Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงเดือนสิงหาคม ก็นับว่าเราได้ขยับใกล้การเปิดเรียนในปีการศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง ซึ่งขยับกรอบเวลาการเปิดภาคเรียนสำหรับเตรียมพร้อมเข้าสู่ AEC ซึ่งนอกจากการเปิดเรียนแล้ว แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงเสียไม่ได้ก็คือ เทศกาลรับน้องของแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัย และกระทั่งในขณะที่ท่านกำลังอ่านบทความชิ้นนี้อยู่นิสิตนักศึกษา ปัญญาชนชั้นปีที่ 1 หลายๆ ชีวิตก็อาจจะกำลังนั่งก้มหน้าอยู่ในบรรยากาศการรับน้องก็ได้

การรับน้องในความรับรู้ของผมนั้นเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง แต่แน่นอนว่า การรับน้องนั้นเป็นประเด็นที่อยู่คู่สังคมไทยมาค่อนข้างนาน ที่ผ่านมาก็มีข่าวด้านลบออกมามากมาย ทั้งความรุนแรงในการรับน้อง ไปจนกระทั่งถึงก่อให้เกิดการบาดเจ็บ และเสียชีวิต หากทว่า การรับน้องที่เป็นเสมือนประเพณีนั้นก็ไม่ได้เลือนหายไปไหน หากแต่ย้ายมาหลบอยู่ในรั้วของมหาวิทยาลัยที่เป็น “โรงเลี้ยงเด็ก” อันมิดชิด ปลอดภัย มากกว่าจะไปปรากฏตัวในสถานที่สาธารณะอย่างที่เคยเป็นเมื่อราวสิบปีก่อน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสงสัยใคร่รู้ และชวนให้ครุ่นคิดว่าเหตุใดมหาวิทยาลัยจึงเลือกที่จะปล่อยให้มีการรับน้องต่อไป มากกว่าที่จะประกาศยกเลิกเสีย

ประเด็นหนึ่ง อาจจะกล่าวได้ว่า เพราะกิจกรรมรับน้องนี้ทำให้รุ่นพี่รุ่นน้องได้รู้จักกัน และทำให้นิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มีเพื่อนใหม่ในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ทั้งนั้นควรตั้งคำถามกลับไปให้ชัดเจนว่า มหาวิทยาลัยนั้นเป็นสถานศึกษาที่ประสิทธิ์ประศาสน์วิชา หรือเป็นโรงเลี้ยงเด็กกันแน่? และหากเป็นที่ชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา ที่มุ่งมั่นผลิตนิสิตนักศึกษาปัญญาชนออกมารับใช้สังคม และพัฒนาประเทศ ประเพณีอะไรๆ ที่ไร้แก่นสารก็ควรงดลง หรือยุติลงเสีย

ประเด็นถัดมา เพื่อจะตอบคำถามข้างต้นว่า แล้วเหตุใดมหาวิทยาลัยจึงยังไม่ยุติประเพณีรับน้องทั้งที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์มากมายในสังคม และการรับน้องเองก็ดูจะเป็นเรื่องที่ “ล้าหลัง” และ “ไร้แก่นสาร” หากจะตอบคำถามนี้ก็คงต้องอ้างถึงเรื่องกลไกทางอุดมการของรัฐขึ้นมาประกอบด้วย ภายใต้รัฐนั้นพลเมืองจะถูกควบคุมด้วยกลไกรัฐใน 2 รูปแบบ คือ กลไกรัฐในการปราบปราม (ทหาร, ตำรวจ และกลไกอื่นๆ ที่ใช้ความรุนแรงได้อย่างชอบธรรมตามกฏหมาย)  และกลไกทางอุดมการของรัฐ (โรงเรียน, บ้าน, วัด เป็นต้น) ซึ่งในที่นี้เราจะจำแนกได้อย่างชัดเจนว่า มหาวิทยาลัยก็คือ กลไกทางอุดมการอันหนึ่งที่รัฐใช้ควบคุมความคิดของพลเมืองผ่านระบบการศึกษา

ดังนั้น เราอาจจะตั้งสมมุติฐานแบบหลวมๆ ขึ้นมาได้ว่า การที่ระบบรับน้องยังคงอยู่ได้นั้นก็เพราะ กระบวนการรับน้องเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ทำงานตอบสนองต่ออุดมการแห่งรัฐ และภายใต้สมมุติฐานนี้คงจะพอทำให้ทุกท่านมองเห็นว่าแท้จริงแล้วมหาวิทยาลัยกำลังฝึกและสร้างอะไรขึ้นจากการรับน้อง คำตอบหนึ่งที่ผมพอจะคิดได้ก็คือ บรรยากาศแบบเผด็จการ ในการรับน้องนั้น น้องจะถูกปกครอง ควบคุม ดูแล จากรุ่นพี่ชั้นปีที่สูงกว่าโดยไม่มีสิทธิ์โต้แย้ง (คนที่โต้แย้งจะถูกกระบวนการขับออก หรือใช้การลงทัณฑ์ทางสังคมจัดการ) กล่าวได้ว่า ระบบการรับน้องทำให้เกิดการสถาปนาอำนาจของรุ่นพี่ให้กลายเป็นชนชั้นปกครอง ขณะที่รุ่นน้องจะกลายเป็นชนชั้นใต้ปกครองไปโดยปริยาย ที่สำคัญคือ การสถาปนาอำนาจนี้เป็นการใช้อำนาจสั่งการที่เด็ดขาดจนสามารถเรียกได้ว่า เป็นการสถาปนาอำนาจให้แก่เผด็จการตัวน้อยๆ ได้ลิ้มลองความหอมหวานของอำนาจเบ็ดเสร็จ

ทั้งนี้ นอกจากการฝึกฝนเพื่อสร้างเยาวชนจอมเผด็จแล้ว การรับน้องยังมีกระบวนการสร้างผู้ตามแบบเชื่องๆ หรือชนชั้นใต้ปกครองที่ดี ซึ่งไม่อาจมองข้ามไปได้อีกด้วย กล่าวคือ ในสถานะที่เป็นรุ่นพี่ปี 2 ควบคุมการรับน้อง สวมบทจอมเผด็จการอยู่นั้น ก็จะต้องยอมสยบลงเมื่อจอมเผด็จการในชั้นปีที่สูงกว่าก้าวเข้ามาร่วมวง กระบวนการนี้ทำให้เยาวชนจมอยู่ในกรอบแคบๆ ห้ามถาม ห้ามสงสัย ห้ามคัดค้าน คำสั่งของพี่ (ชนชั้นปกครอง) ถือเป็นที่สุด

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ขอตัดสินว่าการรับน้อง คือต้นเหตุเดียวของปัญหาที่สังคมประชาธิปไตยไทยกำลังเผชิญ นั่นคือ ความเฉยชาต่อเรื่องสิทธิ เสรีภาพ แต่ก็ยากจะปฏิเสธว่า การรับน้องเป็นกลไกหนึ่งที่หล่อหลอมให้เยาวชนกลายเป็นมนุษย์หุ่นยนต์ที่ต้องคอยรับคำสั่งโดยไม่มีข้อโต้แย้ง สร้างพลเมือง “เชื่องๆ” แบบที่รัฐต้องการ

สุดท้ายนี้ก็คงจะต้องย้อนกลับไปในคำถามที่ผมตั้งไว้ในตอนต้นว่า แท้จริงแล้ว มหาวิทยาลัยคือสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือโรงเลี้ยงเด็กไม่รู้จักโต และควรตั้งคำถามต่อตนเองต่อไปว่า แท้จริงแล้วเราดั้นด้นเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเพื่ออะไรกันแน่

และคำถามสุดท้ายผมอยากฝากไปยังนิสิตนักศึกษาปี 1 ทุกท่านที่จะต้องเข้ารับน้อง ให้ท่านตั้งคำถาม และขบคิดหาคำตอบให้กับตัวเองให้ได้ว่า “รุ่นพี่ที่ยังเรียนไม่จบระดับมหาวิทยาลัย และเกิดก่อนท่านไม่กี่ปีนั้น มีความชอบธรรมอะไรจะมาบังคับขู่เข็ญท่าน และท่านเชื่อได้อย่างไรว่า คนที่เรียนสูงกว่าท่านแค่ไม่กี่ชั้นปีจะมีประสบการณ์มาสั่งสอนท่านได้”

       

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net