ไทยคือรัฐตัวอย่างระดับโลก: งานประชุมอินเตอร์เน็ตระหว่างรัฐบาลประจำปี 2557 (IGF 2014)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ผมจะผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้อยู่บนเศรษฐกิจบนฐานดิจิตอล (digital economy) ให้เป็นรูปธรรมภายในระยะเวลา 1 ปี ถือว่าเป็นส่วนที่ยากที่สุดของการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ เนื่องจากเศรษฐกิจดิจิตอลถือเป็นเศรษฐกิจฐานใหม่ เป็นพื้นฐานสำคัญทำให้เศรษฐกิจภาคอื่นๆ ทั้งอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การบริการและการเงินการธนาคารเติบโตต่อไป ซึ่งหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ก็อยู่ฐานนี้และรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ให้ความสำคัญมาก ประเทศไทยอาจจะช้ากว่าไปบ้าง แต่ถือว่ายังไม่ช้าเกินไปที่จะเริ่มต้นอย่างจริงจัง  เศรษฐกิจบนฐานดิจิตอลไม่ใช่เรื่องของฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์เท่านั้น แต่เป็นฐานใหม่ให้เศรษฐกิจภาคอื่นๆ เติบโต เช่น ในภาคธนาคารจะเห็นได้ว่าปัจจุบันการทำธุรกรรม การโอนเงิน เป็นระบบดิจิตอล หรืออุตสาหกรรมรถยนต์ถ้าไม่ใช้ดิจิตอลก็พัฒนาต่อยอดไม่ได้"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์1 กล่าว ณ ทำเนียบรัฐบาล 15 กันยายน 2557, ประชาชาติธุรกิจ, เข้าถึงเมื่อ 16/6/2557

 

 

โลกตะวันตกซึ่งเป็นต้นทางของเทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศได้ปรับตัวนานใหญ่ เมื่อเห็นแล้วว่าเศรษฐกิจที่อาศัยการผลิตเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อาจไม่ใช่ที่พึ่งพิงที่น่าอุ่นใจอีกต่อไป เมื่อเห็นสัญญาณการเติบใหญ่ของมหาอำนาจจีนที่กลายเป็นโรงงานโลกไปแล้ว   ดังนั้นในปี ค.ศ.1994 กลุ่มนักคิดชั้นนำและนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Bangemann ได้ยื่นรายงาน Bangemann Report ต่อสภายุโรป (European Council) ให้ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอลขึ้นมาเป็นกำลังหลักในการยึดหัวหาดการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของยุโรปต่อไป   ซึ่งผ่านมาแล้ว 20 ปี สิ่งที่ทำให้เห็นว่ามีความสำคัญมากที่สุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลคือ การสร้าง “ความไว้ใจ” 

ในงานประชุมอินเตอร์เน็ตระหว่างรัฐบาลต่างๆทั่วโลกประจำปี ค.ศ.2014 ก็ได้ยกเอา “Trust” หรือความไว้ใจ เป็นแกนกลางในการพัฒนานโยบายส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ   โดยเฉพาะตัวแทนจากบรรษัทผู้ประกอบการด้านไอทีดังๆของโลก อย่าง Google ก็ได้จัดเวทีเพื่อสร้างความเข้าใจและแสดงออกถึงความกระตือรือร้นด้าน การสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้อินเตอร์เน็ต หรือก็คือลุกค้าผู้ใช้บริการและสินค้าของ Google นั่นเอง

“Google มีความร่วมมือกับรัฐบาลในการนำข้อมูลของผู้ใช้ไปสร้างฐานข้อมูลด้านความมั่นคงไหม?” ผู้ร่วมประชุมท่านหนึ่งถามในเวที Big Tent ที่ Google เป็นผู้จัด

“ไม่ เราไม่เคยมีความร่วมมือกับรัฐบาลเลย   หน่วยงานด้านความมั่นคงแอบไปดักข้อมูลที่สายเคเบิ้ลใต้มหาสมุทรเอง”   ผู้บริหารของ Google กล่าวตอบโต้ทันทีด้วยท่าทีจริงจัง  

นี่เป็นสาระสำคัญหลักของงานประชุมครั้งนี้ นับจากที่มีจุดเปลี่ยนสำคัญทางประวัติศาสตร์ของการใช้อินเตอร์เน็ตเมื่อเกิด การเปิดเผยความลับโดย เอ็ดเวิร์ด สโนวเด้นส์ ถึงโครงการใหญ่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติในการดักเก็บข้อมูลผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลก เพื่อสร้างฐานข้อมูลในการขุดค้นประวัติการใช้และนำไปประกอบการจารกรรมทั้วโลก

งานประชุมในครั้งนี้จึงได้ยินคำว่า “Trust” บ่อยมากถึงมากที่สุด เพื่อดึงความมั่นใจของผู้ใช้กลับมา เพราะยิ่งมีผู้ใช้มากปริมาณข้อมูลที่ไหลเวียนในอินเตอร์เน็ตก็มาก   ซึ่งข้อมูลเหล่านั้น คือ ขุมทรัพย์ที่ปรากฏอยู่ใน Bangemann Report รายงานชี้ว่า หากต้องการเข้าใจ พฤติกรรมการบริโภค และมองเห็นอนาคตว่า ควรจะจัดบริการอะไร/สินค้าอะไรใหม่ๆ ออกมารองรับความต้องการของผู้บริโภคแล้วละก็ ควรนำข้อมูลที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตมาประมวลผล   ซึ่งภาคธุรกิจโฆษณาประชาสัมพันธ์และการตลาดปัจจุบัน ก็มีการใช้ข้อมูลส่วนนี้ โดยซื้อข้อมูลต่อจากบริษัทที่มีฐานข้อมูลผู้ใช้ เช่น Google, Yahoo, Facebook, Twitter, Line ฯลฯ ที่เราเคยสงสัยว่า  “ของฟรีมีได้ไง”   ครับ ของฟรีไม่มีในโลก เขาเอาข้อมูลของเราไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจ   โดยที่เราแสดงความยินยอมโดยไม่รู้ตัวผ่านการ คลิก “ตกลง” เมื่อเริ่มใช้บริการเหล่านั้น

การจัดประชุมจึงเต็มไปด้วยห้องสัมมนาที่ว่าด้วยเรื่อง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิมนุษยชน และความมั่นคงในโลกออนไลน์   แม้แต่ในฟากธุรกิจก็ยังพูดเรื่องการสร้างนโยบายและกฎหมายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศโดยมีเรื่อง “ความเป็นส่วนตัว” “การสื่อสารโดยได้รับการปกป้องเป็นนิรนาม” และ “การสร้างความชัดเจนเรื่องการร่วมมือกับรัฐ”   แม้เรื่องการเซ็นเซอร์ที่เคยเป็นประเด็นขาประจำก็อาจลดความนิยมลงไปบ้างด้วยกระแสความตื่นตัวในเรื่องนี้

ในเวทีระดับโลก การพูดเรื่องประชาธิปไตย หรือสิทธิมนุษยชน ถือเป็นเรื่องพื้นฐานเนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของความมั่นใจในการใช้อินเตอร์เน็ต เนื่องจากคนจำนวนมากมีความทรงจำร่วมเรื่อง “รัฐเผด็จการที่คุกคามความเป็นส่วนตัว” ของประชาชนดังที่ตัวแทนจากยุโรป และประเทศที่มีประสบการณ์การต่อสู้กับเผด็จการหลายรูปแบบมานานอย่างกลุ่มลาตินอเมริกานำเสนอ   จะเห็นว่า บราซิล มีบทบาทในการผลักดันเรื่องเหล่านี้มากเนื่องจากเมื่อกลางปีเพิ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ คือ Net Mundial 2014 ที่มีการส่งต่อวาระมายังการประชุม IGF2014 นั่นคือ การมีส่วนร่วมจากรัฐภาคีทั่วโลกและองค์กรภาคประชาสังคมทั้งหลาย  

บทบาทของ บราซิล และเยอรมนี ในเรื่องอินเตอร์เน็ตนี้ก็เป็น ผลสะเทือนจากการเปิดเผยของ สโนวเด้นส์ ที่ว่า สหรัฐได้จารกรรมข้อมูลของผู้นำ สตรีเหล็กทั้งสองท่านอย่างต่อเนื่อง    การตอบโต้ทางการเมืองระหว่างประเทศของทั้งสองรัฐคือการสร้างพันธมิตรของประเทศที่ตกเป็นเป้าการจารกรรมและผลักดันจน สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ออกมติรับรองรายงานเรื่อง “สิทธิความเป็นส่วนตัวในบริบทเทคโนโลยีสารสนเทศ” (Resolution A/HRC/27/37) เมื่อกลางปี 2014 หลังจาก ผู้ตรวจการสิทธิในการแสดงออกได้เสนอรายงานฉบับนี้ต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ในปี 2013

รายงานฉบับนี้ได้กลายเป็นเอกสารทางกฎหมายสำคัญที่องค์กรต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงภาคธุรกิจที่คำนึงถึงผลกระทบด้านจิตวิทยาจากการละเมิดความเป็นส่วนตัว หยิบมาเป็นฐานในการผลักดันมาตรการต่างๆ เช่น กลุ่มแนวร่วมด้านอินเตอร์เน็ตก็เสนอหลักการ International Principles on the Application of Human Rights to Communications Surveillance 2014 ก็เสนอรายงานสิทธิในโลกอินเตอร์เน็ตประจำปี 2014 ที่มีรายงานสถานการณ์อินเตอร์เน็ตในประเทศไทยออกมาด้วย

นอกจากนี้กลุ่มคณะทำงานภายใต้คณะมนตรีสหภาพยุโรปก็ได้เสนอหลักการคุ้มครองสิทธิในโลกอินเตอร์เน็ตของสหภาพยุโรปโดยเสนอ Declaration on Internet governance principles https://wcd.coe.int/ViewDoc.jsp?id=1835773> ฉบับแปลภาษาต่างๆ ออกมาเพื่อให้ประชาชนและองค์กรประเทศต่างๆ นำไปเป็นเอกสารอ้างอิงในผลักดันนโยบายด้านอินเตอร์เน็ตต่อไป  

การพยายามให้มีส่วนร่วมโดยการแปลเอกสารต่างๆ เป็นภาษาท้องถิ่นมีห้องสัมมนา และมีเวทีอื่นๆ พูดถึงอยู่บ้าง เนื่องจากมีคนเสนอว่าอินเตอร์เน็ตเป็นโลกที่ภาษาอังกฤษทรงอิทธิพล แต่ทิศทางของโลกเริ่มเห็นชัดว่ามีคนใช้อินเตอร์เน็ตนอกโลกภาษาอังกฤษมากขึ้น การพัฒนานโยบายจึงต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมสื่อสาร   เพื่อสร้างหลักประกันสากลร่วมกัน เนื่องจากอินเตอร์เน็ตมีลักษณะสลายพรมแดนของรัฐชาติ

อย่างไรก็ดี รัฐชาติยังเป็นผู้เล่นหลักในเวทีระหว่างประเทศ และเป็นผู้กำหนดนโยบายอินเตอร์เน็ตภายในรัฐ   ดังนั้นการแก้ปัญหาเรื่อง เขตอำนาจศาล ระหว่างรัฐในนโยบายด้านอินเตอร์เน็ตจึงมีความสำคัญมาก   ทุกฝ่ายเห็นข้อติดขัดจำนวนมาก เช่น การจัดการปัญหาด้านอาชญากรรมข้ามชาติที่มีอินเตอร์เน็ตเป็นสื่อ หากจะจัดการต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ   อย่างไรก็ดีปัญหาที่ฉุดรั้งการร่วมมือในการสร้างนโยบายระหว่างประเทศด้านอินเตอร์เน็ต ก็คือ นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของแต่ละรัฐที่แตกต่างกันมาก   ตัวแทนจากหลายประเทศได้ต่อต้านการเสนอข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองสิทธิในอินเตอร์เน็ตโดยบอกว่า การริเริ่มอะไรระดับโลกเมื่อนำมาปรับใช้ภายใน ต้องคำนึงถึงบริบทการเมืองภายในประเทศด้วย  ในเวทีระหว่างประเทศการกล่าวเช่นนี้ ถือเป็นการประจานความเป็นรัฐเผด็จการของตัวเอง

ชาติเจ้าภาพตุรกีซึ่งมีชื่อเสียในการละเมิดสิทธิของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต และมีนโยบายเข้มข้นกับผู้ประกอบการ ก็เป็นตัวอย่างสำคัญที่มีการถกเถียงในหลายเวที   ถึงขนาดมีนักวิชาการและนักกิจกรรมตุรกีชื่อดังระดับโลกประกาศบอยคอตไม่เข้าร่วมงานประชุม และมีการจัดงานประชุมคู่ขนาน Un Government Forum ขึ้นมาด้วย ซึ่งมีไฮไลต์อยู่ที่การอภิปรายของ จูเลียน อัสสาจน์ ผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์เข้ามาในงาน

ข้อถกเถียงเรื่องจะเน้นการสร้างนโยบายอินเตอร์เน็ตระดับโลกร่วมกัน หรือ จะไม่ก้าวก่ายการใช้อำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐ   จึงยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการเจรจาต่อรองเพื่อสร้างนโยบายด้านอินเตอร์เน็ต   ยิ่งเมื่อมีเหตุการณ์สหรัฐรวบรวมข้อมูลการใช้อินเตอร์เน็ตของผู้ใช้ทั่วโลก   ทำให้เกิดข้อเสนอว่า “ห้ามส่งข้อมูลออกนอกประเทศ” ให้มีการสร้างฐานจัดเก็บข้อมูลภายในประเทศ ป้องกันการผูกขาดเหมืองข้อมูลโดยระบบสหรัฐ   ข้อเสนอนี้มักมาจากประเทศที่เชื่อว่าประเทศตนดูแลสิทธิมนุษยชนได้ดีกว่า   อันเป็นที่มาของการสร้างนโยบายด้านการคุ้มครองข้อมูลของสหภาพยุโรปแบบยกกะบิในปี ค.ศ.2014 นี้   โดยสหภาพยุโรปจะมีข้อตกลงรวมด้านการคุ้มครองข้อมูล General Regulation on Data Protection ออกมา   และหลังจากนี้จะมีการทำข้อตกลงฉบับใหม่กับสหรัฐเพื่อรับประกันสิทธิมากขึ้น (New Safe Harbor Agreement)

ข้อเสนอให้เก็บข้อมูลไว้ในรัฐกลับเป็นที่น่าตื่นตระหนกในหมู่ประเทศที่เสี่ยงภัยเผด็จการ เพราะมีผู้ร่วมประชุมเสนอว่า “หากบรรษัทต้องทำตามข้อกฎหมายอย่างประเทศไทย ก็น่าเป็นห่วงสิทธิของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเหมือนกัน”   สอดคล้องกับการนำเสนอข้อมูลขององค์กรผลักดันด้านการส่งเสริมสิทธิในอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ ที่มีความกังวลต่อรัฐไทย เนื่องจากเป็นประเทศที่อยู่ในภาวะวิกฤตระดับเดียวกับอิรักและพม่า เพราะมีการใช้กฎหมายอัยการศึกในการกำกับโลกไซเบอร์ 

ในเวทีซึ่งมีตัวแทนจากภาครัฐ องค์กรประชาสังคม และบรรษัท เมื่อมีการพูดเรื่องนโยบายของรัฐที่มีผลต่อการประกอบการของบรรษัทและการสร้างความเชื่อมั่นของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ก็ได้มีการหยิบยกเอา รัฐไทย ให้กลายเป็น หมุดหมายสำคัญด้านความลำบากใจของบรรษัท ตั้งแต่กรณีการพยายามตัดการเชื่อมสัญญาณเครือข่ายสังคมในประเทศไทย การริเริ่มระบบอินเตอร์เน็ตภายในที่ตัดขาดกับระบบสากล (มีจีนเป็นต้นแบบระบบ) และมีความพยายามของรัฐในการแทรกแซงนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคของบรรษัทจากการส่งตัวแทนไปเจรจากับบรรษัทเพื่อให้ทำตามคำขอ

บรรษัทคำนึงปัญหาเหล่านี้มากดังที่ได้มีการทำรายงานความโปร่งใสรายงานความร่วมมือกับรัฐอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งในกรณีคำขอของไทยบริษัทก็จำต้องปฏิเสธอย่างโจ่งแจ้งเป็นข่าวไปทั่วโลก

ในหลายเวทีจึงเป็นบรรษัทเองที่เสนออย่างชัดเจนว่า ประชาคมโลกและรัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจน มั่นคง และมีมาตรฐานร่วมกัน   เนื่องจากบรรษัทในฐานผู้ลงทุนในการสร้างโครงข่าย และบริการต่างๆ ต้องการกฎหมายที่ชัดเจน แน่นอน เพื่อนำไปปรับยุทธศาสตร์การทำธุรกิจ และการลงทุนในเทคโนโลยี รวมถึงการวางแผนแผนธุรกิจใหม่ และที่สำคัญที่สุดคือ การเอาไปเรียก “ความมั่นใจของผู้บริโภค” กลับคืนมา

กลเกมส์การเมืองในเวทีระหว่างประเทศเป็นไปอย่างสนุกสนาน เนื่องจากตัวแทนของรัฐเจ้าภาพตุรกี และรัสเซีย ส่งคนเข้ามาแย้งประเด็นต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชน  แต่ก็มีตัวแทนจากรัฐอื่น นักกิจกรรมด้านอินเตอร์เน็ตตอบโต้ โดยอาศัยรายงานของอย่างเป็นทางการขององค์การระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ และสหภาพยุโรป   จึงเห็นเกมส์ของเวทีนานาชาติว่า ทุกอย่างต้องยืนอยู่บนฐานของกฎหมายด้วย มิใช่อาศัยอำนาจแต่เพียงอย่างเดียว

มหาอำนาจจีนพยายามยามลอยตัวเหนือปัญหา ไม่มาถกเถียงในเวทีต่างๆ แต่ใช้วิธีการตั้งประเด็นและจัดห้องสัมมนาที่ตนสนับสนุนเอง ในประเด็นที่ตนอยากจะพูด และหากมองลึกๆ ก็เป็นการแอบตบหน้ามหาอำนาจอื่นที่กำลังเพลี่ยงพล้ำ เช่น การจัดประชุมเรื่อง Big Data in Big publishing Era ซึ่งเป็นการเหน็บสหรัฐอเมริกาที่ลักขโมยข้อมูลส่วนตัวของคนอื่นไป แต่มาประณามจีนเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น

กลุ่มประเทศในอัฟริกา และประเทศห่างไกล จะเน้นประเด็น ความเหลื่อมล้ำสิทธิในการเข้าใช้อินเตอร์เน็ต ว่าต้องทำอย่างไรให้ อีก ห้าพันล้านคนได้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ต และทำให้อินเตอร์เน็ตเป็นเสียงสะท้อนของคนทั้งโลก   หากมองมาที่ไทย ก็สอดคล้องกับปัญหาที่ว่าคนไทยอีกกว่าครึ่งยังไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ แต่กลับมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์คบอกว่า เสียงในอินเตอร์เน็ตคือเสียงสวรรค์ สะท้อนความคิดของคนในประเทศ    การเพิ่มจำนวนคนในโลกไซเบอร์เพื่อให้สะท้อนสัดส่วนที่แท้จริง จึงมีความสำคัญมาก

ประเด็นอื่นๆ ในเวทีการประชุมก็ได้แก่ จุดยืนของรัฐต่างๆ คือ ต้องการให้เทคโนโลยีสารสนเทศ สร้างงานสร้างรายได้เพิ่มให้กับประเทศ  การเห็นตรงกันทั่วโลกว่าการเพิ่มการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในหมู่มวลชนจะเพิ่มศักยภาพธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพราะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า สื่อกระแสหลักอื่นๆ ในการโฆษณา ติดต่อ สื่อสารกับลูกค้า

ประเด็นมาใหม่มาแรง ก็คือ การเปลี่ยนโลกของอุปกรณ์สมาร์ทโฟน และนโยบายการกำกับส่งเสริมเทคโนโลยี เนื่องจากในหลายรัฐที่ระบบโทรศัพท์พื้นฐาน หรืออินเตอร์เน็ตพื้นฐานไม่ดี  เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟนได้ก้าวข้ามโครงข่ายพื้นฐานเดิมไปเลย   ทำเห็นว่ามีผู้ใช้ในพื้นที่ใหม่ๆมากขึ้น และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง เช่น โอกาสทางธุรกิจในอัฟริกา หรือ การปลุกระดมทางการเมืองในเหตุการณ์อาหรับสปริงส์

กล่าวโดยสรุป การส่งเสริมกิจกรรมในอินเตอร์เน็ตเพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ จำต้องคำนึงถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในส่วนลึกของจิตใจผู้บริโภคให้ได้   การคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจึงเป็นแนวทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากรัฐจะส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจดิจิตอล   เช่นเดียวกับการสร้างกฎหมายและนโยบายด้านอินเตอร์เน็ตที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเพื่อความสะดวกใจในการประกอบการของบรรษัทไอทีระดับโลก 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท