Skip to main content
sharethis

 

ระหว่างวันที่ 15 - 16 กันยายน 2557 สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง สยาม-ปาตานี : มิติใหม่ ข้อมูลใหม่ และการจัดระบบความเข้าใจ ภายใต้ชุดโครงการความรู้ เรื่อง การประกอบสร้างประวัติศาสตร์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน (ปีที่ 3) ณ ห้องแกรนด์ บอลล์รูม บี ชั้น 8 โรงแรมลีการ์เด้นท์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

ต้องเปิดพื้นที่รับฟังประวัติศาสตร์ของอีกฝ่าย

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง สยาม-ปาตานี : มิติใหม่ ข้อมูลใหม่ และการจัดระบบความเข้าใจตอนหนึ่งว่า โครงการนี้เป็นกรอบวิธีคิดใหม่และเป็นเรื่องใหม่ในเรื่องปาตานีศึกษาที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน และหวังว่าจะนำมาสู่ความเข้าใจ ได้ความรู้ ความเห็นต่าง ในประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่าเดิม

ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า ความเข้าใจที่แตกต่างกันในอดีต นำมาสู่ความไม่ลงรอยกันในปัจจุบันและกลายเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การแสวงหาความจริงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะพยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องมาตั้งเจตนาร่วมกันว่าจะค้นหาความจริง โดยตั้งสมมติฐานว่าไม่มีใครรู้ทั้งหมด เพื่อที่จะลดหย่อนมายา ความเอนเอียง ความเป็นตัวตนที่ต่างคนต่างมีและต่างคนต่างยึดมั่น

“หากเราเริ่มต้นจากจุดที่ว่า มีความหลากหลายของความคิด มีความแตกต่างในเรื่องการบันทึกประวัติศาสตร์ และเรื่องเดียวกันแต่ตีความหรือมีความเข้าใจที่แตกต่างกัน หากยอมรับความหลากหลายก็จะเปิดพื้นที่ทั้งหมด โดยทำให้เจ้าของแนวคิดและเจ้าของประวัติศาสตร์ที่ตัวเองเขียนขึ้นมามีความรู้สึกพร้อมที่จะรับฟังอีกฝ่าย พร้อมที่จะรับทราบการตีความของคนอื่นที่ไม่เหมือนกับตัวเอง และสิ่งสำคัญที่สุดคือนำไปสู่การระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการกำหนดนโยบาย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่” ดร.สุรินทร์ กล่าว

ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่จะช่วยปัจจุบันและมองเห็นแนวทางแก้ปัญหาในอนาคต มิเช่นนั้นเราจะฝังตัวอยู่กับประวัติศาสตร์ที่มีแต่ความขัดแย้ง มิเช่นนั้นเราจะอยู่กับเหมือนกันอดีตที่มีความหลากหลายและไม่ตรงกัน และเราจะใช้ความหลากหลายนั้น มากำหนดความคิดของเราในปัจจุบันและจะกำหนดอนาคตของเราต่อโดยที่ไม่มีความขัดแย้งอีกต่อไป

สร้างพื้นที่ให้ประวัติศาสตร์รัฐไทยกับปาตานีมาโต้กัน


รศ.ดร.ชุลีพร วิรุณหะ

 

รศ.ดร.ชุลีพร วิรุณหะ จากภาควิชาประวัติศาสตร์  คณะอักษรศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยในชุดโครงการความรู้ฯ กล่าวว่า โครงการนี้พยายามค้นหาวิธีเล่าเรื่องใหม่ โดยนำประวัติศาสตร์ไทยกับปาตานีมาเล่าพร้อมกัน โดยใช้บริบทเวลา การปะทะสังสรรค์ การประสานสัมพันธ์ โดยใช้บริบท 3 อย่าง คือ เวลา มุมมอง และปากคำหรือเรื่องเล่า เพื่อที่จะให้เกิดการพูดคุยเกี่ยวกับกับความทรงจำในอดีตของแต่ละฝ่าย ซึ่งมีมุมมองอยู่ 2 แบบ คือ รัฐไทย มองว่าประวัติศาสตร์ตั้งอยู่บนฐานของการกระชับอำนาจ เป็นการสร้างรัฐชาติ เช่น การไปทำสงครามกับชาติต่างๆ แต่ในปากคำของปาตานีคือถูกช่วงชิงดินแดนจากรัฐไทย

รศ.ดร.ชุลีพร ทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องขาวกับดำ สิ่งที่จะทำคือ ต้องเปิดพื้นที่สีเทาที่ให้ทั้งสองฝ่ายมาโต้แย้งกัน แทนที่จะมองว่าถูกช่วงชิงดินแดนอย่างเดียว ซึ่งมันก็เป็นไปตามพลวัตรของภูมิภาคด้วย ที่ปาตานีเองก็ต้องทำสงครามกับรัฐต่างๆ ในอดีต เช่น รบกับอาเจะห์ หรือรัฐอื่นๆ ซึ่งนำไปสู่กับการล่มของรัฐปาตานี ส่วนรัฐไทยเองก็ต้องรับมือกับนักล่าอาณานิคมและต้องจัดการปัญหาภายในด้วย

รศ.ดร.ชุลีพร กล่าวด้วยว่า แต่ยังสิ่งที่ยังเข้าไม่ถึงในการศึกษาประวัติศาสตร์ปาตานี คือ บทบาทของศาสนาอิสลาม ความซับซ้อนภายในรัฐมลายู ระหว่างผู้นำมลายูกันเอง และ พลวัตรในบริเวณอนุภูมิภาคคาบสมุทรมลายู เพราะงานศึกษาส่วนใหญ่ของตนเน้นไปที่รัฐชาติไทย

ต่อมาเวลา 14.30 น.เวทีเสวนา เรื่อง วิพากษ์เอกสาร  เมื่อ “ประวัติศาสตร์” เป็น “อันตราย”: ปัญหาปาตานีกับรัฐไทยในยุคหลังสมัยใหม่ โดยมีพล.ต.ต.จํารูญ เด่นอุดม นักประวัติศาสตร์ปาตานีอาวุโส และนายฮาซัน ยามาดีบุ นักประวัติศาสตร์ปาตานีรุ่นใหม่ เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย อาจารย์โชคชัย วงษ์ตานี อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา ม.อ.

ดับไฟใต้ด้วยการดับประวัติศาสตร์หรือ?

พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม นักประวัติศาสตร์ปาตานีอาวุโส กล่าวว่า ตนพบข้อความจากป้ายประชาสัมพันธ์ที่ถูกติดไว้ในที่แห่งหนึ่งในจังหวัดยะลาเขียนว่า "จะดับไฟใต้ได้ ก็ต้องดับประวัติศาสตร์ปัตตานี" นั่นเป็นความเข้าใจผิดว่าหากลบประวัติศาสตร์แล้วจะแก้ปัญหาได้ เพราะไม่สามารถลบประวัติศาสตร์ได้

พล.ต.ต.จำรูญ ยังยกตัวอย่างการแก้ปัญหาหนึ่งของเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์ โดยที่ผ่านมาได้นำนักวิชาการมุสลิมคนหนึ่งจากกรุงเทพมหานครมาพูดให้คนในพื้นที่ฟัง โดยนักวิชาการคนดังกล่าวบอกว่า คนในพื้นที่ถูกหลอก 3 เรื่อง คือ 1.เรื่องชาติพันธุ์ โดยนึกไปเองว่าเป็นคนมลายูแต่จริงๆ แล้วก็เป็นคนไทย 2.เรื่องศาสนา โดยคิดว่าการก่อเหตุเมื่อตายไปแล้วเป็นการญิฮาด แต่จริงๆ ก็ไม่ต่างจากโจรที่ถูกฆ่า และ 3.เรื่องประวัติศาสตร์ คือคิดไปเองว่าปาตานีเป็นเอกราชมาก่อน

4 องค์ประกอบทำให้ “ประวัติศาสตร์อันตราย”

พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวว่า ความคิดลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจต่อประวัติศาสตร์ ซึ่งแน่นอนว่าประวัติศาสตร์จะทำให้เกิดอันตรายได้ หากไม่มีการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกัน โดยมีองค์ประกอบที่ทำให้ประวัติศาสตร์เป็นอันตรายได้ 4 อย่าง ได้แก่

1.ตัวแสดงหรือตัวละครหลักที่ก่อให้เกิดประวัติศาสตร์ เช่น การล่าอาณานิคมของอังกฤษที่ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกพื้นที่ในหลายแห่ง รวมถึงปาตานีเองในปีค.ศ.1909 ที่มีการทำข้อตกลงกับสยามเพื่อกำหนดเขตแดนที่แบ่งคนปาตานีส่วนหนึ่งให้อยู่กับสยามและอีกส่วนหนึ่งไปอยู่ในฝั่งมาเลเซีย จึงเกิดการต้านจากชาวมลายู กระทั่งเกิดคำกล่าวของผู้นำชาวปาตานีในสมัยนั้นว่า ในเมื่อปาตานีมีอิสระไม่ได้ก็ให้ปาตานีเป็นหนามตำเท้าสยามต่อไป เป็นต้น

2. ผู้ผลิต/ผู้บันทึก/ผู้เขียน/ผู้เรียบเรียงและบอกเล่าประวัติศาสตร์ การบอกเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์มักมีความต่างระหว่างผู้ชนะกับผู้แพ้ โดยที่ผู้ชนะมักจะตอกย้ำชัยชนะด้วยความภาคภูมิใจ สร้างชาตินิยมให้เกิดต่อไป ส่วนผู้แพ้มักจะใช้ความขมขื่น ความเคียดแค้นในการเขียนประวัติศาสตร์ กระทั่งก่อให้เกิดชาตินิยมอีกรูปแบบ จึงทำให้เป็นประวัติศาสตร์อันตราย

3.ผู้อ่าน/ผู้เสพ นักวิชาการ หรือนักประวัติศาสตร์เอง ที่บอกเล่าเรื่องราวกระจายออกไป จากรุ่นสู่รุ่นจนทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนกระทั่งนำไปสู่ความต่อเนื่องของการบิดเบือนหรือการสร้างเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ต่อไป

4.ผู้ใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นนักกิจกรรม ผู้เผยแพร่ หรือผู้ปลุกระดม รวมไปถึงนักรบ นักต่อสู้ และนักปฏิวัติที่เอาเรื่องราวไปถ่ายทอดและตอกย้ำความขมขื่นของประวัติศาสตร์ หรือปฏิวัติสังคมเดิม เป็นต้น

ต้องเปิดพื้นที่ให้ถกเถียงทุกแง่มุมและปลอดภัย

พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวว่า ดังนั้น ถึงเวลาที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงกันถึงเรื่องของประวัติศาสตร์ในทุกแง่มุม เอาความจริงออกมาเปิดเผย และควรมีเวทีหรือพื้นที่ปลอดภัยในการถกเถียง เพราะถึงแม้รัฐไทยจะพยายามปกปิดปรัวัติศาสตร์เพียงใดก็ไม่สามารถที่จะปกปิดได้ เพราะในต่างประเทศมีข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของปาตานีมากมาย เปรียบเทียบการปกปิดประวัติศาสตร์เหมือนกับการปิดฝาหม้อที่น้ำกำลังเดือด เมื่อมีการเปิดฝาหม้อน้ำจะระเหยออก แต่หากปิดไว้นานๆ อาจเกิดการระเบิดขึ้นได้

พล.ต.ต.จำรูญ ให้ความเห็นว่าในประวัติศาสตร์มีทั้งการปฏิเสธและการยอมรับ ไทยปฏิเสธประวัติศาสตร์ปาตานี มองผู้นำปาตานีเป็นกบฏ ในขณะที่ชาวปาตานีก็ปฏิเสธตำนานต่างๆ เช่น ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ส่วนการยอมรับก็คือยอมรับว่าสยามคือศัตรู และขณะเดียวกันปาตานีก็เป็นศัตรูในสายตาไทย

พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวว่า วาทกรรมการเสียดินแดน ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ปี 1890 ทั้งที่ไทยไม่ได้เสียดินแดน มีแต่ได้ดินแดน ตรงนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่มาจากการปิดพื้นที่ให้ความคิดของทุกฝ่ายได้พูดคุยกันได้ ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับความคิดของ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิล เมดิสัน สหรัฐอเมริกา ที่ว่าการศึกษาทางประวัติศาสตร์นั้นจะต้องมีลักษณะ Open Mind ต้องเปิดให้มีการถกเถียงกัน ขณะเดียวกันก็จะต้องมี Critical Mind ซึ่งจะต้องมีวิจารณญาณในการรับฟังและให้มีพื้นที่ให้พูดได้ทุกฝ่าย

BRN พูดถึงประวัติศาสตร์เป็นเรื่องแรกบนโต๊ะสันติภาพ

นายฮาซัน ยามาดีบุ นักประวัติศาสตร์ปาตานีรุ่นใหม่ เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงการพูดคุยสันติภาพในครั้งแรกระหว่างตัวแทนขบวนการ BRN กับตัวแทนรัฐไทยว่า สิ่งแรกที่ฝ่าย BRN พูดคือประวัติศาสตร์ แทนที่จะพูดเรื่องที่จะเจรจากัน พวกเขาใช้เวลาเป็นชั่วโมงในการเล่าประวัติศาสตร์พร้อมกับหลั่งน้ำตาบ่งบอกถึงความเจ็บช้ำเมื่อพูดถึงเรื่องราวในอดีต แสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์มีส่วนสำคัญในการต่อสู้ของฝ่าย BRN

นายฮาซัน มองว่า ประวัติศาสตร์ปาตานีนั้นอันตราย เพราะรัฐไทยกลัวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยเฉพาะประวัติศาสตร์ท้องถิ่นปาตานี ซึ่งในอดีตพูดไม่ได้ รวมถึงไม่กล้าพูด เช่น คำว่า NAGARA PATANI หรือ ประเทศปาตานี ซึ่งมองว่าแนวโน้มจะยิ่งอันตรายมากขึ้นเมื่อการบิดเบือนประวัติศาสตร์จากส่วนกลาง

นายฮาซัน กล่าวว่า เมื่อเด็กเรียนประวัติศาสตร์จากโรงเรียนของรัฐแบบหนึ่ง แต่เมื่อเรียนในพื้นที่ เช่น โรงเรียนตาดีกาก็สอนอีกแบบหนึ่ง แน่นอนว่าเด็กย่อมเชื่อคนในพื้นที่ของเขามากกว่าครูจากโรงเรียนของรัฐอยู่แล้ว จนบางครั้งโรงเรียนตาดีกาถูกมองในแง่ลบ ทั้งที่รัฐไทยควรทบทวนว่าแบบเรียนในโรงเรียนของรัฐสอนครบถ้วนหรือยัง

นายฮาซัน กล่าวว่า ตนและทีมงานศึกษาประวัติศาสตร์จากเอกสารที่มีอยู่แล้วและต่อยอดเป็นงานวิจัยประวัติศาสตร์ แต่ที่แตกต่างคือ ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์หลัก เช่น ประวัติศาสตร์กรือเซะ บานา จะบังติกอ เป็นต้น แต่จะศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นด้วย โดยศึกษาจากการบอกเล่า ซึ่งอาจไม่ได้รับการยอมรับในทางวิชาการ แต่ก็มีเอกสารหลักฐานอยู่บ้างแต่เอกสารส่วนใหญ่เป็นภาษามลายูทั้งอักษรยาวีและอักษรรูมี

นายฮาซัน กล่าวว่า ปาตานีในอดีตเป็นสังคมแห่งการจดบันทึก โดยเฉพาะในรูปแบบตำราศาสนา เกินครึ่งของจำนวนตำราศาสนาที่ค้นพบ พบว่ามีอย่างน้อย 3 แผ่นสุดท้ายของตำราจะบรรยายถึงสภาพสังคมปาตานี รวมไปถึงประวัติศาสตร์อีกด้วย และโชคดีที่รัฐไทยอ่านภาษามลายูอักษรยาวีไม่ออก ไม่อย่างนั้นอาจถูกเก็บไปหมด รวมถึงมีการซุกซ่อนไว้และปัจจุบันเริ่มมีการนำออกมาเผยแพร่ได้แล้ว

นายฮาซัน มองว่า ควรศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้มากขึ้น และควรเปิดโอกาสในการเผยแพร่ประวัติศาสตร์ ซึ่งก็มีบ้างแล้วแต่ส่วนมากยังเผยแพร่เนื้อหาแบบผิดๆ เช่น ในรูปละคร หนัง เป็นต้น ซึ่งมีการบินเบือนตัวละครในประวัติศาสตร์มากจนเกินไป นอกจากนั้นรัฐไทยยังต้องปรับจินตภาพที่มองรัฐไทยเป็นรัฐเดียว เช่น มองเพียงแค่ สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี โดยที่ไม่ได้มองล้านนา พิษณุโลก ลังกาสุกะ เป็นต้น

นายฮาซันกล่าวว่า ตนอาจมองต่างจาก ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ที่เสนอว่านักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นปาตานีจะต้องมีความเป็นกลาง ตนเองในฐานะนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นซึ่งมีเชื้อสายมาจากโมกุล พยายามนำเสนอประวัติศาสตร์ด้วยความเป็นกลาง แต่สิ่งที่ค้นพบจากการวิจัยมากกว่า 90% พบว่าเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล ซึ่งทุกคนรวมไปถึงรัฐไทยจะต้องรับให้ได้ และการสร้างความเข้าใจจะสร้างสันติภาพได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net