Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมายเหตุ: มาจากส่วนสุดท้ายของบทความ "ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม: จากยุคอาณานิคมอำพราง สู่ราชาชาตินิยมใหม่หรือลัทธิเสด็จพ่อของกระฎุมพีไทยในปัจจุบัน" เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544 (อ่านบทความฉบับเต็มที่พิมพ์ในศิลปวัฒนธรรม) โดยนำมาเผยแพร่อีกครั้งในช่วงที่ คสช. และกระทรวงศึกษาธิการ เสนอให้ปรับปรุงตำราประวัติศาสตร์

 

วัฒนธรรมประวัติศาสตร์ของไทย

เราได้ยินเสมอว่าคนไทยไม่สนใจประวัติศาสตร์

คนรุ่นหนึ่งห่วงใยว่าคนรุ่นหลังจะไม่ใส่ใจซาบซึ้งเพียงพอ พวกเขาต้องการให้มีการค้นคว้าถึงทุกเหลี่ยมทุกมุมของประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม

เป็นไปได้ไหมว่าความทรงจำแบบนี้ซึมอยู่ในทุกเซลล์สมองจนไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นให้ต้องคิดกันอีก

คนไทยรู้จักประวัติศาสตร์ชนิดนี้ดีโดยไม่จำเป็นต้องสนใจทุกเหลี่ยมมุม ถึงไม่รู้รายละเอียดคนไทยก็สามารถดื่มด่ำปลาบปลื้มกับประวัติศาสตร์ได้

ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม กล่อมประสาทเราสนิทจนไม่เหลืออะไรน่าตื่นเต้นสำหรับคนรุ่นหลัง

ในขณะที่เราเรียกร้องให้ระบบการศึกษาผลิตคนที่คิดเป็น เรากลับเรียกร้องให้เยาวชนเสพประวัติศาสตร์เป็นยากล่อมประสาทหนักเข้าไปอีก

ทางออกจึงไม่ใช่การโทษครู แล้วหวังว่าการฝึกฝนครูจะช่วยสอนให้เด็กรู้จักคิด นั่นเป็นการคิดแบบปลายเหตุ (พูดอย่างอาจารย์ประเวศก็ได้ว่าเป็นทางออกแบบแยกส่วน)

เพราะประวัติศาสตร์แบบยากล่อมประสาทเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นไทย เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนความเป็นไทยสมัยใหม่ตลอด 100 ปีที่ผ่านมา จะคาดหวังให้ครูเติบโตมาเป็นแบบอื่นได้ยังไง

ทำไมวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ (historical culture) แบบไทยต้องการความรู้ประวัติศาสตร์แบบยากล่อมประสาท?

คัมภีร์โบราณที่บันทึกเรื่องอดีตมีหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของการสถาปนาและรักษาระเบียบของโลก (สังคม) เชื่อกันว่าคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่บันทึกเรื่องราวได้ถูกต้องตามสัจจะ จะช่วยทำให้ระเบียบของโลก (สังคม)เข้ารูปเข้ารอยไปด้วย เพราะการสร้างคัมภีร์คือการถ่ายทอดจำลองโลกลงเป็น text และอักษรอันศักดิ์สิทธิ์ แต่สัจจะมีคุณค่าควรบันทึกในการสร้างคัมภีร์หมายถึงความรู้ที่ตอกย้ำสัจจะตามแบบฉบับที่เชื่อว่าเป็นความจริงอย่างอกาลิโก อาจไม่ใช่ข้อมูลเรื่องราวที่ตรงตามความจริง (factual correct) อย่างที่เราคาดหวังกับประวัติศาสตร์สมัยใหม่

ความรู้ประวัติศาสตร์แบบคัมภีร์ไม่ได้มีไว้ให้ถกเถียง แต่มีไว้ให้รู้ การชำระคัมภีร์ประวัติศาสตร์อย่างพระราชพงศาวดารเกิดขึ้นต่อเมื่อเชื่อว่าคัมภีร์นั้นวิปริตผิดเพี้ยน จึงต้องอาศัยปรมาจารย์ผู้รู้จัดการตรวจสอบเพื่อปรับให้เข้ารูปเข้ารอย นี่ไม่ใช่การถกเถียงตีความโดยคนรุ่นหลัง

วัฒนธรรมประวัติศาสตร์ (historical culture) แบบจารีต และมรดกของความรู้ประวัติศาสตร์แบบคัมภีร์ไม่เคยถูกปะทะแบบถึงรากถึงโคน ไม่เคยมีการปฎิวัติภูมิปัญญา ไม่มีการปฎิวัติศาสนา ไม่มีอิทธิพลของวัฒนธรรมประวัติศาสตร์แบบวิพากษ์วิจารณ์ ปัญหาของวัฒนธรรมประวัติศาสตร์แบบยากล่อมประสาท ไม่ใช่เพราะตามก้นฝรั่งมากเกินไปแต่ตรงข้าม (นี่อาจจะเป็นปัญหาของวัฒนธรรมการแสวงหาความรู้และการศึกษาของไทยโดยรวมเลยก็ได้)

ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมทั้งเก่า ใหม่จึงเป็นเรื่องเล่าด้วยภาษาสมัยใหม่ภายใต้มรดกทางวัฒนธรรมประวัติศาสตร์แบบเก่ากล่าวคือมีหน้าที่ตอกย้ำความรู้แบบฉบับ และสัจจะอันจริงแท้แน่นอน เพื่อค้ำจุนระเบียบสังคมแบบราชาชาตินิยม

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์จึงมีหน้าที่ผลิตซ้ำตอกย้ำความรู้ตามแบบฉบับ ไม่ใช่เพื่อการสร้างปัจเจกบุคคลที่เป็นตัวของตัวเองสูง

ดังนั้นเมื่อคนไทยบอกว่าหาบทเรียนทางประวัติศาสตร์ จึงพบบทเรียนเดิมๆ ที่ท่องบ่นได้เป็นสูตรสำเร็จ ได้แก่ ความสามัคคี ความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษ ความสำนึกในบุญคุณของพระมหากษัตริย์ เป็นต้น

คนเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องอ่านประวัติศาสตร์จริงๆ จังๆ ไม่จำเป็นต้องรู้รายละเอียด เพราะแบบแผนความทรงจำและบทเรียนสูตรสำเร็จซึมซาบในชีวิตของเราแล้ว

นี่คือความรู้ประวัติศาสตร์ที่สังคมไทยคาดหวัง

ประวัติศาสตร์แบบที่ "ไม่ต้องคิด" เป็นส่วนหนึ่งของจารีตประเพณีอันดีงามของไทย

ประวัติศาสตร์ที่บอกว่ารัฐก่ออาชญากรรม ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทำให้คนบ้าคลั่งเสียสติเหมือนคนเสพยาบ้า แล้วฆ่าคนอื่นได้อย่างทารุณ ประวัติศาสตร์แบบนี้ผิดจารีต

การศึกษาประวัติศาสตร์ตามจารีตของไทยไม่ได้มีไว้เพื่อยกระดับการคิดการใช้สมองของประชากรไม่ได้มุ่งหมายผลิตปัจเจกชนที่อิสระ หัวแข็ง ไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายๆ ความรู้อดีตตามจารีตเดิมมีไว้เพื่อสถาปนาระเบียบ ไม่ใช่เวทีของการโต้แย้ง

การสร้างปัจเจกชนที่คิดวิพากษ์ย่อมหมายถึงการก้าวข้ามพ้นวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์แบบไทยๆ ที่เป็นมาแต่เดิม และย่อมต้องท้าทายประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม

สังคมไทยต้องการอย่างนั้นจริงหรือ?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net