Skip to main content
sharethis



10 ก.ย.2557  พันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong Coalition) ได้ส่งจดหมายถึงสมเด็จ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา นายทองสิง ทำมะวง นายกฯ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) นายเหวียน เติ๋น ยวุ๋ง นายกฯ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอช นายกฯ ไทย เรื่องข้อกังวลว่าด้วยกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง ในพื้นที่ของ สปป.ลาว หวั่นผลกระทบมากมาย เรียกร้องให้ผู้นำประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหลายยุติกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนดอนสะโฮงโดยทันที และจัดให้มีเวลามากขึ้นในการศึกษาผลกระทบจากเขื่อนบนแม่น้ำสายหลักอย่างสมบูรณ์

นอกจากนี้ยังเรียกร้องด้วยว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและรัฐสมาชิกจะต้องยอมรับว่า กระบวนการปรึกษาหารือแบบใดก็ตามที่ชุมชนและสาธารณชนลุ่มแม่น้ำโขงมีส่วนร่วมควรจะรวมเอาหลักเกณฑ์ต่อไปนี้เอาไว้ด้วย กล่าวคือ การปรึกษาหารือจะต้องเกิดขึ้นก่อนจะมีการตัดสินใจดำเนินโครงการ จะต้องไม่มีการก่อสร้างเกิดขึ้นและต้องไม่มีลงนามในข้อตกลงใด ๆ ระหว่างที่กระบวนการปรึกษาหารือยังไม่แล้วเสร็จ รัฐสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงต้องแสดงอย่างชัดเจนถึงความมุ่งมั่นของตนแต่ตั้งเริ่มกระบวนการ ในอันที่จะรับรองข้อตกลงระหว่างสี่ประเทศในการดำเนินการใด ๆ ให้เป็นไปตามการปรึกษาหารืออย่างมีส่วนร่วม และจะต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ รวมถึงการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน และแบบล่าสุดของโครงการ จะต้องมีการเผยแพร่ออกมาก่อนจะมีการปรึกษาหารือ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องเป็นภาษาของทุกประเทศริมฝั่งแม่น้ำ และเครื่องมือทั้งหมดที่ใช้ต้องถูกตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่ามีความเป็นกลาง คำตอบและข้อกังวลของชุมชนและสาธารณชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ต้องถูกยกขึ้นกล่าวถึงอย่างโปร่งใสและมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าความคิดเห็นเหล่านี้จะส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจในท้ายที่สุดอย่างไร เป็นต้น

รายละเอียดของจดหมายมีดังนี้

 

เรื่อง: ข้อกังวลว่าด้วยกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง

 กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

 เรา พันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong Coalition) ประสงค์จะแสดงความกังวลของเราต่อกระบวนการตัดสินใจว่าด้วยเรื่องเขื่อนดอนสะโฮงทางตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ข้อกังวลหลักของเราเกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่ในขณะนี้รัฐบาลสปป.ลาว เสนอให้นำโครงการเขื่อนดอนสะโฮงเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement: PNPCA) โดยเรามีความกังวลว่า กระบวนการ PNPCA ของโครงการเขื่อนดอนสะโฮงจะไม่สามารถดำเนินการให้เป็นกระบวนการปรึกษาหารืออย่างถูกต้องและมีส่วนร่วมได้จริง อีกทั้งโครงการนี้ ยังถูกกำหนดให้ดำเนินรอยตามเส้นทางอันตรายเฉกเช่นเดียวกับโครงการเขื่อนไซยะบุรี อันจะนำมาซึ่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงทั้งต่อแม่น้ำโขงและประชาชนริมฝั่งแม่น้ำ

การศึกษามากมายชี้ว่า หากมีการสร้างเขื่องดอนสะโฮง ผลกระทบอย่างรุนแรงจะเกิดขึ้นต่อพันธุ์ปลาและการอพยพของปลาแม่น้ำโขงตลอดทั้งลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง สิ่งนี้จะคุกคามความมั่นคงทางอาหารและวิถีชีวิตของประชาชนหลายล้านคน รวมไปถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองของภูมิภาคจากความตึงเครียดที่จะเพิ่มขึ้นระหว่างรัฐบาลเนื่องจากความล้มเหลวของความร่วมมือระดับภูมิภาค อย่างไรก็ตาม สปป. ลาวยังคงยืนยันที่จะดำเนินการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงต่อไป แม้จะมีการเสนอให้โครงการนี้เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าสปป. ลาวตั้งใจที่จะดำเนินการพัฒนาโครงการต่อไป1>รายงานข่าวล่าสุดเกี่ยวกับความคืบหน้าของการก่อสร้างที่บริเวณหัวงานเขื่อน ปรากฏออกมาในทิศทางที่สอดคล้องกับข้อกังวลที่กล่าวมา โดยในขณะที่รัฐบาลลาวอ้างว่ามีการระงับการก่อสร้างไว้ก่อน บริษัทเมเกะเฟิร์สท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้รับผิดชอบในการพัฒนาโครงการยังคงยืนยันว่าการก่อสร้างจะดำเนินต่อไป2> การเสนอให้โครงการเขื่อนดอนสะโฮงเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้านั้น จะต้องไม่ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นหนทางในการรับรองการกระทำของสปป. ลาวว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 แต่จะต้องเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงในการตัดสินใจเชิงนโยบายระดับภูมิภาคอย่างสุจริต ตามเจตนารมณ์ของข้อตกลงแม่น้ำโขง

จนถึงขณะนี้ เป็นที่รับรู้กันทั่วไปแล้วว่ากระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนไซยะบุรีนั้นล้มเหลว เนื่องจากเป็นการปรึกษาหารือที่จำกัดทั้งจำนวนผู้เข้าร่วมและพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่รับฟังความคิดเห็นที่มีนัยยะสำคัญ อันรวมไปถึงเสียงจากชุมชนท้องถิ่นในประเทศกัมพูชา สปป. ลาว ไทย และเวียดนามด้วย ในขณะที่หลายกลุ่มในประเทศเวียดนามและกัมพูชาได้ออกมาแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับกระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วมดังกล่าว ชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบในประเทศไทยยืนยันหนักแน่นว่าไม่เคยมีการ “ปรึกษาหารือ” ในการประชุมครั้งใดที่จัดขึ้นในประเทศไทย และได้รับเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ชาวบ้านเชื่อว่ากระบวนการ PNPCA ไม่มีความชอบธรรมและจะยังคงยืนยันว่า “ไม่เอา” เขื่อนไซยะบุรีต่อไป

ชาวบ้านที่เข้าร่วมการปรึกษาหารือรายงานว่า แทบจะไม่ได้รับข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับรายละเอียดและผลกระทบของโครงการเลย การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับล่าสุดไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่มีการจัดทำการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน และการออกแบบเขื่อนก็ยังไม่สมบูรณ์ ความชอบธรรมของกระบวนการทั้งหมดถูกทำลายลงเมื่อรัฐบาลลาวและไทยตัดสินใจที่จะเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี แม้จะปราศจากข้อสรุปเกี่ยวกับกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ไม่มีคำตอบใด ๆ ต่อข้อกังวลของประเทศกัมพูชาและเวียดนาม รวมถึงไม่มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างสี่รัฐบาลในการดำเนินโครงการดังกล่าว

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2557 ศาลปกครองสูงสุดประเทศไทยแถลงรับคำร้องของชาวบ้านจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี พร้อมทั้งกล่าวถึงความเป็นไปได้ของผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจเกิดจากเขื่อนไซยะบุรี และเรียกร้องให้ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมเพิ่มเติมในประเทศไทย3> ข้อเสนอแนะจากทั้งประเทศกัมพูชาและเวียดนามคือต้องการให้ชะลอการตัดสินใจใด ๆ ว่าด้วยเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่างจนกว่าจะมีการศึกษาที่สมบูรณ์ของคณะมนตรีของกรรมาธิการแม่น้ำโขง และมีการศึกษาในประเด็นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ในการประชุมสุดยอดผู้นำแม่น้ำโขงเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประเทศเวียดนามได้เน้นย้ำอีกครั้ง ถึงข้อเสนอแนะที่ระบุไว้ในการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเมื่อปี 2553 ที่เสนอให้มีการเลื่อนการก่อสร้างเขื่อนทั้งหมดบนแม่น้ำโขงสายหลักออกไป 10 ปี ข้อเสนอแนะดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การตัดสินใจเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักในอนาคตจะต้องอยู่บนพื้นฐานการศึกษาที่ครอบคลุมและมีความเข้าใจเรื่องผลกระทบที่จะเกิดกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด

แหล่งทุนต่าง ๆ ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงก็ได้ออกมาแสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความชอบธรรมของกระบวนการ PNPCA เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลออสเตรเลียที่ให้ทุนสนับสนุนการทำกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการไซยะบุรี พร้อมทั้งการทบทวนกระบวนการดังกล่าว รวมถึงรัฐบาลเดนมาร์กด้วย เมื่อรับทราบถึงความบกพร่องของกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของเขื่อนไซยะบุรี สำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเองก็ได้พยายามทบทวนกระบวนการ PNPCA ในอันที่จะ “พิจารณาขยายระยะเวลาการปรึกษาหารือล่วงหน้า 6 เดือน กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นภายหลังกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า และนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกันว่าด้วยการตีความกระบวนการ PNPCA ภายใต้บริบทของข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538”4>

 แม้จะมีการเสนอให้ทบทวนมากว่าหนึ่งปี ประเด็นดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ยิ่งไปกว่านั้น กรณีของเขื่อนดอนสะโฮง ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามสำคัญต่ออนาคตของแม่น้ำโขงก็ยังถูกเสนอให้เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้านี้ และมีแนวโน้มที่จะซ้ำรอยกระบวนการตัดสินใจที่ล้มเหลวของเขื่อนไซยะบุรี

ด้วยเหตุนี้ เราขอเรียกร้องให้ผู้นำประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหลายยุติกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของโครงการเขื่อนดอนสะโฮงโดยทันที และแสดงให้เห็นถึงข้อบกพร่องของกระบวนการ PNPCA อันเป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมและการปรึกษาหารือ รวมถึงข้อตกลงของบรรดาชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และจัดให้มีเวลามากขึ้นในการศึกษาผลกระทบจากเขื่อนบนแม่น้ำสายหลักอย่างสมบูรณ์

เสียงของชุมชนจะต้องมาก่อน ในทุก ๆ ขั้นตอนกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง เนื่องจากจุดมุ่งของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง มิได้เป็นเพื่อชุมชนท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำโขง จึงจำเป็นต้องมีความชัดเจนว่า ชุมชนซึ่งได้รับผลกระทบจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงจะมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในกระบวนการตัดสินใจได้อย่างไร และการมีส่วนร่วมดังกล่าวของพวกเขาจะส่งผลอย่างไรต่อการตัดสินใจว่าโครงการจะดำเนินต่อไปได้หรือไม่ สิทธิของชุมชนในการที่จะปฏิเสธโครงการจะต้องได้รับการยอมรั

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและรัฐสมาชิกจะต้องยอมรับว่า กระบวนการปรึกษาหารือแบบใดก็ตามที่ชุมชนและสาธารณชนลุ่มแม่น้ำโขงมีส่วนร่วมควรจะรวมเอาหลักเกณฑ์ต่อไปนี้เอาไว้ด้วย กล่าวคือ

การปรึกษาหารือจะต้องเกิดขึ้นก่อนจะมีการตัดสินใจดำเนินโครงการ จะต้องไม่มีการก่อสร้างเกิดขึ้นและต้องไม่มีลงนามในข้อตกลงใด ๆ ระหว่างที่กระบวนการปรึกษาหารือยังไม่แล้วเสร็จ

หลักเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับการตัดสินใจเกี่ยวกับการออกแบบ ขอบเขต และขนาดของโครงการ รวมถึงการตั้งอยู่ของโครงการในระบบนิเวศที่เป็นอยู่ ต้องถูกจัดทำขึ้น และเผยแพร่ต่อสาธารณะก่อนกระบวนการปรึกษาหารือ หลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ควรได้รับการปรับปรุงให้เท่าทันเหตุการณ์ อิงตามข้อมูลที่ได้รับระหว่างทำการปรึกษาหารือ

รัฐสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงต้องแสดงอย่างชัดเจนถึงความมุ่งมั่นของตนแต่ตั้งเริ่มกระบวนการ ในอันที่จะรับรองข้อตกลงระหว่างสี่ประเทศในการดำเนินการใด ๆ ให้เป็นไปตามการปรึกษาหารืออย่างมีส่วนร่วม

ข้อมูลที่เพียงพอ รวมถึงการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน และแบบล่าสุดของโครงการ จะต้องมีการเผยแพร่ออกมาก่อนจะมีการปรึกษาหารือ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องเป็นภาษาของทุกประเทศริมฝั่งแม่น้ำ และเครื่องมือทั้งหมดที่ใช้ต้องถูกตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่ามีความเป็นกลาง

เป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติที่จะรับประกันความเหมาะสมของตัวแทนชุมชนในการเข้าร่วมปรึกษาหารือ ทุกชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงต้องได้รับเชิญให้มีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือ ต้องมีการจัดหาทรัพยากรให้อย่างเพียงพอโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง รัฐสมาชิก และ/หรือหุ้นส่วนในการพัฒนา เพื่อช่วยให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของชุมชนต่าง ๆ และสาธารณชนริมฝั่งแม่น้ำโขง

คำตอบและข้อกังวลของชุมชนและสาธารณชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ต้องถูกยกขึ้นกล่าวถึงอย่างโปร่งใสและมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าความคิดเห็นเหล่านี้จะส่งผลต่อกระบวนการตัดสินใจในท้ายที่สุดอย่างไร

ขั้นตอนและมาตรฐานในการปรึกษาหารือจะต้องเหมือนกันทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อรับประกันว่าข้อกังวลของทุกประเทศได้รับกล่าวถึง บันทึก และพิจารณาอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งอาจทำได้โดยให้มีบุคคลที่สามเป็นผู้กำกับดูแลและตรวจสอบขั้นตอนนี้

เรา พันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง เชื่อว่าแม่น้ำโขงที่อุดมสมบูรณ์มีความสำคัญต่อความเจริญรุ่งเรืองและความยั่งยืนของภูมิภาค เราขอเรียกร้องให้ผู้นำประเทศพิจารณาอย่างเร่งด่วนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว และจะเกิดขึ้นในอนาคตจากเขื่อนบนแม่น้ำโขง และให้ความสำคัญ รวมถึงปกป้องสิทธิในการปรึกษาหารือและมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายของชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงว่าด้วยเรื่องเขื่อนบนแม่น้ำโขง

ขอแสดงความนับถือ

Both ENDS, The Netherlands

Burma Rivers Network, Burma

Child Development Center for Social and Environment in Mekong Basin, Thailand (ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำโขง)

Chuenchom Sangarasri Greacen, Palang Thai, Thailand

Community Economic Development, Cambodia

Community Resource Centre, Thailand (ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม)

Conservation and Recovery in Lampaning River Basin Group, Nong Bua Lamphu province, Thailand (กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู)

CRDT, Cambodia

CSRD, Vietnam

E-san Human Rights and Peace Information Centre, Thailand (ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมอีสาน)

Earth Rights International, USA

EcoSun Cambodia, Cambodia

Finnish Asiatic Society, Finland

Fisheries Action Coalition Tea, Cambodia

Focus on the Global South, Thailand

GreenID, Vietnam

Information Center for Social Justice, Thailand

International Rivers, USA

Living Siam River, Thailand

Mekong Conservation Group, Pak Cham, Loei, Thailand (กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย)

Mekong Monitor Tasmania, Australia

Mekong People Council Network, Thailand

Mekong Watch, Japan

Mekong-Lanna Culture and Natural Resources Conservation Group, Chiang Rai, Thailand

My Village, Cambodia

Network of Thai People in Eight Mekong Provinces, Thailand

NGO Forum, Cambodia

NGOs Coordinating Committee, Northeastern Region, Thailand [คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน(กป.อพช.)]

Northeast of Environment and Natural Resource Network, Thailand (เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน)

Northeastern Rural Development, Cambodia

Northern River Basins Network, Thailand

PanNature, Vietnam

People Committee for Livelihood and Community Recovery, Pak Mun, Ubonrachthanee, Thailand [คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูน(ชชช.)]

Ponlok Khmer, Cambodia

Probe International, Canada

Rak Chaing Karn Group, Thailand (กลุ่มรักษ์เชียงคาน)  

Right Protection Center for Natural Resource Management in Lower-Chi River, Thailand

Tam People Association, Thailand (สมาคมคนทาม)

Tammun Project, Thailand (โครงการทามมูน)

Towards Ecological Recovery and Regional Alliance, Thailand

The Law and Policy of Sustainable Development Research Center, Vietnam

Udon Thani Environmental Conservation Group, Thailand (กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี)

Vietnam Rivers Network, Vietnam

WARECOD, Vietnam

World Rainforest Movement, Uruguay

สำเนาถึง:

คณะกรรมการร่วมและคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

แหล่งทุนของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

เลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

 ==========================

 

1> แถลงการณ์ของสปป. ลาว จากการประชุมครั้งที่ 20 ของสภาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

2> “เจ้าหน้าที่ลาวกับผู้พัฒนาโครงการกล่าวไม่ตรงกันว่าด้วยเรื่องความคืบหน้าของเขื่อน”, The Phnom Penh Post, 20 สิงหาคม 2557

3> “เขื่อนไซยะบุรีจะเป็นเขื่อนแรกในจำนวน 12 เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีแผนจะสร้างบนแม่น้ำโขงตอนล่าง เป็นที่ทราบกันดีว่าโครงการอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพและปริมาณน้ำ การไหลของน้ำ ความสมดุลทางธรรมชาติของลุ่มแม่น้ำโขง และผลกระทบข้ามพรมแดนอื่นๆ ต่อประเทศริมฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชุมชนท้องถิ่นใน 8 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขงในราชอาณาจักรไทย ซึ่งอาจต้องแบกรับผลกระทบอย่างกว้างขวางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย วิถีชีวิต หรือกระทบส่วนใด ๆ ของชุมชน” คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2557

4> การทบทวนความช่วยเหลือของประเทศเดนมาร์กต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง, 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net