Skip to main content
sharethis
ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จากจังหวัดอุดรธานี จำนวน 10 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย  กรุงเทพมหานคร  โดยมีนายบรรจง  ตรีกุล ผู้อำนวยการศูนย์ฯ มารับเรื่อง พร้อมเปิดห้องรับรองเพื่อให้กลุ่มชาวบ้านได้นั่งพูดคุย อธิบายปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช
 
 
 
เมื่อเวลา 09.00 น. ของวันที่ 26 ก.ย. 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จากจังหวัดอุดรธานี จำนวน 10 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย  กรุงเทพมหานคร  โดยมีนายบรรจง  ตรีกุล ผู้อำนวยการศูนย์ฯ มารับเรื่อง พร้อมเปิดห้องรับรองเพื่อให้กลุ่มชาวบ้านได้นั่งพูดคุย อธิบายปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช เป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง ก่อนที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จะนำหนังสือร้องเรียนไปลงรับเอกสารตามขั้นตอน 
 
ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลจำนวน  3 ข้อ ได้แก่ 1.) ขอให้ยกเลิกโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ที่รุกล้ำเขตทหารในส่วนของ กอรมน.ภาค ๒ และคลังแสงใต้ดิน และอยู่ท่ามกลางชุมชน  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และมีผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม 2.) ขอให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Impact Assessment: SEA) แหล่งแร่โปแตชภาคอีสาน เพื่อให้เป็นแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเกลือและโปแตช ภาคอีสานโดยรวม ก่อนที่จะมีการดำเนินการรายโครงการ และ3.) ขอให้ยุติกระบวนการขออนุญาตประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ เอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA ให้ได้ข้อสรุปอย่างสมบูรณ์ เพื่อให้เป็นทางเลือก และมีแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเกลือและโปแตช ภาคอีสานโดยรวม
 
นายเตียง  ธรรมอินทร์  กรรมการกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  กล่าวว่า กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช มาเป็นเวลากว่า 14 ปีแล้ว ผ่านมาหลายรัฐบาลและยื่นหนังสือกับทุกรัฐบาล แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข วันนี้จึงมายื่นกับรัฐบาลใหม่ผ่านศูนย์ดำรงธรรม เพราะว่าโครงการฯ ยังคงเดินหน้าในขั้นตอนประทานบัตร โดยที่มีข้าราชการตั้งแต่ระดับกรมเหมืองแร่, ผู้ว่าฯ ลงไปจนถึงผู้ใหญ่บ้านต่างให้การสนับสนุนกับบริษัทเหมือง ไม่ฟังเสียงคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่
 
“ตั้งแต่มีกฎอัยการศึกสั่งห้ามไม่ให้ชาวบ้านเคลื่อนไหว กลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็หยุดไม่มีการชุมนุมเรียกร้องใดๆ แต่ในพื้นที่กลับพบว่าบริษัทโปแตชไม่หยุด ยังคงเดินหน้าในขั้นตอนประทานบัตร จัดตั้งตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ โดยมีผู้ว่าฯ และข้าราชการในจังหวัดให้การสนับสนุน  วันนี้ชาวบ้านจึงตัดสินส่งตัวแทนมายื่นหนังสือร้องเรียนที่ส่วนกลาง เพราะถ้าร้องเรียนในจังหวัดก็คงไม่เป็นผล และไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา”  นายเตียงกล่าว
 
ด้านนายบรรจง  ตรีกุล  ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เมื่อรับเรื่องร้องเรียนของกลุ่มชาวบ้านแล้ว ก็จะดำเนินการตามขั้นตอน  นำเรียนผู้บังคับบัญชา คือปลัดกระทรวง เพื่อมีการตรวจสอบข้อร้องเรียน  ข้อเท็จจริงต่างๆ ทั้งในส่วนของหน่วยงาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นทางศูนย์ฯ ก็จะแจ้งกลับไปตามที่อยู่  หรือเบอร์โทรศัพท์ของผู้ร้อง และผู้ร้องสามารถติดตามเรื่องร้องเรียนได้ ตามเบอร์โทรศัพท์ของศูนย์ฯ ที่ให้ไว้
 
ขณะที่นายสุวิทย์  กุหลาบวงษ์  เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากการรัฐประหาร ช่องทางของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ถูกปิดกั้นทุกทาง โดยที่ไม่สามารถจัดการชุมนุมเรียกร้อง หรือเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองได้ และให้ฟังคำสั่งของรัฐบาลเท่านั้น  ซึ่งตนเห็นว่าไม่มีความเป็นธรรมต่อชาวบ้าน เพราะหลายพื้นที่มีปัญหาสั่งสมมายาวนานยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นกรณีป่าไม้ที่ดิน และกรณีเหมืองแร่ ที่กำลังเดือดร้อนกันทั่วประเทศ
 
“ที่ผ่านมาศูนย์ดำรงธรรม เป็นเพียงหน่วยงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ธรรมดาๆ ของชาวบ้านทั่วไป แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนระดับโครงสร้างอำนาจในการจัดการทรัพยากรได้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเปิดและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้ชาวบ้านมากกว่านี้ เพราะมันเป็นวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสังคมไทย ไม่ใช่การสั่งการจากผู้มีอำนาจเพียงอย่างเดียว” นายสุวิทย์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net