Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ผมได้เขียนเรียงความ "จุดจบของประวัติศาสตร์? (The End of History?)" ลงในวรสารเล่มเล็กๆ ที่ชื่อเนชันนัล อินเตอร์เรสต์  ตอนนั้นเป็นฤดูใบไม้ผลิในปี 1989  สำหรับพวกเราที่ติดอยู่ในความขัดแย้งทางอุดมการณ์และการเมืองอันยิ่งใหญ่ของสงครามเย็น มันเป็นช่วงเวลาที่เหลือเชื่อ  เรียงความชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ไม่กี่เดือนก่อนการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน และในช่วงเวลาที่การประท้วงเพื่อประชาธิปไตยได้เกิดขึ้นที่จตุรัสเทียนอันเหมิน อันเป็นตอนกลางของคลื่นแห่งการเปลี่ยนผ่านของประชาธิปไตยในยุโรปตะวันออก  ละตินอเมริกา เอเชีย และแอฟริกาใต้ซาฮารา

ผมเสนอว่า ประวัติศาสตร์ (ตามความหมายของปรัชญาในมิติกว้าง) นั้น ได้ปรากฏโฉมออกมาแตกต่างจากสิ่งที่นักคิดฝ่ายซ้ายได้จินตนาการไว้มาก กระบวนการการทำให้เศรษฐกิจและการเมืองเกิดความทันสมัยของโลก ไม่ได้นำไปสู่สังคมในอุดมคติของคอมมิวนิสต์ดังที่ชาวลัทธิมาร์กซ์ได้ยืนยัน และสหภาพโซเวียตได้ตั้งปณิธานไว้มานาน  แต่กลายเป็นประชาธิปไตยเสรีนิยมในบางชนิด และระบบเศรษฐกิจแบบตลาดไป ผมได้เขียนว่าประวัติศาสตร์นั้นได้อยู่ภายใต้วาทกรรมของเสรีภาพ ดังเช่น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สิทธิของปัจเจกชน และระบบเศรษฐกิจซึ่งทุนและแรงงานถูกควบคุมโดยรัฐพอประมาณ

หากยืนอยู่ในปัจจุบันแล้วหันกลับมามองเรียงความชิ้นนี้  เรามาเริ่มต้นด้วยประเด็นที่ชัดเจนที่สุดคือ ในปี 2014 นี้ ก่อให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างจากปี 1989

รัสเซียเป็นประเทศเผด็จการอันบ้าคลั่งที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งได้รับการขับเคลื่อนจากเงินที่มาจากการขายน้ำมัน  และยังต้องการรังแกประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยความต้องการดินแดนซึ่งสูญเสียไปเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 กลับคืน จีนยังคงเป็นประเทศเผด็จการ แต่ได้กลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เช่นเดียวกับความทะเยอทะยานที่จะครอบครองดินแดนในทะเลจีนใต้และจีนตะวันออก  ดังที่นักวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศคือ เวลเตอร์ รัสเซลล์มิดได้เขียนไว้ว่า ภูมิรัฐศาสตร์ลักษณะเดิมกลับมามีอิทธิพลอีกครั้ง เสถียรภาพของโลกได้ถูกคุกคามบนปลายทั้งสองด้านของภูมิภาคยูเรเซีย

ปัญหาของโลกทุกวันนี้ไม่ได้เพียงเพราะประเทศมหาอำนาจที่เป็นเผด็จการกำลังฟาดงวงฟาดงา แต่ประเทศประชาธิปไตยจำนวนมากนั้นก็ไม่ได้มีทิศทางในการเปลี่ยนแปลงที่ดีนัก ดูอย่างประเทศไทยซึ่งลักษณะทางการเมืองอันแสนวุ่นวายได้ก่อให้เกิดการทำรัฐประหารโดยกองทัพ หรือบังคลาเทศซึ่งระบบทางการเมืองยังคงอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคการเมืองที่แสนฉ้อฉล 2 พรรค หลายประเทศซึ่งเคยมีท่าทีของการเปลี่ยนผ่านของประชาธิปไตยอันสดใสดังเช่น ตุรกี ศรีลังกา  นิการากัว ได้ลดถอยไปสู่การปกครองแบบอำนาจนิยม ประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมถึงประเทศซึ่งเพิ่งเข้าร่วมสหภาพยุโรป เช่นโรมาเนีย และบังเกเรีย ยังคงเต็มไปด้วยปัญหาการฉ้อราษฏรบังหลวง

และยังมีประเทศประชาธิปไตยอันมั่นคง ไม่ว่าสหรัฐอเมริกา หรือในสหภาพยุโรป ได้พบกับวิกฤตทางการเงินอันใหญ่หลวงในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งหมายถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะงักงัน และภาวะการตกงานสูงลิ่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนหนุ่มคนสาว ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเริ่มต้นขยายตัวอีกครั้ง ผลประโยชน์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงและระบบพรรคการเมืองที่แตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายนั้น ไม่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีต่อประเทศอื่นๆ ได้เลย

ดังนั้น สมมติฐาน "จุดจบของประวัติศาสตร์" ของผมจึงได้รับการพิสูจน์ว่าผิด หรือถ้าไม่ผิดก็ต้องการเขียนแก้ครั้งใหญ่?  ผมเชื่อว่า ความคิดซึ่งแฝงเร้นอยู่ยังคงถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ แต่ผมก็ยังเข้าใจในบัดนี้ถึงหลายสิ่งเกี่ยวกับธรรมชาติของพัฒนาทางการเมือง ซึ่งผมได้เห็นไม่สู้ชัดเจนนักในช่วงแห่งความวุ่นวายแห่งปี 1989 

เมื่อสังเกตการณ์แนวโน้มประวัติศาสตร์ทางการเมืองในภาพกว้างๆ เป็นสิ่งสำคัญที่จะไม่หลงติดไปกับพัฒนาการในช่วงเวลาเพียงสั้นๆ  สิ่งสำคัญของระบบการเมืองอันมั่นคงคือ ความยั่งยืนในช่วงระยะยาว ไม่ใช่การดำเนินไปเพียงทศวรรษใดทศวรรษหนึ่ง

มาลองเริ่มต้นโดยพิจารณาว่า ระบบทางเศรษฐกิจและการเมืองนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาลอย่างไรในช่วง 2 อายุคนที่ผ่านมา ในด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลกได้มีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากมายของผลผลิต ซึ่งประมาณแบบคร่าวๆ ได้ว่า เพิ่มขึ้น 4 เท่า จากระหว่างช่วงต้นทศวรรษที่ 70 กับวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อปี 2007 - 2008 ถึงแม้วิกฤตการณ์ครั้งนั้นเป็นการถอยหลังอย่างมาก  ระดับของความมั่งคั่งทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างสูงในทุกทวีปของโลก สาเหตุเพราะโลกได้ถูกทำให้เชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น ภายใต้ระบบเสรีทางการค้าและการลงทุน แม้แต่ประเทศคอมมิวนิสต์อย่างเช่น จีน และเวียดนาม ระบบตลาดมีอิทธิพลเช่นเดียวกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

การเปลี่ยนครั้งมหึมาก็ได้เกิดขึ้นในบริบททางการเมืองเช่นกัน ตามข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญด้านประชาธิปไตยแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด คือ ลาร์รี่ ไดมอนด์ ในปี 1974  มีเพียงประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้งเพียง 35 ประเทศ ซึ่งนับได้เพียงร้อยละ 30 ของทุกประเทศในโลก  แต่ในปี 2013 จำนวนนี้ได้ขยายไปถึง 120 ประเทศ หรือกว่าร้อยละ 60  สำหรับปี 1989 ได้เป็นจุดเร่งอย่างคาดไม่ถึงของแนวโน้มกว้างๆ ดังที่นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด คือ แซมมวล ฮันติงตัน ผู้ล่วงลับไปแล้วเรียกว่า "คลื่นที่ 3" ของกระบวนการกลายเป็นประชาธิปไตย อันเป็นกระแสซึ่งได้เริ่มต้นจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในยุโรปใต้ และประเทศในทวีปละตินอเมริกา ต่อมา ได้ขยายไปยังแอฟริกาใต้ซาฮารา และเอเชีย

การอุบัติขึ้นของระเบียบเศรษฐกิจโลกแบบตลาด และการแพร่ขยายของประชาธิปไตยนั้น มีการเชื่อมโยงกันอย่างเห็นได้ชัด ประชาธิปไตยมักขึ้นอยู่กับชนชั้นกลางที่มีฐานขนาดกว้าง และจำนวนของพลเมืองซึ่งถือครองทรัพย์สินและมั่งคั่งได้เกิดขึ้นอย่างมากมายนับตั้งแต่คนรุ่นที่แล้ว ประชากรซึ่งมีการศึกษาที่ดีกว่าและร่ำรวยกว่าเดิมโดยทั่วไปมักเรียกร้องรัฐบาลยิ่งกว่าเดิม และด้วยเหตุที่พวกเขาเสียภาษี  พวกเขาจึงรู้สึกว่า ตนควรมีส่วนร่วมกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประเทศซึ่งปกครองด้วยระบอบเผด็จการอำนาจนิยมอย่างมั่นคงที่สุดจำนวนมากนั้น เป็นรัฐที่รวยด้วยน้ำมัน เช่น รัสเซีย เวเนซูเอลา หรือรัฐบาลในประเทศย่านอ่าวเปอร์เซีย ซึ่ง "คำสาปทรัพยากร" (1)  ได้สร้างรายได้ให้กับรัฐบาลอย่างมหาศาลมากกว่าประชาชน

ยิ่งชนชั้นปกครองที่ร่ำรวยด้วยน้ำมันมีความสามารถอย่างสูงในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงด้วยแล้ว ตั้งแต่ปี 2005 เราได้พบกับเหตุการณ์ซึ่ง ดร. ไดมอนด์ เรียกว่า "การถดถอยทางประชาธิปไตย" ของโลก ตามข้อมูลขององค์กรฟรีดอม เฮาส์ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้ โดยการใช้ตัววัด คือ สิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน พบว่า ประชาธิปไตยนั้นได้ถดถอยลงทั้งจำนวนและคุณภาพ (เช่น การเลือกตั้งที่ใสบริสุทธิ์ เสรีภาพของสื่อ ฯลฯ) เป็นเวลากว่า 8 ปี ติดต่อกันมา

แต่ลองมามองการถดถอยทางประชาธิปไตยแบบไม่โลกสวยดูบ้างว่า ในขณะที่เราอาจวิตกเกี่ยวกับท่าทีเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จในรัสเซีย ไทย หรือนิการากัว ประเทศทั้งหลายนั้นเป็นเผด็จการมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 70  ถึงแม้ว่าจะเกิดการปฏิวัติอันน่าตื่นเต้นในจัตุรัสทาห์เรีย  กลางกรุงไคโร ในปี 2011 การลุกฮือที่อาหรับนั้นไม่ได้ดูเหมือนว่า จะทำให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในที่ไหนสักที่ ยกเว้นประเทศที่มันเกิดขึ้น คือ ตูนีเซีย กระนั้นมันดูกลายเป็นว่า การเมืองของอาหรับจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ก็ในระยะยาว  จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมจริงอย่างมากว่า มันจะเกิดขึ้่นอย่างรวดเร็ว เรามักลืมไปว่า ภายหลังจากการปฏิวัติในปี 1848 หรือ "การเฟื่องฟูของขบวนการประชาชน" ของยุโรป ประชาธิปไตยต้องใช้เวลากว่า 70 ปีหลังจากนั้น กว่าจะมีความเข้มแข็ง

ในด้านอุดมการณ์  ประชาธิปไตยเสรีนิยมนั้นยังไม่มีคู่แข่งที่แน่จริงสักคนเดียว วลาดิเมียปูตินแห่งรัสเซีย และอายะตุลลอฮ์แห่งอิหร่านนั้นยกย่องแนวคิดประชาธิปไตย แม้ว่าในด้านปฏิบัติพวกเขาจะเหยียบย่ำมันก็ตาม เหตุใดจึงพยายามทำประชามติจอมปลอม สำหรับการปกครองตัวเองในเขตยูเครนตะวันออกกันเล่า?  พวกหัวรุนแรงในตะวันออกกลางอาจจะฝันถึงการสร้างรัฐที่ปกครองโดยศาสนาอิสลาม แต่นี่ไม่ใช่ทางเลือกของประชากรจำนวนมหาศาลในโลกมุสลิม  ระบบเพียงระบบเดียวซึ่งดูเหมือนจะสามารถแข่งขันกับประชาธิปไตยเสรีนิยมได้ก็คือ "โมเดลจีน" ซึ่งผสมผสานรัฐเผด็จการกับเศรษฐกิจแบบตลาดเป็นบางส่วน รวมไปถึงความมีประสิทธิภาพในระดับสูงของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเทคโนโลยี

กระนั้น ถ้ามีการพนันกันว่า 50 ปีต่อจากนี้ไป สหรัฐอเมริกาและยุโรปจะมีสภาพเหมือนกับจีนในทางการเมือง หรือว่าจีนจะหันมามีสภาพเหมือนทั้งคู่หรือไม่ ผมคงจะเลือกประเภทหลังอย่างไม่ลังเลใจ มีเหตุผลมากมายที่จะทำให้เชื่อว่า โมเดลจีนนั้นขาดความยั่งยืน  ความถูกต้องชอบธรรมของระบบและการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นอยู่กับระดับขั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งดูเหมือนจะไม่เกิดขึ้นง่ายดายนัก เพราะจีนนั้นพยายามเปลี่ยนผ่านจากประเทศรายได้ขนาดกลางไปเป็นไปรายได้ขนาดสูง

จีนได้สะสมปัญหาซ้อนเร้นไว้เป็นจำนวนมาก โดยการทำให้ดินและอากาศของตนเป็นพิษ และในขณะที่รัฐบาลดูเหมือนจะปรับตัวได้มากกว่ารัฐบาลเผด็จการส่วนมากแล้ว ชนชั้นกลางของประเทศซึ่งจำนวนเพิ่มขึ้นดูเหมือนจะไม่ยอมรับระบบอุปถัมภ์อันฉ้อฉลดังในปัจจุบัน เมื่อพบกับวิกฤตการณ์บางอย่าง  จีนไม่สามารถเผยแพร่อุดมการณ์สากลไปยังนอกประเทศได้ ดังในช่วงเวลาแห่งการปฏิวัติของเหมา ด้วยระดับของความไม่เท่าเทียมกันทางฐานะและผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคล ซึ่งสนิทแนบแน่นกับชนชั้นปกครองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ   "ความฝันแบบจีนๆ" ก็ไม่สามารถเป็นอะไรได้มากกว่า ช่องทางสำหรับการร่ำรวยแบบไวๆ

แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า เราสามารถพึงพอใจอยู่กับการดำเนินไปของประชาธิปไตยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา   สมมติฐาน "จุดจบแห่งประวัติศาสตร์" ของผมนั้น ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นแบบนิยัตินิยม หรือเป็นการทำนายอย่างทื่อๆ ต่อชัยชนะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ของประชาธิปไตยเสรีนิยมทั่วโลก ประชาธิปไตยนั้นอยู่รอดและประสบความสำเร็จ เพียงเพราะประชาชนนั้นมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อภาวะแบบนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน และภาระการรับผิดชอบทางการเมือง สังคมเช่นนั้นขึ้นอยู่ภาวะการเป็นผู้นำ ความสามารถในการจัดการองค์กร และโชคดีอีกด้วย

ปัญหาเพียงประการเดียวอันใหญ่ที่สุดในสังคมซึ่งมุ่งมั่นในการเป็นประชาธิปไตย คือ ความล้มเหลวต่อสิ่งที่ประชาชนต้องการจากรัฐบาล นั่นคือ ความมั่นคงส่วนบุคคล การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยทั่วหน้า และการบริการสาธารณะ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษา สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน)  ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการได้รับโอกาสในชีวิตของบุคคล ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยนั้นเน้นไปที่การจำกัดอำนาจของรัฐทรราชย์ หรือรัฐฉ้อฉล ด้วยเหตุผลที่เข้าใจได้ แต่พวกเขาไม่ค่อยได้คิดว่า จะปกครองอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ พวกเขามุ่งเน้นไปที่ความสนใจในการ "ควบคุมรัฐบาลมากกว่าทำให้รัฐมีประสิทธิภาพ" ดังวลีของอดีตประธานาธิบดีวูดโร วิลสัน

สิ่งนี้คือ ความล้มเหลวของการปฏิวัติสีส้มในปี 2004 ในยูเครน ซึ่งโค่นล้มนายวิคเตอร์ ยานุโควิช ในครั้งแรก  ผู้นำซึ่งได้ขึ้นมามีอำนาจจากการประท้วงครั้งนั้น ไม่ว่าวิกเตอร์ ยูชเชนโก และยูเลีย ทีโมเชงโกนั้น เสียเวลาไปกับความขัดแย้งภายในกลุ่ม และกิจกรรมอันมิชอบด้วยกฎหมาย  หากรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพได้ขึ้นมามีอำนาจ และได้กวาดล้างการฉ้อราษฎร์บังหลวงในกรุงเคียฟ และทำให้สถาบันต่างๆ ได้รับความเชื่อถือจากสังคมมากขึ้น รัฐบาลก็อาจจะสามารถสร้างความชอบธรรมได้ทั่วยูเครน รวมไปถึงภูมิภาคตะวันออกที่ใช้ภาษารัสเซีย  ก่อนที่นายปูตินจะมีความยิ่งใหญ่พอที่จะเข้ามาแทรกแซงประเทศนี้ได้ แต่พลังแห่งประชาธิปไตยก็ได้ทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเอง และได้ปูทางสำหรับการกลับมาของนายยานุโควิชในปี 2010 อันนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง และนองเลือดเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

อินเดียนั้นได้หยุดชะงักโดยช่องว่างแบบเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับจีน เป็นที่น่าประทับใจว่า อินเดียนั้นถูกยกย่องว่าเป็นประชาธิปไตยนับตั้งแต่การก่อตั้งประเทศเมื่อปี 1947 แต่ประชาธิปไตยแบบอินเดียคล้ายคลึงกับกระบวนการทำไส้กรอกคือ ไม่ได้ดูน่าพิศวาสนัก เมื่อลองเข้าไปมองดูใกล้ๆ ระบบของประเทศเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง และระบบอุปถัมภ์ ตามข้อมูลของสมาคมเพื่อการปฏิรูปประชาธิปไตยของอินเดีย ร้อยละ 34 ของผู้ชนะจากการเลือกตั้งของอินเดียเมื่อไม่นานมานี้ พัวพันกับข้อหาอาชญากรรม อันประกอบไปด้วยข้อหาร้ายแรง เช่น ฆาตกรรม การลักพาตัว และการล่วงละเมิดทางเพศ

ภาวะนิติรัฐนั้นเกิดขึ้นในอินเดีย แต่มันเชื่องช้าและไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งเจ้าทุกข์จำนวนมากเสียชีวิตก่อนที่คดีความจะขึ้นโรงขึ้นศาล ตามข้อมูลของฮินดัสแตน ไทมส์ ศาลสูงของอินเดียนั้นยังค้างคาด้วยคดีกว่า 60,000 คดี หากเปรียบเทียบกับจีนซึ่งเป็นเผด็จการแล้ว ประเทศประชาธิปไตยซึ่งใหญ่ที่สุดในโลกต้องชะงักงันอย่างสิ้นเชิง จากการไร้ความสามารถในการมอบโครงสร้างพื้นฐานอันทันสมัย หรือการบริการขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าน้ำสะอาด ไฟฟ้า หรือการศึกษาแก่ประชาชนของตน

ตามข้อมูลของนักเศรษฐศาสตร์และนักกิจกรรม คือ ฌอง เดร์เซ ในบางรัฐของอินเดีย  ครูโรงเรียนกว่าร้อยละ 50 ไม่ยอมไปทำงาน นายนเรนทรา โมดี นักชาตินิยมอิงศาสนาฮินดู พร้อมด้วยประวัติอันไม่งามนักกับการหูไปนาเอาตาไปไร่กับความรุนแรงต่อชาวมุสลิม เพิ่งได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากคะแนนเสียงถล่มทลายด้วยความหวังว่า เขาจะสามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองอินเดียที่ดีที่แต่พูด ไปสู่การสร้างผลงานอันแท้จริง

คนอเมริกันนั้นยิ่งกว่าคนชาติอื่น คือ ไม่ค่อยเข้าใจความต้องการรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ แต่ไปมุ่งที่การรั้งอำนาจของรัฐบาลแทน ในปี 2003 รัฐบาลของจอร์จ ดับเบิลยู บุช ดูเหมือนจะเชื่อว่า รัฐบาลประชาธิปไตยและเศรษฐกิจแบบตลาดนั้นจะเกิดขึ้นพร้อมกันในอิรัก ภายหลังจากกองทัพสหรัฐฯ ได้กำจัดซัดดัม ฮุซเซนไปแล้ว  แต่รัฐบาลไม่ได้เข้าใจว่า ทั้งสองสิ่งนี้เกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์ของสถาบันอันซับซ้อน เช่น พรรคการเมือง ศาล สิทธิในการถือครองทรัพย์สิน อัตลักษณ์แห่งชาติร่วมกัน ซึ่งมีวิวัฒนาการในประเทศประชาธิปไตยที่เข้มแข็งกว่าหลายทศวรรษ หรือกว่าหลายศตวรรษ

โชคไม่ดีนัก การไม่สามารถปกครองอย่างมีประสิทธิภาพได้ขยายมายังสหรัฐอเมริกาเอง รัฐธรรมนูญตามแนวคิดของ เจมส์ เมดิสัน ซึ่งได้ถูกออกแบบอย่างจงใจในการป้องกันทรราชย์ โดยการเพิ่มกลไกการตรวจสอบและการถ่วงดุลในทุกระดับของรัฐบาล ได้กลายเป็นการปกครองแบบวีโตเครซี (2) ในบรรยากาศทางการเมืองของกรุงวอชิงตันทุกวันนี้ ซึ่งมีแต่การแบ่งแยก หรือว่าจะเรียกให้ถูกว่าเป็นมลพิษ รัฐบาลนั้นพบว่า ไม่สามารถจะเคลื่อนไปข้างหน้า หรือก้าวไปข้างหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตรงกันข้ามกับการคลั่งต่อด้านใดด้านหนึ่ง สหรัฐอเมริกาพบกับปัญหาทางการเงินระยะยาวที่ร้ายแรง ซึ่งจะได้รับการแก้ไขปัญหาด้วยการประนีประนอมทางการเมืองอย่างสมเหตุสมผล แต่สภาคองเกรสนั้นไม่ได้อนุมัติงบประมาณ เพราะติดอยู่กับกฎระเบียบของมันเองเป็นเวลาหลายปี ในฤดูใบไม้ร่วงของปีที่แล้ว พรรครีพับลิกันทำให้ทั้งรัฐบาลต้องปิดตัวเอง เพราะมันไม่สามารถตกลงกับการจ่ายหนี้ที่ผ่านมาของประเทศ ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงเป็นแหล่งกำเนิดนวตกรรมอันน่าอัศจรรย์ใจ รัฐบาลอเมริกันนั้นแทบไม่ได้เป็นแหล่งสำหรับแรงบันดาลใจให้กับโลกในปัจจุบันเลย

25 ปีต่อมา ภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่อสมมติฐานจุดจบแห่งประวัติศาสตร์ ไม่ได้หมายความว่ามีต้นแบบที่ดีกว่า และสูงส่งกว่า จนมีชัยเหนือประชาธิปไตยเสรีนิยม  ระบบเทวาธิปไตยแบบอิสลาม หรือระบบทุนนิยมแบบจีน ไม่สามารถบั่นทอนมันได้  เมื่อสังคมนั้นได้ยกระดับไปสู่การพัฒนาทางอุตสาหกรรม โครงสร้างทางสังคมของมันได้เริ่มต้นด้วยความต้องการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนมากขึ้น  หากผู้นำทางการเมืองเอื้อต่อความต้องการเหล่านั้น เราก็เข้าสู่ประชาธิปไตยในอีกรูปแบบหนึ่ง

คำถามก็คือว่า ประเทศทั้งหมดจะมีการยกระดับขั้นเช่นนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หรือไม่ ปัญหานั้นคือการโยงกันอย่างแยกไม่ออกระหว่างการเมืองและเศรษฐกิจ   ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก่อนจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยสถาบันพื้นฐานบางประการ เช่น สัญญาที่มีผลบังคับอย่างจริงจัง และการบริการสาธารณะที่เชื่อถือได้ แต่สถาบันเหล่านั้นเกิดขึ้นได้ยากในสังคมที่มีความยากจนข้นแค้น และความขัดแย้งทางการเมือง ในอดีต สังคมจำนวนมากได้เกิดขึ้นจาก "กับดัก" เช่นนี้ ผ่านอุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสิ่งร้ายๆ (เช่น สงคราม) มักก่อให้เกิดสิ่งที่ดีๆ (เช่น รัฐบาลยุคใหม่)  กระนั้น มันไม่ชัดเจนว่ามันจะเป็นเช่นนี้กับทุกๆ คน

ปัญหาที่สองซึ่งผมไม่ได้กล่าวถึงเมื่อ 25 ปีที่แล้ว คือ การเสื่อมสลายทางการเมือง ซึ่งได้ทำให้ประเทศลดระดับขั้นลงมา   สถาบันทั้งหมดนั้นสามารถเสื่อมถอยได้ในช่วงเวลาระยะยาว พวกมันมักขาดความยืดหยุ่นและเป็นอนุรักษ์นิยม  ดังนั้น กฎเกณฑ์ซึ่งตอบรับความต้องการของยุคใดยุคหนึ่ง อาจไม่ถูกต้องเสมอไป เมื่อเงื่อนไขภายนอกได้เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ สถาบันยุคใหม่ซึ่งถูกออกแบบให้ไม่เน้นตัวบุคคลนั้น มักถูกเข้าครอบงำโดยตัวละครทางการเมืองผู้ทรงอิทธิพลจนเกินเวลาอันควร  แนวโน้มทางธรรมชาติของมนุษย์ในการให้รางวัลแก่ครอบครัวและเพื่อนได้เกิดขึ้นในทุกระดับทางการเมือง อันส่งผลให้สิทธิและเสรีภาพเสื่อมถอยไปเป็นเรื่องของอภิสิทธิ์  สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นจริงในระบบประชาธิปไตย ไม่น้อยไปกว่าระบบเผด็จการเลย (ลองไปดูกฎหมายเกี่ยวกับภาษีของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันดูสิ) ในสถานการณ์เหล่านั้น  คนรวยดูเหมือนจะรวยยิ่งขึ้นไป ไม่ใช่เพราะการย้อนกลับของทุน ดังที่นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส คือ โทมัส ปิเกตตี ได้เสนอไว้ แต่เป็นการมีช่องทางไปสู่ระบบทางการเมืองที่เหนือกว่า และคนเหล่านั้นสามารถใช้เส้นสายในการเพิ่มผลประโยชน์ของตนไปเรื่อยๆ

และสำหรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มันได้กระจายผลประโยชน์เพียงประเดี๋ยวประด๋าว นวตกรรม เช่น เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารได้แผ่อิทธิพลไป เพราะมันทำให้ข้อมูลข่าวสารนั้นราคาถูกและเข้าถึงได้ง่าย แต่มันยังได้บ่อนทำลายงานที่อาศัยทักษะต่ำ และคุกคามการดำรงอยู่ของชนชั้นกลางที่เป็นฐานขนาดใหญ่

คนที่อยู่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอันมั่นคงไม่ควรพึงพอใจถึงการอยู่รอดของมัน แต่ถึงแม้กระแสการเมืองโลกจะทั้งขึ้นและลงในระยะเวลาอันสั้น พลังของอุดมการณ์ประชาธิปไตยยังคงดำรงอยู่อย่างเหลือล้น เราสามารถเห็นมันได้จากการประท้วงของมวลชน ซึ่งยังเกิดขึ้นอย่างไม่ได้คาดคิดจากกรุงเคียฟถึงกรุงอิสตันบูล ซึ่งคนธรรมดาต้องการรัฐบาลที่ตระหนักถึงเกียรติอันเท่าเทียมของพวกเขาในฐานะเป็นมนุษย์ เรายังเห็นมันในหมู่คนจนนับล้านๆ ซึ่งดิ้นรนที่จะย้ายถิ่นในแต่ละปีจากนครกัวเตมาลา หรือกรุงการาจี ไปยังนครลอส แองเจลลิส หรือกรุงลอนดอน

แม้ขณะที่เราตั้งคำถามว่า ทุกคนจะถึงที่นั่นเมื่อใด เราควรปราศจากความสงสัยว่า สังคมที่ตรงจุดจบของประวัติศาสตร์นั้นเป็นชนิดใด

 

เชิงอรรถโดยผู้แปล

(1) คำสาปทรัพยากร หรือ resource curse หมายถึง การที่ประเทศซึ่งร่ำรวยด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ แต่ประชาชนยากจน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแย่กว่าประเทศซึ่งมีทรัพยากรน้อยกว่า ด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น การพึ่งพิงทรัพยากรเพียงประการเดียวมากเกินไป และการโยงกับตลาดโลกจนเกินไป ทำให้เศรษฐกิจปราศจากเสถียรภาพ  ที่สำคัญเพราะรัฐบาลนั้นเต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง ขาดการจัดการที่ดี หรือประเทศเกิดสงครามกลางเมือง ดังเช่นในแอฟริกา

(2) วีโตเครซี หรือ Vetocracy หมายถึง การปกครองที่ไม่มีองค์กรไหนของรัฐบาลมีอำนาจเพียงพอในการตัดสินและรับผิดชอบต่อภาระได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ฟรานซิส ฟูกูยามา (1952-?) เป็นนักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงมากในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 จากเรียงความอันลือเลื่องของเขาคือ The End of History?  ในปี 1989 ซึ่งเป็นช่วงแห่งการล่มสลายของประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ก่อนจะขยายเป็นหนังสือที่ชื่อ The End of History and the Last Man ในปี 1992  แนวคิดสำคัญของฟูกูยามา คือ การทำนายการเมืองโลกภายหลังการล่มสลายของค่ายคอมมิวนิสต์ว่า ประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตะวันตกจะเป็นรูปแบบการปกครองสุดท้ายของโลก เช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ แทนที่จะเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ตามคำทำนายของคาร์ล มาร์กซ์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net