รายงาน: ยุบคุกการเมือง เสียงกรีดร้องในความเงียบ

ย่างเข้าเดือนที่สามของการมอบนโยบาย “คืนความสุข” ให้คนไทย โดย คสช. ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ซึ่งเป็นที่รับรู้ทั่วกันในสังคมว่า เป็นสถานที่คุมขังนักโทษการเมือง ที่เปิดใช้งานในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อเดือนมกราคม 2555 ก็ต้องปิดตัวเองลงอย่างเงียบๆ โดยย้ายนักโทษการเมืองที่ยังคงเหลืออยู่ 22 คน เป็นชาย 20 คน หญิง 2 คน กลับเรือนจำภูมิลำเนา  ทั้งนี้ นายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้เหตุผลในการยุบเรือนจำว่า

“ผู้ต้องขังในเรือนจำดังกล่าว เป็นผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาของศาล และมีกำหนดโทษชัดเจนแล้ว ส่วนใหญ่ต้องโทษจำคุกเป็นเวลานานกว่า 20 ปี เพราะก่อคดีที่มีโทษสูง เช่น วางเพลิงเผาศาลากลางจังหวัด คดียิงเฮลิคอปเตอร์ทหาร คดีครอบครองอาวุธ ที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมได้พิสูจน์แล้วว่า ผู้ต้องขังกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ต้องขังคดีการเมือง แต่เป็นผู้ต้องขังคดีอาญาทั่วไป จึงสมควรย้ายกลับคุมขังยังเรือนจำที่มีอำนาจควบคุม นอกจากนี้ เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ใช้คุมขังผู้ต้องขังจำนวนน้อยมาก แต่มีภาระค่าใช้จ่ายสูง ต้องแบ่งเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติงานร่วมกับตำรวจโ ดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละกว่า 1 ล้านบาท” (อ่านข่าว ที่นี่)

กรณีดังกล่าว เป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมายของญาติผู้ต้องขัง และผู้ที่ติดตามสถานการณ์ทางการเมือง หลัง คสช. ออกคำสั่งที่ 84/2557 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 ให้ พันตำรวจเอกสุชาติ วงศ์อนันต์ชัย พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และให้นายวิทยา สุริยะวงศ์ ดำรงตำแหน่งแทน  และในเวลาไม่ถึง 1 เดือน อธิบดีใหม่ก็ทำให้ความคาดหมายกลายเป็นความจริง

แม้นายวิทยา จะให้เหตุผลที่ทำให้สังคมส่วนหนึ่งคล้อยตามว่า การมีอยู่ของเรือนจำนักโทษการเมืองเป็นสิ่งเกินความจำเป็น หากแต่สำหรับผู้ที่ติดตามคดีทางการเมืองแล้ว ทุกถ้อยคำของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่ คสช. แต่งตั้ง ล้วนโต้แย้งได้ทั้งสิ้น

ทีมข่าวการเมืองสำรวจข้อมูลพบว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำหลักสี่ก่อนการยุบเรือนจำ ถูกดำเนินคดีในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดง ในปี 2552 และ 2553 หรือเป็นคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองในห้วงเวลาดังกล่าวและใกล้เคียง ในจำนวนผู้ต้องขัง 22 คน มีเพียง 4 คน เท่านั้นที่มีโทษเกินกว่า 20 ปี ส่วนใหญ่มีโทษต่ำกว่า 10 ปี และเกือบ 10 ราย มีโทษต่ำกว่า 5 ปี อีกทั้งบางรายเหลือโทษอีกไม่กี่เดือนก็จะได้รับอิสรภาพแล้ว นอกจากนี้ มี 6 รายเท่านั้น ที่คดีถึงที่สุด ส่วนที่เหลือ คดีอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ – ฎีกา ทั้งสิ้น

หากอ้างถึงความสิ้นเปลืองงบประมาณ เฉลี่ยปีละกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งถ้าคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อคนก็ตกอยู่ที่ประมาณ 150 บาท/วัน/คน จริงอยู่ อาจสูงกว่างบประมาณในการดูแลผู้ต้องขังทั่วไป ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 91 บาท/วัน/คน แต่ไม่ได้สูงเกินกว่าที่กรมราชทัณฑ์ ตลอดจน คสช. จะรับภาระได้ หากเทียบกับงบประมาณกว่า 3 แสนล้าน ที่ คสช. อนุมัติจ่ายใน 2 เดือนที่ผ่านมา เทียบไม่ได้แม้แต่งบประมาณปรับปรุงทำเนียบรัฐบาล 252 ล้านบาท

ประเด็นสำคัญ หลักการหรือการให้นิยามเกี่ยวกับ “นักโทษการเมือง” คืออะไรกันแน่  การที่ผู้ต้องหาถูกศาลตัดสินให้ได้รับโทษทางอาญาคือตัวชี้วัดว่า เขาไม่ได้เป็นนักโทษการเมือง เป็นหลักการที่ถูกต้องจริงหรือ ถ้าไม่จริง เช่นนั้นแล้ว อะไรคือเบื้องหลังของการยุบเรือนจำนักโทษการเมือง ที่เปิดใช้งานมาได้เพียง 2 ปี 6 เดือน และมีอันต้องปิดฉากลงพร้อมๆ กับรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ได้ริเริ่มมันขึ้นมา  และการยุบเรือนจำนักโทษการเมืองมีนัยยะอะไรต่อสังคมไทยในสถานการณ์ปัจจุบันบ้าง ประชาไทได้สัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับความเป็น “นักโทษการเมือง”  เพื่อสำรวจข้อเท็จจริงจากประสบการณ์ตรง และทรรศนะของพวกเขาต่อประเด็นดังกล่าว ท่ามกลางความเงียบงันของสังคม

 

เสาวลักษณ์ โพธิ์งาม

ทนายความรุ่นใหม่ที่อาสาเข้าให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่ผู้ต้องหาที่เป็นนักโทษทางการเมือง อีกทั้งยังมีส่วนร่วมในการเขียนรายงาน “ความจริงเพื่อความยุติธรรม: เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา – พฤษภา 53” ของ ศปช. (ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย. – พ.ค. 53) ในประเด็น การจับกุมดำเนินคดีอันสืบเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองปี 53

“เรือนจำหลักสี่ถือกำเนิดขึ้นมา เพราะว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยมองว่า คดีเกี่ยวกับการชุมนุมเมื่อปี 53 เป็นคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง อันเนื่องมาจากผู้ชุมนุมได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองและถูกจับ และรวมถึงคนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม แต่ถูกรัฐบาลหุ่นเชิดอย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จับแบบเหวี่ยงแหและสร้างพยานหลักฐานเท็จ ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริง ถ้าได้ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับคดีของนักโทษที่อยู่เรือนจำหลักสี่แล้ว จะพบว่าทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองไม่มากก็น้อย ตั้งแต่ไปร่วมชุมนุมจริงและไปสังเกตการณ์การชุมนุม อีกทั้ง ในขณะถูกจับกุมอยู่ภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งให้อำนาจทหารอย่างมากมายในการกวาดล้างคนที่ชุมนุมทางการเมือง

การที่ ผบ. เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ออกมาบอกว่าไม่ใช่คดีการเมือง เป็นคดีอาญาปกติ เป็นการโกหกต่อประวัติศาสตร์  โดยไม่มองความจริงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเรือนจำหลักสี่ คือผลพวงจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเมื่อปี 53 ทั้งนั้น  และการที่รัฐบาลทหารได้สั่งให้ยุบเรือนจำหลักสี่ ก็เท่ากับรัฐบาลทหารมองว่าประชาชนไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อันเป็นการมองข้ามความเป็นจริงของสังคมไทยที่เกิดขึ้นเมื่อปี 53  การพูดคำว่า ปรองดอง จึงเป็นเพียงโวหารทางเมืองของรัฐบาลทหาร อีกทั้ง ยังเป็นการพยายามยุติแนวคิดนักโทษการเมือง และพยายามบอกต่อสังคมว่า ประเทศไทยไม่มีนักโทษทางการเมือง มีแต่นักโทษคดีอาญาปกติ”

 

อานนท์ นำภา

ทนายความอาสาอีกคน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่ผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของ นปช. ในปี 2553 

“จริงๆ เรื่องการแยกนักโทษทั่วไปกับนักโทษการเมืองออกจากกันนั้น ในสมัยเพื่อไทยเป็นรัฐบาลมีการพูดถึงและคุยกันตกแล้วว่าควรแยก ในระดับนโยบายตกลงร่วมกันว่า ควรมีเรือนจำนักโทษการเมือง โดยฝ่ายค้านคือ พรรคประชาธิปัตย์ มีเงื่อนไขเพียงว่า ห้ามไม่ให้ย้ายนักโทษ ม.112 ไปเรือนจำการเมือง ทั้งๆ ที่เป็นนักโทษการเมืองแน่ๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการถอยคนละก้าว คือให้มีเรือนจำและนำนักโทษการเมืองไปควบคุมที่เรือนจำนักโทษการเมืองยกเว้นนักโทษคดี ม.112

ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งกันทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งในทางโครงสร้าง ซึ่งมีคู่ขัดแย้งฝ่ายหนึ่งเป็นประชาชน  เราถือว่า การกระทำหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดที่มีเหตุทางการเมือง  หรือมีแรงจูงใจทางการเมืองในการกระทำความผิด หรือในการดำเนินคดีมีเหตุทางการเมือง ล้วนแต่เป็นนักโทษการเมืองทั้งสิ้น คนเหล่านั้นแท้จริงแล้วมิได้มีจิตใจที่เป็นคนร้ายโดยกมลสันดาน แต่การกระทำหรือเหตุที่ต้องดำเนินคดีเป็นเหตุจากการเมือง เราจึงควรแยกคนเหล่านี้ออกจากอาชญากรรมอื่นที่เป็นความผิดโดยทั่วไป

การยุบเรือนจำนักโทษการเมืองครั้งนี้ ผมทราบว่า มีความพยายามที่จะ ‘ลบรอย’ การกระทำผิดของรัฐเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักโทษการเมืองที่เคยถูกควบคุมอยู่ที่เรือนจำการเมืองทั้งหมด ล้วนแต่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับรัฐบาลในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จนมีคนเจ็บ คนตายจำนวนมาก การยุบเรือนจำครั้งนี้จึงเป็นการทำลายภาพของการต่อสู้ และสร้างความชอบธรรมให้กับนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมคิดว่านี่เป็นการทำลายภาพความเลวร้ายของทหารที่นำโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายทหารที่นำกำลังเข้าสลายการชุมนุมในปี 53 และเขาได้ทำสำเร็จแล้ว โดยจะเห็นได้ว่า ภาพความเลวร้ายนั้นได้สลายไปจากความทรงจำของคนไทย มีเพียงภาพของการคืนความสุขให้คนไทยดังโฆษณาเท่านั้น

ในแง่จำนวน ผมคิดว่าเราควรขยายพื้นที่เรือนจำนักโทษการเมืองด้วยซ้ำ เพราะจากเดิมที่มีนักโทษ 22 คน แต่อย่าลืมว่า เรายังมีจำเลยคดีการเมืองที่ได้รับการประกันตัวไปจำนวนมากที่อาจกลับเข้ามาอยู่ในเรือนจำอีกก็ได้ นี่ไม่รวมผู้ต้องหาที่ถูกจับและตั้งข้อหาภายหลังการยึดอำนาจของ คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนเกือบร้อยราย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น ขอนแก่น ที่กำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล และมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดี ม.112 ที่มีการทยอยจับกันรายวัน  การหลับตาอธิบายว่าประเทศนี้ไม่มีนักโทษการเมือง   จึงเป็นการดัดจริตอย่างมากๆ ของสังคมนี้

ความ ‘จงใจ’ บิดเบือนว่า คดีที่โดนจับ โดนขังตอนนี้ เป็นคดีอาญา ไม่ใช่คดีการเมือง ผมก็อยากบอกว่า ปัดโธ่ ! เวลาเราดูว่าคดีไหนเป็นคดีการเมืองหรือไม่   เราดูที่ว่า คดีมีเหตุทางการเมืองหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเหตุจูงใจในการกระทำ หรือเหตุที่ต้องถูกดำเนินคดี การกระทำของประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล หรือทหาร มันก็มีโทษทางอาญาทั้งนั้น เพราะเวลาพูดถึงว่าคดีใดเป็นคดีอาญา มันหมายถึงคดีที่มีโทษทางอาญา 5 สถาน คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์ ดังนั้น การไปพูดว่า คดีที่จับคนที่ต่อต้านรัฐบาลหรือทหารไม่ใช่คดีการเมือง เพราะเป็นเพียงคดีอาญา จึงเป็นการจงใจบิดเบือนทั้งสิ้น เพราะหากเราถือว่า คดีที่มีโทษทางอาญาไม่ใช่คดีการเมืองก็จะกลายเป็นว่าไม่มีคดีใดๆ ที่เป็นคดีทางการเมืองเลย ซึ่งมันผิดแน่ๆ

โดยสรุป ผมเห็นว่า รัฐเองต้องจัดให้มีเรือนจำนักโทษการเมืองสำหรับควบคุมเป็นการเฉพาะ และควรเร่งให้มีการได้สิทธิในการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี การบิดเบือนและกลบเกลื่อนความผิดของรัฐเอง  โดยการยุบเรือนจำนักโทษการเมืองจึงเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ และไม่แฟร์ต่อประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเลย

 

สุดา รังกุพันธ์

นักวิชาการเสื้อแดงผู้ริเริ่มรณรงค์ให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ด้วยการจัด “ปฏิญญาหน้าศาล” เพื่อเป็นเวทีในการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ทั้งยังเป็นแกนนำกลุ่ม 29 มกราฯ ปลดปล่อยนักโทษการเมือง เรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด และรณรงค์กิจกรรมเยี่ยมนักโทษการเมือง  อ.สุดา จึงเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับผู้ต้องขังในเรือนจำหลักสี่ จากการเข้าไปพบปะเยี่ยมเยียนเป็นประจำ

“เป็นความพยายามของฝ่ายยึดอำนาจ ที่ต้องการทำลายความชอบธรรมของ ‘นักโทษการเมือง’ ในไทย จากการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมราชทัณฑ์ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่านักโทษเหล่านี้ ถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นนักโทษคดีอาญาทั่วไป ไม่ใช่คดีการเมือง เป็นการพูดโดยไม่มีหลักการหรือข้อเท็จจริงใดอ้างอิงเลย

คดีของนักโทษการเมืองส่วนใหญ่เป็นคดีในระหว่างการพิจารณา ยังไม่ถึงที่สุด ซึ่งการที่เคยได้รับการพิจารณาว่าเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง จึงได้รับการจำแนกให้มาจองจำต่างหาก ไม่มีข้อเท็จจริงใดเปลี่ยนแปลงไป กรมราชทัณฑ์จะอ้างเหตุอะไรมาเปลี่ยนคำสั่ง ไม่มีการไปยื่นพิจารณาว่า คดีเหล่านี้ไม่ได้เป็นผลพวงจากเหตุความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงปี 2553

การที่เมื่อมีการเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมราชทัณฑ์ หลังการรัฐประหาร 2557 แล้วมีการออกคำสั่งยุบเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ โดยเร็ว โดยไม่มีการพิจารณาข้อมูลอื่นใด ยิ่งเป็นข้อบ่งชี้ชัดว่า ผู้ถูกคุมขังเหล่านี้ ถูกมองเป็นศัตรูของคณะยึดอำนาจ และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่ได้รับแต่งตั้งโดยหัวหน้าคณะยึดอำนาจ มีเจตนาล้มล้างความชอบธรรมของเหยื่อคดีการเมือง ปี 2553 ซึ่งก็ถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรม โดยกองทัพ ภายใต้บัญชาการของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ นั่นเอง

สำหรับผู้ต้องหาคดี 112  ซึ่งกลุ่มต่างๆ ได้ช่วยกันต่อสู้มาตลอด แต่ยังไม่เคยสามารถย้ายมาที่หลักสี่ได้ ก็เป็นอีกปัญหา และเมื่อยึดอำนาจ มีการฟ้องคดี 112 เพิ่มมาก ยิ่งยืนยันถึงการกวาดล้างศัตรูทางการเมือง และยืนยันว่านี่คือ คดีการเมือง”

 

สุณัย ผาสุข

นักวิจัยอาวุโส และที่ปรึกษาประจำประเทศไทยขององค์การเพื่อสิทธิมนุษยชนระดับสากล ฮิวแมนไรท์ วอทช์ เป็นผู้หนึ่งที่เฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิในไทยมาโดยตลอด ซึ่งรวมทั้ง การสลายการชุมนุมในปี 2553 และโดยเฉพาะสถานการณ์การละเมิดสิทธิภายใต้ระบอบทหารของคณะรัฐประหารในปัจจุบัน

“เรือนจำหลักสี่มีที่มาจากข้อเสนอของ คอป. เกี่ยวกับกระบวนการสร้างความปรองดอง ซึ่งให้แยกเอาคนที่ถูกดำเนินคดีเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองที่คดียังไม่ถึงที่สุด ออกมาจากการคุมขังร่วมกับนักโทษทั่วไปในเรือนจำปกติ แต่ต้องตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อถูกถามในที่สาธารณะ อ. คณิต ณ นคร และสมาชิก คอป. คนอื่นๆ เลี่ยงที่ไม่จะเรียกคนเสื้อแดงที่เรือนจำหลักสี่ว่าเป็น 'นักโทษการเมือง' แต่ใช้คำว่า ‘คดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง’ แทน  อ. คณิตถึงกับเคยให้สัมภาษณ์ว่า ‘ไม่มีนักโทษการเมืองอยู่ในบ้านเราแล้ว’

การที่แม้แต่ คอป. ก็ไม่ยอมรับตรงๆ หรืออธิบายคำนิยามของนักโทษการเมืองให้ชัดเจน เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้คนที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นสถาบันฯ ทั้งด้วยมาตรา 112 และ พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็น และอุดมการณ์ความเชื่อ ไม่ได้โยกย้ายมาที่เรือนจำหลักสี่ ส่วนรัฐบาลเพื่อไทยก็ไม่กล้าผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งที่รัฐมนตรียุติธรรม (พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก) เคยรับปากกับฮิวแมนไรท์วอทช์ ในเรื่องนี้

ดังนั้น ขณะที่ยังเปิดใช้งาน เรือนจำหลักสี่จึงอยู่ในฐานะครึ่งๆ กลางๆ และถูกมองด้วยความไม่เข้าใจ ไม่ไว้วางใจ มิหนำซ้ำ ยังถูกดิสเครดิตจากพรรคประชาธิปัตย์ และฝ่ายต่อต้านทักษิณที่อ้างทฤษฎีสมคบคิดว่า เรือนจำหลักสี่เป็นส่วนหนึ่งของแผนปูทางให้ทักษิณกลับมาฟอกตัวผ่านกระบวนการนิรโทษกรรม

ถึงตอนนี้ คสช. ทำรัฐประหาร และมีการจับกุมควบคุมตัวคนที่เห็นต่างทางการเมืองจำนวนมาก แต่กลายเป็นว่ามีคำสั่งให้ปิดเรือนจำหลักสี่ สถานการณ์แบบนี้น่ากังวลมาก เพราะนอกจากจะต่อยอด Taboo ของคำว่า ‘นักโทษการเมือง’ แล้ว ผมกลัวว่านี่จะเป็นจุดยืนของ คสช. รวมทั้งคนที่สนับสนุน คสช. ที่ถือว่าคนที่เห็นต่างทางการเมืองเป็นอาชญากร ส่วนฝ่ายที่เคยสนับสนุนให้เปิดเรือนจำหลักสี่ (ถึงจะครึ่งๆ กลางๆ ก็เถอะ) กลับเงียบกันไปหมด ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นปัญหาร้ายแรงมากต่อสถานะของเสรีภาพในการแสดงออกในไทย ซึ่งปัจจุบันก็ตกต่ำมากอยู่แล้ว

 

ชมพูนุช (ไม่เปิดเผยนามสกุล)

ภรรยาของนายพรชัย (ไม่เปิดเผยนามสกุล) หนึ่งในอดีตผู้ต้องขังเรือนจำหลักสี่ ซึ่งถูกดำเนินคดีในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของ นปช. ปี 2552  พรชัย ในวัยเกือบ 60 ปี ตัดสินใจไม่สู้คดีต่อในชั้นฎีกา เนื่องจากครอบครัวได้ยื่นประกันตัวด้วยเงินสด 500,000 บาท ถึง 5 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต ทั้งที่โทษของเขาเพียง 4 ปีกว่าๆ หากเขาสู้คดีต่อก็จะต้องใช้เวลาอีกยาวนาน อย่างไรก็ตาม คำสั่งให้คดีเป็นที่สุดยังไม่มาถึงเขา ปัจจุบันพรชัยถูกย้ายเข้าไปอยู่ที่แดน 5 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และนับตั้งแต่เขาถูกคุมขัง เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 56 ชมพูนุชก็ไปเยี่ยมสามีทุกวันไม่เคยขาด ยกเว้นเพียงวันหยุดของเรือนจำ

“มันไม่ยุติธรรม เอาเขาไปขังรวมกับผู้ต้องขังคดีอาชญากรรมอื่นๆ มันไม่ใช่ เขาไม่แยกแยะเลย การย้ายมาอย่างนี้ ทำให้พวกเขาต้องอยู่ในสภาพแออัด เราต้องใช้เงินทุกวันไม่ใช่น้อยๆ รายได้ก็ไม่มี มีแต่จ่ายออก แล้วญาติที่จนกว่าเราเขาจะทำยังไง ข้าวในนั้นแฉะแต่ดิบ เก่งมากไม่รู้หุงได้ยังไง ของฝากก็ต้องซื้อจากร้านสวัสดิการเรือนจำ ซึ่งแพงมากแล้วคุณภาพก็แย่มาก ไปถึงมือผู้ต้องขังมันก็จะเน่าแล้ว

เราเข้าเยี่ยมได้เพียงวันละ 15 นาที เวลาเยี่ยมต้องตะโกนคุยกันแย่งกับคนอื่น แทบจะฟังกันไม่รู้เรื่อง เราก็ต้องทนเอา ต้องจำยอม โทรหาแกนนำให้ช่วยเหลือก็ไม่มีใครรับ มันขมขื่น

ทุกวันนี้ธุรกิจส่งออกอาหารของครอบครัวต้องปิดตัวลงแล้ว ตอนนี้ครอบครัวเราไม่เหลืออะไร เหลือแต่หนี้สิน

ลูกก็บอกว่าพ่อต้องปรับตัวให้ได้ อย่าป่วย ไม่อย่างนั้นคนข้างนอกจะแย่มาก ตอนนี้ไปเยี่ยมที่เรือนจำพิเศษ แกก็ยังร้องไห้อยู่เลย เราบอกว่า ถ้าคุณร้องไห้จะไม่มาเยี่ยมแล้ว เพราะเราคงทนไม่ไหว”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท