Skip to main content
sharethis
สนช.เตรียมรับลูกนายกรัฐมนตรี ผลักดันร่างกฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดก เชื่อคลอดออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้ในปีนี้ ยืนยันไม่แท้งใน สนช.
 
13 ก.ย. 2557 นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ร่างการจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดกยังไม่เข้าสภา ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่รัฐบาลดำเนินการศึกษารายละเอียด การจัดระเบียบและระบบของการจัดเก็บภาษีดังกล่าวร่วมกับกระทรวงการคลังในการยกร่างกฎหมาย เพื่อให้รัฐบาลนำเสนอมาสู่ สนช.ต่อไป โดย สนช.จะมีคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจการเงินและการคลัง ศึกษารายละเอียดก่อนจะนำเสนอเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาผ่านความเห็นชอบและออกเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ต่อไป แต่ระหว่างนี้ สนช.จะต้องเตรียมศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเตรียมความพร้อมไว้ก่อน เพื่อให้การพิจารณาร่างภาษีที่ดินและภาษีมรดก เป็นไปด้วยความรวดเร็วตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ระบุไว้ในการแถลงนโยบายว่าจะต้องทำให้เสร็จในปีนี้
 
ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะสามารถสำเร็จได้ภายใน 1 ปี ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุไว้ เนื่องจากทำได้ทันทีเพราะเป็นนโยบายที่ถูกต้อง เชื่อว่า สนช.ทุกคนเห็นด้วย เพราะระบบภาษีของบ้านเราขณะนี้เกิดความลักลั่นไม่เป็นสากล เพราะฉะนั้น ต้องปฏิรูปทั้งระบบ เพราะที่ผ่านมา การดำเนินการในเรื่องภาษีบุคคล ธรรมดา และนิติบุคคล ไปเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่มเท่านั้น การดำเนินการผลักดันกฎหมายในช่วงนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะดำเนินการ อย่างเช่นภาษีที่ดิน ที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปที่ดิน เป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน เพราะฉะนั้นใครมีที่ดินมากและไม่ใช้ประโยชน์ก็ต้องจ่ายให้สังคมมาก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
 
นายสมชาย กล่าวว่า ภาษีมรดกก็เช่นกัน แต่การป้องกันจะดำเนินการอย่างไร โดยไม่ให้บุคคลหลบเลี่ยงภาษี เพราะฉะนั้นต้องมีหลักการที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันเรื่องของนอมินี หรือแปลงทรัพย์สินไปไว้ต่างประเทศ เพราะฉะนั้นการจะทำให้ทัน 1 ปีเป็นเรื่องไม่ยากรัฐบาลเสนอหลักการมา หรือจะให้มีการทำประชาพิจารณ์ก่อนก็ได้ ยืนยันว่ากฎหมายนี้ไม่มีคำว่าแท้ง
 
"มี ส.ส. และพรรคการเมืองทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส.ส. ที่เห็นด้วยยังโทรมาฝากกับผมเลย ซึ่งก็มีหลายพรรคเขาอยากเห็นกฎหมายที่ไม่สามารถออกได้ในสมัยที่เขาเป็น ส.ส. และออกมาบังคับใช้ แต่ก็เชื่อว่ามีหลายคนที่เป็นนายทุนพรรคไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ตาม คงไม่เห็นด้วย แต่ถือเป็นโอกาสและควรให้คนไทยปรับตัวสักระยะหนึ่ง เพื่อทำให้เรื่องภาษีเป็นเรื่องของหลักสากล" นายสมชาย กล่าว
 
นักวิชาการหนุนจัดเก็บภาษีที่ดิน-มรดก
 
นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายจะออกกฎหมายปรับปรุงการจัดเก็บภาษีว่า ตนขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีความกล้าหาญในการผลักดันร่างกฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดก ให้สำเร็จภายใน 1 ปี แต่จะทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่นั้น ตนมองว่ามีความเป็นไปได้ครึ่งหนึ่ง เนื่องจากเรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ต้องดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย
 
นายณรงค์ กล่าวว่า การผลักดันกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลใดทำได้ เพราะต้องยอมรับว่าการเมืองไทยอยู่ในมือของคนรวย ถ้าออกเป็นกฎหมายจะมีผลกระทบต่อ ส.ส. นายทุนพรรค เจ้าขุนมูลนายที่ร่ำรวย ซึ่งล้วนมีอิทธิพลต่อกันทั้งสิ้น จึงไม่มีรัฐบาลใดกล้าทำ และเมื่อ สนช.ส่วนใหญ่เป็นคนที่ร่ำรวยตรงจุดนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง แต่ก็อาจเป็นไปได้หากคนใน สนช.คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องยอมเสียสละ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 50-60 ครอบครัว
 
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องการจัดเก็บภาษีมรดกนั้น เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างยิ่ง ไม่ใช่ทำเพราะให้รัฐได้เงินเพิ่ม แต่ควรทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม คนบางคนเกิดมาบนกองเงินกองทองไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องเสียภาษี ใช้เงินมรดกอย่างเดียว ซึ่งเมื่อเทียบกับคนงานที่ทำงานกว่า 80% ของการใช้ชีวิต ยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง การจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดกเหล่านี้ เป็นข้อดี ที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม จะมีการปฏิรูปที่ดิน คนที่มีที่ดินมากก็เริ่มคิดว่าเป็นภาระ และคิดที่จะขาย ที่ดินก็มีราคาถูกขึ้น เป็นกลไกให้เกิดการกระจายกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และจากที่ดินว่างเปล่าก็จะมีการใช้ทำประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน เงินภาษีที่ได้ รัฐก็นำไปจัดทำสวัสดิการให้แก่คนที่มีความจำเป็นด้านต่างๆ ทั้งคนพิการ คนแก่ และเยาวชน โดยมีเบี้ยเลี้ยงให้ มีบริการรักษาพยาบาลฟรี และการศึกษาฟรี รวมทั้งพัฒนาด้านสาธารณประโยชน์และสาธารณูปโภค เพื่อให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศดีขึ้น
 
"ไม่สำคัญว่าจะเก็บภาษีมากหรือน้อย เพราะเป็นรายละเอียดที่ต้องศึกษา ปรับปรุงกันต่อไป วันนี้ขอแค่ได้เริ่มนับ 1 ก็ถือว่าดีแล้ว ที่ผ่านมาไม่เคยมีจุดเริ่มต้นจากรัฐบาลที่มี ส.ส. แต่เริ่มได้ที่มี คสช.เพราะมีอำนาจ ที่ต้องใช้ในทางที่ถูกให้เกิดประโยชน์ ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ มองว่าขณะนี้มีความเป็นไปได้ 50 - 50 เพราะขึ้นอยู่กับ สนช.ด้วย จึงขอฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลชุดนี้ ผลักดันให้ออกมาเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ได้จริงตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ด้วย" นายณรงค์ กล่าว
 
นายณรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้เสียภาษีทางตรงที่มาจากรายได้ จำนวน 8 ล้านคน แต่ที่ส่งแบบฟอร์มจ่ายจริงมีเพียง 2 ล้านคน ส่วนมาตรการการลงโทษคนที่หลีกเลี่ยงการเสียภาษีและผู้ที่ให้การสนับสนุนนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่รัฐบาลจะต้องเพิ่มบทลงโทษ โดยปรับให้สูงขึ้นเป็น 10 เท่าตัว พร้อมกับการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนมีหน้าที่และรับผิดชอบต่อการเสียภาษี ไม่สร้างค่านิยมที่ผิดในการหลบเลี่ยง โดยเริ่มตั้งแต่การเรียนการสอนในชั้นประถมให้ตระหนักรู้ว่าหากไม่เสียภาษีจะไม่มีสะพานข้ามถนน ไม่มีสวนสาธารณะให้วิ่งเล่น ซึ่งการเสียภาษีก็เหมือนกับการจ้างรัฐให้มาอำนวยความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ ให้เราแทน
 
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ขอเสนอให้รัฐบาล ออกกฎหมายให้ประชาชนทุกคนกรอกแบบฟอร์มรายได้เพื่อการจัดเก็บเสียภาษี เพราะมีพ่อค้า-แม่ค้า และผู้ประกอบกิจการอิสระหลายรายที่ไม่ต้องเสียภาษี ทั้งที่มีรายได้เดือนละเป็นแสน โดยเห็นว่าการจะขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้น จะต้องเก็บภาษีให้ครอบคลุมกับกลุ่มคนที่มีรายได้สูงทุกประเภท ขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องทำให้เงินในกระเป๋าของประชาชนมีมากขึ้น เพราะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจและชี้วัดค่าจีดีพี การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ รวมทั้งต้องทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาถูก โดยเริ่มจากการลดปัญหาต้นทุนที่ส่วนใหญ่ต้องสูญเสียไปกับค่าพลังงานที่มีราคาแพง รัฐบาลต้องเข้ามาจัดการปัญหาพลังงานอย่างเร่งด่วน ด้วยการลดราคา ตัดการผูกขาดและเพิ่มปริมาณการผลิต รวมทั้งหามาตรการควบคุมไม่ให้มีการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือยด้วย
 
 
ที่มาเรียบเรียงจาก
 
สำนักข่าวไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net