การแตกตัวของรัฐชาติ: ความเจ็บป่วยหรือความไม่เที่ยงแท้ ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 ขออุทิศบทความนี้ให้กับเด็กทุกคนในปาเลสไตน์                                                                                            

ณ วันที่ 18 สิงหาคมของปีนี้เอง ที่ชาวสกอตทั้งหลายจะไปใช้เสียงลงประชามติว่าจะให้สกอตแลนด์เป็นรัฐเอกราชหรือไม่ ภายหลังจากเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรมาเป็นเวลา 300 กว่าปีคือตั้งแต่ปี 1707 ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสเกือบศตวรรษ การขอแยกตัวเองเป็นอิสระนี้ย่อมถูกจับตามองจากหลายประเทศในยุโรปซึ่งประสบปัญหาการขอแยกตัวเองจากภูมิภาคหรือแคว้นขนาดใหญ่เช่นกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งสเปนซึ่งต้องเผชิญกับแคว้นคาตาโลเนียและแคว้นบาสก์ที่มีอารมณ์ชาตินิยมผสมท้องถิ่นนิยมร้อนแรงไม่แพ้กับสกอตแลนด์  ทั้งนี้ยังไม่นับแคว้นแฟลนเดอร์สของเบลเยี่ยมซึ่งมีภาษาประจำคือภาษาดัตช์ แคว้นเวเนโตของอิตาลีซึ่งมีเมืองเวนิสอันลือเลื่องรวมไปถึงแคว้นบริตตานีของฝรั่งเศส และก่อนหน้านี้ที่การแยกตัวได้เกิดขึ้นไปเรียบร้อยแล้วได้แก่ซูดานใต้ซึ่งกลายเป็นรัฐใหม่ล่าสุดเมื่อปี 2011 ส่วนที่อื้อฉาวสุดก็คือแหลมไครเมียซึ่งถึงแม้จะไม่ได้เป็นรัฐอิสระแต่ก็ได้เปลี่ยนจากยูเครนไปอยู่ในอาณัติของรัสเซียผ่านประชามติและแรงกดดันจากรัสเซียในปี 2014 

อย่างไรก็ตาม บางประเทศเช่นในตะวันออกกลางนั้นก็มีความพยายามแยกประเทศในลักษณะที่เลวร้ายเต็มไปด้วยความรุนแรงกว่าตัวอย่างข้างบน (ยกเว้นซูดานใต้) อันอาจอาจนำไปสู่ภาวะล่มสลายหรือแตกเป็นเสี่ยงๆของรัฐ เช่น อิรักซึ่งพบกับการขึ้นมามีอำนาจของกลุ่มกองโจรไอซิสที่ได้ประกาศตั้งประเทศใหม่ และยังต้องรับมือกับการที่เขตปกครองตัวเองชาวเคิร์ดวางแผนจะจัดประชามติเพื่อแยกประเทศออกมา  บางประเทศอาจจะไม่ได้มีการตั้งใจแบ่งประเทศอย่างชัดเจนแต่ก็ประสบกับภาวะความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลกลางดังเช่นซีเรียที่พบกับสงครามกลางเมืองมา 3 ปีหรือลิเบียซึ่งกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันเป็นนับตั้งแต่การลงจากอำนาจของกัดดาฟี ประเทศเหล่านี้อาจกำลังเดินไปสู่รูปแบบเดียวกับซูดานซึ่งกลายเป็นรัฐล้มเหลวมากว่า 20 ปี  ถูกแบ่งแยกการปกครองแบบรัฐย่อยๆ ที่ไม่ขึ้นต่อกันและอาจจะแตกกลายเป็นประเทศใหม่ ๆ ในอนาคต

ด้วยปรากฏการณ์เหล่านี้อาจทำให้ใครหลายคนเห็นว่าเกิดความอ่อนแอหรือเจ็บป่วยของประเทศ ประดุจดังคนได้รับเชื้ออีโบร่า แต่สำหรับผู้เขียนแล้วเห็นว่ามันเป็นเพียงความไม่เที่ยงแท้ของรัฐชาติหรือว่าเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของรัฐชาติยุคปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่ภาวะแห่งความวุ่นวาย (chaos) ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เกิดจากเหตุและปัจจัยที่สะสมกันมาอย่างยาวนาน

การก่อตัวของรัฐชาติ

ในสำนึกรวมของเราชาวไทยที่ผ่านการปลูกฝังแบบเรียนที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางมักเข้าใจว่าประเทศหรือรัฐชาติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาช้านานแล้ว แบบเรียนทำให้คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่าไทยเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีเมื่อ 700 ปีก่อน ดังนั้น คนไทยจำนวนมาก (อย่างน้อยก็มีตัวผู้เขียนในสมัยก่อนนี้แหละ) จึงมักใช้มุมมองเช่นนี้เป็นแว่นมองรัฐอื่น ว่ามีความเป็นรัฐมาตั้งแต่อดีตมาเป็นพันปีๆ  และจะดำเนินไปเช่นนี้จวบชั่วฟ้าดินสลาย แต่ความจริงแล้ว รัฐชาติ(Nation-states) เป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 นี้เอง รัฐชาติหมายถึงขอบเขตทางการเมืองซึ่งประกอบไปด้วยพลเมืองซึ่งมีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ภาษา ฯลฯ คล้ายคลึงกันหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอันมีอาณาเขตที่แน่นอนและอยู่ภายใต้รัฐบาลเดียวกัน (นิยามเช่นนี้ก็ยังมีปัญหาอีกมากมายเช่นกันจนสามารถนำไปเขียนอีกบทความหนึ่งหรือหนังสือเล่มหนึ่งได้)  กล่าวอีกนัยหนึ่ง รัฐชาติเกิดจากการรวบรวมหลายอาณาจักร หลายเมือง หลายชนเผ่าที่แตกต่างกันในเรื่องเชื้อชาติ  ศาสนาและภาษาพูดเข้ามาอยู่ร่วมกันและเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำให้ความแตกต่างเหล่านั้นมีความคล้ายคลึงกันเพื่อความสะดวกต่อการปกครองเช่นเดียวกับความจงรักภักดีต่อประมุขคนเดียวกัน ดังนั้นเราจึงไม่สามารถเรียกแว่นแคว้นหรืออาณาจักรในอดีตได้ว่าเป็นรัฐชาติเพราะขาดนิยามดังกล่าว

รัฐชาติจำนวนมากมีความเป็นหนึ่งเดียวคือคนในรัฐชาติมีความคล้ายคลึงกันสูงมากจากความสำเร็จของรัฐในการดูดกลืนความแตกต่างที่เคยมีอดีต  ในทางกลับกันมีก็มีรัฐชาติอีกประเภทหนึ่งดังที่เรียกว่ารัฐนานาชาติ (Multinational state)  หรือรัฐชาติที่ประกอบไปด้วยประชากรที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ภาษาพูดแต่ยอมรับการตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐเดียวกันดังเช่นจีน สหภาพโซเวียต อินเดีย สหรัฐอเมริกา ไนจีเรีย บราซิล ฯลฯ รูปแบบการปกครองซึ่งตอบสนองความหลากหลายนี้คือสหพันธรัฐ (Federation) ซึ่งรัฐบาลกลางจะให้อำนาจแก่รัฐบาลท้องถิ่นในการปกครองตัวเองสูงมากและมีอิสระในการจัดการตัวเองหลายอย่างที่รัฐบาลกลางไม่สามารถบีบบังคับหรือเอาคืนได้ ระบอบสหพันธรัฐขึ้นอยู่กับว่ารัฐนั้นจะมีการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย (Democratization) มากน้อยเพียงใด ยิ่งเป็นประชาธิปไตยมาก รัฐบาลกลางก็กระจายอำนาจให้กับรัฐบาลท้องถิ่นมากดังเช่นอินเดีย สหรัฐอเมริกา ไนจีเรีย บราซิล ดังนั้นสำหรับจีนและสหภาพโซเวียตจึงไม่ได้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เช่นนี้เพราะถึงแม้จีนและสหภาพโซเวียตจะมีชนเผ่ามากมายและมีขนาดกว้างใหญ่แต่ก็เป็นรัฐเดี่ยวเพราะให้อำนาจของรัฐบาลท้องถิ่นจำกัดคือน้อยกว่าอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ (สำหรับสหภาพโซเวียตนั้นได้เพียงแค่ประกาศว่าตนเป็นสหพันธรัฐ)

จุดเริ่มต้นของรัฐชาติในช่วงต้นๆ  ได้แก่การรวมกันเป็นประเทศของอิตาลีและเยอรมันในปี 1871 แม้จะมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาสองสามร้อยปีก่อนหน้านี้นับตั้งแต่ยุโรปได้เกิดสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (Treaty of Westphalia) ซึ่งได้แบ่งอาณาจักรโรมันศักดิ์สิทธิ์ออกเป็นแคว้นย่อยๆ ในปี 1648  ความเป็นรัฐชาติเกิดขึ้นมาได้หลายสาเหตุไม่ว่าการปฏิวัติ สงคราม การสู้รบหรือไม่ก็กับการเจรจาหรือข้อตกลงระหว่างชนชั้นปกครองของแคว้นต่างๆ  ฯลฯ ซึ่งตั้งอยู่บนความแตกต่างของเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมและภาษาพูดเช่นเดียวกับการคิดคำนึงถึงผลประโยชน์ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจในการรวมกลุ่มกัน การล่มสลายของระบบกษัตริย์และอาณาจักรเช่นออตโตมัน ปรัสเซีย และออสเตรียฮังการีในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1เช่นเดียวกับการพุ่งทะยานของลัทธิชาตินิยมและลัทธิเสรีนิยมทำให้เกิดรัฐชาติขึ้นมาหลายรัฐในยุโรป คำประกาศ 14 ข้อของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคือ วูดโรว์  วิลสันยังมีส่วนอย่างมากในการเสริมสร้างรัฐชาติของประเทศโลกที่ 3 และองค์กรสันนิบาตโลกอันตั้งอยู่บนความเชื่อว่ารัฐชาติจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างเป็นระเบียบและสันติ

เพื่อแสดงภาพให้เห็นอย่างชัดเจนถึงพัฒนาการของรัฐชาติในศตวรรษที่ 20  ของบทความนี้ ผู้เขียนโลกออกเป็น 2 ส่วนคือโลกที่พัฒนาแล้วเช่นสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปซึ่งจะขอเรียกแบบรวมๆ ว่าโลกทางเหนือ (North) และโลกที่ด้อยพัฒนาประเทศในทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกาและเอเชียซึ่งจะขอเรียกรวมๆ ว่าโลกทางใต้ (south)  สำหรับโลกทางเหนือนั้น รัฐชาติมักเกิดจากเคลื่อนไหวทางการเมืองในเชิงแนวราบคือเกิดขึ้นโดยกลุ่มทางการเมืองต่างๆ เอง  ส่วนโลกทางใต้นั้น แคว้นหรืออาณาจักรในโลกทางใต้นั้นเกือบทั้งหมดเคยตกเป็นอาณานิคมของโลกทางเหนือมาก่อน ดังนั้นการก่อตั้งของรัฐชาติของโลกทางใต้เป็นไปในแนวดิ่งคือถูกยัดเหยียดโดยชาติเจ้าอาณานิคมซึ่งได้จัดแบ่งพื้นที่เพื่อความสะดวกในการปกครองและการไม่แก่งแย่งอาณานิคมกัน ดังเช่นการประชุมที่กรุงเบอร์ลินในปี 1884 ของมหาอำนาจในยุโรปเพื่อจัดแบ่งและครอบครองพื้นที่ต่างๆ ในทวีปแอฟริกาโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของคนแอฟริกันอันเป็นสาเหตุสำคัญต่อต่อการแบ่งความเป็นรัฐชาติของแอฟริกาภายหลังจากได้รับเอกราชในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรืออย่างในตะวันออกกลางอังกฤษและฝรั่งเศสได้สัญญาตกลงร่วมกันในแบ่งเขตสำหรับปกครองดังที่เรียกว่าข้อตกลงซีเกส ปีคอต (Sykes-Picot agreement) ในปี 1916 อันเป็นผลนำไปสู่ความเป็นประเทศในยุคปัจจุบันคือซีเรีย  อิรัก เลบานอน และปาเลสไตน์ (ซึ่งยังพบปัญหากับนิยายของคำว่ารัฐอยู่) หรือการประชุมที่กรุงเจนีวา (Geneva accord) ในปี 1954 ได้แบ่งประเทศออกเป็นเวียดนามเหนือ เวียดนามใต้  ลาวและกัมพูชา ทั้งหมดนี้ได้ส่งผลให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในรัฐของโลกทางใต้รุนแรงกว่ารัฐในโลกทางเหนือดังจะได้กล่าวในตอนต่อไป

ความไม่แน่นอนของรัฐชาติ

รัฐชาติ(และรัฐนานาชาติ) มีความไม่แน่นอนหรือมีพลวัตรอยู่เสมออันเกิดจากปัจจัยจำนวนมาก แต่ปัจจัยที่ถือว่าสำคัญที่สุดคือสภาพของรัฐบาลว่ามีเสถียรภาพหรือความผันผวนเพียงใด รัฐชาตินั้นมีความปรองดองหรือการแก่งแย่งอำนาจของกลุ่มผู้นำ  รัฐบาลมีความเข้มแข็ง มีธรรมาภิบาลหรืออ่อนแอเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎรบังหลวง หรือปัจจัยที่สืบเนื่องและสำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของเศรษฐกิจ การที่รัฐมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจย่อมมีส่วนในการหล่อเลี้ยงให้รัฐย่อยๆ ภายในสามารถอาศัยอยู่ร่วมได้อย่างมีความสุข เช่นเดียวกับทฤษฎีที่ว่าระบบทุนนิยมทำให้เกิดชนชั้นกลางซึ่งหันมาหมกมุ่นกับการบริโภคและเรื่องส่วนตัวอันทำให้ประชาชนในท้องถิ่นเกิดความเชื่องต่อรัฐบาลกลาง นอกจากนี้เศรษฐกิจที่ดียังทำให้รัฐบาลมีงบประมาณกองทัพสูงและเปี่ยมด้วยประสิทธิภาพอันทำให้รัฐบาลกลางสามารถควบคุมรัฐบริวารภายในได้อย่างเหนียวแน่นอย่างเช่นจีนซึ่งสามารถควบคุมรัฐบริวารภายในไม่ว่าทิเบตหรือซินเจียงได้ ส่วนปัจจัยอื่นที่มองข้ามไม่ได้เป็นอันขาดคือความสามารถของรัฐในการปลูกฝังและขัดเกลาทางการเมืองให้ประชาชนในรัฐย่อยหรือแคว้นต่างๆ เกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน 

แต่ปัจจัยดังกล่าวที่หาความแน่นอนไม่ได้ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ก็สามารถทำให้รัฐชาติล้มเหลวและอาจเข้าสู่การแบ่งแยกดินแดนของหลายรัฐย่อยจนเข้าสู่ภาวะการล่มสลาย เช่นปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศของทวีปแอฟริกากับตะวันออกกลางเพราะการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มผู้นำ ในด้านเศรษฐกิจ ความพังพินาศทางเศรษฐกิจเป็นส่วนสำคัญให้ประเทศอย่างเช่นสหภาพโซเวียตต้องหายออกไปจากแผนที่โลก เศรษฐกิจแบบโลกาภิวัฒน์ยังเปิดให้ท้องถิ่นมีการติดต่อกับโลกภายนอกโดยตรงมากขึ้นแทนที่จะผ่านรัฐบาลกลางเหมือนสมัยก่อนรวมไปถึงการถือกำเนิดของชนชั้นกลางที่มีการศึกษาสูงกว่าคนรุ่นก่อนที่มีสำนึกอย่างแรงกล้าต่อท้องถิ่น การเป็นไฟลามทุ่งของวิกฤตเศรษฐกิจยังก่อปัญหาของรัฐบาลกลางซึ่งต้องพึ่งพิงอาศัยเศรษฐกิจของท้องถิ่น ในขณะที่ท้องถิ่นกลับมีความรู้สึกพึ่งพิงรัฐบาลกลางน้อยลงเรื่อยๆ ดังตัวอย่างเช่นสเปนซึ่งมีรูปแบบการปกครองอย่างเป็นทางการคือแบบรัฐเดี่ยว (Unitary state) แต่ในเชิงปฏิบัติให้อำนาจแก่รัฐบาลของแคว้นต่างๆอย่างมากเหมือนสหพันธรัฐด้วยความหวังว่าการกระจายอำนาจจะทำให้รัฐสเปนดำรงอยู่ไปได้ ทว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ของยุโรปได้ทำให้แคว้นคาตาโลเนียเห็นว่าตนไม่ต้องการเป็น "ทาส" ของรัฐบาลกลางในกรุงมาดริดซึ่งรีดไถตนตลอดมา ส่วนชาวสกอตแลนด์จำนวนมากก็ไม่ต้องการจะเป็นรัฐบริวารของอังกฤษอีกไปและหลายคนเชื่อว่าสกอตแลนด์จะสามารถกลายเป็นรัฐมั่งคั่งด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจของอังกฤษอีก

นอกจากนี้ในปัจจุบันมีประเทศจำนวนมากที่รัฐชาติประสบปัญหาไม่สามารถปลูกฝังหรือให้คนในชาติรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนยุคก่อน เพราะโลกยุคโลกาภิวัฒน์นั้น เทคโนโลยีกลายเป็นดาบสองคมคือนอกจากทำให้คนทั่วโลกรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันแต่ก็เป็นการเพิ่มอำนาจและความรู้สึกเป็นชุมชนของคนในท้องถิ่นแรงขึ้นดังเช่นสื่อโซเชียลมีเดียที่ทำให้คนที่มีภาษาหรือวัฒนธรรมเดียวกันติดต่อกันและร่วมกันสร้างอัตลักษณ์ร่วมกันเพื่อต่อต้านกระแสโลกาภิวัฒน์อันเชี่ยวกราดหรือต่อต้านลัทธิชาตินิยมที่พวกเขามองว่าถูกยัดเหยียดจากรัฐบาลกลางผ่านบทเรียนหรือสื่ออื่นๆ เช่นภาพยนตร์ดังเช่นภาพยนตร์ Brave Heart ซึ่งแสดงถึงชีวิตของวิลเลียม วอลเลซ วีรบุรุษในตำนานที่ต่อสู้กับอังกฤษเพื่อเอกราชของสกอตแลนด์มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของชาวสกอตในปัจจุบันอย่างมาก

ผู้นำรัฐบาลท้องถิ่นจึงอาศัยประเด็นเหล่านี้เพื่อผลักดันให้แคว้นเป็นอิสระอันจะสร้างอำนาจให้กับตัวเองอย่างมหาศาล ทั้งหมดนี้มีแรงจูงใจสำคัญที่สามารถเรียกเป็นศัพท์ภาษาอังกฤษได้ว่าself-determination หรือสิทธิในการปกครองตัวเอง  แต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่านักการเมืองหรือพรรคการเมืองท้องถิ่นอื่นๆ ก็อาศัยประเด็นในการขออยู่กับรัฐแม่ต่อไปซึ่งก็ได้รับคะแนนความนิยมอย่างมากอันสะท้อนว่าประชาชนท้องถิ่นนั้นไม่ได้จำเป็นต้องเรียกร้องเอกราชเหมือนกันหมดดังเช่นพรรค Scottish Labour และ Scottish Conservative Party  ของสกอตแลนด์ซึ่งต้องการให้อยู่กับอังกฤษต่อไปโดยการรณรงค์ภายใต้ชื่อ "อยู่ด้วยกันจะดีกว่า " (Better together)  อันจะนำไปสู่ปัญหาคือความมั่นคงของประเทศใหม่ในภายหลัง

การแตกตัวของรัฐชาติในโลกทางเหนือและโลกทางใต้

สำหรับรัฐชาติในโลกทางเหนือซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมนั้นโดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  รัฐและสังคมมักยอมรับในความเป็นพหุลักษณ์ทางสังคม และความเท่าเทียมกันของพลเมือง แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ระหว่างคนต่างเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม ดังเช่นลัทธิเหยียดเชื้อชาติและศาสนาที่เพิ่มสูงขึ้นในยุโรปอันเป็นปฏิกิริยาจากการอพยพของคนตะวันออกกลางที่นับถือศาสนาอิสลาม อันเป็นเหตุให้เกิดจลาจลเป็นครั้งคราว แต่ถ้าเทียบกับรัฐชาติในโลกทางใต้แล้วถือว่าอยู่ในภาวะที่ทุกองคาพยพของรัฐพออยู่ร่วมกันได้  รัฐชาติที่เป็นประชาธิปไตยมีความมั่นคงสูงเพราะมีโครงสร้างและสถาบันทางการเมืองที่แข็งแกร่งและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง อันยังผลให้ประชาชนของท้องถิ่นที่มีปัญหาหันมาใช้วิธีในการแยกตัวก็คือการประท้วงและการรณรงค์อย่างสันติในการขอแยกตัวอันนำไปสู่การลงประชามติดังเช่นรัฐควิเบกซึ่งใช้ภาษาฝรั่งเศสต้องการแยกตัวจากแคนาดาหรือตัวอย่างดังข้างบน กระนั้นรัฐชาติในโลกทางเหนือหลายแห่งก็ยังต้องพบกับความรุนแรงในการพยายามแตกตัว เช่นอังกฤษต้องพบกับการก่อการร้ายจากกลุ่มไออาร์เอซึ่งต้องการให้ไอร์แลนด์เหนือเป็นอิสระ หรือประเทศที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยเชื่องช้าอย่างเช่นสเปนที่รัฐบาลกลางต้องต่อสู้กับขบถแบ่งแยกดินแดนชาวบาสก์มายาวนาน  ส่วนรัสเซีย (ซึ่งผู้เขียนคิดว่ามีความคาบเกี่ยวอยู่ระหว่างโลกทางเหนือและโลกทางใต้) ต้องพบกับการก่อการร้ายของกลุ่มขบถเชเชน แต่ทั้ง 3 กรณีก็ได้จบสิ้นความเป็นปรปักษ์ลงโดย 2 กรณีแรกเกิดจากการตกลงเจรจา ส่วนกรณีที่ 3 เกิดจากการใช้กำลังทหารอย่างไร้ความปราณี

สำหรับรัฐชาติในโลกทางใต้นั้นมีลักษณะแตกต่างกันอย่างมาก เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เคยตกเป็น      อาณานิคมของยุโรปซึ่งได้จัดระเบียบการเมืองของแคว้นโลกทางใต้โดยเน้นการรวมศูนย์อำนาจและผู้นำที่จงรักภักดีต่อตน  การแยกดินแดนปกครองดังเช่นการประชุมที่กรุงเบอร์ลินได้รวบรวมเอาชนเผ่าต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมากมายมาอยู่รวมกัน ในขณะที่ชนเผ่าเดียวกันหรือมีลักษณะคล้ายคลึงผูกพันกันกลับถูกแยกเป็นคนละประเทศ อันเป็นกลยุทธ์ของเจ้าอาณานิคมดังเช่นอังกฤษและฝรั่งเศส ในการทำให้พลเมืองของประเทศในอาณานิคมอ่อนแอ ชาติเจ้าอาณานิคมยังมักให้ผู้นำของพื้นที่นั้นๆ มีความแตกต่างจากประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความผูกพันอันอาจทำให้ผู้นำเหล่านั้นหักหลังเจ้าอาณานิคมในภายหลัง เมื่อเกิดการลุกฮือของประชาชน ผู้นำเหล่านั้นร่วมกับเจ้าอาณานิคมก็พร้อมจะใช้กำลังปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงและโหดเหี้ยม นอกจากนี้ผู้นำกับเจ้าอาณานิคมจะช่วยกันสร้างและเผยแพร่ระบบกฎหมายและการศึกษาที่มักรวมศูนย์อำนาจและขาดความเป็นประชาธิปไตยเพื่อความสะดวกในการปกครอง

ภายหลังจากประเทศในโลกทางใต้ได้รับเอกราช  ผู้นำต่อมาซึ่งเป็นชนชั้นกลางใหม่และเคยเป็นนักชาตินิยมก็ใช้กลยุทธ์และกฎหมายของเจ้าอาณานิคมในการควบคุมประชาชนให้อยู่ใต้อาณัติ ประเทศจึงรวมศูนย์กลางอำนาจและคงความเป็นเผด็จการไว้ด้วยข้ออ้างความมั่งคงของรัฐหรือภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ การเป็นรัฐเดี่ยวจึงเป็นภาวะที่ตอบรับกับรูปแบบทั้งสองนี้ได้อย่างดีแม้จะเต็มไปด้วยความหลากหลายของพลเมืองก็ตาม ดังเช่นอิรักในยุคของซัดดัม อินโดนีเซียในยุคของซูฮาโต พม่าตั้งแต่ยุคของนายพลเนวินจนถึงปัจจุบัน การเป็นเผด็จการที่ยาวนานมักนำไปสู่การฉ้อราษฎรบังหลวง แม้ว่าประเทศจำนวนมากในโลกทางใต้จะมีทรัพยากรจำนวนมากแต่ทรัพยากรเหล่านั้นถูกผูกขาดการแสวงหาผลประโยชน์โดยผู้นำเผด็จการและพวกพ้อง  ด้วยอำนาจทางทหารผู้นำเหล่านั้นทำได้เพียงกดทับทัศนคติและความรู้สึกของประชาชนไว้ชั่วขณะดังเช่นความเกลียดชัง ความไม่ไว้วางใจกัน ความไม่เคารพความแตกต่างระหว่างชนเผ่า ศาสนา ภาษา วัฒนธรรมที่จำเป็นต้องมาอยู่ร่วมกันเพียงชั่วคราว    ด้วยภาวะที่ด้อยการพัฒนาประชาธิปไตยเช่นนี้ รัฐชาติในโลกทางใต้ก็ต้องอาศัยบารมีของตัวผู้นำเองเสียมากกว่าการเน้นความเข้มแข็งของสถาบันทางการเมืองแบบประชาธิปไตยเช่นรัฐสภา รัฐธรรมนูญ ฯลฯ สาเหตุที่ทำให้ผู้นำเหล่านี้ประสบความสำเร็จก็เพราะพวกเขาปกครองแบบเผด็จการและไม่คำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษย์โดยมีเงากำบังคือสงครามเย็นที่จะจัดการกับปรปักษ์อย่างแทบไม่มีขีดจำกัด และมีกลยุทธ์ในการสร้างความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวผ่านทางพิธีกรรม ระบบสัญลักษณ์ที่ยัดเหยียดให้กับคนต่างเผ่าต่างเชื้อชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งลัทธิเชิดชูบุคคล (Cult of personality) ที่เชิดชูผู้นำเหล่านั้นว่าเป็นบิดาแห่งชาติที่รวมรัฐเป็นหนึ่งเดียวกัน มีตำรวจและคุกลับและการนำเอาคนต่างศาสนาหรือต่างชนเผ่ามาคานอำนาจกันได้อย่างแยบยลแม้ว่าจะมีความฉ้อฉลและสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนมากเพียงใดก็ตาม  

แต่เมื่อผู้นำเหล่านั้นต้องออกจากตำแหน่งไม่ว่าการเสียชีวิต  ถูกผู้นำคนอื่นโค่นล้ม ถูกต่างชาติเข้ายึดครองหรือการปฏิวัติโดยประชาชนและผู้นำที่สืบต่อขาดความเข้มแข็งไม่สามารถเทียบบารมีกับคนเก่า ที่สำคัญสังคมไม่สามารถปรับตัวกับรูปแบบของรัฐแบบใหม่ได้ ประชาชนซึ่งยังคงยึดติดอยู่กับชนเผ่าและท้องถิ่นตัวเองมาเนิ่นนานจึงสร้างความขัดแย้งและพยายามแบ่งแยกตัวออกจากรัฐแม่ด้วยความรุนแรงกว่ารัฐชาติในโลกทางเหนือเพราะวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยค่อนข้างต่ำตรงกันข้ามกับอิทธิพลของกองทัพและลัทธิขุนศึกนิยมที่ยังคงอยู่อย่างแรงกล้า  คนของรัฐชาติในโลกทางใต้คุ้นเคยกับวิธีการแก้ไขแบบใช้ความรุนแรงดังสงครามระหว่างเผ่าในอดีต เช่นการทำสงครามกลางเมืองอันนำไปสู่การสังหารหมู่ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการแบ่งแยกดินแดนตัวอย่างที่โดดเด่นเช่นซัดดัม  ฮุสเซนแห่งอิรัก มูอัมมาร์ กัดดาฟี ของลิเบีย ฮอสนี มูบารักของอียิปต์ พวกตระกูลคิมแห่งเกาหลีเหนือ  

รัฐชาติในศตวรรษที่ 21

ภายหลังสงครามเย็นรวมไปถึงการแพร่หลายของเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ การพยากรณ์ของนักรัฐศาสตร์ดังเช่นฟรานซิส ฟูกุยามา ที่ว่าโลกจะเข้าสู่ภาวะแห่งประชาธิปไตยเสรีนิยมก็ประสบปัญหาในการอธิบายเพราะประเทศจำนวนมากถอยหลังเข้าครองกลับไปสู่ระบอบเผด็จการและยังเต็มไปด้วยสงครามกับความขัดแย้ง แม้แต่นักคิดหลายคนก็เห็นว่ารัฐชาติ(ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่รัฐบาล) ได้ถึงการสิ้นสุดเพราะมีองค์กรอื่นที่ไม่ใช่รัฐเข้ามาแย่งบทบาทเช่นบริษัทข้ามชาติ องค์กรไม่แสวงหากำไรหรือชุมชนซึ่งมีอำนาจมากขึ้น แต่บางประเทศเช่นรัสเซียและจีนได้ขยายอำนาจไปอยู่เหนือวงการธุรกิจและขบวนการประชาสังคมต่างๆ   บางคนก็บอกว่าองค์กรเหนือชาติหรือ Supranational Organization ดังเช่นสหประชาชาติและสหภาพยุโรปจะมีอำนาจเหนือรัฐชาติ แต่ตามความจริงแล้วสหประชาชาติสามารถเข้าไปแทรกแซงประเทศต่างๆ ได้อย่างจำกัด ส่วนสภาพยุโรปพบปัญหากับการแย่งชิงอธิปไตยกับประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิก (อันทำให้รัฐธรรมนูญของยุโรปประสบปัญหา) ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐชาติไม่ว่าจะอยู่ในโลกทางเหนือหรือทางใต้ยังคงดำรงอยู่อย่างมั่นคงเพราะรัฐชาตินั้นมีลักษณะเหมือนกับสิ่งมีชีวิตที่ต้องดิ้นรนในการมีชีวิตรอดหรือการครองความเป็นเจ้าเหนือคู่แข่งอื่นๆ  ดังเช่นการทำรัฐประหารในปี 2557 ของไทยที่กองทัพซึ่งเป็นตัวแทนของระบบราชการเข้ามาจัดระเบียบทางการเมือง สังคมหรือแม้แต่ทางด้านเศรษฐกิจ

กระนั้นรัฐชาติก็ยังต้องพบกับการท้าทายกับสภาวะเก่าที่อยู่ด้วยกันตลอดมาคือความขัดแย้งของคนในรัฐอันนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนและการล่มสลายของรัฐชาติในที่สุด ซึ่งในปัจจุบันนี้ดูเหมือนจะเป็นกระแสแรงกว่าเดิม ผู้เขียนคิดว่าการพยากรณ์ทิศทางของรัฐชาตินั้นเป็นสิ่งที่ยากยิ่งนักไม่ว่าจะอยู่ในโลกทางเหนือหรือทางใต้ อย่างในประวัติศาสตร์ที่ไม่ไกลนักอย่างเช่นปี 1991 ที่สหภาพโซเวียตต้องล่มสลายก็เป็นสิ่งที่ไม่ใครคาดคิดมาก่อนแม้แต่สหรัฐอเมริกาคู่แข่งคนสำคัญแต่การล่มสลายนั้นกลับเป็นไปอย่างสันติ ไม่มีความรุนแรงมากนักโดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากนโยบายเสรีนิยมของมิกคาเอล กอร์บาชอฟ อันแตกต่างจากกับการล่มสลายของยูโกสลาเวียในต้นทศวรรษที่ 90 ซึ่งได้ก่อให้เกิดการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมของชาวเซิร์บต่อชาวมุสลิม  หรือในปัจจุบันนี้อย่างเมื่อหลายเดือนก่อนไม่มีใครกล่าวถึงกลุ่มไอซิสซึ่งกำลังสร้างปัญหาให้กับความเป็นรัฐชาติของอิรักเลย มีเพียงแค่การกล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างนิกายชีอะห์และนิกายซุนนีห์ แน่นอนว่าย่อมเป็นคำถามที่ตอบได้ยากจริงว่าในท้ายสุดแล้วนายนูริ อัลมาริกินายกรัฐมนตรีจะสามารถแยกดินแดนคืนจากกลุ่มไอซิสหรือร้องขอให้ชาวเคิร์ดกลับมาอยู่กับอิรักได้หรือไม่ หรือว่าอิรักจะแตกสลายเป็นส่วนๆ เหมือนกับที่ได้คาดคิดกันไว้ นอกจากนี้เรายังพยากรณ์กันได้ยากยิ่งต่ออนาคตของสกอตแลนด์ว่าจะเป็นอย่างไรเพราะจากการสำรวจความคิดเห็นของคนที่เห็นด้วยกับการไม่เห็นด้วยกับการแยกประเทศของคนสกอตนั้นมีความใกล้เคียงกันมาก ถ้าในอนาคต สกอตแลนด์สามารถแยกเป็นประเทศแล้วอาจจะประสบปัญหาสารพัดจนต้องกลับไปรวมอยู่กับสหราชอาณาจักร

กระนั้นเองผู้เขียนเชื่อว่าประชาธิปไตยและแนวคิดเสรีนิยมไม่ใช่กำลังทางทหารเพียงอย่างเดียว ดังประเทศในโลกทางเหนือจะทำให้รัฐชาติมีความเข้มแข็ง ไม่แตกเป็นเสี่ยงๆ และไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง  อย่างง่ายดายเช่นนายมาเรียนโน ราฮอยนายกรัฐมนตรีของสเปนจะใช้กำลังทางทหารจัดการกับแคว้นคาตาโลเนียที่ประกาศแยกตัวเป็นเหตุการณ์ที่เราจินตนาการได้ยาก หรือในอนาคต ภาพที่ว่าสหรัฐอเมริกาพบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่จนในที่สุดมลรัฐต่างๆ ก็ต้องขอแยกตัวออกและกองทัพสหรัฐฯ อาจจะต้องออกมาต่อสู้กับมลรัฐเหล่านั้นแยกตัวก็เป็นเรื่องที่เกิดในฉากของภาพยนตร์ฮอลลีวูดไปก่อน  ในทางกลับกันสำหรับประเทศเผด็จการอย่างเช่นจีนซึ่งทรงพลังทางเศรษฐกิจแต่พรรคคอมมิวนิสต์กลับได้รับความเสื่อมศรัทธาจากประชาชนจำนวนมากเพราะความฉ้อฉลและการเป็นเผด็จการ ระบบการเมืองทุกส่วนอิงอยู่กับพรรคเพียงพรรคเดียว สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้รัฐจีนนั้นเต็มไปด้วยความเปราะบางเหมือนฟองสบู่ที่ขยายใหญ่อาจเป็นไปได้ว่าในอนาคตจีนอาจจะพบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่หรือว่าผู้นำพรรคในอนาคตอาจไร้ความสามารถอันนำไปสู่ความเสื่อมถอยและความล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นผลให้รัฐย่อยต่างๆ ประกาศแยกตัวในที่สุด

ดังนั้นวิธีการรับมือกับความไม่เที่ยงแท้ของรัฐชาติ คือการทำอย่างไรให้ความมั่นคงของรัฐชาติไม่ว่าด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมนั้นผสมผสานกับระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม อันเป็นสิ่งที่เราต้องใคร่ครวญไม่มากก็น้อยในโลกสมัยใหม่นี้  แต่ที่แน่ๆ สำหรับเมืองไทย ผู้เขียนเห็นว่าไม่มีทางที่จะเป็นไปตามที่ คสช.ชอบอ้างมาตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาไม่ว่าการประกาศไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือว่าการแต่งตั้ง สนช.ที่ครึ่งหนึ่งคือทหาร
                                              

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท