ยอดสมัคร สปช. 13 วัน 2,792 คน ‘ประเวศ’ ปฏิเสธร่วม วอน คสช.ยกเลิกการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่น

ยอดสมัครสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 13 วัน รวม 2,792 คน พรรคสังคมประชาธิปไตยไทยเสนอชื่อ ‘สมศักดิ์ โกศัยสุข’ ขณะที่ ‘ประเวศ’ ปฏิเสธเข้าร่วม  วอน คสช.ยกเลิกการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่น ปฏิรูปประเทศควรกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง

27 ส.ค.2557 สำนักข่าวไทยรายงานถึง บรรยากาศที่สำนักงาน กกต. ซึ่งเป็นสถานที่รับสมัครในส่วนกลางของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ตลอดช่วงเช้าที่ผ่านมายังคงมีองค์กรนิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไรทยอยเสนอชื่ออย่างต่อเนื่อง อาทิ สมาคมข้าราชการบำนาญ กระทรวงมหาดไทย เสนอชื่อนายไพโรจน์ พรหมสาสน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้าสรรหาด้านการปกครองท้องถิ่น และนายเชนทร์ วิพัฒน์บวรวงศ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เข้าสรรหาด้านบริหารราชการแผ่นดิน

มูลนิธิข้าราชการบำนาญ กระทรวงมหาดไทย เสนอชื่อนายประยูร พรหมพันธุ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เข้าสรรหาด้านการปกครองท้องถิ่น, พรรคสังคมประชาธิปไตยไทยเสนอชื่อนายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคอดีตพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายสุคม ศรีนวล เข้าสรรหาด้านการเมือง, มูลนิธิพัฒนาศักยภาพคน เสนอชื่อนายสำราญ รอดเพชร อดีตโฆษก กปปส. เข้าสรรหาด้านอื่นๆ, มูลนิธิศึกษาธิการ เสนอชื่อนายอาทร จันทวิมล รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก เข้าสรรหาด้านการศึกษา, กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เสนอชื่อนายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ อัยการสูงสุด

สมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอชื่อนายสมัคร เชาวภานันท์ นายกสมาคม เข้าสรรหาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม, สมาคมต่อต้านยาเสพติดในสถานประกอบการ เสนอชื่อ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการกองบัญชาศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เข้าสรรหาในด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

‘หมอประเวศ’ ปฏิเสธเข้าร่วม สปช. วอน คสช.ยกเลิกการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่น

ประเวศ วะสี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยถึงแนวทางการปฏิรูปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะให้มีการสรรหาบุคคลเข้าเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ส่วนตัวคงไม่เข้ารับการสรรหาเป็น สปช. เนื่องจากอายุมากแล้ว แต่ได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิรูปผ่านเวทีเสวนาให้ความรู้ต่างๆ เพื่อให้นำไปใช้  ที่ผ่านมาได้มีการตั้งสมัชชาปฏิรูป และได้ทำงานเกี่ยวกับการปฏิรูปมานานหลายเรื่อง มีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่ สปช.สามารถนำไปใช้ได้

ประเวศ กล่าวว่า การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการกระจายอำนาจให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทั่วประเทศ ไม่ใช่ให้อำนาจแต่ สปช.เท่านั้น และการทำงานด้านปฏิรูปจะต้องเข้าใจหลักการของการปฏิรูป ที่จะต้องกระจายอำนาจให้ชุมชน ท้องถิ่น และ จังหวัดพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่การรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง อยากเสนอให้ในรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสมัชชาองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และกำหนดให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ต้องมาร่วมประชุมรับฟังข้อเสนอแนะและสะท้อนแง่คิดต่างๆ ด้วย

ประเวศ  กล่าวถึงประกาศ คสช.ฉบับที่ 85 ที่ให้ระงับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และให้มาจากการสรรหาแทน ว่าคงเป็นการระงับเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจาก คสช.เกรงว่าหากปล่อยให้มีการเลือกตั้งจะเกิดการปลุกระดม และจะได้มาซึ่งการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ดังนั้น อปท.จะต้องรวมกลุ่มกันเพื่อไปพูดคุยสะท้อนปัญหาให้ คสช.รับทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่าการสรรหาไม่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน แต่เชื่อว่าในอนาคต คสช.จะต้องยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าวและให้กลับมามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นอีกครั้ง

เสนอการปฏิรูปประเทศควรกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง

ประเวศ กล่าวในปาฐกถาพิเศษและเสวนาเรื่อง "การปกครองท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล กับการปฏิรูปประเทศ" จัดโดยสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ด้วยว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าประเทศต้องการการปฏิรูป แต่มีรายละเอียดแตกต่างกัน ซึ่งต้องพูดคุยให้ตกผลึก แต่การดำเนินการต้องเข้าใจหัวใจของปัญหาว่าเกิดจากการรวมศูนย์อำนาจ ทำให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ มีปัญหาคอร์รัปชั่น แย่งชิงอำนาจทางการเมือง ซึ่งต้องแก้ไขด้วยการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง บริหารจัดการตัวเองได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือเป็นฐานของประเทศมีความสำคัญในการปฏิรูป จึงต้องมีบทบาทให้มาก อปท. ต้องทำงานควบคู่ไปด้วย และคนที่จะมาทำงานใน อปท. จะต้องมาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้ได้บุคคลที่ประชาชนในพื้นที่ยอมรับ

ประเวศ กล่าวว่า อยากเสนอให้ อปท.ที่มีอยู่กว่า 7,000 แห่ง จัดทำเป็นสมัชชา อปท. จากนั้นมาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมจัดทำแนวทางของการปฏิรูปให้เกิดความชัดเจน เสนอต่อสปช. โดยมีวัตถุประสงค์ให้ท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารจัดการตัวเอง รวมถึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่ดึงอำนาจให้ส่วนกลางมากเกินไป จำกัดอำนาจท้องถิ่น แต่ต้องให้ท้องถิ่นจัดการตัวเอง ต้องทำให้เกิดความเชื่อมโยงในการทำงานระหว่างท้องถิ่นกับส่วนราชการ

“ประเทศไทยเกิดจากการพัฒนาแบบไซโลหรือแท่งอำนาจ ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง อปท.จะต้องเข้าไปช่วยเเก้ปัญหาด้วยการประสานเป็นภาคีแห่งการพัฒนา ส่วนการพัฒนาประชาธิปไตย จะต้องมาจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษา จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งยั่งยืนได้” ประเวศ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท