ความเป็นสมัยใหม่ในความคิดทางสังคมของพุทธศาสนา (3)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองเกือบสิบปีมานี้ มีการอ้างความคิดของท่านพุทธทาสในทางการเมืองมากเป็นพิเศษ แต่ส่วนมากเป็นการยกมาอ้างเฉพาะข้อความที่ท่านวิพากษ์จุดอ่อนประชาธิปไตย ไม่ได้อ้างความคิดหลักที่ท่านเสนอ เช่นที่ท่านเสนอแนวคิด “ธรรมิกสังคมนิยม” คนที่อ้างพุทธทาสไม่ได้อ้างเพื่อสนับสนุนแนวคิดเชิงอุดมคตินี้

พูดตรงๆ คืออ้างบางคำพูดของท่านพุทธทาสเพื่อปฏิเสธ “เสรีประชาธิปไตย” หรือเพื่อสนับสนุน “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ไม่ใช่อ้างเพราะยอมรับหรือสนับสนุนแนวคิดธรรมิกสังคมนิยมของท่าน เหมือนที่อ้างจอห์น ล็อกว่า “ประชาชนมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะโค่นล้มรัฐบาลทรราชได้” แต่กลับข้ามความคิดหลักของล็อกไปว่า ข้ออ้างนี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลนั้นทำลายสิทธิตามธรรมชาติของประชาชนเท่านั้น จะใช้อ้างเพื่อล้มล้างเจตนารมณ์หรือสิทธิของคนส่วนใหญ่ไม่ได้

กลายเป็นว่า ผู้นิยมอ้างท่านพุทธทาส ไม่ได้อ้างเพราะเห็นด้วยกับความคิดหลักของท่านจริงๆ แต่อ้างราวกับว่าท่านพุทธทาสเห็นด้วยหรือสนับสนุนเป้าหมายทางการเมืองของพวกตัวเอง จนบางทีก็เลยเตลิดไปถึงการสร้างประเพณียกย่องความคิดของท่านเป็น “สัจธรรมสำเร็จรูป” ที่ใช้ตอบปัญหาได้ทุกเรื่อง เถียงไม่ได้ กลายเป็นลัทธิ “อำนาจนิยมทางความคิด” ไป ใครโต้แย้งถือว่าผิด ไม่รู้จริงอะไรทำนองนั้น

ผมคิดว่า วิธีทำความเข้าใจความคิดทางสังคมของท่านพุทธทาสอย่างตรงไปตรงมาคือ เราควรมองว่าท่านพุทธทาสเป็น “นักคิด” คนหนึ่ง การเสนอความคิดของท่านก็เสนอแบบนักคิด ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มุ่งเรียกร้อง ขับเคลื่อน กดดันให้สังคมยอมรับความคิดของตัวเอง แต่เสนอความคิดสู่สาธารณะเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ แปลว่าความคิดนั้นอาจผิดได้ ถูกล้มได้ ไม่ใช่สัจธรรมสำเร็จรูปสำหรับให้ใครต่อใครนำไปอ้างอย่างเผด็จการทางความคิด โดยอาศัยสถานะความเป็นพระนักปราชญ์หรืออะไรก็ตามเป็นฐานอ้างอิงที่คนต้องเคารพเชื่อฟัง เมื่อเคารพเชื่อฟังแล้วก็ไม่กล้าตั้งคำถาม หรือโต้แย้ง คนตั้งคำถามโต้แย้งกลายเป็น “คนบาป” ไป ซึ่งนั่นคงไม่ใช่เจตนารมณ์ของท่านพุทธทาสเป็นแน่

เมื่อมองท่านพุทธทาสเป็นนักคิด เราก็เข้าใจได้ว่าเป็นธรรมดาของนักคิดที่จะเสนอความคิดแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ หรือปฏิเสธความเชื่อบางอย่างที่คนส่วนใหญ่ยอมรับกันอยู่ ไม่ว่าความคิดทางศาสนาหรือการเมือง ดังในหนังสือ “ธรรมะกับการเมือง” ท่านแสดงจุดยืนของตนเองในการตีความคำสอนของพุทธศาสนาเพื่อเสนอแนวคิดทางสังคมการเมืองว่า ต้องมีอิสรภาพทางสติปัญญาสูงสุด ใน 4 ความหมาย ใจความสำคัญคือ

1. อิสรภาพในการรวบรวมข้อมูลความรู้จากแนวคิดทฤษฎีต่างๆ บรรดามี แม้กระทั่งข้อเท็จจริงตามธรรมชาติ

2. อิสรภาพในการวินิจฉัย เมื่อรวบรวมข้อมูลมาอย่างรอบด้านมากที่สุดแล้วก็สามารถวินิจฉัยได้เที่ยงตรงโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของแนวคิด ทฤษฎีใดๆ

3. อิสรภาพในการเลือก เมื่อวินิจฉัยข้อดี ข้อด้อยของแนวคิด ทฤษฎีใดๆ ทุกแง่ทุกมุมแล้ว ต้องมีอิสระในการเลือกอย่างเป็นตัวของตัวเองว่า จะรับเอาแง่มุมไหนที่เห็นว่าดีที่สุด กระทั่งมีอิสระเลือกสร้างแนวคิดทฤษฎีของตนเองขึ้นมาใหม่ และ

4. อิสรภาพในการปฏิบัติ เมื่อเลือกสิ่งที่วินิจฉัยว่าดีที่สุดแล้ว ก็มีอิสรภาพในการปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ท่านพุทธทาสเห็นว่าอิสรภาพทั้งสี่ด้านนี้ คืออิสรภาพทางสติปัญญาที่สอดคล้องกับหลักกาลามสูตร เพราะหลักกาลามสูตรคือหลักการที่พุทธศาสนายืนยันให้เราแต่ละคนมีอิสรภาพทางสติปัญญาสูงสุด โดยหลักการนี้ เมื่อท่านพุทธทาสเสนอความคิดทางการเมือง ท่านจึงเสนอด้วยวิธีวิพากษ์จุดอ่อนของความคิดทางการเมืองในกระแสที่ต่อสู้กันอยู่ในบริบทเวลานั้น (ช่วง 6 ตุลา) และวิพากษ์ความคิดทางศาสนาเพื่อหาสิ่งที่ท่านคิดว่าเป็นสาระที่แท้ของคำสอนทางศาสนาด้วย

ความคิดทางสังคมของท่านพุทธทาสอาจแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนที่เป็นข้อถกเถียงหรือข้อโต้แย้งต่างๆ (arguments) และส่วนที่เป็นความคิดหลัก (general idea) หรือข้อเสนอใหม่ของท่าน ส่วนที่เป็นข้อถกเถียงหรือข้อโต้แย้งต่างๆ ของท่านพุทธทาสนั้น ที่สำคัญคือท่านวิพากษ์จุดอ่อนของประชาธิปไตยและสังคมนิยม หลักๆ คือท่านมองว่าเสรีประชาธิปไตยตอบสนองความเห็นแก่ตัวของปัจเจกบุคคลมากเกินไป ขณะที่สังคมนิยมนั้นดีกว่าเพราะมีกฎควบคุม จำกัดความเห็นแก่ตัวของปัจเจกบุคคลและให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่า แต่ก็มีจุดอ่อนตรงที่การยอมรับวิธีรุนแรงในการปฏิวัติโค่นล้มชนชั้นนายทุน

ดังนั้น ข้อเสนอใหม่ของท่านพุทธทาสก็คือ “ธรรมิกสังคมนิยม” นี่เป็นความคิดหลักในทางสังคมการเมืองที่ท่านเสนอ เราจึงไม่ต้องเถียงกันเลยว่าท่านพุทธทาสปฏิเสธหรือสนับสนุนประชาธิปไตย จริงๆ แล้ว ท่านปฏิเสธเสรีประชาธิปไตย แม้จะโน้มเอียงมาทางสังคมนิยมแต่ก็ไม่เห็นด้วยในเรื่อง “วิธีการ” บางอย่าง แต่ยังสรุปไม่ได้ว่าการที่ท่านพุทธทาสปฏิเสธเสรีประชาธิปไตย แปลว่าท่านสนับสนุน “ประชาธิปไตยไทยๆ” ในความหมายของบรรดาผู้ที่นิยมอ้างความคิดของท่านพุทธทาสในการต่อสู้ทางการเมือง

แต่จะอย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาข้อโต้แย้งต่างๆ ของท่านพุทธทาสที่วิพากษ์จุดอ่อนของเสรีประชาธิปไตยและสังคมนิยมบนจุดยืน “ศีลธรรม” นั้น อาจมีจุดอ่อน หรือ “ขัดแย้งในตัวเอง” อยู่ไม่น้อย และเมื่อนำข้อวิพากษ์เสรีประชาธิปไตยและสังคมนิยมของท่านมาใช้เสมือนเป็น “สัจธรรมสูตรสำเร็จ” ในการต่อสู้ทางการเมือง หรือกระทั่งการสนับสนุนความเห็นทางวิชาการก็มีจุดอ่อน หรือข้อบกพร่องทางตรรกะ (fallacy) ให้เราวิพากษ์วิจารณ์ได้อยู่มาก และควรวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อปฏิเสธค่านิยมการอ้างความคิดท่านพุทธทาสในเชิงครอบงำทางความคิด

แต่ที่ผมสนใจคือความคิดหลัก “ธรรมิกสังคมนิยม” หรือสังคมนิยมที่มีศีลธรรมนั้นมีนัยสำคัญต่อความ (ไม่) เป็นสมัยใหม่ในความคิดทางสังคมของพุทธศาสนา ที่ตีความโดยท่านพุทธทาสอย่างไร เมื่อท่านพุทธทาสมองว่า “ศีลธรรม” มีความหมายกว้าง กินความครอบคลุมทั้งกฎธรรมชาติ ศีลธรรมตามคำสอนของศาสนาต่างๆ รวมทั้งความคิดเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาคด้วย การยืนยันว่าเจตนารมณ์ตามกฎธรรมชาติและตามคำสอนของศาสนาต่างๆ ล้วนสะท้อนความเป็น “สังคมนิยม” นั้น บ่งถึงประวัติศาสตร์พัฒนาการความคิดทางสังคมของพุทธศาสนาไทยที่มีนัยสำคัญอย่างไร

อีกอย่าง น่าสนใจว่า ทำไมปรีดี พนมยงค์ที่มีความสัมพันธ์ทางความคิดกับท่านพุทธทาสระดับหนึ่งจึงตีความพุทธศาสนาสนับสนุน เสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตย หรือโน้มเอียงไปทางสนับสนุนอุดมคติสังคมนิยม แต่กระแสนิยมพุทธทาสปัจจุบันกลับอ้างความคิดท่านพุทธทาสสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม

เผยแพร่ครั้งแรกในโลกวันนี้วันสุข (26 ก.ค.-1 ส.ค.2557)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท