปจากรัฐธรรมนูญในวันนี้สามารถไหลได้คล่อง สามารถที่จะดำเนินการได้โดยไม่สะดุด พบสะดุดที่จุดไหนก็จะได้แก้ไขกันไป"

"และสุดท้ายที่มีคำถามในใจ ขออนุญาตตอบก่อนที่จะมีการถามในตอนหลังว่าลำธาร 5 สายจะอยู่ไปนานจนถึงเมื่อใด คำตอบ ตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันอยู่ไปจนมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องเลิกแน่ เพราะของใหม่มาแทน ของเก่าก็หมดไป สนช. นั้นจะอยู่ไปจนกระทั่งถึงวันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาชุดหน้า คือมี ส.ส. สมัยหน้าเมื่อใด สนช. ก็ไม่จำเป็นและหมดไป คณะรัฐมนตรีจะอยู่ไปเมื่อใด จนกระทั่งถึงเมื่อมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มารับไม้ส่งต่อครับ ชุดเก่าก็หมด ชุดใหม่ก็เข้ามาแทน สภาปฏิรูปแห่งชาติจะอยู่ไปจนถึงเมื่อใด คำตอบคือว่าเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างเสร็จและเขียนเกี่ยวกับสภาปฏิรูปอย่างไร ก็ให้เป็นไปตามอย่างนั้น รัฐธรรมนูญฉบับหน้าอาจจะเขียนให้สภาปฏิรูปอยู่ทำหน้าที่ปฏิรูปเรื่องที่ค้างคาต่อไปก็ได้ หรือจะไม่ให้อยู่เพราะจะเวนคืนอำนาจนี้ให้เป็นของ ส.ส. ที่เขาเข้ามาก็ได้ ก็ฝากไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่เสร็จและหมดไปเมื่อใดก็เมื่อร่างเสร็จลงพระปรมาภิไธยเสร็จ ประกาศใช้ คณะกรรมาธิการก็สิ้นไปเมื่อนั้น และ คสช. จะอยู่ไปจนถึงเมื่อใด โดยหลักเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งก็คงจะไม่ได้เขียนเรื่อง คสช. เอาไว้ในฉบับใหม่อีก คสช. ก็จะหมดไปเมื่อนั้น ทั้งหมดนี้ก็คือแผนและขั้นตอนที่จะเกิดขึ้น นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปีบวกลบ ก็ขอกราบเรียนเพื่อความเข้าใจครับ"

"ประวิตร โรจนพฤกษ์" ยกมือถาม-ก่อนตัดจบถ่ายสดเพราะหมดเวลาถ่ายทอด

ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวดังกล่าวการถ่ายทอดสดโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยใช้เวลาประมาณ 50 นาที ก่อนจะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถาม โดยนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น โดยขอถามนายพรเพชร และนายวิษณุ 2 มาตรา คือ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เปรียบเทียบกับ มาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 สมัยจอมพลสฤษฎดิ์ ธนะรัชต์  และมาตรา 48 เรื่องบทนิรโทษกรรม คสช.

กรณีมาตรา 44 นายประวิตรถามว่า ที่ระบุว่ากรณีหัวหน้า คสช. เห็นว่ามีความจำเป็น ให้หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. มีอำนาจสั่งการระงับยับยัง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้น จะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ  และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่ง หรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญนี้ และเป็นที่สุด

นายประวิตรถามว่า "ตรงนี้นี่สามารถตีความได้ไหมครับว่า อำนาจของหัวหน้าคณะ คสช. ก็คือสูงสุด และอาจจะมีความคล้ายคลึงกับยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ปกครองผ่านมาตรา 17 อันนี้คือความเป็นห่วงเป็นใย แล้วถ้าเป็นเช่นนั้นเนี่ย จะถือได้ไหมครับว่า  ในความเป็นจริงแล้วอำนาจของหัวหน้า คสช. ในช่วงที่ยังมีการใช้ รัฐธรรมนูญชั่วคราวเนี่ย ก็ยังอยู่เหนือ ครม. และตัวนายกรัฐมนตรี"

ส่วนคำถามที่สองที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 48 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว นายประวิตรถามว่า "ขอถามไปที่ มาตรา 48 ที่พูดถึงว่า การกระทำใดๆ ที่โยงกับ การยึดอำนาจในวันที่ 22 พ.ค. ที่ผู้ปฏิบัติทุกท่าน "หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง" จากนั้นประวิตรถามว่า "คำถามนี้อาจจะโยงเกี่ยวกับเรื่องการปรองดอง เพราะในขณะเดียวกัน ก็คงชัดว่า คสช. ไม่ต้องรับผิดชอบ ทางกฎหมายใดๆ กับการกระทำ ในการยึดอำนาจวันที่ 22 พ.ค. แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีประชาชน หรือคนจำนวนหนึ่งที่ ออกมาก่อการกระทำบางอย่าง โดยนายประวิตรยกตัวอย่าง กรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง หรือนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่ถูก คสช. ดำเนินคดี

อย่างไรก็ตามไม่ทันที่จะถามจบ สัญญาณถ่ายทอดสดโทรทัศน์ตัดเข้าสู่รายการปกติ อย่างไรก็ตามช่วงถาม-ตอบ ยังคงดำเนินอยู่ โดยที่ก่อนหน้าการแถลงข่าวเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า จะไม่มีการถ่ายทอดสดช่วงถาม-ตอบ โดยหลังการตั้งคำถาม ทั้งนายพรเพชร และนายวิษณุได้ตอบคำถามนายประวิตรด้วย โดยประชาไทจะนำเสนอในส่วนของช่วงตอบคำถามต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net