Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

สังคมไทยในขณะนี้ ยังคงมีเป้าหมายที่จะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ได้มีการเผยแพร่ความรู้ให้รู้จักเพื่อนบ้านในอาเซียนมากขึ้น ที่น่าแปลกใจคือ ความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านที่เผยแพร่กันมักจะเน้นเรื่องปกิณกะ ประเภทที่ว่า ดอกไม้ประจำชาติเพื่อนบ้านคืออะไร คำทักทายสวัสดีกันอย่างไร อาหารเพื่อนบ้าน หรือการแต่งกายประจำชาติของเพื่อนบ้านเป็นอย่างไร เป็นต้น แต่องค์ความรู้ที่หนักแน่นเกี่ยวกับความเป็นมาทางการเมืองและสังคมของประเทศเพื่อนบ้านมีน้อยมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านยิ่งเป็นที่รับรู้น้อยลงไปอีก

แต่หนังสือเล่มสำคัญที่เผยแพร่ในขณะนี้ คือเรื่อง จีนเป็ง ประวัติศาสตร์คู่ขนาน เรื่องเล่าเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายา เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่พยายามจะเล่าอีกด้านหนึ่งของประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย ผ่านชีวประวัติของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์คนหนึ่ง คือ จีนเป็ง หรือที่อ่านเป็นภาษาจีนกลางว่า "เฉินผิง” ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์มลายาคนสุดท้าย และเป็นผู้นำของพรรคคอมนิวนิสต์ที่นำประชาชนต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐบาลมาเลเซียนานกว่า 30 ปี ก่อนที่จะถึงแก่กรรมและทำพิธีศพในประเทศไทย

ความเป็นมาของเรื่องเริ่มจาก ดินแดนมลายาแต่เดิมเป็นรัฐสุลต่านอิสระหลายรัฐ จนกระทั่งอังกฤษเริ่มขยายอำนาจเข้ามา และตั้งศูนย์กลางที่เกาะปีนังตั้งแต่ พ.ศ.2329 ต่อมาก็ขยายอำนาจจนได้ครอบครองดินแดนมลายาทั้งหมดเป็นอาณานิคม เรียกว่า “บริติชมลายา” โดยตั้งศูนย์กลางที่เกาะสิงคโปร์ รัฐสุลต่านทั้งหลายจึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษ

ภายใต้อำนาจของจักรวรรดินิยม อังกฤษได้พัฒนาให้มลายากลายเป็นแหล่งปลูกยางพาราที่สำคัญของโลก และเป็นแหล่งผลิตแร่ดีบุกสนองอังกฤษ ในการขยายการผลิตให้เป็นแบบทุนนิยมเมืองขึ้นเช่นนี้ อังกฤษได้นำเอาแรงงานอพยพชาวจีนและชาวอินเดียจำนวนมากเข้ามาใช้ในบริติชมลายา จนทำให้ในที่สุด สังคมมลายากลับเป็นดินแดนพหุเชื้อชาติ อัตราส่วนประชาชนที่เป็นเชื้อสายจีนเพิ่มสูงมากขึ้นทุกที เช่น สถิติประชากรใน พ.ศ.2490 มลายาและสิงคโปร์มีประชากรราว 5.8 ล้านคน เป็นเชื้อสายมาเลย์ราว 43.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นเชื้อสายจีน 44.7 เปอร์เซ็นต์ และเชื้อสายอินเดีย 10.3 เปอร์เซ็นต์ คนเชื้อสายจีนเข้ามาเป็นพ่อค้า นายหน้า ชนชั้นกลาง ทำการเกษตร และเป็นกุลีกรรมกร และโดยเฉพาะที่เกาะสิงคโปร์ คนจีนกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ทางการอังกฤษยังถือว่า ชาวมาเลย์เท่านั้นที่เป็นชาวพื้นเมือง ชาวจีนและชาวอินเดียอยู่ในฐานะเป็นผู้อพยพต่างด้าว ทั้งที่ในจำนวนประชาชนเชื้อสายจีนเป็นคนที่เกิดในดินแดนมลายาและสิงคโปร์ถึง 62.5 เปอร์เซนต์

ชาวจีนในมลายาเป็นกลุ่มแรกที่เริ่มสนใจและตื่นตัวในลัทธิมาร์กซ์ และตั้งพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2473 การเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์มลายาในระยะแรก ยังเป็นการรณรงค์ต่อต้านญี่ปุ่น และหนุนช่วยพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน จนกระทั่งเมื่อญี่ปุ่นบุกยึดครองมลายาใน พ.ศ.2484 พรรคคอมมิวนิสต์มลายาได้กลายมาเป็นแนวหน้าในการต่อต้านญี่ปุ่น

จีนเป็ง เป็นชื่อจัดตั้งของ อ๋องบุนหัว ซึ่งเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน เกิดเมื่อ พ.ศ.2467 ที่เมืองสิเตียวัน ในรัฐเปรัก ครอบครัวของเขาประกอบอาชีพช่างซ่อมจักรยานและเครื่องยนต์ อ๋องบุนหัวเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน โดยเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายจีนในการต่อต้านญี่ปุ่น ต่อมาได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเมื่อ พ.ศ.2483 โดยใช้ชื่อจัดตั้งว่า "จีนเป็ง" ต่อมา ได้เป็นผู้บัญชาการของกองทัพใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นในเปรัก และประสานงานกับอังกฤษในการสู้รบกับญี่ปุ่น

จนเมื่อสงครามโลกยุติลง และอังกฤษกลับเข้ามาปกครองมลายาอีกครั้ง ในระหว่างนี้ จีนเป็งจึงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคนใหม่เมื่อ พ.ศ.2490 และได้กลายเป็นผู้นำกองทัพคอมมิวนิสต์ต่อต้านการครอบครองของอังกฤษเพื่อเอกราชมลายา จนกลายเป็นศัตรูสำคัญที่อังกฤษตั้งค่าหัวถึง 250,000 เหรียญ ด้วยการปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดของฝ่ายอังกฤษ ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์มลายาต้องย้ายศูนย์กลางพรรค ข้ามมาอยู่ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ในประเทศไทย และต่อมา ทางการไทยจะเรียกกองกำลังนี้ว่า “โจรจีนคอมมิวนิสต์” หรือ จคม. และถือเป็นหนึ่งในกลุ่มก่อการร้ายภาคใต้

ภายใต้กระแสการต่อสู้เพื่อเอกราช และการกดดันจากสถานการณ์สากล อังกฤษจึงต้องยอมผ่อนปรน และมอบเอกราชให้กับชนชั้นสูงมาเลย์ ตั้งเป็นสหพันธรัฐมลายา ได้รับเอกราชสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ.2500 โดยมีรัฐบาลพันธมิตรอัมโน ของตนกูอับดุล เราะห์มาน บริหารประเทศ ซึ่งก็ถือความสืบเนื่องของนโยบายในการปราบปรามฝ่ายคอมมิวนิสต์ ต่อมา มลายา ได้รวมกับบอร์เนียวเหนือและซาราวัค เป็นประเทศมาเลเซียเมื่อ พ.ศ.2506 ส่วนสิงคโปร์ได้แยกตัวออกเป็นประเทศอิสระใน พ.ศ.2508

การต่อสู้ด้วยอาวุธของคอมมิวนิสต์มลายายังดำเนินต่อไป เพื่อปฏิวัติมลายาให้เป็นสังคมนิยม แต่ก็ประสบปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะเกิดการแตกแยกภายในเป็น 3 พรรค ตั้งแต่ พ.ศ.2513 คือ พรรคคอมมิวนิสต์มลายาเดิม ที่ยังคงมีจีนเป็งเป็นเลขาธิการ ตั้งสำนักศูนย์กลางที่เบตงตะวันออก ส่วนอีก 2 พรรค คือ พรรคคอมมิวนิสต์มลายา (ลัทธิมาร์กซ์ - เลนิน) นำโดย จางจงหมิง ตั้งอยู่ที่เบตงตะวันตก และพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (ฝ่ายปฏิวัติ) นำโดย อี้เจียง ตั้งอยู่ที่สะเดา ในสมัยรัฐบาลประชาธิปไตยของ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ไทยได้เป็นผู้ประสานให้มีการยุติศึก โดยมีการลงนามในสัญญาสันติภาพระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐบาลมาเลเซียในวันที่ 2 ธันวาคม 2532 ฝ่ายพลพรรคยินยอมที่จะวางอาวุธและตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย และรัฐบาลมาเลเซียยอมรับในเงื่อนไขที่จะให้ผู้ปฏิบัติงานที่วางอาวุธ กลับไปใช้ชีวิตปกติสุขในประเทศมาเลเซียได้อย่างมีศักดิ์ศรี

แต่กระนั้น จีนเป็งและกรรมการพรรคส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตให้กลับประเทศ และพลพรรคของ พคม. นับหมื่นคนต้องตั้งถิ่นฐานถาวรในประเทศไทย ทั้งที่ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส อำเภอยะหา อำเภอบันนังสตา และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา จีนเป็งใช้ชีวิตที่เหลือในประเทศไทย หรือเดินทางไปประเทศจีน และกลายเป็นผู้ถูกเนรเทศตลอดกาล และในที่สุดจีนเป็งก็ถึงแก่อนิจกรรมในประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2556

ก่อนที่จะถึงแก่กรรม จีนเป็งได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ คือ เอียน วอร์ค และ นอร์มา มิราฟลอร์ ซึ่งได้เรียบเรียงเป็นหนังสือชื่อ My Side of History พิมพ์ที่สิงคโปร์ เมื่อ พ.ศ.2546 แล้วจึงแปลถ่ายทอดออกเป็นภาษาไทย ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้เกิดการขยายความรู้เรื่องประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของมาเลเซีย ในด้านที่ทางการรัฐบาลของมาเลเซีย อาจจะไม่ได้อยากจะพูดถึง และก็น่าจะเป็นประโยชน์ในด้านบทเรียนแห่งการต่อสู้ของภาคประชาชนอีกด้วย

ในภาวะแห่งความสงบเงียบในสังคมไทยเช่นนี้ การอ่านหนังสือเพื่อเพิ่มพูนความรู้ และทำให้เข้าใจการต่อสู้ของประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นก็น่าจะเป็นประโยชน์ อย่างน้อยก็ในด้านความบันเทิง และทำให้เข้าใจได้ว่า ประวัติศาสตร์นั้นเป็นเรื่องของความแตกต่างหลากหลาย ไม่ใช่เป็นเรื่องของเอกภาพ อำนาจเผด็จการบังคับสถานการณ์ในปัจจุบันได้ แต่ไม่มีทางบังคับประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์จึงเป็นอันตรายสำหรับเผด็จการ เพราะอย่างน้อยประวัติศาสตร์ก็บอกเราว่า ไม่มีประเทศไหนเลยที่เผด็จการชนะ ในที่สุดแล้ว ชัยชนะจะเป็นของประชาธิปไตยเสมอ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้ วันสุข ปีที่ 10 ฉบับที่ 47ึ7 (16 - 22 สิงหาคม 2557)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net