Skip to main content
sharethis
 
ภรรยาแรงงานไทยในไนจีเรียห่วงสามีกลัวติดเชื้ออีโบลา
 
อุดรธานี 13 ส.ค.-ภรรยาแรงงานไทยในประเทศไนจีเรียเป็นห่วงสามีเจะติดเชื้อไวรัสอีโบลา แม้ว่าเมืองที่ทำงานอยู่จะห่างจากเมืองที่มีการระบาดของเชื้ออีโบลาค่อนข้างมากก็ตาม
 
นางบุษยา ศรีปัญญา อายุ 41 ปี ชาวบ้านหมู่ 14 บ้านพังงู ต.พังงู อ.หนองหาน จ.อุดรธานี ซึ่งเคยไปทำงานที่ประเทศไนจีเรีย พร้อมกับนายสมโชค พันพินิจ สามี และญาติๆ รวม 5 คน แต่นางบุษยาเดินทางกลับไทยมาก่อนเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แสดงความเป็นห่วงสามีที่ยังทำงานอยู่ที่ไนจีเรียในขณะนี้จะติดเชื้อไวรัสอีโบลา หลังมีข่าวว่าเชื้อดังกล่าวเริ่มระบาดเข้าไปในประเทศไนจีเรีย
 
นางบุษยา เปิดเผยว่า ได้โทรศัพท์คุยกับสามี สอบถามว่าทางที่ทำงานเป็นอย่างไรบ้าง เพราะเป็นห่วงสามีและญาติจะไปติดเชื้ออีโบลา สามีก็บอกว่าไม่มีอะไร นายจ้างและคนงานยังคงทำงานปกติ รวมถึงญาติพี่น้องของพวกเราทั้ง 4 คน ยังไม่มีอะไรผิดปกติ ซึ่งเมืองที่มีคนตายด้วยโรคอีโบลา คือเมืองลากอส อยู่ห่างจากเมืองบูกามา ที่พวกเราทำงานกันอยู่ค่อนข้างมาก คาดว่าเชื้อโรคคงไม่มาถึงง่ายๆ แต่สามีก็ยอมรับว่ากลัวอยู่เหมือนกัน
 
(สำนักข่าวไทย, 13-8-2557)
 
กกจ.หารือพิสูจน์สัญชาติแรงงานลาวปลายเดือนนี้
 
นายสุเมธ มโหสถ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือกับ นายหลี บุญค้ำ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาวเกี่ยวกับการพิสูจน์สัญชาติและออกพาสปอร์ตให้แก่แรงงานลาวโดยจากการหารือในเบื้องต้นทูตสปป.ลาว เห็นว่า ขณะนี้มีแรงงานลาวมาจดทะเบียนที่ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (วันสตอปเซอร์วิส) ในจังหวัดต่างๆ มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ซึ่งอยู่ที่ 4 - 5 หมื่นคน แต่ขณะนี้มีแรงงานลาวมาจดทะเบียนแล้วกว่า 1.2 แสนคน จึงอยากให้ไทยเร่งดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแรงงานซึ่ง สปป.ลาวพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่
       
อธิบดี กกจ. กล่าวอีกว่า กกจ. และ สปป.ลาว ได้นัดประชุมหารือกันในรายละเอียดเรื่องของการพิสูจน์สัญชาติ การออกพาสปอร์ตให้แก่แรงงานลาว การให้แรงงานลาวตามแนวชายแดนไทย-ลาว เข้ามาทำงานในไทยในลักษณะเช้ามาเย็นกลับและทำงานตามฤดูกาลรวมทั้งการปรับปรุงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างไทยกับลาวด้านแรงงานในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ ที่จังหวัดหนองคาย โดยในเรื่องของการออกพาสสปอร์ตนั้น ทาง สปป.ลาว แจ้งว่า จะมีออกพาสปอร์ตให้แก่แรงงานลาวที่สถานทูตลาวประจำประเทศไทย และจะมีศูนย์ออกพาสปอร์ตเคลื่อนที่ในรูปแบบของรถโมบายด้วย โดยทูต สปป.ลาว ขอให้ กกจ. ช่วยกำหนดรูปแบบการดำเนินการและนำมาหารือกันอีกครั้ง
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 13-8-2557)
 
คดีคอนโดฯถล่มจับแล้ว 4 วิศวะ-ผู้เกี่ยวข้อง
 
วันที่ 13 ส.ค. ที่ บช.ภ.1 พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รรท. ผบช.ภ.1 พล.ต.ต.วิรุฬ เอี่ยมไพจิตร์ รอง ผบช.ภ.1 พล.ต.ต.สมิทธิ มุกดาสนิท ผบก.ภ.จ.ปทุมธานี ได้ร่วมกันแถลงผลการดำเนินคดี กรณีอาคารยูเพลสคอนโดมิเนียมถล่ม และศาลจังหวัดธัญบุรี อนุมัติหมายจับผู้ต้องหาจำนวน 5 ราย ขณะนี้จับกุมตัวได้แล้ว 3 ราย คือนางเพ็ญศรี กิติไพศาลนนท์ อายุ 49 ปี ผู้ขออนุญาตก่อสร้าง นายศักดิ์สิทธิ์ อินทร์ทอง อายุ 44 ปี วิศวกรผู้ควบคุม และนายเดี่ยว ปราบโจร อายุ 43 ปี ผู้รับเหมาช่วง ส่วนนายบุญยกร หีบทอง อายุ 48 ปี กรรมการผู้จัดการบริษัทยูเพลส จำกัด และเป็นสามีของนางเพ็ญศรี ที่ได้เข้ามอบตัว โดยทั้งหมดได้ถูกดำเนินคดีในข้อหา กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
 
จากการสอบสวนนายศักดิ์สิทธิ์ อินทร์ทอง วิศวกรผู้ควบคุมให้การว่า สาเหตุเกิดจากที่ผู้รับเหมาเทคอนกรีตโดยพลการ ทางวิศวกรยังไม่มีการเข้าตรวจสอบหรืออนุญาตให้ดำเนินการใดๆ เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาว ขณะที่นายเดี่ยวผู้รับเหมาช่วง ให้การว่า ทางหัวหน้าบริษัทรับเหมาชื่อ “กบ” ไม่ทราบชื่อและนามสกุลจริง ได้สั่งให้เทคอนกรีตได้ จึงสั่งคนงานให้เทคอนกรีตและไม่ทราบว่าจะเกิดเหตุการเช่นนี้ขึ้น ด้านนางเพ็ญศรีผู้ขออนุญาตก่อสร้างกล่าวว่า รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมที่จะรับผิดชอบกับเรื่องที่เกิดขึ้นทุกอย่าง
 
ที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ซอยรามคำแหง 39 กทม. นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ นายสิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วสท.นายเอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. ร่วมแถลงกรณีตึกถล่มที่ จ.ปทุมธานี ได้นำทีมผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา ลงสำรวจพื้นตรวจสอบและนำแบบแปลนก่อสร้างโครงการมาศึกษาวิเคราะห์ หาสาเหตุที่ทำให้ตึกถล่ม นายเอนกกล่าวว่า การตรวจสอบอาคารที่ถล่มพบโครงสร้างมีเสารองรับตัวอาคาร 4 เสา หรือ 4 มุม เสาทางด้านซ้ายสุดเป็นเสาจุดอ่อนแอไม่แข็งแรง ประกอบกับมีการติดตั้งคอนกรีตพื้นสำเร็จรูปถึงชั้น 6 โดยการวางนั่งร้านเป็นฐานรองรับ แต่ระหว่างติดตั้งคอนกรีตสำเร็จรูปน้ำหนักของตัวคอนกรีตกลับมาอยู่จุดด้านซ้ายของเสาซ้ายสุด ทำให้นั่งร้านค้ำยันการก่อสร้างแผ่นพื้นมีจำนวนไม่เพียงพอ และน้ำหนักของโครงสร้างอาคารถูกดึงมาฝั่งด้านซ้ายจุดที่เสาไม่แข็งแรง เกิดสูญเสียตำแหน่งอย่างมาก จนเกิดการพังทลายลงมา
 
ด้านนายสิริวัฒน์กล่าวว่า อาคารยูเพลสคอนโดมิเนียมมีการขออนุญาตจากกรมโยธาและผังเมือง จ.ปทุมธานี ในการก่อสร้างตามแบบถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น ความผิดต้องตรวจสอบไปยังผู้ควบคุมงานคือวิศวกรว่ามีการเร่งรัด ใช้วัสดุได้มาตรฐานหรือไม่ ส่วนความรับผิดชอบตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฉบับปี พ.ศ.2522 เจ้าของโครงการ ผู้รับเหมา และผู้ควบคุมต้องมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบของความเสียหาย วิศวกรจะได้รับการไต่สวนจากสภาวิศวกรฯ ซึ่งผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หากก่อความเสียหายขึ้น จะถูกตักเตือน พักใบอนุญาต และเพิกถอนในอนุญาต ตามลำดับความรุนแรงของความ เสียหาย
 
(ไทยรัฐ, 14-8-2557)
 
คสช.เห็นชอบเพิ่มเงินค่าตอบแทน อส. และจ่ายเงินตอบแทนพิเศษพนักงาน กนอ.
 
(13สค.57) คสช. ได้เห็นชอบร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทน เงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว และเงินช่วยเหลือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กระทรวงมหาดไทย สาระสำคัญ คือ ปรับอัตราเงินค่าตอบแทนของสมาชิก อส. เพิ่มขึ้น ในอัตราร้อยละ 5 มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 โดยระยะเวลาการปรับขึ้นเงินค่าตอบแทน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2554 ถึง 31 ธันวาคม 2554 ปรับใหม่ เป็น อัตราขั้นต่ำ 8,610 บาท และอัตราขั้นสูง 12,285 บาท และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป อัตราขั้นต่ำ 9,000 บาท อัตราขั้นสูง 12,285 บาทเช่นเดิม
 
นอกจากนั้น ยังเห็นชอบการจ่ายเงินตอบแทนพิเศษให้แก่พนักงานการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ที่มีเงินเดือนเต็มขั้นสูงของระดับตำแหน่ง ภายใต้วงเงินรวมไม่เกินร้อยละ 4 ของฐานเงินเดือนรวมของพนักงานที่มีเงินเดือนเต็มขั้น โดยเงินตอบแทนพิเศษเป็นเงินที่ได้รับนอกเหนือจากเงินเดือน และจะไม่นำไปเป็นฐานในการคำนวณสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเงินเดือน
 
(มติชน, 14-8-2557)
 
กรมป้องกันฯ สรุปยอดเสียชีวิตจากอาคารถล่มที่ปทุมฯ 14 ราย บาดเจ็บ 25 ราย
 
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานกรณีเกิดเหตุอาคารถล่มในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี มีผู้เสียชีวิตรวม 14 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 25 ราย (รักษาตัวที่โรงพยาบาล 5 ราย) พร้อมประกาศยุติการค้นหาผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคาร แต่ยังปฏิบัติการรื้อถอนซากอาคาร
 
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันฯ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ประกาศยุติการค้นหาผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารแล้ว เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 เวลา 23.30 น. เนื่องจากตรวจสอบพบผู้ประสบภัยครบหมดแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัย ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤตของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยทหาร จังหวัด มูลนิธิ อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ยังคงระดมกำลังปฏิบัติการรื้อถอนซากอาคารต่อไป
 
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุอาคารถล่ม ผู้ประสบภัยที่ขึ้นทะเบียนไว้ในระบบประกันสังคม จะได้รับเงินชดเชยของประกันสังคมตามสิทธิกองทุนเงินทดแทนเนื่องจากบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำงาน กรณีบาดเจ็บได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกินคนละ 300,000 บาท เงินค่าทดแทนการขาดรายได้กรณีหยุดงานเพื่อรักษาตัว รวมถึงเงินชดเชยค่าทดแทนกรณีพักรักษาตัว กรณีสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพเป็นจำนวนเงินร้อยละ 60 ของค่าจ้างตามระยะเวลาใบรับรองแทพย์ พร้อมค่าฟื้นฟูสมรรถภาพจนสามารถกลับมาทำงานได้
 
สำหรับผู้เสียชีวิตจะได้รับเงิน ค่าจัดการศพรายละ 30,000 บาท และเงินสงเคราะห์ร้อยละ 60 ของค่าจ้างงวดสุดท้าย เป็นระยะเวลา 8 ปี หากเป็นแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ในระบบประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมจังหวัดจะออกคำสั่งให้บริษัทที่เป็นนายจ้างจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าจัดการศพ เงินทดแทนจากการขาดรายได้ ตามสิทธิที่ได้รับจากกองทุนเงินทดแทนฯ
 
ในส่วนของการกำหนดมาตรการป้องกันในระยะยาว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะได้ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์กำหนดมาตรการ
 
ด้านความปลอดภัยของอาคาร ทั้งการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้างที่ครอบคลุมทั้งแบบแปลน วัสดุการก่อสร้าง วิศวกร ผู้รับเหมา และผู้ควบคุมการก่อสร้าง การดูแลความปลอดภัยของคนงานในพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์อาคารถล่มซ้ำรอย
 
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า ปภ.จะได้เร่งพัฒนาทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองขนาดกลาง (Medium USAR Team) ของหน่วยงานให้มีศักยภาพในการปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย รวมถึงช่วยชีวิตผู้ประสบภัยอาคารถล่ม ทั้งนี้ จะได้นำเหตุการณ์อาคารถล่มมาถอดบทเรียน เพื่อให้สามารถตอบโต้เหตุฉุกเฉินระดับสูงสุดในทุกพื้นที่ รวมถึงสามารถปฏิบัติการร่วมกับทีมกู้ชีพกู้ภัยของต่างประเทศตามมาตรฐานสากล
 
(ryt9.com, 15-8-2557)
 
เสนอแก้กฎหมายเงินทดแทนให้แรงงาน
 
สมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ระบุถึงกรณีเกิดเหตุตึกถล่มที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ส่งผลให้มีแรงงานทั้งชาวไทยและแรงงานข้ามชาติบาดเจ็บและเสียชีวิต แม้ว่าภาครัฐจะให้การเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติเงินทดแทนปี 2537 ที่ระบุให้นายจ้างต้องจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพ จ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิ กรณีไม่สามารถทำงานได้ ร้อยละ60 ของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วน กรณีลูกจ้างทุพพลภาพ กรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย และหากลูกจ้างเสียชีวิตหรือสูญหาย ให้บิดา มารดา สามี ภรรยา หรือบุตร เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง
 
แต่การจ่ายค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทนควรมีการปรับปรุงกฎหมายให้มีอัตราที่สูงขึ้น เนื่องจากความเสียหายที่ลูกจ้างได้รับ เทียบไม่ได้กับจำนวนเงินชดเชยที่ลูกจ้างได้รับ
 
ขณะที่นายชฤทธิ์ มีสิทธิ์ นักกฎหมายด้านแรงงาน ระบุว่า กรณีแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย จะไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะต้องตรวจสอบว่านายจ้างของแรงงานเหล่านี้เป็นใคร และสั่งให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายแทน หากพบว่ามีการหลบหนีของนายจ้าง ทางเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องติดตามนายจ้างเพื่อมาดำเนินคดีต่อไป
 
(ไทยพีบีเอส, 15-8-2557)
 
ถังไอน้ำโรงงานย้อมผ้าระเบิดฉีกร่างคนงานได้รับบาดเจ็บ 22 คน
 
เหตุถังไอน้ำโรงงานย้อมผ้าระเบิดคนงานบาดเจ็บถึง 21 คน เปิดเผยเมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 17 ส.ค. ร.ต.ท.ชัยณเรศ สุพร พนักงานสอบสวน สภ.เมืองสมุทรปราการ รับแจ้งเหตุถังไอน้ำโรงงานย้อมผ้าระเบิดมีผู้บาดเจ็บหลายคน เหตุเกิดภายในบริษัทวงศ์พสิษฐ์ การพิมพ์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 50 หมู่ 14 ถนนท้ายบ้าน ต.ท้ายบ้าน ไปตรวจสอบพร้อมด้วยพ.ต.อ.พัลลภ แอร่มหล้า ผกก.สภ.เมืองสมุทรปราการ และรถดับเพลิงจากพื้นที่ใกล้เคียง
 
ที่เกิดเหตุเป็นโรงงานย้อมผ้าเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ภายในโรงงานจัดแยกส่วนเป็นโซนทำสี เก็บผ้า และเครื่องทำความร้อน ตรวจสอบพบถังไอน้ำหรือบอยเลอร์ขนาดใหญ่รูปทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตร สูง 5 เมตร เกิดระเบิดได้รับความเสียหาย แรงระเบิดทำให้หลังคากระเบื้องแตกเป็นวงกว้าง โครงสร้างหลังคาพังถล่มลงมา กำแพงคอนกรีตแตก รถบรรทุกที่จอดอยู่ใกล้ๆได้รับความเสียหายอีก 1 คัน และบ้านพักชุมชนคลองกะลาวนที่ปลูกอยู่ข้างโรงงานพังพินาศ
 
นอกจากนี้ มีคนงานทั้งชาวไทยและพม่าได้รับบาดเจ็บถึง 21 คน จึงนำส่งโรงพยาบาลสมุทรปราการ ในจำนวนนี้มีอาการสาหัส 5 คน ประกอบด้วยนายนำโชค แก้วชาด อายุ 19 ปี นายแดง อายุ 28 ปี ชาวพม่า นายจอ อายุ 30 ปี ชาวพม่า และอีก 2 คน ไม่ทราบชื่อ เป็นคนงานหญิงอายุประมาณ 30 ปี 1 คน และคนงานชายอายุไล่เลี่ยกันอีก 1 คน ส่วนใหญ่ถูกเศษวัสดุและน้ำร้อนลวกอาการโคม่า แพทย์ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
 
สอบสวนนายเจษฎากร ศิริเวช อายุ 17 ปี คนงาน ให้การว่า ขณะทำงานอยู่ในห้องย้อมสีพร้อมเพื่อนร่วมงานทั้งชาวไทยและชาวพม่า ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 100 เมตร จู่ๆได้ยินเสียงระเบิด เสียงดังสนั่นจากโกดังในส่วนทำไอน้ำ และมีเศษชิ้นส่วนถังไอน้ำกระเด็นไปทั่ว คนงานที่อยู่ในเหตุการณ์ได้รับบาดเจ็บไปตามๆกัน ส่วนคนงานที่ไม่ได้รับบาดเจ็บรีบเข้าไปช่วยปฐมพยาบาล
 
ด้าน พ.ต.อ.พัลลภ แอร่มหล้า ผกก.สภ.เมืองสมุทรปราการ กล่าวว่า จากการสอบสวนเบื้องต้นคาดว่าระหว่างที่เครื่องกำลังทำงานถังไอน้ำอาจแห้งจนเกิดความร้อนและแรงอัดสูง อีกทั้งเครื่องมีสภาพเก่าอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการระเบิดขึ้น อย่างไรก็ตามต้องรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐานมาตรวจพิสูจน์อย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อสรุปหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป ส่วนค่าเสียหายคาดว่าไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท
 
ต่อมาเวลา 16.30 น.วันเดียวกัน นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เดินทางไปตรวจสถานโรงงานย้อมผ้าที่เกิดเหตุ จากนั้นเปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานและหน่วยงานในสังกัดลงพื้นที่มาตรวจสอบความเสียหายพบว่าสาเหตุเกิดจากปั๊มน้ำชำรุดและเกิดไฟดับ ทำให้น้ำไม่สามารถเข้าไปหล่อ เลี้ยงอุณหภูมิในหม้อน้ำได้ทำให้เกิดแรงดันมหาศาล ก่อนเกิดการระเบิดขึ้น ส่วนตัวเลขผู้บาดเจ็บตรวจสอบแล้วมีทั้งหมด 22 คน สำนักงานประกันสังคม โดยกองทุนทดแทนจะเป็นผู้ดูแลทั้งหมดร่วมกับนายจ้างต่อไป
 
ขณะที่นายอู เต็ง นาย เลขาธิการทูตพม่า ได้เดินทางไปติดตามการช่วยเหลือคนงานชาวพม่าที่ได้รับบาดเจ็บ พร้อมกับเปิดเผยว่าขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการให้ช่วยดูแลชาวพม่าที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ ถ้าอยากให้สถานทูตพม่าช่วยเหลืออะไรก็ขอให้ประสานมา ทางเรายินดีร่วมมือในทุกด้าน
 
ด้านนายปิยะเดช วงศ์อารีย์ อายุ 40 ปี ผู้เช่ากิจการโรงงานย้อมผ้า กล่าวว่า รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในนามผู้ประกอบการยินดีชดใช้และเยียวยาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกราย ส่วนสาเหตุอาจเป็นกระแสไฟฟ้าของหม้อน้ำลัดวงจร ทำให้ระบบเติมน้ำอัตโนมัติของหม้อต้มไม่ทำงานจนน้ำแห้งเกิดความร้อนสูงจนระเบิดในที่สุด จากนี้ต้องเช็กเครื่องจักรในโรงงานทั้งหมดและหามาตรการป้องกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำรอย
 
(ไทยรัฐ, 17-8-2557)
 
สภาทนายความแนะคนเจ็บและเสียชีวิตจากตึกถล่ม คลองหก สามารถฟ้องแพ่ง เรียกค่าเสียหายได้ อายุความ 1 ปี 
 
นายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายกสภาทนายความฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ เปิดเผยถึงกรณีอาคารก่อสร้างคอนโดมิเนียม สูง 6 ชั้น บริเวณถนนเลียบคลอง 6 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พังถล่มลงมาขณะเทปูน ส่งผลให้แรงงานก่อสร้างเสียชีวิต 14 ราย และได้รับบาดเจ็บ 25 ราย ซึ่งทางรัฐได้มอบเงินช่วยเหลือไปแล้วจำนวนหนึ่งนั้น
 
ซึ่งเรื่องนี้ ผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิตได้รับความช่วยเหลือเยียวยาตามกฎหมายเพียงพอแล้วหรือยัง ทั้งด้านคดีอาญาและคดีแพ่ง
 
โดยในส่วนอาญา เห็นว่าผู้เกี่ยวข้องน่าจะเป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และบาดเจ็บสาหัส กับ ข้อหาผู้ควบคุมทำการก่อสร้าง อาคารสิ่งปลูกสร้าง ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือวิธีการอันพึงต้องกระทำการโดยประมาทเกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น มีทั้งโทษจำและปรับ
 
ส่วนคดีแพ่งก็จะมีความผิดฐานละเมิด ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะ ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดการงาน ค่าเสียหายที่อาจเรียกได้ในอนาคตกรณีพิการ ซึ่งคดีแพ่ง จะมีอายุความ 1 ปี นับจากวันเกิดเหตุ
 
(ไอเอ็นเอ็น, 18-8-2557)
 
ก.แรงงานสั่ง สปส.ดูแลแรงงานถูกหม้อต้มระเบิด
 
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความช่วยเหลือแรงงานไทยและต่างด้าวโรงงานย้อมสีผ้า จ.สมุทรปราการ ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุหม้อต้มน้ำระเบิดจำนวน 22 คนว่า ตนได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ช่วยเหลือ โดยจะช่วยจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แรงงานที่บาดเจ็บ ตามที่จ่ายจริง ไม่เกินคนละ 300,000 บาท และเงินทดแทนการขาดรายได้ เนื่องจากหยุดงาน เพื่อพักรักษาตัว โดยเป็นไปตามระยะเวลาการรักษาตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปถึง 1 ปี จะได้รับเงินทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้าง ซึ่งในส่วนของแรงงานที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนเงินทดแทนแล้วก็จะนำเงินกองทุนมาจ่ายเพื่อช่วยเหลือได้ทันที
 
ทั้งนี้ หากแรงงานคนใดยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกองทุนก็จะให้ สปส. ดำเนินการออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินช่วยเหลือตามสิทธิที่ได้รับจากกองทุน และขณะนี้ สปส. กำลังตรวจสอบว่าแรงงานทั้ง 22 คน ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนเงินทดแทนทั้งหมดหรือไม่
 
อย่างไรก็ตาม เวลา 16.30 น. ปลัดกระทรวงแรงงาน จะลงพื้นที่จุดเกิดเหตุหม้อน้ำระเบิด ณ โรงงานย้อมสีผ้า จ.สมุทรปราการ และเยี่ยมแรงงานที่บาดเจ็บที่โรงพยาบาลสมุทรปราการ
 
(ไอเอ็นเอ็น, 18-8-2557)
 
เตรียมใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราวนำต่างด้าวเข้าทำงานเขตเศรษฐกิจพิเศษ
 
กรุงเทพฯ 19 ส.ค.-ก.แรงงาน เตรียมใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราวนำแรงงานต่างด้าวเข้าทำงานเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัด พร้อมให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานอบรมพัฒนาและทดสอบฝีมือแรงงาน สกัดแรงงานไร้ฝีมือ
 
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังประชุมคณะอนุกรรมการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน สาธารณสุข และความมั่นคงที่กระทรวงแรงงาน ว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องเอกสารการผ่านแดนของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 5 จังหวัด คือ มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว ตราด และตาก ซึ่งแนวโน้มจะใช้เป็นบัตรผ่านแดนชั่วคราว โดยประเทศไทยได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ ไปแล้วเพราะถือเป็นวิธีที่สามารถดำเนินการได้รวดเร็วที่สุด โดยจะมีการเพิ่มเรื่องการเข้ามาทำงานในลักษณะเช้ามาเย็นกลับและทำงานตามฤดูกาลในบัตรผ่านแดนชั่วคราว ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะรับหน้าที่ไปเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน 
 
ส่วนศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน หรือวันสตอปเซอร์วิส จะแตกต่างจากศูนย์วันสตอปเซอร์วิสที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยจะเพิ่มขั้นตอนในการเข้าเมืองซึ่งต้องมีสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งนายจ้างจะต้องแจ้งความต้องการทั้งจำนวนแรงงาน ประเภทงานและหน้าที่แรงงานต่างด้าวแต่ละคนที่จะเข้ามาทำงาน ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมการจัดหางาน (กกจ.) ในการดูแล โดยแรงงานต่างด้าวที่จะเข้าทำงานในไทยสามารถใช้หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) หรือหนังสืออนุญาตผ่านแดนชั่วคราวก็ได้โดยเข้ามาผ่านระบบเอ็มโอยู
 
ทั้งนี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จะไปดำเนินการอบรมพัฒนาฝีมือและทดสอบทักษะฝีมือแรงงานต่างในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อสกัดกั้นแรงงานที่ไม่มีฝีมือและนำแรงงานที่มีฝีมือเข้ามาทำงานในพื้นที่ด้านในได้ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังแต่งตั้งอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เป็นอนุกรรมการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงานฯ เนื่องจากหลังจากมีการจ้างงานและเข้าสู่ระบบการดูแลด้านแรงงาน และสาธารณสุข จะต้องเรื่องของการคุ้มครองแรงงานและการร้องเรียนตามเข้ามา โดยจะมีการตั้งศูนย์คุ้มครองแรงงานขึ้นมาดูแลอีก 5 ศูนย์ด้วย โดยจะเสนอคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ในเดือนกันยายนนี้
 
(สำนักข่าวไทย, 19-8-2557)
 
ตั้งอนุกรรมการศึกษาจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม
 
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (สปส.) กล่าวหลังประชุมบอร์ด สปส.ว่าที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแนวทางการจัดตั้งรพ.ประกันสังคมจำนวน 16 คนโดยมีนายไสว พราหมณี ผู้ทรงคุณวุฒิระบบประกันสังคมเป็นประธานอนุกรรมการและอนุกรรมการ 15 คน มาจากผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง ลูกจ้าง นายจ้าง ซึ่งให้เวลาศึกษาเป็นเวลา 3เดือนโดยคณะอนุกรรมการฯจะประชุมนัดแรก ในวันที่ 27 สิงหาคมนี้ 
    
นายจีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างประกาศสปส.ในเรื่องหลักเกณฑ์การตั้งคณะกรรมการและเกณฑ์การคัดเลือกบริษัทเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนเพื่อมาช่วยสปส.บริหารเงินกองทุนในส่วนของเงินลงทุนในไทยและต่างประเทศโดยหลักเกณฑ์มีข้อกำหนด เช่น โครงสร้างองค์กร พิจารณาการดำเนินงานย้อนหลัง ข้อมูลการกระทำผิด บุคลากร ระบบบริหาร มุมมองด้านการลงทุน การวางเงินประกันสัญญาจ้าง ซึ่งสปส.สามารถทำสัญญาว่าจ้างบริษัทเอกชนที่มความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนเช่น หุ้น พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ได้หลายบริษัทโดยขึ้นอยู่กับเป้าหมายการลงทุนและงบลงทุนโดยเมื่อคณะกรรมการคัดเลือบริษัทได้แล้วต้องเสนอให้บอร์ดสปส.พิจารณาอีกครั้งก่อนจะทำสัญญาจ้าง
 
นอกจากนี้ ในที่ประชุมผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการติดตามเงินที่รัฐบาลค้างจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในช่วงที่ผ่านมาซึ่งรวมแล้วเป็นยอดเงินสะสมกว่า 6 หมื่นล้านบาท แต่บอร์ดสปส.ยังไม่ได้เห็นชอบในเรื่องนี้โดยขอให้สปส.ไปศึกษาข้อมูลและแนวทางการดำเนินการให้รอบคอบก่อนแล้วนำเสนอต่อบอร์ด สปส.อีกครั้ง
 
(มติชน, 19-8-2557)
 
ชงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับรัฐบาลใหม่ ลูกจ้างออมเงินได้มากกว่านายจ้าง
 
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม นายกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เปิดเผยว่า กองทุนจะยื่นข้อเสนอกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่จะถูกจัดตั้งขึ้น โดยปรับปรุงกฏเกณฑ์ให้ลูกจ้างสามารถออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้น จากข้อกำหนดเดิมที่ห้ามลูกจ้างเพิ่มเงินออมมากกว่าส่วนของนายจ้าง เพื่อเพิ่มอัตราการออมใช้ในการเกษียณอายุให้ตรงกับความต้องการของลูกจ้างมากที่สุด และบังคับใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในทุกบริษัทควบคู่สิทธิประกันสังคม รวมถึงเร่งผลักดันลูกจ้างชั่วคราวเข้าสู่ระบบ
 
สำหรับในปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานจำนวนทั้งสิ้น 37 ล้านคน เป็นลูกจ้างที่ได้รับสิทธิประกันสังคม 10 ล้านคน เป็นผู้ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพร้อมประกันสังคม 2.7 ล้านคน ระยะแรกจะพยายามผลักดันให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพแก่ลูกจ้างที่มีประกันสังคมทั้งหมด และในระยะต่อไปจะผลักดันลูกจ้างชั่วคราวทั้งประเทศเข้าสู่ระบบ จะช่วยให้ไทยมีอัตราการออมเงินภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น เทียบเท่าศักยภาพการออมเงินของประเทศภายในภูมิภาคได้
 
ในประเด็นการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับทางกองทุนพยายามเสนอต่อรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 43 เป็นต้นมา แต่ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลในสมัยนั้น มองว่าขณะนี้ประเทศได้มีการเร่งมือแก้ไขจุดบกพร่องด้านต่างๆ ถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมในการนำเสนอเรื่องดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาอีกครั้ง โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
 
เพราะกองทุนดังกล่าวช่วยเอื้อประโยชน์แก่ลูกจ้างโดยตรง และเพิ่มอัตราการออมในประเทศให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น”
 
นอกจากนี้สถิติตัวเลขในปัจจุบันมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศทั้งสิ้น  421 กองทุน มีลูกจ้างรวมกันเป็นจำนวน 2.7 ล้านราย และนายจ้าง 13,000 ราย มีสินทรัพย์รวมกัน ณ สิ้น เดือนพฤษภาคม 2557 จำนวน  7.4 แสนล้านบาท
 
(มติชน, 19-8-2557)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net