กสม.ลงพื้นที่ตรัง สอบปม ‘คำสั่ง 64-66’ ทำชาวบ้านป่วน แนะ คสช.เร่งสั่งการโฉนดชุมชน

นพ.นิรันดร์ ลงตรวจสอบพื้นที่โฉนดชุมชนตรัง พร้อม กอ.รมน.-ตัวแทน คสช.-กรมอุทยานฯ ชี้ปมขัดแย้งต้องแก้นโยบาย คนตัดสินคือรัฐบาล เผย กสม.จะทำหนังสือถึง คสช.-อัยการสูงสุด-ผู้ว่าฯ ตรัง สรุปปัญหาและข้อเสนอ ส่วนนโยบายโฉนดชุมชนแนะหาก คสช.ยันเดินหน้าต่อ ควรสั่งการแนวทางปฏิบัติ-หามติจากส่วนกลาง
17 ส.ค. 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน และอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า พร้อมด้วย พ.ต.สมทรง คงพึ่ง รองหัวหน้ากลุ่มงานอำนวยการ กอ.รมน.ตรัง ผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายชัยยุทธ คุณชมภู นายสนิท องศารา ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ลงพื้นชุมชนสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ที่บ้านทับเขือ-ปลักหมู ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง
 
การลงพื้นที่ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานราชการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64 และ 66 ที่ระบุว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรามปราบและจับกุมผู้ที่บุกรุก และทำลายสภาพป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า มีคำสั่งทางปกครองให้รื้อถอนบ้าน และสวนยางพารา พร้อมทั้งดำเนินคดีอาญา นายสมคิด กันตังกุล และนางสุทิศา นิคะ ภรรยา
 
สืบเนื่องจากการที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และชาวบ้าน จ.ชัยภูมิ ได้ยื่นคำร้องต่อ กสม. และได้มีการประชุมผู้เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา
 

 
นายสนิท องศารา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) กล่าวว่า นายสมคิด และภรรยา ถูกจับกุมกรณีตัดไม้ยางพาราออกจากพื้นที่ ซึ่งตามกฎหมายไม้ยางพาราที่อยู่ในเขตอนุรักษ์เป็นไม้ป่า ไม่สามารถตัดออกจากพื้นที่ได้ เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย มิฉะนั้นจะมีความผิดตามมาตรา 157 ปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นทั่วภาคใต้ เป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน พี่น้องประชาชนเดือดร้อน ต้องมีการแก้ปัญหาในระดับนโยบาย 

ด้าน พ.ต.สมทรง คงพึ่ง รองหัวหน้ากลุ่มงานอำนวยการ กอ.รมน.ตรัง กล่าวว่า ได้เข้าไปตรวจดูที่ดิน 7 ไร่ ของนายสมคิดแล้ว ไม่น่าจะเป็นการบุกรุกใหม่ และอยู่ในขอบเขตของคำสั่งที่ 66 ข้อ 2.1 ที่ระบุให้การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ยากไร้ พร้อมตั้งคำถามว่าจะระบุว่าเป็นการบุกรุกเดิมได้หรือไม่ และในคดีที่ส่งถึงชั้นอัยการจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งถ้าส่งฟ้องความเดือดร้อนจะเพิ่มขึ้นไปอีก

 
 
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กล่าวว่า ชาวบ้านมองว่าการตัดต้นยางพาราเพื่อปลูกใหม่ทดแทนเป็นการดำเนินการตามวิถีชีวิตของเขา แต่อุทยานฯ มองว่าอยู่ในเขตอุทยานฯ ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ความขัดแย้งตรงนี้ต้องมีการแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย คนที่ตัดสินคือรัฐบาล ในฐานะของกรรมการสิทธิฯ จะทำหนังสือถึง คสช. อัยการสูงสุด และผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง สรุปปัญหา และข้อเสนอจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ โดยจะมีการสรุปว่าที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในแนวเขตโฉนดชุมชนที่ได้มีการตกลงกันระหว่างส่วนราชการกับชุมชนหรือไม่ และไม้ที่ถูกตัดไปเป็นไปตามวิถีการทำงานของชาวบ้าน หรือเป็นการตัดไม้ทำลายป่า
 
ส่วนเรื่องนโยบายโฉนดชุมชนได้รับการยืนยันจาก คสช. ว่าจะดำเนินการต่อ ดังนั้น คสช. ควรมีการสั่งการว่าจะมีการปฏิบัติอย่างไร ซึ่งจะต้องมีการพูดคุย และหามติจากส่วนกลาง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ดินของนายสมคิด และนางสุทิศา ทั้งหมดเนื้อที่ 7 ไร่ ถูกคำสั่งทางปกครองให้รื้อถอนบ้าน และสวนยางพารา เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ และถูกฟ้องดำเนินคดีในชั้นอัยการ ข้อหายึดถือครอบครองที่ดินรวมถึงก่อสร้างแผ้วถางป่า มีการบุกเบิกใน พ.ศ.2510 ต่อมามีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่--เขาย่า ใน พ.ศ.2525 มีการปลูกต้นยางพาราพันธุ์พื้นเมือง และต้นจำปาดะ กระจายอยู่เต็มพื้นที่ ต่อมา เมื่อต้นยางพาราเสื่อมสภาพ ให้ผลผลิตน้อยก็ได้ตัดต้นยางพาราเก่า เพื่อปลูกใหม่ทดแทน โดยมีร่องรอยการทำกิน ได้แก่ ตอยางพาราขนาด 1-2 คนโอบ ประมาณ 250 ตอ ต้นจำปาดะ 24 ต้น หลังจากนั้น ก็ถูกจับกุมดำเนินคดี และมีคำสั่งทางปกครองให้รื้อถอนบ้าน และสวนยางพารา

สำหรับพื้นที่ชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู เป็นพื้นที่ดำเนินงานโฉนดชุมชน ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) และรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้เป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน สามารถดำเนินงานโฉนดชุมชนภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ได้ร่วมรังวัดขอบเขตพื้นที่โฉนดชุมชนร่วมกับชุมชน โดยมีตัวแทนสำนักนายกรัฐมนตรี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง นายอำเภอนาโยง นายอำเภอศรีนครินทร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลช่อง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านนา และกำนันตำบลช่อง ร่วมเป็นคณะทำงาน

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท