Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มติชนสุดสัปดาห์ขึ้นปกรูป นรนิติ - สมคิด ในอากัปกิริยาเริงร่า ขณะที่ด้านล่างเป็นรูปนายวรเจตน์เดินออกจากที่คุมขัง พร้อมพาดหัว และคอลัมน์ในประเทศ 'โดม' ใน 'ดวงใจ' สะท้อนภาพธรรมศาสตร์ที่อยู่ในภาวะ ต่างคนต่างมี 'โดม' ในดวงใจของตนเอง และภาวะที่ด้านหนึ่งยินดีปรีดากับตำแหน่งและเกียรติยศ แต่อีกด้าน ยังมีผู้ต้องเผชิญกับการถูกดำเนินคดี

 

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2557

มีภาพ 2 ภาพ ที่เกี่ยวเนื่องกับ ลูกโดม "ธรรมศาสตร์" อย่างมีนัยและความหมาย

ภาพหนึ่ง เป็นภาพที่ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะนิติราษฎร์ เดินออกจากห้องคุมขัง ศาลทหารกรุงเทพ กรมพระธรรมนูญ หลังได้รับประกันตัวจากการที่อัยการทหารมีคำสั่งฟ้องนายวรเจตน์ ในข้อหา ไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยในชั้นพนักงานสอบสวนมีการแจ้งความผิดฐานไม่เข้ารายงานตัว ตามคำสั่ง คสช. ฉบับ 57/2557

เมื่อมาถึงชั้นอัยการ มีการฟ้องเพิ่มในข้อหาขัดคำสั่งที่ 5/2557

ถือเป็นการกระทำความผิดข้อหาเดียวแต่ 2 กรรม

นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่ารู้สึกไม่พอใจในคำสั่งฟ้องดังกล่าว เนื่องจากในชั้นสอบสวนได้แจ้งข้อหา ขัดคำสั่ง คสช. ฉบับ 57/2557 เพียงข้อหาเดียว แต่สำนวนส่งฟ้องกลับมีข้อหาเพิ่มในข้อหาคือ ขัดคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 5/2557 ซึ่งอาจถือว่าไม่เป็นธรรมในการสั่งฟ้อง และถือว่ากระบวนการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะในการสอบสวนได้แจ้งว่าขัดคำสั่งเพียงครั้งเดียว ซึ่งต้องกลับไปดูในข้อกฎหมายเพื่อสู้คดีให้ถึงที่สุด

คำพูดของทนายดังกล่าว ด้านหนึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงการเอาจริงเอาจังของ "อัยการทหาร"

และพร้อมจะเอาผิดอาจารย์วรเจตน์ นักวิชาการที่มีจุดยืนเรื่อง "ประชาธิปไตย" ในแนวของตนเองและนิติราษฎร์ ทุกช่อง!

อีกภาพหนึ่ง เป็นภาพที่อาคารรัฐสภา  นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายนรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ารายงานตัวหลังได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ให้ดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.

บรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น

นายสมคิด แสดงจุดยืนต่อกระแสข่าวที่จะมีการเสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี ว่าไม่มีปัญหา เพราะพลเอกประยุทธ์ได้รับการตอบรับดีในการแก้ปัญหาให้กับประเทศ แม้อาจมองว่าทางเลือกมีไม่มาก แต่อยากให้มองว่าเป็นการบริหารประเทศแบบเฉพาะกาล ไม่มีทางเลือกมากนัก ถ้าพูดแบบประชาธิปไตย 100% การมีชื่อนายกฯ คนเดียวอาจไม่ใช่สิ่งที่พึงปรารถนา แต่นี้คือการบริหารประเทศในเฉพาะกาล 1 ปี เราอาจพอรับได้"

"ถ้าเรามองย้อนประวัติศาสตร์ไทย ถามว่า นายกฯ อานันท์ (ปันยารชุน) มาจากการเลือกตั้งไหม ปี 2534 - 2535 นายกฯ อานันท์ ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ขึ้นอยู่กับมุมมองว่าเรามองจากอะไร ถ้าเรามองว่าเลือกตั้งเท่านั้น เป็นประชาธิปไตย เนื้อหาของการดำเนินการจะเป็นอย่างไรเราไม่สนใจ แต่ถ้าเราคิดในเชิงเป็นรัฐบาลเฉพาะกาลเท่านั้นที่มีขึ้นเพื่อบริหารประเทศ และกำลังเตรียมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เหมือนที่นายกฯ อานันท์ ทำ เราก็พอจะรับได้"

ชัดเจน ตรงไปตรงมา ถึงจุดยืนที่อยู่เคียงข้าง คสช.

และพร้อมจะอธิบาย เพื่อยืนยันความชอบธรรมของ คสช. ในทุกช่อง!

ภาพ 2 ภาพ จึงเป็นความแตกต่างแบบสุดขั้ว แม้จะเป็นธรรมศาสตร์เดียวกันก็ตาม และนั่นไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปแลเห็นครั้งแรกและครั้งเดียว

เพราะเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม หนึ่งวันหลังการประกาศรายชื่อ สนช. เว็บไซต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ http//www.tu.ac.th/en/ ได้ขึ้นป้ายแบนเนอร์เขียนแสดงความยินดีกับการที่ ศาสตราจารย์นรนิติ และศาสตราจารย์ ดร. สมคิด ได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช. ด้วยข้อความในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ พร้อมรูปภาพบุคคลทั้ง 2 ว่า 

"Congratulations Prof.Noranit Setabutr President of Thammasat  University Council and Prof.Dr.Somkit Lertpaithoon Rector of Thammasat University Being appointed as member of The National Legislative Assembly 2014 by The National Council of Peace and Order."

เป็นความภาคภูมิใจที่มิได้จำกัดไว้เฉพาะเมืองไทย แต่ต้องการสื่อออกสู่ "สากล" ให้รับรู้ด้วย!

ความยินดีดังกล่าว ทำให้ ศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แต่งกลอนและโพสต์ในเฟซบุ๊กในเวลาต่อมาว่า

"คองแกรตจูเลชั่นส์คันส์ยิบยิบ

ชิ้นปลามันท่านหยิบมาป้อนให้  

คำเก่าเหนียวย่อยยากท้องครากไป

ยิ้มต้อนรับคำใหม่เอ้าไชโย"  

และ

"ไม่สูญเปล่าเสียหลายแต่ได้เปล่า  

เมื่องานเข้าวาดลวดลายได้เต็มที่  

สามฉบับนับร่างช่างมือดี  

ธรรมศาสตร์ชาตินี้ไม่มีลืม"  

ขณะที่ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีธรรมศาสตร์ เข้ามาเขียนคอมเมนต์ว่า

"Thammasat is dead Long live Thammasat  

ธรรมศาสตร์ ตายแล้ว ธรรมศาสตร์ จงเจริญ"

เช่นเดียวกับ นายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เผยแพร่จดหมายผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก ชาติพันธุ์นิพนธ์ มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ไม่อาจยินดีกับการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งเป็น สนช. ได้ เพราะ

ประการแรก ขณะนี้ประชาชนไม่มีเสรีภาพ

ประการที่สอง ขณะนี้สิทธิของประชาชนถูกละเมิดกันถ้วนหน้า นอกเหนือจากการจับกุมคุมขังและปิดกั้นเสรีภาพในการเดินทางของผู้คนจำนวนมากแล้ว ผู้ที่ผ่านการพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรมปกติและได้อิสรภาพมาแล้ว กลับถูกเรียกไปรายงานตัว โดยไม่มีทางรู้ได้ว่าเขาจะถูกดำเนินคดีโดยศาลทหารหรือไม่ 

ประการที่สาม ขณะนี้ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมในการปกครองได้แม้แต่น้อย

ประการที่สี่ ขณะนี้เรากำลังเดินหน้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้จริงหรือ

"มีตำราหรือประสบการณ์จากที่ไหนในโลกว่าไว้อย่างนั้นหรือ มีแนวคิดแปลกใหม่อะไรที่จะสร้างสังคมประชาธิปไตยจากสังคมเผด็จการได้หรือ มีประสบการณ์จากประเทศไหนบอกไว้แล้วผมพลาดไปอย่างนั้นหรือ หรือว่าลำพังความพิเศษของสังคมไทยจะทำให้เกิดสิ่งนั้นได้จริงหรือ ถ้าได้ ทำไมสังคมไทยไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ปราศจากการคอร์รัปชั่นมานานแล้วล่ะ การรัฐประหารที่สัญญาว่าจะนำมาซึ่งประชาธิปไตย และการขจัดการโกงกินเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วไม่ใช่หรือ แล้วทำไมสังคมไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยสักที หรือเพราะเราเชื่อมั่นในระบอบเผด็จการมากกว่ากันแน่"

"มหาวิทยาลัยแห่งนี้เกิดขึ้นมาจากดอกผลของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (democracy with constitutional monarchy) ยิ่งทำให้การเข้าดำรงดำแหน่ง สนช. ของผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสิ่งที่น่าอับอาย ทำลายเกียรติประวัติทั้งของผู้เข้ารับตำแหน่งเอง และของประชาคมมากยิ่งขึ้นไปอีก"

กระนั้น ก็ใช่จะมีแต่ผู้คัดค้าน เพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า TU Spirit Team ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างสำนึกจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ให้กับยุวชนธรรมศาสตร์รุ่นใหม่ ได้เขียนข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ระบุว่า "คนธรรมศาสตร์บางคน ตั้งคำถามกับการเข้าไปเป็น สนช. ของอาจารย์นรนิติ และอาจารย์สมคิด แต่กลับเชิดชูอาจารย์ปรีดี อาจารย์ป๋วย ทั้งที่ทั้ง 4 คน ก็ทำงานภายใต้ระบอบเผด็จการ"

พร้อมกับขยายความว่า  

"ต้องการให้กำลังใจผู้ที่จะตั้งใจใช้ความรู้ความสามารถเพื่อบ้านเมือง เช่นเดียวกันกับ อ. ปรีดี และ อ. ป๋วย ที่ท่านก็มุ่งเห็นและทำเพื่อ "ประโยชน์ของประเทศชาติ" มากกว่า "การถือตัวตน" โดยในกรณีนี้ทางกลุ่มขอให้กำลังใจ อ. สมคิด และ อ. นรนิติ ที่จะได้มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองเช่นกัน"

การพาดพิงไปถึง ปรีดี พนมยงค์ และ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นำไปสู่ "วิวาทะ" ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างดุเดือด รวมถึง ศ. เกษียร เตชะพีระ แสดงความคิดเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Kasian Tejapira ตอบโต้ TU Spirit Team อีกรอบว่า แม้อาจารย์ป๋วยเข้าไปร่วมงานบริหารเศรษฐกิจให้รัฐบาลคณะปฏิวัติ

ทว่าในเวลาต่อมา อาจารย์ป๋วยก็ได้เขียนจดหมายด้วยนามแฝง เข้ม เย็นยิ่ง ถึงผู้ใหญ่บ้านทำนุ เกียรติก้อง (จอมพลถนอม กิตติขจร) แห่งหมู่บ้านไทยเจริญ เรียกร้องให้คืนรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยแก่ประเทศชาติ อันเป็นการกระทำที่เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ยึดหลักการและเอาเครดิตฐานะตำแหน่งการงานระดับสูงในวงราชการของท่านเป็นเดิมพัน ไปทำสิ่งที่ถูกต้อง เป็นคุณแก่บ้านเมืองและประชาชน โดยที่ท่านไม่ต้องทำเช่นนั้นเลยก็ได้ บทบาทความเป็น เข้ม เย็นยิ่ง ของท่านนี้ ผมเคารพนับถืออย่างสุดใจและเป็นแบบอย่างอันดีงามแก่ข้าราชการ นักวิชาการ เทคโนแครตในสมัยนั้นจวบจนปัจจุบัน

ส่วนการบอกว่าอาจารย์ปรีดีทำงานใต้เผด็จการ เป็นการมองแคบ เฉพาะส่วน ไม่ดูบริบท ไม่ดูประวัติศาสตร์และตัดตอนด้านอื่นของการทำงานการเมืองของอาจารย์ปรีดีออกไปหมด หยิบมาเฉพาะจุดเพียงเพื่อปลอบประโลมให้ความชอบธรรมแก่ผู้มาทีหลังที่อาศัยร่มเงาของอาจารย์ปรีดีไปกระทำการทางการเมืองตามเจตคติส่วนตัวเท่านั้น

นาทีนี้ดูเหมือนบรรยากาศในธรรมศาสตร์จะอยู่ในภาวะ ต่างคนต่างมี "โดม" ในดวงใจ ของตนเอง เหลือง แดง แม้จะยังเคียงคู่กัน แต่ถูกแยกออกเป็น "ส่วน" ในความรู้สึกของหลายๆ คนมิได้กลมกลืน กลมเกลียว และปรองดอง อย่างที่ใครคาดหวัง

นี่แม้เป็นภาพสะท้อนที่ออกมาจากธรรมศาสตร์จุดเดียว

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า จากจุดเดียวนี้ สามารถสร้างแรงกระเพื่อมออกไปในวงกว้างได้

ดังนั้น ใครหรือคณะใด ถึงจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จแค่ไหน ก็ไม่อาจจะ "ขอเวลา" เพื่อเพรียกหาความเป็นหนึ่งเดียวกันได้จากวิธี "พิเศษ" ได้

และยิ่งด้านหนึ่ง มีความยินดีปรีดากับตำแหน่งและเกียรติยศ

แต่อีกด้าน ยังมีผู้ต้องเผชิญกับการถูกดำเนินคดีภายใต้กฎอัยการศึก

และ ยังมีอาจารย์และนักศึกษาจำนวนหนึ่ง "หาย" ไปจากร่มเงาของโดม อย่างเงียบงันและน่าห่วงใย

ภาพ 2 ภาพจึงกระทบความรู้สึก และ "ดวงใจ" ลูกโดมอย่างยิ่ง!

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ปีที่ 34 ฉบับที่ 1173 (8 - 14 สิงหาคม 2557)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net