Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หลังเกิดกรณีทหาร ตำรวจสั่งปิดกิจกรรม “ห้องเรียนประชาธิปไตย” ที่ธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนเราจะรู้สึกกัน (ในกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง) ว่า “เสรีภาพทางวิชาการถูกละเมิดอย่างรุนแรง”

แต่ถามว่าสังคมไทยเคยเป็นสังคมที่มีเสรีภาพทางวิชาการมาก่อนจริงหรือ?

อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยเขียนในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ถ้าเราไม่มีเสรีภาพศึกษาเรื่อง X แม้เพียงเรื่องเดียวก็เท่ากับสังคมเราไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ” จำได้ว่าตอนนั้นมีนักวิชาการหลายคนเถียงอาจารย์สมศักดิ์ (ต่อหน้าบ้างลับหลังบ้าง) บางคนก็มองความเห็นของอาจารย์สมศักดิ์เป็น “เรื่องตลก” ไปเลยก็มี (การไม่ get ประเด็นที่ อ.สมศักดิ์เสนอในบริบทประวัติศาสตร์การเกิดปัญหาลิดรอนเสรีภาพที่ชัดแจ้งขนาดนี้ สำหรับคนในแวดวงวิชาการเป็นเรื่องที่ไม่อาจเข้าใจได้)

มีบางข้อโต้แย้งที่อ้างทำนองว่า เสรีภาพมันอยู่กับตัวเราแต่ละคนตลอดเวลา หากเราจะใช้เสรีภาพนั้นศึกษาเรื่องอะไรที่เราต้องการ เราก็ใช้มันได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องรอให้แก้กฎหมายมาตรานั้นมาตรานี้ก่อนถึงจะมีเสรีภาพ

ข้อโต้แย้งนี้ไม่ตรงประเด็น เพราะประเด็นที่อาจารย์สมศักดิ์พูดถึงไม่ใช่ประเด็นว่า “เสรีภาพเป็น nature อย่างหนึ่งของมนุษย์หรือไม่?” แต่ประเด็นที่อาจารย์สมศักดิ์พูดถึงคือ เสรีภาพที่อยู่ในรูปของกติกาทางสังคมการเมือง แม้ในปรัชญาบางแนวคิดจะมองว่าเสรีภาพในรูปกติกาทางสังคมการเมือง ย่อมเชื่อมโยงกับเสรีภาพระดับธรรมชาติของมนุษย์ด้วย แต่เมื่อพูดถึงเสรีภาพทางวิชาการเรากำลังพูดถึงเสรีภาพตามกติกาบางอย่าง

อาจารย์สมศักดิ์นิยามว่า “เสรีภาพทางวิชาการในความหมายของโลกสมัยใหม่นั้น หมายถึงความมีอิสระที่จะศึกษาเรื่องใดๆ ก็ได้ที่เราอยากศึกษา” แปลว่าเสรีภาพทางวิชาการครอบคลุม “ทุกเรื่อง” ที่เราต้องการจะศึกษา (ตราบที่ไม่ละเมิดสิทธิพลเมือง หรือไม่ก่ออันตรายแก่คนอื่นหรือสังคม) ตัวอย่างที่อาจารย์สมศักดิ์ยกมาอธิบายนิยามดังกล่าว สรุปใจความสำคัญได้ว่า

สมมติว่าในโลกนี้มีเรื่องให้เราศึกษาได้ทั้งหมดตั้งแต่เรื่อง a-z การมีเสรีภาพทางวิชาการย่อมหมายความว่าเรามีอิสระในการศึกษาทุกเรื่องตั้งแต่ a-z ถ้ามีเรื่องใดเรื่องหนึ่งเช่นเรื่อง a ถูกบังคับหรือถูกห้ามทำการศึกษาในมาตรฐานเดียวกับเรื่องอื่นๆ ก็แปลว่าเสรีภาพทางวิชาการไม่มีอยู่จริง ดังนั้นในสังคมไทยเมื่อไม่มีเสรีภาพศึกษาเรื่อง x ในมาตรฐานเดียวกับเรื่องอื่นๆ เสรีภาพทางวิชาการจึงไม่มีอยู่จริง (เพราะสิ่งที่เรียกว่า “เสรีภาพทางวิชาการ” ในความหมายของโลกสมัยใหม่คือ “การมีอิสระในการศึกษาทุกเรื่อง”)

ตามนิยามและคำอธิบายข้างบนนี้ แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยไม่มีเสรีภาพทางวิชาการในความหมายแบบโลกสมัยใหม่อยู่ก่อนเนื่องจากเราไม่มีเสรีภาพศึกษาเรื่อง x ในมาตรฐานเดียวกับเรื่องอื่นๆ ฉะนั้น เพราะผลของความไม่มีเสรีภาพดังกล่าว จึงทำให้ ณ ปัจจุบันนี้เราจะศึกษาเรื่อง “ประชาธิปไตย” ก็ไม่ได้ หรือเปิดกิจกรรม “ห้องเรียนประชาธิปไตย” ไม่ได้เป็นต้น

แต่จริงๆ แล้ว เราเคยมีเสรีภาพศึกษาเรื่อง “ประชาธิปไตย” กันอย่างแท้จริงมาก่อนจริงๆหรือ? นี่อาจเป็นประเด็นที่เราไม่เคยสนใจตั้งคำถามกันอย่างจริงจัง เพราะเราชินกับความรู้สึกว่าตนเองมี “เสรีภาพตามที่ชนชั้นปกครองให้มา” ไม่เคยสัมผัสเสรีภาพตามกรอบเสรีประชาธิปไตย (หรือถ้าใครพยายามต่อสู้เพื่อให้มีเสรีภาพเช่นนั้นอย่างจริงจัง ก็มักจะมีอันเป็นไป)

ความเคยชินกับเสรีภาพที่ชนชั้นปกครองให้มา แสดงออกผ่านความเห็นที่ให้สัมภาษณ์สื่อของผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางแห่งว่า “เสรีภาพทางวิชาการในสถานการณ์ขณะนี้ต้องดูความเหมาะสม ความพอดี เพราะยังมีกฎอัยการศึก การจัดเสวนาทางวิชาการต้องดูด้วยว่าเป็นวิชาการล้วนๆ หรือสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความแตกแยกหรือไม่ คนที่จะเชิญมาเป็นวิทยากรก็ต้องดูความเหมาะสมด้วย” นี่เป็นความเห็นที่ไร้สาระจนผมไม่อยากเถียงด้วย แต่ยกมาเพื่อเป็นตัวอย่างของวิธีคิดที่เคยชินกับเสรีภาพที่ชนชั้นปกครองให้มา ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบยินยอมพร้อมใจปรับตัวตามดุลพินิจของฝ่ายที่ยึดกุมอำนาจนำทางการเมืองตลอดเวลา

ย้อนไปที่ข้อโต้แย้งตอนต้นที่ว่า “เสรีภาพอยู่กับตัวเราตลอดเวลา” หากมองข้อโต้แย้งนี้อย่างสัมพันธ์กับเสรีภาพทางวิชาการก็มีเหตุผลในแง่ว่า เพราะเสรีภาพมีอยู่กับตัวเราตลอดเวลาเราจึงต้องปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ เพราะนั่นคือการปกป้องกติกาที่รองรับให้เสรีภาพที่อยู่กับตัวเราตลอดเวลาได้แสดงตัวอออกอย่างสง่างาม

แต่อันที่จริงความคิดเรื่อง “เสรีภาพ” ค่อนข้างซับซ้อน ขอยกตัวอย่างความคิดต่างกันสองความคิดคือ ความคิดของจอห์น สจ๊วต มิลล์นักปรัชญาเสรีนิยม เขาเสนอว่าปัจเจกบุคคลควรใช้เสรีภาพได้เต็มที่ ตราบที่ไม่ละเมิดเสรีภาพของคนอื่น หรือไม่ก่ออันตรายแก่คนอื่นและสังคม สำหรับมิลล์แล้ว สมมติว่าในสังคมหนึ่งถ้ามีคนแม้เพียงคนเดียวเห็นต่างจากคนในสังคมทั้งหมด คนทั้งหมดในสังคมนั้นก็ไม่มีสิทธิใช้อำนาจเผด็จการปิดปากเขา หรือถ้าคนเพียงคนเดียวนั้นมีอำนาจรัฐเขาก็ไม่มีสิทธิใช้อำนาจเผด็จการปิดปากคนทั้งหมดในสังคมที่เห็นต่างจากเขา เหตุผลของมิลล์คือ “การให้เสรีภาพแก่ความเห็นต่างจะก่อให้เกิดอรรถประโยชน์แก่สังคมโดยรวมในระยะยาวมากกว่าการปิดกั้นเสรีภาพ”

แต่ถ้ามองจากความคิดของอิมมานูเอล ค้านท์ เราจะพบข้อโต้แย้งความคิดของมิลล์อย่างแหลมคม กล่าวคือ ค้านท์เห็นด้วยกับหลักการไม่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่างของมิลล์ แต่เขาไม่เห็นด้วยที่มิลล์วางเสรีภาพไว้บนฐานของ “อรรถประโยชน์” เพราะถ้าคิดว่าเสรีภาพมีค่าเพราะว่ามันมีประโยชน์หรือก่อให้เกิดประโยชน์ตามที่เราต้องการ ปัญหาที่ตามมาคือนิยาม “ประโยชน์” มันลื่นไหล ไม่แน่นอน คนแต่ละกลุ่มย่อมนิยามประโยชน์ไม่เหมือนกัน ผลก็คือชะตากรรมของเสรีภาพก็ไม่มีความแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าในสังคมนั้นๆ คนกลุ่มไหนมีอำนาจในการนิยามหรือบอกว่าอะไรคือประโยชน์ของส่วนรวม แล้วเขาย่อมจะอ้างประโยชน์ของส่วนรวม (ตามนิยามของเขา) นั้นมาเป็นเงื่อนไขจำกัดเสรีภาพได้เสมอ

ข้อโต้แย้งแบบค้านท์มีน้ำหนักมากทีเดียว เราสามารถยกตัวอย่างให้เห็นได้มากมาย เช่น รัฐบาลจากรัฐประหาร ก็อ้างว่าเพื่อ “ประโยชน์ของชาติ” (เช่นความสงบสุข ความปรองดอง คืนความสุข ให้ประเทศเดินหน้าได้ ฯลฯ) จึงจำเป็นต้องจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองและเสรีภาพทางวิชาการ

แต่เพื่อให้ความเป็นธรรมกับมิลล์ เราต้องเข้าใจว่าสำหรับมิลล์แล้วเวลาพูดถึง “ประโยชน์ส่วนรวม” อย่างมีความหมาย ต้องพูดภายใต้กติกาที่เปิดให้สมาชิกของสังคมทุกคนมีเสรีภาพที่เท่าเทียมในการอภิปรายถกเถียงว่าอะไรคือประโยชน์ส่วนรวม การอ้างประโยชน์ส่วนรวมที่ปฏิเสธเสรีภาพในการแสดงออกย่อมเป็น “เรื่องไร้สาระ” สำหรับมิลล์

อย่างไรก็ตาม ข้อโต้แย้งของค้านท์ชี้ให้เราเห็นปัญหาว่า ถ้าเสรีภาพวางอยู่บนฐานของอรรถประโยชน์ ก็แปลว่าเสรีภาพไม่ได้มีค่าในตัวมันเอง ค่าของมันขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่เราคาดว่าการมีเสรีภาพจะก่อให้เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้มันจึงเปิดช่องให้มีการอ้างประโยชน์ตามนิยามต่างๆ มาเป็นเงื่อนไขของการกำหนดให้มีเสรีภาพมาก หรือน้อย (หรือกระทั่งลบมันออกไป) ได้เสมอ

ดังนั้น ค้านท์จึงเสนอว่า เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเราต้องวางเสรีภาพไว้บนฐาน “ความเป็นมนุษย์” เท่ากับเสรีภาพกับความเป็นมนุษย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่อาจแยกจากกันได้ เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงไม่อาจอ้างเหตุผลใดๆ เพื่อละเมิดเสรีภาพได้ เพราะการละเมิดเสรีภาพเท่ากับละเมิดหรือลดทอนความเป็นมนุษย์โดยตรง แต่ความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งมีค่าสูงสุดที่ละเมิดไม่ได้ จะอ้างประโยชน์ (เช่น ประโยชน์ของชาติ ฯลฯ) หรือเหตุผลใดๆ มาเป็นเงื่อนไขละเมิด ลดทอน หรือทำลายความเป็นมนุษย์ไม่ได้

หรือพูดอีกอย่างว่า การละเมิดความเป็นมนุษย์คือการละเมิดศีลธรรมหรือการทำลายศีลธรรมในระดับ “รากฐาน” ที่สุด จึงเป็นไปไม่ได้ที่สังคมใดๆ จะสร้างหรือส่งเสริมศีลธรรมขึ้นมาได้บนการละเมิด ลดทอน และทำลายความเป็นมนุษย์ของประชาชน

ความเป็นมนุษย์ในความหมายของค้านท์ หมายถึง “ความเป็นสัตที่มีเหตุผล (rational being)” ค้านท์มองว่าความเป็นสัตที่มีเหตุผลคือคุณค่าที่ยืนยันความเป็นผู้มีเป้าหมายในตัวเอง ซึ่งแปลว่า ทุกคนมีคุณค่าหรือมีความสง่างามมีศักดิ์ศรีในตัวเองอย่างเสมอภาค หรือมีความเป็นมนุษย์เท่ากัน ดังนั้น ทุกคนต้องถูกปฏิบัติอย่างเคารพในความเป็นมนุษย์เสมอกัน นี่คือหลักการของค้านท์ที่ถูกนำไปสนับสนุนหลักสิทธิมนุษยชน ตามหลักสิทธิมนุษยชนนั้น เราไม่อาจเลือกปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยเหตุผลเรื่องความแตกต่างใดๆ ได้ เพราะแม้มนุษย์แต่ละที่ในโลกจะมีความแตกต่างในเรื่องเพศ สีผิว ชาติพันธุ์ ศาสนา ภาษา และฯลฯ แต่ทุกคนมี “ความเป็นมนุษย์” เสมอภาคกันที่ต้องถูกเคารพอย่างเท่าเทียมกัน

แน่นอน ตามข้อเท็จจริงทางสังคม วัฒนธรรม เราอาจพบว่าไม่มีที่ไหนสักแห่งในโลกที่มนุษย์ถูกปฏิบัติอย่างเคารพในความเป็นคนเท่ากันอย่างแท้จริง แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้นไม่ใช่ข้ออ้างที่มีเหตุผลให้เราควรโยนทิ้งหลักการที่ว่า “เราทุกคนมีความเป็นมนุษย์เสมอภาคกัน” เพราะปราศจากหลักการนี้แล้ว เราย่อมไม่มีรากฐานรองรับศีลธรรมและความยุติธรรมใดๆ ที่สมเหตุสมผลไปกว่านี้

สำหรับค้านท์ ความเป็นมนุษย์กับเสรีภาพ หรือความเป็นสัตที่มีเหตุผลกับเสรีภาพไม่อาจแยกจากกันได้ ดังนั้น การละเมิดเสรีภาพเท่ากับละเมิดความเป็นมนุษย์ ลองนึกภาพดู ขณะที่อาจารย์กับนักศึกษาจำนวนมากกำลังจัดกิจกรรม “ห้องเรียนประชาธิปไตย” นั่นย่อมแปลว่าพวกเขากำลังใช้ความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผลและเสรีภาพทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสิ่งซึ่งมนุษย์พึงจะเรียนรู้ อยู่ๆ ทหารและตำรวจก็เข้าไปใช้อำนาจ (อะไรไม่รู้?) สั่งให้พวกเขาหยุดการเรียนรู้ นี่คือการละเมิดความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรงที่สุด เพราะการใช้เหตุผลและเสรีภาพเป็นการแสดงออกซึ่งความสง่างามและศักดิ์ศรีของมนุษย์ การปิดกั้น ลดทอน ทำลายการใช้เหตุผลและเสรีภาพก็คือการปิดกั้น ลดทอน ทำลายความเป็นมนุษย์ ไม่มีสังคมไหนในโลกจะปฏิรูปให้เป็นสังคมอารยะได้ด้วยการทำลายความเป็นมนุษย์ของประชาชน

สุดท้าย ผมขอสรุปว่า “เสรีภาพทางวิชาการ” ที่เราต้องปกป้อง ไม่ใช่เสรีภาพที่สงวนใช้เฉพาะแต่นักวิชาการหรือคนในประชาคมวิชาการเท่านั้น แต่เป็นเสรีภาพของประชาชนทุกคนที่จะใช้ความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผลของตัวเองในการปกป้องความจริง ความถูกต้อง ความยุติธรรม และอื่นๆ ตามที่เหตุผลของมนุษย์จะแสวงหา เรียนรู้ คิดค้น และแสดงออกมาได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net