Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

<--break- />

สาธารณรัฐเฮติ เป็นประเทศเล็กในหมู่เกาะแคริบเบียน ทวีปอเมริกาเหนือ มีเนื้อที่ 27,750 ตร.กม. และมีประชากรราว 1.4 ล้านคน ตั้งอยู่บนด้านตะวันตกของเกาะฮิสปานิโอลา ภาษาทางราชการของเฮติ คือ ภาษาลูกครึ่งฝรั่งเศสแบบเฮติ

ประวัติศาสตร์ของเฮติ มีความพิเศษหลายประการ เช่น เฮติเป็นประเทศที่สองในทวีปอเมริกาที่เป็นเอกราช ถัดมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา คือ ต่อสู้จนได้รับเอกราชเมื่อ ค.ศ.1804 และเอกราชของเฮติเป็นผลิตผลของการปฏิวัติโดยทาสผิวดำและคนผิวสีแห่งแรกของโลก และเป็นประเทศแรกในโลกที่มีผู้นำทางการเมืองเป็นอดีตทาส แต่ในบทความนี้ จะพิจารณาเฮติในอีกฐานะหนึ่ง คือ ประเทศที่มีรัฐประหารมากที่สุดในโลก

หลังจากที่สเปนสำรวจหมู่เกาะแคริบเบียนและยึดดินแดนเหล่านี้เป็นอาณานิคม แต่บริเวณตะวันตกของเกาะฮิสปานิโอลา กลับเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาทำไร่ยาสูบ ต่อมา ใน ค.ศ.1697 ฝรั่งเศสและสเปนจึงทำสัญญาแบ่งเกาะกัน โดย 5 ส่วนของเกาะเป็นของสเปน ซึ่งต่อมาตั้งเป็นประเทศสาธารณรัฐโดมินิกัน ส่วนอีก 3 ส่วนเป็นของฝรั่งเศส เรียกว่า เซนต์โดมินิกของฝรั่งเศส หรือเรียกว่า ไข่มุกแห่งอันติลเลส เพราะความงดงามของชายหาดของดินแดนนี้

ฝรั่งเศสได้เข้าทำไร่อ้อยและไร่กาแฟในเซนต์โดมินิก มีการนำแรงงานทาสผิวดำจำนวนมากจากแอฟริกามาใช้เป็นแรงงาน ทำให้ทาสผิวดำและลูกผสมผิวสีกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของอาณานิคม เซนต์โดมินิกได้ชื่อว่าเป็นแห่งหนึ่งที่มีการกดขี่แรงงานทาสอย่างหนัก จนพวกทาสได้ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจเจ้าอาณานิคมหลายครั้ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติในประเทศฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ.1789 กระแสเรียกร้องสิทธิเสมอภาคส่งอิทธิพลมาถึงอาณานิคมเซนต์โดมินิก นำมาสู่การลุกขึ้นสู้ของทาสขนานใหญ่ กลายเป็นขบวนการเรียกร้องเอกราช ในที่สุด วันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1804 ฌอง ฌาร์ค เดสซาลิเนส ผู้นำของฝ่ายทาส ก็ประกาศเอกราชของเซนต์โดมินิก และเปลี่ยนชื่อให้เรียกว่า เฮติ ซึ่งในภาษาพื้นเมืองหมายถึงดินแดนแห่งขุนเขา เดสซาลิเนสรับตำแหน่งผู้ว่าการตลอดชีพ แต่ต่อมา ในวันที่ 6 ตุลาคม เดสซาลิเนสก็เลียนแบบนโปเลียน โดยแต่งตั้งตนเองเป็นพระจักรพรรดิฌาร์คที่ 1 แห่งเฮติ

การตั้งตัวเองเป็นพระจักรพรรดิ ได้สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้ฝ่ายนายทหารทาสส่วนอื่นที่เข้าร่วมการปฏิวัติ เหตุการณ์จึงนำมาสู่การรัฐประหารครั้งแรก โดย อังรี คริสโตเฟ และ อเล็กซานเดอร์ เปติออง ได้ร่วมกันก่อรัฐประหาร โค่นและสังหารพระจักรพรรดิ ในวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ.1806 และนำมาสู่การสร้างประเทศใหม่ภายใต้ระบอบสาธารณรัฐ

ต่อมา ฌอง ปิแอร์ โบเยอร์ หนึ่งในผู้นำทาสที่ทำการปฏิวัติได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ตั้งแต่ ค.ศ.1818 จนถึง ค.ศ.1843 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและแผ่นดินไหว ชาร์ล เรแวเร เฮอราด จึงนำกองทัพก่อการรัฐประหารในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1843 ซึ่งถือเป็นการรัฐประหารครั้งที่สอง เฮอราดตั้งตนเองเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ แต่ถูกฟิลิปเป เกรีเย ก่อรัฐประหาร โค่นอำนาจในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ.1844 ถือเป็นการรัฐประหารครั้งที่สาม

ฌอง หลุย เพียรอต รับตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อ ค.ศ.1845 แต่เกิดขัดแย้งกับผู้นำกองทัพ ในที่สุด ฌอง บาติสเต ริเช่ ผู้บัญชาการทหาร ก็ก่อการรัฐประหารครั้งที่สี่ ในวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ.1846 หลังจากนั้น ริเช่ได้เป็นประธานาธิบดี แต่ถึงแก่กรรมใน ค.ศ.1847 เฟาติน ซูลองเก ผู้บัญชาการทหาร ได้เป็นประธาธิบดีแทน แต่ต่อมา เฟาตินได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าเฟาตินที่ 1 แต่พระองค์ปกครองอย่างเผด็จการ ตั้งองค์กรตำรวจลับสอดส่องประชาชน ดังนั้น ในวันที่ 15 มกราคม ค.ศ.1859 ผู้บัญชาการทหารฟาเบร เกฟฟรอด ก็ก่อการรัฐประหารโค่นอำนาจพระมหากษัตริย์ ถือเป็นรัฐประหารครั้งที่ 5

ฟาเบร เกฟฟรอด รื้อฟื้นระบอบสาธารณรัฐและตั้งตนเองเป็นประธานาธิบดี อยู่ในตำแหน่งมาถึง วันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ.1867 ก็ถูกพันเอกซิลเวน ซาลเนเว นำทหารเข้าทำการยึดอำนาจ ซึ่งเท่ากับเป็นการก่อการรัฐประหารครั้งที่ 6  ต่อมา ซาลเนเวก็ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาจนถึงวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ.1869 ก็ถูกรัฐประหารครั้งที่ 7 นำโดย นิซาเก ซาเก็ต จากนั้น ใน ค.ศ.1876  ค.ศ.1888 และ ค.ศ.1889 ก็เกิดรัฐประหารขึ้นอีกรวมแล้วภายในศตวรรษแรกของประเทศ เฮติมีการรัฐประหารทั้งสิ้น 10 ครั้ง

จากนั้น เมื่อขึ้นศตวรรษใหม่ เฮติก็เปิดฉากด้วยการรัฐประหารในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.1901 และตามมาด้วยรัฐประหาร ค.ศ.1908  ค.ศ.1911 และ ใน ค.ศ.1914 มีรัฐประหาร 2 ครั้ง ค.ศ.1915 รัฐประหารอีก 2 ครั้ง ในภาวะที่การเมืองของประเทศแตกแยก เศรษฐกิจล่มสลาย สหรัฐอเมริกาจึงถือโอกาสยกกำลังกองทัพเรือเข้ายึดครองประเทศเฮติ ให้เฮติเป็นรัฐในอารักขา สหรัฐฯ ได้เข้ามาช่วยจัดการเรื่องการคมนาคม การสาธารณสุข การศึกษา พัฒนาการเกษตร จัดระเบียบกองทัพ และวางรากฐานประชาธิปไตยรัฐสภาให้กับเฮติ จากนั้น ก็ได้ถอนกำลังจากเฮติใน ค.ศ.1934

การเมืองของเฮติดำเนินไปตามแบบประชาธิปไตยอเมริกามาจนถึงวันที่ 11 มกราคม ค.ศ.1946 คณะทหารก็อ้างเหตุแห่งความวุ่นวายทางการเมืองแล้วเข้ายึดอำนาจอีกครั้ง กลายเป็นรัฐประหารครั้งที่ 18 และตามด้วยรัฐประหาร ค.ศ.1950, ค.ศ.1956, และรัฐประหาร 2 ครั้ง ใน ค.ศ.1957 ความวุ่นวายของเหตุการณ์นำมาสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งของ ฟรังซัว ดูวาลิเย ในวันที่ 22 กันยายน ค.ศ.1957 จากนั้น ดูวาลิเยก็เข้าควบคุมกองทัพ จากนั้นก็แก้รัฐธรรมนูญ รักษาอำนาจ เปลี่ยนตนเองเป็นผู้เผด็จการ สร้างลัทธิบูชาบุคคล ให้ประชาชนยกย่องเชิดชู เรียกกันว่า “ปาปาดอก” (Papa Doc) ระบบเผด็จการของดูวาลิเยขณะนั้น ได้รับการรับรองจากสหรัฐฯ เพราะเป็นระบอบการปกครองขวาจัดต่อต้านคอมมิวนิสต์สุดขั้ว ดูวาลิเยอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดชีพ จนถึง 21 เมษายน ค.ศ.1971 ก็ถึงแก่กรรม อายุได้ 64 ปี

ฌอง คลอด ดูวาลิเย ผู้บุตร ฉายา “เบเบดอก” (Bébé Doc)  อายุเพียง 19  ปี ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีสืบทอดจากบิดา เกิดการลุกขึ้นสู้ต่อต้านดูวาลิเยตั้งแต่ ค.ศ.1985 ทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น รัฐบาลอเมริกาจึงกดดันให้ดูวาลิเยสละตำแหน่งในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ.1986 และให้มีการตั้งรัฐบาลรักษาการขึ้น และดำเนินการให้มีการเลือกตั้ง แต่กองทัพนำโดย พล.อ.อังรี นัมฟรี ก็ก่อการรัฐประหารครั้งที่ 23 ในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.1988 แต่กลับนำมาสู่รัฐประหารซ้อนในวันที่ 17 กันยายน ปีเดียวกัน

ท้ายที่สุด กองทัพก็ก่อการรัฐประหารครั้งที่ 25 ในวันที่ 30 กันยายน ค.ศ.1991 ตั้งระบอบปกครองโดยทหารนานถึง 4 ปี ขณะนั้น โลกนานาชาติคว่ำบาตรเฮติ และอเมริกาเตรียมที่จะส่งกองทัพเข้าแทรกแซงอีกครั้ง แต่ประธานาธิบดีบิล คลินตัน แห่งอเมริกา ได้ส่งทีมไปเจรจาให้คณะทหารคืนอำนาจสู่ประชาธิปไตย ในที่สุดคณะทหารเฮติต้องยอมจำนนให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ให้ประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยใน ค.ศ.1995

จากนั้น รัฐบาลใหม่ของเฮติได้ยุบเลิกกองทัพประจำการทั้งหมด เหลือแต่กองตำรวจแห่งชาติรักษาความปลอดภัย นอกจากนี้ ก็มีเพียงกองรักษาการชายฝั่งทะเล ซึ่งกลายเป็นการประหยัดงบประมาณอย่างมาก เพราะไม่ต้องมีงบกลาโหม และทำให้ประเทศปลอดภัยจากการรัฐประหาร

บทเรียนจากเฮติก็นับว่าเป็นประวัติศาสตร์อันน่าสนใจ สำหรับประเทศไทยถ้าต้องการจะทำสถิติรัฐประหารให้เท่าเฮติ โอกาสก็น่าจะมีอยู่ เพราะดูเหมือนว่า เฮติน่าจะเลิกรัฐประหารไปแล้ว

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน:  โลกวันนี้ วันสุข ปีที่ 10 ฉบับที่ 478 (วันที่ 23 - 29 สิงหาคม 2557)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net