ประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์ (21): กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของอเมริกาและการคุ้มครองงานที่ 'ลอก' เขามา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในตอนประกาศอิสรภาพเมื่อปี 1776 สหรัฐอเมริกาเป็นเพียงดินแดนขอบชายฝั่งทะเลตะวันออกของสหรัฐอเมริกาทุกวันนี้เท่านั้น ตอนนั้นสหรัฐประกอบไปด้วยรัฐ 13 รัฐเท่านั้น มันเป็นเพียงอาณานิคมเล็กๆ ของอังกฤษที่ “แข็งเมือง” สำเร็จซึ่งในตอนแรกก็ไม่ได้มีประชากรและอำนาจมากมายอะไร อย่างไรก็ดีทั้งการซื้อดินแดนเพิ่มและการทำสงครามขยายดินแดนครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 ก็ส่งผลให้ “สหรัฐ” อเมริกาผนวกดินแดนหรือ “รัฐ” ใหม่ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศและขยายมาถึงอีกฝั่งของทวีป ซึ่งท้ายที่สุดดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ก็ได้เปลี่ยนโฉมหน้าจากประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรไม่เท่าไรมาเริ่มส่อแววจะเป็นมหาอำนาจของโลกในที่สุดหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 19

กฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกาก็ได้ขยายตัวไปพร้อมดินแดนด้วย และหลังจากสหรัฐอเมริกาได้กลายมาเป็นประเทศมหาอำนาจด้านศิลปวัฒนธรรมในช่วงศตวรรษที่ 20 สหรัฐฯ ก็พยายามจะขยายกฎหมายลิขสิทธิ์ในแบบของตนจนกลายมาเป็นมาตรฐานของกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศต่างๆ ในโลกผ่านเหล่าองค์กรทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งนั่นก็เป็นการเดินทางอันยาวใกลทีเดียวจากประเทศที่เริ่มสร้างชาติด้วยการมีนโยบายลิขสิทธิ์แบบ “ชาตินิยม” ซึ่งนั่นหมายถึงการยืนยันที่จะ “ละเมิดลิขสิทธิ์” ประเทศอื่นๆ ในนามผลประโยชน์ของชาติและต่อต้านการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนลิขสิทธิ์โลกอย่างแข็งขัน

แรกเริ่มเดิมทีในช่วงอาณานิคม อเมริกาก็ไม่ได้ต่างจากอาณานิคมอังกฤษอื่นๆ ที่รัฐบาลอาณานิคมมีสิทธิในการออกอภิสิทธิ์ทางการค้า หลังจากแท่นพิมพ์ไปถึงอเมริกาเป็นครั้งแรกในปี 1638 [1] การพิมพ์ก็เริ่มขึ้นในอาณานิคมแห่งนี้และก็มีผู้ขออภิสิทธิ์หนังสือบ้างประปราย นั่นหมายความว่าคนที่เขียนหนังสือในอเมริกาหากอยากได้ “อภิสิทธิ์” ในการผูกขาดการพิมพ์หนังสือที่เขาเขียนก็ต้องยื่นคำร้องขอ “อภิสิทธิ์” กับทางรัฐบาลอาณานิคม ซึ่งถ้ารัฐบาลอนุมัติก็จะออกอภิสิทธิ์ให้ผูกขาดในระยะเวลาที่กำหนด กลไกนี้เป็นกลไกมาตรฐานในการขออภิสิทธิ์ผูกขาดทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่แค่หนังสือแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้อำนาจในการออกอภิสิทธิ์ในอาณานิคมของทางฝ่ายปกครองนี้ก็ไม่ได้ต่างจากอำนาจในการออกอภิสิทธิ์ของกษัตริย์ เจ้าเมือง หรือสภาเมืองที่พบได้ทั่วไปในยุโรปช่วงสมัยใหม่ตอนต้น

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องเข้าใจด้วยคือ ในอาณานิคมอังกฤษที่อเมริกาประชากรมีน้อยมาก ความหนาแน่นของประชากรทั้งอาณานิคมน่าจะน้อยกว่าพวกเมืองเล็กๆ ในยุโรปช่วงเดียวกันด้วยซ้ำ ดังนั้นพวกสมาคมช่างต่างๆ ก็จึงไม่มี ซึ่งนี่รวมถึงไม่มีสมาคมผู้ผลิตหนังสือแบบอังกฤษด้วย ดังนั้นการพิมพ์อะไรต่างๆ จึงไม่ต้องมีระเบียบตามจารีตของสมาคมช่างอย่างมากมายแบบอังกฤษ แต่นี่ก็ไม่ได้หมายถึงว่าคนจะพิมพ์อะไรก็ได้ เพราะในช่วงศตวรรษที่ 17 การควบคุมสิ่งพิมพ์ทางศาสนาก็เป็นไปอย่างหนักเช่นกัน ซึ่งก็ไม่ได้แปลกอะไรเพราะดินแดนของเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษก็ระส่ำระสายทางการเมืองจนปฏิวัติไปสองรอบบนฐานของความขัดแย้งที่มีศาสนาเป็นแกนกลางภายในศตวรรษๆ เดียวนั้น นี่ทำให้อเมริกามีการใช้ระบบ “ใบอนุญาต” (license) การพิมพ์ ที่ก่อนที่ผู้ใดจะพิมพ์อะไรต้องขออนุญาตก่อน อย่างไรก็ดีนี่ก็เป็นแค่กฎเกณฑ์ลายลักษณ์อักษรเท่านั้นเพราะรัฐบาลอาณานิคมก็ไม่ได้มีความสามารถในการตรวจตราสิ่งพิมพ์ขนาดนั้น [2]

พอในศตวรรษที่ 18 อังกฤษก็ได้ออกกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลกอย่าง Statute of Anne มาในปี 1710 อย่างไรก็ดีกฎหมายนี้ก็ไม่ได้บังคับใช้กับในอาณานิคม ดังนั้นงานเขียนในอาณานิคมทั้งหมดจึงไม่อาจมีลิขสิทธิ์ได้ และระบบการผูกขาดการพิมพ์ก็ยังคงอยู่ในกลไกการออกอภิสิทธิ์และออก “ใบอนุญาต” ของหน่วยปกครองอาณานิคมแบบเดิมอยู่ ก่อนที่ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติอเมริกาเสร็จสดๆ ร้อนๆ ในปี 1783

ภายหลังปฏิวัติเสร็จอเมริกากลายเป็น “สหรัฐ” ซึ่งก็หมายความถึงการที่รัฐต่างๆ มีรัฐบาลของตนเอง ซึ่งในช่วงปฏิวัติเสร็จหมาดๆ ฝ่ายปกครองของแต่ละรัฐก็ยังตกลงกันว่ารูปร่างหน้าตาของรัฐบาลกลางควรจะเป็นอย่างไรไม่ได้ และในช่วงแห่งความไม่ชัดเจนนี้เองที่กฏหมายลิขสิทธิ์แรกในสหรัฐอเมริกาเกิดที่รัฐคอนเนตทิคัต และต้นกำเนิดของกฏหมายลิขสิทธิ์นี้ก็คือการร้องขออภิสิทธิ์งานเขียนกับทางรัฐคอนเนตทิคัตในปี 1783 ของชายนามว่า John Ledyard

Ledyard เป็นชาวคอนเนตทิคัตโดยกำเนิดที่เกิดมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม เขามีชีวิตที่ค่อนข้างจะผาดโผนในหลายมิติ แต่ที่น่าจะกล่าวถึงในที่นี้คือตระกูลของเขาเป็นทหารเรือ เมื่อโตขึ้นก็ได้กลายเป็นทหารเรือของอังกฤษ และเป็นลูกเรือของกัปตัน Cook ผู้โด่งดังในการเดินเรือครั้งที่สามที่ไปพบหมู่เกาะฮาวาย [3] และครั้งสุดท้าย หลังจากกัปตัน Cook ตาย เขาก็กลับไปอังกฤษแต่สงครามระหว่างอังกฤษกับอาณานิคมอเมริกาก็ปะทุขึ้นพอดี เขาเลยถูกส่งกลับมาแคนาดาเพื่อรบกับอเมริกา อย่างไรก็ดีเขาก็หนีสงครามไปเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์เดินเรือกับกัปตัน Cook และสุดท้ายเมื่อสงครามสงบ เขาก็กลับไปบ้านเกิดและพยายามตีพิมพ์หนังสือของเขาในชื่อ Journal of Captain Cook’s Last Voyage

ในปี 1783 เขาได้ยื่นชื่อร้องขอกับรัฐบาลคอนเนตทิคัต เพื่อให้ออกอภิสิทธิ์หนังสือ Journal of Captain Cook’s Last Voyage ของเขาซึ่งในยุคนั้นก็ไม่ใช่เป็นเรื่องปกตินักเพราะการออกอภิสิทธิ์โดยทั่วไปจะออกให้สำนักพิมพ์ไม่ใช่ตัวนักเขียน (แม้ก็มีคนเคยขอมาก่อนเขาก็ตาม) ในคำร้องขออภิสิทธิ์ของ Ledyard เขาไม่ได้มีท่าทีใดๆ ว่าเขาเป็นเจ้าของงานเขียนเลย คำร้องมันเป็นเหมือนการร้องขอ "การอุปภัมภ์" ของรัฐให้ทำการให้อภิสิทธิ์การผูกขาดงานเขา เนื่องจากการเขียนของเขาเป็น "บริการสาธารณะ" กล่าวอีกแบบคือเขาไม่ได้อ้างความเป็นประพันธกรเหนืองานเขียนชิ้นนี้เลย

น่าสนใจว่าแทนที่รัฐบาลคอนเนตทิคัต จะออกอภิสิทธิ์ให้ Ledyard ตามขนบที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม ทางสภากลับออกกฎหมายลิขสิทธิ์ (แน่นอนว่ามีผลบังคับใช้แค่ในระดับรัฐเท่านั้น) มาแทนเพื่อจะเอื้อประโยชน์ให้คนอื่นๆ ที่จะยื่นขออภิสิทธิ์แบบ Ledyard จะได้ไม่ต้องมาส่งคำร้องให้รัฐบาลออกอภิสิทธิ์เฉพาะกิจกันอีก แต่ให้ยื่น “จดลิขสิทธิ์” แทนเลย และนี่ทำให้ Journal of Captain Cook’s Last Voyage กลายมาเป็นงานเขียนชิ้นแรกในอเมริกาที่มีลิขสิทธิ์คุ้มครอง

สิ่งที่ตลกคืองาน Journal of Captain Cook’s Last Voyage อันเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ชิ้นแรกในแผ่นดินอเมริกานี้ก็เต็มไปด้วยการ “ลอก” เนื้อหาจากงานมาดื้อๆ และการตัดแปะนี่เป็นการกระทำที่ตัว Ledyard เองและคนในยุคนั้นก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหาใดๆ เพราะอย่างน้อยๆ อาการ “บ้า” สิ่งที่ทุกวันนี้เรียกว่า “ความเป็นต้นฉบับ” (originality) ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายก่อนศตวรรษที่ 19 กล่าวคืองานชิ้นแรกในแผ่นดินอเมริกาอเมริกาที่มีลิขสิทธิ์กำกับก็เป็นงานที่เนื้อหาลอกคนอื่นมาเต็มไปหมดและนี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดบาปอะไรด้วยในบริบทดังกล่าว

 

อ้างอิง

[1]  ผู้ที่นำแท่นพิมพ์มาอเมริกาคือพระพิวริทันนาม สาธุคุณ Jose Glover ซึ่งที่ย้ายมาลงหลักปักฐานที่อเมริกาก็เพราะ “ศาสนาจักรอังกฤษ” เริ่มคุมความเชื่อทางศาสนาอย่างเข้มงวดขึ้น แต่ก็เปิดทางให้ผู้ที่มีความเชื่อต่างได้มาตั้งรกรากที่ “โลกใหม่” เช่นกัน ดู Oren Bracha, “Early American Printing Privileges. The Ambivalent Origins of Authors’ Copyright in America” in Privilege and Property: Essays on the History of Copyright, Ronan Deazley, Martin Kretsmer and Lionel Bently (eds.), (Cambridge: OpenBook Publishers, 2010), p. 91; Francis J. Bremer, Puritanism: A Very Short Introduction, (Oxford: Oxford University Press, 2009)

[2]  Oren Bracha, “Early American Printing Privileges. The Ambivalent Origins of Authors’ Copyright in America” in Privilege and Property: Essays on the History of Copyright, Ronan Deazley, Martin Kretsmer and Lionel Bently (eds.), (Cambridge: OpenBook Publishers, 2010), p. 93

[3]  ตอนนั้นกัปตัน Cook ตั้งชื่อว่า “หมู่เกาะแซนด์วิช” ตามชื่อผู้บัญชาการกองทัพเรืออังกฤษในตอนนั้นซึ่งก็คือ John Montagu ผู้มีบรรดาศักดิ์คือเอิร์ลที่ 4 แห่งแซนด์วิช ซึ่งเอิร์ลผู้นี้คนรุ่นหลังมักจะรู้จักกันในนามผู้ “ริเริ่ม” อาหารที่ทำจากขนมปังประกบเนื้อสัตว์ที่คนรุ่นหลังรู้จักนามว่า “แซนด์วิช”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท