วิจักขณ์ พานิช: ล้มพระพุทธเจ้า

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

-          ภาวะสุดโต่งแห่งศรัทธาในพุทธศาสนาไทยเป็นสิ่งที่มีมาแต่โบราณกาล หรือเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้?

-          พลังศรัทธาที่ขับเคลื่อนสังคมไทยเป็นสิ่งที่เหมือนหรือแตกต่างอย่างไรกับในอดีต?

-          ถึงจุดใดที่ศรัทธาในศาสนาได้ก้าวพ้นความเมตตากรุณาที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการละเมิดสิทธิต่อผู้เห็นต่างทางความคิด และพัฒนาไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองที่กระทำต่อเพื่อนร่วมชาติได้อย่างโหดเหี้ยม?

ศรัทธาในสถาบันศาสนาคือรูปแบบหนึ่งของความรักที่ถูกบ่มเพาะและปลูกฝังในสังคมไทยอย่างเข้มข้น ศาสนาคือ “ที่พึ่งทางใจ” ศูนย์รวมแห่งการยึดมั่นถือมั่น อันเป็นข้อยกเว้นที่ไม่เคยถูกเตือนสติไว้ในคำสอนของพุทธศาสนาประจำชาติ การรับไตรสรณคมณ์ ที่ไม่ได้หมายถึง การตื่นรู้ในตน (พุทธะ) การเผชิญความจริง (ธรรมะ) หรือการเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ (สังฆะ)  แต่หมายถึงการรับเอาอุดมการณ์สูงสุดอันลบหลู่ ดูหมิ่น จาบจ้วง หรือวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้เป็นสรณะ พุทธศาสนาไทยจึงถูกทำให้กลายเป็นลัทธิอำนาจนิยมอันปราศจากความตื่นรู้ ความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์ขัน และความรักความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ในประเทศไทย แม้แต่สติ๊กเกอร์ LINE ก็กลายเป็นวัตถุต้องห้ามอันขัดต่อศีลธรรมอันดีไปได้ราวกับต้องคำสาป การออกมาพิทักษ์ปกป้องพุทธศาสนาของกลุ่มชาวพุทธไทยในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้เรายังเคยเห็นการรณรงค์เรียกร้องให้อำนาจรัฐเข้ามาจัดการต่อกรณี “หมิ่นศาสนา” อยู่บ่อยครั้ง  ไม่ว่าจะเป็น กรณีพระเกษมเหยียบฐานและใช้มือตบหน้าพระพุทธรูป กรณีหอศิลป์ในเมืองนอริช ประเทศอังกฤษ วางกล้วยหอมและไข่ไก่สองฟองบนตักพระพุทธรูป นิตยสารฉบับหนึ่งโชว์นางแบบเปลือยอกถ่ายรูปคู่พระพุทธรูป การลงสีพระพุทธรูปเป็นลายแม็คโดนัลด์ หรือ การล้อเลียนชีวิตพระศาสดาในการ์ตูนอนิเมะเรื่อง Saint Young Man เป็นต้น 

ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน มีผู้ร่วมลงชื่อรณรงค์ให้ยกเลิกการจำหน่ายสติ๊กเกอร์ล้อเลียนพระพุทธเจ้ากว่า 7000 รายชื่อ พลังแห่ง “มวลมหาพุทธศาสนิกชน”ก่อตัวขึ้นเป็นแนวร่วมตามอารมณ์ได้รวดเร็วรุนแรงราวกับพายุไต้ฝุ่น ประหนึ่งว่าประเทศชาติกำลังประสบภัยก่อการร้ายครั้งยิ่งใหญ่ กระทบกระเทือนศูนย์รวมจิตใจคนไทยทั้งชาติ

สติ๊กเกอร์ล้อเลียนพระพุทธเจ้าที่ขณะนี้ถูกระงับการจำหน่ายในประเทศไทยไปแล้วนั้น ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยนักออกแบบชาวญี่ปุ่น ซึ่งไม่ใช่ว่าคนญี่ปุ่นเขานึกอยากจะดูแคลนศาสนาพุทธหรืออย่างไรหรอกนะครับ เพียงแต่เขาไม่ได้มีทัศนคติไปในทางพิทักษ์ปกป้องพระศาสนาเหมือนในบ้านเราเท่านั้นเอง

เมื่อศักดิ์ศรีของชาติไม่ได้ผูกโยงอยู่กับอำนาจความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันหนึ่งสถาบันใดอันลบหลู่ดูหมิ่นไม่ได้ ทว่าสถาบันทางสังคมของเขาต่างรู้จักปรับตัวให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ ความเชื่อทางศาสนาก็เหมือนความเชื่ออื่นๆ ที่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยคุณค่าของตัวมันเอง โดยไม่ต้องมีใครไปโอบอุ้มหรือยกไว้ให้อยู่สูงเกินจริง เมื่อศาสนาอยู่ในโลกของความเป็นจริง ศาสนาของประชาชนก็มีชีวิตชีวาและเรียนรู้ที่จะอยู่กับผู้คนในสังคมสมัยใหม่อย่างไม่แปลกแยก พลังศาสนธรรมแบบโลกวิสัยงอกงามบนพื้นฐานของหลักสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค  ความเชื่อทางศาสนามีความสำคัญเท่าเทียมกับศิลปะวิชาการด้านอื่นๆ เปิดกว้างต่อเสรีภาพในการตีความ การชื่นชมให้คุณค่า และการวิพากษ์วิจารณ์  ส่วนบุคคลอันเป็นที่เคารพศรัทธาทางศาสนาก็มีความเป็นคนเท่ากันกับคนอื่นๆ ด้วย  

เวลาไปเยี่ยมชมวัดในประเทศญี่ปุ่น อย่างที่คามาคุระหรือนารา ซึ่งมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ (ไดบุตสึ) ให้พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวเข้าไปสักการะและชื่นชมความงดงาม หากเข้าไปในร้านขายของที่ระลึก เราจะพบกับสินค้ากิ๊บเก๋คาวาอิมากมาย น่าสังเกตครับว่า สินค้าเหล่านั้นไม่ใช่พระเครื่อง ตะกรุด ของขลัง อันแสดงออกถึงอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้าอย่างที่เห็นกันเกลื่อนกลาดในวัดไทย แต่เราจะพบได้กับพระพุทธรูปหรือภาพไดบุตสึน่ารักๆ ที่มีใบหน้าเป็น Hello Kitty  หรือตัวการ์ตูนต่างๆ คุกกี้ไดบุตสึ ลูกกวาดไดบุตสึ ถุงเท้าไดบุตสึ หรือแม้แต่ เบียร์ไดบุตสึ!!!  เรียกได้ว่าเมื่อลองเปรียบเทียบกันแล้ว กรณีสติ๊กเกอร์ไลน์รูปพระพุทธเจ้านั้นดูจิ๊บจ๊อยไปเลย

การที่พุทธศาสนาในญี่ปุ่นสามารถเอาพระพุทธเจ้ามาล้อเล่นได้อย่างเป็นกันเอง ไม่ได้แสดงถึงความเสื่อมของพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นอย่างที่ชาวพุทธไทยรู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อน แต่แทนที่จะแสดงออกถึงความศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง จนถึงขนาดว่าแตะต้อง เข้าใกล้ กระทั่งทำความเข้าใจไม่ได้ พระพุทธเจ้า พระพุทธรูป หรือแม้แต่พระภิกษุญี่ปุ่น มีเอกลักษณ์อยู่ที่ “ความสาธารณ์” สถานะอันธรรมดาสามัญของพุทธศาสนาในญี่ปุ่นสอดคล้องกับหลักคำสอนมหายาน มุ่งเน้นไปที่ความกรุณาและการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนมนุษย์ การล้อได้ เล่นได้ หยอกได้ ขำได้กับพระพุทธเจ้า แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระดับสายตาและเป็นมิตร อีกทั้งยังเป็นการท้าทายการยึดมั่นถือมั่นในอัตตา หรือมายาคติความศักดิ์สิทธิ์ของรูปเคารพทั้งหลายในฐานะที่พึ่งภายนอกตัวเราอีกด้วย สถานะความเป็น “ที่พึ่งทางใจ” หรือ “ความดีสูงสุด” ถูกแทนที่ด้วยความสัมพันธ์อย่างเป็นกันเองกับ “พุทธะ” ในฐานะพลังการตื่นรู้ที่มีอยู่แล้วในตัวคนทุกคน ข้ามพ้นสถานะของความเป็นพระหรือความเป็นเจ้า พุทธะคือความธรรมดาและคนธรรมดา ร่วมทุกข์ร่วมสุขอย่างตื่นรู้กับผู้คนในทุกบริบทอย่างไม่กลัวสกปรกหรือแปดเปื้อน คุณค่าทางจิตวิญญาณของผู้ปฏิบัติธรรมเกิดขึ้นจากการฝึกใจ ไม่ใช่เกิดขึ้นจากอำนาจ  

ยังจำงานศิลปะ “ล้มพระพุทธเจ้า” ในเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมัน เมื่อสองปีก่อนกันได้ไหมครับ พระพุทธรูปถูกจัดวางให้ล้มหงายบนพื้นที่สาธารณะ แถมยังเปิดให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ขึ้นไปปีนป่ายบนพระพุทธรูปได้ งานนี้ก็เช่นกันที่มีพระภิกษุและชาวพุทธไทยกลุ่มหนึ่งแสดงความไม่พอใจ มองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการหมิ่นศาสนา และมีการรวมตัวเรียกร้องให้อำนาจรัฐเข้ามาจัดการขบวนการล้มพระพุทธเจ้านั้นเสีย แต่สำหรับผม งานแสดงชิ้นนั้น คืองานศิลปะร่วมสมัยที่มีความงดงามในตัวมันเอง คนทั่วไปที่เดินผ่านมาพบเห็นพระพุทธเจ้าล้มสามารถเข้าไปเล่นได้ แตะได้ หยอกได้ ยิ้มได้ และหัวเราะได้ การได้เห็นภาพเด็กๆ ปีนป่ายพระพุทธรูปล้มหงายในพื้นที่สาธารณะช่วยเปิดจินตนาการ สร้างบรรยากาศอันผ่อนคลายและเปิดกว้างในใจได้อย่างน่าประหลาด

ตรงกันข้ามกับภารกิจการขยายมณฑลการพิทักษ์คุ้มครองพุทธศาสนาแบบไทยๆ ซึ่งดูแล้วก็ไม่แน่ใจเหมือนกันครับว่าการพยายามเบ่งอำนาจศาสนาให้ครอบคลุมไปทั่วทั้งจักรวาลเช่นนี้ จะเกิดประโยชน์อะไรแก่ใครบ้าง แต่ที่แน่ๆ การรณรงค์ต่อต้านการหมิ่นศาสนาในแต่ละครั้ง ได้สร้างบรรยากาศความกลัวและความไม่เป็นมิตรอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในสังคมพุทธ  นอกจากจะแสดงออกถึงตัวกูอันใหญ่โต ราวกับเป็นศาสนาพุทธของกูแต่เพียงผู้เดียวแล้ว การเรียกร้องให้ใช้อำนาจรัฐจัดการพวกหมิ่นศาสนา ดูจะไม่ต่างอะไรกับการเรียกร้องให้ใช้ทุกวิถีทางจัดการกับพวกขายชาติหรือพวกล้มเจ้า เรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่ศรัทธาในศาสนากลายเป็นส่วนหนึ่งของความบ้าคลั่ง การละเมิดสิทธิเสรีภาพ และการกำจัดผู้คนที่เห็นต่างทางการเมืองได้อย่างน่าเศร้า

เมื่ออำนาจค้ำจุนความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันคืออวิชชา อาจถึงเวลาที่พระพุทธเจ้าจะล้มลง เพื่อเปิดพื้นที่ให้มนุษยธรรมและความรักในเพื่อนมนุษย์สามารถกระจายออกไปได้ในแนวราบ 

...ก้าวแรก คือการปีนข้ามภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรมลูกนี้ไปให้ได้   

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท