Skip to main content
sharethis

เมื่ออินเดียกลายเป็นบ่อขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดมหึมา ธุรกิจปลายสุดของห่วงโซ่อุตสาหกรรมไอที เฉพาะในเขตเดลี คาดว่ามีแรงงานเด็กอย่างต่ำกว่า 35,000-45,000 คน ที่ทำงานเสี่ยงอันตรายในอุตสาหกรรมนี้

 

 

ปัจจุบันประเทศอินเดียกลายเป็นบ่อขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดมหึมา และผลพวงจากธุรกิจที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงอย่างการแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ปลายสุดของห่วงโซ่อุตสาหกรรมไอทีนี้ กำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่ามันคุ้มค่าหรือไม่?

โดยเฉพาะในเขตเดลี (Delhi) มหานครที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของอินเดียและมีประชากรมากเป็นอันดับสองของประเทศ กำลังกลายเป็นบ่อขยะอิเล็กทรอนิกส์แห่งใหม่ ของแถมที่ปฏิเสธไม่ได้พ่วงมากับ “โอกาสทางธุรกิจ” ในอินเดีย

ต่อปีมีขยะอิเล็กทรอนิกส์หมุนเวียนในอินเดียหลายล้านตัน โดยจากข้อมูลจากสมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดีย (Assocham) ระบุว่าส่วยใหญ่แล้วขยะอิเล็กทรอนิกส์ถูกส่งมาจากสหรัฐอเมริการ้อยละ 42 จากจีนร้อยละ 30 จากยุโรปร้อยละ 18 และที่อื่นๆ เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และที่อื่นๆ อีกร้อยละ 10

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีปริมาณเป็นสัดส่วนสูงสุดในธุรกิจแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ถึงร้อยละ 68 ตามมาด้วยอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมร้อยละ 12 อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 8 อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ร้อยละ 7 และอื่นๆ อีกร้อยละ 7 ทั้งนี้ต่อวันในเดลีมีอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือมากกว่า 10,500 ชิ้น ทีวี 6,500 เครื่อง และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอีกกว่า 4,000 เครื่อง หมุนเวียนถูกชำแหละแยกชิ้นส่วน (ชิ้นส่วนจากคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องสามารถแยกออกมาทำเงินได้มากกว่าอุปกรณ์อื่นๆ)

ซึ่งขยะอิเล็กทรอนิกส์จากคอมพิวเตอร์ ทีวี โทรศัพท์มือถือ ตู้เย็น และอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีส่วนประกอบจากวัสดุที่เป็นสารพิษกว่า 1,000 ชนิด ที่สามารถเจือปนในดินและในน้ำดื่มอุปโภคบริโภคได้ทั้งสิ้น

เมื่อปี 2010 ที่ผ่านมา ทูตพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ลงไปตรวจสอบปัญหาการจัดการและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งขยะพิษที่ประเทศอินเดีย ปฏิบัติการ 10 วันของคณะตรวจสอบจากสหประชาชาติได้ลงสำรวจใน เดลี อาลัง และมุมไบ

คณะตรวจสอบได้พบกับเจ้าหน้าที่รัฐบาล ผู้แทนหน่วยงานสหประชาชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน สหภาพแรงงาน และภาคเอกชน เน้นตรวจสอบการแยกชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ทีวี โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ เพื่อดูว่าธุรกิจเหล่านี้มีผลกระทบต่อผู้คนที่อยู่ใกล้เคียงหรือคนงานในอุตสาหกรรมมากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้คณะตรวจสอบระบุว่าอาชีพแยกของเก่ากำลังเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในอินเดียที่ช่วยสร้างงานให้ประชาชนอย่างไรก็ตามคณะตรวจสอบมีความวิตกถึงสภาพการทำงานที่อันตรายและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ตามมา โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ถือว่าเป็นขยะอันตรายที่สุดชนิดหนึ่ง เนื่องจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีส่วนประกอบเป็นสารเคมีอันตรายหลายชนิด ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงและอันตรายด้านสิ่งแวดล้อมหากไม่ถูกจัดการด้วยวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ในปี 2014 นี้  GoodElectronics ประเมินว่าจะมีแรงงานเด็กอายุ 10-14 ปี ประมาณ 35,000-45,000 คนเฉพาะในเขตเดลี ที่ทำงานโดยตรงหรือมีความเชื่อมโยงกับการทำงานรีไซเคิลขยะจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยแรงงานเด็กที่ทำงานในกองขยะมักจะไม่มีอุปกรณ์ป้องกันรวมทั้งไม่ได้รับการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงาน

 

การใช้แรงงานเด็กในอินเดีย

 

 

ปัญหาการใช้แรงงานเด็กในอินเดียนั้นถือว่าหนักหนาสาหัสเอาการเลยทีเดียว โดยข้อมูลจากรายงาน Global Slavery Index 2013 ขององค์กร Walk Free Foundation ระบุว่าอินเดียเป็นประเทศที่มีการใช้แรงงานเด็กมากที่สุดในโลกเกือบ 14 ล้านคน และการใช้แรงงานเด็กในอินเดียนั้นแทบที่จะพบได้ในทุกอุตสาหกรรม

เมื่อปี 2013 สหรัฐอเมริการะบุว่ามีสินค้า 134 ชนิดจาก 73 ประเทศที่อยู่ในรายชื่อสินค้าที่มาจากการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ ซึ่งอินเดียก็เป็นอันดับ 1 อีกเช่นกัน โดยมีสินค้าที่ผลิตด้วยแรงงานที่ละเมิดสิทธิ์ถึง 21 ประเภท เช่น อิฐ พรม สิ่งทอ บุหรี่ ดอกไม้ไฟ และลูกฟุตบอล เป็นต้น

โดยเฉพาะการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ที่ขึ้นชื่อในการทำงานหนักและเสี่ยงอันตราย ในปี 2010 องค์กรพัฒนาเอกชนในอินเดียยืนยันว่ามีการใช้แรงงานเด็กฐานะยากจนในเหมืองแร่จริง และประมาณการตัวเลขว่ามีแรงงานเด็ก 70,000 คน ในเหมือง 5,000 แห่งทั่วประเทศ โดยเด็กที่อายุน้อยสุดเพียง 5 ขวบ

จากการสำรวจสภาพการทำงานเบื้องต้น พบเด็กอายุ 15 ปี หรือน้อยกว่าในเหมืองกว่า 400 แห่ง ต้องไต่บันไดไม้ไผ่ลงไปในหลุม มุดโพรง และคลานเข้าไปเพื่อขุดเหมือง ซึ่งเด็กไม่ได้สวมเครื่องป้องกันใดๆ

อย่างไรก็ตามรัฐบาลอินเดียกลับปฏิเสธข้อมูลดังเหล่านี้ โดยอ้างถึงกฎหมายเหมืองแร่ ค.ศ. 1952 ที่ห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปีทำเหมือง รวมถึงพึ่งมีกฎหมายห้ามใช้แรงงานเด็กอายุ 6-14 ปี เมื่อปี ค.ศ. 2010 ซึ่งในช่วงการออกกฎหมายนั้นก็ยังมีเด็กถูกใช้แรงงานราว 28 ล้านคน พบเห็นได้โดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ห้องครัว ไร่นา โรงงาน และไซต์งานก่อสร้าง.

 

ประกอบการเขียน

Report: Delhi becoming world's e-waste dumping yard
http://goodelectronics.org/news-en/report-delhi-becoming-worlds-e-waste-dumping-yard

Report: Global Slavery Index 2013, Walk Free Foundation, 2013
http://www.ungift.org/doc/knowledgehub/resource-centre/2013/GlobalSlaveryIndex_2013_Download_WEB1.pdf

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net