ชายชุดดำในทัศนะของ ศปช.

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากกรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แถลงเมื่อวันที่ 10 ก.ย. ว่าสามารถจับกุม “ชายชุดดำ” จำนวน 5 คน และยังหลบหนีอีก 3 คน ที่ก่อเหตุในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 บริเวณถนนตะนาว สี่แยกคอกวัว และบริเวณใกล้เคียง โดยใช้อาวุธปืนและวัตถุระเบิดจนทำให้เจ้าหน้าที่ทหารและผู้ชุมนุมเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายรายนั้น ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) อันเป็นองค์กรที่ติดตามเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดตลอดมา เห็นควรเสนอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้ใช้ประกอบการพิจารณาดังกล่าว ดังต่อไปนี้ (ดูรายละเอียดในรายงาน ศปช. ได้ที่ https://mega.co.nz/#!Bw0xQZaS!_8rhzyvDie7i2-i-11WzBaAdxnqFWGViFkQYCIXY6zA (การอ้างอิงหน้าหลังจากนี้ จะยึดตามเอกสารที่ปรากฎในลิงค์นี้ ซึ่งอาจแตกต่างจากที่ปรากฏในหนังสือรายงานของ ศปช. ในกรณีหนังสือให้ดูบทที่ 3 “ข้อเท็จจริงการเสียชีวิตและความรุนแรง เมษา 53”)

 

1. ในรายงาน “ความจริงเพื่อความยุติธรรม” ที่จัดพิมพ์โดย ศปช. ในปี 2555 ศปช. ยอมรับว่ามีปฏิบัติการของชายชุดดำในคืนวันที่ 10 เมษาจริง แต่ไม่พบหลักฐานใดๆ ว่าชายชุดดำเกี่ยวข้องกับความตายและการบาดเจ็บของผู้ชุมนุมเสื้อแดงรวมทั้งสื่อมวลชนในวันดังกล่าว  หลักฐานภาพถ่าย คลิปวีดีโอ และคำให้การของผู้ที่อยู่ในที่เกิดเหตุยืนยันว่า ตรงบริเวณสี่แยกคอกวัวซึ่งชายชุดดำปรากฏตัวขึ้นนั้น ผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตทั้งหมด 9 รายถูกยิงก่อนที่ชายชุดดำจะปรากฏตัว หนึ่งในหลักฐานนั้นคือ ภาพถ่ายที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แสดงในสภาฯ ที่ระบุเวลาชัดเจนว่าชายชุดดำได้ปรากฏตัวขึ้นหลังเวลา 20.00 น.ไปแล้ว (หน้า 75-85) 

ภาพ 1 จากคลิปเหตุการณ์ ปรากฏ “ชายชุดดำ” เข้ามาที่บริเวณสีแยกคอกวัว เวลา 20.24 น.

ภาพ 2 รถตู้ที่เชื่อว่าขนชายชุดดำเข้าไปในบริเวณสี่กั๊กพระยาศรี ถ่ายได้ในเวลา 20.19 น.

ภาพ 3 รถตู้เดินทางออกจากทีเกิดเหตุ ถ่ายได้ในเวลา 21.01 น.

*ภาพ 2 และ 3 เป็นหลักฐานที่นายสุเทพ แสดงต่อสภาฯเมื่อวันที่ 15-18 เมษายน 2553

 

2. นอกจากนี้ จากหลักฐานต่างๆ ยืนยันได้ว่า มีผู้ชุมนุมหลายรายถูกยิงด้วยกระสุนจริงตั้งแต่ช่วงบ่ายที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ และมีหนึ่งรายเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีชายชุดดำปรากฏตัวขึ้น  เหยื่อรายดังกล่าว คือนายเกรียงไกร คำน้อย อายุ 23 ปี อาชีพคนขับรถตุ๊กตุ๊ก ซึ่งจากการไต่สวนการตาย ศาลอาญาได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2557 ว่าวิถีกระสุนมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้ปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” เริ่มจากทางด้านแยกสวนมิสกวัน มุ่งหน้ามายังสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยผู้เชี่ยวชาญอาวุธปืนยืนยันว่าอาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้ในวันเกิดเหตุเป็นอาวุธปืนทาร์โวที่มีใช้เฉพาะในกองทัพ สอดคล้องกับบาดแผลผู้ตายที่ถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงตามรายงานชันสูตรศพ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1404461395>

ภาพ 4 แสงสว่างในรูปชี้ว่านายเกรียงไกร คำน้อย ถูกยิงตั้งแต่ช่วงกลางวันบริเวณสะพานมัฆวาน

เมื่อเข้าสู่ช่วงพลบค่ำ ซึ่งยากต่อการควบคุมสถานการณ์ แต่ฝ่ายรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็ยังไม่ยอมยุติปฏิบัติการสลายการชุมนุม การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและผู้ชุมนุมรุนแรงได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะบนถนนตะนาว สี่แยกคอกวัว โดยตั้งแต่เวลาประมาณ 17.30 ก็เริ่มมีผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บจากแก๊สน้ำตาและกระสุนปืนทยอยถูกส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาล  อย่างไรก็ตาม ชายชุดดำน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารบริเวณถนนตะนาวเสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

เหตุการณ์ในคืนวันที่ 10 เมษา บนถนนดินสอ หน้า รร.สตรีวิทยา อันเป็นที่ตั้งของหน่วยบัญชาการทหาร ได้ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตอีก 4 นาย รวมถึงพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม   รายงานคอป. (หน้า 105) กล่าวถึงกรณีความรุนแรงบนถนนดินสอว่า ผลการชันสูตรศพพบว่า 3 คน รวมทั้งพลเอกร่มเกล้า เสียชีวิตจาก “สะเก็ดระเบิดขว้างชนิดเอ็ม 67” ส่วนอีก 1 คนเชื่อว่าน่าจะเสียชีวิตจากสะเก็ดระเบิดเอ็ม 79  นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดจำนวนมาก รวมถึง พล.ต.วลิต โรจนภักดี ได้รับบาดเจ็บขาหักจากสะเก็ดระเบิดเอ็ม 67 ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากกระสุนปืน รวมทั้งไม่ปรากฏหลักฐานว่า พลเอกร่มเกล้า มีบาดแผลที่เกิดจากกระสุนปืนแต่อย่างใด

คำถามคือ หากชายชุดดำเคลื่อนตัวจากถนนตะนาวเข้าสู่ถนนดินสอ ก็น่าจะปรากฎหลักฐานภาพถ่ายให้ประจักษ์อยู่บ้าง เพราะในขณะนั้นมีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและเทศอยู่เต็มไปหมด ประการสำคัญ กลุ่มชายชุดดำจะสามารถฝ่าวงล้อมทหารจำนวนมากที่ตั้งอยู่บนถนนดินสอ เพื่อขว้างระเบิดเข้าสู่หน่วยบัญชาการทหารที่หน้ารร.สตรีวิทยาได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ข่าวล่าสุดระบุว่า ผบ.สตช. พลเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ระบุว่ากลุ่มชายชุดดำที่จับได้นี้ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่ปฏิบัติการบนถนนดินสอ ซึ่งขัดแย้งกับข่าวพาดหัวที่ปรากฏในสื่อมวลชนส่วนใหญ่ว่า ชายชุดดำกลุ่มนี้สังหารพลเอกร่มเกล้า http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1410419979> ฉะนั้น การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหารบนถนนดินสอจึงยังคงเป็นปริศนาต่อไป

 

3. ที่บริเวณถนนดินสอหน้าโรงเรียนสตรีวิทยานั้น ผู้เสียชีวิตรายหนึ่งถูกยิงตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 น. และเมื่อเกิดเหตุระเบิดตรงหน้าหน้าโรงเรียน ซึ่งส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต ได้ปรากฏหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ถอยร่นไปทางสะพานเฉลิมวันชาติพร้อมกับยิงปืนในแนวราบไปทางฝั่งผู้ชุมนุม ระหว่างนั้นเองจึงมีผู้ถูกยิงเสียชีวิตอีก 8 ราย  ในจำนวนนี้รวมนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ช่างภาพรอยเตอร์ นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก (ดูรายงานของ ศปช. หน้า 90-102)  รายงานของ คอป. (หน้า 105) ก็สรุปทำนองเดียวกันว่า หลังจากถูกโจมตีด้วยระเบิด ทหารจึงต้องถอนกำลังและพาเจ้าหน้าที่ที่บาดเจ็บถอยไป จากการตรวจสอบจากภาพวีดิโอ และจากข้อมูลจากผู้ชุมนุม และผู้สื่อข่าวต่างประเทศ พบเจ้าหน้าที่ทหารบางคนบนถนนดินสอด้านสะพานวันชาติ ใช้ปืนยิงมาทางด้านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งมีผู้ชุมนุมอยู่หนาแน่น สอดคล้องกับผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุของกองพิสูจน์หลักฐานกลางและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่พบรอยกระสุนยิงมาในลักษณะดังกล่าวจำนวนมาก เฉพาะบนถนนดินสอมีทั้งหมด 120 รอย ยืนยันได้ว่าเป็นรอยจากกระสุนปืนความเร็วสูง 114 รอย โดย 42 รอยอยู่ในระดับต่ ากว่า 170 ซม. แต่ไม่พบร่องรอยกระสุนปืนที่ยิงไปในทิศทางสวนกันแต่อย่างใด  อย่างไรก็ดี คอป. แสดงความเห็นใจเจ้าหน้าที่ว่า ผลจากการถูกโจมตีจนผู้บังคับบัญชาบาดเจ็บและเสียชีวิต ส่งผลให้การปฏิบัติการและการใช้อาวุธของทหารเป็นไปอย่างสับสนและไร้การควบคุม

แม้แต่เจ้าหน้าที่จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กลุ่มงานตรวจอาวุธปืนและเครื่องกระสุน กองพิสูจน์หลักฐานกลาง) ยังได้ให้การในเดือนพฤศจิกายน 2556 ในชั้นไต่สวนการตายกรณีนายฮิโรยูกิ มูราโมโตว่า จากการตรวจหาวิถีกระสุนปืนบริเวณถนนดินสอ ตั้งแต่แยกสะพานวันชาติจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พบร่องรอยทั้งสิ้น 120 รอย ในจำนวนนี้ 114 รอยเกิดจากกระสุนปืน ที่ยืนยันได้ว่าวิถีกระสุนจำนวน 108 รอย ยิงมาจากแยกสะพานวันชาติ (แนวถอยร่นของทหาร) ไปยังอนุสาวรีย์ ส่วนอีก 6 รอยบอกทิศทางไม่ได้  นอกจากนี้ เฉพาะจุดเกิดเหตุบริเวณ รร. สตรีวิทยา อันเป็นที่ตั้งของหน่วยบัญชาการทหาร พบ 26 รอย บริเวณรั้ว ร.ร. มี 8 รอย รถยนต์ของทหารที่จอดอยู่ฝั่ง ร.ร. มี 17 รอย และที่ตู้โทรศัพท์ฝั่งตรงข้ามโรงเรียน 1 รอย ซึ่งทั้งหมดมีวิถีกระสุนมาจากแยกสะพานวันชาติอีกเช่นกัน www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE5Ea3lOelU1T1E9PQ%3D%3D>

 

นอกจากข้อมูลข้างต้นที่เสนอมาเพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชนได้ร่วมกันตรวจสอบแล้ว ศปช. ยังต้องการชี้ให้เห็นว่า

  1. กรณีชายชุดดำยังไม่สามารถลบล้างคำวินิจฉัยของศาลในการไต่สวนการตายหลายกรณี ที่ระบุว่ากระสุนที่คร่าชีวิตประชาชนมีวิถีมาจากฝั่งทหาร (ดูรายละเอียดในตารางที่แนบมาด้านท้าย)
  2. ตามหลักสากลได้กำหนดไว้ว่า การใช้กำลังและอาวุธของเจ้าหน้าที่รัฐต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสมกับความรุนแรงของสถานการณ์ และต้องเริ่มจากหนักไปหาเบา โดยใช้อาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต (non-lethal weapons) ในการควบคุมฝูงชนก่อน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และลดความสูญเสียและขาดเจ็บ การใช้อาวุธสังหารต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายและใช้ได้เพื่อป้องกันตนเองและปกป้องชีวิตผู้อื่นเท่านั้น แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่มีหลักฐานปรากฏเลยว่า ผู้เสียชีวิตรายใด ทั้งในเหตุการณ์ 10 เมษายน และระหว่างวันที่ 13 - 19 พฤษภาคม 2553 เข้าข่ายผู้ก่อการร้าย มีอาวุธร้ายแรง อีกทั้งลักษณะของการเสียชีวิตและบาดแผลของผู้เสียชีวิตฝ่ายพลเรือนพบว่า ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากกระสุนปืน โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งพบบาดแผลบริเวณช่วงบนของลำตัว อาทิ ใบหน้า ศีรษะ หน้าอก ท้อง ปอด และลำคอ ที่ส่อให้เห็นว่า การยิงของเจ้าหน้าที่เป็นการยิงที่มุ่งปลิดชีวิตของประชาชน มากไปกว่านั้นยังมีหลักฐานที่ชี้ว่า เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพได้ตกเป็นเป้ายิงของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาแสดงตนชัดเจนว่าไม่มีอาวุธและเป็นอาสาสมัครกู้ชีพ
  3. ประการสำคัญ สังคมต้องระวังที่จะไม่ตกลงไปในกับดักหลุมพรางของคำอธิบายที่ว่า “ชายชุดดำคือ สาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนทั้งหมดในคืนวันที่ 10 เมษา เพื่อโยนความผิดให้เจ้าหน้าที่ทหารเพื่อสร้างสถานการณ์” อันเป็นข้อกล่าวหาที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์-สุเทพ สร้างขึ้นทันทีหลังวันที่ 10 เมษา เพื่อปัดความรับผิดชอบของตน
  4. ประการสุดท้าย ฮิวแมนไรท์ว้อท์ช ได้ระบุว่ากรณีนายกิตติศักดิ์ สุ่มศรี หนึ่งในผู้ต้องหา 5 ราย ถูกเจ้าหน้าที่นำตัวออกจากบ้านและหายตัวไปหลายวัน ก่อนถูกนำตัวมาแถลงข่าว ศปช.เห็นว่าการจับกุมคุมขังประชาชนจะต้องเป็นไปกระบวนการยุติธรรมอันชอบด้วยกฏหมาย และผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย มีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือด้านกฏหมายอย่างเหมาะสม

 

ตารางแสดงคำวินิจฉัยของศาลในการไต่สวนการตายของพลเรือนระหว่างวันที่ 10 เม.ย.-19 พ.ค.2553

ชื่อ-นามสกุล สถานที่/เวลา สถานะคดี
1. นายพัน คำกอง ราชปรารภ / 15-05-2010 เวลา 00.05 น. ศาลออกคำสั่งแล้ว 17-09-2012 คำสั่งออกว่าเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามคำสั่ง
2. นายชาญณรงค์  พลศรีลา ราชปรารภ / 15-05-2010 เวลา 15.00 น. ศาลออกคำสั่งแล้ว 26-11-2012 คำสั่งออกว่าเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามคำสั่ง
3. นายชาติชาย ชาเหลา กฤษณามาร์เก็ตติ้ง พระราม 4 / 13-05-2010 ศาลออกคำสั่งแล้ว 17-12-2012 คำสั่งออกว่าเสียชีวิตโดยวิถีกระสุนมาจากแนวด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่บนถนนพระราม 4
4. ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ ราชปรารภ / 15-05-2010 เวลา 00.05 น. ศาลออกคำสั่งแล้ว 20-12-2012 คำสั่งออกว่าเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามคำสั่ง
5. 6 ศพ วัดปทุมฯ ได้แก่ นายรพ สุขสถิตย์, นายมงคล เข็มทอง, นายสุวัน ศรีรักษา, นายอัฐชัย ชุมจันทร์, น.ส.กมนเกด อัคฮาด, นายอัครเดช ขันแก้ว วัดปทุมฯ / 19-05-2010 คำสั่งออกวันที่ 06-08-2013 ศาลสั่งว่า ถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบ ร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหารและบริเวณถนนพระรามที่ 1
6. นายฟาบิโอ โปเลงกี ราชดำริ / 19-05-2010 ออกคำสั่งแล้ว 29-05-2013 คำสั่งออกว่าเสียชีวิตจากกระสุนที่มาจากฝั่งเจ้าหน้าที่แต่ไม่ทราบว่าใครทำให้ตาย
7. ร้อยตรีณรงค์ฤทธิ์ สาละ(อช.4/2555) ดอนเมือง / 28-04-2010 ออกคำสั่งแล้ว 30-04-2013 คำสั่งออกว่าเสียชีวิตจากกระสุนของเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่
8. นายนรินทร์ ศรีชมภู ถนนราชดำริ / 19-05-2010 เวลา 11.10 น. ออกคำสั่งแล้วเมื่อ 25-04-2014 กระสุนปืนมาจากทางด้านเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่แต่ไม่ทราบว่าใครยิง
9. นายถวิล คำมูล ถนนราชดำริ / 19-05-2010 เวลา 10.00 น. ออกคำสั่งแล้ว 29-11-2013 กระสุนปืนมาจากทางด้านเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่แต่ไม่ทราบว่าใครยิง
10. ชายไม่ทราบชื่อ กางเกงลายพราง(อช.5/2556) ถนนราชดำริ / 19-05-2010 เวลา 10.00 น. ออกคำสั่งแล้ว 17-02-2014 ถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูง ขณะเจ้าหน้าที่กำลังเคลื่อนกำลัง แต่ไม่ทราบว่าใครยิง
11. นายจรูญ ฉายแม้น, นายสยาม วัฒนนุกูล(ช. 13/2555) สตรีวิท ดินสอ / 10-04-2010 ออกคำสั่ง 30-09-2013 นายจรูญ ถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงที่ทรวงอก ทำลายปอดและตับ ส่วนนายสยาม ถูกยิงด้วยกระสุนปืนที่ด้านหลังทะลุทรวงอก ทำลายหลอดเลือดแดงใหญ่ช่องอก และเสียโลหิตมาก  ซึ่งวิถีกระสุนปืน ยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ไปที่บริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้แยกสะพานวันชาติ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ
12. นายเกรียงไกร คำน้อย มัฆวาน ถนนราชดำเนินนอก / 10-04-2010 บ่าย ออกคำสั่ง 04-07-2014 เสียเลือดมาก จากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งมีวิถีกระสุนมาจากเจ้าหน้าที่ทหารในการปฎิบัติหน้าที่ขอคืนพื้นที่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท