VOICE FOR EMPOWERMENT: แปร “เสียงของผู้สูญเสีย” เป็น “ความทรงจำส่วนรวม”

ถอดเนื้อหาจากเวที VOICE FOR EMPOWERMENT สู่การสื่อสารและสร้างพลังอำนาจให้ “เหยื่อ” เพื่อสร้างความทรงจำร่วม โดย “นารีอา บิลบาตัว โธมัส” และ “โดดี้ วิโบโว” จากศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา

วันที่ 22-23 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา ตัวแทนภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกับ “ผู้สูญเสีย” ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ความไม่สงบ อาทิ กลุ่มด้วยใจ, กลุ่ม WEPEACE, สำนักข่าว WARTANI, กลุ่มลูกเหรียง มีโอกาสอันดีที่ได้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการในโครงการ “VOICE FOR EMPOWERMENT” ที่ อ.เทพา จ.สงขลา โดยนารีอา บิลบาตัว โธมัส (Nerea Bilbatua Thomas) และ โดดี้ วิโบโว (Dody Wibowo) ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง (Centre for Peace and Conflicts Studies) แห่งกรุงเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา เป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์

การอบรบครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเอเชีย (Asia Foundation) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และเทคนิคในการสัมภาษณ์เก็บข้อมูล ความรู้สึก จากผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรง รวมทั้งวิธีการออกแบบคำถามและแนวทางการสร้างเรื่องเล่าในเชิงบวก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่สันติภาพ

ต่อไปนี้เป็นเนื้อหาที่ถูกถ่ายทอดออกมาจาก “นารีอา” และ “โดดี้” สองวิทยากรผู้เป็นทั้งนักทฤษฎีและนักปฏิบัติการด้านสันติภาพที่คลุกคลีและมีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลก อาทิ โคลัมเบีย, ฟิลิปปินส์, พม่า, อาเจะห์ และปาปัวนิวกินี

อะไรคือ “ความทรงจำส่วนรวม”

โดดี้ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงความสำคัญของความทรงจำว่า ทุกคนต่างก็มีความทรงจำเป็นของตนเอง เหตุการณ์บางเหตุการณ์มีพื้นที่มากเป็นพิเศษในความทรงจำของเรา และความทรงจำเหล่านั้นก็มักจะส่งผลต่อพฤติกรรมในปัจจุบันและอนาคต ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เมื่อเราเดินไปตามถนนแล้วตกลงไปในท่อระบายน้ำ เราก็จะจดจำว่าเราตกลงไปได้อย่างไร ความรู้สึกขณะนั้นเป็นอย่างไร ปฏิกิริยาของคนที่เห็นเราตกท่อเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้ทำให้เราระมัดระวังมากขึ้นเมื่อเดินผ่านบริเวณนั้นอีกครั้ง ความทรงจำลักษณะนี้เรียกว่า “ความทรงจำส่วนตัว” (Personal Memories)
สิ่งสำคัญที่เราจะพูดถึงเรื่องนี้ก็คือ “ความทรงจำส่วนรวม” (Collective Memory) ซึ่งหมายถึงความทรงจำที่ถูกแบ่งปัน หรือรับรู้ร่วมกันในเหตุการณ์หนึ่งๆ มันสามารถถูกสร้างขึ้นโดยคนๆ เดียวหรือหลายคนก็ได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เหตุการณ์นั้นถูกจดจำโดยคนส่วนใหญ่ หรือประชาชนในรัฐ ผ่านตำราเรียน อนุสาวรีย์ หรือการจัดงานรำลึก
บางครั้งการสร้างความทรงจำส่วนรวมที่มีด้านเดียวก็เป็นเครื่องมือของรัฐเผด็จการ  เพราะฉะนั้น การสร้าง “ความทรงจำส่วนรวม” ควรจะต้องวางอยู่บนเรื่องเล่าที่หลากหลายของผู้คน ซึ่งมุมมองที่แตกต่างกันนั้นจะช่วยให้เราเข้าใจว่าในเหตุการณ์หนึ่งสามารถมี “ความจริง” (truths) ได้หลายชุด เพราะถูกเล่าจากคนที่มีมุมมองและความรู้สึกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญก็คือเรื่องเล่าเหล่านั้นล้วนมีความสำคัญและต้องได้รับการยอมรับว่ามีอยู่จริง

เป็นเครื่องมือแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง

เมื่อถึงจุดนี้ เราจะเห็นได้ว่า “ความทรงจำส่วนรวม” นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการใช้เป็นเครื่องมือในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง เราสามารถใช้ “ความทรงจำส่วนรวม” เพื่อประกอบสร้างสังคมที่แตกสลายไปเพราะความขัดแย้ง แน่นอน ระหว่างที่ขัดแย้งกันนั้น เราต่างคนต่างก็มีเรื่องเล่าของตัวเอง มีมุมมองที่ต่างกันในเหตุการณ์เดียวกัน แต่ในกระบวนการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง เราจำเป็นต้องยอมรับ “ความจริง” ของทุกฝ่าย เพื่อเปิดทางให้คู่ขัดแย้งทั้งหมดได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตที่ดีกว่า

สุดท้ายนี้ การใช้ “ความทรงจำส่วนรวม” ในฐานะเครื่องมือแปรเปลี่ยนความขัดแย้งนั้น มีประโยชน์อย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่
1.เพื่อให้เรายอมรับความหลากหลายของเรื่องเล่าและความจริงที่สลับซับซ้อน
2.เพื่อช่วยเหลือผู้รอดชีวิตและสนับสนุนความพยายามในการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน
3.เพื่อสนับสนุนกระบวนการสมานฉันท์และการสร้างสังคมดังที่จินตนาการไว้
4.เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับคนรุ่นหลังและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เดิมซ้ำ

การสื่อสารและสร้างพลังให้ “เหยื่อ”

ในหัวข้อนี้ นารีอา ซึ่งมีประสบการณ์ตรงในฐานะผู้เขียนหนังสือ “Struggle for Peace” ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “ความทรงจำส่วนรวม” ที่เธอรวบรวมขึ้นจากการสัมภาษณ์สมาชิก 38 คน ของกองกำลังติดอาวุธของนักศึกษาพม่าที่เข้าป่าไปต่อสู้กับรัฐบาลทหารอย่างยาวนานถึง 25 ปี เธอเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า เมื่อเราทุกคนมอง “ผู้สูญเสีย” หรือ “เหยื่อ” นั้น เรามีมุมมองอย่างไร?

คนทั่วไปมักจะมองเห็น “เหยื่อ” ในฐานะผู้ถูกกระทำ อ่อนแอ เจ็บปวด ได้แต่รอคอยความเห็นอกเห็นใจและความช่วยเหลือ แต่ในทางกลับกัน เราสามารถมองเห็นพวกเขาในฐานะ “ต้นทุน” (Resources) ได้ โดยเริ่มต้นจากการเปลี่ยนมุมมองว่า พวกเขาเป็นคนที่มีเรื่องที่จะเล่า มีความเข้มแข็ง และมีศักยภาพที่จะลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง และ “การสร้างพลังอำนาจ” (empowerment) ก็เป็นกระบวนการที่จะเปลี่ยนจาก “เหยื่อ” ให้เป็น “ต้นทุน” ได้

ทั้งนี้ เราต้องทำความเข้าใจแก่นความคิดของ “การสร้างพลังอำนาจ” ก่อนว่า เป็นทั้ง “กระบวนการ” (process) และ “ผลลัพธ์” (outcome) ในตัวเอง โดยที่มีเป้าหมายอยู่การสร้าง “ความเปลี่ยนแปลง” (changes) ซึ่งอาจจะหมายถึงการเข้าถึงทรัพยากรที่มากขึ้น, โอกาสในชีวิตที่ดีขึ้น หรือความสามารถในการตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เพราะสุดท้ายแล้ว กระบวนการสร้างพลังอำนาจนั้นต้องการสร้างคือ “ผู้กำหนดตนเอง” (agency) ซึ่งหมายถึงคนที่มีทางเลือก และสามารถที่จะเลือก/หรือตัดสินใจได้ด้วยตนเอง

ขั้นตอนสู่การสร้างพลังอำนาจ

ในกระบวนการสร้างพลังอำนาจนั้น เราอาจจะมีแนวทางหลักๆ เช่น ทำให้พวกเขาตระหนักว่าประสบการณ์ตรงหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตพวกเขานั้น เป็นต้นทุนชั้นดีในการสร้างอำนาจ ความเจ็บปวดของพวกเขาสามารถเปลี่ยนเป็นความรู้และเป็นความเข้มแข็งที่จะช่วยเหลือคนที่ยังอ่อนแออยู่ สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ทั้งในระดับปัจเจกและสังคม

นอกจากนี้ กระบวนการสร้างพลังอำนาจให้เหยื่อนั้น ต้องพยายามทำให้สังคมมองเห็นบทบาทอื่นๆ ของพวกเขา เพราะพวกเขาไม่ได้เป็นเหยื่ออย่างเดียว ในด้านอื่นๆ พวกเขาอาจจะเป็นแม่ เป็นครู หรืออื่นๆ เราควรส่งเสริมให้มองเห็นอัตลักษณ์ที่ซับซ้อนและมีมิติมากขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ การใช้ทักษะการสื่อสารและกระบวนการสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูล “เหยื่อ” หรือ“ผู้สูญเสีย” ก็สามารถเป็นรูปแบบหนึ่งในการสร้างพลังอำนาจให้กับพวกเขาได้ ทักษะในการสื่อสารกับพวกเขานั้น ในขั้นแรกต้องสร้างความไว้วางใจ (trust) ทำให้พวกเขารู้สึกสบายและปลอดภัย โดยการยอมรับตัวตน ตลอดจนศึกษาวัฒนธรรมของเขา ขั้นตอนต่อมาคือการฟังอย่างตั้งใจ (active listening) ฟังทุกอย่างที่พวกเขาพูดออกมาโดยที่ไม่ด่วนตัดสินหรือมีอคติ

อย่างไรก็ตาม หากพวกเขาพูดสิ่งที่เป็นเชิงลบออกมา เราก็สามารถใช้เทคนิคบางอย่างเพื่อกระตุกให้คิดในเชิงบวก หรือตั้งคำถามกับตัวเอง ตลอดจนสร้างพลังให้กับตัวเขาได้ เช่น หากเขาพูดว่า “ฉันต้องการชกหน้าไอ้หนุ่มคนนั้น ” เราก็อาจปรับประโยคให้ดูอ่อนลงโดยการตอบกลับไปว่า “ฟังดูเหมือนคุณโกรธ ทำไมคุณถึงโกรธเจ้าหนุ่มคนนั้นล่ะ?” เขาอาจจะตอบกลับมาว่า “เพราะเจ้าหนุ่มคนนั้นไม่มีน้ำใจ” เราก็อาจจะถามกลับไปว่า “แล้วคุณคิดว่าจะช่วยให้เจ้าหนุ่มนั่นเป็นคนดีขึ้นได้อย่างไร?” นี่เป็นตัวอย่างของการกระตุ้นให้พวกเขาได้กลับมาทบทวนและเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา หรือหากคิดง่ายๆ การที่พวกเขากล้าเล่าเรื่องราวความเจ็บปวดออกมา นั่นก็นับว่าเป็นการก้าวข้ามและสร้างพลังอำนาจให้กับตัวเองในระดับหนึ่งแล้ว

มากกว่า“การรวบรวมข้อเท็จจริง”

ในหัวข้อสุดท้ายซึ่งสำคัญที่สุดนี้ นารีอาและโดดี้ ได้แบ่งปันประสบการณ์อย่างน่าสนใจ โดยเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า เมื่อได้รวบรวมความทรงจำทั้งหมดมาแล้วนั้น เราจะทำอย่างไรกับมัน?

ในข้อนี้ นารีอา กล่าวว่าเราจำเป็นต้องกลับไปถามตัวเองว่า ทำไมเราถึงรวบรวมความทรงจำเหล่านี้? เป้าหมายคืออะไร และจะใช้มันอย่างไร? อะไรคือเรื่องที่ต้องการเล่า? ขอบเขตของระยะเวลาที่จะเล่า? และใครจะเป็นผู้ฟังเรื่องนี้? หากตอบคำถามเหล่านี้ได้ชัดมากเท่าไหร่ แนวทางการเล่าเรื่องและการออกแบบคำถามสัมภาษณ์ก็จะแหลมคมมากเท่านั้น

นารีอา ยกตัวอย่างประสบการณ์ตรงจากการเขียนหนังสือ “Struggle for Peace” ว่า เรามีเป้าหมายชัดเจนว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสันติภาพที่กำลังเกิดขึ้นในพม่า ดังนั้น แนวทางของการเล่าหรือประโยคที่ออกมา แม้จะมีอารมณ์ของความโกรธแค้น แต่เราก็มีเทคนิคที่จะทำให้มันดูเป็นกลางมากขึ้น

เทคนิคหนึ่งคือ เวลาถามคำถาม เราพยายามถามในเชิงสันติภาพ เช่น คุณคิดว่าควรทำอย่างไรกับความรู้สึกโกรธแค้น? จะเห็นว่าเราไม่ได้ต้องการฟังแค่ว่าพวกเขาต่อสู้กันอย่างไร แต่เราพยายามขับเน้นแง่มุมของความหวังและสันติภาพ คำถามเช่น คุณมองอนาคตของประเทศอย่างไร? คุณอยากมีส่วนร่วมในอนาคตอย่างไร? เป็นคำถามที่แสดงให้เห็นว่าเราพยายามเปลี่ยนเรื่องเล่าของความขัดแย้งให้ไปสู่มิติเรื่องเล่าของสันติภาพ ซึ่งเมื่อเขียนออกมา เราก็สามารถจินตนาการได้ว่าคนอ่านจะรับรู้และรู้สึกกับเรื่องราวเหล่านี้ไปในทิศทางใด และน้ำหนักของเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ก็เน้นหนักไปที่บทท้ายๆ ที่ว่าด้วยความหวัง อนาคต และการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ

สู่การเปลี่ยนผ่านและการเรียนรู้ในอนาคต

หากเราเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง “ความทรงจำส่วนรวม” กับ “การรวบรวมข้อเท็จจริง” (Fact-Finding) จะเห็นว่า “การรวบรวมข้อเท็จจริง” เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเขียน “ความทรงจำส่วนรวม” เพราะเนื้อหาที่ปรากฏในงานรวบรวมข้อเท็จจริงซึ่งประกอบด้วย ตัวแสดงฝ่ายต่างๆ, ผู้ที่รับผิดชอบ, กลไกการช่วยเหลือเยียวยา, กลไกฝ่ายยุติธรรม หรือข้อเสนอแนะทางนโยบาย ขณะที่ “ความทรงจำส่วนรวม” เป็นมากกว่านั้น เพราะความทรงจำส่วนรวมเป็นเรื่องเล่าที่มีรากฐานจากความทรงจำของคนหลายคน, เปิดพื้นที่ให้กับเสียงและทัศนคติที่หลากหลาย, เปิดพื้นที่ให้คนได้ใช้ความคิดเห็นของตน ซึ่งบางครั้งทำให้เกิดความแตกต่างและการโต้แย้ง และสุดท้าย ประการสำคัญคือ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านและการเรียนรู้ในอนาคต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท