Skip to main content
sharethis

14 ส.ค.2557 เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า เมื่อเวลา 14.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้หารือกรณีสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หารือว่าสมาชิก สนช.มีหน้าที่ยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ หากมีหน้าที่ยื่นต้องดำเนินการยื่นเมื่อใด

โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 บัญญัติให้ สนช.ทำหน้าที่ ส.ส. ส.ว. และทำหน้าที่รัฐสภา ซึ่งในมาตรา 6 วรรค 2 และมาตรา 41 ได้บัญญัติว่า ในกรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นมาใช้บังคับแก่ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช. ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าวทำให้เห็นว่า ผู้ที่เป็น สนช.เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อยู่ในสถานะและทำหน้าที่เช่นเดียวกัน ดังนั้น สนช.ต้องทำหน้าที่ยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินฯ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 32 โดยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 ส.ค.57 และต้องยื่นภายใน 30 วัน จึงจะครบกำหนดในวันที่ 7 ก.ย.

นายสรรเสริญ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ สนช.ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯต่อ ป.ป.ช.แล้วจะต้องมีการเปิดเผยหรือไม่นั้น ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ประกอบกับพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ได้กำหนดให้ต้องประกาศเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯ ของ ส.ส.และ ส.ว. ดังนั้น คณะกรรมการป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อ สนช.ปี 57 ทำหน้าที่ ส.ส. ส.ว. และมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เช่นเดียวกับ ส.ส.และ ส.ว. จึงเห็นควรเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯ และเอกสารประกอบของสมาชิก สนช. ต่อสาธารณชนตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554

“ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ 3 ข้อคือ 1.กำหนดให้สมาชิก สนช.มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. 2.การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าว ให้ถือเอาวันปฏิญญาณตนคือ 8 ส.ค.เป็นวันยื่น และ 3.ให้มีการประกาศเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯดังกล่าว พร้อมเอกสารประกอบ โดย ป.ป.ช.จะต้องกำหนดวันในการเปิดเผยอีกครั้ง แต่ไม่เกินวันที่ 7 ต.ค.57 ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 35 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554”นายสรรเสริญ กล่าวและว่า หากครบกำหนด 30 วัน แล้วสมาชิก สนช.ไม่ได้ยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินฯ ต่อ ป.ป.ช. จะมีความผิดเหมือน ส.ส. และ ส.ว.คือ ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับ สนช.บางส่วนที่ถือครองหุ้นที่เป็นสัมปทานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สามารถทำได้หรือไม่ นายสรรเสริญ กล่าวว่า สามารถถือครองหุ้นต่อไปได้ โดยไม่ต้องโอนหรือเปลี่ยนมือ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 41 คุ้มครองอยู่ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของสำนักตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สำนักงาน ป.ป.ช.จะได้ไปให้ข้อมูลกับสมาชิก สนช.อีกครั้งที่รัฐสภาเพื่อทำความเข้าใจไม่ให้เกิดปัญหาในการยื่น โดยจะมีการนัดหมายกับรัฐสภาอีกครั้งว่าจะเป็นวันใด

เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า สำหรับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เดิม ไม่มีการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินฯ เนื่องจากทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับสมัชชาปฏิรูปประเทศ ซึ่งไม่ได้ยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินฯ และในครั้งนี้ สปช.จะต้องยื่นหรือไม่ยังไม่มีความชัดเจน คงต้องให้มีการตั้ง สปช.ให้ได้เรียบร้อยก่อน แล้วถ้ามีการหารือกันมาถึงที่ ป.ป.ช. จึงจะมาพิจารณาว่าจะต้องมีการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินฯหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net