Skip to main content
sharethis
 
สปส.เพิ่มสิทธิบำบัดสารเสพติด
 
ดร.อำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า มติคณะกรรมการการแพทย์โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกันสังคมเห็นชอบในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนที่จำเป็นต้องได้รับการบำบัดสารเสพติดด้วยสารเมทาโดน ให้ได้รับสิทธิครอบคลุมการเบิกจ่าย โดยผู้ประกันตน จะต้องเป็นผู้ป่วยติดสารเสพติดในกลุ่มฝิ่น และอนุพันธ์ของฝิ่น ที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาซึ่งหากต้องการใช้สิทธิต้องเข้ารับการตรวจรักษาในสถานพยาบาลที่กำหนดและการบำบัดรักษาขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ที่ให้การรักษา ซึ่ง สปส. จะจ่ายเป็นค่าสารเมทาโดนให้แก่สถานพยาบาลตามจริงในอัตราไม่เกิน 30 บาทต่อวัน สถานพยาบาลที่มีสิทธิเบิกค่าสารเมทาโดนจะต้องเป็นสถานพยาบาลที่ผ่านการอนุญาต ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ที่เข้าโครงการใช้สารเมทาโดนระยะยาวรวมถึงมีการบันทึกค่าสารเมทาโดนผ่านโปรแกรม E-Claim โดยใช้โปรแกรมร่วมกับสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ
       
“หากลูกจ้าง ผู้ประกันตนท่านใดมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ทั้ง 12 แห่งทุกจังหวัด สาขาทั่วประเทศ หรือ โทร. 1506 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยบริการที่ให้การบำบัดรักษาด้วยสารเมทาโดน ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1165” เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23-7-2557)
 
แรงงานนอกระบบ ขอมีส่วนร่วมในบอร์ดประกันสังคม
 
แรงงานนอกระบบ เสนอ ก.แรงงาน จัดงบจัดงานวันแรงงาน หนุนกิจกรรมแรงงานนอกระบบ - ร่วมเป็นบอร์ดประกันสังคม ด้าน รองปลัด ก.แรงงาน แนะทำแผนงานโครงการเสนอของบ ชี้ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไขเปิดช่องให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นกรรมการประกันสังคม เผยร่างกฎหมายต่อกฤษฎีกาไปแล้ว ลุ้น สนช. ไฟเขียว
       
วันนื้ (23 ก.ค.) นางอรุณี ศรีโต กรรมการยุทธศาสตร์แรงงานนอกระบบ กล่าวภายหลังเข้าพบ นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ รองปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อหารือเกี่ยวกับการสนับสนุนและพัฒนาแรงงานนอกระบบ ว่า ปัจจุบันมีแรงงานกว่า 25 ล้านคน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงอยากให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) สนับสนุนให้แรงงานนอกระบบมีส่วนร่วมจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ โดยอาจจะรวมกับแรงงานในระบบ หรือแยกให้งบจัดงานเฉพาะแรงงานนอกระบบ รวมทั้งขอให้ กสร. และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนในการจัดกิจกรรมของแรงงานนอกระบบ รวมถึงจัดบุคคลากรเข้าไปช่วยเหลือในการดำเนินการโครงการของแรงงานนอกระบบ เช่น การจัดประชุมต่างๆ ที่บางครั้งยังขาดแคลนทรัพยากร การประชุมเพื่อให้ความรู้ประกันสังคมมาตรา 40 ขาดบุคลากร นอกจากนี้ อยากให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นกรรมการประกันสังคม เพื่อมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานด้านแรงงานและงานด้านประกันสังคม มาตรา 40 และอยากให้ สปส. ประสานงานกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้ช่วยรวบรวมเงินสมทบประกันสังคมมาตรา 40 ส่งต่อมายัง สปส. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แรงงานนอกระบบในพื้นที่ทุรกันดารจะได้ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทางเข้าเมืองมาจ่ายเงินสมทบ
       
ด้านนายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ รองปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวว่า ข้อเสนอของกลุ่มผู้แทนศูนย์ประสานแรงงานนอกระบบระดับชาติในเรื่องการมีส่วนร่วมกำหนดกิจกรรมและงบประมาณจัดงานวันแรงงานแห่งชาตินั้น เนื่องจากงบประมาณจัดงานในวันแรงงานแห่งชาติปีงบประมาณ 2558 ซึ่งตั้งไว้ที่ประมาณ 3.5 ล้านบาท ได้มีการเสนอของบประมาณต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปแล้ว ทั้งเรื่องของงบการจัดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติ รวมถึงงบสนับสนุนกิจกรรม โครงการต่างๆ ของแรงงานนอกระบบขอให้กลุ่มผู้แทนศูนย์ประสานแรงงานนอกระบบระดับชาติจัดทำแผนงานกิจกรรมและโครงการเสนอมายัง กสร. และ สปส. โดยในส่วนของงบการจัดงานวันแรงงานแห่งชาตินั้นอยากให้เสนอแผนงานของบภายในเดือนตุลาคมนี้
       
นายพีรพัฒน์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการร่วมเป็นตัวแทนของแรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นกรรมการประกันสังคมนั้น ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมฉบับแก้ไขได้กำหนดไว้ในเรื่องนี้ ซึ่งร่างกฎหมายก็ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 ไปแล้ว แต่เนื่องจากมีเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายต้องยุติไป ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เรียกผู้แทน สปส. ไปยืนยันว่าจะยังคงใช้ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมฉบับแก้ไขที่ผ่านสภา วาระ 1 หรือไม่ ทาง สปส. ก็ได้ยืนยันไปว่าเสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขฉบับเดิม ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขมีสาระสำคัญในเรื่องกรรมการประกันสังคมโดยเปลี่ยนคำว่าผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเป็นผู้แทนผู้ประกันตนแทนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ตัวแทนแรงงานนอกระบบซึ่งอยู่ในประกันสังคมมาตรา 40 รวมทั้งผู้แทนผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ประกันตนเองเข้ามาเป็นกรรมการประกันสังคม ทั้งนี้ หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทาง กสร. จะแก้ไขร่างระเบียบการเลือกตั้งและสัดส่วนกรรมการประกันสังคมเพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหากฎหมายที่แก้ไข
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23-7-2557)
 
แรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิตจากเหตุโจมตีทางอากาศแล้ว 1 ราย
 
(23 ก.ค.) กระทรวงการต่างประเทศออกมายืนยันว่า มีคนไทยในอิสราเอลเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ 1 ราย โดยสถานทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้ติดต่อญาติผู้เสียชีวิตและบริษัทนายจ้างแล้วเพื่อเตรียมนำศพกลับไทย ขณะเดียวกันได้แจ้งต่อกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลให้พิจารณาย้ายแรงงานคนไทยออกจากบริเวณใกล้เคียงฉนวนกาซาไปยังพื้นที่ปลอดภัย
       
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่าวันนี้มีแรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศ 1 ราย ทราบชื่อ นายนรากร กิตติยังกุล ชาว อ.ปัว จ.น่าน โดยเสียชีวิตที่โมชาฟ เนติฟฮาซาว่า เขต Hof - Ashkelon ห่างจากกรุงเทลอาวีฟประมาณ 70 กิโลเมตร
       
ทั้งนี้ ได้แจ้งไปยังญาติของผู้เสียชีวิตให้ทราบแล้ว พร้อมประสานไปยังนายจ้างเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ การส่งศพกลับมายังประเทศไทย พร้อมแจ้งทางอิสราเอลให้พิจารณาย้ายแรงงานไทยจากจุดดังกล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23-7-2557)
 
อพยพแรงงานไทยกว่า 4 พันในอิสราเอล ออกนอกพื้นที่เสี่ยง
 
(24 ก.ค.) นายสุเมธ  มโหสถ   อธิบดีกรมการจัดหางงาน (กกจ.) เปิดเผยว่า หลังจากได้รับรายงานว่ามีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล เสียชีวิต 1 ราย จากเหตุโจมตีทางอากาศเมื่อวานนี้ (23 ก.ค.) ในเวลา 12.15 น. ตามเวลาในอิสราเอล หรือประมาณ 15.00 น. ของไทย ขณะนี้ทราบชื่อแล้ว คือ นายนรากร  กิตติยังกุล อายุ 36 ปี เป็นชาวตำบลป่ากลาง อำเภอปัว จังหวัดน่าน เบื้องต้นได้มอบหมายให้จัดหางานจังหวัดน่าน เดินทางไปพบกับ นายบัญชา กิตติยังกุล บิดาของผู้เสียชีวิต เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ทางการอิสราเอลพร้อมให้ความช่วยเหลือในการเดินทางไปรับศพผู้เสียชีวิต แต่ทางญาติแจ้งว่าไม่สะดวกในการเดินทาง กกจ. จึงได้ประสานให้ทางการอิสราเอล ส่งตศพแรงงานกลับมายังประเทศไทยก่อน และจะรับช่วงในการส่งศพผู้เสียชีวิต ต่อจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปยังจังหวัดน่าน 
       
อธิบดีกรมการจัดหางงาน กล่าวอีกว่า กกจ. ได้ประสานกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ในการหารือตกลงกับทางการอิสราเอล เพื่อขอเคลื่อนย้ายแรงงานไทยที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยงทั้งหมดประมาณ 4,200 คน ไปกระจายอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยเป็นการชั่วคราวแล้ว ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตได้เดินทางไปทำงานที่อิสราเอลเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 ก่อนที่จะมีเหตุการณ์สู้รบเกิดขึ้น โดยญาติจะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไทยไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 40,000 บาท รวมทั้งเงินค่าประกันชีวิต จากบริษัทประกันภัยด้วย
       
ด้าน นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ได้ประสานกับญาติผู้เสียชีวิตแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเคลื่อนย้ายศพ นอกจากนี้ ยังมีคนไทย 38 คน ประสงค์ขอย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งสถานทูตไทยได้ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล และนายจ้างในนิคมการเกษตร 96 แห่ง ซึ่งอยู่ใกล้พื้นที่กาซา พร้อมคนไทยกว่า 4 พันคน ให้ย้ายมาอยู่ในที่ที่ปลอดภัย รัศมีห่างประมาณ 10 - 20 กิโลเมตร โดยมีข้อแม้และให้ยุติการทำงานชั่วคราว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการอพยพคนไทยออกจากอิสราเอล ซึ่งสถานทูตไทยจะติดตามสถานการณ์และดูแลคนไทยในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 24-7-2557)
 
มติการบินไทยให้พนักงาน 900 คน เกษียณก่อนกำหนดตามสมัครใจ
 
นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ระบุว่า ปัจจุบันการบินไทยมีพนักงานกว่า 25,000 คน โดยมติที่ให้พนักงาน 900 คน เกษียณอายุก่อนกำหนด ตามแผนฟื้นฟูโครงการ คาดว่าน่าจะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยการเกษียณอายุก่อนกำหนดให้ขึ้นอยู่ความสมัครใจส่วนบุคคล เชื่อว่าจะสามารถลดรายจ่ายของบริษัททั้งเงินเดือนและค่ารักษาพยาบาลได้ ทั้งนี้พนักงานในกลุ่มนี้มีทั้งไม่ต้องการทำงานกับบริษัท พนักงานที่เจ็บป่วย ลาบ่อย โดยมีฐานะเงินเดือนสูงเฉลี่ย 70,000-80,000 บาทขึ้นไป อายุงานเฉลี่ย 15-20 ปี
 
อย่างไรก็ตาม นายดำรงค์ยังระบุอีกว่า ในช่วงเกือบ 7 ปีที่ผ่านมา การบินไทยประสบปัญหาขาดทุน 3 ครั้ง  คือ ปี 2551 ขาดทุนกว่า 20,000 ล้านบาท , ปี 2554 และปี 2557 ขาดทุนเฉลี่ยเดือนละ 1,000 ล้านบาท สาเหตุมาจากการบริหารจัดการและปัญหาทางการเมือง โดยเห็นว่าสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ระดับบริหารจะต้องดำเนินการคือ การสร้างความศรัทธาและความเชื่อมั่นจากพนักงาน โดยเป็นการชี้แจงและรับฟังปัญหาจากพนักงาน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กร
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 25-7-2557)
 
กสม.ชี้ ตรวจเลือดหา HIV คนสมัครงาน ละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
วันที่ 25 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีการตรวจสอบ เรื่องร้องเรียนกรณีการกำหนดให้บุคคลตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี เพื่อเป็นเงื่อนไขในการสมัครเข้าทำงาน รวมทั้งได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่องการเลือกปฏิบัติในการประกอบอาชีพของผู้ติดเชื้อเอชไอวี
 
ทั้งนี้ พบว่า ปัจจุบันผู้ติดเชื้อเอชไอวี ถูกเลือกปฏิบัติในการประกอบอาชีพในหลายรูปแบบ ที่สำคัญ คือ การกำหนดให้ตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี และใช้ผลตรวจเลือดเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาจ้างงาน
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้พิจารณาและมีมติว่า การที่นายจ้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กำหนดให้มีการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี และใช้เป็นเงื่อนไขในการจ้างงานถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเป็นการละเมิดต่อสิทธิในร่างกายหากไม่ได้รับการยินยอมของบุคคล ซึ่งการกระทำดังกล่าว อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อบุคคล ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม การตีตราตัวเอง (self-stigma) และส่งผลกระทบทางอ้อมต่อครอบครัว
 
ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงขอให้นายจ้างทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรอิสระและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน โดยไม่กำหนดให้มีการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวี เป็นเงื่อนไขในการรับสมัครงาน และหากบุคคลใด ได้รับการกระทำในกรณีเช่นดังกล่าวนี้ สามารถร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สายด่วน 1377 หรือ ทางอีเมล์ help@nhrc.or.th
 
(ไทยรัฐ, 25-7-2557)
 
กรมจัดหางานเผย ยอดลงทะเบียน “แรงงานต่างด้าว” ต่ำ
 
นายพิชิต นิลทองคำ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยสถิติเจ้าของเรือประมงและแรงงานในภาคประมง ที่นำคนงานมายังสำนักจัดหางานจังหวัดต่างๆ ตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เพื่อยื่นเรื่องขึ้นบัญชีแรงงานเรือประมง ซึ่งครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ว่า มีเจ้าของเรือประมง มายื่นเรื่องทั้งหมด 3,315 คน แบ่งเป็นลูกจ้าง 61,709 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานไทย 6,920 คน แรงงานต่างด้าว 54,789 คน
 
ทั้งนี้ ในส่วนของแรงงานต่างด้าว แบ่งเป็นแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงาน จำนวน 10,432 คน และแรงงานต่างด้าว ที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน 44,357 คน ซึ่งจากข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลด้านประมงเจ้าของเรือประมงนับหมื่นคน กระทรวงแรงงาน จึงขอความร่วมมือจากเจ้าของเรือประมงที่ไม่ได้มายื่นบัญชีจำนวนและคนชื่อแรงงาน รวมทั้งเจ้าของเรือประมงที่มีลูกจ้างต่างด้าว ที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ให้นำลูกจ้าง ไปจดทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว แบบเบ็ดเสร็จ หรือ วันสตอปเซอร์วิส ใน 22 จังหวัด ติดชายฝั่งทะเล โดยหากออกเรือไปหาปลาและไปเทียบท่าที่จังหวัดใดจังหวัด 1 ใน 22 จังหวัดข้างต้น ก็สามารถไปจดทะเบียนลูกจ้างต่างด้าวได้ โดยไม่จำเป็นต้องมาจดทะเบียนลูกจ้างต่างด้าว ในจังหวัดที่มีการขึ้นทะเบียนเรือไว้ โดยทั้งหมด ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 21 ส.ค.นี้
 
(โลกวันนี้, 27-7-2557)
 
ญาติเศร้า รับศพแรงงานไทยเสียชีวิตในอิสราเอล
 
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 28 ก.ค.2557 ที่อาคารคลังสินค้าระหว่างประเทศของ บริษัท การบินไทย จำกัด มหาชน บริเวณเขตปลอดอากร สนง.ศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายวินัย รุ่งโรจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสมบัติ นิเวศวัฒน์ ผอ.สนง.บริหารแรงงานไทยในต่างประเทศ จนท.สถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย เจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงาน และ นางวันเพ็ญ ยาอุด พี่สาวของ นายนรากร กิตติยังกุล แรงงานไทยวัย 36 ปี ซึ่งเสียชีวิตจากเหตุการณ์สู้รบในประเทศอิสราเอล เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2557 ที่ผ่านมา และญาติ ได้เดินทางมารอรับศพ พร้อมกับภาพถ่ายของนายนรากรด้วย
 
ทั้งนี้ ศพแรงงานไทย ได้มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 14.40 น. ด้วยเที่ยวบิน LY 081 สายการบินอิสราเอลแอร์ไลน์ เมื่อเจ้าหน้าที่การบินไทยได้ใช้รถนำศพของแรงงานไทยใส่รถออกมาบริเวณด้านนอกที่มีญาติรออยู่ บรรยากาศเป็นไปด้วยความโศกเศร้า ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำร่างของแรงงงานไทยขึ้นไปไว้ในรถตู้ที่จะนำกลับไปบำเพ็ญกุศลที่ อ.ปัว จ.น่าน
 
นางวันเพ็ญ ยาอุด อายุ 42 ปี พี่สาวของผู้ตาย ซึ่งยังอยู่ในอาการโศกเศร้า เผยว่า ตอนนี้ที่บ้านใน จ.น่าน ได้จัดเตรียมสถานที่ กางเต็นท์ไว้เพื่อทำพิธี รวมถึงเตรียมขุดหลุมเพื่อเตรียมฝังร่างของน้องชาย โดยจะทำพิธีแบบชาวม้ง ตั้งแต่วันที่ 29-31 ก.ค.นี้และจะฝังในเวลา 12.00 น. ของวันที่ 31 ก.ค. ส่วนเรื่องหนี้สินที่มีอยู่ 200,000 บาท ตอนนี้ยังคิดไม่ออก เพราะทุกคนยังอยู่ในอาการเสียใจ แต่ก็อยากให้มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือเรื่องค่าทำศพด้วย ต่อจากนี้พี่น้องที่เหลืออยู่คงต้องช่วยดูแลพ่อต่อไป
 
ด้าน นายวินัย รุ่งโรจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การช่วยเหลือของทางกระทรวงนั้นจะมอบเงินช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเงินจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 40,000 บาท และจะดำเนินการตามเงินค่าจ้างที่แรงงานไทยไปทำงานได้ประมาณ 1 เดือน จากนายจ้างที่ประเทศอิสราเอลอีกราว 20,000 บาท รวมทั้งยังได้ค่าใช้จ่ายที่ไปทำงานในต่างประเทศไม่ถึงปี ราว 44,000 บาท เงินช่วยเหลือจากสถานทูตอิสราเอลและนายจ้างอีก 60,000 บาท นอกจากนี้หากแรงงานมีบุตร ก็จะมีเงินช่วยเหลือบุตรคนละ 10,000 บาท จนกว่าจะอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์
 
"ส่วนแผนการอพยพแรงงานนั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศได้มีแผนรองรับไว้แล้วและหากการสู้รบในฉนวนกาซารุนแรงขึ้น ทางกระทรวงการต่างประเทศ ก็จะพิจารณาใช้แผนอพยพที่เตรียมการไว้ทางทางบกและทางเรือ ส่วนการประชาสัมพันธ์ในการดำเนินชีวิตแก่แรงงานไทยนั้น ได้ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากมีการสู้รบเกิดขึ้นก็จะแนะวิธีการป้องกันให้ เพื่อความปลอดภัยในตัวของแรงงานเอง" นายวินัย กล่าว
 
(ไทยรัฐ, 29-7-2557)
 
กต.เปิดศูนย์ช่วยเหลือแรงงานไทยในลิเบีย พร้อมอพยพแรงงานไทยทั้ง 1,500 คนไปที่ปลอดภัย
 
29 ก.ค.57 เมื่อเวลา 11.00 น. ที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) นายณัฎฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า ศูนย์ปฏิบัติการและประสานงานช่วยเหลือคนไทยในลิเบียได้เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการ และยืนยันความพร้อมระบบการสื่อสารและประสานงานระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงตริโปลี โดยศูนย์ฯอยู่ภายใต้การดูแลกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ถ.ศรีอยุธยา ทั้งนี้จะเปิดทำการตั้งแต่ 09.00 น. -21.00 น. ของทุกวันจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น โดยมีตนเป็นประธานฝ่ายอำนวยการ และมีนายมานพชัย วงศ์ภักดี อธิบดีกรมเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา เป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการ นอกจากนี้ มีผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน 2 คน คอยช่วยประสานงานในส่วนข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานในลิเบียมาประจำการอยู่ที่ศูนย์นี้ด้วย
 
นายณัฎฐวุฒิ กล่าวว่า ในส่วนการดำเนินงานของกระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดเตรียมชุดแรกเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ 5 คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และคณะแพทย์ โดยมีนายสุวัฒน์ แก้วสุข เป็นหัวหน้าชุด เตรียมเดินทางไปทำหน้าที่สนับสนุนการดูแลคนไทยที่เมืองตูนิส ประเทศตูนีเซีย ซึ่งจะเป็นพื้นที่หลักที่ให้การพักพิงกับแรงงานไทยที่เดินทางออกจากลิเบีย ทั้งนี้ นายณัฎฐวุฒิ ระบุว่า แรงงานไทยที่กรุงตริโปลี กับเมืองเบงกาซี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบกันอยู่สูง ทางสถานทูตได้พิจารณาอพยพแรงงานไทยใน 2 เมืองนี้ก่อน ส่วนแรงงานไทยที่พักในเมืองอื่นห่างไกลจากเขตสู้รบจะดำเนินการอพยพตามลำดับ
 
นายณัฎฐวุฒิ กล่าวอีกว่า เส้นทางอพยพแรงงานไทยในลิเบียจะใช้เส้นทาง ทางบก จากกรุงตริโปลี เดินทางด้วยรถยนต์ข้ามชายแดนมายังประเทศตูนีเซีย มีระยะทางประมาณ 150 ก.ม. โดยจะพักยังจุดที่สถานทูตได้เตรียมไว้ ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศไทยโดยเร็วที่สุด
 
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้วางแผนให้คนไทยเดินทางกลับประเทศไทย ด้วยเครื่องบินพาณิชย์ที่ท่าอากาศยานนานาชาติที่กรุงตูนิส และท่าอากาศยานที่เมืองเจอร์บา ประเทศตูนีเซีย โดย 2 สนามบินนี้ห่างกันประมาณ 300 ก.ม. แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการอพยพคนไทย ทั้งนี้ภายหลังที่แรงงานไทยขึ้นเครื่องบินออกไปยังตูนีเซียแล้ว จะบินต่อไปยังประเทศที่มีสายการบินไทย เพื่อบินตรงมายังประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า การจัดส่งคนไทยในลิเบียล็อตแรก จำนวน 41 คน เป็นนักศึกษาไทย 11 คน และแรงงาน 30 คน เดินทางออกมายังประเทศตูนีเซียโดยเร็วที่สุด
 
"สภาพความเป็นอยู่ของคนไทยในลิเบียค่อนข้างเป็นไปอย่างยากลำบาก และเป็นไปอย่างอัตคัด โดยทางสถานทูตได้พยายามให้การดูแลเรื่องอาหารกับคนไทยที่นั่นอย่างทั่วถึง ขณะที่มีนักศึกษาไทยบางส่วนได้เข้ามาพักอาศัยในสถานทูต เพื่อความปลอดภัยเป็นที่เรียบร้อย" นายณัฏฐวุฒิ กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดศูนย์ฯ ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2643-5259 (เริ่มใช้ตั้งแต่บัดนี้) และโทร. 0-2644-7245 (เริ่มใช้ 30 ก.ค.) หมายเลขโทรสาร  0-2643-5522 ติดตามสถานการณ์ล่าสุดได้ที่ Twitter@ MFAThai
 
(คมชัดลึก, 29-7-2557)
 
แรงงานกัมพูชา กลับเข้าทำงานในไทย ยังบางตา ด้านนายจ้างบางส่วน ยังไม่รู้ขั้นตอน แจ้งขอรับแรงงาน
 
29 ก.ค. ที่สำนักงานศูนย์ประสานงานชายแดนไทย-กัมพูชา พื้นที่ 2 กองกำลังสุรนารี ด่านแดนถาวรช่องจอม-โอร์เสม็ด ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ใช้เป็นศูนย์ประสานรับแรงงานกัมพูชากลับเข้าทำงานแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) มีเจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดสุรินทร์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจังหวัดสุรินทร์ เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองกาบเชิง และเจ้าหน้าที่ทหารชุดเฉพาะกิจที่ 2 กองกำลังสุรนารี ได้บูรณาการในการจัดทำทะเบียนประวัติ และนายจ้างมารับตัวแรงงานกลับเข้าไปทำงาน ในเขตประเทศไทย ในวันนี้มีนายจ้าง 5 ราย เดินทางมารับตัวแรงงานชาวกัมพูชา กลับเข้าไปทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 45 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในส่วนคนงานก่อสร้าง
 
ทั้งนี้ ยังพบว่ามีนายจ้างไม่ทราบขั้นตอนการรับแรงงานชาวกัมพูชา กลับเข้ามาทำงาน โดยไม่ได้แจ้งให้จัดหางานจังหวัดทราบ จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการรับแรงงานกลับเข้าทำงานดังกล่าว
 
(ไอเอ็นเอ็น, 29-7-2557)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net