Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

      
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2557 เวลาประมาณ 16:00 น. เหตุอาคารก่อสร้างเป็นคอนโดมิเนียม 6 ชั้น ถล่ม ที่จังหวัดปทุมธานี มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และติดอยู่ในซากตึก ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว เมื่อดูจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ย้อนนึกไปถึงอีกเหตุการณ์หนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ คือ เหตุการณ์การทรุดตัวของปล่องลิฟต์ระหว่างก่อสร้างอาคารสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 มีผู้เสียชีวิต 10 ราย และบาดเจ็บ 16 ราย เป็นคนงานก่อสร้าง สาเหตุเกิดจากการเทปูนบริเวณปล่องลิฟต์ของตัวอาคารมีการทรุดตัวลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ตัวอาคาร ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมเหตุการณ์ตึก 7 ชั้น หลังเซียร์ รังสิต จังหวัดปทุมธานี เอนระหว่างการก่อสร้างเมื่อ 31 มีนาคม 2556 จากเหตุการณ์ต่างๆ ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงในการทำงานของคนงานก่อสร้าง หากไม่มีมาตรการการก่อสร้างที่ปลอดภัย และควบคุมการก่อสร้างอย่างเข้มงวดแล้ว โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำซากก็เป็นไปได้อย่างมาก

จากสถิติการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จำแนกตามความรุนแรงและประเภทกิจการ ปี 2556 ของกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน พบว่า การก่อสร้างมีจำนวนผู้ประสบอันตรายจากการทำงานมากที่สุด สอดคล้องกับข้อมูลของต่างประเทศ ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ในปี พ.ศ. 2552 คนงานก่อสร้างเป็นกลุ่มที่ประสบอันตรายและเสียชีวิตมากที่สุด โดยคิดเป็นร้อยละ 16 ของการเสียชีวิตจากการทำงานทุกอาชีพ โดยคนงานก่อสร้างในสหรัฐอเมริกามีอัตราการเสียชีวิตเป็น 9.7 ต่อ 100,000 คนงานก่อสร้าง คิดเป็น 3 เท่าของอัตราการเสียชีวิตจากคนงานในสถานประกอบการประเภทอื่นๆ

นอกเหนือจากการประสบอันตราย บาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการประสบอันตรายแล้ว คนงานก่อสร้างยังต้องประสบกับสิ่งคุกคามต่อสุขภาพจากการทำงานหลายประเภท ได้แก่ การสัมผัสสารเคมีหลากหลายชนิด เช่น ซิลิก้าจากการขุดเจาะชั้นหิน การเจียรหิน ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด และปอดเป็นพังผืด ใยหินจากการตัดเจียรกระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น และรื้อถอนอาคาร ทำให้เกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด มะเร็งปอด และปอดพังผืด โลหะหนักจากการเชื่อมทำให้เกิดหลอดลมอักเสบ ผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสปูนซิเมนต์ และความผิดปกติทางระบบประสาทจากการสัมผัสสี ตัวทำละลายอินทรีย์ และตะกั่ว สำหรับสิ่งคุกคามต่อสุขภาพทางกายภาพ คนงานก่อสร้างเสี่ยงต่อการได้รับสัมผัสเสียดัง อากาศร้อน กัมมันตรังสี แรงสั่นสะเทือนจากการใช้เครื่องจักร เครื่องมือ และปัญหาที่พบบ่อย คือ ท่าทางการทำงานและการแบกยกของหนัก ทำให้คนงานก่อสร้างเกิดปัญหากระดูกและข้อต่างๆ จำนวนมาก ทั้งนี้ ยังไม่ได้นับรวมถึงปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของคนงานก่อสร้าง เช่น ค่าแรงไม่พอกับรายจ่าย ปัญหาลูกของคนงานก่อสร้างที่ต้องนำมาเลี้ยงดูในสถานที่ก่อสร้างด้วย

ดังนั้น ทุกภาคส่วนคงต้องมาถกกันถึงแนวทางในการป้องกันการเกิดเหตุการณ์อันน่าสลดที่เกิดซ้ำเกิดซาก ตลอดจน ลดสิ่งคุกคามต่อสุขภาพประเภทอื่นๆ ในกลุ่มคนงานก่อสร้างกันอย่างจริงจัง สำหรับแนวทางการก่อสร้างอย่างปลอดภัย ภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นต้องมีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมอาคารอย่างจริงจัง ผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารต่างๆ ต้องมีการวางแผนมาตรการความปลอดภัยระดับต่างๆ ผู้ควบคุมงานต้องมีการดำเนินการควบคุมอย่างจริงจัง และปฏิบัติตามกฎหมาย และมาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด สำหรับการป้องกันการเกิดโรคจากสิ่งคุกคามต่อสุขภาพในการทำงานก่อสร้างต้องมีการจัดประเมินสิ่งคุกคามต่อสุขภาพในที่ทำงานก่อสร้าง และแจ้งให้คนงานก่อสร้างรับรู้ถึงสิ่งคุกคามต่างๆ ที่ตนเองต้องประสบจากการทำงาน จัดการควบคุมสิ่งคุกคามต่อสุขภาพต่างๆ โดยยึดหลักการควบคุมทางวิศวกรรมเป็นมาตรการแรก เช่น ยกเลิกการใช้สารเคมีที่มีอันตรายต่อสุขภาพและใช้สารทดแทน เช่น กรณีกระเบื้องมุงหลังคา และกระเบื้องปูพื้นทดแทนใยหิน จัดหาและควบคุมการใช้อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลต่างๆ ในกรณีที่จำเป็นต้องทำงานสัมผัสสิ่งคุกคามต่อสุขภาพ เตรียมและซ้อมแผนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ จัดการอบรมให้ความรู้กับคนงานและหัวหน้างานเกี่ยวกับความปลอดภัยในการก่อสร้าง จัดให้มีการตรวจสุขภาพก่อนการทำงานและระหว่างการทำงานตามความเสี่ยงจากการทำงานก่อสร้าง จัดระบบการเข้าถึงบริการสุขภาพ และจัดทำทะเบียนคนงานก่อสร้างเพื่อติดตามในระยะยาว

สุดท้ายได้แต่หวังว่าเหตุการณ์ครั้งนี้คงทำให้แต่ละภาคส่วนได้ฉุกคิด และหาทางในการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก อย่างจริงจัง เพื่อให้คนงานก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานต่างชาติได้ทำงานอย่างปลอดภัยและปลอดโรคต่อไป.

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ศ.นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ เป็น กรรมการวิชาการ สมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net