สิทธิมนุษยชนกับปฏิกิริยาสวนโต้ของเชลยศึก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เกริ่นนำ

ปีพุทธศักราช 2557 ในประเทศที่ใช้ภาษาไทย  คำว่า “สิทธิมนุษยชน” ตามคำปรารภของปฏิญญาสากล ดูเหมือนจะเลือนหายไป และเพื่อทบทวนอย่างละเอียดถึงนิยามที่ “เคยมี”  น่าจะต้องพิจารณาว่า ในขณะนี้ “มีการยอมรับนับถือเกียรติศักดิ์ประจำตัว และสิทธิเท่าเทียมกัน สำหรับทุกๆคนหรือไม่?”[1] และในกรณีที่เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับพันธกรณีที่ประเทศไทย “ต้อง” ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้เกิดคำถามอีกว่า สิทธิในการสงสัยโดยบริสุทธิ์ใจจะมีได้หรือไม่?  เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะถูกห้ามแม้กระทั่งเป็นเพียงความสงสัย เพื่อให้ใกล้ตัวยิ่งขึ้น การอ้างถึงปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 2556 ที่กล่าวว่า “สิทธิมนุษยชนทั้งมวล มีความเป็นสากล ไม่อาจแบ่งแยกได้”[2] “ก็คงไม่มีความเป็นสากลอยู่จริง” นั่นหมายถึง “เราอาจไม่มีสิทธิมนุษยชนสำหรับทุกคนก็ได้ แต่จะมีสำหรับบางคนเท่านั้น”  ซึ่ง “ความจำเป็นตามเหตุผลในเรื่องความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ ศีลธรรมอันดีของประชาชน” [3] เป็นข้อที่ปฏิญญาอาเซียนอ้างไว้แล้วเพื่อป้องกันตนเองจากความพลั้งพลาดที่จะเผลอไปละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้า  แต่การคุ้มครองสิทธิทางการเมือง (Political right) ในข้อพื้นฐานอย่าง “การห้ามพรากอิสรภาพพลเมืองตามอำเภอใจ”, “การห้ามย่ำยีศักดิ์ศรี” และ “ให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ก็ยังเป็นสิ่งที่ระบุชัดว่าให้ปฏิบัติหรือห้ามปฏิบัติ [4] ซึ่งความลักลั่นเช่นนี้ทำให้น่าตั้งคำถามว่า หรือทั้งหมดจะเป็นเพียงการเล่นละครของบรรดาผู้ปกครองนักสถาปนาอำนาจที่มุ่งหวังกล่อมเกลามนุษยชนให้เชื่องต่ออำนาจด้วยคำถ้อยคำใหญ่โตสวยหรู น่าเจ็บปวดที่จะต้องกล่าวว่า ในศตวรรษที่ 21 “เรามิได้มีสิทธิมนุษยชน ดังที่บรรดาผู้ปกครองเขาหลอกลวง” ถึงกระนั้น เมื่อมองในระดับมหภาค  โลกก็ยังมีบางประเทศที่ “พยายาม” ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนไม่มากก็น้อย นั่นจึงทำให้มนุษยชนพอที่จะมีเป้าหมายและความหวังอยู่บ้าง (Statement of aspiration) แม้ “สิทธิ” (Right) ในฐานะสิ่งที่มีการตกลงกันว่าเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตามธรรมชาติจะยังไม่เกิดขึ้น จะเห็นว่าการเรียกร้องสิทธิเป็นงานที่ต้องการความเฉียบคมอย่างมาก น่าเชื่อว่าความเฉียบคมระดับนี้อาจไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย

เนื้อหา

ความแตกต่างของ “Human Right” และคำแปลในภาษาไทย

โดยไม่เคร่งครัดนัก คำว่า “Right” ซึ่งในที่นี้แปลว่า “สิทธิ”, “ความถูกต้องชอบธรรม” มาจากภาษาลาตินว่า “ius” ซึ่งแปลว่า กฎหมาย หน้าที่ ความยุติธรรม ในยุคกลางเรียก Natural right ว่า ius naturale แต่กระนั้น ก็ทำให้นึกถึงวลีลาตินที่ใช้คำนี้เหมือนกันที่แผลงเป็นว่า “Ius summum saepe summa est militia” (Extreme law is often extreme injustice)  จะเห็นว่าเรื่อง Right ที่เดินทางมาจากยุคกรีกต่อเนื่องถึงยุคกลางเกี่ยวข้องกับความยุติธรรม(และความอยุติธรรม) มาโดยตลอด แม้จะแปล Right ใหม่เป็นว่า “มือข้างขวา” จากภาษาลาตินว่า “Dexter” (ทักษิณา-Daksina ในสันสกฤต) คำว่า “ขวา” ยังถูกนิยามว่า ชำนาญ  (dexterous) ไปอีกอย่างเลื่อนไหลในหลายภาษา แต่เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาคำว่า “สิทธิ”  ซึ่งมาจากภาษาสันสกฤตว่า Siddhi กลับให้ความหมายว่าเป็นพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ (psychic ability) และมักใช้คู่กับคำว่า “ศักดิ” (ซึ่งน่าจะให้ความสำคัญกับเพศหญิงหรือศักติ แต่กลับกดบังคับเพศหญิงด้วยไว้อย่างแยบยล) น่าสนใจว่า ศักดินาอาจเลื่อนไหลกลายเป็นใช้คำว่าสิทธิแทนก็ได้ นอกจากคำที่เปลี่ยน ทุกอย่างจึงไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น คนไทยใช้ “สิทธิ์” เพื่อเรียก “ศักดิ์” นั่นคือ เรียกความมีศักดา, ศักดิ์ศรี ด้วยวิธีเหนือธรรมชาติ ไม่เกี่ยวข้องกับความชำนาญ ไม่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม เมื่อเป็นแบบนี้ ไทย-สิทธิมนุษยชน (Thai-Human right) คือ ศักดินาแบบหนึ่ง เป็นสิ่งที่ได้รับการประทานมาจากฟ้าสวรรค์ หรือจากขบวนการเพื่อศักดา ดังจะเห็นได้จาก การเรียกร้องสิทธิที่เห็นได้ชัดว่านำไปสู่ความไม่เท่าเทียมของแนวคิดแบบสุดโต่ง และที่จริงอาจไม่ใช่เรื่องสุดโต่ง (Radical) เพราะอาจเป็นเพียงปฏิกิริยาทางจิตวิทยาว่าด้วยการสร้างตัวตน  (ประกาศศักดา-Self identifying) เท่านั้น

การเรียกร้องสิทธิมนุษยชนแบบไทยๆ ในฐานะกิจกรรมทางจิตวิทยา

Defense mechanism หรือกลไกทางจิตวิทยาเป็นสิ่งที่จำต้องถูกใช้อยู่แล้ว จึงไม่มีความถูกหรือผิดในตนเอง แต่ปัญหาคือความเหมาะสมของชนิดกลไกที่ใช้ประกอบกิจกรรม เพราะอย่างไรเสียก็ต้องการไปสู่เป้าหมายและเล็งผลเลิศ แต่กลายเป็นว่า การเรียกร้องสิทธิมนุษยแบบไทยๆ บ่อยครั้งเป็นเพียงกิจกรรมทางจิตวิทยา เพื่อกลบเกลื่อนความบาดเจ็บหรือปมแผลทางใจในอดีต ไม่ก็เป็นลักษณะการทำตามกระแส ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การจะมีปมหรือไม่อย่างไร? แต่ปัญหาอยู่ที่ความพยายามจะทำให้เป้าหมายบรรลุวัตถุประสงค์ บ่อยครั้ง การเคลื่อนไหวให้บรรลุวัตถุประสงค์มีชีวิตและความเป็นความตายของตนและเพื่อนร่วมอุดมการณ์เป็นเดิมพัน แต่น่าเสียดายที่การก้าวไม่ข้ามความสับสนในตนเองทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเลวร้ายมากขึ้นไปเสียทุกครั้ง และนั่นหมายถึงสิทธิมนุษยชนที่ริบหรี่ลง และถึงขั้นสูญสิ้น สูญหาย ถูกประหารไป ทั้งๆที่แนวคิดเกี่ยวกับ “สิทธิ”, “เสรีภาพ”, “ภราดรภาพ”, “สิทธิมนุษยชน” เป็นคำศัพท์ที่มีปูมหลังเพียงพอต่อการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้เป้าหมายบรรลุผล น่าเสียดายที่การเคลื่อนไหวแบบสุดโต่งจบลงอย่างง่ายดาย คล้ายๆกับอารมณ์ที่แปรปรวนไปเพราะสภาพแวดล้อมต่างๆ นั่นคือ ทำลายภราดรภาพ ที่สำคัญเป็นการทะเลาะวิวาทที่ไม่ก่อให้เกิดสิ่งใหม่

โลกทัศน์แบบนักรบผู้ทรงสิทธิศักดิ์ ปะทะ เชลยศึกที่ไม่รู้จักสิทธิของตนเอง

ยุทธวิธีที่ไม่ชัดเจน ความเป็นปัจเจกนิยมที่สูงและล้นเกิน ความลักลั่นในบริบทของการแสดงออกที่วางอยู่บนเงื่อนไขอันสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้แผนล้มเหลว เป็นผลให้กลายเป็นผู้แพ้ยกแรกในสงครามได้ง่ายๆ เพราะ “Right” ควรจะให้ความหมายของคำว่า “ชำนาญ” และลึกไปกว่านั้นคือ รู้จักทักษิณาวรรต คือ การมีปฏิสัมพันธ์เชิงสัญญะในทางบวกกับมวลชน (ในบริบทอินเดียเชื่อว่าทั้งผู้ทำทักษิณาทานและผู้รับทักษิณาทานย่อมได้รับความสบายใจถ้วนหน้า) เพราะถ้า “Thai-Right” เป็นเพียงแต่อวตารของสิทธิศักดิ์ การเรียกร้อง “สิทธิ” ก็เป็นยุทธวิธีที่นักรบคิดว่าเป็นการวัดด้วยสงครามอย่างถึงพริกถึงขิง นั่นยิ่งตอกย้ำโลกทัศน์แบบนักรบผู้ทรงสิทธิศักดิ์ว่า “ผู้เรียกร้องสิทธิ” จะเข้ามาลดทอนศักดิ์ของตัว (ด้วยการดึงลงไปให้เท่ากัน) ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ มีหรือที่จะปล่อยเอาไว้ให้เป็นเสี้ยนหนาม การกำจัด กวาดล้าง ล่าแม่มดจึงเกิดขึ้น จึงไม่แปลกที่ เมื่อผู้เรียกร้องสิทธิตกเป็นเชลยศึก ย่อมต้องถูกปฏิบัติอย่างป่าเถื่อนตามวิถีอเมริกันนิยม (ด้วยเพราะบรรดานักรบคิดว่าคนเหล่านี้อยู่ในเกมอำนาจเดียวกัน) มุมมองแบบนี้ จำต้องสมมติ (Assume) ว่า โลกทัศน์แบบนักรบผู้ทรงสิทธิศักดิ์ เป็นอย่างไร? และจะมีปฏิกิริยาทางจิตวิทยาอย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้? ที่สำคัญการสวนโต้ด้วยอารมณ์ หรือกิจกรรมทางจิตวิทยาที่ไม่ก้าวพ้นตนเอง ย่อมไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้น นอกจากความหวือหวาระยะสั้น เพราะถ้าศึกษาประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้อง “Human Right” ในฐานะปรากฏการณ์ (ไม่ใช่การเดินขบวนเพียง 1-2 วัน) จะพบว่า จำต้องหนักแน่นอย่างมาก เพื่อผลักดัน หรือเตรียมการให้ทุกอย่างบรรลุเป้าหมาย อาจเป็นคำแนะนำที่ดีก็ได้ ถ้าจะเริ่มศึกษาโลกทัศน์นักรบด้วยการย้อนดูภาพยนตร์ทางประวัติศาสตร์เชิงชาตินิยม ใช่แล้ว คุณมีสิ่งที่ต้องจ่าย

พลังแห่งการสวนโต้ของเชลยศึก : มือที่มองไม่เห็น

“You'll Never Walk Alone”(1945) เป็นคำที่กล่าวอย่างหนักแน่นได้ในศตวรรษที่ 21 เพราะมนุษย์ถูกแทรกแซงและแทรกซึมจากนวัตกรรมที่มองไม่เห็นจนแทบไม่เหลือเนื้อที่สำหรับการอยู่คนเดียวจริงๆ ดังนั้น คุณจะมีมือ (Right hand) ที่มองไม่เห็นมากมายระดับ World Wide ที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลคุณ ผลักดัน และต่อสู้เคียงข้างคุณ และเมื่อการวางแผนดำเนินงานดีพอ พลังแห่งการสวนโต้ของคุณย่อมมีผลสั่นคลอนรากฐานของอำนาจวาทกรรม การโจมตีซ้ำๆอย่างมียุทธวิธี เฉียบคม ชาญฉลาด อาจทำให้คุณมีความได้เปรียบที่จะเสนอข้อเรียกร้องออกมาดังๆ คือ “Human Right” และเพื่อให้ “ถูกจับตาดู” (Human Right Watch) คำแนะนำ คือ ควรสวนโต้ด้วยอารยะเพื่อขับเด่นภาพอนารยะให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แบบที่คานธีเคยสร้างปรากฏการณ์เช่นนี้กับฝ่ายอังกฤษ (แม้ว่าอังกฤษก็มิได้อนารยะขนาดนั้นก็ตาม) สิ่งที่แตกต่างกัน คือ คานธีเคลื่อนไหวภายหลังที่มีปฏิสัมพันธ์อันดีกับมวลชนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมวลชนของคานธีไม่ว่าจะถูกจะผิดอย่างไร ได้กลายเป็นมือที่มองไม่เห็นซึ่งทำให้คานธีมีอำนาจในการงัดข้อกับนักรบผู้ทรงสิทธิศักดิ์ภายใต้มือที่มองไม่เห็นของพระราชินีอังกฤษเช่นเดียวกัน ซึ่ง พลังมือที่มองไม่เห็นของมวลชนย่อมปะทะกับพลังมือที่มองไม่เห็นแห่งการกดบังคับเสมอ แม้ว่าจะปล่อยให้นักรบผู้ทรงสิทธิศักดิ์หลงระเริงอยู่ในอำนาจนานนับทศวรรษก็ตาม

ข้อสังเกตเกี่ยวกับ “ความสุข” ในฐานะแรงปฏิกิริยา (Reaction)

แรงปฏิกิริยาเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีแรงกิริยา (action) ส่งออกไป สมมติว่า “ความสุข” เป็นชื่อของแรงปฏิกิริยาที่ส่งกลับมา และ “ความสุข” ที่ส่งกลับมา ไม่ใช่และไม่น่าใช่ “ความสุข” ในนิยามของญาณวิทยาของคำว่า “สุข” เช่นนั้น “ความสุข” ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นที่จริงอาจเป็นเพียง “สัญญะแห่งการแก้แค้น” (Signify of revenge) ซึ่งเป็นการเปิดเผยความคิดสุดโต่งที่สวนโต้ฝ่ายตรงข้ามอย่างเผ็ดร้อนเมื่อเกมอำนาจพลิกขั้ว ดังนั้น “ความสุข” คืออุปลักษณ์ (Mataphor) ของการแก้แค้นอย่างเป็นรูปธรรม หนักแน่น และสถาปนาบนอำนาจกดบังคับ ซึ่งทำให้เราสืบค้นต่อไปได้อีกว่า ต้นเหตุของการสวนโต้ด้วยอุปลักษณ์สุดโต่งเช่นนี้ ก็เนื่องมาจากการตีความแรงกิริยาที่ส่งไปในลักษณะอุปลักษณ์เช่นเดียวกัน เป็นต้นว่า “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” เป็นสัญญะแห่งการรื้อทำลาย (Signify of deconstruction)  ซึ่งเป็นการตีความที่ยืนอยู่บนโลกทัศน์แบบ “ศักดิ์” (Hierarchy), สิทธิ์ (psychic ability), ศักดิ์สิทธิ์ (Sacred), สิทธิศักดิ์ (prestige) และการมองข้ามเรื่องเหนือธรรมชาติ (หรือหลายคนอาจเรียกว่าเรื่องไร้เหตุผล) โดยให้น้ำหนักกับปฏิฐานนิยม-วิทยาศาสตร์มากกว่าอื่นใดหมด ย่อมส่งผลให้ไม่อาจบรรลุเป้าหมายในทางยุทธวิธี เนื่องจากไม่รู้จักคู่ต่อสู้ ทั้งที่คู่ต่อสู้ แม้จะไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากนัก แต่กลับมีข้อมูลมากพอ (ผ่านอำนาจ) และแทรกซึมจนทำลายขวัญให้ยับเยินไปอย่างง่ายดาย

สรุป

ในเมื่อนักเรียกร้องสิทธิมนุษยชนไทยยังวนเวียนอยู่ระหว่าง Romanticize Nostalgia and Radical บนพื้นความเข้าใจ “คำ” ที่หล่อหลอมมาจากบริบท “ศักดิ์” (Hierarchy), สิทธิ์ (psychic ability), ศักดิ์สิทธิ์ (Sacred), สิทธิศักดิ์ (prestige) สิ่งที่ต้องระวังคือไม่ทำให้ “Human Right” หรือ “Natural Law” กลายเป็น “ชนชั้น” เพราะในตัวมันเอง การเรียกร้องสิทธิมนุษยชนอยู่ในระดับที่เป็นเป้าหมายและความหวัง ถึงแม้ว่านิยามที่แท้จริงของเรื่องนี้ยังคลุมเครือและสับสนในเชิงภววิทยา แต่มนุษย์มากมายก็ถูกละเมิดชีวิต สวัสดิภาพ ทรัพย์สินไปเรียบร้อยแล้ว ปฏิบัติการเพื่อสิทธิมนุษยชนนั้นต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการรวมศูนย์และย้อนกลับไปสู่ชนชั้น (ซึ่งคือกิริยาแห่งการหมิ่นแคลนผู้ที่ตนคิดว่าต่ำต้อยทางความคิดมากกว่า) ทั้งยังเป็นราคาที่คุณจะต้องจ่ายเมื่อคุณตั้งใจดีแล้วที่จะกระโดดเข้ามาเล่นเกมนี้ ในประเทศนี้ นั่นคือ คุณต้องหัดทำความรู้จักกับสิ่งที่คุณฝืนใจที่จะรู้จักมัน (เช่น โลกทัศน์ของนักรบในประวัติศาสตร์เชิงชาตินิยม)  และที่สำคัญคุณควรดำเนินยุทธวิธีให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ตัวคุณตั้งไว้ เผลอๆ ว่า เมื่อคุณได้พบกับ “Human Right” ที่น่าเชื่อได้ว่าเป็น Natural law คุณอาจจะรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง เคว้งคว้าง จนที่สุด คุณก็ค้นพบว่า คุณต้องการเพียงการกล่อมเกลาให้เชื่องทางอำนาจ แต่ต้องเป็นอำนาจที่คุณพึงใจเท่านั้น  เช่น Democracy  และนั่นคงเป็น “ความสุขของเธอประชาชน”

อ้างอิง

[1] กองส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม. สิทธิมนุษยชน สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ สนธิสัญญาหลักระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยภาคี น.3

[2][3][4] ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เข้าถึงออนไลน์จาก http://www.mfa.go.th/asean/contents/files/asean-media-center-20130614-163951-210860.pdf

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท