Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

1.บทนำ

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาได้เปลี่ยนระบบความสัมพันธ์ในชนบทอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ภาพจินตนาการชนบทที่ถูกสร้างในช่วงทศวรรษ 2490 แม้สะท้อนภาพสังคมชนบทในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี[1] อาทิ ชาวชนบททำการเกษตรกรรมแบบยังชีพ มีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม มีภูมิปัญญาที่ผ่านการสั่งสมมาเนิ่นนาน ในชนบทเต็มไปด้วยความช่วยเหลือเผื่อแผ่ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ฯลฯ แต่ทว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างสลับซับซ้อนในปัจจุบันที่ชาวชนบทผันตัวเองสู่การผลิตสมัยใหม่ในภาคเกษตรที่ใช้ทุนอย่างเข้มข้น ระบบการผลิตแบบยังชีพเปลี่ยนเป็นการผลิตเพื่อขาย การแลกเปลี่ยนแรงงานถูกแทนที่โดยการจ้างงาน ขณะที่ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยหันหลังให้ภาคเกษตรไปเป็นแรงงานนอกระบบ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้จึงเปลี่ยนระบบความสัมพันธ์ของชาวชนบท ทำให้ภาพจินตนาการสังคมชนบทในลักษณะเดิมไม่มีจริงอีกต่อไปแล้ว

แม้ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้น ทว่าผู้คนจำนวนมากยังคงถูกตรึงด้วยจินตนาการชนบทแบบเดิมอย่างเหนียวแน่น ยังเห็นว่าชนบทใน พ.ศ.นี้เป็นชนบทแบบโรแมนติค ชนบทเต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากสภาพที่เป็นจริง

แน่นอนว่า การทำความเข้าใจเพื่อการอธิบายการเปลี่ยนแปลงของชนบทอย่างถูกต้องและมีพลัง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสลัดภาพชนบทในความหมายแบบเดิมทิ้งไป โดยต้องยอมรับและทำความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมืองที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและสลับซับซ้อนในปัจจุบันว่า ความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้เปลี่ยนรูประบบความสัมพันธ์ของชนบทอย่างไพศาล ชาวชนบทจำนวนมากปรับตัวท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงโดยทำการผลิตเชิงพาณิชย์ในรูปปัจเจกนิยม มีปฏิสัมพันธ์กับระบบตลาดอย่างแนบแน่น เรียนรู้ช่องทางการเลื่อนชนชั้นในหลากหลายรูปแบบ ตลอดจนการนำความรู้ ข้อมูลสมัยใหม่มาใช้เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง เป็นต้น ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงทำให้ห้วงเวลาของชนบทที่สวยงามตามแบบเดิมนั้นหมดลงแล้ว

ความเข้าใจชนบทที่ “งดงาม” อันเกิดขึ้นในทศวรรษ  2490 และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนั้นเป็นผลมาจากการรับรู้และวาดภาพว่าชุมชนในชนบทมีความเป็นหนึ่งเดียวกันสูงและที่สำคัญมีรากฐานอยู่บนการใช้และรักษา “สมบัติชุมชน” ไว้ได้อย่างแนบแน่น  

ปัญหาของความเข้าใจในเรื่องความเป็นชุมชนที่สัมพันธ์อยู่กับ “สมบัติชุมชน” อยู่ที่ว่าเป็นการสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในสองด้าน ด้านแรกได้แก่ ความเข้าใจที่ว่า “ชุมชน” มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสูงมาก จนมองไม่เห็นว่าท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคม ( Social Mobilization) ในชุมชนอย่างลึกซึ้ง อันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ภายในชุมชนเอง

ความเปลี่ยนแปลงภายในความสัมพันธ์ทางสังคมของชุมชนได้ทำให้เกิดวิถีชีวิตที่แตกต่างกันไป  ความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆของผู้คนในชุมชนก็แตกต่างกันออกไป ที่สำคัญ ได้แก่ การปรับตัวรับกับการขยายตัวของการผลิตเชิงพาณิชย์ที่เข้มข้นมากขึ้น ดังนั้นการพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของ “ชุมชน” จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาทำความเข้าใจในประเด็นการปรับตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องยุติการมองภาพชุมชนที่เป็นหนึ่งเดียวกัน

ดังที่จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนระบบการผลิตจากยังชีพเป็นผลิตเพื่อขายที่เกิดขึ้นในทุกชุมชนได้ทำให้ เกิดการแตกตัวทางชนชั้น เกิดกลุ่มชาวบ้านฐานะรวย ฐานะปานกลาง และฐานะยากจน กลุ่มชาวบ้านฐานะรวยทั้งหมดและฐานะปานกลางบางส่วนซึ่งมีต้นทุนที่มากกว่า อันเป็นผลมาจากทั้งการสะสมมาจากอดีต เช่น เป็นคนกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาในพื้นที่จึงสามารถจับจองที่ดินที่อุดมสมบูรณได้มากกว่า อันนำมาซึ่งเม็ดเงิน เครือข่าย ระบบอุปถัมภ์ทั้งภายในและภายนอกชุมชน จนสามารถปรับตัวและดำรงอยู่ได้เป็นอย่างดี ขณะที่กลุ่มชาวบ้านฐานะปานกลางบางส่วนและกลุ่มฐานะยากจนทั้งหมด ซึ่งไม่สามารถทำการผลิตสมัยใหม่ในภาคเกษตรที่ต้องใช้ต้นทุนที่สูงได้จึงเลือกที่จะผันตัวเองเข้าสู่เมืองเพื่อเป็นแรงงานรับจ้างรวมทั้งเป็นแรงงานนอกระบบ เป็นต้น จะเห็นว่าแท้จริงแล้วความเป็นชนบทมิได้หยุดนิ่ง ตายตัว แต่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทและเงื่อนไขได้ในแต่ละช่วงเวลา

แม้กระทั่งในช่วงก่อนที่จะมีการผลิตเพื่อขายอย่างเข้มข้นนั้น พื้นที่ทางสังคมของชุมชนเองก็ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกันทั้งชุมชน แต่ละชุมชนใหญ่จะประกอบขึ้นจากชุมชนจำนวนหนึ่งที่ย่อยลงมาซึ่งจะเรียกในที่นี้ว่า “หย่อมบ้าน” คนในชุมชนแต่ละหย่อมบ้านจะมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกันมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนข้าม “หย่อมบ้าน”

ในอีกด้านหนึ่ง ความเข้าใจว่า “ชุมชน” เป็นหนึ่งเดียวกันส่งผลให้เกิดความเชื่อที่ว่า “สมบัติชุมชน” ก็เป็น “สมบัติร่วมกัน” ในชุมชนอย่างกว้างขวาง มักเหมารวมว่าชาวบ้านหน่วยย่อยๆ ที่เล็กกว่าชุมชนอย่าง “หย่อมบ้าน” นั้นมีสำนึก ความเชื่อ และศักยภาพในการจัดการสมบัติชุมชนสอดคล้องและเป็นเนื้อเดียวกันทั้งชุมชนใหญ่ แม้ในงานศึกษาของอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ที่ศึกษาเรื่องความเปลี่ยนแปลงของระบอบทรัพย์สินในภาคเหนือ[2] ซึ่งต้องการอธิบายความเปลี่ยนแปลงและปฏิสัมพันธ์ระหว่างของระบอบทรัพย์สินสี่ระบอบ อันได้แก่ ระบอบทรัพย์สินของรัฐ (State Property Regime) ระบอบทรัพย์สินส่วนบุคคล (Private Property Regime) ระบอบทรัพย์สินของชุมชน (Community Property Regime) และระบอบทรัพย์สินแบบเปิด (Open Access Property Regime) เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการดำรงอยู่ การเปลี่ยนแปลงและการสูญสลายไปของความเป็นชุมชน ก็ยังมองชุมชนเป็นหน่วยใหญ่หน่วยเดียว โดยละเลยการพิจารณาระบบความสัมพันธ์ของหน่วยย่อยๆที่มีสถานะเป็นหย่อมบ้าน

ในความเป็นจริงของประวัติศาสตร์สังคมของชุมชน ชาวบ้านใน “ชุมชน” ขนาดใหญ่กับชาวบ้านในหน่วยของ “หย่อมบ้าน” ซึ่งมีขนาดเล็กจะมีความแตกต่างกัน ทั้งลักษณะทางกายภาพที่ “ชุมชน” มีลักษณะเป็นนามธรรม ไม่ยึดติดกับขอบเขตพื้นที่ มีจำนวนสมาชิกที่หลากหลายและมีจำนวนไม่แน่นอน ทำให้ระบบความสัมพันธ์ภายในเป็นไปไม่แนบแน่นเท่ากับความสัมพันธ์ภายใน “หย่อมบ้าน” อันมีผลทำให้พลังในการกำกับและจัดการดูแลสมบัติชุมชนใหญ่มีความแตกต่างไปจากชาวบ้านในหน่วยของ “หย่อมบ้าน” ที่มีขนาดเล็ก มีอาณาเขต และจำนวนสมาชิกที่แน่นอน มีระบบความสัมพันธ์ภายในที่เหนียวแน่น ทำให้พลังในการกำกับ จัดการดูแลสมบัติชุมชนเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่า

นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างด้านอื่นๆ อาทิ สายใยความสัมพันธ์ที่ใช้เป็นกลไกในการจัดการสมบัติชุมชนระหว่าง “ชุมชน” ขนาดใหญ่และ “หย่อมบ้าน” ที่มีความแตกต่างกัน ระบบอุปถัมภ์ระหว่าง “ชุมชน” ขนาดใหญ่และ “หย่อมบ้าน” ที่แตกต่างกัน รวมทั้งเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงภายใต้การขยายตัวของการผลิตเพื่อขายก็ได้ทำให้การให้คุณค่าและความหมายในสมบัติชุมชนระหว่าง “ชุมชน” ขนาดใหญ่กับ “หย่อมบ้าน” มีความแตกต่างไปด้วย บางพื้นที่ชาวบ้านยินยอมให้สมบัติชุมชนเปลี่ยนไปเป็นสมบัติส่วนตัวเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง ขณะที่บางพื้นที่ชาวบ้านผลักดันให้สมบัติส่วนตัวกลายมาเป็นสมบัติชุมชนเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง และบางพื้นที่ชาวบ้านได้รื้อฟื้นสมบัติชุมชนที่สูญหายไปให้ฟื้นคืนมาใหม่เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เป็นต้น ความแตกต่างเหล่านี้นับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สถานภาพและความหมาย รวมทั้งระบบความสัมพันธ์ของชาวบ้านในหน่วยของชุมชนขนาดใหญ่กับหย่อมบ้านขนาดเล็กต่อการจัดการสมบัติชุมชนมีความแตกต่างกัน

ความสลับซับซ้อนของความเป็นชุมชนและความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับสมบัติชุมชนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน เพราะการรับรู้ความหมายของคำว่าชุมชนในความหมายแบบเดิมที่มีลักษณะหยุดนิ่งตายตัว นอกจากไม่ตอบโจทย์ใดๆ แล้ว ยังสร้างความเข้าใจต่อสังคมชนบทที่คลาดเคลื่อน และจะทำให้กระบวนการการทำงานในชุมชนสูญเปล่าไปอย่างน่าเสียดายไม่ว่าจะเป็นจากหน่วยงานของรัฐหรือนักพัฒนาเอกชน

แม้กระทั่งการเกิดการสร้าง “สมบัติชุมชน” ในช่วงปัจจุบันนี้ก็ไม่ใช่ “สมบัติชุมชน” ที่เป็นเนื้อเดียวกันทั้งชุมชน มีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนอยู่ในการสร้าง “สมบัติชุมชน” สมัยใหม่ที่ควรจะต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะกระโดดเข้าสู่ข้อสรุปว่าเป็นการหวนคืนหรือการสร้าง “สมบัติของทั้งชุมชน” อย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป  หากสังคมไม่ทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ที่เกิดขึ้นในชนบท สังคมไทยก็จะไร้ศักยภาพที่จะเผชิญหน้าหรือแก้ไขปัญหาต่างๆได้เพราะไม่มีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

บทความนี้จึงมุ่งสร้างความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในชนบทภาคเหนือผ่านการจัดการสมบัติชุมชนของ “ชุมชน” และ “หย่อมบ้าน” ช่วง พ.ศ.2500-2550 โดยเลือกพื้นที่บ้านถวนหมู่ที่ 10 ตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ เป็นพื้นที่ศึกษา และแบ่งเนื้อหาเพื่อการอธิบายเป็น 3 ยุค คือยุคชุมชนแม่แจ่มก่อนยุคสมัยใหม่ (2500-2520) ยุคการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของเครือข่ายชุมชนแม่แจ่ม (2520-2540) และยุคชุมชนแม่แจ่มในลักษณะใหม่ (2540-2550) โดยอธิบายให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนระบบการผลิตแบบยังชีพไปเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้น รวมทั้งการสถาปนาอำนาจรัฐเหนือพื้นที่ โดยเฉพาะการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ในช่วงเวลาดังกล่าวได้เปลี่ยนระบบความสัมพันธ์ในชนบทอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ซึ่งจากระบบความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานภาพ ความหมายของสมบัติชุมชนตามไปด้วย

ความเปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นได้วิเคราะห์ผ่านการจัดการสมบัติชุมชนของชาวบ้าน ที่เดิมทีชาวบ้านหลายๆหย่อมบ้านจัดระบบความสัมพันธ์โดยรวมกลุ่มเป็นชุมชนขนาดใหญ่เพื่อทะลุทะลวงข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต ทั้งด้านทรัพยากร แรงงาน ฯลฯ ด้วยการสถาปนาสมบัติชุมชนขึ้นมา เช่น ที่ดิน แหล่งน้ำ ตลอดจนพิธีกรรม ฯลฯ ซึ่งคนในชุมชนจะจัดการ รักษาและใช้ประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้สมบัติชุมชนเหล่านี้ยังทำหน้าที่ร้อยรัดความสัมพันธ์ของชาวบ้านในชุมชนให้แนบแน่นอีกด้วย

ต่อมาเมื่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการขยายอำนาจรัฐถาโถมเข้าสู่ชนบท ทำให้การผลิตแบบยังชีพถูกแทนที่ด้วยการผลิตเชิงพาณิชย์ ใช้ทุนอย่างเข้มข้น ทั้งเม็ดเงิน เครื่องจักร แรงงาน และการปฏิสัมพันธ์กับตลาดอย่างแนบแน่น รูปแบบการผลิตเป็นไปในเชิงปัจเจกมากขึ้น ขณะที่การขยายอำนาจรัฐผ่านการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทำให้ชาวบ้านในชุมชนไม่สามารถแสวงหาที่ดินได้อย่างอิสระ การปรับตัวของพวกเขาคือการยึดครองที่ดินที่เป็นสมบัติชุมชนมาเป็นสมบัติส่วนตัวเพื่อใช้เป็นปัจจัยการผลิต ดังนั้นเมื่อสมบัติชุมชนที่ทำหน้าที่ร้อยรัดความสัมพันธ์ของคนในชุมชนถูกทำลายลงทำให้ไร้พลังเกาะเกี่ยวกันภายใน ในที่สุดความเป็นชุมชนในปัจจุบันไม่มีอีกต่อไป

 

2.ชุมชนแม่แจ่มก่อนยุคสมัยใหม่ (2500-2520)

จากสถานะการเป็นพื้นที่ชายขอบทั้งจากอำนาจรัฐ ความเป็นเมือง ห่างไกลจากระบบเศรษฐกิจแบบตลาดทำให้การดำรงอยู่ของชุมชนแม่แจ่มในยุคนี้ดำเนินไปอย่างอิสระจากอำนาจรัฐและทุน

การมีอิสระจากอำนาจภายนอกทำให้ชาวบ้านสามารถบุกเบิกที่ดินเพื่อทำการผลิตได้อย่างอิสระ (Open access) การบุกเบิกที่ดินเพื่อเป็นสมบัติส่วนตัว (Private property) จะเกิดขึ้นตามศักยภาพในการบุกเบิกและลำดับก่อนหลัง คนที่บุกเบิกก่อนสามารถเลือกทำเลที่มีความเหมาะสมและใกล้หมู่บ้าน ส่วนคนที่ตั้งถิ่นฐานภายหลังหรือแยกครอบครัวภายหลังการแต่งงานมักได้ที่ดินที่ค่อนข้างห่างจากตัวหมู่บ้าน ส่วนขนาดที่ดินที่ได้จะใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับแรงงานจากสมาชิกในครอบครัวรวมทั้งเครือญาติที่จะมีขีดความสามารถในการบุกเบิกหักร้างถางพงนั่นเอง

ในยุคนี้การใช้ประโยชน์ในที่ดินในรูปสมบัติส่วนตัวจะเกิดในช่วงเวลาสั้นๆ[3]ซึ่งจะสัมพันธ์กับรูปแบบการผลิตที่ใช้ระบบไร่หมุนเวียน[4] ที่มีการเคลื่อนย้ายพื้นที่ทุกปี กล่าวคือชาวบ้านจะแสดงสิทธิ์เพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่แปลงนั้นๆแค่ในรอบฤดูกาลผลิตเดียวเท่านั้น ฤดูต่อไปจะทิ้งกรรมสิทธิ์แล้วไปบุกเบิกที่ดินแปลงอื่นต่อไป ส่วนพื้นที่แปลงเดิมซึ่งชาวบ้านเรียกว่าไร่เหล่า[5]ผู้ใดจะมาถือกรรมสิทธิ์หรือใช้ประโยชน์ต่อไปก็ได้ เว้นแต่พื้นที่แปลงหลักที่มีความอุดมสมบูรณ์และอยู่ใกล้หมู่บ้านที่ชาวบ้านจะแสดงสิทธิ์ในรูปสมบัติส่วนตัวแบบถาวร

ส่วนในการดำเนินชีวิตของชาวบ้านในยุคนี้ แม้ด้านหนึ่งจะมีอิสระ แต่อีกด้านหนึ่งก็พบว่าจากความเป็นพื้นที่ชายขอบทำให้ชาวบ้านดำรงอยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆมากมาย ทั้งทรัพยากร แรงงาน ฯลฯ แต่สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดเหล่านั้นโดยการสถาปนาระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ[6]มาเป็นกลไกลดแรงเสียดทานจากอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในการดำเนินชีวิต อาทิ การแลกเปลี่ยนแรงงานที่มีการช่วยเหลือกันทั้งภายในระดับหย่อมบ้านและระดับชุมชนซึ่งสามารถช่วยลดข้อจำกัดด้านแรงงานในครอบครัวลงไปได้ และนอกจากนี้ ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติยังพบได้ในกิจกรรมเชิงพิธีกรรม อาทิ งานศพ งานแต่งงาน อีกด้วย[7] ซึ่งในการพบปะกันของชาวบ้านลักษณะนี้ได้สร้างพื้นที่ในการพูดคุย หารือ แลกเปลี่ยนปัญหาทำให้ระบบความสัมพันธ์ของชาวบ้านดำเนินไปอย่างแนบแน่นและเข้มข้น

ขณะที่ข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่ชาวบ้านต้องพึ่งพาเพื่อการมีชีวิตรอด ทั้งป่าไม้ ที่ดิน แหล่งน้ำ ฯลฯ อย่างที่ดินแม้สามารถจับจองได้อย่างเสรีแต่ก็พบว่าพื้นที่บางประเภท ชาวบ้านทุกคนจำเป็นต้องเข้าถึงเพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตจึงมีการสงวนทรัพยากรเหล่านั้นไว้เป็นของส่วนกลางหรือที่ชาวบ้านเรียกกันในปัจจุบันว่า “ของหน้าหมู่” เพื่อการเข้าถึงอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

ทรัพยากรส่วนกลางหรือ “ของหน้าหมู่” ก็คือสมบัติชุมชน (Common Property) ของชาวบ้านถวนก่อนยุคสมัยใหม่เป็นระบบการจัดการกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในการใช้ประโยชน์ จัดการ และดูแลรักษาร่วมกัน ไม่มีคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ ขอบเขตความหมายของสมบัติชุมชนไม่ได้จำกัดเฉพาะทรัพยากรที่เป็นรูปธรรมอย่างที่ดินเท่านั้น หากแต่หมายรวมไปถึงส่วนที่เป็นทรัพยากรทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย เช่น ความรู้ หรือประเพณีที่มีผลต่อความสัมพันธ์ในชุมชน ซึ่งส่งผลต่อการจัดการทรัพยากรด้านการเกษตร การผลิต และวิถีชีวิตของชาวบ้านทั้งสิ้น พร้อมกันนั้นสมบัติชุมชนยังทำหน้าที่ร้อยรัดชาวบ้านให้มีความรู้สึกผูกพันกันเป็นสำนึกของกลุ่มอีกด้วย[8]

สมบัติชุมชนของบ้านถวนก่อนยุคสมัยใหม่ ถูกสถาปนาขึ้นมาใน 2 ระดับด้วยกันคือ สมบัติชุมชนระดับหย่อมบ้านที่เกิดขึ้นมาก่อนจากความจำเป็นต้องใช้ประโยชน์ของชาวบ้าน จากนั้นชาวบ้านจึงขยายความร่วมมือไปยังหมู่บ้านข้างเคียงเพื่อร่วมจัดการทรัพยากรที่มีขนาดใหญ่ ครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างนั่นก็คือสมบัติชุมชนระดับชุมชน ซึ่งสมบัติชุมชนทั้งสองระดับนี้มีการจัดการที่แตกต่างกัน

-การจัดการสมบัติชุมชนระดับหย่อมบ้าน เป็นสมบัติชุมชนที่มีการสถาปนาขึ้นมาเพื่อจัดการและใช้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม หรือเฉพาะในหย่อมบ้านนั้นๆ เพื่อใช้เป็นฐานในการดำเนินวิถีชีวิตกันเฉพาะภายใน สมบัติชุมชนระดับหย่อมบ้านสามารถมีได้ทุกหย่อมบ้าน ขึ้นอยู่กับว่าหย่อมบ้านแห่งนั้นมีข้อจำกัดหรือจำเป็นที่ต้องใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินภายในร่วมกันมากน้อยแค่ไหน ขณะที่การจัดการสมบัติชุมชนระดับหย่อมบ้านในยุคนี้พบว่ากลไกการจัดการหาได้เป็นทางการแต่อย่างใดไม่ จุดเริ่มต้นของการสถาปนาจะเริ่มจากผู้นำที่เห็นว่าสมาชิกในหย่อมบ้านของตนจำเป็นต้องดำเนินชีวิตฝ่าข้อจำกัดให้ได้ จากนั้นจึงมีการหารือกันว่าทรัพยากรใดบ้างที่จำเป็นต้องใช้ประโยชน์ร่วมกันจากนั้นก็จะมีการสรุปกันอย่างไม่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าทรัพยากรนั้นๆต้องจัดให้เป็นสมบัติชุมชนระดับหย่อมบ้าน ซึ่งจากขนาดของหย่อมบ้านที่เล็ก มีอาณาเขตและจำนวนสมาชิกที่แน่นอน ทำให้ความสัมพันธ์ภายในแนบแน่น สมบัติชุมชนเหล่านั้นจึงถูกจัดการและใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยไม่มีการเปลี่ยนสภาพเป็นสมบัติส่วนตัว สำหรับบ้านถวนสมบัติชุมชนรูปแบบนี้พบได้ในหลายลักษณะ อาทิ

- ป่าบริเวณรอบหมู่บ้าน แม้ก่อนยุคสมัยใหม่การถือครองที่ดินทำได้อย่างไร้ขีดจำกัด ทว่าป่าบริเวณรอบๆหมู่บ้าน ชาวบ้านยังคงสภาพความเป็นป่าส่วนรวมไว้ ไม่มีใครทำกินหรือถือกรรมสิทธิ์ส่วนตัวเพราะเห็นว่าจำเป็นต้องพึ่งพาเพื่อยังชีพ ทั้งเป็นแหล่งอาหาร เชื้อเพลิง แหล่งยาสมุนไพร แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ฯลฯ  ดังนั้น การให้ความหมายกับป่าเช่นนี้ทำให้ชาวบ้านต้องกันพื้นที่ป่าบริเวณรอบๆหมู่บ้านเอาไว้เป็นพื้นที่สำหรับความมั่นคงในการหล่อเลี้ยงชีวิตร่วมกัน

 - บ่อน้ำ จากข้อจำกัดด้านแหล่งน้ำที่ชาวบ้านต้องพึ่งพาจากบ่อเพียงแห่งเดียว ดังนั้นบ่อน้ำของหมู่บ้านจึงมีความหมายเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงสรรพชีวิต มีสถานะเป็นสมบัติชุมชนในระดับหย่อมบ้านที่ชาวบ้านทุกคนต้องใช้ประโยชน์และดูแลรักษาร่วมกัน

- ป่าช้า , ป่าพิธีกรรม มีการกำหนดอาณาบริเวณขึ้นมาพร้อมๆกับการก่อตั้งหมู่บ้าน ตามวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอแล้วในหมู่บ้านหนึ่งๆจำเป็นต้องมีป่าช้าอยู่ด้วยเสมอเรียกว่า “ป่าช้าประจำหมู่บ้าน” นอกจากมีความหมายเชิงกายภาพว่าเป็นที่ฝังศพแล้ว ยังมีความหมายเชิงพิธีกรรมว่าเป็นพื้นที่สำหรับส่งวิญญาณคนตายสู่สวรรค์ พื้นที่ดังกล่าวจึงปราศจากกิจกรรมเชิงปัจเจก ห้ามตัดไม้ ห้ามหาของป่า

ดังนั้น จากความจำเป็นต้องพึ่งพาเพื่อการดำเนินชีวิตภายใต้ข้อจำกัด ชาวบ้านจึงได้สงวนทรัพยากรบางประเภทไว้เป็นฐานในการหล่อเลี้ยงชีวิต กระทั่งกลายมาเป็นสมบัติชุมชนระดับหย่อมบ้านที่มีการใช้ประโยชน์กันเฉพาะภายในพื้นที่ ทั้งผืนป่าบริเวณรอบๆหมู่บ้าน บ่อน้ำ ป่าช้า ดังนั้นการจัดการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จึงถูกจำกัดวงอยู่เฉพาะชาวบ้านในบ้านถวนเท่านั้น ขณะเดียวกันทรัพยากรบางประเภทซึ่งมีขนาดใหญ่ทับซ้อนพื้นที่หลายหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านจำเป็นต้องพึ่งพาเพื่อใช้ประโยชน์ ดังนั้นจากการมีระบบความสัมพันธ์กับหมู่บ้านข้างเคียงชาวบ้านจึงสานความร่วมมือเพื่อสถาปนาทรัพยากรเหล่านั้นให้เป็นสมบัติชุมชนระดับชุมชนขึ้นมา

-การจัดการสมบัติชุมชนระดับชุมชน เป็นสมบัติชุมชนที่มีการจัดการและใช้ประโยชน์ร่วมกันหลายหมู่บ้าน เกินศักยภาพที่หมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งจะจัดการได้เพียงลำพังเพราะหากเป็นทรัพยากรเชิงรูปธรรมก็จะมีขนาดใหญ่ ครอบคลุมอาณาบริเวณหลายหมู่บ้าน หากเป็นทรัพยากรเชิงนามธรรมก็มักมีความเกี่ยวเนื่องกันหลายๆหมู่บ้าน เป็นต้น สมบัติชุมชนระดับชุมชนในบ้านถวนถูกสร้างขึ้นมาบนฐานคิดเดียวกับสมบัติชุมชนระดับหย่อมบ้านที่ต้องการใช้ทรัพยากรเป็นฐานในการดำเนินวิถีชีวิต รวมทั้งหลักประกันความมั่นคงในชีวิตด้วย ส่วนการจัดการชาวบ้านได้แบ่งโซนการรับผิดชอบตามขอบเขตพื้นที่ของหย่อมบ้าน เช่น หากสมบัติชุมชนระดับชุมชนนั้นๆครอบคลุมพื้นที่สามหย่อมบ้าน ทั้งสามหย่อมบ้านก็จะจัดการดูแลเฉพาะในพื้นที่ที่หย่อมบ้านที่ตัวเองรับผิดชอบเท่านั้น ส่วนกลไกการจัดการและควบคุมก็ไม่ได้เป็นทางการ ไม่มีกฎระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด สมบัติชุมชนในระดับนี้ในชุมชนบ้านถวนพบได้ในหลายลักษณะ ได้แก่

- ป่าต้นน้ำ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของบ้านถวนและหมู่บ้านข้างเคียงอีก 2 หมู่บ้าน ชาวบ้านเห็นว่าพื้นที่บริเวณป่าต้นน้ำควรรักษาไว้เพราะมีความสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิต หากไม่จำแนกพื้นที่ลักษณะดังกล่าวเป็นสมบัติชุมชนแล้วอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิตของชาวบ้านได้[9] ขณะที่รูปแบบการบริหารจัดการ แค่แบ่งโซนกันรับผิดชอบ ชาวบ้านจะรู้กันว่าเขตไหนอยู่ในความรับผิดชอบของหมู่บ้านไหน หลังจากนั้นสมาชิกในแต่ละหมู่บ้านก็จะดูแลรักษา เฝ้าระวังไม่ให้มีการบุกรุกหรือเกิดไฟป่าขึ้น

- แนวกันไฟ เนื่องจากผืนป่าและที่ทำกินของชาวบ้านมีอาณาบริเวณติดต่อกันหลายหมู่บ้าน ซึ่งในฤดูแล้งมักเกิดไฟป่าขึ้นทุกปี ขณะที่การป้องกันไม่สามารถทำได้อย่างเป็นเอกเทศ ทว่าต้องอาศัยความร่วมมือกันของชาวบ้านทั้งหมดในการร่วมจัดการ

ดังนั้น จากข้อจำกัดในการดำเนินวิถีชีวิต ชาวบ้านเลือกที่จะใช้กระบวนการปรับตัวเพื่อทะลุทะลวงข้อจำกัดที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการต่างๆ ทั้งการสร้างระบบความสัมพันธ์ทั้งภายระดับหย่อมบ้านและระดับชุมชน พร้อมกันนั้นได้สถาปนาสมบัติชุมชนขึ้นมาเพื่อเป็นหลังพิงในการดำเนินวิถีชีวิต โดยเริ่มต้นจากสมบัติชุมชนระดับหย่อมบ้านที่มีการใช้ประโยชน์กันเฉพาะภายในหย่อมบ้าน จากนั้นจึงขยายความสัมพันธ์โดยใช้ฐานความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับหมู่บ้านข้างเคียงเพื่อสถาปนาสมบัติชุมชนระดับชุมชนขึ้นมา ซึ่งกล่าวได้ว่าสมบัติชุมชนกลายเป็นกลไกสำคัญกลไกหนึ่งที่ร้อยรัดระบบความสัมพันธ์ของสังคมชุมชนบ้านถวนในยุคนี้ไว้ได้

อย่างไรก็ตาม หลังทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา การให้คุณค่าและความหมายกับสมบัติชุมชนมีความเปลี่ยนแปลงไป อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม ดังจะกล่าวในหัวข้อถัดไป

 

3.การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของเครือข่ายชุมชนแม่แจ่ม พ.ศ.2520-2540

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการขยายอำนาจของรัฐที่เกิดขึ้นในแม่แจ่มช่วงทศวรรษ 2520-2540 ได้เปลี่ยนระบบความสัมพันธ์ของชุมชนชาวแม่แจ่มอย่างไพศาลและลึกซึ้ง ทั้งในมิติระบบความสัมพันธ์ภายในและภายนอก รูปแบบการผลิต การถือครองที่ดิน การสร้างความหลากหลายในดำเนินวิถีชีวิต การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและการผลิตความหมายของสมบัติชุมชนขึ้นมาใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้เพราะการสถาปนาอำนาจรัฐเหนือพื้นที่ เช่น การประกาศเขตป่าอนุรักษ์ การพัฒนาสาธารณูปโภค รวมทั้งการขยายตัวของทุนผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น การส่งเสริมชาวแม่แจ่มปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนระบบการผลิตจากยังชีพเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ มีการใช้ต้นทุนต่างๆ ทั้งที่ดิน เงินทุน การว่าจ้างแรงงานอย่างเข้มข้น รวมทั้งการพึ่งพาระบบตลาดในทุกมิติเป็นสำคัญ เงื่อนไขเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่

การสถาปนาอำนาจรัฐเหนือพื้นที่ การสถาปนาอำนาจรัฐเหนือพื้นที่บ้านถวนในยุคนี้ เป็นการที่รัฐใช้อำนาจที่มีตัวบทกฎหมายรองรับเข้ามาจัดการควบคุมทรัพยากรอย่างใกล้ชิดผ่านการก่อตั้งหน่วยงานต่างๆ อาทิ อุทยานแห่งชาติแม่โถ ส่งผลให้ชุมชนท้องถิ่นถูกจับจ้องด้วยอำนาจรัฐมากขึ้นตามไปด้วย

อุทยานแห่งชาติแม่โถถูกริเริ่มใน พ.ศ.2517 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสำรวจแนวเขต จากการสำรวจพบว่าพื้นที่ที่มีการเตรียมประกาศนั้นได้ทับซ้อนพื้นที่ทำกินของชาวบ้านเป็นจำนวนมาก[10] อุทยานฯจึงมีการผ่อนผันให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำกินเดิมต่อไปได้ แต่ไม่อนุญาตให้มีการบุกรุกป่าเพิ่มเติม เขตอุทยานที่ทับซ้อนพื้นที่ทำกินของชาวบ้านถวน แม้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าอยู่อาศัยมาก่อน แต่การประกาศเป็นเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติมีกฎหมายรองรับทำให้ชาวบ้านจำเป็นต้องยอมรับแม้ต้องสละกรรมสิทธิ์ในสมบัติชุมชนและสมบัติส่วนตัว (Private property)ให้เป็นสมบัติของรัฐ (State property) ก็ตาม

การเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแม่โถทำให้กระบวนการแสวงหาที่ดินจากเดิมที่เปิดกว้างสำหรับชาวบ้านทุกคน กลายเป็นการถูกจำกัดอิสระในการบุกเบิกไปโดยปริยาย ชาวบ้านไม่สามารถหักร้างถางพงได้ตามอำเภอใจ ทำให้ต้องรักษาที่ดินที่มีอยู่ด้วยการแสดงกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่นั้นๆให้เป็นสมบัติส่วนตัวแบบถาวรที่ชัดเจนขึ้นมาเพื่อป้องกันการบุกรุกจากชาวบ้านรายอื่น เช่น การปักหมายแนวเขตที่ดิน หรือการทำพื้นที่ให้โล่งเตียนเพื่อให้เกิดความแตกต่างกับพื้นที่ป่า เป็นต้น ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นับเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนระบบความสัมพันธ์ของชาวบ้านทั้งในระดับหย่อมบ้านและระดับชุมชน รูปแบบเชื่อมร้อยความพันธ์อย่างระบบกรรมสิทธิ์หมุนเวียนที่เคยทำหน้าที่มาก่อนหน้านี้กลายเป็นสิ่งไร้ความหมาย ดังนั้น การสถาปนาอำนาจรัฐเหนือพื้นที่ข้างต้นกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านดำเนินวิถีชีวิตเชิงปัจเจกมากขึ้นจนนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์ของชาวบ้านไปในที่สุด

การขยายตัวของการผลิตเชิงพาณิชย์ การผลิตเชิงพาณิชย์ในบ้านถวนเริ่มต้นอย่างจริงจังช่วง พ.ศ.2524 โดยการส่งเสริมของรัฐที่ร่วมมือกับองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาลุ่มน้ำแจ่ม" ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทนการปลูกฝิ่น พร้อมทั้งต้องการลดการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในพื้นที่แม่แจ่มไปพร้อมๆกัน พืชเศรษฐกิจที่โครงการดังกล่าวเข้ามาส่งเสริมคือถั่วเหลืองเพราะต้องการตอบสนองนโยบายการผลิตถั่วเหลืองเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ตามแนวโน้มความต้องการบริโภคถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้นในระยะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (2525-2529)[11] การเปลี่ยนแปลงรูปแบบและโครงสร้างการผลิตจากพืชประจำถิ่นไปเป็นพืชเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในยุคนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบการใช้ที่ดิน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ตลอดจนระบบความสัมพันธ์อย่างมหาศาล

การส่งเสริมของเจ้าหน้าที่เป็นผลให้ชาวบ้านโดยเฉพาะกลุ่มคนรวยซึ่งมีความพร้อมด้านที่ดิน เงินทุนได้ปลูกถั่วเหลืองเป็นกลุ่มแรกที่ใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 3-5 ไร่ ส่วนการใช้พื้นที่ชาวบ้านทำการผลิตแบบซ้ำๆกันในพื้นที่เดิมอย่างถาวร ขณะที่การเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อขายในช่วงแรกพบว่าโครงการมารับซื้อในราคากิโลกรัมละ 5 บาท ชาวบ้านเห็นว่าราคาดีมาก ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านส่วนที่เหลือให้ความสนใจและทยอยปลูกตามๆกัน จนทุกคนในหมู่บ้านปลูกถั่วเหลืองกันหมด

ทว่าสำหรับกลุ่มคนจนซึ่งมีที่ดินไม่มากนักจำต้องแสวงหาที่ดินเพิ่ม แต่ดังที่กล่าวไปแล้วว่ายุคนี้รัฐได้สถาปนาอำนาจเหนือพื้นที่ทับซ้อนพื้นที่ชุมชนทำให้สมบัติชุมชนทั้งป่าต้นน้ำ บางส่วนของป่าบริเวณหมู่บ้านต้องกลายไปเป็นสมบัติของรัฐ กรณีดังกล่าวชาวบ้านไม่ได้มีอิสระในการแสวงหาพื้นที่ทำกินอีกต่อไป เพราะการบุกเบิกพื้นที่ใหม่ของพวกเขาจะกลายเป็นการบุกรุก แต่จากแรงจูงใจด้านราคารับซื้อที่สูง อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบพื้นที่มิได้เข้มงวดมากนัก นานๆจึงจะมาลาดตระเวนตรวจตรา ดังนั้นกลุ่มคนจนในบ้านถวนจึงเป็นคนกลุ่มแรกๆที่เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่เป็นสมบัติของรัฐในรูปของสมบัติส่วนตัว แน่นอนว่าการบุกรุกป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจจึงเริ่มต้นขึ้นหลังจากนั้นเป็นต้นมา

การจัดการสมบัติชุมชนในยุคนี้จึงมีความเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะสมบัติชุมชนระดับชุมชนที่มีการจัดการและการควบคุมที่หละหลวม เพราะชาวบ้านจาได้แบ่งโซนการรับผิดชอบตามขอบเขตพื้นที่ของแต่ละหย่อมบ้าน อีกทั้งกลไกการจัดการและควบคุมก็ไม่ได้เป็นทางการ ไม่มีกฎระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด

ดังนั้น บนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจึงพบว่าสมบัติชุมชนในระดับชุมชนถูกแปรสภาพมาเป็นสมบัติส่วนตัวเป็นลำดับแรกซึ่งก็คือป่าต้นน้ำ ชาวบ้านถวนเลือกบุกรุกพื้นที่บริเวณดังกล่าวมาเป็นแปลงถั่วเหลืองเพราะเห็นว่ามีการจัดการควบคุมที่หละหลวมเพราะรับผิดชอบร่วมกันหลายหมู่บ้าน ส่วนหมู่บ้านอื่นๆที่ร่วมรับผิดชอบป่าต้นน้ำแห่งนี้ก็เข้ามาบุกรุกป่าต้นน้ำแห่งนี้อย่างกว้างขวางด้วยเช่นกัน[12] จนชาวบ้านกล่าวกันในยุคนั้นว่า “ถั่วมา ป่าหมด”[13] การบุกรุกดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมๆกับการสร้างกำแพงกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ขึ้นอย่างชัดเจน เพราะเมื่อที่ดินมีความหมายในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจชาวบ้านก็เริ่มมีการกีดกันการใช้ประโยชน์จากชาวบ้านรายอื่นขึ้นมา ซึ่งต่างจากเดิมที่การถือครองที่ดินของชาวบ้านไม่ได้ปิดกั้นการใช้ประโยชน์จากชาวบ้านรายอื่น ชาวบ้านรายใดมีพื้นที่ปลูกข้าวไม่เพียงพอก็สามารถหยิบยืมพื้นที่กันได้

ขณะที่การจัดการสมบัติชุมชนระดับหย่อมบ้าน อย่างป่าบริเวณหมู่บ้านในช่วงนี้พบว่ายังไม่มีการบุกรุกเพราะชาวบ้านจำเป็นต้องใช้ประโยชน์โดยตรงอยู่เช่นเดิม ขณะเดียวกันจากการเป็นสมบัติชุมชนในหน่วยพื้นที่ขนาดเล็ก เห็นตัวตนผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งระบบความสัมพันธ์ภายในที่ยังแนบแน่นทำให้ชาวบ้านยังคงสภาพสมบัติชุมชนระดับหย่อมในความหมายเดิมไว้

กระทั่งช่วง พ.ศ.2530 โครงการพัฒนาลุ่มน้ำแจ่มหมดโครงการลงพร้อมๆ กับราคาถั่วเหลืองที่เริ่มซบเซาความนิยมจึงลดลงการบุกรุกป่าเพื่อปลูกถั่วเหลืองจึงชะลอตัว ทว่าผลจากการกระโดดเข้าสู่สายธารการผลิตเชิงพาณิชย์กว่าครึ่งทศวรรษ มีรายได้จากการขายผลผลิตเป็นกอบเป็นกำ หลายครอบครัวสามารถสะสมทุนได้ จนชาวบ้านเริ่มมองว่าพืชเศรษฐกิจคือโอกาสในการเลื่อนสถานะทางชนชั้นของพวกเขา ดังนั้นหลังจากหมดยุคถั่วเหลืองชาวบ้านจึงมองหาพืชเศรษฐกิจตัวใหม่มาทดแทนนั่นคือ “กะหล่ำ”

การริเริ่มปลูกกะหล่ำของชาวบ้านถวนเกิดขึ้นช่วงต้นทศวรรษ 2530 โดยสามารถแบ่งการปลูกได้เป็น 3 ระลอก ระลอกแรก เป็นยุคริเริ่มเกิดใน พ.ศ.2530 โดยกลุ่มผู้นำของหมู่บ้านจำนวนหนึ่งได้นำพืชชนิดนี้เข้ามาจากหมู่บ้านชาวม้งที่อยู่ข้างเคียงมาทดลองปลูกในเนื้อที่ 1-2 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยใช้ปลูกถั่วเหลืองมาก่อน ส่วนเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงถูกซื้อมาจากตัวอำเภอ ผลตอบแทนจากการปลูกพบว่าขายได้กิโลกรัมละ 5-6 บาทซึ่งถือว่าราคาดีมาก ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำทำให้ชาวบ้านที่ยังไม่มั่นในใจพืชชนิดนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนฐานะปานกลางและยากจนเพราะไม่กล้าเสี่ยงกับพืชชนิดใหม่ที่ไม่มีการส่งเสริมจากหน่วยงานใดๆ และไม่มีทุนทั้งที่ดินและเม็ดเงินเริ่มให้ความสนใจและค่อยๆปลูกตามๆกันในฤดูกาลผลิตต่อมา

ระลอกสอง เกิดใน พ.ศ.2531 เป็นการขยายตัวของผู้ปลูกกะหล่ำต่อจากยุคแรกเริ่มจากที่จำกัดวงเฉพาะชาวบ้านฐานะรวยเพียงไม่กี่คนมาเป็นการขยายกลุ่มผู้ปลูกกะหล่ำออกไปอย่างกว้างขวางเกือบทั้งหมู่บ้าน สำหรับกลุ่มชาวบ้านระดับบนที่ปลูกมาก่อนหน้านี้มีการขยายพื้นที่ออกไปจากเดิม 1-2 ไร่ กลายเป็นรายละ 8-10 ไร่ ส่วนชาวบ้านกลุ่มใหม่ทั้งฐานะปานกลางและยากจนจะใช้พื้นที่ที่มีอยู่ในการครอบครองเฉลี่ยประมาณ 1-2 ไร่ พื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่ได้มาจากการบุกรุกป่าต้นน้ำตั้งแต่ในยุคการปลูกถั่วเหลือง ซึ่งมีการแสดงสิทธิ์ความเป็นเจ้าของพร้อมกับการปิดกั้นการใช้ประโยชน์จากชาวบ้านรายอื่นๆ

ระลอกสาม เกิดใน พ.ศ.2532 เป็นระลอกที่การขยายพื้นที่ปลูกจากคนที่ปลูกทั้งในระลอกแรกและระลอกที่สองเริ่มทรงตัว เพราะไม่มีพื้นที่เหลือให้ปลูกอีกแล้ว การขยายพื้นที่ปลูกกะหล่ำของชาวบ้านระลอกนี้เกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในกลุ่มคนจนซึ่งมีที่ดินน้อย พื้นที่ป่าต้นน้ำส่วนที่บุกรุกได้ก็ไม่มีเหลือให้บุกรุก คนกลุ่มนี้มักเป็นคนที่แยกครอบครัวออกมาจากครอบครัวของพ่อแม่ภายหลังการแต่งงานและมีส่วนแบ่งมรดกด้านที่ดินจำนวนน้อย ดังนั้นการแสวงหาพื้นที่ปลูกกะหล่ำของคนกลุ่มนี้จึงมีระยะทางไกลจากหมู่บ้าน ใช้เวลาเดินเท้านานนับชั่วโมง อีกทั้งดินไม่มีความอุดมสมบูรณ์ ขณะเดียวกันพื้นที่ที่บุกเบิกได้มิได้เป็นแปลงใหญ่ แต่มีลักษณะเป็นแปลงเล็กแปลงน้อย อยู่กระจัดกระจายและมีจำนวนไม่มาก[14] ดังนั้นจากอุปสรรคและข้อจำกัดด้านพื้นที่ทำกินทำให้ในที่สุดสมบัติชุมชนระดับหย่อมบ้านจึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ การปลูกกะหล่ำระลอกนี้ผืนป่าบริเวณรอบหมู่บ้านถูกแผ้วถางจับจอง แม้ชาวบ้านบางส่วนคัดค้านแต่ก็ไม่มีกลไกการจัดการกับผู้บุกรุกอย่างเป็นรูปธรรมจนทำให้ผืนป่าเหล่านั้นค่อยๆถูกปรับเป็นไร่กะหล่ำไปในที่สุด

กระทั่ง พ.ศ.2532 ผลจากการบุกรุกป่าอย่างมหาศาล ทั้งจากการปลูกถั่วเหลืองและกะหล่ำทำให้ราชการมีมาตรการเข้มงวดชาวบ้านห้ามรุกป่าเพิ่ม โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการออกลาดตระเวนป่าบ่อยขึ้น ต่อมาใน พ.ศ.2535 กรมการปกครองได้สั่งการให้สภาตำบลจัดการตรวจสอบและแบ่งเขตหมู่บ้านให้ชัดเจน ดังนั้นใน พ.ศ.2535 จึงได้ทำการแบ่งเขตป่ากับหมู่บ้านข้างเคียงและกันพื้นที่ป่าไว้เป็นป่าอนุรักษ์ โดยตกลงว่าชาวบ้านจะช่วยกันดูแลรักษาป่าและจะไม่บุกรุกขยายพื้นที่ทำกินเข้าไปยังเขตป่าอนุรักษ์[15] กรณีดังกล่าวเป็นผลให้การบุกรุกป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจชะลอตัวลงเพียงแค่นั้น

ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมอันเป็นผลมาจากการผลิตเชิงพาณิชย์นานกว่าหนึ่งทศวรรษได้ทิ้งมรดกไว้ให้ชาวบ้านถวนคือการมีเศรษฐกิจที่ดี มีเงินสะพัดทั่วหมู่บ้าน การมีปฏิสัมพันธ์กับคนพื้นราบรวมทั้งระบบตลาด เป็นต้น ขณะที่การสถาปนาอำนาจรัฐเหนือพื้นที่ทำให้การแสวงหาที่ดินทำกินของชาวบ้านไร้อิสระ พวกเขาต้องปรับตัวโดยการเข้าไปถือครองสมบัติชุมชนในรูปของสมบัติส่วนตัว พร้อมกับปิดกั้นการใช้ประโยชน์จากผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม แม้ผลพวงจากการปลูกพืชเศรษฐกิจทั้งจากยุคถั่วเหลืองจนมาถึงยุคกะหล่ำทำให้เงินสะพัด ชาวบ้านมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มีโอกาสในการเลื่อนสถานะทางชนชั้นแต่ในความเป็นจริงพบว่าโอกาสของชาวบ้านแต่ละคนมีไม่เท่ากัน คนที่สามารถสะสมทุนสร้างความมั่งคั่งจากการปลูกพืชเศรษฐกิจได้ต้องมีเงื่อนไขด้านฐานะทางเศรษฐกิจ การถือครองที่ดิน เงินทุน เครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์มาเป็นตัวกำหนด

กลุ่มคนรวยซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับอำนาจการถือครองที่ดินที่สูงมากกว่า 50 ไร่ มีเงินทุนที่มาก และเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ คนกลุ่มนี้มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมู่บ้าน ดังนั้นจากการมีความพร้อมในหน้าตักมากกว่าคนกลุ่มอื่นทำให้การเข้าสู่การผลิตเชิงพาณิชย์มีศักยภาพในการปรับตัวและสร้างโอกาสได้มาก และยังใช้โอกาสนี้สร้างความหลากหลายทางอาชีพที่นำไปสู่การสร้างแหล่งรายได้ในครอบครัวที่มาจากนอกภาคเกษตรควบคู่ไปด้วย เช่น เปิดร้านโชห่วย ขณะที่บางครอบครัวสามารถส่งลูกหลานเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเมืองเชียงใหม่

ส่วนกลุ่มชาวบ้านฐานะปานกลางมีประมาณร้อยละ 30 มีที่ดินถือครอง 20-50 ไร่ จากข้อจำกัดด้านทุนทำให้คนกลุ่มนี้ลดความเสี่ยงในการสร้างโอกาสในการปรับตัวโดยใช้วิธีให้กลุ่มคนรวยซึ่งมีความพร้อมเริ่มดำเนินการไปก่อน ขณะเดียวกันก็เฝ้าสังเกตผลจากการดำเนินการว่าเป็นอย่างไร หากประสบผลสำเร็จมีกำไรเป็นกอบเป็นกำ พวกเขาก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากการยังชีพไปเป็นเชิงพาณิชย์ตามคนกลุ่มแรกโดยไม่รีรอ ส่วนในกระบวนการผลิต คนกลุ่มนี้ได้แสวงหาทางออกด้านพื้นที่ที่มีอย่างจำกัดโดยนำพื้นที่ไร่หมุนเวียนมาจัดสรรใหม่โดยลดรอบการใช้ประโยชน์ให้สั้นลง พร้อมกับการบุกรุกป่าแปรสภาพสมบัติชุมชนมาเป็นสมบัติส่วนตัวจนสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดนี้ไปได้ ขณะที่ด้านเงินทุนมีการพึ่งพาจากสหกรณ์การเกษตรแม่แจ่มตามที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำแจ่มปูทางไว้ให้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็หมดไปกับค่าใช้จ่ายในปัจจัยการผลิต ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง รวมทั้งค่าจ้างแรงงาน[16]

การปรับตัวของคนกลุ่มนี้มีความหลากหลาย ทั้งสามารถสะสมทุนจนเลื่อนชนชั้นและสร้างความหลากหลายทางอาชีพ กล่าวคือคนที่ปรับตัวได้ได้ลดความเสี่ยงด้วยการรักษาปริมาณพื้นที่ปลูกข้าวไว้เท่าเดิม ส่วนพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจจะใช้พื้นที่ที่เหลือรวมทั้งพื้นที่ที่ได้จากการบุกรุกป่า การบริหารจัดการพื้นที่เช่นนี้ทำให้ชาวบ้านลดความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาถั่วเหลืองและรักษาความมั่นคงของครอบครัวที่จะเกิดขึ้นจากการผลิตถั่วเหลืองที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ซึ่งการปรับตัวเช่นนี้ทำพวกเขาดำรงอยู่ได้ภายใต้รูปแบบการผลิตเชิงพาณิชย์ ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นทำให้ศักยภาพในการแสวงหาโอกาสในการดำเนินชีวิต รวมทั้งการหาช่องทางในการสร้างรายได้จากนอกภาคเกษตรก็มีสูงขึ้นด้วย

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งประสบความล้มเหลวโดยมีเงื่อนไขสำคัญคือการลดพื้นที่ปลูกข้าวแล้วเพิ่มพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจอีกทั้งเงินทุนที่กู้มาจากสหกรณ์เพื่อซื้อปัจจัยการผลิตก็ซื้อไปแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นทำให้ผลผลิตที่ได้ต่ำกว่าเป้า ร้ายไปกว่านั้นข้าวที่ปลูกในเนื้อที่น้อยลงทำให้บางปีไม่พอบริโภค ต้องอาศัยการหยิบยืมรวมทั้งซื้อ ขณะที่ภาระหนี้สินจากสหกรณ์ก็พอกพูนขึ้น การปรับตัวออกจากภาวะดังกล่าวของคนเหล่านี้คือการก้าวออกมาจากภาคเกษตรมาเป็นแรงงานรับจ้าง เป็นต้น

ส่วนกลุ่มคนจน ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดในหมู่บ้านประมาณร้อยละ 60 มีที่ดินไม่เกิน 20 ไร่ มีเงินทุนน้อย มีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ เพราะมาตั้งถิ่นฐานภายหลัง บ้างก็แยกครอบครัวออกมาภายหลังแต่งงาน การปรับตัวของพวกเขาได้แบ่งพื้นที่ปลูกข้าวซึ่งมีเพียงน้อยนิดและได้บุกรุกป่ามาปลูกพืชเศรษฐกิจ ดังนั้นจากพื้นที่ที่มีเพียงน้อยนิดและต้องเฉือนมาปลูกพืชเศรษฐกิจทำให้ผลผลิตไม่พอกิน ขณะที่พืชเศรษฐกิจที่ปลูกในพื้นที่เล็กๆก็ได้ผลผลิตเพียงน้อยนิดเท่านั้น

จากข้อจำกัดในทุกๆด้านทำให้การผลิตเชิงพาณิชย์ของพวกเขาแทนที่จะได้ผลกำไรแต่พบว่ากลับเต็มไปด้วยภาระหนี้สิน กระทั่งช่วงต้นทศวรรษ 2530 กลุ่มคนเหล่านี้จึงเป็นคนกลุ่มแรกของบ้านถวนที่ถูกภาระหนี้สินบีบบังคับให้หันหลังให้การผลิตในภาคเกษตรไปเป็นแรงงานรับจ้างยังต่างพื้นที่ ทั้งในพื้นที่แถบอำเภอจอมทอง ตัวเมืองเชียงใหม่รวมทั้งจังหวัดลำพูน

ดังนั้น จากเงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการขยายอำนาจรัฐเหนือพื้นที่ในช่วงสองทศวรรษนี้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์ในพื้นที่อย่างมหาศาล สายสัมพันธ์ในระดับชุมชนได้เริ่มต้นพังทลายลงพร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงสมบัติชุมชนระดับชุมชนไปเป็นสมบัติส่วนตัว จากนั้นได้ขยายมาสู่ระดับหย่อมบ้านที่มีการเปลี่ยนแปลงสมบัติชุมชนระดับหย่อมบ้านไปเป็นสมบัติส่วนตัวในเวลาต่อมาอีกด้วย การเปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์เหล่านี้ส่งผลในเชิงรูปธรรมออกมาทั้งการว่างจ้างแรงงานแทนการแลกเปลี่ยน การพึ่งพาระบบตลาดแทนการพึ่งพาระบบเครือญาติเสมือน ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ความหมายของ “สมบัติชุมชน” ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งทะลุทะลวงข้อจำกัดในการดำเนินวิถีชีวิตร่วมกันในชุมชนกลายมาเป็นแหล่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในเชิงปัจเจกในรูปของ “สมบัติส่วนตัว” ขณะที่บางกรณีจากการสถาปนาอำนาจเหนือพื้นที่ของรัฐได้ทับซ้อนสมบัติส่วนตัวจนทำให้กลายเป็น “สมบัติของรัฐ” ไป

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ทำให้แรงเกาะเกี่ยวในชุมชนลดลงเรื่อยๆ เครือญาติเสมือนที่ครั้งหนึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรก็ค่อยๆสลายไป เงื่อนไขเหล่านี้ล้วนทำให้กลไกเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ไม่ทำงานจนชาวบ้านในชุมชนเข้าสู่ภาวะความสัมพันธ์เฉื่อยชา การดำเนินวิถีชีวิตก็เป็นไปในเชิงปัจเจกมากขึ้น ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้จึงกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่ “ความล่มสลาย” ของสังคมชุมชนบ้านถวนไปในที่สุด

 

4.เครือข่ายชุมชนแม่แจ่มในลักษณะใหม่ พ.ศ.2540-2550

ช่วงที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการสถาปนาอำนาจรัฐเหนือพื้นที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์ในพื้นที่อย่างมาก และแม้ในยุคนี้ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการขยายอำนาจรัฐเหนือพื้นที่ที่ถาโถมเข้าสู่หมู่บ้านยิ่งตอกลิ่มความเปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์ของชาวบ้านให้ลึกลงไป แต่ขณะเดียวกันก็พบว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นกลับกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ชาวบ้านร่วมรื้อฟื้นเครือข่ายความสัมพันธ์ในลักษณะใหม่เพื่อการจัดการสมบัติชุมชนไปในที่สุด

 

4.1 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประตูสู่โลกภายนอก

จากสถานการณ์ราคากะหล่ำที่ตกต่ำทำให้ชาวแม่แจ่มเริ่มเสาะหาพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ กอปรกับช่วงปลายทศวรรษ 2530 บริษัทเอกชนด้านธุรกิจการเกษตรได้เข้ามาส่งเสริมชาวแม่แจ่มปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งจากแรงจูงใจด้านราคาผลผลิตที่สูงและค่อนข้างคงที่ ไม่ผันผวนเหมือนเช่นกะหล่ำ ทั้งยังดูแลง่าย แค่คอยฉีดพ่นยาฆ่าแมลง กำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ย อีกทั้งทั้งปุ๋ยและยาที่ใช้ก็น้อยกว่ากะหล่ำต้นทุนการปลูกจึงต่ำกว่าและได้กำไรมากกว่าทำให้พื้นที่แม่แจ่มเต็มไปด้วยไร่ข้าวโพดในเวลาอันรวดเร็ว ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรอำเภอแม่แจ่ม ปี 2549-2550 ระบุว่า พืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของแม่แจ่มคือข้าวโพดประมาณ 80% เนื้อที่รวมประมาณ 83,000 ไร่ ส่วนที่เหลือจะเป็นหอมแดง ลิ้นจี่ ลำไย ตามลำดับ

สำหรับชุมชนบ้านถวนเริ่มปลูกข้าวโพดช่วง พ.ศ.2548-2549 เป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์[17] การปลูกในยุคนี้หาได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มคนรวยอีกต่อไปแล้ว เพราะจากการที่ข้าวโพดได้เริ่มเข้าสู่แม่แจ่มตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2530 ชาวบ้านหลายพื้นที่ในแม่แจ่มได้ปลูกจนสามารถสร้างฐานะทางเศรษฐกิจได้ในเวลาเพียงไม่กี่ปีจึงทำให้ชาวบ้านถวนเรียนรู้ประสบการณ์ในการผลิตพืชชนิดนี้จากชาวแม่แจ่มที่ปลูกมาก่อน ทั้งพวกเขายังมีฐานประสบการณ์จากการปลูกพืชเศรษฐกิจมาก่อนหน้านี้ทั้งถั่วเหลือง กะหล่ำจนสามารถ “รู้ช่องทาง” ลดความเสี่ยงในกระบวนการผลิต เช่น การเปรียบเทียบราคาปัจจัยการผลิตทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง สารเคมีต่างๆจากตลาดและจะเลือกซื้อกับร้านค้าที่มีราคาต่ำที่สุด เป็นต้น การรู้ช่องทางดังกล่าวจึงทำให้ชาวบ้านทุกกลุ่มฐานะทยอยปลูกไปพร้อมๆกัน

การเกิดขึ้นของ “อาณาจักรข้าวโพด” ที่กลายเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของแม่แจ่มได้เปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์ของชาวบ้านถวนครั้งใหญ่ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ได้กัดกร่อนสายสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านทั้งในระดับหย่อมบ้านและระดับชุมชนอย่างมหาศาล ความร่วมมือในการทำกิจกรรมสาธารณะภายในหมู่บ้านไม่มีปรากฏให้เห็น หากจะมีก็เป็นแค่ระดับตัวบุคคลเท่านั้น ทั้งนี้เพราะผลจากการเข้าสู่ระบบตลาด ชาวบ้านก็จำเป็นต้องปรับตัวให้มีความสะดวก คล่องตัวและอิสระในการผลิต นั่นจึงเป็นปัจจัยทำให้การผลิตของชาวบ้านแต่ละรายเป็นปัจเจกอย่างเต็มรูปแบบ และแน่นอนว่าสายสัมพันธ์ที่ถูกกัดกร่อนจากเงื่อนไขดังที่กล่าวมาย่อมมีผลโดยตรงต่อการจัดการสมบัติชุมชนตามไปด้วย โดยเฉพาะการสร้างอาณาจักรข้าวโพดทำให้พื้นที่ป่าในชุมชนบ้านถวนถูกบุกรุกอย่างมหาศาล เพราะหากชาวบ้านมีพื้นที่ปลูกมากจะได้กำไรมาก[18] แรงจูงใจดังกล่าวจึงนำมาซึ่งการบุกรุกป่าที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผืนป่าที่ถูกบุกรุกในยุคนี้ชาวบ้านมิได้สนใจแล้วว่าส่วนไหนเป็นสมบัติชุมชนระดับชุมชนหรือป่าผืนไหนเป็นสมบัติชุมชนระดับหย่อมบ้านที่ต้องร่วมกันดูแลรักษา เพราะวิถีชีวิตที่สัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับระบบตลาด สินค้าอุปโภคบริโภคสามารถจับจ่ายได้จากตลาดในตัวอำเภอ ขณะที่การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจากรัฐ ทั้งไฟฟ้าระบบโซล่าร์เซลล์ การพัฒนาเส้นทางคมนาคม ตลอดจนการมีคลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือ การเข้าถึงสาธารณูปโภคเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านมีทางเลือกในการดำเนินชีวิตที่มากกว่าการพึ่งพาเฉพาะแหล่งทรัพยากรภายใน และนั่นย่อมยังผลให้ “ป่า” ในความหมายที่เป็นฐานในการดำรงชีวิตอย่างในยุคที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย ในทางตรงกันข้ามชาวบ้านได้สถาปนาความหมายเสียใหม่ที่กลายเป็นแหล่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับครัวเรือน

 

4.2 โลกกว้าง บนความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

บนสายธารการผลิตแบบสมัยใหม่นั้นชาวบ้านมิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ทว่าได้ผูกโยงความสัมพันธ์กับกลุ่มคน องค์กรต่างๆรอบด้าน ทั้งการสัมพันธ์กับตลาดซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ มีการปฏิสัมพันธ์กับบุคคล หน่วยงานภายนอกมากขึ้นทำให้ชาวบ้านมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่กว้างขวางกว่าเดิม มีประสบการณ์ใหม่ๆ[19] เกิดการเรียนรู้ ปรับตัว มีการต่อรอง มีการดึงทรัพยากรต่างๆรอบตัวมารับใช้การดำเนินชีวิต เป็นต้น

-ตลาด นอกจากมีความหมายเป็นแหล่งซื้อขายปัจจัยการผลิตและผลผลิตแล้ว ตลาดยังเป็นพื้นที่สาธารณะที่ให้ชาวบ้านได้พบปะกับผู้คนที่หลากหลายจนนำไปสู่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนต่างพื้นที่ เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่กว้างขวางทำให้ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้ มีประสบการณ์ ทำให้โลกทัศน์ของพวกเขาเปิดกว้างมากขึ้น ดังนั้นกล่าวได้ว่าตลาดนอกจากมีความหมายเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนสินค้าแล้ว ยังมีความหมายในการเป็นศูนย์กลางในการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ที่กว้างขวางกว่าในระดับชุมชนในลักษณะเดิมอีกด้วย

-รัฐ การสถาปนาอำนาจเหนือพื้นที่ของรัฐผ่านการควบคุมทรัพยากรในรูปของการประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติแม่โถ ตลอดจนการพัฒนาสาธารณูปโภคในพื้นที่แม่แจ่ม เช่น การสร้างถนน ไฟฟ้า ประปา โรงเรียน แม้ในมุมหนึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐควบคุมชาวบ้านผ่านการแสดงสิทธิ์ในทรัพยากรต่างๆให้เป็นสมบัติของรัฐมากขึ้นภายใต้วาทกรรมการอนุรักษ์ ทว่าอีกด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการขยายอำนาจและบทบาทเหล่านี้ของรัฐโดยเฉพาะการพัฒนาสาธารณูปโภคเช่นถนนได้กลายเป็นตัวเชื่อมต่อชาวบ้านกับโลกภายนอกให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ชาวบ้านสามารถเคลื่อนย้ายตัวเองเข้าสู่เมืองได้โดยสะดวก หรือการมีไฟฟ้าใช้ได้ปูทางให้ชาวบ้านเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ชาวบ้านสามารถเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ความเคลื่อนไหวภายนอกได้ผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทต่างๆได้

การนำพาตัวเองออกท่องโลกกว้าง มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่กว้างขวางหลากหลาย ทำให้ความหมายของชุมชนของชาวบ้านถวนในยุคนี้หาได้จำกัดวงอยู่กับหมู่บ้านข้างเคียงอีกต่อไปแล้ว การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่กว้างขวางและหลากหลายย่อมทำให้ “ชุมชน” ของชาวบ้านกว้างขวางตามไปด้วย

 

4.3 การก่อรูปเครือข่ายความสัมพันธ์ลักษณะใหม่

การก่อรูปเครือข่ายความสัมพันธ์ลักษณะใหม่ในการจัดการสมบัติชุมชนของชาวบ้านถวนเป็นผลผลิตจากการถูกรื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่เกิดบนเงื่อนไขการแย่งชิงกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ป่าระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ในยุคนี้ชาวบ้านหาได้เพิกเฉยกับการถูกรัฐยึดครองสมบัติชุมชนและสมบัติส่วนตัวไปเป็นสมบัติของรัฐได้ง่ายๆอีกต่อไปแล้ว

การปฏิสัมพันธ์กับคนที่หลากหลาย มีเครือข่ายที่กว้างขวางทำให้ชาวบ้านรับรู้ว่าสถานการณ์การประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับซ้อนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านนั้นได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของแม่แจ่ม บางพื้นที่อย่างบ้านแม่มะลอ ตำบลแม่นาจร รัฐได้ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแม่โถทับซ้อนที่ดินของหมู่บ้าน จนชาวบ้านถูกจำกัดการพัฒนา ถูกห้ามก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง แม้การรับรู้และตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้นจะจำกัดอยู่กับชาวบ้านถวนเพียงไม่กี่คนเพราะการปราศจากแรงเกาะเกี่ยวกันภายใน แต่จากการที่คนเหล่านั้นมักเป็นกลุ่มคนระดับบน ทั้งกลุ่มผู้นำและกลุ่มคนรวยที่มีความตื่นตัวสูงทำให้ปฏิบัติการของคนกลุ่มเหล่านั้นมีส่วนสำคัญในการสร้างความสะเทือนโดยการยกระดับประเด็นปัญหามาเป็นวาระของหมู่บ้านจนพัฒนาไปสู่การก่อรูปเครือข่ายความสัมพันธ์ลักษณะใหม่ขึ้นมา ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระดับคือ

-ระดับหย่อมบ้าน การก่อรูปเครือข่ายความสัมพันธ์ลักษณะใหม่ในยุคนี้ได้เริ่มต้นขึ้นในระดับหย่อมบ้านขึ้นมาก่อน เพราะเป็นหน่วยพื้นที่ขนาดเล็ก มีสมาชิกและอาณาเขตที่แน่นอน ส่วนในการจัดการพบว่าชาวบ้านโดยกลุ่มผู้นำได้จัดระบบความสัมพันธ์ภายในขึ้นมาใหม่ โดยใช้เงื่อนไขการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับซ้อนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านจนนำไปสู่ความขัดแย้งเป็นมูลเหตุเริ่มต้นที่สำคัญ ปัญหาที่เกิดขึ้นชาวบ้านได้เรียกร้องไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้แก้ปัญหา กระทั่ง อปท.หาทางออกด้วยการตั้งคณะทำงานที่มาจากหลายภาคส่วนทั้งรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ตัวแทนชาวบ้านขึ้นมาแก้ไขโดยใช้การจำแนกแนวเขตป่ากับที่ดินของชาวบ้านออกจากกัน จากนั้นจึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องลงนามรับรองเพื่อเป็นหลักประกันให้ชุมชนเกิดความมั่นใจในสิทธิเหนือที่ดินต่อไป ซึ่งปัจจุบันแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการ

พร้อมกันนั้น เพื่อเป็นการลดแรงเสียดทานจากภายนอกที่มักกล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจทำให้ป่าในแม่แจ่มถูกทำลายอย่างมหาศาล องค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งมีบทบาทในการจัดตั้งกลุ่มองค์กรชาวบ้านได้เข้ามาให้คำแนะนำให้ชาวบ้านสลัดภาพเชิงลบดังกล่าวออกไปด้วยการเสนอให้ชาวบ้านกันพื้นที่ป่าของหย่อมบ้านส่วนหนึ่งให้เป็นป่าชุมชน ซึ่งชาวบ้านทุกคนต้องจัดการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ร่วมกัน

 

-“ป่าชุมชนบ้านถวน” การก่อรูปเครือข่ายความสัมพันธ์ในการจัดการสมบัติชุมชน

ผลจากการรังวัดพื้นที่ใน พ.ศ.2550 เพื่อจำแนกเขตป่ากับที่ดินของชาวบ้านออกจากกันพบว่าชาวบ้านโดยเฉพาะกลุ่มผู้นำได้ดำเนินการจัดการโดยกันแนวเขตป่าของหมู่บ้านจำนวน 2,500 ไร่ให้มีสถานะเป็นสมบัติชุมชนในรูปของ “ป่าชุมชนบ้านถวน” ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเกือบทั้งหมดเดิมทีเป็นป่าบริเวณหมู่บ้านที่ชาวบ้านร่วมกันรักษาในรูปของสมบัติชุมชน แต่หลังจากพืชเศรษฐกิจเข้ามาพื้นที่เหล่านั้นได้ถูกแปรสภาพไปเป็นสมบัติส่วนตัวไปอย่างกว้างขวาง

การจัดการพื้นที่ป่าจำนวน 2,500 ไร่ให้มาเป็นป่าชุมชนบ้านถวนนั้นมิได้เกิดขึ้นโดยง่าย เพราะการครอบครองในรูปสมบัติส่วนตัวมายาวนานทำให้ในช่วงแรกชาวบ้านที่ครอบครองไม่ยอมคืนกรรมสิทธิ์โดยง่าย ทว่าจากการการผลักดัน ต่อรองจากกลุ่มผู้นำที่เป็น “ตัวตั้งตัวตี” รวมทั้งกระบวนการเกลี้ยกล่อมจากองค์กรพัฒนาเอกชนและเจ้าหน้าที่ส่วนราชการที่รับผิดชอบ ดังนั้น แม้การผลักดันให้เกิดป่าชุมชนบ้านถวนที่เกิดจากกลุ่มผู้นำเพียงแค่คนไม่กี่คน แต่จากการมีอำนาจต่อรองที่สูง ทำให้ผู้ครอบครองที่ดินในผืนป่าบริเวณหมู่บ้านจำยอมต้องคืนกรรมสิทธิ์ในที่ดินเหล่านั้นให้เป็นป่าชุมชนไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม หลังจากป่าชุมชนบ้านถวนถูกสถาปนาขึ้นมาได้เพียงแค่ข้ามปี ปรากฏว่าในฤดูการปลูกข้าวโพดฤดูถัดไปนั้นชาวบ้านบางรายที่ได้คืนกรรมสิทธิ์ส่วนตัวให้เป็นป่าชุมชนได้กลับเข้าไปใช้พื้นที่บางส่วนปลูกข้าวโพดเช่นเดิม แม้มีการทักท้วงจากคณะกรรมการป่าชุมชน แต่จากการที่คนเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนจนมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอ คณะกรรมการป่าชุมชนจึงยืดหยุ่นให้พวกเขาใช้ประโยชน์ในที่ดินเหล่านั้นแต่ห้ามขยายพื้นที่ ทำให้ปัจจุบันป่าชุมชนบ้านถวนมีลักษณะเป็นป่าชุมชนที่มีการใช้ประโยชน์ส่วนตัวควบคู่กันไป ดังนั้นผืนป่าที่ถูกกันเป็นเขตป่าชุมชนจำนวน 2,500 ไร่ จึงมีสภาพเป็นป่าชุมชนจริงๆไม่ถึงจำนวนที่ได้ระบุไว้ ขณะที่ชาวบ้านเลือกที่จะอธิบายกับสาธารณะว่าป่าชุมชนของพวกเขายังมีจำนวนมากถึง 2,500 ไร่เพื่อต้องการให้เห็นว่าพวกเขามีจิตสำนึกและศักยภาพที่สูงในการจัดการดูแลรักษาทรัพยากร

ดังนั้น จะเห็นว่าสถานะภาพของสมบัติประเภทต่างๆหาได้หยุดนิ่ง แต่มีการเปลี่ยนสถานะกลับไปกลับมาได้ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและบริบทของพื้นที่เป็นสำคัญ อย่างป่าบริเวณหมู่บ้านที่ในอดีตเป็นสมบัติชุมชนที่ชาวบ้านต้องใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่มาในยุคพืชเศรษฐกิจถูกชาวบ้านเปลี่ยนสถานะเป็นสมบัติส่วนตัว ขณะที่รัฐก็พยายามเข้าไปมีกรรมสิทธิ์ให้เป็นสมบัติของรัฐด้วย จนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้าน จนในที่สุดชาวบ้านได้ลดแรงตึงเครียดในปัญหาด้วยการเปลี่ยนสถานะผืนป่าเหล่านั้นให้กลับคืนมาเป็นสมบัติชุมชนอีกครั้งในรูปป่าชุมชนพร้อมกับเรียกร้องสิทธิการจัดการจากรัฐ กระทั่งในท้ายที่สุดพบว่าจากข้อจำกัดด้านที่ดินทำกินไม่เพียงพอ ผนวกกับการไม่สามารถต้านทานแรงเหวี่ยงของกระแสการผลิตเชิงพาณิชย์ไว้ได้จนทำให้สมบัติชุมชนในรูปป่าชุมชนถูกใช้ประโยชน์ในรูปสมบัติส่วนตัวควบคู่กันไป

 

-“กลุ่มอนุรักษ์ป่าบ้านถวน” ปฏิบัติการเชิงรุกในการจัดการสมบัติชุมชน

นอกไปจากการรังวัดเพื่อจำแนกแนวเขตป่าและที่ดินทำกินออกจากกันแล้ว คณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐกับชาวบ้านที่มีองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นแกนสำคัญยังเสนอให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันภายในหย่อมบ้านเป็นกลุ่มอนุรักษ์ป่าเพื่อป้องกันพื้นที่ป่าถูกบุกรุกทำลายทั้งจากคนในและนอกพื้นที่ ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบจากชาวบ้านด้วยดีจนนำมาซึ่งการก่อตั้งเป็น “กลุ่มอนุรักษ์ป่าบ้านถวน” ขึ้นมาในที่สุด

กลุ่มอนุรักษ์ป่าบ้านถวนที่มีการก่อตั้งขึ้นนั้น ในขั้นแรกมีกระบวนการจัดการโดยใช้ตัวแทนของคณะกรรมการของหมู่บ้านและคณะกรรมการป่าชุมชนมาเป็นคณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์ หลังจากนั้นจึงมีการร่างกฎระเบียบการอนุรักษ์ป่าขึ้นมา อาทิ ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาตัดไม้ในพื้นที่บ้านถวน, หากชาวบ้านจะเผาไร่ต้องทำแนวกันไฟและต้องแจ้งคณะกรรมการทุกครั้ง, ห้ามล่าสัตว์ป่าทุกชนิด, ห้ามแปรรูปไม้ในพื้นที่เพื่อขายให้บุคคลภายนอก, ห้ามขายพื้นที่ทำกินให้แก่บุคคลภายนอกเด็ดขาด, ห้ามขยายพื้นที่ทำกินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการหมู่บ้าน, คณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์ต้องเดินสำรวจพื้นที่ทุกๆ 3 เดือน

การก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ป่าบ้านถวน พร้อมกับมีกฎระเบียบอย่างชัดเจนถือเป็นปฏิบัติการเชิงรุกในการจัดการทรัพยากรของชาวบ้าน แต่ในการดำเนินการพบว่ามีความเข้มข้นช่วงระยะแรกของการก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นไม่นานกลุ่มอนุรักษ์ดังกล่าวแทบไม่มีบทบาทใดๆในพื้นที่ เพราะแม้ชาวบ้านกระทำผิดกฎระเบียบ เช่น มีการลักลอบบุกรุกป่าขยายแปลงข้าวโพดกลับพบว่ากลุ่มอนุรักษ์ป่าบ้านถวนมิได้ดำเนินการเอาผิดใดๆหรือมีมาตรการจัดการใดๆกับคนเหล่านั้นอย่างจริงจัง

ดังนั้น จากการก่อรูปของเครือข่ายความสัมพันธ์ลักษณะใหม่นี้หาได้เกิดจากปัจจัยภายในที่เป็นแรงปราถนาของชาวบ้านเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่แรงกระตุ้นจากภายนอกก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน ขณะที่กลุ่มชาวบ้านที่อ้าแขนรับแรงกระตุ้นจากภายนอกกระทั่งนำไปสู่การก่อรูปเครือข่ายความสัมพันธ์ลักษณะใหม่ในหมู่บ้านก็ได้จำกัดวงแคบๆอยู่กับกลุ่มผู้นำในหมู่บ้านเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ดังนั้นบนสถานการณ์แห่งความเปลี่ยนแปลงที่สายสัมพันธ์ที่ร้อยรัดผู้คนในหมู่บ้านขาดวิ่น การดำเนินชีวิตที่ได้ผูกโยงกับการผลิตเชิงพาณิชย์บนวิถีปัจเจกนิยม ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การก่อรูปของเครือข่ายความสัมพันธ์ลักษณะใหม่ในระดับหย่อมบ้านในการจัดการสมบัติชุมชนเกิดขึ้นในลักษณะ “กระท่อนกระแท่น” หาได้มีพลังในการรื้อฟื้นรวมทั้งการกำกับดูแลสมบัติชุมชนอย่างเข้มข้นเฉกเช่นอดีต

-ระดับชุมชน จุดเริ่มต้นการก่อรูปเครือข่ายความสัมพันธ์ลักษณะใหม่ในระดับชุมชนในยุคนี้เกิดจากการปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านต่างพื้นที่ กระทั่งทราบว่าพวกเขาล้วนเผชิญปัญหาจากการสถาปนาอำนาจรัฐเหนือพื้นที่เช่นเดียวกัน บางพื้นที่อย่างบ้านแม่มะลอ ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม ที่อุทยานแห่งชาติแม่โถประกาศทับ ซึ่งแม้ชาวบ้านได้ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ดังกล่าวมาก่อนแต่หลังจากการประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ถูกจำกัดการพัฒนา การห้ามก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างจนนำมาซึ่งปัญหาแก่ชาวบ้านแม่มะลอมากมาย ปัญหาดังกล่าวจึงกลายเป็นปัญหาร่วมของชาวแม่แจ่มในวงกว้าง

กระทั่งใน พ.ศ.2546 ชาวบ้านที่ประสบปัญหาดังกล่าวในแต่ละหย่อมบ้านในตำบลแม่นาจร ตำบลบ้านทับ ตำบลปางหินฝน ตำบลกองแขก ซึ่งส่วนใหญ่มีการรวมกลุ่มในการจัดการทรัพยากรในแต่ละหย่อมบ้านอยู่แล้ว รวมทั้งหมด 48 หย่อมบ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 24 ลุ่มน้ำย่อย ซึ่งบ้านถวนก็เป็นหนึ่งในนั้น ได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อ "องค์กรเครือข่ายลุ่มน้ำแม่แจ่ม (อ.ค.จ.)" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายลุ่มน้ำต่างๆ ในอำเภอแม่แจ่มให้มีอำนาจและสิทธิในการจัดการทรัพยากรในแต่ละลุ่มน้ำ ร่วมแก้ไขปัญหาป่าไม้และที่ดินในเขตป่า และรวมพลังผลักดันกฎหมายป่าชุมชน

ภารกิจสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวของ อ.ค.จ.คือเรียกร้องสิทธิและอำนาจในการจัดการทรัพยากรในแต่ละลุ่มน้ำ พร้อมกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐสำรวจเพื่อจำแนกแนวเขตพื้นที่ป่ากับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านให้ชัดเจนและให้รัฐรับรองสิทธิที่มั่นคงเหนือที่ดินให้แก่ชาวบ้านเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบังคับหรือโยกย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่

การเคลื่อนไหวผลักดันของ อ.ค.จ.อย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่วยงานภาครัฐรับรองหลักการที่จะให้สำรวจจำแนกแนวเขตที่ดิน แต่ในทางปฏิบัติพบว่าได้เกิดข้อโต้แย้งเกี่ยวกับแนวทางการสำรวจแนวเขต การพิสูจน์และรับรองสิทธิ์ รวมทั้งเกณฑ์ที่จะใช้พิจารณาว่าพื้นที่ลักษณะใดที่เปิดให้ชาวบ้านร่วมดูแลรักษา และพื้นที่ลักษณะใดที่ควรปกป้องให้ปราศจากการรบกวนของมนุษย์ซึ่งปัจจุบันข้อโต้แย้งดังกล่าวยังหาข้อสรุปไม่ได้ ที่ร้ายกว่านั้นพบว่าท่ามกลางข้อโต้แย้งที่ยังไร้ข้อสรุปแต่ในพื้นที่กลับพบว่ามีการสำรวจแนวเขตไปบ้างแล้ว ทั้งกรณีที่รัฐดำเนินการโดยลำพังและกรณีที่ชาวบ้านดำเนินการกันเอง ซึ่งแม้มีผลการดำเนินงานออกมาแต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับจากฝ่ายที่ไม่ได้มีส่วนร่วม จึงทำให้การดำเนินการดังกล่าวมีความคืบหน้าน้อยมาก

นอกจากนี้ แม้จะมีสมาชิกมากถึง 48 หย่อมบ้าน แต่พบว่าสมาชิก ส.ค.จ.ที่ร่วมผลักดันเคลื่อนไหวในลักษณะ “แกนนำ” ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดทิศทางและแนวทางการเคลื่อนไหวมีประมาณ 10 คนเท่านั้น[20] ขณะที่สมาชิกส่วนที่เหลือซึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละหย่อมบ้าน หย่อมบ้านละ 2-3 คน จะเข้าร่วมในลักษณะ “ฐานมวลชน” ของ อ.ค.จ.ซึ่งมีภารกิจในการปฏิบัติตามมติของ อ.ค.จ. รวมทั้งการนำมติตลอดจนความเคลื่อนไหวต่างๆของ อ.ค.จ.ไปแจ้งให้ชาวบ้านในหย่อมบ้านของตัวเองรับทราบ[21] ดังนั้น การเคลื่อนไหวผ่านสมาชิกที่เป็นตัวแทนแต่ละหย่อมบ้านโดยใช้ชื่อ อ.ค.จ.แม้เบื้องหน้าภาพของการเคลื่อนไหวเรียกร้องดูยิ่งใหญ่และมีพลัง มีอำนาจต่อรองที่สูงเพราะเป็นความต้องการของชาวบ้านครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แจ่มทั้งหมด แต่จากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของแต่ละหย่อมบ้านผ่านตัวแทนเพียงแค่ 2-3 คน และเลือกจะยืนในตำแหน่งฐานมวลชน ทั้งยังมักประสบปัญหาการสื่อสารข้อมูล ข่าวสาร ข้อเรียกร้อง ตลอดจนความเคลื่อนไหวของ ส.ค.จ.ให้สมาชิกในหมู่บ้านรับรู้ อีกทั้งสมาชิกในหมู่บ้านจำนวนหนึ่งไม่ได้ให้ความสนใจ ดังนั้นปัจจัยเหล่านี้จึงกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พลังในการเคลื่อนไหวเรียกร้องอยู่ในระดับต่ำ ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายอย่างที่พวกเขาต้องการได้ จึงทำให้การดำเนินการแก้ปัญหาล่าช้ามาจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น จะเห็นว่า “การก่อรูป” เครือข่ายความสัมพันธ์ลักษณะใหม่ในการจัดการสมบัติชุมชนมีการก่อรูปขึ้นในระดับหย่อมบ้านก่อน จากนั้นจึงมีการผนึกเครือข่ายของแต่ละหย่อมบ้านซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันเข้าด้วยกันเป็นเครือข่ายระดับชุมชนเพื่อให้เครือข่ายดังกล่าวมีขนาดใหญ่และมีอำนาจต่อรองที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ สมบัติชุมชนลักษณะใหม่ในยุคนี้หาได้เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิตอย่างบ่อน้ำหรือกิจกรรมเชิงพิธีกรรมอย่างในอดีตอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นสิทธิในการจัดการทรัพยากร ทั้งป่าชุมชน ลุ่มน้ำในพื้นที่ เป็นต้น และยังพบว่าลักษณะร่วมประการสำคัญของการก่อรูปเครือข่ายความสัมพันธ์ลักษณะใหม่ทั้งสองระดับคือการดำเนินการผ่านตัวแทนของพื้นที่ซึ่งมักเป็นกลุ่มผู้นำและกลุ่มคนรวยซึ่งมักมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่กว้างขวาง ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจและเลือกที่ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อรูปเครือข่ายความสัมพันธ์ดังกล่าว เพราะนอกจากสายสัมพันธ์ในพื้นที่ที่เคยร้อยรัดชาวบ้านให้เป็นปึกแผ่นนั้นถูกทำลายลงพร้อมๆกับการเข้ามาของการผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว พวกเขายังเห็นว่าแนวทางเหล่านั้นไม่ได้ยึดโยงกับตัวเองและไม่ตอบสนองการดำเนินชีวิตในยุคพืชเศรษฐกิจได้

ดังนั้น แม้เครือข่ายเหล่านี้เลือกที่จะสื่อสารกับสาธารณะโดยเสนอภาพลักษณ์ความเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ ทั้ง ป่าชุมชนบ้านถวน กลุ่มอนุรักษ์ป่าบ้านถวน รวมทั้งองค์กรเครือข่ายลุ่มน้ำแม่แจ่ม แต่จากการดำเนินการขับเคลื่อนผ่านปฏิบัติการของตัวแทนเพียงไม่กี่คนซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มผู้นำเท่านั้น ปฏิบัติการในการจัดการสมบัติชุมชนของเครือข่ายดังกล่าวจึงส่งผลสะเทือนในช่วงเวลาสั้นๆ และแน่นอนว่าการแก้ปัญหาเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้จึงเป็นไปอย่างล่าช้า

 

5.บทสรุป

บทความนี้มุ่งฉายภาพให้เห็นความสลับซับซ้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในชนบทภาคเหนือผ่านการจัดการสมบัติชุมชนของ “ชุมชน” และ “หย่อมบ้าน” ช่วง พ.ศ.2500-2550 โดยอธิบายให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนระบบการผลิตแบบยังชีพไปเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้น รวมทั้งการสถาปนาอำนาจรัฐเหนือพื้นที่ โดยเฉพาะการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ในช่วงเวลาดังกล่าวได้เปลี่ยนระบบความสัมพันธ์ในชนบทอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ซึ่งจากระบบความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานภาพ ความหมายของสมบัติชุมชนตามไปด้วย

ความเปลี่ยนแปลงระบบความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นได้วิเคราะห์ผ่านการจัดการสมบัติชุมชนของชาวบ้าน ที่เดิมทีชาวบ้านหลายๆหย่อมบ้านจัดระบบความสัมพันธ์โดยรวมกลุ่มเป็นชุมชนขนาดใหญ่เพื่อทะลุทะลวงข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต ทั้งด้านทรัพยากร แรงงาน ฯลฯ ด้วยการสถาปนาสมบัติชุมชนขึ้นมา เช่น ที่ดิน แหล่งน้ำ ตลอดจนพิธีกรรม ฯลฯ ซึ่งคนในชุมชนจะจัดการ รักษาและใช้ประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้สมบัติชุมชนเหล่านี้ยังทำหน้าที่ร้อยรัดความสัมพันธ์ของชาวบ้านในชุมชนให้แนบแน่นอีกด้วย

ต่อมาเมื่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการขยายอำนาจรัฐถาโถมเข้าสู่ชนบท ทำให้การผลิตแบบยังชีพถูกแทนที่ด้วยการผลิตเชิงพาณิชย์ ใช้ทุนอย่างเข้มข้น ทั้งเม็ดเงิน เครื่องจักร แรงงาน และการปฏิสัมพันธ์กับตลาดอย่างแนบแน่น รูปแบบการผลิตเป็นไปในเชิงปัจเจกมากขึ้น ขณะที่ที่การขยายอำนาจรัฐผ่านการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทำให้ชาวบ้านในชุมชนไม่สามารถแสวงหาที่ดินได้อย่างอิสระ การปรับตัวของพวกเขาคือการยึดครองที่ดินที่เป็นสมบัติชุมชนมาเป็นสมบัติส่วนตัวเพื่อใช้เป็นปัจจัยการผลิต ดังนั้นเมื่อสมบัติชุนที่ทำหน้าที่ร้อยรัดความสัมพันธ์ขอคนในชุมชนถูกทำลายลงทำให้ไร้พลังเกาะเกี่ยวกันภายใน ในที่สุดความเป็นชุมชนในปัจจุบันไม่มีอีกต่อไป

นอกจากนี้ หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีผลทำให้สมบัติชุมชนในระดับชุมชนพังทลายลงก่อนเพราะเป็นหน่วยความสัมพันธ์ขนาดใหญ่ มีสมาชิกที่หลากหลาย มีอาณาเขตที่ไม่แน่นอนทำให้ระบบการควบคุมหละหลวมจึงถูกชาวบ้านยึดครองเป็นสมบัติส่วนตัวเป็นอันดับแรก ขณะที่สมบัติชุมชนระดับหย่อมบ้านได้พังทลายลงทีหลังเพราะเป็นหน่วยความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ขนาดเล็ก มีจำนวนสมาชิกและอาณาเขตที่แน่นอน ทำให้ระบบการควบคุมมีความเข้มข้นมากกว่าในระดับชุมชน

พร้อมกันนั้นยังพบว่าความหมายของสมบัติชุมชนมิได้หยุดนิ่ง สามารถเปลี่ยนแปลงไปมาได้ อย่างในอดีตชาวบ้านมีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตต้องพึ่งพาทรัพยากรรอบตัวจึงต้องให้ความหมายกับสมบัติชุมชนที่เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิต ทว่าจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจชาวบ้านสะสมทุนจนเลื่อนชนชั้นได้ ปัจจัยในการดำเนินชีวิตย้ายตำแหน่งจากทรัพยากรรอบตัวไปอยู่ที่ระบบตลาด สมบัติชุมชนจึงถูกเปลี่ยนความหมายจากแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิตไปเป็นปัจจัยการผลิตแทน

เช่นเดียวกับสถานภาพของสมบัติชุมชนที่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานะภาพไปมาได้ จากเดิมที่เป็นสมบัติชุมชน แต่จากการสถาปนาอำนาจเหนือพื้นที่ของรัฐทำให้สมบัติชุมชนเหล่านั้นเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นสมบัติของรัฐ ครั้งเมื่อมีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสมบัติชุมชนรวมทั้งสมบัติของรัฐเหล่านั้นก็พร้อมจะเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นสมบัติส่วนตัวได้ทุกเมื่อ

อย่างไรก็ตาม แม้มีความพยายามรื้อฟื้นระบบความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ด้วยการรวมตัวเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์การผนึกกำลังของคนในชุมชน ซึ่งสาธารณะมักเข้าใจว่าเป็นการดำเนินการภายใต้ความเป็นชุมชนแม่แจ่มที่ยังมีระบบความสัมพันธ์ภายในที่เหนียวแน่นเช่นในอดีต แต่แท้จริงแล้วผลจากการไร้แรงเกาะเกี่ยวภายในชุมชนทำให้เครือข่ายลักษณะใหม่นี้ดำเนินการกันเฉพาะตัวแทนของหย่อมบ้านเท่านั้นที่สานตัวเป็นชุมชนอย่างหลวมๆ เพียงแต่ในการเคลื่อนไหวหรือการสื่อสารกับสาธารณะตัวแทนหย่อมบ้านเหล่านั้นเลือกที่จะใช้ภาพแทนตัวเองว่า “ชุมชนแม่แจ่ม” เพื่อสร้างอำนาจต่อรองที่สูงขึ้นกับสาธารณะในการจัดการสมบัติชุมชนเท่านั้นเอง

 

 

เอกสารอ้างอิง

 

วิทยา อาภรณ์, วิทยา อาภรณ์, ประวัติของชุมชนในบริเวณลุ่มน้ำแม่หลุ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่,

วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541.

สันติพงษ์ ช้างเผือก และคณะ, ของหน้าหมู่ : ประวัติศาสตร์ตัวตนของชุมชนกลางหุบเขาแม่แจ่ม, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ชุดโครงการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคเหนือ : ประวัติศาสตร์เพื่อชุมชน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2547.

อภิชาต สถิตนิรามัย และคณะ, โครงการวิจัย ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย (Re-examining the Political Landscape of Thailand), รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์, ได้รับทุนสนับสนุนโดย แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), พฤษภาคม 2556.

อานันท์ กาญจนพันธุ์ และมิ่งสรรพ์ ขาวสอาด, วิวัฒนาการของการบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่า :

กรณีศึกษาภาคเหนือตอนบน, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, 2538.

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, หกทศวรรษของความเปลี่ยนแปลงในสังคมชาวนาภาคเหนือ, ใน การเมือง

ประชาธิปไตยในท้องถิ่นภาคเหนือ, วสันต์ ปัญญาแก้ว (บก.), ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2555.

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, ระหว่างประวัติศาสตร์กับความทรงจำ : ประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นภาคเหนือ (Between History and Memory : Northern Local and Community History), โครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคเหนือ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2553.

อุทิศ สมบัติ และคณะ, การจัดการองค์กรชุมชนในรูปแบบใหม่, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การมีส่วนร่วมในการศึกษาประวัติศาสตร์แม่แจ่ม 100 ปีจากเมืองแจ๋มสู่แม่แจ่ม, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2549.

 

สัมภาษณ์

นายศุภชัย โรจนวนา, อายุ 47 ปี, 31 ตุลาคม 2554.

นายนะพอ เที่ยงธรรมยิ่ง, อายุ 77 ปี, 1 พฤษภาคม  2555.

นายติคำ นุดี อายุ 70  ปี, 4 กันยายน 2555.

นายโอฬาร อ่องฬะ, เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ, 21 มกราคม 2556.

นายประพันธ์ พิชิตไพรพนา, เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ, 5 กรกฎาคม

2555.

นายสมเกียรติ์ ใจงาม, กองเลขาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.), 14 สิงหาคม 2556.

 

 




[1]  อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, หกทศวรรษของความเปลี่ยนแปลงในสังคมชาวนาภาคเหนือ, ใน การเมืองประชาธิปไตยในท้องถิ่นภาคเหนือ, วสันต์ ปัญญาแก้ว (บก.), ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2555, หน้า 2.

[2]  ดูรายละเอียดใน อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, ระบอบทรัพย์สินในชนบทภาคเหนือของประเทศไทย, ในประวัติศาสตร์ความคิดไทยกับแนวคิดชุมชน, สถาบันไทยคดีศึกษา, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548

[3]  ระบบกรรมสิทธิ์หมุนเวียน เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆซึ่งสัมพันธ์กับการผลิตที่มีการเคลื่อนย้ายพื้นที่บ่อยๆ หลังจากย้ายพื้นที่แล้วชาวบ้านจะละทิ้งกรรมสิทธิ์ส่วนตัวเหล่านั้นไป จากนั้นผู้ใดจะมาถือกรรมสิทธิ์ต่อไปก็ได้

[4]  ไร่หมุนเวียน เป็นระบบเกษตรกรรมแบบพื้นบ้านที่กระจายอยู่ในหลายวัฒนธรรม ปัจจุบันนั้นหลงเหลืออยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ โดยเป็นระบบการเพาะปลูกในพื้นที่หนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง จากนั้นจะย้ายพื้นที่เพาะปลูกไปยังพื้นที่ใหม่เพื่อให้พื้นที่เดิมเริ่มฟื้นความอุดมสมบูรณ์ แล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง อาจจะทุก ๆ 5-9 ปี แล้วแต่สภาพพื้นที่

[5]  ไร่เหล่า หมายถึงพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่ถูกพักการทำไร่เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของดิน

[6]  ดูรายละเอียดใน อานันท์ กาญจนพันธุ์ และมิ่งสรรพ์ ขาวสอาด, วิวัฒนาการของการบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่า : กรณีศึกษาภาคเหนือตอนบน, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, 2538, หน้า39.

[7]  สัมภาษณ์นายศุภชัย โรจนวนา, อายุ 47 ปี, 31 ตุลาคม 2554.

[8]  อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, ระหว่างประวัติศาสตร์กับความทรงจำ : ประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นภาคเหนือ (Between History and Memory : Northern Local and Community History), โครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคเหนือ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2553, หน้า 29-30.

[9]  สัมภาษณ์นายนะพอ เที่ยงธรรมยิ่ง, อายุ 77 ปี, 1 พฤษภาคม  2555.

[10]  สัมภาษณ์นายโอฬาร อ่องฬะ, เจ้าหน้าที่ภาคสนาม มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ, 21 มกราคม 2556.

[11]  สันติพงษ์ ช้างเผือก และคณะ, ของหน้าหมู่ : ประวัติศาสตร์ตัวตนของชุมชนกลางหุบเขาแม่แจ่ม, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ชุดโครงการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคเหนือ : ประวัติศาสตร์เพื่อชุมชน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2547. หน้า 177-191.

[12]  สัมภาษณ์นายติคำ นุดี 70  ปี, 4 กันยายน 2555.

[13]  สัมภาษณ์นายประพันธ์ พิชิตไพรพนา, เจ้าหน้าที่ภาคสนาม มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ, 5 กรกฎาคม 2555.

[14]  สัมภาษณ์นายติคำ นุดี อายุ 70  ปี, 4 กันยายน 2555.

[15]  วิทยา อาภรณ์, วิทยา อาภรณ์, ประวัติของชุมชนในบริเวณลุ่มน้ำแม่หลุ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541, หน้า 211-217.

[16]  การว่างจ้างแรงงานยุคแรกๆของการผลิตเชิงพาณิชย์พบว่ายังมีการแลกเปลี่ยนแรงงานอยู่ทั้งในระดับหย่อมบ้านและชุมชน แต่ในฤดูกาลผลิตต่อๆมาพบว่ากระบวนการแลกเปลี่ยนแรงงานเริ่มหดแคบเหลืออยู่เฉพาะในระดับหย่อมบ้านเท่านั้น เพราะชาวบ้านต่างพื้นที่ที่มาแลกเปลี่ยนแรงงาน ซึ่งบางส่วนไม่ได้ปลูกพืชเศรษฐกิจเริ่มตระหนักว่าพวกเขาไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลตอบแทนที่ได้จากการปลูก จึงค่อยๆเลิกการแลกเปลี่ยนแรงงานกับต่างหมู่บ้านเปลี่ยนมาเป็นการว่าจ้างแทน

[17]  ข้าวโพดในแม่แจ่มมี 2 ประเภทคือข้าวโพดเมล็ดพันธุ์ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 20% ของการปลูก ซึ่งข้าวโพดประเภทนี้ชาวบ้านปลูกภายใต้รูปแบบพันธะสัญญากับบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี และบริษัทในเครือเบทาโกร ส่วนอีกประเภทคือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีสัดส่วนประมาณ 80% ของการปลูก ซึ่งชาวบ้านปลูกด้วยตัวเอง ส่วนผลผลิตข้าวโพดทั้ง 2 ประเภทพบว่า 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ข้างต้นเป็นผู้รับซื้อ.

[18]  สัมภาษณ์นายติคำ นุดี อายุ 70 ปี, 18 มีนาคม 2556.

[19]  ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน  อภิชาต สถิตนิรามัย และคณะ, โครงการวิจัย ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย (Re-examining the Political Landscape of Thailand), รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์, ได้รับทุนสนับสนุนโดย แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), พฤษภาคม 2556, หน้า 94-101.

[20]  อุทิศ สมบัติ และคณะ, การจัดการองค์กรชุมชนในรูปแบบใหม่, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ การมีส่วนร่วมใน

การศึกษาประวัติศาสตร์แม่แจ่ม 100 ปีจากเมืองแจ๋มสู่แม่แจ่ม, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2549  หน้า 113.

[21]  สัมภาษณ์นายสมเกียรติ์ ใจงาม, กองเลขาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.), 14 สิงหาคม 2556.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net