Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เนื้อหาของรัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คสช. สะท้อนทัศนคติที่ต่อต้านนักการเมือง ระบบการเมืองแบบรัฐสภา และผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นทัศนะที่ครอบงำกลุ่มคนชนชั้นนำ ปัญญาชน ชนชั้นกลางในเมือง และสื่อมวลชนส่วนใหญ่มาเป็นเวลาเนิ่นนาน สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ อคติดังกล่าวจะถูกนำไปบรรจุลงใน รธน.ฉบับใหม่ต่อไปอย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลให้ความสุขของคนบางกลุ่ม กลายเป็นความทุกข์ของคนส่วนใหญ่ในประเทศในที่สุด

  • หลายมาตราใน รธน.ชั่วคราวกีดกันไม่ให้นักการเมืองเข้ามาเป็นสมาชิกของคณะรัฐมนตรี (ม.20), สมาชิกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ม.8), สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ม.29) และกรรมาธิการยกร่างรธน. (ม.33) ภารกิจอันสำคัญที่จะส่งผลต่อระบบการเมืองไทยในระยะข้างหน้าอย่างกว้างขวางล้วนอยู่ในมือของนายทหารและข้าราชการระดับสูง
     
  • เมื่อนักการเมืองถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วม ก็หมายความว่าไม่มีช่องทางให้ความต้องการของประชาชนอันหลากหลายได้เข้าสู่กระบวนเปลี่ยนแปลงประเทศไทยนี้เลย
     
  • มาตรา 8, 20, 29, 33 ก็คือผลของวาทกรรมนักการเมืองเลว คอรัปชั่นที่ถูกสร้างอย่างต่อเนื่องในช่วงราว 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แน่นอนว่าการคอรัปชั่นของนักการเมืองเป็นปัญหาใหญ่ แต่การคอรัปชั่นในระบบราชการที่เกิดขึ้นรายวัน ตามระบบกินตามน้ำ ไม่ใช่ปัญหาที่เล็กกว่าเลย ระบบการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธยุทโธปกรณ์ในกองทัพ ที่ไม่สามารถตรวจสอบเอาผิดเป็นปัญหาที่ส่งผลต่องบประมาณของประเทศอย่างแน่นอน
     
  • ความเกลียดชังนักการเมือง ยังลุกลามไปสู่การดูถูกเหยียดหยามประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ที่อยู่ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน พวกเขาถูกมองว่าเป็นพวกโง่ จน เจ็บที่เห็นแก่อามิสสินจ้างอันน้อยนิด พวกเขาจึงเป็นสาเหตุที่เปิดประตูให้นักการเมืองเลวเข้าสู่ระบบและทำร้ายประเทศไทย
     
  • แม้ว่าจะมีงานวิจัยทั้งไทยและเทศออกมามากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยืนยันว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของคนในต่างจังหวัดนั้น เกี่ยวข้องกับนโยบายที่ส่งผลต่อการพัฒนาชีวิตและชุมชน มากกว่าการขายเสียง แต่ทัศนคติของชนชั้นกลางในเมืองก็ปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงข้อนี้ และยังยืนยันโจมตีต่อไปว่า ต่อให้เลือกเพราะนโยบาย ก็ผิด เพราะเป็นนโยบายประชานิยมที่เลว เห็นแก่ได้ ทำลายเศรษฐกิจของประเทศ งบประมาณที่ทุ่มลงไปส่วนใหญ่เป็นเงินภาษีของคนกรุงเทพฯ นักการเมืองไม่มีสิทธินำไปใช้เพื่อสร้างความนิยมให้กับตนเอง
     
  • ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นที่ คสช.จะต้องกำหนดให้คณะกรรมาธิการร่าง รธน. สภาปฏิรูปฯ และสภานิติบัญญัติฯ หาทางสร้างกลไกต่างๆ และบรรจุไว้ใน รธน.ฉบับใหม่ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการคอรัปชั่น กีดกันนักการเมืองที่คอรัปชันไม่ให้เข้าสู่ตำแหน่งการเมืองได้อีก ป้องกันการใช้นโยบายประชานิยมเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เป็นต้น (ดูมาตรา 35)  
     
  • ประการสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ที่ยังโง่ จน เจ็บ เป็นผู้ตัดสินว่าใครหรือพรรคการเมืองใดจะเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศนี้อีกต่อไป ก็เชื่อได้แน่ว่า รธน.ใหม่จะต้องสร้างกลไกที่ทำให้เสียงส่วนใหญ่ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดอีกต่อไป แต่ระบบแต่งตั้งจะถูกนำมาใช้เพื่อลบล้างอำนาจของระบบเสียงส่วนใหญ่ในที่สุด
     
  • ในขณะที่การปฏิรูปของ คสช.มุ่งไปที่ปัญหาคอรัปชั่น สร้างกลไกตรวจสอบ-ควบคุมนักการเมือง และลดอำนาจของเสียงส่วนใหญ่ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนอีกฝั่งหนึ่งถึงภาวะสองมาตรฐานของกลไกศาล ตุลาการ และองค์กรอิสระทั้งหลาย ที่มุ่งห่ำหั่นกลุ่มการเมืองอีกฝ่ายหนึ่งจนทำลายความศรัทธาและหลักการขององค์กรของตนอย่างยับเยิน ตลอดจนเรียกร้องให้กลไกเหล่านี้มีที่มาที่ยึดโยงกับเสียงของประชาชน สามารถถูกตรวจสอบเอาผิดได้ เชื่อได้แน่ว่าจะไม่เกิดขึ้นใน รธน.ฉบับใหม่ ความเชื่อว่าคนในฟากฝ่ายนี้ล้วนเป็น “คนดี” ทำให้กลไกตรวจสอบ-ปฏิรูปไม่จำเป็นแต่ประการใด
     
  • สิทธิ เสรีภาพของประชาชน และความรับผิด (accountability) ของผู้มีอำนาจ สูญหายไปจาก รธน.ชั่วคราวโดยสิ้นเชิง แม้จะมีอยู่ 48 มาตรา แต่ต้องถือว่ามาตรา 3 ที่ระบุว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของมวลชนชาวไทย และ 4 ไม่มีรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของประชาชนไทยตามรธน.และกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่มีอยู่จริง เพราะถูกลบล้างด้วยมาตรา 44 และมาตราอื่นๆ ที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน จึงถือได้ว่า รธน.ชั่วคราว มีแค่ 46 มาตราเท่านั้น
     
  • มาตรา 44 ได้ให้ความชอบธรรมกับการใช้อำนาจเด็ดขาดกับผู้นำ คสช.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการจัดการกับผู้ที่มีการกระทำใดๆ ที่ถือว่าเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อเป้าหมายของ คสช. ไม่มีข้อสงสัยว่ามาตรา 44 นั้นคือการรับมรดกของมาตรา 17 ที่ใช้อย่างกว้างขวางในยุครัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คสช.คงเชื่อว่าด้วยอำนาจอันเด็ดขาดนี่จะทำให้พวกเขาสามารถประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ ที่ประสบความสำเร็จทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ (ภายใต้การอุปถัมภ์อัดฉีดจากสหรัฐฯ) และประชาชนในยุคนั้นก็ยังชื่นชมในความเด็ดขาดของท่านผู้นำ แต่สังคมไทยยุคสฤษดิ์และยุค คสช. นั้นต่างกันอย่างลิบลับ (ดูบทสนทนาของชาญวิทย์ เกษตรศิริ และทักษ์ เฉลิมเตียรณ)
     
  • รธน.ชั่วคราวไม่ได้ระบุว่า คสช.จะสลายตัวไปหลังจากมีรธน.ใหม่และมีการเลือกตั้งหรือไม่ บทเฉพาะกาลในรธน.ใหม่ อาจะเป็นที่สิงสถิตย์ของ คสช.และอำนาจตามมาตรา 44 ต่อไปก็เป็นได้

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net