Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

หมายเหตุ ผู้เขียนต้องการแนะนำเบื้องต้นให้ผู้อ่านรู้จักการความพลิ้วไหวในภาษาที่ผูกโยงเข้ากับอำนาจ ตามข้อเสนอของนักคิดสำคัญหลายคน ที่เป็นผลให้เกิดขบวนการเสรีประชาธิปไตยรูปแบบต่างๆ


ที่มาภาพ http://filipspagnoli.wordpress.com/2011/05/08/are-social-media-
and-the-internet-in-general-good-or-bad-for-human-rights/


เกริ่นนำ

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 วิชาภาษาไทย ในส่วนของตัวชี้วัดช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายระบุว่า นักเรียนสามารถ “อธิบายธรรมชาติของภาษา พลังของภาษา และลักษณะของภาษา รวมถึง วิเคราะห์หลักการสร้างคำในภาษาไทย”[1] ได้อย่างถูกต้อง แต่เรื่องของ “ภาษา” ในศตวรรษที่ 21 นอกจากเป็นเรื่องของการวิเคราะห์โครงสร้างและศาสตร์แห่งการตีความแล้ว (Analytic & Hermeneutic) ยังต้องรวมถึง “ภาษา” ในฐานะ “วัตถุคิด” (object) สำหรับนักคิดหลังโครงสร้างอีกด้วย ซึ่งผลจากความสร้างสรรค์ดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามง่ายๆ แต่ตอบยากมากมาย เช่น ถ้าเราจะอ่านคำว่า “ประชาธิปไตย” (ในบทบาทรูปสัญญะ-Signifier) เสียงอ่านนี้จะนำผู้อ่านไปสู่ความคิดเกี่ยวกับคำว่า ประชาธิปไตย (ในบทบาทความหมายสัญญะ-Signified) ได้อย่างถูกต้องแม่นตรงหรือไม่?  เพราะปัญหาคืออะไรคือความหมายที่ถูกต้องแม่นตรง? ถ้าเราจะจัดการถกเถียงอภิปรายในเรื่องนี้ เราจะได้มาซึ่งความหมายที่ถูกต้องหรือไม่?  ถ้าเราขุดคุ้ยลึกไปกว่านั้น ตกลงคำว่า “ประชาธิปไตย” มีกี่ความหมาย สมมติว่าเราจะทดลองเล่นคำ (play) แบบเด็กซนด้วยการรื้อค้นคำว่า “ประชา”, “อธิปัตย์”, “อธิปไตย” จะช่วยให้เราเห็นความไม่ตายตัวของความหมายที่ซ่อนอยู่ได้หรือไม่ แม้แต่การทำให้พยัญชนะกระจัดกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจะทำให้เราได้อะไร? ซึ่งภาวะยุ่งเหยิงและดูน่าสับสนนี้ (undecidability) กลับเป็นวิถีทางหนึ่งที่ช่วยเปิดเปลือยให้เราสร้างตัวบทหรือความหมายขึ้นใหม่ (Reconstruct) เพราะ “ผู้อ่านทุกคนย่อมเป็นผู้สร้างตัวบทของตัวเอง” [2] ดังนั้น เมื่อเราอ่าน “ประชาธิปไตย” เราย่อมสร้างความหมายของประชาธิปไตยได้เสมอ แต่ “เสรีภาพในการสร้างสรรค์ความหมาย” มักขัดกับค่านิยมและกฎเกณฑ์ที่ฝังรากลงไปในระดับจิตใต้สำนึก เราอาจอ่อนแอมากพอที่จะพ่ายแพ้ และสมัครใจที่จะไม่สร้างอะไรขบถขึ้นมาอีกเลย ถ้าเราถูกครอบงำในรัฑที่ความหมายมีการหมุดความหมายให้ตรึงแน่น มากจนกระทั่ง ห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงความหมายใดๆ แล้ว ลักษณะเช่นนี้จะทำให้เกิดอะไรที่เป็นผลร้ายได้บ้าง? ที่แน่ๆ การห้ามลักษณะนี้เป็นปัญหากับการตีความประชาธิปไตยในยุคหลังๆ ของระบบความคิดทางปรัชญา เพราะปัญหาได้แสดงตัวตนผ่านประวัติศาสตร์ไปแล้ว


ถ้าการสร้างความหมายใหม่เป็นเรื่องที่ฝืนความรู้สึก?

นั่นอาจเพราะเราเชื่อว่าเราจะเข้าถึง “ความหมายบริสุทธิ์” นั่นคือ สักวันหนึ่งเราจะเข้าถึงความหมายของคำว่า ประชาธิปไตย ที่ซ่อนเร้นอยู่อย่างลึกซึ้งในวัฒนธรรมต่างๆ คำพูดนี้หมายถึง ผู้คิดเช่นนั้นเชื่อว่า ความหมายบริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่มีมาอยู่แล้ว เพียงแต่ผู้คิดยังหาไม่เจอ ซึ่งหลายคนอาจเชื่ออย่างจริงจังอีกว่า สักวันหนึ่งเราจะได้พบกับ “ความรู้แจ้งที่ปราศจากมายาคติ” นั่นเองทำให้นึกถึงคำพูดของ Descombes ที่ว่า “ที่สุดของมายาคติ คือ คิดว่ามีความรู้ที่ปราศจากมายาคติ”[3] นั่นคือเรากำลังเชื่อว่ามีสิ่งที่คงที่แน่นอน เป็นโครงสร้าง ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เลื่อนไหล ประชาธิปไตยเป็นแบบนี้เท่านั้น และไม่อาจเป็นแบบอื่นได้ ซึ่งการสร้างความหมายใหม่ก็จะทำให้ขัดต่อความรู้สึก เป็นลักษณะที่ขบถ เป็นการเข้าปะทะกับอำนาจวาทกรรม หรือเรื่องเล่ากระแสหลักที่ผลิตซ้ำคำว่า "ประชาธิปไตย” ที่จริงเรารู้สึกฝืน เพราะเรากลัว


ทรราชและบรรดาสมุนแห่งโลกอุดมคติ?

ในหนังสือ Mythologies นักคิดอย่าง Barthes ใช้คำว่า ทรราชแห่งโลกอุดมคติ (The tyranny of an ideal)[4] เพื่อสรุปการอธิบายหัวข้อ “ภาพผู้สมัครกับการหาเสียง” โดย  Barthes อธิบายว่า ภาพถ่ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นการแบล็กเมล์คุณค่าและศีลธรรม [5] คือ การกดบังคับให้ผู้เห็นภาพจำต้องรับการผลิตซ้ำค่านิยมผ่านรูปภาพ เป็นต้นว่า การยัดเยียด ความเป็นชาติ กองทัพ เกียรติยศ และความเป็นวีรบุรุษ นั่นจะเป็นการลวงหลอกให้ผู้รับชมการโฆษณาถูกทำให้เคลิบเคลิ้มไปต่างๆนานา เช่น  ความเข้าใจผิดที่ว่าบุคคลในภาพจะเป็นผู้เข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้นอย่างแน่นอน เพราะท่าทีที่มุ่งมั่นและภาพลักษณ์ที่มั่นคงเด็ดขาด ซึ่งที่จริงก็เป็นเพียงเรื่องของช่างภาพเท่านั้น หมายความว่า เราอาจสยบยอมต่อพลังแห่งการโฆษณาก็เป็นได้โดยไม่รู้ตัว บางที เราอาจกำลังกลัว “เสือ” ทั้งที่เราเองก็ไม่ใช่ “วัว” เพราะสิ่งที่ภาพเหล่านั้นสื่อออกมา ก็เป็นแต่สิ่งที่อุดมคติทั้งสิ้น นั่นคือ ภาพไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทำจริง เช่น ภาพลักษณ์“ใจซื่อมือสะอาด” แต่พฤติกรรมกลับสวนทางกัน นี่เอง คือ การลวงหลอกด้วยมายา (illusion) ทำให้เกิดมายาคติ (Myth) เช่น การสร้างภาพลักษณ์นักประชาธิปไตย ทั้งที่พฤติกรรมจริงกลับตรงกันข้าม และหลายคนก็พร้อมที่จะเชื่อการโฆษนานั้น เมื่ออำนาจได้สถาปนาวาทกรรมซึ่งอำพรางไว้ภายใต้ภาพลักษณ์ดีงามอย่างมั่นคงเช่นนี้ ความน่าสะพรึงกลัวย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ถ้าใครสักคนบังอาจอภิปรายว่า ภาพลักษณ์นั้นเป็นสิ่งถูกสร้าง ไม่ใช่ความเป็นจริง เพราะทรราชเหล่านี้ย่อมมีสาวกหรือลูกสมุนมากมาย ที่ล้วนแล้วแต่เป็นพวกโหยหาโลกในอุดมคติทั้งสิ้น


ประชาธิปไตยในอุดมคติ ? อุตมรัฐ?

เป็นอะไรที่น่าพิจารณา เพราะเรายอมรับหรือยังว่า ประชาธิปไตยในอุดมคติ หรือ อุตมรัฐ เป็นสิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้ หรือเป็นไปได้ยากที่จะเกิดขึ้นหรือไม่  โดยไม่คิดแบบโรแมนติก ประวัติศาสตร์โลกยังไม่เคยมีประชาธิปไตยหรือการปกครองใดๆ ที่สมบูรณ์ขนาดนั้น เนื่องจาก ชุดความหมายที่จะถูกหยิบไปใช้ถูกเปลี่ยนแปรไปเรื่อยๆตามบริบทของเหตุการณ์เฉพาะหน้า ดังนั้น ทุกๆสิ่งมีความเปลี่ยนแปลงเสมอไม่หยุดนิ่งและไม่ตายตัว เริ่มจากในระดับความหมาย (becoming) ซึ่งแต่เดิมเราพยายามเข้าใจความหมายในลักษณะที่ว่ามันคืออะไร (being) แต่บัดนี้ หลายคนเสนอว่า เป็นไปไม่ได้ที่ความหมายจะหยุดนิ่งตายตัว มันจะพลิกไปอย่างไรก็ได้ ปัญหาเกิดขึ้นแน่นอนถ้าคนกลุ่มหนึ่งมีชุดความคิดที่โหยหาอุตมรัฐ คิดว่าเมื่อจัดการปีศาจร้ายตัวนี้แล้ว โลกจะพ้นจากความชั่วร้าย วิธีคิดแบบนี้นอกจากไม่เข้าใจ การเลื่อนไหลของคำว่า “อุตมรัฐ” ตั้งแต่สมัยกรีกแล้ว ยังผูกขาดการตีความไว้กับความหมายที่แน่นอนตายตัว พูดให้ชัดคือต้องเป็นแบบนี้เท่านั้นเป็นแบบอื่นไม่ได้ แล้วเช่นนี้จะเกิดความแตกต่างหลากหลายอันเป็นที่มาของประชาธิปไตยได้อย่างไร เห็นได้ชัดว่า เป็นสิ่งที่ขัดแย้งในตัวเอง และน่าแปลกว่าในบางรัฑโรแมนติกเราพบลักษณาการเช่นนี้ในหลายสำนักคิด


ประชาธิปไตยคำใหญ่ที่ถูกผลิตซ้ำและยัดเยียดความหมาย

คำใหญ่ (Big word) สะท้อนให้เห็นลักษณะที่ใหญ่แต่กลวง เป็นลักษณะที่ผูกขาดความหมายใหญ่ที่ตนคิดว่าถูกต้องที่สุดไว้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความหมายโดยใครก็ตาม ประชาธิปไตยเป็นคำใหญ่ที่ถูกผลิตซ้ำในบางรัฑที่ไม่มีประชาธิปไตย บางคนผูกขาดว่า ประชาธิปไตย=การเลือกตั้งระบบตัวแทน บางคนผูกขาดว่า ประชาธิปไตย ต้องไม่มีลักษณะอย่างคอมมิวนิสต์ หรือบางคนผูกขาดว่า ประชาธิปไตยต้องไม่มีการโกงกิน ทุกคนเสมอภาคเท่าเทียม แต่ปัญหาคือ ในทุกครั้งที่ “ประชาธิปไตย” ถูกใช้ในลักษณะของการรับใช้อำนาจนักปกครอง การให้ความหมายดังกล่าวเคยบริสุทธิ์หรือไม่? คำตอบคือ ไม่เคยมีความบริสุทธิ์อยู่แท้จริง (หลายคนเปรียบเปรยว่า ถ้าอยากบริสุทธิ์ขนาดที่ว่าต้องไปนิพพาน ซึ่งก็เห็นจะจริง) ดูเหมือนว่าวิธีคิดแบบตัดสินอะไรไม่ได้เลย (undecidability) จะชวนให้เกิดความหงุดหงิด แต่ความพยายามที่จะตัดสินให้น้อยที่สุดจะช่วยเปิดหนทางแห่งความเป็นไปได้ ดังนั้น ถ้าเราให้ความหลากหลายมีมากพอในรัฑ มันก็อาจจะเบียดแทรกอำนาจผูกขาดให้ถอยกำลังลงได้ แต่ต้องเป็นตัวเราเองที่ย้อนกลับเข้ามาพิจารณาตัวบท มิใช่เพื่อเข้าใจความหมายของตัวบท (แบบที่ชอบหล่อหลอมกันเรื่องอ่านเอาความ) แต่เพื่อสร้างตัวบทขึ้นใหม่ หรือแสวงหากลวิธีในการเปิดเผยอีกด้านหนึ่งของตัวบทที่ Derrida เรียกวิธีนี้ว่า “การทำให้ความหมายเลื่อนไหล” ถ้าคุณให้ทุกอย่างมันเลื่อนไหล มันก็จะไม่มีคำใหญ่ และเมื่อไม่มีคำใหญ่ การอ้างถึงย่อมน้อยลง ในเมื่อทุกสิ่งแตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยและถูกอ้างอย่างสุ่ม การอ้างคำใหญ่เพื่อกดบังคับผู้อื่นก็ไม่มีน้ำหนักอีกต่อไป หากแต่ว่า วิธีการเช่นนี้ใช้ความรับผิดชอบตัวเองอย่างมาก นั่นเป็นจุดอ่อนที่ทำให้บางรัฑอ้างว่า ประชาชนไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบตัวเองแบบนี้ ทั้งที่การรับผิดชอบนั้น คือ การรับทั้งผิดและชอบ นั่นคือ การลองผิดลองถูกอย่างเป็นพลวัตด้วยการเรียนรู้จักความเปลี่ยนแปลงด้วยการเผชิญหน้า (En-counter)


ถอดเล่น “ประชาธิปไตย” ในบางรัฑ

Democracy-Dēmokratía-Dêmos/Kratos ถูกแปลเป็นคำว่า “ประชาธิปไตย” มีนักคิดเสนอว่าถูกแปลใช้และปรากฎอย่างเป็นทางการครั้งแรกใน รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 / 9 พฤษภาคม 2489 [6] ซึ่งมาจากคำว่า ประชา สมาสแบบสนธิกับคำว่า อธิปไตย (คำนี้ถูกใช้ขึ้นก่อนในปี 2475) คำนี้ในภาษาปาลีบ่งนัยถึงความเป็น “อธิปัตย์” (sovereignty) คือ ภาวะความใหญ่ยิ่ง (อธิปตฺเตยฺย= อธิปติ + เณยฺย) เริ่มต้นการแปลคำนี้ ก็เป็นว่า “อำนาจใหญ่ยิ่ง” ซึ่งในขณะที่สถาปนาอำนาจใหญ่ยิ่งดังกล่าวนี้ ยังไม่มี “ประชา” เข้ามาเกี่ยวข้องบัญญัติ (ราว 14 ปีที่ประชายังไม่มีตัวตนทางนิตินัย)  เมื่อเป็นแบบนี้ “อำนาจ” (Kratos) มาก่อนประชา (Demos) และเป็นพวกเราก็ใช้คำว่า “อำนาจ” (Power) ดังกล่าว เราสังเกตการณ์ผลิตซ้ำจากสื่อที่บ่งบอกผ่านสัญญะว่า “อำนาจเป็นสิ่งที่ทำให้เราเป็นอภิสิทธิ์ชน” ซึ่งนักคิดบางคน เช่น Foucault ได้กล่าวย้ำในทำนองว่า อำนาจเกิดจากการสถาปนาวาทกรรมครอบงำขึ้นมา และทำให้ประชาชนเชื่องภายใต้การกล่อมเกลานั้น มาถึงจุดนี้ ก็เป็นที่ชัดเจนว่าทำไมทุกอย่างจึงอยู่ในวังวนของอำนาจ เพราะที่จริงเป็นวังวนของการครองอำนาจ นั่นคือ บัลลังก์ต้องไม่ว่างเว้นจากผู้ปกครอง ในขณะที่นักคิดอย่าง Derrida เสนอว่า เป็นไปไม่ได้หรือที่พวกเราจะพยายามให้บัลลังก์ไม่มีผู้ครอบครอง (Empty chair) [7][8] แน่นอนวิธีคิดแบบนี้ย่อมทำให้ใครก็ตามที่มีจิตใต้สำนึกแบบผู้สมัครใจให้ถูกกดบังคับด้วยอำนาจจะรู้สึกงุนงนสับสนและฝืนความรู้สึก อาจพาลให้เกิดมิจฉาทิฐิว่า ความคิดหลังสมัยใหม่ทำนองนี้จะเข้ามาทำลายสิ่งที่ตนรักและหวงแหน ซึ่งในความเป็นจริงก็เป็นแต่มายาของความหมายเท่านั้น ซึ่งที่ควรจะนำเสนอให้แตกต่างออกไป Kratos ควรจะหมายถึง “ศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลง” (Becoming) เป็นพลังที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในแต่ละเหตุการณ์อย่างมีเสรีภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนในฐานะข้อตกลงว่า ชีวิตมนุษย์ควรอยู่ร่วมกันอย่างไรในขั้นพื้นฐาน แน่นอนมันต้องเปลี่ยนแปลงได้ และไม่ผูกขาดจนเกินไป ทุกอย่างเป็นไปอย่างหลวมๆ และประนีประนอมรอมชอม และถ้าแปลแบบนี้ Dēmokratía ควรจะมีความหมายว่า “ศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ในปวงประชาแต่ละคนอย่างเท่าเทียมกัน” ซึ่งไม่ใช่อำนาจในตน ในเชิงที่ทำให้ไปเข้าใจถึงวาสนาบารมี และไม่ใช่อำนาจที่มาจากวิธีคิดแบบทหาร เพราะศักยภาพดังกล่าวไม่ตายตัว เลื่อนไหล ไม่คงรูป ไม่ต้องการสัญญะ ปรากฏขึ้นเฉพาะหน้าในเหตุการณ์ จะดำรงอยู่ก่อน (being) หรือไม่ก็ได้ แต่มันกำลังจะกลายเป็นอะไรสักอย่างแน่นอน (becoming) [9] นั่นคือ “ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ผูกพันอยู่กับศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงชองปวงประชาทั้งหมด นับรวมชะตากรรมของคนไร้เสียง ไร้อำนาจด้วย” (จึงเป็นเหตุผลว่า หลายประเทศที่เข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน มักให้ความสำคัญกับคนไร้เสียง ไร้อำนาจ ซึ่งไม่ใช่ การมอบอำนาจจากผู้บังคับบัญชาไปให้ผู้ใต้บังคับบัญชา แล้วตู่ว่าเป็น โอกาส)


สรุป

คงเป็นเรื่องแปลกถ้าจะกล่าวว่า “คุณมีสิทธิเขียนในขณะที่กำลังอ่าน” ใช่แล้ว คุณคิดเห็นอะไรที่น่าสนใจมากมายในขณะที่กำลังอ่าน นั่นเป็นเพราะ คุณกำลังถักทอความหมายและสร้างตัวบทของคุณ (Cutting) และการที่คุณได้ให้ความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปจากการอภิปรายซึ่งมีเงื่อนไขอยู่ที่ความพยายามที่จะไม่ตัดสิน อาจทำให้คุณเห็น “ชิ้นเล็กชิ้นน้อย” (Fragment-อนุภาค) ที่เป็นความหลากหลายในตัวมันเอง อันจะเป็นผลลัพธ์ของการหลอมรวมทางวัฒนธรรมและระบบคิดที่อาจครอบงำคุณด้วยความเป็นเอกภาพปรองดองมาโดยตลอด แต่ด้วยความรู้สึกซุกซนก็เป็นธรรมดาที่เราจะทำการถอดเล่น (Play) คำใหญ่ต่างๆ ที่นิยมใช้กันอยู่เพื่อดู “โบราณคดี” ของคำเหล่านั้น  เพื่อเป็นการตัดข้าม แยกออก สลับคำ ทำให้กระจัดกระจายในฐานะนายของภาษา เป็นต้นคำว่า “ประชาธิปไตย” ดังที่ได้ถอดเล่นไปแล้วนั้น ซึ่งก็น่าแปลกเมื่อเราถอดคำใหญ่บางคำเล่นๆ เรากลับพบ “เงี่ยนงำ”(Trace) อะไรบางอย่าง นั่นคือ อำนาจกดบังคับจากวัฒนธรรมระดับเข้มข้น เช่น วัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ ที่บัญญัติ ตีตรา และครอบงำเราไว้ตั้งแต่แรกอย่างเบ็ดเสร็จในระดับชีวะ (Biopolitik) ทำให้เราเพิกเฉยกับคนไร้เสียง ไร้อำนาจ เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่ถูกทำให้ปรากฏในความรับรู้ และเราไม่พยายามที่จะเสาะแสวงหาพวกเขา ที่สำคัญเราผูกขาดอยู่กับอำนาจ ซึ่งจะทำให้เราจัดตัวเองเข้าไปสู่ระบบชนชั้นทางสังคมที่วัดกันด้วยอำนาจราชศักดิ์ (เราจะถูกเรียกว่าไพร่ในระบบนั้น) ทั้งที่จริง ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นแต่เรื่องเฉพาะหน้า (ปัจจุบันขณะ) ซึ่งยืนมั่นคงอยู่บนการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแต่ละคน  ควรเข้าใจว่า “คุณมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงเท่ากับคนอื่น ไม่ขึ้นกับการศึกษา ความน่าเชื่อถือ หรือจำนวนเงินในตลาดทุน”  คุณมีสิทธิที่จะคิดแบบคนเร่ร่อน หรือคิดแบบจิตเภทก็เป็นไปได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่แตกต่างคือ คุณต้องรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร ซึ่งการกระทำนั้นจะทำให้คุณกลายเป็นอะไร สมมติว่า คุณกำลังดูถูกความเป็นคน นั่นจะทำให้คุณกลายเป็นอะไร?

เกือบลืมว่า เรายังอยู่กับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 วิชาภาษาไทย ในส่วนของตัวชี้วัดช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายระบุว่า นักเรียนสามารถ “อธิบายธรรมชาติของภาษา พลังของภาษา และลักษณะของภาษา รวมถึง วิเคราะห์หลักการสร้างคำในภาษาไทย”ได้อย่างถูกต้อง????????

 

อ้างอิง
[1] กระทรวงศึกษาธิการ, หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (available online)
http://www.psc.ac.th/docs/laws/education_core2551.pdf
[2] นักคิดอย่าง Roland Barthes ใช้คำว่า “le scriptible" (Writerly text) เพื่ออธิบายว่า ผู้อ่านมีเสรีที่จะเสพการอ่านและสร้างความหมายอย่างอิสระโดยแท้ ไม่อยู่ภายใต้การกดบังคับของชุดกฎเกณฑ์ทางภาษา ดูเพิ่มเติมที่  Éditions du Seuil, 1970, collection « Tel quel », p. 10
[3] Descombes, Vincent Modern French Philosophy (1980) P.92  (available online)
http://www.scribd.com/doc/62978747/Descombes-Vincent-Modern-French-Philosophy-1980
[4] Roland Barthes. (1972). Mythologies , P.93 (available online)
http://soundenvironments.files.wordpress.com/2011/11/roland-barthes-mythologies.pdf
[5] lbid., P.92
[6] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล.  ความเป็นมาของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (available online)
http://www.pratedthai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=270990&Ntype=2
[7] Claudia W. Ruitenberg. (2011). The Empty Chair: Education in an Ethic of Hospitality (available online)
http://ojs.ed.uiuc.edu/index.php/pes/article/viewFile/3247/1150
[8] ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์. (2014). บทวิเคราะห์: เพลโต้-แดริดา และเก้าอี้ในระบอบประชาธิปไตย (available online)
http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4756
[9] โปรดดูแนวคิดเบื้องต้น เรื่อง Being/Becoming ของ deleuze
http://www.iep.utm.edu/deleuze/
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net