Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หลังจากที่บริหารประเทศโดยไม่มีรัฐธรรมนูญมาเป็นเวลา 2 เดือน ในที่สุด เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก็ได้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล หัวหิน เพื่อรับพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 ที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว และได้นำมาสู่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ

ในทางสถิติรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 19 ในประวัติศาสตร์ไทย และเป็นฉบับที่ 16 ที่ประกาศใช้ในรัชกาลปัจจุบัน และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะปูทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ซึ่งจะยิ่งเป็นการตอกย้ำประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก และที่สำคัญคือไม่มีใครเชื่อเลยว่า รัฐธรรมนูญฉบับที 19-20 นี้ จะเป็น 2 ฉบับสุดท้าย เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครเชื่อเลยว่า กองทัพไทยจะทำรัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย แล้วประเทศไทยจะไม่มีรัฐประหารอีก

แต่แม้ว่ารัฐธรรมนูญไทยจะเป็นเรื่องชั่วคราวอย่างยิ่งเสมอมา ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่างน้อยที่สุด รัฐธรรมนูญก็จะเป็นกฎหมายปกครองสูงสุดในขณะนี้ และจะเป็นตัวออกแบบโครงสร้างทางการเมืองที่ชนชั้นนำในสมัยปัจจุบันต้องการที่จะสร้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคนต่อไป

เรื่องแรกสุด ที่จะต้องกล่าวถึงคือ รัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้ ร่างขึ้นโดยมีเนติบริกร วิษณุ เครืองาม ร่วมด้วย พรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ภายใต้การกำกับของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คสช. โดยไม่มีกระบวนการใดเลยที่จะหารือกับสาธารณชน หรือนักวิชาการอื่นใด จึงเท่ากับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับกำหนดกันเอง โดยนำตัวแบบมาจากธรรมนูญฉบับชั่วคราวของคณะรัฐประหารในอดีต ถ้าจะเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับพระวิษณุก็คงจะเก๋ไก๋ไม่น้อย

ต่อมาเมื่อเริ่มต้นพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ตั้งแต่คำปรารภที่อธิบายมาอย่างยืดยาวว่า ประเทศเกิดปัญหาความแตกแยกทางการเมือง และเป็นวิกฤตร้ายแรงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ถึงขนาดที่อาจขยายตัวเป็นจลาจล ซึ่งเป็นการ ทําลายความมั่นคงของชาติ และความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อระบอบการปกครอง คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงจำเป็นต้องเข้ายึดและควบคุมอำนาจ และเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิมให้เหลือแต่หมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์แต่เพียงหมวดเดียว และนำมาซึ่งการประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราวนี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการยืนยันเหตุผลของการทำรัฐประหารของคณะ คสช. โดยไม่ต้องพิจารณาว่า เหตุใดการรัฐประหารครั้งนี้จึงเป็นที่ต่อต้านอย่างมากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จนต้องใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการสะกดการต่อต้านของประชาชนเอาไว้ตลอดเวลา

สำหรับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 48 มาตรา ซึ่งได้รับคำอธิบายจากวิษณุ เครืองามว่า เป็นฉบับ”ลำธาร 5 สาย” แต่เมื่อพิจารณาแล้ว เห็นได้ว่า เป็นลำธารสายเดียว คือ ให้อำนาจสูงสุด แก่ คณะ คสช. โดยกำหนดไว้ในมาตรา 42 คงรักษาไว้ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตลอดสมัยของรัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้ และแม้ว่าจะให้มีสภานิติบัญญัติ 220 คน มาทำหน้าที่รัฐสภา และให้มีนายกรัฐมนตรีกับคณะรัฐมนตรีมาทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร แต่ก็กำหนดให้หัวหน้าคณะ คสช.เป็นคนเลือกและรับสนองพระบรมราชโองการ

และที่มากกว่านั้น คือการกำหนดมาตรา 44 ที่เลียนแบบมาตรา 17 ของธรรมนูญฉบับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้อำนาจสูงสุดและเด็ดขาดกับหัวหน้าคณะ คสข. และยังมีมาตรา 48 ที่นิรโทษกรรมการกระทำทั้งหมดของคณะ คสช. และผู้ปฏิบัติตามคำสั่งให้ไม่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายทั้งย้อนหลังและล่วงหน้า ทำให้ผู้ที่เคยต่อต้านกฏหมายนิรโทษกรรมทั้งหลายต้องพิศวงงงงัน

ข้อที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับอื่น คือ การกำหนดให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกิน 250 คน มาจากการสรรหา จากจังหวัด 77 คน ส่วนอีก 173 คน มาจากการเสนอชื่อให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้ง สภานี้จะทำหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ พลังงาน สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สื่อสารมวลชน สังคม และอื่น ๆ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสังคมไทย ซึ่งการกำหนดเรื่องสภาปฏิรูปนี้ก็เป็นอย่างสอดคล้องกับข้อเสนอปฏิรูปประเทศตามแบบที่ฝ่าย กปปส.ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ เคยเสนอไว้นั่นเอง

แต่กระนั้น รัฐธรรมนูญนี้ได้มอบหมายหน้าที่ให้สภาปฏิรูปเป็นผู้คัดเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีการกำหนดกรอบเรียบร้อยแล้วว่า จะต้องร่างให้คลุมหัวข้อเช่น การสร้างกลไกป้องกันการใช้นโยบายประชานิยม การป้องกันไม่ให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาคดีทุจริตคอรัปชั่นเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองโดยเด็ดขาด การบังคับให้รัฐธรรมนูญส่งเสริมหลักคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล เป็นต้น นี่ถือเป็นนววัตรกรรมใหม่ของคณะร่างรัฐธรรมนูญ

ในคุณสมบัติของการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ สมาชิกสภาปฏิรูป และคณะรัฐมนตรี จะมีข้อความระบุคุณสมบัติว่า จะต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองภายใน 3 ปีก่อนหน้านี้ จึงเท่ากับว่าธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้เป็นฉบับหวาดกลัวนักการเมือง แต่ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามใดเลยสำหรับข้าราชการประจำและทหารประจำการ หมายความว่า ทหารและข้าราชการสามารถที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองควบ กินเงินเดือนสองทางได้ทันที นี่เป็นการเปิดโอกาสยุคทองของระบบราชการอีกครั้ง

ประการต่อมาก็คือ รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ไม่มีหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เรื่องการห้ามการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการปิดกั้นควบคุมสื่อมวลชน และไม่มีมาตราใดกำหนดมาตรการในการตรวจสอบ คณะ คสช. สภานิติบัญญัติ หรือ คณะรัฐบาลที่สภานิติบัญญัติจะจัดตั้งขึ้น คือต้องใช้ความเชื่อกันเลยว่า คนเหล่านี้เป็นคนดี จะปฏิบัติงานด้วยความบริสุทธิ์ โปร่งใส ไม่มีการทุจริตทำมาหากิน เหมือนพวกนักการเมืองเลือกตั้งทั้งหลาย

ตามปกติแล้ว อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ควรจะต้องวางหลักไว้ที่การสร้างสัญญาประชาคม สร้างหลักประกันอำนาจให้กับประชาชน โดยถือว่าประชาชนเป็นที่มาแห่งอำนาจอธิปไตย และสร้างหลักเกณฑ์ตรวจสอบในการใช้อำนาจ เพื่อให้มีการถ่วงดุล ให้ผู้ใช้อำนาจต้องรับผิดชอบในการใช้อำนาจของตน แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ไม่มีหลักการเหล่านี้เลย

บทความจะขอลงท้ายว่า ถ้าจะต้องทำใจให้ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และฉบับถาวรที่จะคลอดติดตามมาในกรอบของรัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้ จะต้องลืมไปเลยว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ให้ถือเสียว่า ฝ่ายทหารและข้าราชการจะบริหารประเทศอย่างไร ก็ตามใจท่านก็แล้วกัน

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน : โลกวันนี้ วันสุข ฉบับที่ 474 วันที่ 2 สิงหาคม 2557

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net