Skip to main content
sharethis

วานนี้ (21 ส.ค. 2557) เอบีซีนิวส์ รายงานว่า แนนซี ไรท์โบล และน.พ. เคนท์ แบรนท์เลย์ อาสาสมัครแพทย์ชาวอเมริกันที่ติดเชื้อไวรัสอีโบลาจากไลบีเรีย ออกจากโรงพยาบาลแล้ว

โดยทั้งคู่ได้ผ่านการตรวจเชื้อทั้งทางเลือดและปัสสาวะว่ายังมีเชื้อไวรัสอีโบลาอยู่หรือไหม ซึ่งแนนซีได้ผ่านการตรวจและออกจากโรงพยาบาลไปตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา ขณะที่นายแพทย์เคนท์ ออกจากโรงพยาบาลอีมอรี ในแอตแลนตาวานนี้

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เคนท์ วัย 33 ปี เป็นมนุษย์คนแรกที่รับการฉีดเซรุ่ม ZMapp ซึ่งเป็นเซรุ่มสำหรับสร้างภูมิต้านทานเชื้อไวรัสอีโบลาก่อนที่จะถูกนำตัวไปรักษาต่อที่สหรัฐอเมริกา โดยเอบีซีระบุว่าเขาอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อได้รับการฉีดเซรุ่มดังกล่าว ขณะที่แนนซี ก็ได้รับการฉีดเซรุ่มดังกล่าวและอาการดีขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม น.พ.บรูซ ริบเนอร์ ผู้อำนวยการแผนกผู้ป่วยติดเชื้อ ของโรงพยาบาลอีมอรี ให้สัมภาษณ์ถึงประสิทธิภาพของ ZMapp ว่า เขายังไม่สามารถยืนยันได้ว่าในทางทฤษฎีแล้วเซรุ่มดังกล่าวทำงานอย่างไร และมันให้ผลในทางส่งเสริมการรักษา หรือไม่มีผลอะไร หรืออาจจะส่งผลให้คนไข้ฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็นก็ได้

อาสาสมัครสาธารณสุขทั้งสองราย ติดเชื้ออีโบลาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่พวกเขาทำงานอาสาดูแลผู้ติดเชื้ออีโบลาในเมืองมอนโรเวีย ประเทศไลบีเรีย พวกเขาถูกนำตัวไปรักษาต่อที่สหรัฐอเมริกาในวันเสาร์ที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยมีประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วยที่จะนำตัวอาสาสมัครทางการแพทย์ทั้งสองคนเข้าประเทศ เนื่องจากกังวลเรื่องการระบาดของเชื้ออีโบลา

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองอาจจะยังต้องมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อต่อไปอีกเป็นปี ซึ่งเป็นอาการที่แพทย์คาดว่าจะเกิดขึ้นกับผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสดังกล่าว

สำหรับสถานการณ์ในไทย วานนี้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวกรณีมาตรการเฝ้าระวังโรคอีโบลา ว่า ขณะนี้มีหญิง อายุ 48 ปี ซึ่งทำงานอยู่ที่ประเทศไลบีเลีย ​ได้เดินทางมาจากประเทศไลบีเรีย ​วันที่ 18 ส.ค. เปลี่ยนเครื่องที่ประเทศเคนยา และ​มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ วันที่ 19 ส.ค.​ ในระหว่างการเดินทางมีอาการปวดหัว และมีผื่นขึ้น แต่ไม่มีไข้ เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย ได้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชน โดยแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นว่า เป็นลมพิษ จากนั้นได้เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังมีความกังวล จึงได้โทรแจ้งสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 เจ้าหน้าที่จึงได้ไปรับตัวมายังสถาบันบำราศนราดูร เพื่อเฝ้าระวัง โดยแพทย์ได้ตรวจสอบเบื้องต้น ไม่พบไข้  ซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ของโรคอีโบลา แต่ตามมาตรฐานการเฝ้าระวัง​ จึงได้จัดให้เป็นผู้ที่อยู่ในระหว่างสอบสวนโรค ไม่ใช่ผู้ต้องสงสัยว่าป่วย

"ตามมาตรฐานการเฝ้าระวังโรค นอกจากติดตามอาการของหญิงรายดังกล่าว กรมควบคุมโรค ยังได้ติดตามผู้ใกล้ชิดอีก 13 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ที่ร่วมเดินทางมาด้วยกัน ญาติผู้ใกล้ชิด และพนักงานในโรงแรมที่หญิงรายดังกล่าวเข้าพัก ซึ่งกระบวนการทั้งหมด เป็นมาตรฐานการเฝ้าระวังโรค ไม่อยากให้ประชาชนแตกตื่นหรือเข้าใจผิด ซึ่งการเปิดเผยถือเป็นการทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบเฝ้าระวัง" นพ.ณรงค์ กล่าว

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของโรคมี 4 ประเทศ คือ กินี เซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย และเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย ส่วนกรณีผู้ต้องสงสัยชาวเวียดนามและพม่า 3 ราย กระทรวงสาธารณสุขกำลังประสานกับทั้ง 2 ประเทศอย่างใกล้ชิด และจะแจ้งประชาชนทันทีเมื่อได้รับผลการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ในการวินิจฉัยผู้ป่วยสงสัยโรคอีโบลา จะใช้เกณฑ์ที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน รวมถึงการมีไข้สูงถึง 38 องศาเซลเซียส และมีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค เป็นต้น

 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net