รายงาน: เดจาวู(déjà vu): เมื่อเสรีภาพปิดปรับปรุงอีกครั้งและอีกครั้ง

 

หลายคนคงเคยสัมผัสถึงปรากฏการณ์ที่เรียกว่า เดจาวู อยู่บ้าง มีนักวิชาการที่ศึกษาปรากฏการณ์นี้อยู่หลายคน ไม่ว่าจะเป็น Frederic W.H. Myers,  Pierre Gloor และArthur Funkhouser แต่ละคนต่างก็สร้างคำอธิบายหรือทฤษฏีสำหรับใช้ทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามคำว่า déjà vu เป็นคำที่เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า “เคยเห็นมาก่อนแล้ว”และเรานิยมนำมาใช้เรียกปรากฏการณ์ทั้งในทางส่วนตัวหรือทางสังคมที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนว่าเคยเกิดมาก่อนหน้านี้หรือเคยสัมผัสความรู้สึกเช่นนี้มาก่อน

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังการยึดอำนาจของ คสช. เมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมา พื้นที่ในการต่อรองผลประโยชน์ต่างๆ ที่หดหายไป พื้นที่ในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นว่า “ไม่เห็นด้วย” ที่กำลังถูกลบเลือนลงไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างพื้นที่ทางวิชาการ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนในตลอดช่วงประวัติศาสตร์การเมืองไทย หากแต่เป็นสิ่งที่กำลังขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก นี่อาจเป็น เดจาวู ร่วมกันของสังคมไทยครั้งใหญ่อีกครั้งเลยก็ว่าได้  

ภายหลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เปิดเผยรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ในช่วง 100 วันที่ผ่านมาว่า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เรียกตัวบุคคลให้ไปรายงานตัวอย่างน้อย 571 คน ประชาชนถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 266 คน โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับเสื้อแดงถูกจับกุมหรือเรียกตัวมากที่สุดคือ 396 คน รองลงมาคือนักวิชาการและนักกิจกรรม 142 คน และประชาชนผู้ชุมนุมโดยสงบ 98 คน”(อ่านรายงานฉบับเต็ม) เป็นที่น่าสังเกตว่านอกจากจำนวนผู้ที่ถูกเรียกไปรายงานตัวจะมากอย่างน่าตกใจ บรรดาผู้ถูกเรียกหลายคนยังไม่ได้ดำรงสถานะตำแหน่งทางการเมืองหรือเป็นแกนนำในการประท้วงแต่อย่างใด เป็นเพียงประชาชนคนธรรมดา

นอกจากนี้พื้นที่ในการแสดงออกซึ่งความไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง และแนวนโยบายของคสช. หรือรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็หดแคบลงทุกที ตัวอย่างเช่นกรณีคำสั่งของคสช. ที่64/2557 และ 66/2557 ในเรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการทำลายทรัพยากรป่าไม้ และเรื่องการเพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ในทางปฏิบัติได้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กำลังเป็นข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้ารัฐและชุมชน โดยในหลายพื้นที่กำลังมีกระบวนการในการต่อรอง เจรจาสร้างข้อตกลงและหาทางออกร่วมกัน กลับกลายเป็นการใช้อำนาจเข้าบีบบังคับและกำหนดเงื่อนไขให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่ หรือมีการเข้าไปตัดสวนยางของชาวบ้านในพื้นที่พิพาท จำนวนหลายร้อยไร่ พื้นที่ของการใช้เสรีภาพในการต่อรองค่อยๆ เลือนหายไป

ขณะเดียวกัน ช่วงเร็วๆ นี้ดูเหมือนสังคมเพิ่งจะพบเห็นการรุกคืบเข้าละเมิดเสรีภาพทางวิชาการแบบจังๆ ทั้งจากกรณีความอิหลักอิเหลื่อของเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่าจะให้จัดหรือไม่ในกรณีการจัดกิจกรรมเสวนาห้องเรียนประชาธิปไตย ครั้งที่1 กรณีของการขอความร่วมมือยุติการจัดกิจกรรมเสวนา “ความยุติธรรมที่ปิดปรับปรุง” กรณีการเข้ายุติห้องเรียนประชาธิปไตยครั้งที่2 กลางคัน โดยได้เชิญตัวนักศึกที่จัดงาน และอาจารย์ที่เป็นวิทยากรในงานทั้ง 4  คน ไปที่สถานีตำรวจภูธรคลองหลวงเพื่อพูดคุยทำความเข้าใจร่วมกัน กรณีการขอความร่วมมืองดจัดกิจกรรมเสวนาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้งสองหัวข้อ คือเรื่องความสุขและการปรองดองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 และงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “ปี๊บ”

 เดจาวู เสวนาถูกระงับอีกแล้ว !

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในการขอความร่วมมือเลื่อนจัดงานเสวนาในหัวข้อ”ปี๊บ”ออกไป ว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 สองนายเข้ามาพูดคุยขอความร่วมมือให้เลื่อนการจัดงานเสวนาครั้งนี้ไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะปกติ โดยมีความกังวลว่างานเสนาครั้งนี้จะเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ก่อนที่จะออกคำสั่งขอความร่วมมือออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร

ในขณะที่เอกชัย ไชยนุวัติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม หนึ่งในวิทยากร ในงานเสวนาหัวข้อ ”ความสุขและความปรองดองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557” ที่ถูกสั่งระงับ ได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวของการสั่งยกเลิกกิจกรรมเสวนาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์ จึงได้ถามทางผู้จัดงานว่างานเสวนาที่กำลังจะจัดขึ้นนั้นต้องรายงานให้ทางเจ้าหน้าทหารก่อนหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่าทางเจ้าหน้าที่ทหารสั่งให้งดจัดงาน

เมื่อถามถึงเหตุผลในยุติการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เอกชัยวิเคราะห์ว่า “อาจจะเป็นเพราะการจัดเสวนาที่จะเกิดขึ้นนี้ มีลักษณะของการจัดในพื้นที่เปิด และมีการเปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมฟังเสวนาจึงถูกระงับ ซึ่งผมถือเป็นการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการอย่างมาก”

ในขณะที่เหตุการณ์ห้องเรียนประชาธิปไตยล่มกลางคัน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ถึงที่สุดแล้วกลายมาเป็นเหตุการณ์จุดประเด็น และเป็นที่กล่าวถึงอย่างแพร่หลาย ถึงขั้น วิโรจน์ อาลี รองคณบดีฝ่ายการนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาแสดงความรู้สึกผิดหวังกับจุดยืนของผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยแสดงออกด้วยการนำปี๊บมาคลุมหัว เพื่อตั้งคำถามถึงจุดยืนต่อการเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับประชาไทถึงมุมมองของเขาในฐานะผู้บริหารว่า

“ผมในฐานะที่ผู้อนุญาตให้จัดกิจกรรมเสวนาครั้งนั้น เหตุก็เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องวิชาการ คือเป็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาอยู่แล้ว โดยนักศึกษาเขาก็ทำหนังสือขออนุญาตมา ผมก็อนุญาตไป เพราะไม่เป็นคิดว่ามันเป็นการชุมนุมทางการเมือง และทางด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายสถานที่เขาก็ให้อนุญาตในการใช้ห้องไป ก่อนหน้าที่จะจัดงานได้สองวันทางเจ้าหน้าที่ทหารเขาก็คงไปเห็นงานเสวนานี้ในเฟซบุ๊ก เขาก็โทรมาถามผมว่าทำไม่มีขออนุญาตก่อน ผมก็เห็นว่ามันเป็นงานเสวนาไม่ได้เป็นการชุมนุมทางการเมือง แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ขอความร่วมมือให้ยุติกิจกรรมครั้งนั้น ทางผมเห็นว่าเป็นการขอความร่วมมือเราก็น่าจะคุยกันได้ทั้งทางเจ้าหน้าที่และนักศึกษาที่เป็นผู้จัดงาน เพื่อให้มีการจัดงานต่อไปภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงกัน แต่ทางเจ้าหน้าที่ทหารก็ยืนยันว่ายอมให้จัดไม่ได้ ตัวผมเองก็ได้บอกกับนักศึกษาไปตามข้อเท็จจริงว่าทางมหาวิทยาลัยเราไม่ได้ห้าม คนห้ามคือคสช. ผมก็บอกนักศึกษาว่าพวกเราลองไปปรึกษาหารือกันดูว่าจะจัดต่อหรือไม่”

“ก่อนหน้าวันจัดงานหนึ่งวัน ทางทหารก็โทรมาบอกผมอีกครั้งว่า ถ้านักศึกษายังจัดก็จะจับ ผมก็ขอว่า อย่าจับได้ไหม อยากให้เป็นการพูดคุยความความเข้าใจกันมากกว่า เพราะหัวข้อที่พูดกันก็ไม่ได้เกี่ยวกับกรณีของประเทศไทย พอดีวันที่มีการจัดงานตัวผมเองไม่ได้อยู่มหาวิทยาลัยเพราะมีงานสอนข้างนอก ก็เลยมอบผู้อำนวยการกองกิจการนักศึกษาให้ดูแลและประสานงาน ซึ่งตอนนั้นผมก็ยังไม่รู้ว่านักศึกษาเขายังจะจัดกันอยู่หรือเปล่า  แต่สุดท้ายก็เป็นอย่างที่เกิดขึ้น ก็คือมีการเข้าไปยุติการจัดกิจกรรม แล้วการมีการเชิญตัวนักศึกษาและ อาจารย์ ผมก็ได้โทรไปคุยกับทางเจ้าหน้าที่ โดยตอนนั้นก็ขอว่าไม่อยากให้มีการจับกุม อยากให้ปล่อยตัว เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย อาจารย์ก็เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเรา แม้อาจารย์นิธิจะไม่ได้สอนที่ธรรมศาสตร์ แต่เราก็ถือว่านี่เป็นเรื่องที่เราต้องรับผิดชอบ ทางด้านเจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่าจริงๆ แล้วไม่ได้ตั้งใจจับจับกุมตัวหรือตั้งข้อหาอยู่แล้ว เพียงแค่ต้องการระงับการจัดงาน และเชิญมาพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกันเท่านั้น แล้วสุดท้ายเจ้าหน้าที่เขาก็ปล่อยตัวนักศึกษาอาจารย์ทั้งหมดออกมา”

“เมื่อถามว่าทางมหาวิทยาได้ปกป้องสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาและอาจารย์เพียงพอไหม อันนี้เราก็น้อมรับคำวิจารณ์ แต่ก็อย่างที่ทราบดีคือมันก็มีข้อจัดกัดอยู่ที่ยังมีกฎอัยการศึก”

ด้านผู้มีอำนาจ อย่างพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า “เรื่องนี้ได้มีการเชิญมาพูดหลายครั้งแล้ว และได้ขอร้องแล้วว่า อย่าเพิ่งพูดอะไรตอนนี้เลย เพราะบ้านเมืองกำลังเดินอยู่ วันนี้เรากำลังทำ 3 เรื่อง คือ บริหารประเทศ ปฏิรูป และการปรองดอง เพราะฉะนั้นนำเรื่องไปพูดพอขยายก็จะเป็นเรื่อง เมื่อคนที่หนึ่งพูดได้ คนที่สองสามสี่ ก็จะตามมา ตนก็ไม่ต้องทำงานกันพอดี แล้วจะเข้ามาทำไม”

“ท่านบอกว่าพอห้ามอย่างนี้ แล้วจะสอนเด็กนักเรียนอย่างไร มีเรื่องให้สอนตั้งเยอะใช่ไหม สอนเรื่องค่านิยม 12ประการ สอนให้ทุกคนมีประชาธิปไตยที่ถูกต้องอย่างไร ไอ้นี่พูดตรงข้ามรัฐบาลหมดมันไม่ได้ หรือโจมตีคสช.มันใช่หรือไม่”

ขณะเดียวกันนพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาเองก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเช่นกันว่า  “ถ้านักศึกษาและอาจารย์พูด คุยกันในห้องเรียน ไม่มีบุคคลภายนอก หรือจะเชิญวิทยากรจากที่อื่นมาคุยก็ไม่เป็นปัญหา แต่การประกาศเชิญชวนต่อสาธารณะ อาจไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะสังคมต้องการความสงบ ฝ่ายความมั่นคงกลัวจะเกิดข้อขัดแย้ง เพราะในอดีตก็เคยเกิดปัญหาทำนองนี้มาแล้ว ผมไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์บานปลาย อยากให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้นให้พ้นจากช่วงระยะเวลาไปนี้ไปก่อน ให้สังคมกลับมาสู่ความสงบ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะนานแค่ไหน”

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่แต่อย่างใด หากแต่เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต ทว่ามีบางสิ่งที่หลุดพ้นไจากสัมผัสพิศวงเดจาวูครั้งนี้ ดูเหมือนจะเป็นความกล้าหาญทางคุณธรรมของผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ยอมปล่อยให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น โดยไม่มีการปกป้องนักศึกษาอาจารย์ และไม่มียืนยันถึงจุดยืนของการเป็นมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่

สองมุมมอง ปริญญา-ประจักษ์ กับอนาคตที่น่ากังวล

หากพูดกันในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมาย ปริญญาได้แสดงความห่วงกังวลกับอนาคตของสังคมไทย โดยเกรงว่าเหตุการณ์จะบานปลายจนกลายเป็นพฤษภาทมิฬครั้งที่2

“ถ้าพูดในฐานะนักวิชาการคนหนึ่ง ผมคิดว่าถึงแม้ตอนนี้ยังมีกฎอัยการศึก แต่สถานการณ์มันไม่เหมือนกับตอนทำรัฐประหารใหม่ๆ คือการทำรัฐประหารก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอยู่แล้ว และประเทศไทยก็ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มามากมายที่เป็นเรื่องของการเรียกร้องประชาธิปไตย จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีเห็นที่ไม่เห็นด้วยและแสดงออกมา ทางทหารก็พยายามจะควบคุมสถานการณ์ในช่วงนี้ให้เหมือนกันช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมันไม่เหมือนกันแล้ว และตอนนี้เราก็มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว ในมาตรา 4 ก็ได้รับรองสิทธิเสรีภาพบรรดาที่เคยมีตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ฉบับถาวรก็ตาม ผมคิดว่าคสช. ควรจะต้องอดทนและเปิดกว้างมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น คือถ้าประเทศไทยไม่เคยมีประชาธิปไตยมาก่อนเลยก็เรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่เคยมีแต่โดนยึดไปก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีคนไม่เห็นด้วย ถ้าต้องการนำบ้านเมืองกลับสู่ประชาธิปไตย โดยไม่ให้มีความรุนแรงและนองเลือดอีกคสช.ต้องใจกว้างมากขึ้น”

“ส่วนในด้านของนักศึกษา ถ้าพูดในฐานะที่เคยอยู่ในเหตุการณ์เมื่อ 2534-2535 แล้วก็ถ้าดูจากประวัติศาสตร์การเมือง เราผ่านการนองเลือด การจับกุมมาแล้วหลายครั้ง เราไม่ควรต้องมาเจอกับเรื่องแบบนี้อีกแล้ว เรามีบทเรียนที่มากพอหากเราช่วยกันหาแนวทางที่เหมาะสมโดยไม่ต้องมาเสียเลือดเสียเนื้อกันอีก มันก็ยังเป็นสิ่งที่พอจะเป็นไปได้”

“อีกสิ่งหนึ่งที่ผมเป็นห่วงและอยากจะสื่อไปถึงคสช. คือตอนนี้สถานการณ์ตอนนี้มันคล้ายกันมากกับสถานการณ์ในปี 2534 เพราะรัฐธรรมนูญที่มีการร่างใหม่อยู่นี้ไม่ได้มีการตกลงทำประชามติก่อนประกาศใช้ ดังนั้นจะให้มันได้รับความชอบธรรมเหมือนปี 2550 ก็ไม่ได้ จะได้รับการยอมรับเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ในช่วงแรกๆ ก็ไม่ได้ แม้ปี 2540 จะไม่ได้มีการลงประชามติก็ตาม แต่เพราะที่มาของรัฐธรรมนูญปี 40 มาจากประชาธิปไตย ทีนี้ฉบับที่กำลังร่างอยู่ตอนนี้ที่มาก็ไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วก่อนจะประกาศใช้ก็ไม่เป็นประชาธิปไตยเพราะไม่ได้มีการลงประชามติ ดังนั้นความชอบธรรมของมันก็จะน้อยกว่าปี 2540 และปี 2550 ซึ่งอาจเทียบเคียงได้กับปี 2534  และถ้าหากว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างออกมา ในแง่ของเนื้อหาถ้าน้อยกว่ากว่าเดิม หมายถึงว่าก่อนที่จะหยุดใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 เคยมีเท่าใด แล้วตอนจะคืนอำนาจให้ประชาชนกลับได้น้อยกว่าเดิม  ตรงนี้อาจจะเกิดปัญหาได้ เราไม่ควรจะให้เกิดเหตุการณ์พฤษภา 2535 อีก ผมว่านี้เป็นสิ่งที่ต้องบอกกับทุกฝ่าย เราควรกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างสันติ และเราก็ควรจะเรียนรู้สักที แม้เราจะแก้อดีตไม่ได้แต่เราเรียนรู้จากอดีตได้ เพื่อทำปัจจุบันไม่ให้เกิดอนาคตที่ล้มเหลวอีก”

“ถ้าต้องการประชาธิปไตยที่มั่นคง ทางคสช.ก็ต้องใจกว้างมากขึ้น การใช้อำนาจแบบนี้มันก็สามารถควบคุมได้แค่ระยะเวลาหนึ่ง ดีสุดมันก็ต้องได้ใจ คือต้องเข้าใจว่าคนที่ไม่เห็นด้วยนั้นมีอยู่ แต่คนส่วนใหญ่เขารอ จากประสบการณ์ของผมเมื่อปี 2535 ที่คนออกมาชุมนุมกันเยอะๆ ไม่ได้เป็นเพราะตัวผู้ชุมนุมเอง มันเกิดจากฝ่ายผู้มีอำนาจต่างหากที่ทำให้รัฐธรรมนูญไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และมีการสืบทอดอำนาจให้ตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ พูดง่ายๆคือเงื่อนไขที่จะเกิดเหตุการณ์ต่างๆตอนนี้ผู้ชุมนุมไม่ได้เป็นด้านหลัก มันอยู่ที่ว่ากระบวนการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ถ้ามันเป็นประชาธิปไตยจริงๆ และทำให้คนยอมรับกันได้ก็คงไม่มีปัญหาอะไร” ปริญญากล่าว

ในขณะที่ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่าหลายๆ การกระทำของคสช. ทำให้กลับไปนึกถึงระบอบเผด็จการทหารในช่วงสฤษดิ์-ถนอม และช่วงธานินทร์  กรัยวิเชียร  ทว่าภายใต้ความเหมือนของการเข้าควบคุมและปิดกั้นเสรีภาพจากรัฐ ความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนกลับเปลี่ยนแปลงไปไกลเกินกว่าจะควบคุมได้ด้วยอำนาจอาญาสิทธิ์แบบเดิม

“จากเหตุการณ์นั้น(ยุติห้องเรียนประชาธิปไตยกลางคัน) และคำสัมภาษณ์ต่างๆ ที่ตามมาของฝ่ายคสช. เป็นที่ชัดเจนว่าเขาไม่ต้องการให้มีเสรีภาพทางวิชาการ โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อให้เกิดความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ก็ชัดเจนว่าเป็นความต้องการในการปิดกั้นพื้นที่ในการใช้เสรีภาพของนักวิชาการ รวมทั้งของสื่อและประชาชนด้วยทั่วไปด้วย พื้นที่ตรงนี้ก็หดแคบลงทุกที ยกเว้นแต่ว่าจะเป็นการพูดเชียร์รัฐบาล คือต้องพูดไปในทางเดียวกับที่รัฐบาลต้องการเท่านั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นเราไม่เรียกว่าเสรีภาพ เพราะเสรีภาพก็คือความสามารถที่เราจะคิดเห็นแตกต่างกัน คิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล หรือคิดเห็นแตกต่างจากคนในสังคม และสิ่งนี้มันคือพื้นฐานของการสร้างประชาธิปไตย แต่ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าผู้นำไม่ต้องการได้ยินเสียงที่แตกต่างจากที่ตัวเองต้องการ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนกลุ่มไหนทั้งสิ้น มันเลยทำให้ผมคิดว่าผู้นำต้องการปิดพื้นที่ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งหมด”

“สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้นึกถึงอยู่สองระบอบ คือระบอบสฤษดิ์ –ถนอม ในช่วงก่อน14 ตุลาคม ปี 16 กับอีกอันคือในช่วงของธานินทร์ กรัยวิเชียร หลัง 6 ตุลา ปี 19 แต่ระบอบธานินทร์ก็อยู่ได้เพียงปีเดียวเพราะว่าปิดกั้นเกินไป สำหรับผมมองว่าปีนี้มีการเปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนมากกว่าปี 34 และปี 49 ซะอีก”

“สำหรับปีนี้ถ้ายังมีการปิดกั้นต่อไปเรื่อยๆ ผมมองด้วยความกังวลว่าคงจะไม่ดีนัก เพราะการรัฐประหารครั้งนี้มันเกิดขึ้นในบริบทที่สังคมไทยได้เปลี่ยนไปมากแล้ว เปลี่ยนไปไกลกว่าปี 34 เยอะมากกระทั่งเปลี่ยนไปมากกว่าปี 49 แล้วด้วย สภาพสังคม ภาคประชาชนได้ตื่นตัวไปมากแล้ว แม้ว่าจะคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่ทุกๆ คนได้ตื่นตัวทางการเมือง และมีจิตสำนึกทางการเมือง ต้องการเข้ามามีส่วนรวมทางการเมือง ฉะนั้นมันเป็นไปได้ยากที่จะใช้อำนาจปิดกั้นไม่ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองเลย เพราะสังคมได้ตื่นขึ้นแล้ว เราไม่สามารถทำให้สังคมกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้แล้วด้วยอำนาจอาญาสิทธิ์ มันเป็นไปไม่ได้ จะมีก็แต่การเปิดให้มีบรรยากาศของการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางเท่านั้นที่จะทำให้สังคมไทย มีโอกาสเดินหน้าต่อไปได้และกลับไปสู่ประชาธิปไตย”

“หากผมสื่อไปถึงคสช.ได้ ผมคิดว่าไม่มีอะไรต้องกลัว โดยเฉพาะการจัดงานเสวนาทางวิชาการ หรือสัมมนาต่างๆ คือมันไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่ต้องกลัว นักวิชาการหรือนักศึกษาไม่ได้มีอำนาจอะไรอย่างอื่นหรอก มีแค่สมองและปากกาเท่านั้น มันไม่ใช่องค์กรทางการเมือง ไม่ใช่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง สิ่งที่เราทำก็เพียงแค่เรียกร้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยน อภิปรายแค่นั้นเอง แล้วลำพึงการทำแค่นี้มันไม่ทางไปสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐได้ ยกเว้นรัฐมันไม่มั่นคงจริงๆ มันมีแต่รัฐที่ไม่มั่นคงมากๆ เท่านั้นที่ต้องมากลัวการจัดเสวนาเล็กๆ ในมหาวิทยาลัยที่มีคนพูดแค่สามถึงสี่คน แสดงว่ารัฐนั้นเปราะบางมากในแง่ของฐานความชอบธรรมเพราะถ้ามีฐานความชอบธรรมที่แข็งแกร่งก็จะไม่ต้องกลัวคนมาพูดมาฟังงานเสวนา โดยเฉพาะคนมาฟังก็เป็นเพียงนักศึกษา สำหรับผมความกลัวนี้มันกลับสะท้อนว่า ในมิติหนึ่งเวลาเราพูดถึงระบอบเผด็จการทหารเรามักจะนึกถึงว่าพวกเขาจะสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวให้ประชาชนกลัวรัฐเพื่อที่จะปกครองได้ง่าย แต่จากการกระทำนี้ที่ผ่านมามันทำให้ผมคิดว่าตอนนี้รัฐกลัวประชาชนมากกว่า เพราะมันเป็นการตอบโต้ที่เกินเหตุจำเป็น ทำแบบนี้เป็นเพราะว่ารัฐกลัวประชาชนหรือเปล่า”

“จากสิ่งที่คสช.ทำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเล่นงานประชาชนทั่วไป นักวิชาการ รวมทั้งคนที่ออกมาต่อต้านหรือเรียกร้องอะไรต่างๆ มันเลยทำให้การรัฐประหารครั้งนี้แตกต่างไปจากการะทำรับประหารเมื่อปี 49 เพราะครั้งก่อนมันเป็นเพียงความต้องที่จะสลายขั้วการเมือง  แต่ครั้งนี้เป็นการรัฐประหารที่ต้องการปิดกั้นความเห็นต่าง สังเกตว่าครั้งที่แล้วคนที่โดนจับตาหรือเล่นงานจะเป็นกลุ่มนักการเมืองเป็นหลัก ไม่มีประชาชนธรรมดาเป็นเป้าหมายเลย ครั้งนี้มันเปลี่ยนไป ในแง่หนึ่งมันเป็นรัฐประหารที่พยายามจะกลับสู่การเมืองแบบชนชั้นนำ และกลายเป็นว่าชนชั้นนำอาจจะจับมือและต่อรองกันได้ เขาเลยพยายามปิดพื้นที่ทางการเมืองของภาคประชาชนทั้งหมด รวมทั้งของสื่อ ของนักวิชาการ ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามที่ฝืนหรือทวนกลับกระแสโลก หรือความตื่นตัวของประชาชนในประเทศไทยเอง การทำอะไรที่ฝืนกับการตื่นตัวของประชาชน ผมคิดว่ามันไม่เป็นผลดีในระยะยาว เพราะประชาชนตื่นตัวแล้ว และทุกฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนรวม และถ้าไม่มีพื้นที่ให้คนเข้ามามีส่วนรวมในทางการเมือง หรือการปฏิรูป มันไม่ทางที่จะปฏิรูปหรือมีประชาธิปไตยที่สมบรูณ์ได้ คือเพียงแค่การมีส่วนรวมจากสนช. และสปช. แค่นั้นยังไม่เพียงพอ และคนที่เข้าไปมีส่วนรวมตรงนั้นก็มีแต่ชนชั้นนำทั้งนั้น”

ท้ายที่สุด เราคงได้แต่้หวังว่า อย่าให้มีเดจาวู หรือความทรงจำว่าด้วยความรุนแรงทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกลับมาหลอกหลอนเราอีกครั้งเลย….

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท