Skip to main content
sharethis

รอง ผอ.สำนักการบังคับใช้กฎหมายฯ กอ.รมน.ภาค 4 สน.เผยกระบวนการคุยสันติสุขเวอร์ชั่นใหม่ ต้องเปิดกว้าง ฟังความเห็นและมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ด้าน บก.อาวุโส DSW ต้องคุยกับคนเห็นต่าง สื่อต้องเสนอด้านดีถ่วงดุลความรุนแรง 

19 ส.ค.2557 เมื่อวานนี้ที่ห้องประชุมพิมพ์มาดา โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท จ.ปัตตานี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) จัดเวทีการเสวนาเรื่อง “บทบาทสื่อกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยมีสื่อมวลชนทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือก นักจัดรายการวิทยุทั้งที่เป็นวิทยุภาครัฐและวิทยุชุมชน ตลอดจนตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมกว่า 100 คน

พ.อ.วิชาญ สุขสง รองผู้อำนวยการสำนักการบังคับใช้กฎหมาย สิทธิมนุษยชน และนิติวิทยาศาสตร์ กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวบรรยายสรุปในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้” โดยกล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพูดคุยเพื่อสันติสุขว่า ไม่มีความขัดแย้งใดที่แก้ไขให้ยุติด้วยการใช้กำลัง เห็นได้จากบทเรียนในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นไอร์แลนด์เหนือ อาเจะห์ หรือมินดาเนา และบทเรียนภายในประเทศอย่างการยุติความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือการแก้ไขปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์ก็ต้องยุติด้วยการพูดคุยเพื่อสันติภาพ นอกจากนี้ ยังถือเป็นแนวทางสากลที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและเป็นการหลีกเลี่ยงความสูญเสียและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“องค์กรระหว่างประเทศและประชาชนในพื้นที่กลุ่มต่างๆ ก็เรียกร้องต้องการให้เกิดกระบวนการนี้ขึ้น อีกทั้งหากความรุนแรงยังจะยังมีอยู่ก็จะไม่เกิดผลดีต่อประเทศของเราเมื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน”

พ.อ.วิชาญ กล่าวต่อว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีการพูดคุยมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2536 แต่ก็ยังไม่ยกระดับการพูดคุยเป็นระดับรัฐและไม่ได้มีผลผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายใดๆ แต่การพูดคุยที่เริ่มขึ้นในปี 2555 ซึ่งผลักดันโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่โน้มน้าวทางการมาเลเซียก็มีผลอย่างมาก จนกระทั่งมีการกำหนดเป็นนโยบายบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีการระบุถึงการพูดคุยกับผู้เห็นต่างเป็นครั้งแรก

“วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่มีการลงนามกันที่กัวลาลัมเปอร์นั้นถือเป็นวันคิกออฟ หรือวันประวัติศาสตร์ของการพูดคุยสันติภาพก็ว่าได้ แต่หลังจากการพูดคุยผ่านไป 7 ครั้ง เราก็กำลังอยู่ในช่วงที่เรียกว่าภาวะชะงักงัน จนกระทั่ง คสช.รับเรื่องนี้ต่อและต้องการเดินหน้าการพูดคุยต่อไป”

นายทหารจาก กอ.รมน.ภาค 4 กล่าวต่อว่า การเจรจาสันติภาพในปี 2556 นั้นมีข้อเรียกร้องจากทั้งสองฝ่าย ในขณะที่ฝ่ายไทยนั้นเรียกร้องให้มีการลดความรุนแรง แต่บีอาร์เอ็นได้เสนอข้อเรียกร้อง 5 ข้อซึ่งเป็นที่โจษจันกันอย่างมาก พอจะเข้าใจได้ว่าเหตุที่พวกเขานำเสนออย่างนั้นก็เพื่อแก้ปัญหาภายในของพวกเขาด้วยเช่นกัน เนื่องจากในบรรดาพวกเขาด้วยกันเองก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพ

“ผมมองว่าสภาผู้นำของพวกเขาคงต้องออกข้อเรียกร้องในลักษณะนี้เพื่อป้องกันการปฏิเสธ เขาพยายามเขียนให้สอดรับกับกฎหมายระหว่างประเทศ พยายามยกระดับการพูดคุยเป็นการเจรจา ต้องการให้มาเลเซียเปลี่ยนสถานะจากผู้อำนวยความสะดวกมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ต้องการให้องค์กรระหว่างประเทศมาสังเกตการณ์ ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องแปลก การเจรจาที่อื่นๆ ก็เป็นแบบนี้ พวกเขาก็ต้องทำให้ได้มากที่สุด แต่จะได้หรือไม่ได้นั้นก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการ”

พ.อ.วิชาญ กล่าวว่า การพูดคุยสันติภาพในปี 2556 มีบทเรียนสำคัญหลายประการ ได้แก่ 1) การพูดคุยไม่มีความคืบหน้ามากนัก เนื่องทั้ง 2 ฝ่ายยังขาดความไว้วางใจต่อกัน 2) ไม่มีกรอบแนวทางการพูดคุยที่แต่ละฝ่ายต้องยึดถืออย่างเคร่งครัด ไม่มีการพูดคุยกันก่อนและอยู่ๆ ก็ขึ้นเวทีใหญ่เลย ในขณะที่การเปิดเผยในที่สาธารณะก็ไม่ได้สอดคล้องกับที่เป็นไปในเวทีการพูดคุย ต่างฝ่ายจึงช่วงชิงความได้เปรียบ 3) ขบวนการบีอาร์เอ็นเข้าร่วมการพูดคุย เนื่องจากถูกบีบบังคับจากมาเลเซีย ซึ่งที่จริงแล้วพวกเขาไม่ได้ต้องการผลลัพธ์จากการพูดคุยมากนัก เพียงแต่ต้องการยกระดับให้กลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศต่างหาก 4) ฝ่ายไทยไม่มีความพร้อม ไม่มีกรอบแนวทางและยุทธศาสตร์การพูดคุยที่ชัดเจน การเตรียมตัวในการพูดคุยก็น้อย

พ.อ.วิชาญ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามการพูดคุยครั้งดังกล่าวก็เกิดผลดี นั่นคือ เกิดสัญญาณที่ดีต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติ ฝ่ายไทยเองก็ได้ทราบความเคลื่อนของกลุ่มขบวนการที่ไม่ได้มีเพียงกลุ่มเดียวและได้ทราบว่าการพูดคุยกับกลุ่มเดียวจะไม่สามารถยุติความรุนแรงได้ เหล่านี้เป็นข้อดีที่ทำให้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคในการเริ่มต้นพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขในปีนี้อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นช่วงส่งผ่าน

“ที่เราเรียกว่าการพูดคุยสันติสุขนั้น เพราะมีบางคนวิจารณ์ว่าบีอาร์เอ็นต้องการยกระดับปัญหา แต่เราเองต้องการลดระดับของปัญหาและระดับของการพูดคุย เพราะถือว่าปัญหาความขัดแย้งเป็นเรื่องภายในของเรา ในพื้นที่แห่งนี้ไม่ได้มีคู่สงคราม ไม่มีประเทศที่ทำสงคราม ทหารที่ลงมาทำหน้าที่ก็ไม่ได้มาทำสงคราม แต่มาบังคับใช้กฎหมาย เราจึงเรียกว่าเป็นการพูดคุยเพื่อสันติสุข แต่ถึงอย่างนั้นชื่ออะไรก็ไม่สำคัญ หากกระบวนการเดินหน้าต่อไปได้นั้นสำคัญกว่า”

พ.อ.วิชาญ เปิดเผยว่า นโยบายการพูดคุยสันติสุขปี 2557 เน้นที่การพูดคุยสันติสุขยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และให้เพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชนให้มากขึ้น รวมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์การพูดคุยเพื่อสันติสุขในพื้นที่ เป็นกรอบแนวทางให้ทุกส่วนยึดถือปฏิบัติ

พ.อ.วิชาญ เปิดเผยอีกว่า ความมุ่งหมายของแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวนั้นให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกหรือระบบเพื่อขับเคลื่อนการพูดคุยของทุกของทุกภาคส่วนในพื้นที่ และระดับนโยบายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถสนับสนุนการปฏิบัติซึ่งกันและกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างเอกภาพ และลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเกื้อกูลในเวทีการพูดคุย รวมทั้งการเปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนรับทราบข้อมูลและเสนอความคิดเห็นอีกด้วย

พ.อ.วิชาญ เปิดเผยต่อไปว่า ขั้นตอนการดำเนินการกระบวนการพูดคุยสันติสุขนั้นมีอยู่ 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนแรก คือ ขั้นของการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ที่มีทั้งช่องทางการสื่อสารกับผู้เห็นต่างและการสร้างการมีส่วนร่วมและรับฟังจากทุกภาคส่วน ขั้นตอนที่สอง คือ การลงสัตยาบันร่วมกัน และขั้นตอนที่สาม คือ การจัด Roadmap หรือแผนที่เดินทางเพื่อสร้างสันติสุข โดยแต่ละขั้นตอนไม่สามารถระบุระยะเวลาที่ชัดเจน

“เวทีครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในเวอร์ชั่นใหม่ นโยบายคือต้องทำเวทีอย่างนี้ให้กว้างขวางมากที่สุด จะต้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะ ข้อมูลต่างๆ จะต้องมาจากกลุ่มต่างๆ ให้ได้มากที่สุด หลังจากที่พิสูจน์ว่ามีความไว้วางใจกันแล้ว ก็จะเดินหน้าสู่ขั้นที่สองต่อไป"

พ.อ.วิชาญ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการพูดคุยสันติสุขของกอ.รมน ภาค 4 ส่วนหน้าจะเริ่มเปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มผู้เห็นต่างทุกขบวนการ ทั้งบีอาร์เอ็น พูโลทั้งกลุ่มเก่าและกลุ่มใหม่ รวมถึงบีไอพีพี โดยใช้ช่องทางลับเพื่อสร้างความไว้วางใจ ในขณะเดียวกันก็จัดเวทีสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน องค์กรภาคประชาชนสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน และอื่นๆ ในพื้นที่เพื่อแจ้งข่าวสารและรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อที่จะฝากให้คณะพูดคุยนำไปพูดคุยที่กับกลุ่มที่มีความเห็นต่างต่อไป

จากนั้นจึงมีการเสวนาในหัวข้อ “บทบาทสื่อกับการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดย ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) กล่าวว่า จุดเด่นของของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับ กอ.รมน.ภาค ภาค 4 สน. ในเรื่องการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่คือมีการต่อเนื่องในเรื่องของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยการเสริมความเข้มแข็งให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยมีการบูรณาการเพื่อให้มีความประสิทธิผลในการดำเนินการ


ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการเปิดพื้นที่สาธารณะมากยิ่งขึ้น เพื่อที่ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเข้าใจ ซึ่งถือว่าเป็นการกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่เกิดจากคนใน ซึ่งเป็นไปตามสิ่งที่ภาควิชาการและภาคประชาสังคมได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วก่อนหน้านี้ นั่นคือกระบวนการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างพื้นที่สันติภาพจากคนใจ หรือ IPP (Insider Peace builders Platform) โดยที่เรามีเชื่อว่ากระบวนการสร้างสันติภาพจากคนใน สามารถที่จะเปลี่ยนความรุนแรงและหันมาใช้กระบวนการสันติวิธีได้

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาองค์กรภาคประชาสังคมพื้นที่มีการจัดเวทีที่เกี่ยวกับการสร้างกระบวนการสันติภาพในพื้นที่จำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ 2556 ซึ่งเป็นปีที่มีการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น สิ่งเหล่านี้เป็นพลังของประชาชนระดับรากหญ้าที่ทำให้ทหารในพื้นที่ยอมรับขอการสร้างพื้นที่กลางของประชาชนในพื้นที่ด้วยเจตนาที่ดี

“ความอดทนของเจ้าหน้าทหารที่เหล่านี้ทำให้ภูมิทัศน์การสื่อสารพื้นที่เปลี่ยนไป จึงทำให้เกิดยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ดังนั้น วันนี้เป็นจุดเริ่มสัญญาณที่ดีในการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ ในรอบใหม่ ภายใต้กรอบที่ดี” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ด้านมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) กล่าวว่า การจัดเวทีครั้งนี้เป็นการสะท้อนว่าภูมิทัศน์ข่าวสารเกี่ยวกับชายแดนใต้เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องขยายพื้นที่การพูดคุยให้กว้างมากที่สุด แต่จะต้องไม่ทำให้ความคิดหดแคบลง ทุกฝ่ายจะต้องเริ่มพูดคุยกับคนที่เห็นต่างจากตนเอง ไม่ใช่คุยกันเฉพาะในกลุ่มของตนเอง แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องทบทวนว่าจะหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพต่อไปอย่างไร

มูฮำมัดอายุบ กล่าวว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ สื่อมวลชนในพื้นที่ถือเป็นตัวตัดเชือกหรือตัวแสดงสำคัญในการสร้างความเข้าใจในกระบวนการสันติภาพและการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับประชาชนในระดับรากหญ้า โดยเสนอแนะว่าจะต้องมีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถ่วงดุลความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอแง่มุมเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ของผู้คน พร้อมทั้งเสนอว่าจะต้องมีเน้นเนื้อหาไปที่เรื่องราวของกลุ่มคนสำคัญๆ ในพื้นที่ ซึ่งมีพื้นที่นำเสนอในสื่อน้อยมาก ได้แก่ 1) ผู้นำศาสนาในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำศาสนาอิสลาม พระสงฆ์ หรือบาทหลวงในศาสนาคริสต์ 2) เยาวชน โดยเฉพาะเยาวชนที่มีความคิดเห็นต่าง 3) นักศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ โดยการนำเสนอวิธีชีวิตของนักศึกษาอยู่ในพื้นที่ได้อย่างไร 4) นักการเมืองท้องถิ่นหรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ และ 5) นำเสนอชีวิตของคนไทยพุทธที่อยู่ในพื้นที่

บรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวอีกว่า สื่อทางเลือกกับเจ้าหน้าที่ทหารเชื่อมกันมากยิ่งขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะเมื่อสื่อทางเลือกจัดงานก็ควรเชิญเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาร่วมด้วย หรือเมื่อเจ้าหน้าที่ทหารจัดงาน ก็ควรเชิญสื่อทางเลือกมาเข้ารวมด้วย เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ซึ่งหากไม่มีการเชื่อมกัน ทำให้การนำเสนอข่าวในลักษณะการใช้ถ้อยคำที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech) ยังคงมีอยู่และไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพ

นายมูฮำหมัดอายุบ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันสถานการณ์ในพื้นที่เป็นสถานการณ์ในการสร้างกระบวนการสันติภาพ ดังนั้นที่สิ่งที่สื่อมวลชนในพื้นที่ต้องร่วมกันทำคือ ต้องมีการวางแผนการของการสื่อสารเพื่อนำไปสู่กระบวนการสันติภาพในพื้นที่

“ส่วนเรื่องของชื่อการพูดคุยสันติภาพหรือการพูดคุยสันติสุข ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่เจ้าหน้าที่ทหารหรืออยู่ที่ขบวนการบีอาร์เอ็น แต่ขึ้นอยู่กับประชาชนในพื้นที่ต้องการชื่ออะไร หากเปิดพื้นที่แก่ประชาชนแล้ว ปรากกฎว่าประชาชนต้องการชื่อว่าการพูดคุยสันติภาพ เจ้าหน้าที่ทหารก็อาจจะต้องเปลี่ยนจากการพูดคุยสันติสุข มาเป็นการพูดคุยสันติภาพ เพื่อเป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่” บรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net