Skip to main content
sharethis
เสวนาทางวิชาการ “การกล่าวอ้างสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม กรณีที่ดินและป่าไม้” แลกเปลี่ยนแนวทางแก้ไขปัญหาให้นำไปสู่ความถูกต้อง หวังนักศึกษากฎหมายอีสานจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกฎหมาย ประเด็นสิทธิชุมชน ให้เกิดความเป็นธรรมในอนาคต
 
 
 
 
 
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมประดิษฐ์มนูธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน จัดงาน “ โครงการเสวนาทางวิชาการ เรื่องการกล่าวอ้างสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม กรณีที่ดินและป่าไม้” โดยมีองค์กรภาคีเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นวิทยากร อาทิ นายนรินทร์ พรหมสาขา ณ สกลนคร (ยุติธรรมจังหวัดขอนแก่น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม)  นายวิพัฒนาชัย พิมพ์หิน (อดีตประธาน กป.อพช.ภาคอีสาน) นายพงศ์จำรัส รวยร่ำ (ทนายความสิทธิมนุษยชน) นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ (นักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน) และ นายประทีป มีคติธรรม (เลขากรรมการคณะปฎิรูปกฎหมาย) เป็นต้น
 
นายสมนึก ตุ้มสุภาพ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า จากหลายพื้นที่ของชาวบ้านที่ได้ผลกระทบในกรณีป่าไม้ ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก มีเป้าหมายจะจัดการทวงคืนผืนป่าอย่างเข้มข้น จากนโยบายดังกล่าว แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนไปทั่วภูมิภาค ด้วยว่าในหลายพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายนั้น ชาวบ้านส่วนมากได้อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์ทำกินในพื้นที่มาก่อน แม้ในหลายพื้นทีได้มีนโยบายร่วมกับรัฐบาลมาหลายชุดสมัย ทั้งการทำข้อตกลงร่วม พิสูจน์สิทธิ์ การออกพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน และในระหว่างการแก้ไขปัญหาสามารถให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำกินได้ หากข้อตกลงไม่เกิดผลในภาคปฎิบัติตามข้อตกลงที่สัญญาไว้ ประชาชนหลายพื้นที่จะได้รับผลกระทบยิ่งขึ้นหลายเท่าตัว
 
ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาที่จะได้รับผลกระทบมากขึ้นกว่าเดิมนั้น ภาคประชาชนจากหลายองค์กรในอีสาน ตลอดจนนักวิชาการ นักกฎหมาย และคณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ได้ตระหนัก และเล็งเห็นถึงความเดือดร้อนในสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นตามมาอีกนั้น จึงได้ร่วมกันจัดงานเสวนาฯขึ้นมา เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางแก้ไขปัญหาให้นำไปสู่ความถูกต้อง และหวังให้เกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยเวทีครั้งนี้เป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนและหลายหน่วยงาน ที่ได้มีโอกาสออกมาแสดงวามคิดเห็น แลกเปลี่ยน เป็นการแสดงตัวตนออกมาเพื่อทวงสิทธิ ทั้งในด้านการมีส่วนร่วมของการจัดการทรัพยากร และในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และการยอมรับในสังคม ถึงผลกระทบในวิถีชุมชนที่พวกเขาได้รับ และได้ร่วมต่อสู้กันมายาวนาน เพื่อให้ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่มั่นคง และยั่งยืนตลอดไป
 
“ถือว่าได้รับเกียรติจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เข้ามากล่าวเปิดเวทีเสวนาฯ และ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ในการมาร่วมกล่าวรายงานชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ชองเวที ทั้งยังเป็นการเสริมเสร้างหลักสูตรการอบรมและการเรียนการสอนในเรื่องสิทธิมนุษยชน ให้นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 ได้เข้ามาร่วมรับฟังและเรียนรู้ถึงกลไกที่เข้มแข็งของการขับเคลื่อนในกระบวนการต่อสู้ของภาคประชาชนต่อปัญหาที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งตนหวังว่านักศึกษาที่เรียนด้านกฎหมายนั้น สิ่งที่ได้รับในงานเสวนานี้ จะทำให้เขาค่อยๆซึมซับถึงกระบวนการบางส่วนของกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และในอนาคตพวกเขาจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกฎหมาย เช่น ในประเด็นสิทธิชุมชน ให้เกิดความเป็นธรรม และเท่าเทียม ต่อไปในทุกภาคส่วน”  ผ.อ.ศูนย์กฎหมาย กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมกล่าวสรุปและปิดการเสวนา โดยประธานอนุกรรมการสิทธิฯ กล่าว ถึงที่มาของปัญหาผลกระทบในประเด็นที่ต่างกล่าวกันมานั้น ในหลายจังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศไทย หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในปีนี้ทางกรรมการสิทธิฯได้รับเรื่องร้องเรียนมากมาย
 
ในส่วนของภาคอีสานนั้น จากที่ได้มารับฟังปัญหาในเวทีนี้ โดยส่วนตัว ตนรู้สึกภาคภูมิใจ ที่คนอีสานได้ร่วมกันลุกขึ้นมาแสดงตนในการทวงสิทธิ เพื่อไม่ให้ต้องกลับไปตกอยู่ในสภาพปัญหาเดิมที่ทุกข์ยากอีกและจะร่วมกันปกป้องรักษาชุมชนไว้ให้มั่นคง และยั่งยืนต่อไป ฉะนั้นให้ทุกพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ รวบรวมข้อมูลส่งมายังคณะกรรมการสิทธิฯ แล้วตนจะดูทั้งหมด เพื่อที่จะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมรับฟังปัญหา และให้ประชาชนทุกภาคส่วนมาร่วมชี้แจงข้อเท็จจริง โดยตนจะเข้าร่วมรับฟังด้วย เพื่อจะได้ผลักดันให้มีการดำเนินการแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้น 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net