เลือกตั้งผู้ว่า VS ยุบท้องถิ่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าแปลกประหลาดใจอันใดที่ปรากฏกระแสข่าวการยุบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาในระยะหลังนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยุบ อบจ. เพราะในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยนั้น เมื่อใดก็ตามที่มีกระแสเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นมา กระแสของการยุบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะถูกปลุกขึ้นมาต่อกรเมื่อนั้น

ในอดีตเรื่องของการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีขึ้นเป็นระยะๆมาโดยลำดับเริ่มจาก 20 กว่าปีที่แล้วคุณถวิล ไพรสณฑ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตามมาด้วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศว์ เจริญเมือง ในปี 2533 แต่ก็ถูกต่อต้านอย่างหนัก กระแสการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯก็จางไป

แต่ต่อมาเมื่อได้เกิดการเคลื่อนไหวที่สร้างความสั่นสะเทือนเป็นอย่างยิ่งต่อผู้ที่คัดค้านแนวคิดนี้ ก็คือได้มีการรณรงค์ให้มีการขับเคลื่อนเชียงใหม่มหานครหรือเชียงใหม่จัดการตนเองขึ้นมาในปี 2552 และได้มีการยกร่าง “พรบ.ระเบียบบริหารราชการชียงใหม่มหานคร พ.ศ. ...”ขึ้นมาในเดือนมกราคม 2554โดยมีหลักการนอกเหนือจากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วยังก้าวหน้าไปจนถึงการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ อีกทั้งยังมีสภาพลเมือง(Civil Juries)ขี้นมาตรวจสอบถ่วงดุลอีกด้วย ซึ่งต่อมาได้มีการรวบรวมรายชื่อเสนอร่างพรบ.ฯนี้ต่อรัฐสภาในวันที่ 26 ตุลาคม 2556 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่จะดำเนินการส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ประจวบเหมาะเข้ากับการที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยที่มีคุณอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธานได้ออกหนังสือสีส้มในวันที่ 18 เมษายน 2554 ระบุว่าถ้าจะปฏิรูปประเทศต้องยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค กระแสจึงแพร่กระจายไปทั่วประเทศ โดยมีการเคลื่อนไหวด้วยการใช้รูปแบบของ “เชียงใหม่โมเดล”เป็นหลักกว่า 45 จังหวัด จนคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้นำหลักการดังกล่าวมายกร่าง “พรบ.จังหวัดปกครองตนเอง พ.ศ. ...” ขึ้นมาเพื่อที่จะใช้เป็นกฎหมายกลาง แต่ไม่ทันได้ดำเนินการระดมรายชื่อก็มีการยึดอำนาจเสียก่อน

ในช่วงแรกๆ คสช.ดูเหมือนว่าจะพยายามลดทอนอำนาจของท้องถิ่นด้วยการให้มีการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นแทนการเลือกตั้งและให้ฝ่ายประจำรักษาการแทนผู้บริหารที่หมดวาระ และในตอนที่มีการประชุมหารือกันเพื่อกำหนดประเด็นในการปฏิรูปประเทศก็ไม่ได้มีการพูดถึงการปกครองท้องถิ่นเลย แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญฯปี 57 ออกมากลับมีการบรรจุไว้ในมาตรา 27(4)บัญญัติถึงเรื่องการปกครองท้องถิ่นเป็นการเฉพาะ และที่สร้างความหวั่นไหวให้แก่กระทรวงมหาดไทยเป็นอันมากก็คือการเปลี่ยนอำนาจการสั่งคดีอาญาจากเดิมที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถให้ความเห็นแย้งในกรณีพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องไปเป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจภาคแทน

กอปรกับการให้เหตุผลที่ว่าหากมีการกระจายอำนาจแล้วยิ่งมีความมั่นคงยิ่งขึ้นโดยผมพยายามยกตัวอย่างให้เห็นถึงการปกครองของเกาหลีใต้ที่ยังอยู่ในสภาวะการประกาศสงครามกับเกาหลีเหนือมา กว่า 50 ปีแล้ว เกาหลีใต้ก็ไม่มีราชการส่วนภูมิภาคแต่อย่างใด แต่กลับทำให้ฝ่ายความมั่นคงสามารถทำงานได้สะดวกขึ้นเพราะลดขั้นตอนให้สั้นลง สามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้โดยตรง ตัวอย่างเช่นการพิทักษ์พื้นที่เขตหลัง เป็นต้น

ฉะนั้น จึงไม่เป็นเรื่องแปลกอันใดที่เราได้เห็นกระบวนการออกมาแฉการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีการออกมาให้กำลังใจแกนนำกันเป็นระยะๆ ซึ่งเราจะลองมาวิเคราะห์กันว่าระว่างฝ่ายที่ต้องการยุบหรือควบคุมการปกครองส่วนท้องถิ่นกับฝ่ายที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯหรือยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคนี้ใครได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างไร
 
ฝ่ายต้องการให้ยุบหรือควบคุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ข้อได้เปรียบก็คือแกนนำ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุลนั้นมีภาพลักษณ์ดี มีชาติตระกูลดี ยังไม่ปรากฏข่าวคราวการทุจริตคอรัปชัน(แต่ชาวเชียงใหม่บางส่วนยังกังขากับการที่เมื่อครั้งเป็นผู้ว่าฯเชียงใหม่มีการทำป้ายติดรูปตัวเองปูพรมไปทั่วจังหวัดนั้นเข้าข่าย “บังหลวง”หรือไม่อยู่จนบัดนี้)และมักออกมาเป็นผู้นำในการคัดค้านในการที่ฝ่ายมหาดไทยจะเสียอำนาจอยู่เสมอ แต่ก็แปลกที่ไม่ได้ยินการคัดค้านกรณีที่เปลี่ยนอำนาจการให้ความเห็นแย้งกรณีพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องของผู้ว่าฯไปเป็นของตำรวจเลย ส่วนข้อเสียเปรียบก็คือ ทัศนคติที่มองว่าคนเราไม่เท่าเทียมกัน ต้องใช้การปกครองแบบชี้นำอย่างเป็นระบบระเบียบ(procedural) ชอบให้ข่าวรายวัน บางครั้งก็เป็นข้อมูลที่เกินความเป็นจริง เช่น นายก อบจ.ดื่มไวน์ขวดละเป็นแสนบนเครื่องบินเฟิร์สต์คลาส เป็นต้น

ฝ่ายที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯหรือยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค

ข้อได้เปรียบก็คือมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง(ส่วนจะเป็นผลมาจากการซื้อเสียงหรือไม่นั้นคงต้องเขียนแยกเป็นอีกบทความหนึ่งต่างหาก เพราะผลการวิจัยจากหลายสถาบันออกมาใกล้เคียงกันว่ามีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนเพียงร้อยละ 4.5-4.9 เท่านั้น) /เป็นคนท้องถิ่นย่อมรู้ปัญหาของท้องถิ่นดีกว่าคนที่มาจากที่อื่น/ พบง่ายกว่าคนที่มาจากการแต่งตั้ง /ต้องเอาใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งหากต้องการได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอีก ส่วนข้อเสียเปรียบก็คือมักจะขาดความรู้ความเข้าใจในระบบการงบประมาณหรือการคลัง มักเข้าใจไปว่าอำนาจนายกฯนั้นหมายถึงอำนาจของตนเองที่จะใช้จ่ายอะไรก็ได้และยิ่งได้ฝ่ายประจำที่ถือโอกาสสวมรอยก็ยิ่งพากันเข้ารกเข้าพงไป

เมื่อเปรียบเทียบส่วนได้เปรียบเสียเปรียบแล้ว ในสถานการณ์ปัจจุบันฝ่ายหลังอาจจะเป็นรองบ้างเล็กน้อยเพราะถูกผูกโยงกับอำนาจทางการเมืองระดับชาติที่เป็นข้อข้องใจของ คสช. หากตอบโจทก์ประเด็นนี้ได้ก็ไม่เป็นรองแต่อย่างใด ส่วนประเด็นการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ฝ่ายแรกยกมาโจมตีฝ่ายหลังนั้นเห็นว่าไม่เป็นประเด็นข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันแต่ประการใด เพราะพอๆกันทั้งคู่ไม่มีใครดีกว่าใคร เรียกว่า “ขนมผสมน้ำยา” หากจะมีการยุบหน่วยงานที่มีการทุจริตแล้ว คงไม่เหลือสักหน่วยเดียวเลยก็ว่าได้

จะช้าหรือเร็ว จะมากหรือน้อย อย่างไรเสียก็ต้องมีการกระจายอำนาจเพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากกการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร หากฝืนความต้องการของประชาชนแล้วก็อยู่ยากครับ ตัวอย่างมีให้เห็นมาเยอะแล้วครับ

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 3 ก.ย. 57

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท