Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


"Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely. Great men are almost always bad men."(อำนาจนำมาซึ่งการฉ้อฉล อำนาจที่เบ็ดเสร็จยิ่งทำให้ฉ้อฉลได้อย่างเบ็ดเสร็จ มหาบุรุษทั้งหลายเกือบทั้งหมดมักเป็นคนเลว)               Lord Acton (ลอร์ด แอกตัน )


เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในวงวิชาการรัฐศาสตร์แล้วว่า “การเมืองเป็นเรื่องของการจัดสรรอำนาจ” ไม่ว่าการจัดสรรอำนาจนั้นจะโดยวิธีการใด จะมาโดยการเลือกตั้งหรือไม่ได้มาจาการเลือกตั้งเช่นในไทยเราปัจจุบันนี้ก็ตามต่างก็ต้องถือว่านี่คือการเมือง เพราะไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งหรือสถาบันทางการเมืองใด เช่น คสช.,ครม.,สนช.,สปช. ฯลฯ ก็คือการจัดสรรอำนาจที่มาจากการยึดอำนาจนั่นเอง

อย่างไรก็ตามก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในวงวิชาการรัฐศาสตร์อีกเช่นกันว่า “อำนาจคือสิ่งเสพติด” หลายคนปรารถนาอำนาจ หลงเสน่ห์ของอำนาจ บางคนเสพติดอำนาจจนเสียคนไป ผู้ที่อยู่ในอำนาจรู้สึกมีความสุข มีความรู้สึกดีที่มีคนอยู่ใต้อำนาจของตน เขามีความรู้สึกดีเป็นพิเศษในการที่มีคนคอยพินอบพิเทา แต่ทันทีที่เขาสูญเสียอำนาจ เขาจะเหมือนคนที่ติดยาเสพติด เขาจะกลายเป็นคนละคน เพราะการเสพติดอำนาจนั้นสร่างยากกว่าการเสพติดอย่างอื่น ผู้คนที่ไม่รู้เท่าทันทั้งหลายจึงต่างมุ่งแสวงหาอำนาจ เพราะอำนาจทำให้คนเสพติดนั่นเอง

หลายๆคนที่เคยเป็นคนที่เข้าท่าหรือมีประวัติดีเด่นมาโดยตลอดกลับต้องมาเสียผู้เสียคนเมื่อมีอำนาจเพราะคนข้างเคียงที่สรรเสริญเยินยอเกินกว่าเหตุ ดังเช่น สมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามที่หลวงวิจิตรวาทการลงทุนกราบเท้าแล้วบอกว่าเห็นแสงออกมาจากลำคอของจอมพล ป.เหมือนฉัพพรรณรังสี หรือในสมัยนี้ก็มีผู้คนรอบข้างต่างพากันสรรเสริญเยินยอผู้นำว่ามีความสามารถเกินคนธรรมดามากขึ้นทุกวี่ทุกวัน เช่น แต่งเพลงก็เก่ง ทำงานก็เก่ง  พูดก็เก่ง พูดได้ทุกเรื่องเป็นชั่วโมงๆฯลฯ จนผมเกรงว่าท่านผู้นำของผมจะเสียผู้เสียคนไป

กอปรกัปคำกล่าวของลอร์ด แอกตัน ชาวอังกฤษที่ผมยกขึ้นมาเป็นปฐมบทว่า"Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely. Great men are almost always bad men."(อำนาจนำมาซึ่งการฉ้อฉล อำนาจที่เบ็ดเสร็จยิ่งทำให้ฉ้อฉลได้อย่างเบ็ดเสร็จ มหาบุรุษทั้งหลายเกือบทั้งหมดมักเป็นคนเลว) นั้น ก็ยิ่งทำให้เกิดโอกาสที่เกิดการเสพติดและฉ้อฉลได้มาก เพราะท่านควบตำแหน่งที่สำคัญๆมากมาย

บทเรียนในประวัติศาสตร์ชาติไทยมีให้เห็นเป็นบทเรียนมาแล้วมากมาย อาทิ กรณีจอมพล ป.ที่จบด้วยการต้องไปเสียชีวิตที่ญี่ปุ่น/ จอมพลสฤษดิ์ที่ตายคาตำแหน่งแล้วทรัพย์สมบัติก็ถูกยึด /จอมพลถนอม จอมพลประภาสก็นักศึกษาประชาชนขับไล่จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 แล้วก็ถูกยึดทรัพย์อีกเช่นกัน/ พล.อ.สุจินดาก็ต้องออกจากตำแหน่งเพราะถูกขับไล่เพราะไป “เสียสัตย์เพื่อชาติ”/ พล.อ.สนธิ ก็ถูกประณามหยามเหยียดจากวงการเดียวกันว่าทำให้เสียชื่อเสียงกองทัพและทำให้เสียของ ฯลฯ

ประเทศไทยเราตอนนี้อยู่ในสภาวการณ์ที่เสี่ยงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเลยก็ว่าได้ ที่กล่าวเช่นนั้นไม่ใช่ด้วยเหตุเพียงเพราะที่มาของรัฐบาลมาจากการรัฐประหารซึ่งประเทศไทยเราในอดีตก็ผ่านมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งนี้ผิดจากในอดีตมากมาย ที่ผิดแผกแตกต่างนั้นมิใช่รูปแบบของการยึดอำนาจที่เราเห็นมาจนชินตาแล้วก็ว่าได้ การควบตำแหน่งหลายตำแหน่งในอดีตก็เคยมี เช่นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ที่เป็นทั้งหัวหน้าคณะปฏิวัติ(ที่ถูกต้องคือรัฐประหาร)และนายกรัฐมนตรีหรือจอมพลสฤษดิ์ก็เคยมีมาตรา 17 ซึ่งเหมือนกับมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57

แต่ที่แตกต่างกันลิบลับก็คือยุคสมัยในปัจจุบันก็คือโลกมันเปลี่ยนไป การติดต่อสื่อสารถึงกันทั่วโลกสามารถทำได้ภายในอึดใจเดียว ความสำนึกและหวงแหนในสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนมีมากมายกว่าแต่เดิมหลายเท่าพันทวี ที่สำคัญการเมืองระหว่างประเทศมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศจนไม่อาจอยู่เฉยหรือปิดประเทศอยู่ตามลำพังได้

อย่างไรก็ตามทุกปัญหาย่อมมีทางออกเพราะยังไม่สายเกินไปที่จะแก้ไข ประเด็นแรก คือ ประเด็นของการเสพติดอำนาจนั้นยังอยู่ในระยะเวลาที่ยังไม่ถลำลึกจนเกินไปนัก ยังสามารถแก้ไขได้ เพียงแต่ผู้ที่ใกล้ชิดต้องให้ข้อมูลที่แท้จริงเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะที่ผิดพลาดเห็นๆมีอยู่หลายเรื่อง เช่น การสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นและให้ฝ่ายประจำรักษาการกรณีฝ่ายบริหารว่างลงจนวุ่นวายไปทั่ว ซึ่งผมยังนึกภาพไม่ออกว่า หากท้องถิ่นทั้งหลายพากันลาออกเพื่อประท้วงพร้อมกันทั้งประเทศ ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไรถ้าประชาชนไม่ยอมรับคนที่ถูกแต่งตั้งเข้ามา ฯลฯ

ที่สำคัญที่สุดที่ต้องรีบป้องกันมิให้เกิดขึ้นก็คือการเสพติดอำนาจจนต้องมีการวางแผนตั้งพรรคการเมืองไว้รองรับการสืบทอดอำนาจ เพราะบทเรียนในอดีตก็มีตัวอย่างให้เห็นชัดแล้วว่าจบลงอย่างไม่สวยงาม คือพรรคเสรีมนังคศิลาและพรรคสามัคคีธรรม เป็นต้น

ประเด็นต่อมาคือการรวมอำนาจไว้ที่บุคคลคนเดียวหรือกลุ่มเดียวนั้นต้องแก้ให้ได้โดยการกระจายอำนาจหรือกระจายตำแหน่ง ไม่ผูกติดไว้แต่เพียงเฉพาะตนเองและเหล่าเสนาอามาตย์ทั้งหลาย เพราะบทเรียนในประวัติศาสตร์มีให้เห็นเยอะแล้ว อยู่ที่ว่าท่านผู้นำจะเลือกเดินทางสายใดระหว่างการเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย

ถ้าไม่รู้ประวัติศาสตร์ก็เหมือนคนตาบอด แต่ถ้ารู้ประวัติศาสตร์แล้วไม่นำมาเป็นบทเรียนและไม่เชื่อฟังใครก็เหมือนคนที่เคยตาดีและหูดี แต่กลับมาตาบอดและหูหนวกภายหลังเพราะสิ่งเสพติดที่เรียกว่า “อำนาจ”นั่นเอง

 

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 17 กันยายน 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net